ใต้ร่มพระบารมี ศรีมหาเจษฎาบดินทร์ - ใต้ร่มพระบารมี ศรีมหาเจษฎาบดินทร์ นิยาย ใต้ร่มพระบารมี ศรีมหาเจษฎาบดินทร์ : Dek-D.com - Writer

    ใต้ร่มพระบารมี ศรีมหาเจษฎาบดินทร์

    บทความเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวค่ะ และขอเชิญเพื่อนๆ น้องๆ ที่สนใจสามารถเข้าร่วมการสัมมนาได้ที่ หอประชุมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วันที่ 10 พ.ย. 49 นี้ค่ะ

    ผู้เข้าชมรวม

    2,072

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    1

    ผู้เข้าชมรวม


    2.07K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  5 พ.ย. 49 / 22:34 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น

    ใต้ร่มพระบารมี ศรีมหาเจษฎาบดินทร์

    จากหลักฐานอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นหลักศิลาจารึกสมัยกรุงสุโขทัย พระราชพงศาวดาร หรือจดหมายเหตุในสมัยราชธานีศรีอยุธยา หรือพระราชพงศาวดารของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนแต่เป็นมรดกสืบทอดอันล้ำค่าที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถขององค์พระมหากษัตริย์ไทยในทุกรัชกาล และทุกราชวงศ์ที่ทรงปกครองสยามประเทศด้วยหลักทศพิธราชธรรมเพื่อให้ไพร่ฟ้าใต้แผ่นดินทั้งหลายได้มีความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตราบจนปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในพระมหากษัตริย์ไทยที่ควรได้รับการสรรเสริญเฉลิมพระเกียรติในพระอัจฉริยภาพและพระราชกิจทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนการทำนุบำรุงบวรพุทธศาสนา นั่นก็คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตระหนักถึงความรับผิดชอบในหน้าที่แห่งขัตติยะในมหาประยูรเศวตฉัตรอย่างเปี่ยมล้น พระองค์ทรงอุทิศเวลาในการบริหารราชการงานแผ่นดิน เพื่อฟื้นฟูฐานะการเงินการคลังในรัชสมัยของพระองค์ให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

    แม้กาลเวลาจะล่วงเลยกว่า ๑๕๕ ปีมาแล้ว นับจากการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๓ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ หากแต่ผลงานในพระราชกรณียกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังคงแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ต่ออนุชนคนรุ่นหลังให้ตระหนักถึง และชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยพระบรมโพธิสมภารและพระราชปรีชาญาณในทุกๆ แขนง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงสร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ท้องพระคลังหลวงด้วยการเจริญสัมพันธไมตรีด้านการค้ากับต่างประเทศทั้งชาติตะวันออกและชาติตะวันตก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยอันกว้างขวางเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา และพระราชปรีชาญาณของพระองค์ท่าน รวมถึงการทำนุบำรุงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดรัชสมัยของพระองค์ และพระราชกรณียกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของพระองค์ที่มีคุณค่าแก่ประชาราษฎร์ นั่นก็คือ การจารึกภาพความรู้ที่ถือเป็นสรรพวิชาสำหรับประชาชนทั่วไปไว้ตามกำแพงภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านที่ทรงให้ความสำคัญในด้านการศึกษาแก่พสกนิกร และมีหลักฐานปรากฏไว้สู่สายตาประชาชนตราบจนทุกวันนี้

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทับ (เนื่องจากมีพระราชมารดาเป็นเจ้าจอมจึงมิได้มีสกุลยศเป็นเจ้าฟ้า) พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม เวลาค่ำ ๑๐.๓๐ นาฬิกา ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓๑ มีนาคม ปีพุทธศักราช ๒๓๓๐ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเพียงพระองค์เจ้าเท่านั้น เนื่องจากทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กับเจ้าจอมมารดาเรียม พระสนมเอก (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย) ซึ่งต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้รับการสถาปนาพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ภายหลังจากกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขถึงแก่ทิวงคตในปีพุทธศักราช ๒๓๔๙

    ต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงปราบดาภิเษกขึ้นผ่านพิภพมไหศวรรยาธิปัตย์ เถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปีพุทธศักราช ๒๓๕๒ ซึ่งประชาชนทั่วไปรู้จักกันดีในพระนาม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงเลือกใช้นโยบายการบริหารประเทศแบบสันติวิธี ส่งผลให้ชาติบ้านเมืองในขณะนั้นละเว้นช่วงจากการทำศึกสงครามไปได้บ้าง เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงรักษาผืนแผ่นดินสยามให้เจริญรุ่งเรืองเฉกเช่นเดียวกันกับสมัยราชธานีศรีอยุธยา นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศของพระองค์เจ้าทับขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ มีหน้าที่ในการกำกับดูแลกรมท่า (หมายถึงกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน) กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมพระตำรวจ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้รับสนองพระราชโองการในฐานะพระราชโอรสองค์ใหญ่ พระองค์ทรงงานตามภาระหน้าที่ได้เป็นอย่างดี และช่วยเป็นหูเป็นตาต่างพระเนตรพระกรรณด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้บรรลุตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระราชบิดา รวมถึงการปกครองดูแลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ดังมีบันทึกกล่าวไว้ว่า

    เมื่อแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาไลยนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ท่านเปน มหาปธานาธิบดีในราชการกรมท่าและกรมพระตำรวจน่าหลังทั้งสิ้น แลได้เปนผู้รับฎีกาของราษฎรที่มาร้องทุกข์ แลได้เปนแม่กองกำกับลูกขุน ณ ศาลหลวง แลตระลาการทุกศาล ท่านพระองค์นี้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินทั่วทั้งพระราชอาณาจักรสยาม ท่านเปนผู้รับกระแสพระราชดำรัสแลพระราชประสงค์ต่างพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนพระบรมชนกนาถทั้งสิ้น

    จากข้อความในบันทึกข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความไว้พระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่มีต่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ผู้เป็นพระราชโอรสอย่างยิ่ง สิ่งนี้ย่อมเป็นการยืนยันได้ดีว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นั้นทรงงานทุกสิ่งให้ลุล่วงสำเร็จไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ยังคงเป็นระบอบแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นคือ อำนาจการปกครองขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น หากแต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นองค์พระมหากษัตริย์ทรงมีความใกล้ชิดกับราษฎรมากขึ้น และทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาราษฎร์ โดยพระองค์ทรงงานอย่างหนักทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งทรงปกครองด้วยหลักทศพิธราชธรรมซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติของผู้ปกครองที่ควรมีเมตตาธรรม เพราะหากเมื่อใดเจ้านครขาดเมตตาธรรมในการปกครองแล้ว คงยากนักที่จะหาความสงบสุขในผืนแผ่นดินนั้นได้ ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดเกล้าฯ เปิดโอกาสให้ราษฎรสามารถถวายฎีการ้องทุกข์ได้ โดยทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้รับฎีกาของเหล่าพสกนิกรแทนพระองค์ ก็เพราะทรงมีพระราชปณิธานมุ่งหวังให้ไพร่ฟ้าใต้แผ่นดินของพระองค์ทุกคนได้รับความยุติธรรม และอยู่อย่างเป็นสุข

    ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ โดยมิได้ตรัสมอบหมายราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระองค์ใด หรือแต่งตั้งพระราชโอรสให้ขึ้นประดิษฐานเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวร ตามโบราณราชประเพณี เมื่อเป็นดังนี้ศักดิ์และสิทธิอันชอบธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลจึงควรเป็นของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงษ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งประสูติในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระอัครมเหสี ทว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงษ์ ทรงออกผนวชในปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ ก่อนพระราชบิดาจะสิ้นพระชนม์เพียงไม่กี่วันเท่านั้น และทรงปรารถนาที่จะครององค์แสวงบุญอย่างสงบภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ต่อไป เพื่อเป็นการหลีกทางให้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ผู้เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา เื่อเป็นเช่นนี้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และคณะเสนาบดี จึงได้ประชุมหารือและมีมติเห็นควรกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ให้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ แม้ว่าจะมีพระราชชนนี (เจ้าจอมมารดาเรียม) เป็นเพียงสามัญชนก็ตาม แต่ด้วยพระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ซึ่งได้แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ชัดมาตลอดรัชสมัยของพระบรมชนกนาถ พระองค์จึงได้เสด็จราชาภิเษกเถลิงถวัลยไอศูรย์สมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี ในวันอาทิตย์ที่ ๑ สิงหาคม ปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ ทรงมีพระนามเต็มเช่นเดียวกับพระราชบิดา และพระอัยกาธิราช นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สากลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีธรรมเนียมราชประเพณีในการตั้งพระปรมาภิไธยที่แตกต่างกันออกไปของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ประทานให้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่เป็น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

    หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานปูนบำเหน็จรางวัลความดีความชอบให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ เหล่าคณะเสนาบดี ตลอดจนข้าราชการชั้นต่างๆ ตามแต่หน้าที่การงานนั้นๆ หากแต่เสนาบดีผู้เป็นที่โปรดปรานเป็นพิเศษของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังสืบต่อไป และทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ทัต บุนนาค) ขึ้นดำรงตำแหน่งพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษาจางวางกรมพระคลังสินค้า ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลังอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมุ่งเน้นงานราชกิจด้านการทหาร และการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญ เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยทรงสานต่อพระราชกิจของพระบรมราชชนกในด้านงานต่างประเทศที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงริเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์กับชาติตะวัน ตกขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยทรงมีพระบรมราชานุญาตให้โปรตุเกสเข้ามาตั้งสถานกงสุลในผืนแผ่นดินสยามได้เป็นประเทศแรก เมื่อมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงต้อนรับเหล่าคณะทูตานุทูตต่างๆ ทั้งจากชาติตะวันตก และเอเชียตะวันออกเช่นกัน และได้เริ่มมีการลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากันมากขึ้น เนื่องจากพระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการค้าขายกับต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์แล้ว ในครานั้นพระองค์ทรงแต่งเรือสำเภาส่วนพระองค์หลายลำเพื่อล่องไปค้าขายกับประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง และทรงได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินกำไรจากการค้าเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งพระราชบิดาของพระองค์ทรงเรียกขานพระองค์ว่า เจ้าสัว

    จากคำเรียกขานดังกล่าว เมื่อนำมาพิจารณาแล้วจะเห็นว่าคำกล่าวของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยน่าจะเป็นความจริงอยู่มากทีเดียว เนื่องจากในเวลานั้นเงินท้องพระคลังในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีอยู่อย่างจำกัด สาเหตุหลักเป็นเพราะรายรับจากการเก็บส่วยภาษีอากรนั้นมีไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้น แต่พระองค์ก็มิได้ทรงเรียกเก็บส่วยภาษีอากรเพิ่มจากราษฎรแต่อย่างใด ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกรทั้งหลาย ทั้งในส่วนของผลผลิต และเงินทองที่ราษฎรจะมีไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและหาเลี้ยงครอบครัวถ้าต้องแบกรับภาระจ่ายภาษีอากรเพิ่ม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ทรงนำเอาผลกำไรจากการแต่งเรือสำเภาส่วนพระองค์มาร่วมสมทบทุนเพื่อช่วยเหลือในราชกรณียกิจของพระราชบิดาได้มากพอสมควร

    ดังนั้นเมื่อถึงคราที่องค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกลายมาเป็นเจ้าแผ่นดินและเจ้าเหนือชีวิตของเหล่าพสกนิกรชาวสยาม ส่วนใหญ่แล้วคนรุ่นหลังมักรำลึกถึงพระปรีชาสามารถในเชิงการยุทธ์ของพระองค์ที่ทรงปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไว้จากอริราชศัตรูสำคัญในขณะนั้น คือ ญวณ (ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) และยังสามารถขยายดินแดนราชอาณาจักรสยามให้มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมากที่สุดจนมีแว่นแคว้นภายใต้การปกครองมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ก่อกำเนิดวีรสตรีผู้กล้าหาญให้แก่สยามประเทศนั่นคือ ท้าวสุรนารี สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการวางแผนทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ และความเชี่ยวชาญในการสงครามของพระองค์ได้เป็นอย่างดี

    นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงตั้งพระทัยที่จะฟื้นฟูฐานะการเงินการคลังของประเทศให้มีเสถียรภาพมากพอๆ กับการสร้างความมั่นคงด้านการเมือง และการปกครองให้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร พระองค์ทรงเป็นทั้งนักรบและนักการค้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพระราชปรีชาญาณ จึงนับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อนุชนคนรุ่นหลังควรตระหนักถึง และศึกษาในนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า การพาณิชย์ของพระองค์อย่างถ่องแท้ ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ แม้ว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาในอดีต หลายคนอาจคิดว่ามันเป็นเพียงอดีตกาลที่ล่วงเลยผันผ่านมานานแล้วเท่านั้น มิหนำซ้ำยังล้าสมัย คงไม่สามารถนำมาใช้ในยุคโลกาภิวัฒน์เฉกเช่นในปัจจุบันนี้ได้ บางทีหากลองนึกย้อนทบทวนถึงบทบาทและแนวทางการบริหารราชกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ความคิดเห็นในเรื่องล้าสมัยอาจจะเปลี่ยนไปในทันทีเมื่อพบว่าหลายต่อหลายครั้งที่พระราชวินิจฉัย หรือพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาใดๆ ก็ตามของชาติบ้านเมืองเมื่อครั้งโบราณกาลนั้น ถือเป็นรากฐานสำคัญที่สืบเนื่องมาตราบจนปัจจุบัน และเมื่อทำความเข้าใจถึงรากฐานนั้นๆ ได้อย่างถ่องแท้แล้ว ก็ย่อมสามารถสานต่อปณิธานสิ่งล้ำค่าในอดีตกาลเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันได้ เปรียบเสมือนดั่งต้นไม้ใหญ่ที่จะสามารถยืนหยัดยืนยงโต้พายุสู้มรสุมต่างๆ ได้อย่างมั่นคง ก็ต่อเมื่อต้นไม้เหล่านั้นเติบใหญ่มาจากรากเง้าที่แข็งแกร่ง

