ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    คู่มือมังกร Mythology and Magick

    ลำดับตอนที่ #48 : เทคนิคการทำสมาธิตามสายเวทย์มังกร-Meditation Technique

    • อัปเดตล่าสุด 30 ส.ค. 67


    ในหัวข้อนี้ จะถือว่า เริ่มสู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงๆจังๆเสียที การทำสมาธิ ไม่ว่าจะนั่ง นอน หรือเดิน ล้วนเป็นพื้นฐานของศาสตร์แห่งความเชื่อในหลายๆ ศาสตร์ ในสายเวทย์มังกรก็เช่นกัน หากไร้ซึ่งสมาธิแล้ว เวทมนตร์หรือพิธีกรรมใดๆที่เราทำขึ้นก็จะไม่เกิดผล ซึ่งในหัวข้อนี้ ผมจะพาผู้อ่านได้ลองฝึกการทำสมาธิตามสายเวทย์มังกรครับ

    หากว่าคุณผู้อ่านเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่ารวบรวมสมาธิไม่ค่อยได้ หรือนั่งสมาธินานๆ ไม่ได้ บางทีก็ไม่เสมอไปว่าคุณผู้อ่านอาจจะเป็นคนสมาธิสั้น แต่นั่นอาจเป็นเพราะคุณหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับคุณไม่เจอ หรือกล่าวอีกแบบคือ คุณอาจจะไม่มีจุดโฟกัสเวลาทำสมาธิ....ยังไงก็ตาม ขอให้ลองฝึกตามแนวทางด้านล่างนี้ดูก่อน 

    เทคนิคการทำสมาธิตามสายเวทย์มังกรนั้นมีหลากหลายวิธีครับ แต่ในที่นี้ผมจะแนะนำเทคนิคการทำสมาธิที่ชื่อว่าการจินตภาพ 

    การจินตภาพ-Creative Visualization

    การจินตภาพ หรือ เรียกง่ายๆว่า การคิดเป็นภาพ คือ กระบวนการสร้างภาพเป้าหมายผ่านการจินตนาการ มันง่ายกว่าการนั่งหลับแล้ว แล้วให้ปล่อยวางไม่คิดอะไรเลย  เพราะวิธีการจินตภาพ ไม่ใช่การไม่คิดอะไร แต่เป็นการโฟกัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือภาพใดภาพหนึ่ง และจดจ่อกับมันจนเกิดสมาธิ 

    แต่อย่างแรกเลยในการฝึกสมาธิโดยอาศัยจินตภาพนี้ เราต้องมีเป้าหมายก่อน การไม่ตั้งเป้าหมาย เปรียบเหมือนกับคนที่ไปยืนหน้าเคาน์เตอร์ขายตั๋ว แล้วบอกคนขายว่า เอาอะไรก็ได้ หรือบางคนอาจจะแค่บอกว่า ไม่ไปที่นั่น ไม่ไปที่นี่ คนขายก็อาจจะจัดตั๋วที่ไม่มีใครไปมาให้ ชีวิตนั้น ถ้าเราไม่กำหนดชีวิตของเรา คนอื่นก็จะมากำหนดให้

    ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายก่อน เราอยากได้อะไร อยากให้อะไรเกิดขึ้น อยากเปลี่ยนแปลงอะไรยังไง ก็ให้เราจงนึกถึงสิ่งนั้น อาจจะหลับหรือไม่ก็ได้ครับ อย่างไรก็ดี สิ่งที่คุณนึก ควรเป็นอะไรที่สร้างสรรค์ จงนึกภาพผลลัพธ์ที่ต้องการซ้ำๆ อย่างละเอียดในใจทำเสมือนว่าผลนั้นสำเร็จแล้ว ให้ทำจนกว่าจะพอใจ ก็หยุดพัก แล้วค่อยมาฝึกต่อใหม่ อาจทำจนกว่าจะรู้สึกมีสมาธิแน่วแน่จนกระทั่งลืมตาหรือหลับตา ก็เห็นเป้าหมายอย่างชัดเจน (แต่เมื่อเริ่มต้นฝึกครั้งแรก ควรเริ่มครั้งละ 5-10 นาที ต่อครั้งในหนึ่งวัน ซึ่งควรทำวันละ 2 รอบ) หรือทำจนกว่าสิ่งที่เราจินตภาพไว้จะถูกดึงดูดเข้ามาในชีวิตเรา 

