เลาะรั้วขอบวัง ตอนขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) - เลาะรั้วขอบวัง ตอนขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) นิยาย เลาะรั้วขอบวัง ตอนขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) : Dek-D.com - Writer

    เลาะรั้วขอบวัง ตอนขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค)

    โดย Jinrawee

    ขุนหลวงพระยาไกรสี (นายเทียม บุนนาค) นี้ คือ ปัญหาตัวจริงอันเกิดจากผลกระทบของคดีพญาระกา ภายหลังจากการลาออกอย่างหุนหันของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ที่ทำให้คณะตุลาการถีงกับเสียศูนย์

    ผู้เข้าชมรวม

    2,936

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    7

    ผู้เข้าชมรวม


    2.93K

    ความคิดเห็น


    1

    คนติดตาม


    1
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  9 พ.ค. 54 / 16:03 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    สืบเนื่องจากคดีพญาระกาที่กรมพระนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงแต่งบทละครปักษีปกรณัม เรื่องพญาระกา ตอนพิศมาตุคาม ที่นางไก่ญี่ปุ่นเมียตัวหนึ่งของพญาระกาหนีออกจากฝูงไปอยู่กับพญานกเค้าแมว โดยมีนัยว่าเนื้อหาละครเสียดสีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กลายเป็นเรื่องเป็นราวบานปลาย จนกระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  ๒๘ คนของกระทรวงยุติธรรม ประชุมกันแล้วลงชื่อถวายฎีกาขอลาออกตามกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ว่ากันว่าแกนนำสำคัญคือขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีศาลต่างประเทศ
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      ขุนหลวงพระยาไกรสี  (เทียม บุนนาค)

      ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรก  ๑ ใน  ๙ คนที่สอบไล่ได้จากโรงเรียนกฎหมายที่กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงตั้งขึ้น
        
       


      ผู้สอบได้ชั้นที่  ๑  มี  ๔  คน  ที่ได้เหรียญดุษฎีมาลามี  ๑  คนคือ นายลออ  ไกรฤกษ์ ต่อมาเป็นเจ้าพระยามหิธร ได้รับการยกย่องเป็นเนติบัณฑิตคนแรก  นายเทียมก็อยู่ใน  ๔ คนนี้  ชั้นที่  ๒  มี  ๕  คน  หนึ่งในนั้นคือนายทองดี  ธรรมศักดิ์ ต่อมาเป็นพระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี  บิดาของ  อ.สัญญา   ธรรมศักดิ์  ท่านเหล่านี้เป็นศิษย์เอกของกรมหลวงราชบุรีฯ มีความเคารพรักเทิดทูนพระองค์มาก

      ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) ชื่อนี้หากไม่คุ้นอาจจะสับสนกับ ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ผู้เป็นบิดาของนางผ่องศรี มารดาของ อ.มารุต บุนนาค (หลานตา) ปูชนียบุคคลของพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง โดยขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) เป็นอาจารย์สอนกฎหมายของนายเทียม บุนนาค สามารถสืบค้นได้จากหนังสือ ๑๐๐ ปีโรงเรียนกฎหมาย

      อย่างที่กล่าวแล้ว ขุนหลวงพระยาไกรสีมี ๒ ท่าน ท่านแรกคือ ท่านเปล่ง เวภาระ เป็นคนไทยคนแรกที่ไปเรียนกฎหมายสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ จากสำนักมิดเดิลเทมเปิลแห่งกรุงลอนดอน

      ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง) ท่านนี้สิ้นชีวิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ (ตรงกับ ร.ศ. ๑๒๐) แต่ยังไม่ได้มีการจัดการศพตามประเพณี เพราะไม่มีผู้ใดทราบว่าศพได้นำไปเก็บไว้ที่ใด เนื่องจากคุณหญิงทองคำ ผู้เป็นภรรยาของขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง) และเป็นยายของศาสตราจารย์มารุต บุนนาคไม่เคยบอกผู้ใดทราบ แม้แต่มารดาของศาสตราจารย์มารุตซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง ๔ ขวบ

      ต่อมามีผู้ขอเข้าพบศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ยืนยันว่า “ศพของขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง) ซึ่งเป็นคุณตาของท่านนั้นยังเก็บอยู่ที่วัดกัลยาณ์ ยังไม่ได้เผาจนบัดนี้”