    เฉกเช่นเดียวกันกับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครานั้นบ้านเมืองเพิ่งผ่านพ้นช่วงการฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของเหล่าทวยราษฎร์ที่ต้องเผชิญศึกสงครามกับพม่ามาตลอดนับ ตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี ในรัชกาลของสมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราช (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) พระองค์ทรงกอบกู้อิสรภาพคืนกลับมาให้แก่ชาติบ้านเมืองได้ภายในปีเดียวกัน แต่ยังคงต้องเผชิญกับศึกสงครามทั้งภายในและภายนอกประเทศ เงินท้องพระคลังของแผ่นดินในช่วงนั้นก็แทบจะไม่มีเหลือ และพระองค์เองก็ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะเร่งรีดรัดเรียกเก็บส่วยอากรจากราษฎรที่กำลังประสบภาวะเดือดร้อน และความยากไร้หลังสงคราม ซึ่งความขาดแคลนนี้ได้ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ยังคงต้องเผชิญศึกรบกับพม่าเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นสงครามเก้าทัพในรัชสมัยขององค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) หรือเมื่อคราที่พม่ายกทัพมาตีเมืองถลางในต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) แต่พม่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้กลับไป แม้ว่าองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะดำเนินนโยบายการเมืองแบบสันติวิธีแล้วก็ตาม แต่ก็มิอาจเลี่ยงการศึกกับพม่าที่คอยหาโอกาสรุกรานสยามประเทศได้ จากภาวะการศึกสงครามที่มีมาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้เอง จึงส่งผลให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศไม่มั่งคั่งดั่งเช่นในสมัยอยุธยา

    เมื่อมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตระหนักถึงสภาพฐานะการเงินอันย่ำแย่ที่มีมาตั้งแต่สมัยพระราชอัยกาธิราช และพระราชบิดาของพระองค์ที่ท้องพระคลังมีรายได้จากการเก็บภาษีอากรภายในประเทศของแต่ละปีไม่เพียงพอกับรายจ่ายในการบริหารราชกิจ พระองค์ทรงพิจารณาไตร่ตรอง และเล็งเห็นว่าความอยู่รอดของประเทศชาตินอกจากจะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางการทหารแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความมั่นคงและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากปัจจัยด้านการทหารและเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เพราะกองทัพจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุข เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์จึงมุ่งเน้นนโยบายทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญ ประกอบกับทรงหมดห่วงอริราชศัตรูสำคัญอย่างเช่นพม่าไปได้หนึ่งประเทศ เนื่องจากในช่วงปลายรัชสมัยของพระบรมชนกนาถนั้นพม่ากำลังติดพันการทำศึกสงครามอยู่กับประเทศสหราชอาณาจักร (ต่อไปในที่นี้จะขอเรียกว่าประเทศอังกฤษ) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมในขณะนั้น และพระองค์ทรงตระหนักถึงภยันตรายที่บ้านเมืองจะได้รับผลกระทบจากนโยบายจักรวรรดินิยมของประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตกทั้งหลายที่กำลังมุ่งแสวง หาเมืองขึ้นในดินแดนต่างๆ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษ โดยโปรดเกล้าฯ จัดส่งกองทัพเข้าไปช่วยในการรบพุ่งกับพม่าในปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ เนื่องจากพระองค์ทรงพิจารณาแล้วว่าการมีพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษโดยการส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยรบนั้น ถือเป็นการขจัดศัตรูตัวฉกาจของสยามได้ทางอ้อมโดยมิต้องสูญเสียกำลังทัพของประเทศ เพราะในการศึกครั้งนี้มีประเทศอังกฤษเป็นผู้นำการรบอยู่แล้ว มิหนำซ้ำกว่ากองทัพสนับสนุนของสยามจะเดินทางไปสมทบกับกองกำลังอังกฤษ ก็ปรากฏว่ากองทัพอังกฤษได้มีชัยเหนือพม่าแล้ว และจากการพ่ายแพ้ในครั้งนี้ส่งผลให้พม่าต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนให้แก่อังกฤษ นั่นคือ ดินแดนตั้งแต่เมืองมะระแหม่งลงไปจนถึงชายแดนที่ติดอยู่ทางเหนือของเกาะสอง และต้องลงนามในสัญญาว่าจะไม่ทำศึกสงครามรุกรานแผ่นดินสยามอีก ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจที่อังกฤษมีต่อสยามประเทศในฐานะที่มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน และในครานี้พระองค์เองก็ทรงตระหนักถึงแสนยานุภาพของอังกฤษมากกว่าในรัชสมัยของสมเด็จพระราชบิดา ด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงทรงพยายามเลือกดำเนินนโยบายแบบประนีประนอมกับอังกฤษเพื่อป้องกันมิให้อังกฤษแผ่ขยายอำนาจโดยการส่งกองทัพเข้ามารุกรานราชอาณาจักรสยามดังเช่นที่ได้กระทำกับพม่า หรืออินเดีย ดังนั้นประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พระองค์ยังทรงถือเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เปรียบเสมือนหอกข้างแคร่ราชอาณาจักรสยามมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั่นก็คือ พวกญวณ ซึ่งเริ่มแผ่ขยายอำนาจและบารมีแข่งกับสยามประเทศมาตั้งแต่สมัยพระราชบิดาของพระองค์

    การที่พระองค์ทรงเจริญสัมพันธไมตรีด้านการทหารกับประเทศอังกฤษเช่นนั้น จึงนับเป็นกุศโลบายทางการเมืองอันแยบยลที่เต็มไปด้วยพระวิจารณญาณอันลึกซึ้งและเฉียบแหลม เพราะนอกจากจะได้รับประโยชน์ด้านการเมืองเป็นหลักแล้วยังได้รับประโยชน์ทางอ้อมด้านการค้าอีกด้วย เนื่องจากในขณะนั้นได้มีพ่อค้าชาวตะวันตกแวะเวียนเข้ามาค้าขายกับสยามประเทศมากขึ้นกว่าในสมัยพระราชอัยกาธิราชของพระองค์ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น หลายๆ ประเทศในทวีปยุโรปกำลังวุ่นวายกับการทำศึกสงครามอยู่กับ นโปเลียนที่ ๑ จักรพรรดิแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ดังนั้นกิจการค้าขายทางเรือของชาติตะวันตกจึงเข้าสู่ภาวะซบเซาและลดน้อยถอยลงไปมาก เห็นได้จากการที่ไม่ค่อยมีเรือสินค้าจากทวีปยุโรปเข้ามาค้าขายกับราชอาณาจักรสยามอย่างที่เคยเป็น แต่เมื่อสงครามในทวีปยุโรปสงบลง และเมื่อบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุขแล้ว บรรดาพ่อค้าชาติตะวันตกต่างเตรียมการเพื่อเริ่มเดินเรือสินค้าใหม่อีกครั้ง และเส้นทางการเดินเรือสินค้าของพ่อค้าชาวตะวันตกก็ยังคงนิยมแล่นเรือแวะผ่านเข้ามาทางอ่าวไทย เนื่องจากทำเลที่ตั้งของอ่าวไทยนั้นตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสยามประเทศซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเดินเรือ เพราะปราศจากลมพายุหรือมรสุมใดๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เรือสินค้า อีกทั้งราชอาณาจักรสยามยังมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการแล่นเรือสินค้าของชาว ตะวันตกเพื่อมุ่งไปยังจุดหมายปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน หรือประเทศอินเดีย ส่วนใหญ่แล้วเรือสินค้ามักจะแวะมาพักที่ท่าเรือของสยามประเทศซึ่งมีการสร้างท่าเรือไว้รองรับบรรดาเรือสินค้าให้เข้ามาจอดเทียบท่าทอดสมอได้อย่างสะดวกสบาย ก่อนที่เรือสินค้าเหล่านั้นจะเดินทางล่องเรือต่อไปยังจุดหมายที่ต้องการ ซึ่งในครั้งนี้พ่อค้าชาวอังกฤษได้แวะเข้ามาจอดเรือเทียบท่าในอ่าวไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ติดอุปสรรคตรงที่ไม่สามารถค้าขายแข่งขันสู้กับพ่อค้าชาวจีนได้ เนื่องจากราชอาณาจักรสยามได้ติดต่อค้าขายกับประเทศจีนผ่านทางพ่อค้าวาณิชชาวจีนโดยการจัดแต่งเรือสำเภาสินค้าเข้ามาค้าขายเป็นระยะเวลานานแล้ว อีกทั้งยังมีการเจริญสัมพันธไมตรีด้วยการจัดส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่จักรพรรดิจีน นับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นเรื่อยมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดยประเทศจีนจะมอบสิทธิพิเศษบางประการให้แก่เรือสินค้าของสยามประเทศ ตัวอย่างเช่น ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีขาเข้าและขาออก หากเรือสินค้านั้นล่องลำน้ำมาพร้อมกับเรือของราชทูตสยามที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วเรือสินค้าหลวงจะได้รับการยกเว้นภาษีจากประเทศจีน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงเป็นนักการค้ามืออาชีพในการตกแต่งเรือสำเภาเพื่อค้าขายกับประเทศจีน และได้รับผลกำไรเป็นกอบเป็นกำมาแล้วในรัชสมัยของสมเด็จพระราชบิดาของพระองค์

    อย่างไรก็ตามองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีถึงเหตุผลที่ทำให้เหล่าพ่อค้าชาว ตะวันตกต้องการหยุดพักจอดเรือสินค้าของตนที่ราชอาณาจักรสยาม นั่นเป็นเพราะผืนแผ่นดินแห่งนี้ล้วนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนผืนดินและในผืนน้ำ ตลอดจนทรัพยากรป่าไม้อันสมบูรณ์ พระองค์ทรงเห็นว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อพ่อค้าต่างชาติชาวตะวันตกมีความต้องการในสินค้าพื้นเมืองหลายๆ ประเภทของราชอาณาจักรสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแร่ดีบุก และด้วยการที่พระองค์ทรงมีความเชี่ยวชาญในด้านการแต่งเรือสำเภาเพื่อค้าขายกับประเทศจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้พระองค์ทรงเล็งเห็นโอกาสในการดำเนินนโยบายการค้าแบบใหม่กับชาติตะวันตกเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ชาติบ้านเมือง พระองค์ทรงเปิดประเทศต้อนรับชาติตะวันตกในด้านการค้าขาย แต่ยังคงไว้ซึ่งหลักการผูกขาดโดยพระคลังสินค้าเฉกเช่นเดียวกับการค้าในสมัยอยุธยา

    เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าระบบพระคลังสินค้าได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นตั้งแต่ช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง และคงสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สาเหตุที่ต้องใช้ระบบพระคลังสินค้าเข้ามาเป็นหลักในการกำกับดูแลและควบคุมการซื้อขายสินค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศนั้น เนื่องมาจากจุดอ่อนของนโยบายการค้าในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาที่เป็นการค้าแบบเสรี อนุญาตให้พ่อค้าชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาติดต่อซื้อขายสินค้ากับราษฎรได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการควบคุมดูแล หรือแทรกแซงจากหน่วยงานของภาครัฐ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้พ่อค้าต่างประเทศทั้งฝั่งตะวันตก เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา และฝั่งตะวันออก อาทิเช่น จีน หรือญี่ปุ่น เป็นต้น ได้เดินทางเข้ามาค้าขายในสยามประเทศเพิ่มมากขึ้น และได้นำสินค้าประเภทอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาจำหน่ายภายในราชอาณาจักร หลังจากนั้นพ่อค้าต่างชาติเหล่านี้จะหาซื้อสินค้าพื้นเมืองที่หาได้ยาก และมีมูลค่าสูงกลับไปพร้อมเรือสินค้า เช่น ทองคำ ดีบุก งาช้าง ดังนั้นเมื่อพ่อค้าต่างชาติทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สินค้าพื้นเมืองกลับหาได้ยากขึ้น ทำให้รัฐบาลในช่วงสมัยอยุธยาตอนกลางตระหนักถึงปัญหาและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติต่อ ไปในอนาคตหากปล่อยให้มีการค้าเสรีแบบนั้นต่อไป เป็นเหตุให้ระบบพระคลังสินค้าได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลการซื้อขายสินค้าระหว่างประชาชนกับพ่อค้าต่างชาติ โดยจะผูกขาดการซื้อขายสินค้าไว้ที่พระคลังสินค้าแต่เพียงผู้เดียว กล่าวโดยสรุปคือ พระคลังสินค้าจะมีอำนาจในการซื้อและขายสินค้าของราชอาณาจักรสยามเพียงผู้เดียว นั่นคือหากเมื่อใดที่ราษฎรต้องการจำหน่ายสินค้าที่ตัวเองมีอยู่ ก็ต้องนำมาขายให้แก่พระคลังสินค้า และเมื่อพ่อค้าชาวต่างชาติมีความประสงค์จะซื้อสินค้าพื้นเมืองที่ถูกจัดให้อยู่ในรายการสินค้าต้องห้ามแล้ว พ่อค้าต่างชาติจะต้องมาซื้อสินค้าที่พระคลังสินค้าเท่านั้น จึงถือเป็นการผูกขาดทางการค้าทั้งภายใน และภายนอกประเทศ โดยมีพระคลังสินค้าซึ่งถือเป็นตัวแทนของหลวงในการเข้ามาดำเนินงานเป็นคนกลางประสานงานระหว่างพ่อ ค้าชาวต่างชาติกับประชาชนทั่วไป

    อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงต้อนรับเรือกำปั่นของชาว      ตะวันตกให้เข้ามาจอดเทียบท่าค้าขายภายในราชอาณาจักรได้ แต่พระองค์ก็ยังทรงหวั่นเกรงและระแวดระวังการแทรกแซงทางการเมืองของชาติมหาอำนาจตะวันตกที่มักจะแฝงมาในรูปของการค้าเช่นกัน ดังนั้นพระองค์จึงเข้มงวดกวดขันให้พระคลังสินค้าคอยกำกับดูแลการค้าขายสินค้าทุกประเภททั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอาวุธยุทธภัณฑ์ที่รัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น กระสุนดินปืน และยังสงวนสิทธิในการเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็น นั่นคือ มีสิทธิในการเลือกซื้อสินค้าก่อน เรียกว่า สินค้าต้องห้าม ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่หาได้ยากในท้องตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยสินค้าต้องห้ามเหล่านี้สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง ตามหลักการแล้วสินค้าขาเข้าจากต่างประเทศที่เป็นสินค้าต้องห้ามมักจะเป็นพวกอาวุธต่างๆ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวในการเลือกซื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมอบหมายให้กรมพระคลังสินค้าเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการตกแต่งเรือสำเภาหลวงเพื่อแล่นเรือออกไปค้าขายกับต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศจีน ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์จึงนับเป็นยุคทองของการค้าเรือสำเภาหลวงกับจีน เนื่องจากราชอาณาจักรสยามสามารถส่งสินค้าออกไปขายยังประเทศจีนได้ในปริมาณที่มากกว่าเมื่อสองรัชกาลก่อน

