เลาะรั้วขอบวัง ตอนพระราชหัตถเลขาราชานุสรณ์ - เลาะรั้วขอบวัง ตอนพระราชหัตถเลขาราชานุสรณ์ นิยาย เลาะรั้วขอบวัง ตอนพระราชหัตถเลขาราชานุสรณ์ : Dek-D.com - Writer

    เลาะรั้วขอบวัง ตอนพระราชหัตถเลขาราชานุสรณ์

    รวมเรื่องราวจากหลายแหล่งข้อมูล ส่วนหนึ่งมาจากการบอกเล่าที่บอกต่อกันมา บางส่วนเป็นข้อมูลที่มีผู้เขียนไว้ใน websites ต่าง ๆ ให้อ่านกันเป็นเกร็ดความรู้นอกตำราเรียน

    ผู้เข้าชมรวม

    994

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    2

    ผู้เข้าชมรวม


    994

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    1
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  29 ต.ค. 53 / 14:31 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น

      


    เราตั้งใจอธิษฐานว่า เราจะกระทำการจนเต็มกำลังอย่างที่สุด ที่จะให้กรุงสยาม เป็นประเทศอันหนึ่ง ซึ่งมีอิสรภาพและความเจริญ

    [พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕]

    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      ที่ ๒/๖๑๓๘
      พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท


      วันที่ ๘ กรกฎาคม รัตนโกสินศก ๑๑๒
      ถึง ลูกชายใหญ่ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ


      ด้วยเมื่อวันที่ ๖ เดือนนี้ เวลากลางคืน เป็นเวลาที่เจ้ามีอายุเต็มเสมอเท่ากับพ่อ เมื่อได้รับสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน นึกตั้งใจว่าจะเขียนหนังสืออำนวยพรและสั่งสอนทุกข์ยิ่งขึ้น ดังตัวพ่อเป็นมาเอง อันจะเล่าโดยย่อให้ทราบ ดังต่อไปนี้

      ในเวลานั้นอายุพ่อเพียง ๑๕ ปี กับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเล ก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใด เป็นในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสีย ก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการ ถึงว่ามีผู้ใดได้รักใคร่ สนิทสนมอยู่บ้าง ก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด

      ฝ่ายพี่น้อง ซึ่งร่วมบิดาหรือร่วมทั้งมารดา ก็เป็นเด็ก มีแต่อายุต่ำกว่าพ่อลงไป ไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น ส่วนตัวพ่อเอง ยังเป็นเด็กอายุพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ ในราชการอันใด ที่จะทำการตามหน้าที่ แม้แต่เพียงเสมอเท่าที่ทูลกระหม่อม (รัชกาลที่ ๔) ทรงประพฤติมาได้ ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย อันไม่มีผู้ใดสักคนเดียวตักเตือนเล็กน้อย ก็เฉพาะถูกเวลาลงไปปากลัดเสีย จึงเป็นแต่บอกด้วยปากโดยย่อ บัดนี้ พอที่จะหาเวลาเขียนหนังสือฉบับนี้ได้ จึงได้เขียน ขอเริ่มว่า ...


      คำซึ่งกล่าวว่า "ได้รับสิริราชสมบัติ เป็นคำไพเราะจริงหนอ" ...เพราะสมบัติเป็นที่ปรารถนาของบุคคลทั่วหน้า และย่อมจะคิดเห็นโดยง่าย ๆ ว่า ผู้ซึ่งได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ย่อมจะมีเกียรติยศ ยิ่งกว่าคนสามัญ ย่อมจะมีอำนาจจะลงโทษแก่ผู้ซึ่งไม่พึงพอใจ อาจจะยกย่องเกื้อกูลแก่ผู้ซึ่งพึงใจ และเป็นผู้ซึ่งมีสมบัติมาก อาจจะใช้สอยเล่นหัว หรือให้ปันแก่ผู้พึงใจได้ความประสงค์ ผลแห่งเหตุที่ควรยินดี กล่าวโดยย่อเพียงเท่านี้ ยังมีข้ออื่นอีกเป็นหลายประการ จะกล่าวไม่รู้สิ้น
       