    สิ่งที่ได้จากการฝึกอะไรแบบนี้ ไม่ใช่แต่เพียงทำให้คุณมีสมาธิมากขึ้น แต่ยังสามารถดึงดูดสิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ให้มาหาเราได้ด้วย ซึ่งบางคนอาจเรียกสิ่งนี้ว่า "กฎแห่งแรงดึงดูด" 

    การฝึกจินตภาพสามารภเอาไปใช้ได้อย่างหลากหลาย กระทั่งใช้ในชีวิตประจำวัน ในทางจิตวิทยา มีการกล่าวกันว่า จิตใต้สำนึกคนเราเปรียบดั่ง AI คอมพิวเตอร์ ที่คอยประมวลผลและป้อนสิ่งๆต่างที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันเข้าสู่จิตใต้สำนึก ซึ่งเราอาจเรียกว่าประสบการณ์ก็ได้ ซึ่งตรงนี้แหละที่ทำให้มนุษย์เราแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

    หากให้ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น ในวัยเด็กของบางคนอาจโดนบูลลี่ว่า น่าเกลียด โดนด่าว่าโง่ หรือถูกกล่าวหาว่าไร้ประโยชน์ ทีนี้แหละ เจ้าจิตใต้สำนึกของเรา(ที่ยังอ่อนแอเพราะไร้ประสบการณ์) ก็จะรับเอาคำเหล่านั้นไว้ แล้วตั้งโปรแกรมให้เรายึดติดกับคำเหล่านั้น จนแก่นของคำเหล่านั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเราไป ผลกระทบที่ตามมาคือ คนที่โดนคำแง่ลบเหล่านั้นจนฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึก ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง หรืออาจจะมองแต่แง่ลบ 

    หากใครกำลังเป็นแบบที่กล่าวมา หรืออยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือเพียงแค่อยากฝึกสมาธิ ก็จงรีเซ็ต AI คอมพิวเตอร์ ครับ นั่นก็คือการฝึกจินตภาพนั่นเอง แน่นอนว่า มันอาจจะไม่ได้ง่าย ชนิดที่ว่าทำได้ในทันที แต่จำไว้ว่ามันก็เหมือนกับกล้ามเนื้อของเราที่ได้รับการออกกำลังกาย ถ้าเราออกกำลังกาย กล้ามเนื้อเราก็จะเกิดการพัฒนา ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราฝึกสมาธิผ่านวิธีการจินตภาพบ่อยๆ จิตใต้สำนึกเราก็จะแข็งแรง จนเราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ครับ 

    ทีนี้ก่อนจะเริ่มฝึกแบบจริงจัง เราต้องรู้ก่อนว่า สิ่งใดบ้างที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำสมาธิ

    1.การตั้งเป้าหมายผิดๆ

    ในข้อนี้ เป็นเพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การทำสมาธิคือการทำให่จิตใจสงบ ซึ่งมันก็.....ถูกเพียงครึ่งเดียว กล่าวคือ นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของการทำสมาธิ เป็นเรื่องยากที่จะระงับความคิดที่แล่นอยู่ในหัวของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง หรือความคิดต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาระหว่างการทำสมาธิ มันเป็นเรื่องปกติ ที่จะเกิดขึ้น อันที่จริง ต้องบอกแบบนี้ว่า มันคือหนึ่งในกระบวนการของจิตเรา จิตเราเพียงแต่ทำหน้าที่ของมันเท่านั้น ผู้ที่เพิ่งเริ่มทำสมาธิมักจะรู้สึกหนักใจเพราะพวกเขาพยายามต่อต้านความคิดและบังคับให้เกิดความสงบในใจ เมื่อเราทำเช่นนี้ เรากำลังสร้างผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรากำลังพยายามเพื่อให้ได้มา ซึ่งก็คือการปล่อยวางและความสงบ และที่สุดเมื่อเราไม่สามารถความคิดที่หลั่งไหลออกมา เราก็จะกระวนกระวายจนหลุดออกจากการทำสมาธิ