    ในขณะที่พ่อค้าชาติตะวันตกก็แวะเวียนเข้ามาซื้อขายสินค้ากับพระคลังสินค้าอย่างต่อเนื่อง หากแต่สู้พ่อค้าจีนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนกว่ามิได้ และอีกปัญหาหนึ่งที่พ่อค้าชาวตะวันตกต้องเผชิญ นั่นคือ การกำหนดราคาสินค้าของพระคลังสินค้า ทำให้สินค้าของพวกต่างชาติถูกกดราคาซื้อลง แต่พ่อค้าต่างชาติกลับต้องซื้อสินค้าพื้นเมืองของสยามในราคาสูง ด้วยเหตุนี้เองทำให้รัฐบาลของประเทศอังกฤษได้จัดส่งคณะทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในปีพุทธศักราช ๒๓๖๘ โดยมีร้อยเอกเฮ็นรี่ เบอร์นี่ (Henry Burney) เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษในการเข้ามาขอเจรจากับองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงเปลี่ยนนโยบายการค้ามาเป็นแบบการค้าเสรี เนื่องจากในช่วงรัชกาลของพระองค์นั้นได้มีพ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการค้าของอังกฤษในขณะนั้นที่ต้องการขยายอิทธิพลทางการค้าในซีกโลกตะวันออก แต่เมื่อพ่อค้าของชาติตนเองต้องมาเผชิญกับนโยบายการค้าแบบผูกขาดของสยามประเทศเช่นนี้ ส่งผลให้พ่อค้าชาวอังกฤษไม่สามารถแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งอังกฤษถือเป็นอุปสรรคทางการค้าที่จำเป็นต้องรีบดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยอังกฤษเคยส่งนายแพทย์จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) เข้ามาเป็นทูตเจรจาเรื่องขอยกเลิกการผูกขาดทางการค้าแล้วครั้งหนึ่งในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมชนกนาถในปีพุทธศักราช ๒๓๖๔ แต่ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมิทรงใคร่ยินดีที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับอังกฤษโดยการลงนามในสนธิสัญญาแต่อย่างใด เพราะเกรงว่าจะถูกชาติตะวันตกเข้าแทรกแซงทางการเมืองจากสนธิสัญญานั้นๆ

    ดังนั้นเมื่ออังกฤษได้ส่งร้อยเอกเฮ็นรี่ เบอร์นี่ (Henry Burney) เข้ามาเจรจาด้านการค้าอีกครั้งหนึ่ง องค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงปฏิเสธที่จะเจรจาด้วยแต่อย่างใด เพราะการที่พระองค์ท่านทรงเป็นนักการค้าที่ยิ่งใหญ่ ทรงมองการณ์ไกลเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับจากการลงนามในสนธิสัญญากับประเทศอังกฤษ แม้ว่าจะต้องยกเลิกระบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้าลงก็ตาม แต่พระองค์ทรงเห็นว่าระบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้ายังคงถูกนำมาบังคับใช้กับพ่อค้าต่างชาติประเทศอื่นๆ อยู่แล้ว ยกเว้นอังกฤษเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่จะมีผลผูกพันตามสนธิสัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเจริญสัมพันธไมตรีลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ปีพุทธศักราช ๒๓๖๙ ในที่นี้ขอเรียกสนธิสัญญาดังกล่าวว่า สนธิสัญญาเบอร์นี่ ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ประเทศชาติจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาในรูปของภาษีปากเรือจำนวนมากทั้งขาเข้าและขาออกรวมกันจากพ่อค้าชาวอังกฤษ และพ่อค้าที่อยู่ใต้อาณัติการบังคับของอังกฤษ เนื่องจากพระองค์ทรงพิจารณาไตร่ตรองเป็นอย่างดีแล้วว่าหากแม้นได้ลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นี่กับประเทศอังกฤษแล้ว เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีพ่อค้าชาวอังกฤษจำนวนมากมุ่งเดินเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาค้าขายในสยามประเทศมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามพ่อค้าอังกฤษยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรสยามเท่านั้น และต้องขึ้นศาลของสยามประเทศหากพบว่ามีพ่อค้าชาวอังกฤษ หรือคนในบังคับของอังกฤษคนใดก็ตามได้กระทำความผิดตามกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ โดยพระองค์ยังทรงไว้ซึ่งสิทธิในการส่งข้าราชการเข้าไปเป็นตัวแทนในการตรวจตราสินค้าเมื่อเรือสินค้าของอังกฤษเข้ามาจอดเทียบท่าภายในราชอาณาจักร รวมทั้งสินค้าประเภทข้าวและอาวุธยุทโธปกรณ์ ยังคงจัดเป็นหนึ่งในรายการสินค้าต้องห้ามอยู่ นั่นคือ ห้ามมิให้มีการค้าขายอย่างเสรีระหว่างพ่อค้าชาวอังกฤษกับประชาชนทั่วไป สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิทรงยินยอมให้มีการเพาะปลูกข้าวเพื่อเป็นสินค้าส่งออกของประเทศนั้น เนื่องจากพระองค์เกรงว่าจะเกิดภาวะการขาดแคลนข้าวขึ้นภายในประเทศ เพราะข้าวถือเป็นเสบียงหลักที่สำคัญของราชอาณาจักร สำหรับอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ทรงห้ามมิให้มีการจำหน่ายกันอย่างเสรีก็เพื่อความมั่นคง และปลอดภัยของประเทศชาตินั่นเอง

    นอกจากนี้ยังปรากฏว่าได้มีคณะทูตของประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาขอเจริญสัมพันธไมตรีทางการ ค้ากับพระองค์ด้วย โดยมีนายเอ็ดมัน โรเบิร์ตส (Edmund Roberts) เป็นผู้นำสาส์นของประธานาธิบดี แอนดรู แจ๊กสัน (Andrew Jackson) มามอบให้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินดีที่จะรับสัมพันธไมตรีนั้น และในวันที่ ๒๐ มีนาคม ปีพุทธศักราช ๒๓๗๕ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาทางการค้าฉบับแรกกับประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเงื่อนไขข้อตกลงในสนธิสัญญาส่วนใหญ่แล้วเป็นไปในข้อความคล้ายคลึงกันกับสนธิสัญญาเบอร์นี่

    สำหรับประเทศโปรตุเกสที่ได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรสยามตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในตอนนั้นพระองค์ทรงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ถึงกับทรงอนุญาตให้สามารถตั้งสถานกงสุลโปรตุเกส และยังทรงพระเมตตาอนุญาตให้บาทหลวงสามารถเผยแพร่ศาสนาคริสต์ภายในราชอาณาจักรได้ เมื่อมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงถือว่าชาวโปรตุเกสเป็นมิตรกับสยามประเทศอยู่เช่นเดิม เพียงแต่การติดต่อค้าขายทางเรือระหว่างราชอาณาจักรสยามกับพ่อค้าโปรตุเกสได้ลดลงอย่างมาก สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะประเทศอังกฤษได้เข้ามาเป็นมหาอำนาจในการเดินเรือสินค้าทางทะเลแทน

    อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเน้นการค้าขายกับประเทศจีนเป็นหลักสำคัญ แม้ว่าพระองค์จะเปิดประตูการค้ากับชาติตะวันตกหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา หากแต่พระองค์ก็ยังคงนิยมที่จะแต่งเรือหลวงเพื่อไปค้าขายยังประเทศจีนมากกว่าประเทศอื่นๆ เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะราชอาณาจักรสยามและประเทศจีนได้มีการติดต่อค้าขายกันมาเป็นระยะเวลาเนิ่นนานแล้วนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และพ่อค้าชาวจีนก็รู้จักการมีสัมมาคารวะ เข้าใจขนบธรรมเนียมของสยามเป็นอย่างดี จึงเข้ากับข้าราชการไทยได้ง่าย ต่างไปจากพ่อค้าชาวตะวันตกที่ไม่เข้าใจในวิถีการดำเนินชีวิตของสยามประเทศเท่าใดนัก

    แม้ว่าท้องพระคลังหลวงจะต้องสูญเสียรยได้ที่เป็นเงินผลกำไรจากการผูกขาดทางการค้าลงไปอันเนื่องมาจากผลของสนธิสัญญาเบอร์นี่ก็ตาม แต่รัฐบาลก็จะได้รับเงินค่าภาษีปากเรือเข้ามาเป็นการชดเชยแทน ทว่าด้วยพระราชปรีชาญาณขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเห็นโอกาสในการแสวงหาเพิ่มพูนเงินภาษีในท้องพระคลังให้เพิ่มมากขึ้น พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการจัดเก็บภาษีอากรแบบใหม่ทั่วประเทศ โดยทรงตั้งระบบ เจ้าภาษีนายอากร ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการจัดเก็บภาษีอากรทั่วประเทศ นั่นคือการเปลี่ยนตัวผู้เก็บภาษีอากรจากภาครัฐมาเป็นการดำเนินงานโดยภาคเอกชนแทน

    ระบบเจ้าภาษีนายอากรนี้มีหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ หากผู้ใดต้องการที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนของหลวงในการจัดเก็บภาษีอากรของแต่ละเขตแต่ละเมืองในสินค้าแต่ละประเภทแล้วนั้น จะต้องมีการประมูลยื่นเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐบาล และหากผู้ใดเสนอราคาประมูลสูงสุด ผู้นั้นจะได้รับคัดเลือกให้มีสิทธิในการเป็นเจ้าภาษีนายอากร โดยจะต้องจ่ายชำระเงินผลตอบแทนที่ได้เสนอราคาสูงสุดในคราที่ประมูลแก่รัฐบาลทุกๆ ปี ซึ่งทำให้ภาครัฐสามารถเก็บเงินภาษีอากรจากทั่วประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น และสามารถทราบได้ทันทีหลังการประมูลเสร็จสิ้นว่าในปีนั้นๆ หลวงจะได้รับเงินภาษีอากรเข้าท้องพระคลังได้เป็นจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากระบบนี้เป็นระบบที่รัฐบาลจะได้รับเงินเป็นจำนวนที่แน่นอนจากการประมูล ซึ่งแตกต่างไปจากการเก็บภาษีอากรแบบเดิม เช่น การที่จะต้องส่งข้าราชการให้ออกไปเรียกเก็บภาษีอากรจากประชาชนโดยตรง และไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าในแต่ละปีจะสามารถเก็บภาษีอากรได้เป็นจำนวนเท่าใด เนื่องจากการเก็บภาษีอากรในแต่ละครั้งจะได้รับเงินภาษีที่มากน้อยแตกต่างกันออกไปในแต่ละปี ตามแต่ผลผลิตที่ราษฎรจะทำมาหาได้ในปีนั้นๆ จากประเด็นความแตกต่างกันตรงนี้เองทำให้ท้องพระคลังมีรายรับจากภาษีอากรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

    อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นห่วงเหล่าพสกนิกรของพระองค์ ด้วยเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียกเก็บภาษีของบรรดาเจ้าภาษีนายอากรแต่งตั้งทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวจีน ดังนั้นพระองค์จึงทรงให้กรมพระคลังสินค้าเข้ามาเป็นผู้ดูแล ตรวจตรา และควบคุมความประพฤติของเจ้าภาษีนายอากรเหล่านี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดการรีดนาทาเร้นเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม และก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรของพระองค์ แต่กระนั้นก็ตามระบบเจ้าภาษีนายอากรนี้ก็ยังคงมีช่องโหว่ให้คนโลภเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้ แม้ว่าองค์พระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงหาวิธีการป้องกันไว้ก่อนแล้วก็ตาม ดังนั้นในรัชกาลต่อๆ มาจึงมีการเปลี่ยนแปลงระบบวิธีการจัดเก็บภาษีเพื่อมุ่งหวังให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนมากที่สุดจนกลายมาเป็นระบบการจัดเก็บภาษีอากรในปัจจุบันนี้

    นอกจากนี้พระองค์ยังกำหนดจัดตั้งภาษีที่เก็บจากผลผลิตขึ้นมาใหม่อีก ๓๘ รายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การเก็บภาษีอากรบ่อนเบี้ยของชาวจีน เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งโรงหวยและบ่อนเบี้ยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหวยดังกล่าวนิยมเรียกกันในสมัยนั้นว่า หวย ก.ข. แม้ว่าการอนุญาตให้มีการเปิดบ่อนเบี้ยเช่นนี้จะดูเหมือนเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเล่นการพนัน และหลายต่อหลายคนต้องมีภาระหนี้สินอันเกิดจากการเล่นพนันกันเป็นจำนวนมาก แต่ก็ส่งผลประโยชน์ให้แก่รัฐบาลในการเก็บค่าอากรบ่อนเบี้ยเหล่านี้เข้าสู่ท้องพระคลังได้เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

    ดังนั้นหากวิเคราะห์ถึงระบบเจ้าภาษีนายอากรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาใช้ในการจัดเก็บภาษีภายหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นี่แล้ว จะสังเกตเห็นได้ว่าพระองค์ท่านทรงเล็งเห็นแนวทางในการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดจากการยกเลิกระบบผูกขาดโดยพระคลัง สินค้ากับประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงเปลี่ยนวิธีการผูกขาดด้านภาษีจากรัฐบาลมาสู่เป็นภาคเอกชนแทน ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถจะเรียกเก็บค่าภาษีอากรจากพ่อค้าชาวตะวันตกได้ทางอ้อม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสนธิสัญญาเบอร์นี่ที่ได้ลงนามไป อีกทั้งสนธิสัญญาดังกล่าวก็มิได้มีข้อห้ามสยามประเทศในการดำเนินกิจการทางเรือเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด ดังนั้นพระองค์จึงทรงสนับสนุนให้มีการตกแต่งเรือสินค้าหลวงเพื่อเดินทางไปค้าขายยังต่างประเทศ โดยเน้นไปยังประเทศจีนเป็นหลัก นอกจากนี้พระองค์ยังทรงริเริ่มให้มีการประกอบเรือกำปั่นหลวงตามแบบที่พ่อค้าชาวตะวันตกนิยมใช้ในขณะ นั้นด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเรือกำปั่นแบบฝรั่งนั้นสามารถแล่นได้ด้วยความเร็วสูง เพราะการมีขนาดและรูปร่างที่เพรียวกว่าเรือสำเภาแบบจีน ดังนั้นการใช้เรือกำปั่นแบบฝรั่งจึงช่วยให้แล่นไปถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วกว่าการใช้เรือสำเภาจีนอย่างแต่ก่อน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้การต่อเรือสำเภาจีนเริ่มลดน้อยถอยลงไปในรัชสมัยของพระองค์ และความนิยมในการต่อเรือกำปั่นเข้ามาแทนที่

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงตระหนักว่าการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการ ค้ามิได้สามารถจะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีถ้าขาดการบริหารจัดการ และประสานงานควบคู่กับราชกรณียกิจในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญในการพัฒนาด้านการเกษตรของเหล่าพสกนิกร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชสวน ไร่นา การเลี้ยงสัตว์ การขุดเหมืองแร่ หาของป่า และล่าสัตว์ เนื่องจากค่าส่วยอากรที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรนั้น จะอยู่ในรูปของตัวเงิน และในรูปของพืชผล ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของภาครัฐ และความสำคัญของผลผลิตนั้นๆ ว่าเป็นที่ต้องการของพ่อค้าต่างชาติหรือไม่ หากผลผลิตใดเป็นที่นิยมของพ่อค้าต่างประเทศแล้ว รัฐมักเรียกเก็บส่วยในรูปของผลผลิตแทนตัวเงิน เช่น ดีบุก ฝาง งาช้าง ครั่ง หรือไหม เป็นต้น