      แต่ความจริง หาเป็นเช่นความหมายของคนทั้งปวงดังนั้นไม่ เวลาซึ่งกล่าวมาแล้ว อันจะพูดตามคำไทย อย่างเลว ๆ ว่า “มีบุญ” ขึ้นนั้น ที่แท้จริง เป็นผู้มีกรรม และมีซึ่งจะเชื่อว่าจะรอด ยังซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่ คือ ทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตในขณะนั้น เปรียบเสมือนคนศีรษะขาด แล้วจับเอาแต่ร่างกาย ขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์ อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น และความหนักหนาของมงกุฎ อันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้าง ทั้งภายในภายนอก หมายเอาทั้งในกรุงเอง และต่างประเทศ ทั้งโรคร้ายในกายเบียดเบียนแสนสาหัส
       

      เพราะฉะนั้น พ่อจึงถือว่าวันนั้น เป็นวันเคราะห์ร้ายอย่างยิ่ง อันตั้งแต่เกิดมาพึงได้มีแก่ตัว จึงสามารถที่จะกล่าวในหนังสือฉบับก่อนว่า เหมือนตะเกียงอันริบหรี่ แต่เหตุใดจึงไม่ดับ เป็นข้อที่ควรถาม หรือควรจะเล่าบอกการที่ดับได้นั้น

      ๑. คือเยียวยารักษาร่างกาย ด้วยยาบำบัดโรค ของที่มีรสอร่อยอันจะทำให้เกิดโรคอย่างหนึ่ง

      ๒. ปฏิบัติอธิษฐานใจเป็นกลาง มิได้สำแดงอาการกิริยาโดยแกล้งทำอย่างเดียว ตั้งใจเป็นความแน่นอนมั่นคง เพื่อจะแผ่ความเมตตากรุณา ชนภายในคือ น้องและแม่เลี้ยงทั้งปวง ตามโอกาสที่จะทำได้ ให้เห็นความจริงใจ ว่า มิได้มุ่งร้ายหมายขวัญต่อผู้หนึ่งผู้ใด การอันใดที่เป็นข้อกระทบกระเทือนมาเก่าแก่เพียงใด มากหรือน้อย ย่อมแสดงให้ปรากฏว่า ได้ละทิ้งเสีย มิได้นึกถึงเลย คิดแต่จะมั่วสุมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยควรที่จะสงเคราะห์ได้อย่างใดก็สงเคราะห์มีที่สุด ถึงว่าอายุน้อยถึงเพียงเท่านั้น ยังได้จูงน้องเล็ก ๆ ติดเป็นพรวนโตอยู่ทุกวัน แม่เจ้าจะจำได้ การที่พ่อประพฤติอย่างใด ในขณะนั้น ...

      ๓. ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ซึ่งท่านเชื่อเป็นแน่ว่าพ่อเป็นแต่เจว็ด ครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง อย่างเรื่องจีนตั้งแต่ถึงเรื่องดังนั้น พ่อได้แสดงความเคารพนับถืออ่อนน้อมต่อท่านอยู่เสมอ เหมือนอย่างเมื่อยังมิได้เลือกขึ้นเป็นสมมติเช่นนั้น จนท่านก็มีความเมตตาปราณีขึ้นทุก ๆ วัน

      ๔. ส่วนข้าราชการผู้ใหญ่น้อย ซึ่งรู้อยู่ว่ามีความรักใคร่นับถือพ่อมาแต่เดิม ก็ได้แสดงความเชื่อถือรักใคร่ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จนมีความหวังใจว่า ถ้ากระไรคงจะได้ดีสักมื้อหนึ่ง หรือถ้ากระไรก็จะ (ต้นฉบับขาดหาย) ... อันตรายสักมื้อหนึ่ง