    จริงๆแล้ว มันเป็นเรื่องง่ายครับ เพียงเริ่มต้นด้วยการผ่อนคลาย  อย่าพยายามสร้างความสงบหรือบังคับให้มันหายไป ยอมรับความคิดที่ผุดขึ้นมาและปล่อยให้มันแล่นผ่านไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อะไรจะผุดก็ให้มันผุดขึ้นมา เฝ้าดูอย่างสงบโดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวพินิจพิเคราะห์แยกแยะมัน และเมื่อความคิดแล่นผ่านไป สักพักจิตใจของเราก็จะเกิดความสงบขึ้นเองครับ

    2.ความคาดหวังที่มากเกินไป

    หมายถึงคนส่วนใหญ่มักจะหมกมุ่นอยู่กับรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ที่คนส่วนใหญ่ใช้ปฏิบัติกัน จงจำไว้ว่าไม่มีรูปแบบที่แน่นอน หรือตายตัว แต่ละคนมีความแตกต่างกัน และควรหาวิธีการทำสมาธิที่เหมาะกับตนเอง แน่นอนว่าการมีไกด์หรือแนวทางเป็นเรื่องดี แต่ท้ายที่สุดคุณก็ต้องมีรูปแบบเฉพาะของตัวเอง ไม่เพียงแต่แต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่การทำสมาธิทุกครั้งก็แตกต่างกันเช่นกัน การท้อแท้หรือยอมแพ้เพราะเราปฏิบัติตามกฎหรือคำแนะนำของผู้อื่นไม่ได้อาจบั่นทอนความกระตือรือร้นและขัดขวางความก้าวหน้าได้ เพราะงั้น ทางที่ดีคือจงหารูปแบบเฉพาะตัวของเรา ไม่เพียงแต่แต่ละคนจะวิธีหรือเทคนิคที่แตกต่างกันตามรายละเอียดปลีกย่อย แต่ทว่า การทำสมาธิแต่ละครั้งก็แกตต่างกันด้วย(ในแง่ของประสบการณ์) 

    3.ท่าที่ใช้ในการทำสมาธิไม่เอื่ออำนวยต่อการสร้างสมาธิ

    ในข้อนี้นะครับหมายการจัดท่าทางขณะปฏิบัติสมาธิ ซึ่งก็มีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ยืน เดิน นั่ง นอน ฯลฯ ซึ่งตรงนี้แหละที่มักเป็นหนึ่งในปัญหาของใครหลายๆคนครับ เท่าที่ผมประสบมา ผู้ฝึกสอนสมาธิหลายคนมักแนะนำให้นั่งโดยให้กระดูกสันหลังตั้งตรงขณะนั่งสมาธิ หรือในท่า 'โยคะ' พับขา... หรือท่าทางที่ไม่สบายตัวอื่นๆ... โดยส่วนตัวแล้ว ผมได้ลองปฏิบัติตามมาหมดแล้วพบว่านอกจากจะทำให้ร่างกายอ่อนล้าง่ายแล้วยังทำให้รวบรวมสมาธิได้ยากหรือไม่ได้เลย ที่ผมจะสื่อคือ การจัดท่าทางนั้นสำคัญมาก การนั่งตัวตรงโดยวางเท้าบนพื้นและพยุงหลังให้สบายอาจเป็นท่าที่ดีที่สุดในการฝึกทำสมาธิครับ หากคุณมีเก้าอี้ที่สะดวกสบายและมีที่วางแขน จะนั่งสมาธิบนนั้นก็ได้โดยให้วางแขนไว้บนที่วางแขน หลักๆแล้วคือนั่งตรงไหนก็ได้ ยังไงก็ได้ ตราบใดที่คุณสบายและไม่เผลอหลับไป