    สำหรับปัจจัยหลักในการพัฒนาด้านการเกษตรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นเครื่องมือ ก็คือ ที่ดิน โดยในรัชสมัยของพระองค์ยังคงใช้ระบบศักดินาเป็นระบบกรรมสิทธิ์การจัดสรรที่ดินเช่นเดียวกันกับสมัยราชธานีศรีอยุธยา นั่นคือ ที่ดินทุกแห่งทั่วราชอาณาจักรสยามถือเป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว และองค์พระประมุขของชาติจะทรงพระราชทานจัดสรรที่ดินให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และราษฎรทั่วไปตามระบบศักดินาที่กำหนดไว้ เพื่อให้เหล่าพสกนิกรสามารถเข้าไปอยู่อาศัยและทำมาหากินบนผืนดินนั้นได้ หากแต่ยังทรงมีสิทธิในการเรียกคืนที่ดินซึ่งได้พระราชทานให้แก่ขุนนาง หรือราษฎรทั่วไปได้ตลอดเวลาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในงานราชการ โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการเวนคืนทั้งสิ้น

    อย่างไรก็ตามองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนและผลกระ ทบจากนโยบายการเวนคืนที่ดินของภาครัฐ ที่ส่งผลต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ดังนั้นพระองค์จึงทรงออกพระราชบัญญัติให้มีการจ่ายเงินชดเชยเพื่อใช้เป็นเงินทดแทนค่าความเสีย หายในการเรียกคืนที่ดินให้ แก่ราษฎรผู้ถูกเวนคืนที่ดินทำกินมากน้อยแตกต่างกันออกไปตามแต่ที่จะเห็นสมควร เพื่อให้ประชาชนเหล่านั้นได้มีเงินทุนสำรองสำหรับหาเลี้ยงชีพต่อไป และได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการออกโฉนดที่มีมาแต่เดิมให้เปลี่ยนเป็นการออกตราจองแทน

    นอกจากนี้ราษฎรทั่วไปนิยมเลี้ยงสัตว์พื้นบ้าน ประเภทสุกร ไก่ เป็ด เพื่อนำมาใช้ในการบิโภคภายในครัวเรือน และยังนิยมเลี้ยงสัตว์ประเภทกระบือ และโค เพื่อนำมาใช้เป็นแรงงานในการทำมาหาเลี้ยงชีพของราษฎรทั่วๆ ไป และด้วยการที่กระบือ และโค จัดเป็นสัตว์ใช้แรงงานที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะสามารถใช้แรงงานกระบือ และโค เหล่านี้ได้ในงานหลายๆ อย่าง อาทิเช่น การไถนา หรือการลากเกวียน ด้วยเหตุนี้เองทำให้รัฐบาลเห็นคุณค่าของสัตว์ประเภทนี้ และมีข้อกำหนดห้ามมิให้มีการซื้อขายกระบือ หรือโค เพื่อการส่งออกอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้การส่งออกด้านปศุสัตว์ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงสรุปได้ว่าการทำนา ทำไร่ และทำสวนนั้น ยังคงเป็นอาชีพหลักที่ก่อให้เกิดผลผลิตเพื่อการส่งออกมากกว่าการเลี้ยงสัตว์ หรือการทำประมง และรัฐบาลได้รับค่าภาษีอากรจากการทำนา ทำไร่ ทำสวน มากกว่าการเลี้ยงสัตว์เช่นกัน เนื่องจากในรัชสมัยขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังคงมีธรรมเนียมการเดินนาเหมือนกับในสมัยอยุธยา หมายถึง การจัดให้มีข้าหลวงออกไปตรวจพื้นที่ของชาวนาซึ่งได้ใช้สอยที่ดินเพื่อการเพาะปลูกเพื่อนำมาคิดคำนวณอากรค่านาเข้าท้องพระคลังหลวง และยังมีธรรมเนียมการเดินสวนอีกด้วย ซึ่งเป็นการออกไปสำรวจตรวจนับจำนวนพืชผลในสวนของราษฎร เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำหน้าโฉนด โดยจะมีการเรียกเก็บเงินค่าอากรสวนเข้าพระคลังหลวงเช่นกัน ซึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสนับสนุนการทำไร่ของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำไร่อ้อย เนื่องจากในเวลานั้นสินค้าส่งออกหลักที่สำคัญของสยามประเทศ คือ น้ำตาลทราย ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เองจึงก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศขึ้นมา นั่นคือ อุตสาหกรรมน้ำตาลเพื่อรองรับการส่งออก โดยต้องใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต หากแต่กิจการน้ำตาลกลับตกเป็นของชาวจีนอีกเช่นเคย เนื่องจากมีเงินทุนที่มากกว่าชาวบ้านทั่วๆ ไป และยังมีความเชี่ยวชาญด้านการค้าอีกด้วย ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกำหนดเขตการเพาะปลูกอ้อย และการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมน้ำตาลของชาวจีนเอาไว้อย่างชัดเจน โดยกำหนดให้ตั้งอยู่บริเวณนอกเขตนารอบราชธานี หลังจากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้รัฐบาลดำเนินการเรียกซื้อน้ำตาลทรายจากพ่อค้าภายในราชอาณาจักร เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะให้ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจการค้าขายน้ำตาลทราย ในที่สุดแล้วรัฐบาลก็สามารถผูกขาดการค้าน้ำตาลได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในปีพุทธศักราช ๒๓๘๕ ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐอีกเช่นเคย

    นอกจากน้ำตาลทรายที่เป็นสินค้าซึ่งได้รับความนิยมจากพ่อค้าต่างชาติแล้ว ยังมีแร่ดีบุกเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของราชอาณาจักรสยาม เนื่องจากแร่ดีบุกของสยามประเทศนั้นมีคุณภาพดี และมีปริมาณมาก เป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นประโยชน์การใช้สอยของแร่ดีบุกที่ชาวยุโรปนิยมนำไปใช้เป็นส่วนผสมในการฉาบเหล็ก พระองค์จึงทรงสนับสนุนให้มีการทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเหมืองเหล่านี้จะตั้งอยู่บริเวณแถบหัวเมืองปักษ์ใต้ และแถบหัวเมืองฝั่งตะวันตกของประเทศ และท้ายที่สุดแล้วท้องพระคลังหลวงก็ได้รับผลประโยชน์ตอบกลับมาในรูปของการเก็บอากรดีบุกได้เป็นจำนวนมาก และเรือกำปั่นหลวงก็นำแร่ดีบุกไปขายทำกำไรกับต่างประเทศด้วยเช่นกัน

    อย่างไรก็ตามไม้แปรรูปต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้สักก็ยังคงเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของสยามประเทศเช่นกัน แม้ว่าอาจจะลดบทบาทความสำคัญลงไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของประเทศจีนอยู่ เพราะส่วนใหญ่แล้วจีนนิยมใช้ไม้จากเมืองไทยเพื่อใช้เป็นวัสดุในการต่อเรือสำเภาของจีน เนื่องจากไม้ของไทยนั้นมีคุณภาพดี ราคาถูก อีกทั้งยังมีความแข็งแรงทนทาน ซึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวส่วนใหญ่แล้วไม้สักจะถูกนำมาใช้ภายในประเทศมากกว่าการส่งออก สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยผู้เคร่งครัด และเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อพระองค์ทรงบริหารงานราชกิจด้านการค้าให้มีความเจริญรุ่งเรือง จนส่งผลให้เงินในท้องพระคลังงอกเงยเพิ่มพูนขึ้นมากมายต่างจากในรัชกาลของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าท้องพระคลังนั้นมีความมั่นคงมากพอแล้ว พระองค์จึงทรงพระราชทานเงินส่วนหนึ่งให้แก่รัฐบาลเพื่อใช้ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่งที่มีความเก่าแก่ หรือชำรุดทรุดโทรม รวมทั้งทรงมีพระราชดำริให้สร้างวัดขึ้นใหม่หลายแห่ง อีกทั้งยังทรงขอความสนับสนุนจากพระบรมวงศานุวงศ์ คณะเสนาบดี ข้าราชการชั้นผู้น้อย เศรษฐีพ่อค้าต่างๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้ร่วมด้วยช่วยกันอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา โดยการสร้างวัด รวมไปถึงการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ทั่วประเทศ เหตุนี้เองจึงทำให้ต้องมีการนำไม้สักเข้ามาใช้ในการนี้เป็นจำนวนมาก

    ด้วยการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแน่วแน่ ส่งผลให้ในรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นอีกหนึ่งยุคทองของพระพุทธศาสนาที่มีความเจริญรุ่งเรือง และยังถือได้ว่าเป็นยุคสมัยที่มีการสร้างวัดมากที่สุดอีกด้วย โดยวัดต่างๆ ที่มีการสร้างขึ้นใหม่ หรือวัดที่ได้รับการบูรณะนั้น ล้วนแต่มีความงดงามจนเกือบเทียบเท่ากับวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว ซึ่งวัดประจำรัชกาลนี้ คือ วัดราชโอรสาราม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าวัดจอมทอง นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้มีการสร้างพระที่นั่งเพิ่มเติมขึ้นใหม่อีก ๓ องค์ ในพระบรมมหาราชวัง ได้แก่ พระที่นั่งมหิศรปราสาท พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ และพระที่นั่งพุทธาสวรรย์ปราสาท อีกทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการซ่อมแซมบูรณะปฏิสังขรณ์พระที่นั่งเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่งผลให้บรรดาปราสาทพระราชวังต่างๆ ภายหลังจากการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วนั้น มีความสวยงดงามตระการตาเป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศในด้านสถาปนิกขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นที่ปรากฏต่อคนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงพระปรีชาสามารถในเชิงสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมที่พระองค์ทรงมีอยู่มากพอๆ กับพระอัจฉริยภาพทางด้านการค้า และการทหาร

    แม้ว่าพระองค์จะทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าก็ตาม แต่พระองค์ก็มิได้กีดกันการเผยแพร่ของศาสนาอื่นๆ พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คณะบาทหลวง และมิชชันนารีนิกายโปรแตสตันส์เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ได้อย่างเสรี อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เหล่าพสกนิกรของพระองค์มีอิสระในการเลือกนับถือศาสนาได้ตามที่แต่ละบุคคลต้องการ

    นอกจากนี้พระองค์ยังทรงห่วงใยทุกข์สุขของราษฎรชาวสยาม ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มีการตั้งกลองวินิจฉัยเภรีไว้บริเวณหน้าพระราชวัง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ต้องประสบพบกับความทุกข์ร้อนและไม่เป็นธรรม สามารถร้องถวายฎีกาได้โดยตรงไม่ต้องผ่านขั้นตอนของเจ้าขุนมูลนายดังเช่นสมัยอยุธยา และพระองค์ยังทรงตระหนักถึงความสำคัญในด้านการศึกษา ดังนั้นพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งศูนย์รวมความรู้ขึ้นมา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ประชาชนทั่วไป นอกจากโรงทานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งโรงแทนแห่งนี้ตั้งอยู่ริมประตูศรีสุนทร

    สำหรับศูนย์ความรู้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามแห่งนี้ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มีการจารึกข้อมูลความรู้ต่างๆ ลงบนแผ่นศิลา ตลอดจนโคลง ฉันท์ กาพย์ และกลอนต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อราษฎร โดยทรงให้มีการจารึกภาพไว้ควบคู่กับตัวอักษรที่เป็นคำอธิบายประกอบความ เพื่อให้ผู้ที่ได้อ่านเข้าใจถึงเนื้อหาต่างๆ ได้อย่างถ่องแท้ ซึ่งแผ่นจารึกความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามนั้น ยังคงปรากฏเป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้ประจักษ์ถึงพระราชปรีชาญาณ และพระเมตตาขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เหล่าพสกนิกรล้วนต่างน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานศูนย์รวมทางการศึกษาซึ่งถือเป็นห้องสมุดสาธารณะอันล้ำค่า และยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดแต่งหนังสือแบบเรียนจินดามณีที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นมาใหม่ เพื่อปรับแต่งภาษาให้ง่ายต่อการเรียน และทำความเข้าใจ ตลอดจนสอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระองค์ โดยทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระน้องยาเธอกรมหมื่นวงศาธิราชสนิทเป็นผู้จัดการดูแลแก้ไขหนังสือแบบเรียนจินดามณีต่อไป

    อย่างไรก็ตามเมื่อคณะบาทหลวง และมิชชันนารีเดินทางเข้ามาในสยามประเทศเพิ่มมากขึ้น คณะเดินทางเหล่านี้ได้นำความรู้ทางตะวันตกเข้ามาเผยแพร่พร้อมคริสตศาสนา ซึ่งวิทยาการด้านต่างๆ ของชาติตะวันตกนั้นมีความเจริญล้ำหน้ากว่าราชอาณาจักรสยามเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์มีความสนพระทัยที่จะเข้าร่วมในการศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ของตะวันตกพร้อมกับคณะเสนาบดี ตลอดจนการศึกษาภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีภาษาอังกฤษเป็นที่นิยมกันมากในขณะนั้น และองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงขัดขวางแต่ประการใด เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นประโยชน์ในการใฝ่หาความรู้ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษานั้นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น