      ๕. ผู้ซึ่งว่าเป็นศัตรูปองร้าย ก็มิได้ตั้งเวรตอบ คือ เอา (ต้นฉบับขาดหาย) ... ไปงัดไม้ซุง ย่อมเคารพนับถือและระมัดระวัง มิให้เป็นเหตุว่า คิดจะประทุษร้ายตอบ หรือโอนอ่อนยอมไปทุกอย่าง จนไม่รู้ว่าผิดว่าชอบ เพราะเหตุที่รู้อยู่ว่าเป็นศัตรู

      ๖. ข้าราชการซึ่งเป็นกลาง คอยฟังว่าชนะไหน ก็จะเล่นนั่น มีเป็นอันมาก แต่พ่อมิได้แสดง ความรู้สึกให้ปรากฏเลย ย่อมประพฤติต่อด้วยอาการเสมอ แล้วแต่ความดีความชอบของผู้นั้น แม้ถึงรู้อยู่ว่าเป็นศัตรู หรือเฉย ๆ แต่เมื่อทำความดีแล้ว ต้องช่วยยกย่องให้ตามคุณความดี

      ๗. ผู้ซึ่งเป็นญาติพี่น้องมิได้รับความดีเท่ากับคนทั้งปวง มีแปลกอยู่แต่เพียงมารู้อยู่ในใจ ด้วยกันแต่เพียงว่า ปรารถนาจะให้ไปในทางที่ดี เพื่อจะได้ยกย่องขึ้น เมื่อไปทางที่ผิดก็เป็นที่เสียใจ แต่ความเสียใจนั้น ไม่มาหักล้าง มิได้ยินยอมให้ผู้ผิดต้องรับผิด

      ๘. ละเว้นจากความสุขสบาย คือกินและนอนเป็นต้น สักแต่ชั่วรักษาชีวิตไว้พอดำรงตระกูลสืบไป พยายามหาคนที่จะใช้สอย อันควรที่จะเป็นที่ไว้ใจได้ มีน้องเป็นต้น อันมีอายุเจริญขึ้นโดยลำดับ

      ๙. เมื่อมีผู้ร่วมในทางอันดีมากขึ้น จึงได้แผ่อำนาจออก โดยยึดเอาทางที่ถูกต่อสู้กับทางที่ผิด เมื่อชนะได้ครั้งหนึ่ง สองครั้ง โดยความนิยมของคน ซึ่งตั้งอยู่ในท่ามกลาง ย่อมรวนเรหันมาเห็นด้วยก่อน จึงเกิดความนิยมมากขึ้น ๆ จนถึงผู้ซึ่งมีความปรารถนากล้า อันจะถอยกลับได้เสียแล้ว ก็ต้องทำไป แต่ย่อมเห็นว่ากำลังอ่อนลงทุก ๆ เมื่อ

      ๑๐. พ่อไม่ปฏิเสธว่า ในเวลาหนุ่มคะนองนั้นจะมิซุกซน อันเป็นเหตุให้พลาดพลั้งไปหลายครั้ง แต่อาศัยเหตุโอบอ้อมที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น และความรู้เห็นในผู้ซึ่งควรจะไว้ใจได้ คงจะล่มเสียนานแล้ว การอันใดซึ่งเกิดเป็นการใหญ่ ๆ ขึ้น ดูก็ไม่น่าที่จะยกหยิบเอามากล่าวที่นี้ เพราะจะทำให้หนังสือยาวเกินไป ...
       