    4.ความกระสับกระส่าย

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรก ความกระสับกระส่ายเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในการทำสมาธิอีกประการหนึ่ง เมื่อคุณเริ่มนั่งสมาธิครั้งแรก หรือยังไม่ชำนาญกับการปฏิบัติสมาธิ คุณต้องไม่รีบ เริ่มจากช้าๆและค่อยๆผ่อนคลายร่างกาย ที่เป็นเทคนิคที่สำคัญมาก และถ้าจะให้ดีกว่านั้นรอบตัวคุณต้องไม่มีเสียงรบกวน เช่นว่า เสียงโทรทัศน์เสียงโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นคำแนะนำอีกประการหนึ่งคือหาสถานที่ที่เงียบสงบ และจงจำไว้ว่าให้ผ่อนคลาย อย่ารำคาญหรือหงุดหงิดหากคุณนั่งไปสักพักแล้วรู้สึกกระวนกระวายคิดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่จงปล่อยให้ตัวเองรับรู้ถึงความรู้สึกและความคิดที่ผุดขึ้นมาเหล่านั้นโดยไม่ต้องไปสนใจคิดวิเคราะห์กับมัน เพียงแค่ไม่ต้องพยายามไปยับยั้งมัน จงเฝ้าดูความคิดที่ผุดขึ้นมาเหล่านั้นอย่างมีสติก็พอครับ แล้วสักพักมันจะผ่านพ้นไปเอง คำแนะนำสุดท้ายสำหรับข้อนี้คือ ในช่วงแรกเริ่มของการฝึกสมาธิ ควรใช้เวลาเพียง 5-10 นาที ในแต่ละครั้ง นี่จะช่วยให้ลดความกระสับกระสาย ความกระวนกระวายได้ครับ จากนั้นเมื่อร่างกายเริ่มชิน ก็ค่อยๆเพิ่มเวลาไปเรื่อยๆครับ อย่างไรก็ดี ผมขอบอกไว้เลยว่า การจะทำให้สมูรณ์ได้นั้น คุณต้องจับจุดให้ได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่ผมเขียนนี้เป็นแค่เทคนิคในเบื้องต้น สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน หรือเป็นเทคนิคที่ใครสอน ก็ไม่สำคัญ หากสุดท้าย คุณได้ประโยชน์จากการทำสมาธิ หรือก็คือคุณเข้าถึงการทำสมาธิได้ นั่นก็เพียงพอแล้ว

    .............................................................................................................................

    เอาล่ะทีนี้เราจะมาเริ่มฝึกอย่างจริงจังกัน

    อย่างแรกคือผ่อนคลายครับ ซึ่งส่วนนี้มีหลายวิธีครับ บางคนอาจจะแค่หายใจเข้าออกสักพัก บางคนก็อาจใช้เทียนอโรม่า หรือธูปหอมเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย หรือบางคนอาจจะเปิดเพลงหรือดนตรีเพื่อก่อให้เกิดสมาธิและความผ่อนคลาย (ในส่วนของแต่ละวิธีดังกล่าว เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เอาวิธีที่ตนเองทำแล้วรู้สึกสงบผ่อนคลายครับ) หากเปิดเป็นเพลงหรือดนตรี แนะนำให้เป็นเพลงหรือหรือดนตรีที่ช่วยสร้างสมาธิ ตัวอย่างเช่น

    1.https://www.youtube.com/watch?v=vPsR2ERnN-w
    2.https://www.youtube.com/watch?v=dIlLUoLL2ZM
    3.https://www.youtube.com/watch?v=2OEL4P1Rz04

    ด้านบนเป็นดนตรีจากยูทูปที่เมื่อเปิดจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความผ่อนคลายและทำให้สมาธิมีความชัดเจน และขอเน้นย้ำตรงนี้อีกทีนะครับว่าไม่จำเป็นต้องใช้เพลงหรือดนตรี เพราะบางคนไม่ชอบก็มี 

    เมื่อทุกอย่างพร้อม จะในท่านั่งหรือจะท่านอนก็ได้ ให้ค่อยๆผ่อนคลายกับบรรยากาศรอบตัวที่คุณสร้างขึ้น ผ่อนคลายกล้ามเนื้อไปทีละส่วน หายใจเข้าออกช้าๆ จนเริ่มรู้สึกถึงความสงบ จากนั้นให้คุณหาจุดโฟกัสเพื่อเพ่งสมาธิไปที่จุดนั้นเพียงจุดเดียว อาจจะเป็นระหว่างคิ้ว(ตาที่สาม) หรือหัวใจ หรือช่วงท้องก็ได้ตามแต่จะเลือก 

    เมื่อเพ่งจนรู้สึกเป็นสมาธิหรือรู้สึกโฟกัสไว้ที่จุดจุดเดียวได้แล้ว ให้คุณคิดว่าจุดที่คุณโฟกัสอยู่คือประตูวิเศษที่จะพาเชื่อมไปยังมิติเร้นลับต่างๆ 