    จากพระราชกรณียกิจทั้งหลายทั้งปวงที่ได้ยกขึ้นมากล่าวข้างต้นนั้น เป็นเพียงตัวอย่างสำคัญๆ ที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวสยาม ทั้งในด้านการปกครองบ้านเมืองให้มีความมั่นคง เข้มแข็งขึ้นมาได้จาก นโยบายด้านการทหารของพระองค์ที่ทรงเด็ดเดี่ยว เด็ดขาด และรักษาไว้ซึ่งเอกราชอธิปไตยแห่งราชอาณาจักรสยาม นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นเลิศในด้านการค้าที่ทรงมีพระราชปรีชาญาณอันเฉียบแหลม สามารถฟื้นฟูฐานะเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งได้อีกครั้ง แม้จะต้องมีการลงนามในสนธิสัญญาการค้ากับต่างประเทศก็ตาม แต่พระองค์ยังทรงหาวิธีการใหม่ๆ ในการดำเนินงานด้านการค้าเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากการค้าขายกับชาติตะวันตกได้อย่างชาญฉลาด โดยสามารถเรียกเก็บภาษีอากรจากพ่อค้าต่างชาติได้อย่างมากมาย แม้ว่าต้องยกเลิกระบบการผูกขาดโดยพระคลังสินค้าลงไปก็ตาม รวมถึงการเก็บค่าอากรบ่อนเบี้ย ซึ่งในปัจจุบันอาจมีหลายความคิดที่ไม่เห็นด้วยในการอนุญาตให้มีการตั้งบ่อนขึ้นภายในประเทศ เพราะถือว่าเป็นการมอมเมาประชาชนให้มัวเมาลุ่มหลงในอบายมุข แต่กระนั้นก็ตามต้องไม่ลืมว่าการเลือกใช้วิธีการใดๆ ในการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองในแต่ละช่วงเวลานั้น วิธีการที่เลือกใช้จะแตกต่างกันออกไปตามแต่สถานการณ์ และสภาพแวดล้อมที่ต้องเผชิญในขณะนั้น ซึ่งการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกวิธีการจัดตั้งโรงหวย และบ่อนเบี้ย ก็ถือว่าเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมแล้วในยุคสมัยนั้น เพื่อเป็นการเร่งฟื้นฟูฐานะการเงินการคลังของรัฐ ประกอบกับราษฎรเองก็นิยมเล่นการพนันกันโดยทั่วไปเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว อีกทั้งพระองค์มิได้ทรงมุ่งหวังที่จะได้รับค่าอากรบ่อนเบี้ยเป็นรายได้หลักของพระคลังหลวง หากแต่พระองค์ทรงมุ่งเน้นรายได้หลักจากการค้าขายกับต่างประเทศ และการค้าทางเรือกับประเทศจีนมากกว่า ดังจะเห็นได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมให้มีการต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่ง ซึ่งส่งผลให้การเดินเรือในเชิงพาณิชย์ของราชอาณาจักรสยามเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก สามารถเดินเรือแข่งขันกับพ่อค้าต่างประเทศได้ เนื่องจากเรือสินค้าของราชอาณาจักรนั้นไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า หรือค่าธรรมเนียมปากเรือใดๆ ดังเช่นเรือของพ่อค้าต่างชาติที่ต้องจ่ายชำระ ทำให้รัฐบาลมีกำไรจากการแต่งเรือสินค้าหลวงไปค้าขายกับต่างประเทศได้รับผลกำไรเป็นเงินจำนวนมหาศาล ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ในรัชสมัยของพระองค์กลายเป็นยุคทองของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นในการค้าขายกับต่างประเทศ โดยผลกำไรเหล่านั้นเมื่อนำมารวมกับเงินภาษีอากรต่างๆ ที่เก็บได้จากพ่อค้าและราษฎร จึงสร้างความมั่งคั่งเพิ่มพูนให้แก่ท้องพระคลังในขณะนั้นได้เป็นอย่างมาก และมีเงินท้องพระคลังคงเหลือมากพอที่จะนำมาใช้ในการบริหารราชกิจ ตลอดจนทำนุบำรุงประเทศ และพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น และจะเห็นได้ว่าในภายหลังพระองค์ยังทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งเรียกกันว่า เงินถุงแดง เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการบริหารราชการงานแผ่นดินขององค์พระมหากษัตริย์ไทยในรัชกาลต่อๆ ไป

    นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้เผาโรงฝิ่นภายที่มีอยู่ทั้งหมดภายในราชอาณาจักรสยาม และประกาศห้ามมิให้มีการนำฝิ่นเข้ามาค้าขายภายในราชอาณาจักร ตลอดจนห้ามมิให้มีการกักเก็บฝิ่นไว้ภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นกฎข้อห้ามอันเคร่งครัดที่ได้กำหนดไว้ในสนธิสัญญาทางการค้ากับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกาก็ตาม ล้วนแต่ห้ามมิให้มีการค้าขายฝิ่นด้วยกันทั้งสิ้น เพราะพระองค์ไม่ต้องการให้ราษฎรต้องติดยาเสพติด เนื่องจากสิ่งเสพติดล้วนแต่เป็นภัยอันตรายทั้งต่อตัวผู้เสพเอง และต่อประเทศชาติ

    อย่างไรก็ตามพระองค์ยังทรงให้กำลังใจแก่ราษฎร ให้ทุกคนมีความอดทน ขยันหมั่นเพียร อย่ายอมแพ้พ่ายต่ออุปสรรคภัยธรรมชาติ เพราะหากคนเรามีความตั้งใจจริง ก็จะสามารถฝ่าฝันอุปสรรคนั้นๆ ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือใหญ่ก็ตาม และสุดท้ายก็จะได้เห็นผลสำเร็จจากความเพียรนั้น ดังเช่น ต้นกล้าจะกลายเป็นรวงข้าวสีเหลืองอร่ามเต้นระบำพลิ้วไหวไปตามแรงลมหยอกล้อกับแสงอาทิตย์ที่สาดส่องจนเห็นเป็นประกายทองคำสวยได้ ก็ต่อเมื่อเจ้าของนาทุกคนหมั่นดูแลเอาใจใส่ผืนนาของตนไว้ด้วยความเพียร ซึ่งเป็นภาพที่เจ้าของนาทุกคนมุ่งหวังอยากจะได้เห็น และทุกคนสามารถยิ้มให้กับผลงานซึ่งเกิดจากความเพียร ภายใต้ร่มพระบารมีซึ่งเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อย่างเต็มภาคภูมิ  

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันพุธที่ ๒ เมษายน ปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ สิริพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา และทรงครองพิภพมไหศวรรยาธิปัตย์ เถลิงถวัลยราชสมบัติ รวมเป็นระยะเวลา ๒๗ ปี

    ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลไทยได้มีการสร้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ เนื่องในวโรกาสครบรอบปีพระราชสมภพ ๒๐๐ ปี ซึ่งลานพลับพลาดังกล่าวตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง

    ด้วยในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ นี้ มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับมูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดสัมมนา และประกวดสารคดีเรื่อง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า : พระบิดาแห่งการค้าไทย ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอมีส่วนร่วมในการสดุดีเฉลิมพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อศึกษา และเรียนรู้ถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์สืบต่อไป และข้าพเจ้าขอถวายกาพย์ห่อโคลงเฉลิมพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาธรรมของพระองค์

                      &nbs;         พระนั่งเกล้าองค์เทวา                                     พระบิดาพาณิชย์ไทย

                                พระเกียรติก้องเกริกไกร                                ใต้ร่มไทยพระบารมี

                                พระนั่งเกล้านรนาถ                                        เกรียงไกร

                                พระบิดาพาณิชย์ไทย                                      กราบเกล้า

                                พระเกียรติก้องเกริกไกล                                ทั่วหล้า

                                พระบารมีนั่งเกล้า                                           เลิศล้ำ แดนสยามฯ

     +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                                                                                                         อ้างอิง

            ๑.   อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์, กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรมพิเศษ, ๒๕๔๕

     

    บรรณานุกรม

    -          Chinese Society in Thailand and Analytical History, G. William Skinner, New York : Cornell University

    -

    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      ใต้ร่มพระบารมี ศรีมหาเจษฎาบดินทร์

      จากหลักฐานอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นหลักศิลาจารึกสมัยกรุงสุโขทัย พระราชพงศาวดาร หรือจดหมายเหตุในสมัยราชธานีศรีอยุธยา หรือพระราชพงศาวดารของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนแต่เป็นมรดกสืบทอดอันล้ำค่าที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถขององค์พระมหากษัตริย์ไทยในทุกรัชกาล และทุกราชวงศ์ที่ทรงปกครองสยามประเทศด้วยหลักทศพิธราชธรรมเพื่อให้ไพร่ฟ้าใต้แผ่นดินทั้งหลายได้มีความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตราบจนปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในพระมหากษัตริย์ไทยที่ควรได้รับการสรรเสริญเฉลิมพระเกียรติในพระอัจฉริยภาพและพระราชกิจทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนการทำนุบำรุงบวรพุทธศาสนา นั่นก็คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตระหนักถึงความรับผิดชอบในหน้าที่แห่งขัตติยะในมหาประยูรเศวตฉัตรอย่างเปี่ยมล้น พระองค์ทรงอุทิศเวลาในการบริหารราชการงานแผ่นดิน เพื่อฟื้นฟูฐานะการเงินการคลังในรัชสมัยของพระองค์ให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

      แม้กาลเวลาจะล่วงเลยกว่า ๑๕๕ ปีมาแล้ว นับจากการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๓ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ หากแต่ผลงานในพระราชกรณียกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังคงแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ต่ออนุชนคนรุ่นหลังให้ตระหนักถึง และชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยพระบรมโพธิสมภารและพระราชปรีชาญาณในทุกๆ แขนง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงสร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ท้องพระคลังหลวงด้วยการเจริญสัมพันธไมตรีด้านการค้ากับต่างประเทศทั้งชาติตะวันออกและชาติตะวันตก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยอันกว้างขวางเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา และพระราชปรีชาญาณของพระองค์ท่าน รวมถึงการทำนุบำรุงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดรัชสมัยของพระองค์ และพระราชกรณียกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของพระองค์ที่มีคุณค่าแก่ประชาราษฎร์ นั่นก็คือ การจารึกภาพความรู้ที่ถือเป็นสรรพวิชาสำหรับประชาชนทั่วไปไว้ตามกำแพงภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านที่ทรงให้ความสำคัญในด้านการศึกษาแก่พสกนิกร และมีหลักฐานปรากฏไว้สู่สายตาประชาชนตราบจนทุกวันนี้

      พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทับ (เนื่องจากมีพระราชมารดาเป็นเจ้าจอมจึงมิได้มีสกุลยศเป็นเจ้าฟ้า) พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม เวลาค่ำ ๑๐.๓๐ นาฬิกา ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓๑ มีนาคม ปีพุทธศักราช ๒๓๓๐ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเพียงพระองค์เจ้าเท่านั้น เนื่องจากทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กับเจ้าจอมมารดาเรียม พระสนมเอก (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย) ซึ่งต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้รับการสถาปนาพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ภายหลังจากกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขถึงแก่ทิวงคตในปีพุทธศักราช ๒๓๔๙

      ต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงปราบดาภิเษกขึ้นผ่านพิภพมไหศวรรยาธิปัตย์ เถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปีพุทธศักราช ๒๓๕๒ ซึ่งประชาชนทั่วไปรู้จักกันดีในพระนาม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระองค์ทรงเลือกใช้นโยบายการบริหารประเทศแบบสันติวิธี ส่งผลให้ชาติบ้านเมืองในขณะนั้นละเว้นช่วงจากการทำศึกสงครามไปได้บ้าง เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงรักษาผืนแผ่นดินสยามให้เจริญรุ่งเรืองเฉกเช่นเดียวกันกับสมัยราชธานีศรีอยุธยา นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศของพระองค์เจ้าทับขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ มีหน้าที่ในการกำกับดูแลกรมท่า (หมายถึงกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน) กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมพระตำรวจ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้รับสนองพระราชโองการในฐานะพระราชโอรสองค์ใหญ่ พระองค์ทรงงานตามภาระหน้าที่ได้เป็นอย่างดี และช่วยเป็นหูเป็นตาต่างพระเนตรพระกรรณด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้บรรลุตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระราชบิดา รวมถึงการปกครองดูแลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ดังมีบันทึกกล่าวไว้ว่า

      เมื่อแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาไลยนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ท่านเปน มหาปธานาธิบดีในราชการกรมท่าและกรมพระตำรวจน่าหลังทั้งสิ้น แลได้เปนผู้รับฎีกาของราษฎรที่มาร้องทุกข์ แลได้เปนแม่กองกำกับลูกขุน ณ ศาลหลวง แลตระลาการทุกศาล ท่านพระองค์นี้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินทั่วทั้งพระราชอาณาจักรสยาม ท่านเปนผู้รับกระแสพระราชดำรัสแลพระราชประสงค์ต่างพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนพระบรมชนกนาถทั้งสิ้น

      จากข้อความในบันทึกข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความไว้พระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่มีต่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ผู้เป็นพระราชโอรสอย่างยิ่ง สิ่งนี้ย่อมเป็นการยืนยันได้ดีว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นั้นทรงงานทุกสิ่งให้ลุล่วงสำเร็จไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ยังคงเป็นระบอบแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นคือ อำนาจการปกครองขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น หากแต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นองค์พระมหากษัตริย์ทรงมีความใกล้ชิดกับราษฎรมากขึ้น และทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาราษฎร์ โดยพระองค์ทรงงานอย่างหนักทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งทรงปกครองด้วยหลักทศพิธราชธรรมซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติของผู้ปกครองที่ควรมีเมตตาธรรม เพราะหากเมื่อใดเจ้านครขาดเมตตาธรรมในการปกครองแล้ว คงยากนักที่จะหาความสงบสุขในผืนแผ่นดินนั้นได้ ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดเกล้าฯ เปิดโอกาสให้ราษฎรสามารถถวายฎีการ้องทุกข์ได้ โดยทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้รับฎีกาของเหล่าพสกนิกรแทนพระองค์ ก็เพราะทรงมีพระราชปณิธานมุ่งหวังให้ไพร่ฟ้าใต้แผ่นดินของพระองค์ทุกคนได้รับความยุติธรรม และอยู่อย่างเป็นสุข

      ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ โดยมิได้ตรัสมอบหมายราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสพระองค์หนึ่งพระองค์ใด หรือแต่งตั้งพระราชโอรสให้ขึ้นประดิษฐานเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวร ตามโบราณราชประเพณี เมื่อเป็นดังนี้ศักดิ์และสิทธิอันชอบธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลจึงควรเป็นของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงษ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งประสูติในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระอัครมเหสี ทว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงษ์ ทรงออกผนวชในปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ ก่อนพระราชบิดาจะสิ้นพระชนม์เพียงไม่กี่วันเท่านั้น และทรงปรารถนาที่จะครององค์แสวงบุญอย่างสงบภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ต่อไป เพื่อเป็นการหลีกทางให้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ผู้เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา เมื่อเป็นเช่นนี้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และคณะเสนาบดี จึงได้ประชุมหารือและมีมติเห็นควรกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ให้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ แม้ว่าจะมีพระราชชนนี (เจ้าจอมมารดาเรียม) เป็นเพียงสามัญชนก็ตาม แต่ด้วยพระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ซึ่งได้แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ชัดมาตลอดรัชสมัยของพระบรมชนกนาถ พระองค์จึงได้เสด็จราชาภิเษกเถลิงถวัลยไอศูรย์สมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี ในวันอาทิตย์ที่ ๑ สิงหาคม ปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ ทรงมีพระนามเต็มเช่นเดียวกับพระราชบิดา และพระอัยกาธิราช นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สากลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีธรรมเนียมราชประเพณีในการตั้งพระปรมาภิไธยที่แตกต่างกันออกไปของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ประทานให้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกเสียใหม่เป็น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

      หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานปูนบำเหน็จรางวัลความดีความชอบให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ เหล่าคณะเสนาบดี ตลอดจนข้าราชการชั้นต่างๆ ตามแต่หน้าที่การงานนั้นๆ หากแต่เสนาบดีผู้เป็นที่โปรดปรานเป็นพิเศษของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลังสืบต่อไป และทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ทัต บุนนาค) ขึ้นดำรงตำแหน่งพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษาจางวางกรมพระคลังสินค้า ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพระยาพระคลังอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมุ่งเน้นงานราชกิจด้านการทหาร และการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญ เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยทรงสานต่อพระราชกิจของพระบรมราชชนกในด้านงานต่างประเทศที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงริเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์กับชาติตะวัน ตกขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยทรงมีพระบรมราชานุญาตให้โปรตุเกสเข้ามาตั้งสถานกงสุลในผืนแผ่นดินสยามได้เป็นประเทศแรก เมื่อมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงต้อนรับเหล่าคณะทูตานุทูตต่างๆ ทั้งจากชาติตะวันตก และเอเชียตะวันออกเช่นกัน และได้เริ่มมีการลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากันมากขึ้น เนื่องจากพระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญเรื่องการค้าขายกับต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์แล้ว ในครานั้นพระองค์ทรงแต่งเรือสำเภาส่วนพระองค์หลายลำเพื่อล่องไปค้าขายกับประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง และทรงได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินกำไรจากการค้าเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งพระราชบิดาของพระองค์ทรงเรียกขานพระองค์ว่า เจ้าสัว

      จากคำเรียกขานดังกล่าว เมื่อนำมาพิจารณาแล้วจะเห็นว่าคำกล่าวของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยน่าจะเป็นความจริงอยู่มากทีเดียว เนื่องจากในเวลานั้นเงินท้องพระคลังในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีอยู่อย่างจำกัด สาเหตุหลักเป็นเพราะรายรับจากการเก็บส่วยภาษีอากรนั้นมีไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้น แต่พระองค์ก็มิได้ทรงเรียกเก็บส่วยภาษีอากรเพิ่มจากราษฎรแต่อย่างใด ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกรทั้งหลาย ทั้งในส่วนของผลผลิต และเงินทองที่ราษฎรจะมีไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและหาเลี้ยงครอบครัวถ้าต้องแบกรับภาระจ่ายภาษีอากรเพิ่ม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ทรงนำเอาผลกำไรจากการแต่งเรือสำเภาส่วนพระองค์มาร่วมสมทบทุนเพื่อช่วยเหลือในราชกรณียกิจของพระราชบิดาได้มากพอสมควร

      ดังนั้นเมื่อถึงคราที่องค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกลายมาเป็นเจ้าแผ่นดินและเจ้าเหนือชีวิตของเหล่าพสกนิกรชาวสยาม ส่วนใหญ่แล้วคนรุ่นหลังมักรำลึกถึงพระปรีชาสามารถในเชิงการยุทธ์ของพระองค์ที่ทรงปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไว้จากอริราชศัตรูสำคัญในขณะนั้น คือ ญวณ (ประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) และยังสามารถขยายดินแดนราชอาณาจักรสยามให้มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมากที่สุดจนมีแว่นแคว้นภายใต้การปกครองมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ก่อกำเนิดวีรสตรีผู้กล้าหาญให้แก่สยามประเทศนั่นคือ ท้าวสุรนารี สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการวางแผนทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ และความเชี่ยวชาญในการสงครามของพระองค์ได้เป็นอย่างดี

      นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงตั้งพระทัยที่จะฟื้นฟูฐานะการเงินการคลังของประเทศให้มีเสถียรภาพมากพอๆ กับการสร้างความมั่นคงด้านการเมือง และการปกครองให้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร พระองค์ทรงเป็นทั้งนักรบและนักการค้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพระราชปรีชาญาณ จึงนับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อนุชนคนรุ่นหลังควรตระหนักถึง และศึกษาในนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า การพาณิชย์ของพระองค์อย่างถ่องแท้ ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ แม้ว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาในอดีต หลายคนอาจคิดว่ามันเป็นเพียงอดีตกาลที่ล่วงเลยผันผ่านมานานแล้วเท่านั้น มิหนำซ้ำยังล้าสมัย คงไม่สามารถนำมาใช้ในยุคโลกาภิวัฒน์เฉกเช่นในปัจจุบันนี้ได้ บางทีหากลองนึกย้อนทบทวนถึงบทบาทและแนวทางการบริหารราชกิจขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ความคิดเห็นในเรื่องล้าสมัยอาจจะเปลี่ยนไปในทันทีเมื่อพบว่าหลายต่อหลายครั้งที่พระราชวินิจฉัย หรือพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาใดๆ ก็ตามของชาติบ้านเมืองเมื่อครั้งโบราณกาลนั้น ถือเป็นรากฐานสำคัญที่สืบเนื่องมาตราบจนปัจจุบัน และเมื่อทำความเข้าใจถึงรากฐานนั้นๆ ได้อย่างถ่องแท้แล้ว ก็ย่อมสามารถสานต่อปณิธานสิ่งล้ำค่าในอดีตกาลเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันได้ เปรียบเสมือนดั่งต้นไม้ใหญ่ที่จะสามารถยืนหยัดยืนยงโต้พายุสู้มรสุมต่างๆ ได้อย่างมั่นคง ก็ต่อเมื่อต้นไม้เหล่านั้นเติบใหญ่มาจากรากเง้าที่แข็งแกร่ง

      เฉกเช่นเดียวกันกับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครานั้นบ้านเมืองเพิ่งผ่านพ้นช่วงการฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของเหล่าทวยราษฎร์ที่ต้องเผชิญศึกสงครามกับพม่ามาตลอดนับ ตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี ในรัชกาลของสมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราช (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) พระองค์ทรงกอบกู้อิสรภาพคืนกลับมาให้แก่ชาติบ้านเมืองได้ภายในปีเดียวกัน แต่ยังคงต้องเผชิญกับศึกสงครามทั้งภายในและภายนอกประเทศ เงินท้องพระคลังของแผ่นดินในช่วงนั้นก็แทบจะไม่มีเหลือ และพระองค์เองก็ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะเร่งรีดรัดเรียกเก็บส่วยอากรจากราษฎรที่กำลังประสบภาวะเดือดร้อน และความยากไร้หลังสงคราม ซึ่งความขาดแคลนนี้ได้ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ยังคงต้องเผชิญศึกรบกับพม่าเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นสงครามเก้าทัพในรัชสมัยขององค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) หรือเมื่อคราที่พม่ายกทัพมาตีเมืองถลางในต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) แต่พม่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้กลับไป แม้ว่าองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะดำเนินนโยบายการเมืองแบบสันติวิธีแล้วก็ตาม แต่ก็มิอาจเลี่ยงการศึกกับพม่าที่คอยหาโอกาสรุกรานสยามประเทศได้ จากภาวะการศึกสงครามที่มีมาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้เอง จึงส่งผลให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศไม่มั่งคั่งดั่งเช่นในสมัยอยุธยา

      เมื่อมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตระหนักถึงสภาพฐานะการเงินอันย่ำแย่ที่มีมาตั้งแต่สมัยพระราชอัยกาธิราช และพระราชบิดาของพระองค์ที่ท้องพระคลังมีรายได้จากการเก็บภาษีอากรภายในประเทศของแต่ละปีไม่เพียงพอกับรายจ่ายในการบริหารราชกิจ พระองค์ทรงพิจารณาไตร่ตรอง และเล็งเห็นว่าความอยู่รอดของประเทศชาตินอกจากจะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางการทหารแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความมั่นคงและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากปัจจัยด้านการทหารและเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เพราะกองทัพจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุข เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์จึงมุ่งเน้นนโยบายทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลักสำคัญ ประกอบกับทรงหมดห่วงอริราชศัตรูสำคัญอย่างเช่นพม่าไปได้หนึ่งประเทศ เนื่องจากในช่วงปลายรัชสมัยของพระบรมชนกนาถนั้นพม่ากำลังติดพันการทำศึกสงครามอยู่กับประเทศสหราชอาณาจักร (ต่อไปในที่นี้จะขอเรียกว่าประเทศอังกฤษ) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมในขณะนั้น และพระองค์ทรงตระหนักถึงภยันตรายที่บ้านเมืองจะได้รับผลกระทบจากนโยบายจักรวรรดินิยมของประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตกทั้งหลายที่กำลังมุ่งแสวง หาเมืองขึ้นในดินแดนต่างๆ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษ โดยโปรดเกล้าฯ จัดส่งกองทัพเข้าไปช่วยในการรบพุ่งกับพม่าในปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ เนื่องจากพระองค์ทรงพิจารณาแล้วว่าการมีพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษโดยการส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยรบนั้น ถือเป็นการขจัดศัตรูตัวฉกาจของสยามได้ทางอ้อมโดยมิต้องสูญเสียกำลังทัพของประเทศ เพราะในการศึกครั้งนี้มีประเทศอังกฤษเป็นผู้นำการรบอยู่แล้ว มิหนำซ้ำกว่ากองทัพสนับสนุนของสยามจะเดินทางไปสมทบกับกองกำลังอังกฤษ ก็ปรากฏว่ากองทัพอังกฤษได้มีชัยเหนือพม่าแล้ว และจากการพ่ายแพ้ในครั้งนี้ส่งผลให้พม่าต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนให้แก่อังกฤษ นั่นคือ ดินแดนตั้งแต่เมืองมะระแหม่งลงไปจนถึงชายแดนที่ติดอยู่ทางเหนือของเกาะสอง และต้องลงนามในสัญญาว่าจะไม่ทำศึกสงครามรุกรานแผ่นดินสยามอีก ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจที่อังกฤษมีต่อสยามประเทศในฐานะที่มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน และในครานี้พระองค์เองก็ทรงตระหนักถึงแสนยานุภาพของอังกฤษมากกว่าในรัชสมัยของสมเด็จพระราชบิดา ด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงทรงพยายามเลือกดำเนินนโยบายแบบประนีประนอมกับอังกฤษเพื่อป้องกันมิให้อังกฤษแผ่ขยายอำนาจโดยการส่งกองทัพเข้ามารุกรานราชอาณาจักรสยามดังเช่นที่ได้กระทำกับพม่า หรืออินเดีย ดังนั้นประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พระองค์ยังทรงถือเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เปรียบเสมือนหอกข้างแคร่ราชอาณาจักรสยามมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั่นก็คือ พวกญวณ ซึ่งเริ่มแผ่ขยายอำนาจและบารมีแข่งกับสยามประเทศมาตั้งแต่สมัยพระราชบิดาของพระองค์

      การที่พระองค์ทรงเจริญสัมพันธไมตรีด้านการทหารกับประเทศอังกฤษเช่นนั้น จึงนับเป็นกุศโลบายทางการเมืองอันแยบยลที่เต็มไปด้วยพระวิจารณญาณอันลึกซึ้งและเฉียบแหลม เพราะนอกจากจะได้รับประโยชน์ด้านการเมืองเป็นหลักแล้วยังได้รับประโยชน์ทางอ้อมด้านการค้าอีกด้วย เนื่องจากในขณะนั้นได้มีพ่อค้าชาวตะวันตกแวะเวียนเข้ามาค้าขายกับสยามประเทศมากขึ้นกว่าในสมัยพระราชอัยกาธิราชของพระองค์ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น หลายๆ ประเทศในทวีปยุโรปกำลังวุ่นวายกับการทำศึกสงครามอยู่กับ นโปเลียนที่ ๑ จักรพรรดิแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ดังนั้นกิจการค้าขายทางเรือของชาติตะวันตกจึงเข้าสู่ภาวะซบเซาและลดน้อยถอยลงไปมาก เห็นได้จากการที่ไม่ค่อยมีเรือสินค้าจากทวีปยุโรปเข้ามาค้าขายกับราชอาณาจักรสยามอย่างที่เคยเป็น แต่เมื่อสงครามในทวีปยุโรปสงบลง และเมื่อบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุขแล้ว บรรดาพ่อค้าชาติตะวันตกต่างเตรียมการเพื่อเริ่มเดินเรือสินค้าใหม่อีกครั้ง และเส้นทางการเดินเรือสินค้าของพ่อค้าชาวตะวันตกก็ยังคงนิยมแล่นเรือแวะผ่านเข้ามาทางอ่าวไทย เนื่องจากทำเลที่ตั้งของอ่าวไทยนั้นตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสยามประเทศซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเดินเรือ เพราะปราศจากลมพายุหรือมรสุมใดๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เรือสินค้า อีกทั้งราชอาณาจักรสยามยังมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการแล่นเรือสินค้าของชาว ตะวันตกเพื่อมุ่งไปยังจุดหมายปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน หรือประเทศอินเดีย ส่วนใหญ่แล้วเรือสินค้ามักจะแวะมาพักที่ท่าเรือของสยามประเทศซึ่งมีการสร้างท่าเรือไว้รองรับบรรดาเรือสินค้าให้เข้ามาจอดเทียบท่าทอดสมอได้อย่างสะดวกสบาย ก่อนที่เรือสินค้าเหล่านั้นจะเดินทางล่องเรือต่อไปยังจุดหมายที่ต้องการ ซึ่งในครั้งนี้พ่อค้าชาวอังกฤษได้แวะเข้ามาจอดเรือเทียบท่าในอ่าวไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ติดอุปสรรคตรงที่ไม่สามารถค้าขายแข่งขันสู้กับพ่อค้าชาวจีนได้ เนื่องจากราชอาณาจักรสยามได้ติดต่อค้าขายกับประเทศจีนผ่านทางพ่อค้าวาณิชชาวจีนโดยการจัดแต่งเรือสำเภาสินค้าเข้ามาค้าขายเป็นระยะเวลานานแล้ว อีกทั้งยังมีการเจริญสัมพันธไมตรีด้วยการจัดส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่จักรพรรดิจีน นับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นเรื่อยมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดยประเทศจีนจะมอบสิทธิพิเศษบางประการให้แก่เรือสินค้าของสยามประเทศ ตัวอย่างเช่น ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีขาเข้าและขาออก หากเรือสินค้านั้นล่องลำน้ำมาพร้อมกับเรือของราชทูตสยามที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วเรือสินค้าหลวงจะได้รับการยกเว้นภาษีจากประเทศจีน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงเป็นนักการค้ามืออาชีพในการตกแต่งเรือสำเภาเพื่อค้าขายกับประเทศจีน และได้รับผลกำไรเป็นกอบเป็นกำมาแล้วในรัชสมัยของสมเด็จพระราชบิดาของพระองค์