      บัดนี้ ลูกมีอายุเท่ากับพ่อ ในเวลาที่ได้รับทุกข์เวทนาแสนสาหัสเช่นนั้น จึงได้มีใจระลึกถึง ประสงค์จะแนะนำให้รู้เค้าเงื่อนแห่งความประพฤติ อันได้ทดลองมาแล้วในชั่วอายุเดียวเท่านั้น แต่ถือเอาเป็นอย่างเดียวกัน เหมือนตีพิมพ์ย่อมไม่อยู่เอง เพราะบริษัทและบุคคล กับทั้งเหตุการณ์ ภูมิพื้นบ้านเมืองผิดเวลากัน ในเวลานี้เป็นการสะดวกดี ง่ายกว่าแต่ก่อนมากยิ่งนัก ตัวชายใหญ่เองก็ตั้งอยู่ในที่ผิดกันกับพ่อ ถ้าประพฤติตัวให้ดี จะดีได้เร็วกว่า ง่ายกว่าเป็นอันมากในการภายใน แต่การภายนอก ย่อมหนักแน่นขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงจะจำเป็นที่จะทำซ้ำอย่างพ่อเคยทำมาไม่ได้ การสมัครสมานภายในต้องเรียบร้อยโดยเร็ว ไว้รับภายนอกให้ทันแก่เวลา จึงขอเตือนว่า ...
       
      ๑. ให้โอบอ้อมอารีต่อญาติมิตรอันสนิท มีน้องเป็นต้น เอาไว้เป็นกำลังใจให้จงได้
       
      ๒. อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ไม่ว่าเจ้านายหรือขุนนาง ฟังคำแนะนำตักเตือนในที่ควรฟัง
       
      ๓. อย่าถือว่าเกิดมามีบุญ ต้องถือว่าตัวเกิดมามีกรรม สำหรับจะเทียมแอกเทียมไถ ทำการหนัก การซึ่งจะมีวาสนาขึ้นต่อไปนั้น เป็นความทุกข์ มิใช่ความสุข

      ๔. การที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน มิใช่สำหรับมั่งมี ไม่ใช่สำหรับข่มเหงคนเล่นตามชอบใจ มิใช่เกลียดไว้แล้ว จะไว้แก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับกินสบาย นอนสบาย ถ้าจะปรารถนาเช่นนั้นแล้ว มีสองทางคือ บวชทางหนึ่ง เป็นเจ้าแผ่นดินสำหรับคนจน และเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชัง อันจะเกิดฉิวในใจ หรือมีผู้ยุยงเป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ผลที่จะได้นั้น มีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อตายแล้ว ว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎร อยู่ในอำนาจความปกครอง ต้องหมายใจในความสองข้อนี้ เป็นหลักมากกว่าคิดถึงการอื่น ถ้าผู้ซึ่งมิได้ทำใจเช่นนี้ ก็แลไม่เห็นเลยว่าจะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้
       

      เมื่อลงปลายหนังสือฉบับนี้ ต้องขออำนวยพรเจ้า ซึ่งยังมิต้องรับการหนักอย่างเข่นพ่อต้องรับมา ในเมื่ออายุเพียงนี้ ยังมีพร้อมอยู่ทั้งบิดามารดา คณาญาติ ซึ่งจะช่วยอุปถัมภ์ บำรุงให้สติปัญญา ความคิดแก่กล้าขึ้น จนถึงเวลาที่ควรจะรับแล้ว และได้รับโดยความสะดวกใจดีกว่าที่พ่อได้เป็น ขอให้หมั่นศึกษาและทำในใจ ในข้อความที่ได้กล่าวตักเตือนมานี้ ละความเกียจคร้าน ตั้งใจพยายามทำทางไว้ใจจงดีทุกเมื่อ ถ้าสงสัยอันใด ข้อใดไม่เข้าใจให้ถามจะอธิบายให้ฟัง ให้อำนาจหนังสือนี้ จำไว้ทุกข้อ อย่าให้เป็นแต่เหมือนอ่านหนังสือพิมพ์เล่น ...
       


      ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ


      คัดลอกมาจาก “รัชกาลที่ ๕ กับพระราชปฏิพัทธ์” เรียบเรียงโดย พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

      ขอบคุณ: http://mblog.manager.co.th/nelumbo/th-34815/

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×