    ภาพจาก freepik


    จากนั้น ค่อยๆ เปิดประตูที่คุณเนรมิตขึ้น คุณเห็นอะไรบ้าง คุณอาจพบว่าตัวเองอยู่บนทางเดินในสถานที่ทางธรรมชาติ ภูเขา ป่า ลำธาร หรือทะเล ฯลฯ สักพักคุณจะเห็นต้นไม้ใหญ่ นี่คือต้นไม้แห่งชีวิต…เป็นต้นไม้ที่เก่าแก่โบราณที่สุด มันมีมาตั้งแต่สมัยโลกกำเนิดใหม่ ลองเอื้อมมือไปแตะที่เปลือกของมันสิ คุณจะได้รู้สึกถึงพลังของปฐมธาตูที่สถิตอยู่กับต้นไม้ที่มันแผ่ซ่านออกมา



    เมื่อเราสัมผัสมันจะพบว่า ความเหนื่อยล้า ความกลัว ความไม่สบายกายสบายใจทั้งหมดของเรา ค่อยๆถูกต้นไม้แห่งชีวิตนี้ดูดซับเข้าไป มันจะไปฟอกเปลี่ยนให้กลับมาเป็นพลังงานที่สดชื่น เหมือนที่ต้นไม้ทุกต้นจะฟอกอากาศเสียให้เป็นอากาศบริสุทธิ์ได้…รอจนแน่ใจว่าความกลัวความกังวลของเราทุกๆอย่างได้ถูกดูดซับเข้าไปหมดแล้วจริงๆ กล่าวขอบคุณต้นไม้นี้ในใจเบาๆ แล้วออกเดินตามทางเดินต่อไป



    ในที่สุดคุณก็มายืนอยู่ที่หน้าประตูสวนแห่งหนึ่ง เป็นประตูรั้วเล็กๆ มีดอกไม้ต้นไม้ที่สวยงามประดับ ลองสูดดมกลิ่นหอมของพวกมันดูสิ นี่คือพื้นที่พิเศษอันศักดิ์สิทธิ์เฉพาะคุณ และเฉพาะคนที่คุณอนุญาตเท่านั้นถึงจะเข้ามาได้ ถ้าใครก็ตามที่ไม่ได้รับคำเชิญ เขาผู้นั้นก็จะไม่มีวันหาสวนนี้เจอเลย 


    ทีนี้ ลองเปิดประตู้รั้วสวนเข้าไปสิ ข้างในจะมีทุกสิ่งที่คุณปรารถนารออยู่ ใช้เวลาอยู่ตรงนี้สักพักสัก 3-5 นาที หรือจนกว่าจะรู้สึกถึงความสงบและผ่อนคลาย จากนั้นลองมองไปที่พื้นดูจะพบกับอัญมณีหลากหลายสี ลองหยิบมันขึ้นมาดูก้อนหนึ่คุณรู้สึกอย่างไร... รู้สึกถึงความแข็งของอัญมณีนั่นไหม ให้ใช้เวลากับตรงนี้จนพอใจ 

    หากคุณพอใจแล้วก็ถึงเวลาอำลาสวนแห่งนี้ ให้คุณไปที่ประตูรั้วทางเดิมและกล่าวอำลาสวนแห่งนี้ ปิดประตูรั้วและเดินออกมาช้าๆ เดินไปทางเดิทก่อนที่เราจะมาเจอสวน เดินกลับจนมาถึงต้นไม้แห่งชีวิต เดินผ่านมันไป ระหว่างที่เดิน จงรู้สึกถึงเท้าที่กระทบพื้น หายใจเข้า-ท้องพอง หายใจออก-ท้องยุบ เข้า-พอง ออก-ยุบ…

    จงรู้สึกว่าขาแตะพื้น รู้สึกถึงหัวที่วางบนพื้น/พิงอยู่ ตอนนี้คุณกลับเข้ามาในห้องที่บ้านของเราแล้ว ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ก็ค่อยๆออกจากภวังค์แล้วจึงทำตัวตามสบาย

    และนี่คือการฝึกจินตภาพเบื้องต้นนะครับ 
    B
    E
    R
    L
    I
    N
     
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×