      ศาสตราจารย์มารุต ตอนนั้นเป็นร.ม.ต.กระทรวงยุติธรรมจึงได้ชักชวนให้นายทวี กสิยพงศ์ ไปดูโลงศพพร้อมกัน ปรากฏตัวอักษรซึ่งจารึกอยู่ที่โลง แม้จะเป็นตัวอักษรที่เก่าคร่ำคร่ามานานปีก็ยังพออ่านออกว่าเป็นชื่อ ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง) ไม่ผิดเพี้ยน ภายในโลงมีโครงกระดูกรูปร่างสูงใหญ่ เนื้อหนังมังสาผุพังกลายเป็นดินหมดแล้วเหลือเพียงแต่กระดูกให้เห็นเท่านั้น

      ข่าวการพบศพยอดนักกฎหมายคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐติดต่อกันหลายวัน เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่น่าปลาบปลื้มใจเมื่อท่านเจ้าคุณตาขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง) ซึ่งสิ้นชีวิตไปแล้วถึง ๘๐ ปี ได้มีโอกาสมาร่วมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๒๐๐ ปี

      ส่วน ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) เป็นท่านที่ ๒ ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้ต่อมาในรัชกาลเดียวกัน

      แต่หลังจากคดีพญาระกา ไม่โปรดที่จะให้ใครเป็นขุนหลวงพระยาไกรสีอีก 

      ในขณะเดียวกัน นายเทียม บุนนาค ก็มีอยู่อย่างน้อย ๒ ท่าน เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน คือ

      ๑. นายเทียม บุนนาค บุตร เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือขุนหลวงพระยาไกรสี อธิบดีผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม

      ๒. นายเทียม บุนนาค บุตร เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือ  พระยาสุรินทรฤๅชัย ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี 

      ทั้งเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) และ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ (เทศ บุนนาค) เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) แต่ต่างมารดากัน ที่สำคัญ นายเทียม บุนนาค ท่านที่สอง ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์นี้ (พระยาสุรินทรฤๅชัย บ้างก็เขียน พระยาสุรินทรฦาไชย) เป็นพี่ชายของเจ้าจอมก๊กออในรัชกาลที่ ๕ (เจ้าจอมมารดาอ่อน, เจ้าจอมเอี่ยม, เจ้าจอมเอิบ, เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน) ลูกของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ (เทศ บุนนาค) ถ้าเป็นผู้ชายใช้อักษร ท ทหาร (ตามชื่อพ่อ) ถ้าเป็นผู้หญิงใช้อักษร อ อ่าง (ตามชื่อแม่ - ท่านผู้หญิงอู่)

      ส่วนนายเทียม บุนนาค ท่านแรกผู้เป็น "ขุนพระยาไกรสี" มีหลักฐานปรากฏในราชกิจจาฯ ดังนี้

      จากราชกิจจาฯ เล่ม ๒๕ หน้า  ๗๘๐ ระบุไว้ว่า -
      วันที่  ๒๘  กันยายน  ร,ศ, ๑๒๗  ให้เลื่อน   ขุนหลวงพระไกรสีห์  เป็นขุนหลวงพระยาไกรสี  สุภาวภักดีศรีมนธาตุราชอำมาตย์คณากร  เจ้ากรมแพ่งกลาง  ถือศักดินา  ๓๐๐๐ 

      มีผู้ให้ความหมายของคำว่า "ขุนหลวงพระยา" นี่เป็นตำแหน่ง  คือ "พระยาที่ทำหน้าที่ ขุนหลวงหรือผู้พิพากษา"

      และจากราชกิจจาฯ เล่ม ๒๗ หน้า ๔๖๖ ระบุไว้ว่า -
      ด้วยขุนหลวงพระยาไกรสี  (เทียม)  มีความผิดในราชการ  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกออกจากน่าที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ   แลถอดเสียจากยศบรรดาศักดิ์ตั้งแต่บัดนี้ไป   แจ้งความมาณ วันที่ ๘ มิถุนายน ร,ศ, ๑๒๙  จรูญศักดิ์  รับพระบรมราชโองการ  

       

      ขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค) ถูกออกจากตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาคดีต่างประเทศ และถอดออกจากยศบรรดาศักดิ์เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๙ หรือตรงกับ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๓  ในหนังสือประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ หน้า ๓๒๑ ระบุว่า "ตายมีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ (ตามระบบพ.ศ.เก่า)" หรือที่จริงแล้วควรเป็น พ.ศ. ๒๔๕๔ ตามระบบพ.ศ. ปัจจุบัน

      ลองดูภาพเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) บิดาของขุนหลวงพระยาไกรสี (เทียม บุนนาค)...พ่อลูกคู่นี้ไม่ค่อยถูกกัน

       

      เมื่อนายเทียมถูกถอดลงแล้ว, เจ้าพระยาภาณุวงศ์ (ผู้เปนบิดาของนายเทียม) ได้แสดงความเห็นว่า, ท่านปล่อยเสือเข้าป่า, ปล่อยปลาลงน้ำ, ถ้าเช่นนี้ใส่คุกเสียอีกสิบปีละดีทีเดียว ที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์กล่าวซ้ำเติมนายเทียมเช่นนี้ เพราะยังไม่หายแค้นนายเทียมว่าได้เปนความกับตัวท่าน. เรื่องที่เกิดบาดหมางกันขึ้นนั้นมีสาเหตุที่ขันทองใบ ๑ ซึ่งนายเทียมอยากได้และนึกไว้ว่าจะได้ แต่ท่านภาณุวงศ์เอาไปยกให้เสียแก่คุณหญิงทิพย์ สุรินฦๅชัย (สุรพันธ์พิสุทธิ์) จึ่งได้เกิดเปนความกัน.

      (จากประวัติต้นรัชกาลที่ ๖)

      นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ทัศนะเกี่ยวกับขุนพระยาไกรสีไว้หลากหลายดังนี้

      ขุนหลวงพระยาไกรสี เมื่อถูกถอดออกจากยศบรรดาศักดิ์แล้ว  ก็ได้ไปประกอบวิชาชีพทนายความ  แต่วิธีการของท่านนั้นออกจะผิดแผกจากทนายความคนอื่น  จึงเป็นเหตุให้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงตราพระราชบัญญัติทนายความ  และทรงตั้งเนิติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อควบคุมมารยาททนายความ

       

      จึงมีผู้กล่าวว่า ขุนหลวงพระยาไกรสี (นายเทียม บุนนาค) นี้ คือ ปัญหาตัวจริงอันเกิดจากผลกระทบของคดีพญาระกา หลังจากการลาออกอย่างหุนหันของกรมหลวงราชบุรีฯ ที่ทำให้คณะตุลาการถีงกับเสียศูนย์ การผลัดเปลี่ยนตัวผู้บริหารต่อมาไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดีขึ้น อีกทั้ง นายเทียม บุนนาค ที่แม้พระพุทธเจ้าหลวงทรงให้ออกจากราชการไปแล้วก็ยังมีอิทธิพลเหนือผู้พิพากษา ได้ไปตั้งบริษัททนายความกับฝรั่ง รับจ้างว่าความคดีสำคัญและรับว่าความให้คนในบังคับของฝรั่งในศาลต่างประเทศในคดีที่ก่อนนั้นตนเคยนั่งเป็นผู้พิพากษาอยู่ด้วย เป็นความทุกข์ของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่เพราะหัวขบวนของกระทรวงยุติธรรมยังสะเปะสะปะไม่พรัอมกันก้าวเดินไปข้างหน้า จนกระทั่งนายเทียม บุนนาคตายลงใน ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ (ในพระราชบันทึกทรงเขียน ๒๔๕๓ ตามระบบพ.ศ.เก่า) มิได้ทรงขยายความว่านายเทียม บุนนาค ตายอย่างไร แต่การตายเร็วของ นายเทียม บุนนาค เพียงไม่กี่เดือนหลังเกิดเหตุ ช่วยให้สถานการณ์บ้านเมืองในด้านนี้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก เมื่อพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงเปลี่ยนตัวเสนาบดีอีกครั้งหนึ่งก็ลงตัว กระทรวงยุติธรรมได้กลับคืนสู่เสถียรภาพ

      จากที่กล่าวแล้ว นายเทียม  บุนนาค จะถึงแก่กรรมเมื่อไร อย่างไร ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด  แต่ศพของท่านถูกทิ้งไว้ที่วัดของสกุลที่ฝั่งธนบุรีอยู่หลายสิบปี  ทายาทรุ่นหลานเพิ่งจะมาทราบแล้วจัดการฌาปนกิจไปเมื่อสักสิบกว่าปีก่อน (ข้อมูล ปีพ.ศ. ๒๕๕๒) 

      ขอบคุณที่มาของบทความ: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, คุณ NickyNick, คุณ V_Mee, คุณ แสนอักษร, คุณ Navarat.C จากเว็บไซต์ pantip.com, คุณเพ็ญชมพู และคุณ overhaul จากเว็บไซต์เรือนไทย


      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×