      อย่างไรก็ตามองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีถึงเหตุผลที่ทำให้เหล่าพ่อค้าชาว ตะวันตกต้องการหยุดพักจอดเรือสินค้าของตนที่ราชอาณาจักรสยาม นั่นเป็นเพราะผืนแผ่นดินแห่งนี้ล้วนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนผืนดินและในผืนน้ำ ตลอดจนทรัพยากรป่าไม้อันสมบูรณ์ พระองค์ทรงเห็นว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อพ่อค้าต่างชาติชาวตะวันตกมีความต้องการในสินค้าพื้นเมืองหลายๆ ประเภทของราชอาณาจักรสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแร่ดีบุก และด้วยการที่พระองค์ทรงมีความเชี่ยวชาญในด้านการแต่งเรือสำเภาเพื่อค้าขายกับประเทศจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้พระองค์ทรงเล็งเห็นโอกาสในการดำเนินนโยบายการค้าแบบใหม่กับชาติตะวันตกเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ชาติบ้านเมือง พระองค์ทรงเปิดประเทศต้อนรับชาติตะวันตกในด้านการค้าขาย แต่ยังคงไว้ซึ่งหลักการผูกขาดโดยพระคลังสินค้าเฉกเช่นเดียวกับการค้าในสมัยอยุธยา

      เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าระบบพระคลังสินค้าได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นตั้งแต่ช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง และคงสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สาเหตุที่ต้องใช้ระบบพระคลังสินค้าเข้ามาเป็นหลักในการกำกับดูแลและควบคุมการซื้อขายสินค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศนั้น เนื่องมาจากจุดอ่อนของนโยบายการค้าในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาที่เป็นการค้าแบบเสรี อนุญาตให้พ่อค้าชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาติดต่อซื้อขายสินค้ากับราษฎรได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการควบคุมดูแล หรือแทรกแซงจากหน่วยงานของภาครัฐ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้พ่อค้าต่างประเทศทั้งฝั่งตะวันตก เช่น โปรตุเกส ฮอลันดา และฝั่งตะวันออก อาทิเช่น จีน หรือญี่ปุ่น เป็นต้น ได้เดินทางเข้ามาค้าขายในสยามประเทศเพิ่มมากขึ้น และได้นำสินค้าประเภทอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาจำหน่ายภายในราชอาณาจักร หลังจากนั้นพ่อค้าต่างชาติเหล่านี้จะหาซื้อสินค้าพื้นเมืองที่หาได้ยาก และมีมูลค่าสูงกลับไปพร้อมเรือสินค้า เช่น ทองคำ ดีบุก งาช้าง ดังนั้นเมื่อพ่อค้าต่างชาติทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สินค้าพื้นเมืองกลับหาได้ยากขึ้น ทำให้รัฐบาลในช่วงสมัยอยุธยาตอนกลางตระหนักถึงปัญหาและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติต่อ ไปในอนาคตหากปล่อยให้มีการค้าเสรีแบบนั้นต่อไป เป็นเหตุให้ระบบพระคลังสินค้าได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลการซื้อขายสินค้าระหว่างประชาชนกับพ่อค้าต่างชาติ โดยจะผูกขาดการซื้อขายสินค้าไว้ที่พระคลังสินค้าแต่เพียงผู้เดียว กล่าวโดยสรุปคือ พระคลังสินค้าจะมีอำนาจในการซื้อและขายสินค้าของราชอาณาจักรสยามเพียงผู้เดียว นั่นคือหากเมื่อใดที่ราษฎรต้องการจำหน่ายสินค้าที่ตัวเองมีอยู่ ก็ต้องนำมาขายให้แก่พระคลังสินค้า และเมื่อพ่อค้าชาวต่างชาติมีความประสงค์จะซื้อสินค้าพื้นเมืองที่ถูกจัดให้อยู่ในรายการสินค้าต้องห้ามแล้ว พ่อค้าต่างชาติจะต้องมาซื้อสินค้าที่พระคลังสินค้าเท่านั้น จึงถือเป็นการผูกขาดทางการค้าทั้งภายใน และภายนอกประเทศ โดยมีพระคลังสินค้าซึ่งถือเป็นตัวแทนของหลวงในการเข้ามาดำเนินงานเป็นคนกลางประสานงานระหว่างพ่อ ค้าชาวต่างชาติกับประชาชนทั่วไป

      อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงต้อนรับเรือกำปั่นของชาว      ตะวันตกให้เข้ามาจอดเทียบท่าค้าขายภายในราชอาณาจักรได้ แต่พระองค์ก็ยังทรงหวั่นเกรงและระแวดระวังการแทรกแซงทางการเมืองของชาติมหาอำนาจตะวันตกที่มักจะแฝงมาในรูปของการค้าเช่นกัน ดังนั้นพระองค์จึงเข้มงวดกวดขันให้พระคลังสินค้าคอยกำกับดูแลการค้าขายสินค้าทุกประเภททั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอาวุธยุทธภัณฑ์ที่รัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น กระสุนดินปืน และยังสงวนสิทธิในการเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็น นั่นคือ มีสิทธิในการเลือกซื้อสินค้าก่อน เรียกว่า สินค้าต้องห้าม ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่หาได้ยากในท้องตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยสินค้าต้องห้ามเหล่านี้สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง ตามหลักการแล้วสินค้าขาเข้าจากต่างประเทศที่เป็นสินค้าต้องห้ามมักจะเป็นพวกอาวุธต่างๆ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวในการเลือกซื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมอบหมายให้กรมพระคลังสินค้าเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการตกแต่งเรือสำเภาหลวงเพื่อแล่นเรือออกไปค้าขายกับต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศจีน ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์จึงนับเป็นยุคทองของการค้าเรือสำเภาหลวงกับจีน เนื่องจากราชอาณาจักรสยามสามารถส่งสินค้าออกไปขายยังประเทศจีนได้ในปริมาณที่มากกว่าเมื่อสองรัชกาลก่อน

      ในขณะที่พ่อค้าชาติตะวันตกก็แวะเวียนเข้ามาซื้อขายสินค้ากับพระคลังสินค้าอย่างต่อเนื่อง หากแต่สู้พ่อค้าจีนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนกว่ามิได้ และอีกปัญหาหนึ่งที่พ่อค้าชาวตะวันตกต้องเผชิญ นั่นคือ การกำหนดราคาสินค้าของพระคลังสินค้า ทำให้สินค้าของพวกต่างชาติถูกกดราคาซื้อลง แต่พ่อค้าต่างชาติกลับต้องซื้อสินค้าพื้นเมืองของสยามในราคาสูง ด้วยเหตุนี้เองทำให้รัฐบาลของประเทศอังกฤษได้จัดส่งคณะทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในปีพุทธศักราช ๒๓๖๘ โดยมีร้อยเอกเฮ็นรี่ เบอร์นี่ (Henry Burney) เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษในการเข้ามาขอเจรจากับองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงเปลี่ยนนโยบายการค้ามาเป็นแบบการค้าเสรี เนื่องจากในช่วงรัชกาลของพระองค์นั้นได้มีพ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการค้าของอังกฤษในขณะนั้นที่ต้องการขยายอิทธิพลทางการค้าในซีกโลกตะวันออก แต่เมื่อพ่อค้าของชาติตนเองต้องมาเผชิญกับนโยบายการค้าแบบผูกขาดของสยามประเทศเช่นนี้ ส่งผลให้พ่อค้าชาวอังกฤษไม่สามารถแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งอังกฤษถือเป็นอุปสรรคทางการค้าที่จำเป็นต้องรีบดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยอังกฤษเคยส่งนายแพทย์จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) เข้ามาเป็นทูตเจรจาเรื่องขอยกเลิกการผูกขาดทางการค้าแล้วครั้งหนึ่งในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมชนกนาถในปีพุทธศักราช ๒๓๖๔ แต่ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมิทรงใคร่ยินดีที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับอังกฤษโดยการลงนามในสนธิสัญญาแต่อย่างใด เพราะเกรงว่าจะถูกชาติตะวันตกเข้าแทรกแซงทางการเมืองจากสนธิสัญญานั้นๆ

      ดังนั้นเมื่ออังกฤษได้ส่งร้อยเอกเฮ็นรี่ เบอร์นี่ (Henry Burney) เข้ามาเจรจาด้านการค้าอีกครั้งหนึ่ง องค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงปฏิเสธที่จะเจรจาด้วยแต่อย่างใด เพราะการที่พระองค์ท่านทรงเป็นนักการค้าที่ยิ่งใหญ่ ทรงมองการณ์ไกลเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับจากการลงนามในสนธิสัญญากับประเทศอังกฤษ แม้ว่าจะต้องยกเลิกระบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้าลงก็ตาม แต่พระองค์ทรงเห็นว่าระบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้ายังคงถูกนำมาบังคับใช้กับพ่อค้าต่างชาติประเทศอื่นๆ อยู่แล้ว ยกเว้นอังกฤษเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่จะมีผลผูกพันตามสนธิสัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเจริญสัมพันธไมตรีลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ปีพุทธศักราช ๒๓๖๙ ในที่นี้ขอเรียกสนธิสัญญาดังกล่าวว่า สนธิสัญญาเบอร์นี่ ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ประเทศชาติจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาในรูปของภาษีปากเรือจำนวนมากทั้งขาเข้าและขาออกรวมกันจากพ่อค้าชาวอังกฤษ และพ่อค้าที่อยู่ใต้อาณัติการบังคับของอังกฤษ เนื่องจากพระองค์ทรงพิจารณาไตร่ตรองเป็นอย่างดีแล้วว่าหากแม้นได้ลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นี่กับประเทศอังกฤษแล้ว เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีพ่อค้าชาวอังกฤษจำนวนมากมุ่งเดินเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาค้าขายในสยามประเทศมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามพ่อค้าอังกฤษยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรสยามเท่านั้น และต้องขึ้นศาลของสยามประเทศหากพบว่ามีพ่อค้าชาวอังกฤษ หรือคนในบังคับของอังกฤษคนใดก็ตามได้กระทำความผิดตามกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ โดยพระองค์ยังทรงไว้ซึ่งสิทธิในการส่งข้าราชการเข้าไปเป็นตัวแทนในการตรวจตราสินค้าเมื่อเรือสินค้าของอังกฤษเข้ามาจอดเทียบท่าภายในราชอาณาจักร รวมทั้งสินค้าประเภทข้าวและอาวุธยุทโธปกรณ์ ยังคงจัดเป็นหนึ่งในรายการสินค้าต้องห้ามอยู่ นั่นคือ ห้ามมิให้มีการค้าขายอย่างเสรีระหว่างพ่อค้าชาวอังกฤษกับประชาชนทั่วไป สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิทรงยินยอมให้มีการเพาะปลูกข้าวเพื่อเป็นสินค้าส่งออกของประเทศนั้น เนื่องจากพระองค์เกรงว่าจะเกิดภาวะการขาดแคลนข้าวขึ้นภายในประเทศ เพราะข้าวถือเป็นเสบียงหลักที่สำคัญของราชอาณาจักร สำหรับอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ทรงห้ามมิให้มีการจำหน่ายกันอย่างเสรีก็เพื่อความมั่นคง และปลอดภัยของประเทศชาตินั่นเอง

      นอกจากนี้ยังปรากฏว่าได้มีคณะทูตของประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาขอเจริญสัมพันธไมตรีทางการ ค้ากับพระองค์ด้วย โดยมีนายเอ็ดมัน โรเบิร์ตส (Edmund Roberts) เป็นผู้นำสาส์นของประธานาธิบดี แอนดรู แจ๊กสัน (Andrew Jackson) มามอบให้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินดีที่จะรับสัมพันธไมตรีนั้น และในวันที่ ๒๐ มีนาคม ปีพุทธศักราช ๒๓๗๕ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาทางการค้าฉบับแรกกับประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเงื่อนไขข้อตกลงในสนธิสัญญาส่วนใหญ่แล้วเป็นไปในข้อความคล้ายคลึงกันกับสนธิสัญญาเบอร์นี่

      สำหรับประเทศโปรตุเกสที่ได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรสยามตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในตอนนั้นพระองค์ทรงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ถึงกับทรงอนุญาตให้สามารถตั้งสถานกงสุลโปรตุเกส และยังทรงพระเมตตาอนุญาตให้บาทหลวงสามารถเผยแพร่ศาสนาคริสต์ภายในราชอาณาจักรได้ เมื่อมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงถือว่าชาวโปรตุเกสเป็นมิตรกับสยามประเทศอยู่เช่นเดิม เพียงแต่การติดต่อค้าขายทางเรือระหว่างราชอาณาจักรสยามกับพ่อค้าโปรตุเกสได้ลดลงอย่างมาก สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะประเทศอังกฤษได้เข้ามาเป็นมหาอำนาจในการเดินเรือสินค้าทางทะเลแทน

      อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเน้นการค้าขายกับประเทศจีนเป็นหลักสำคัญ แม้ว่าพระองค์จะเปิดประตูการค้ากับชาติตะวันตกหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา หากแต่พระองค์ก็ยังคงนิยมที่จะแต่งเรือหลวงเพื่อไปค้าขายยังประเทศจีนมากกว่าประเทศอื่นๆ เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะราชอาณาจักรสยามและประเทศจีนได้มีการติดต่อค้าขายกันมาเป็นระยะเวลาเนิ่นนานแล้วนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และพ่อค้าชาวจีนก็รู้จักการมีสัมมาคารวะ เข้าใจขนบธรรมเนียมของสยามเป็นอย่างดี จึงเข้ากับข้าราชการไทยได้ง่าย ต่างไปจากพ่อค้าชาวตะวันตกที่ไม่เข้าใจในวิถีการดำเนินชีวิตของสยามประเทศเท่าใดนัก

      แม้ว่าท้องพระคลังหลวงจะต้องสูญเสียรายได้ที่เป็นเงินผลกำไรจากการผูกขาดทางการค้าลงไปอันเนื่องมาจากผลของสนธิสัญญาเบอร์นี่ก็ตาม แต่รัฐบาลก็จะได้รับเงินค่าภาษีปากเรือเข้ามาเป็นการชดเชยแทน ทว่าด้วยพระราชปรีชาญาณขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเห็นโอกาสในการแสวงหาเพิ่มพูนเงินภาษีในท้องพระคลังให้เพิ่มมากขึ้น พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการจัดเก็บภาษีอากรแบบใหม่ทั่วประเทศ โดยทรงตั้งระบบ เจ้าภาษีนายอากร ขึ้นมา ซึ่งถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการจัดเก็บภาษีอากรทั่วประเทศ นั่นคือการเปลี่ยนตัวผู้เก็บภาษีอากรจากภาครัฐมาเป็นการดำเนินงานโดยภาคเอกชนแทน

      ระบบเจ้าภาษีนายอากรนี้มีหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ หากผู้ใดต้องการที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนของหลวงในการจัดเก็บภาษีอากรของแต่ละเขตแต่ละเมืองในสินค้าแต่ละประเภทแล้วนั้น จะต้องมีการประมูลยื่นเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐบาล และหากผู้ใดเสนอราคาประมูลสูงสุด ผู้นั้นจะได้รับคัดเลือกให้มีสิทธิในการเป็นเจ้าภาษีนายอากร โดยจะต้องจ่ายชำระเงินผลตอบแทนที่ได้เสนอราคาสูงสุดในคราที่ประมูลแก่รัฐบาลทุกๆ ปี ซึ่งทำให้ภาครัฐสามารถเก็บเงินภาษีอากรจากทั่วประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น และสามารถทราบได้ทันทีหลังการประมูลเสร็จสิ้นว่าในปีนั้นๆ หลวงจะได้รับเงินภาษีอากรเข้าท้องพระคลังได้เป็นจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากระบบนี้เป็นระบบที่รัฐบาลจะได้รับเงินเป็นจำนวนที่แน่นอนจากการประมูล ซึ่งแตกต่างไปจากการเก็บภาษีอากรแบบเดิม เช่น การที่จะต้องส่งข้าราชการให้ออกไปเรียกเก็บภาษีอากรจากประชาชนโดยตรง และไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าในแต่ละปีจะสามารถเก็บภาษีอากรได้เป็นจำนวนเท่าใด เนื่องจากการเก็บภาษีอากรในแต่ละครั้งจะได้รับเงินภาษีที่มากน้อยแตกต่างกันออกไปในแต่ละปี ตามแต่ผลผลิตที่ราษฎรจะทำมาหาได้ในปีนั้นๆ จากประเด็นความแตกต่างกันตรงนี้เองทำให้ท้องพระคลังมีรายรับจากภาษีอากรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

      อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นห่วงเหล่าพสกนิกรของพระองค์ ด้วยเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียกเก็บภาษีของบรรดาเจ้าภาษีนายอากรแต่งตั้งทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวจีน ดังนั้นพระองค์จึงทรงให้กรมพระคลังสินค้าเข้ามาเป็นผู้ดูแล ตรวจตรา และควบคุมความประพฤติของเจ้าภาษีนายอากรเหล่านี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดการรีดนาทาเร้นเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม และก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรของพระองค์ แต่กระนั้นก็ตามระบบเจ้าภาษีนายอากรนี้ก็ยังคงมีช่องโหว่ให้คนโลภเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้ แม้ว่าองค์พระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงหาวิธีการป้องกันไว้ก่อนแล้วก็ตาม ดังนั้นในรัชกาลต่อๆ มาจึงมีการเปลี่ยนแปลงระบบวิธีการจัดเก็บภาษีเพื่อมุ่งหวังให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนมากที่สุดจนกลายมาเป็นระบบการจัดเก็บภาษีอากรในปัจจุบันนี้

      นอกจากนี้พระองค์ยังกำหนดจัดตั้งภาษีที่เก็บจากผลผลิตขึ้นมาใหม่อีก ๓๘ รายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การเก็บภาษีอากรบ่อนเบี้ยของชาวจีน เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งโรงหวยและบ่อนเบี้ยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหวยดังกล่าวนิยมเรียกกันในสมัยนั้นว่าหวย ก.ข. แม้ว่าการอนุญาตให้มีการเปิดบ่อนเบี้ยเช่นนี้จะดูเหมือนเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเล่นการพนัน และหลายต่อหลายคนต้องมีภาระหนี้สินอันเกิดจากการเล่นพนันกันเป็นจำนวนมาก แต่ก็ส่งผลประโยชน์ให้แก่รัฐบาลในการเก็บค่าอากรบ่อนเบี้ยเหล่านี้เข้าสู่ท้องพระคลังได้เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

      ดังนั้นหากวิเคราะห์ถึงระบบเจ้าภาษีนายอากรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาใช้ในการจัดเก็บภาษีภายหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นี่แล้ว จะสังเกตเห็นได้ว่าพระองค์ท่านทรงเล็งเห็นแนวทางในการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดจากการยกเลิกระบบผูกขาดโดยพระคลัง สินค้ากับประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงเปลี่ยนวิธีการผูกขาดด้านภาษีจากรัฐบาลมาสู่เป็นภาคเอกชนแทน ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถจะเรียกเก็บค่าภาษีอากรจากพ่อค้าชาวตะวันตกได้ทางอ้อม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสนธิสัญญาเบอร์นี่ที่ได้ลงนามไป อีกทั้งสนธิสัญญาดังกล่าวก็มิได้มีข้อห้ามสยามประเทศในการดำเนินกิจการทางเรือเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด ดังนั้นพระองค์จึงทรงสนับสนุนให้มีการตกแต่งเรือสินค้าหลวงเพื่อเดินทางไปค้าขายยังต่างประเทศ โดยเน้นไปยังประเทศจีนเป็นหลัก นอกจากนี้พระองค์ยังทรงริเริ่มให้มีการประกอบเรือกำปั่นหลวงตามแบบที่พ่อค้าชาวตะวันตกนิยมใช้ในขณะ นั้นด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเรือกำปั่นแบบฝรั่งนั้นสามารถแล่นได้ด้วยความเร็วสูง เพราะการมีขนาดและรูปร่างที่เพรียวกว่าเรือสำเภาแบบจีน ดังนั้นการใช้เรือกำปั่นแบบฝรั่งจึงช่วยให้แล่นไปถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วกว่าการใช้เรือสำเภาจีนอย่างแต่ก่อน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้การต่อเรือสำเภาจีนเริ่มลดน้อยถอยลงไปในรัชสมัยของพระองค์ และความนิยมในการต่อเรือกำปั่นเข้ามาแทนที่

      พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงตระหนักว่าการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจและการ ค้ามิได้สามารถจะดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีถ้าขาดการบริหารจัดการ และประสานงานควบคู่กับราชกรณียกิจในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญในการพัฒนาด้านการเกษตรของเหล่าพสกนิกร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชสวน ไร่นา การเลี้ยงสัตว์ การขุดเหมืองแร่ หาของป่า และล่าสัตว์ เนื่องจากค่าส่วยอากรที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรนั้น จะอยู่ในรูปของตัวเงิน และในรูปของพืชผล ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของภาครัฐ และความสำคัญของผลผลิตนั้นๆ ว่าเป็นที่ต้องการของพ่อค้าต่างชาติหรือไม่ หากผลผลิตใดเป็นที่นิยมของพ่อค้าต่างประเทศแล้ว รัฐมักเรียกเก็บส่วยในรูปของผลผลิตแทนตัวเงิน เช่น ดีบุก ฝาง งาช้าง ครั่ง หรือไหม เป็นต้น

      สำหรับปัจจัยหลักในการพัฒนาด้านการเกษตรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นเครื่องมือ ก็คือ ที่ดิน โดยในรัชสมัยของพระองค์ยังคงใช้ระบบศักดินาเป็นระบบกรรมสิทธิ์การจัดสรรที่ดินเช่นเดียวกันกับสมัยราชธานีศรีอยุธยา นั่นคือ ที่ดินทุกแห่งทั่วราชอาณาจักรสยามถือเป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว และองค์พระประมุขของชาติจะทรงพระราชทานจัดสรรที่ดินให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และราษฎรทั่วไปตามระบบศักดินาที่กำหนดไว้ เพื่อให้เหล่าพสกนิกรสามารถเข้าไปอยู่อาศัยและทำมาหากินบนผืนดินนั้นได้ หากแต่ยังทรงมีสิทธิในการเรียกคืนที่ดินซึ่งได้พระราชทานให้แก่ขุนนาง หรือราษฎรทั่วไปได้ตลอดเวลาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในงานราชการ โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการเวนคืนทั้งสิ้น

      อย่างไรก็ตามองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความเดือดร้อนและผลกระ ทบจากนโยบายการเวนคืนที่ดินของภาครัฐ ที่ส่งผลต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ดังนั้นพระองค์จึงทรงออกพระราชบัญญัติให้มีการจ่ายเงินชดเชยเพื่อใช้เป็นเงินทดแทนค่าความเสีย หายในการเรียกคืนที่ดินให้ แก่ราษฎรผู้ถูกเวนคืนที่ดินทำกินมากน้อยแตกต่างกันออกไปตามแต่ที่จะเห็นสมควร เพื่อให้ประชาชนเหล่านั้นได้มีเงินทุนสำรองสำหรับหาเลี้ยงชีพต่อไป และได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการออกโฉนดที่มีมาแต่เดิมให้เปลี่ยนเป็นการออกตราจองแทน

      นอกจากนี้ราษฎรทั่วไปนิยมเลี้ยงสัตว์พื้นบ้าน ประเภทสุกร ไก่ เป็ด เพื่อนำมาใช้ในการบริโภคภายในครัวเรือน และยังนิยมเลี้ยงสัตว์ประเภทกระบือ และโค เพื่อนำมาใช้เป็นแรงงานในการทำมาหาเลี้ยงชีพของราษฎรทั่วๆ ไป และด้วยการที่กระบือ และโค จัดเป็นสัตว์ใช้แรงงานที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะสามารถใช้แรงงานกระบือ และโค เหล่านี้ได้ในงานหลายๆ อย่าง อาทิเช่น การไถนา หรือการลากเกวียน ด้วยเหตุนี้เองทำให้รัฐบาลเห็นคุณค่าของสัตว์ประเภทนี้ และมีข้อกำหนดห้ามมิให้มีการซื้อขายกระบือ หรือโค เพื่อการส่งออกอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้การส่งออกด้านปศุสัตว์ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงสรุปได้ว่าการทำนา ทำไร่ และทำสวนนั้น ยังคงเป็นอาชีพหลักที่ก่อให้เกิดผลผลิตเพื่อการส่งออกมากกว่าการเลี้ยงสัตว์ หรือการทำประมง และรัฐบาลได้รับค่าภาษีอากรจากการทำนา ทำไร่ ทำสวน มากกว่าการเลี้ยงสัตว์เช่นกัน เนื่องจากในรัชสมัยขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังคงมีธรรมเนียมการเดินนาเหมือนกับในสมัยอยุธยา หมายถึง การจัดให้มีข้าหลวงออกไปตรวจพื้นที่ของชาวนาซึ่งได้ใช้สอยที่ดินเพื่อการเพาะปลูกเพื่อนำมาคิดคำนวณอากรค่านาเข้าท้องพระคลังหลวง และยังมีธรรมเนียมการเดินสวนอีกด้วย ซึ่งเป็นการออกไปสำรวจตรวจนับจำนวนพืชผลในสวนของราษฎร เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำหน้าโฉนด โดยจะมีการเรียกเก็บเงินค่าอากรสวนเข้าพระคลังหลวงเช่นกัน ซึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสนับสนุนการทำไร่ของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำไร่อ้อย เนื่องจากในเวลานั้นสินค้าส่งออกหลักที่สำคัญของสยามประเทศ คือ น้ำตาลทราย ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เองจึงก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศขึ้นมา นั่นคือ อุตสาหกรรมน้ำตาลเพื่อรองรับการส่งออก โดยต้องใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต หากแต่กิจการน้ำตาลกลับตกเป็นของชาวจีนอีกเช่นเคย เนื่องจากมีเงินทุนที่มากกว่าชาวบ้านทั่วๆ ไป และยังมีความเชี่ยวชาญด้านการค้าอีกด้วย ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกำหนดเขตการเพาะปลูกอ้อย และการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมน้ำตาลของชาวจีนเอาไว้อย่างชัดเจน โดยกำหนดให้ตั้งอยู่บริเวณนอกเขตนารอบราชธานี หลังจากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้รัฐบาลดำเนินการเรียกซื้อน้ำตาลทรายจากพ่อค้าภายในราชอาณาจักร เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะให้ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจการค้าขายน้ำตาลทราย ในที่สุดแล้วรัฐบาลก็สามารถผูกขาดการค้าน้ำตาลได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในปีพุทธศักราช ๒๓๘๕ ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐอีกเช่นเคย

      นอกจากน้ำตาลทรายที่เป็นสินค้าซึ่งได้รับความนิยมจากพ่อค้าต่างชาติแล้ว ยังมีแร่ดีบุกเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของราชอาณาจักรสยาม เนื่องจากแร่ดีบุกของสยามประเทศนั้นมีคุณภาพดี และมีปริมาณมาก เป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นประโยชน์การใช้สอยของแร่ดีบุกที่ชาวยุโรปนิยมนำไปใช้เป็นส่วนผสมในการฉาบเหล็ก พระองค์จึงทรงสนับสนุนให้มีการทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเหมืองเหล่านี้จะตั้งอยู่บริเวณแถบหัวเมืองปักษ์ใต้ และแถบหัวเมืองฝั่งตะวันตกของประเทศ และท้ายที่สุดแล้วท้องพระคลังหลวงก็ได้รับผลประโยชน์ตอบกลับมาในรูปของการเก็บอากรดีบุกได้เป็นจำนวนมาก และเรือกำปั่นหลวงก็นำแร่ดีบุกไปขายทำกำไรกับต่างประเทศด้วยเช่นกัน

      อย่างไรก็ตามไม้แปรรูปต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้สักก็ยังคงเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของสยามประเทศเช่นกัน แม้ว่าอาจจะลดบทบาทความสำคัญลงไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของประเทศจีนอยู่ เพราะส่วนใหญ่แล้วจีนนิยมใช้ไม้จากเมืองไทยเพื่อใช้เป็นวัสดุในการต่อเรือสำเภาของจีน เนื่องจากไม้ของไทยนั้นมีคุณภาพดี ราคาถูก อีกทั้งยังมีความแข็งแรงทนทาน ซึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวส่วนใหญ่แล้วไม้สักจะถูกนำมาใช้ภายในประเทศมากกว่าการส่งออก สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยผู้เคร่งครัด และเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อพระองค์ทรงบริหารงานราชกิจด้านการค้าให้มีความเจริญรุ่งเรือง จนส่งผลให้เงินในท้องพระคลังงอกเงยเพิ่มพูนขึ้นมากมายต่างจากในรัชกาลของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าท้องพระคลังนั้นมีความมั่นคงมากพอแล้ว พระองค์จึงทรงพระราชทานเงินส่วนหนึ่งให้แก่รัฐบาลเพื่อใช้ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่งที่มีความเก่าแก่ หรือชำรุดทรุดโทรม รวมทั้งทรงมีพระราชดำริให้สร้างวัดขึ้นใหม่หลายแห่ง อีกทั้งยังทรงขอความสนับสนุนจากพระบรมวงศานุวงศ์ คณะเสนาบดี ข้าราชการชั้นผู้น้อย เศรษฐีพ่อค้าต่างๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้ร่วมด้วยช่วยกันอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา โดยการสร้างวัด รวมไปถึงการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ทั่วประเทศ เหตุนี้เองจึงทำให้ต้องมีการนำไม้สักเข้ามาใช้ในการนี้เป็นจำนวนมาก

      ด้วยการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแน่วแน่ ส่งผลให้ในรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นอีกหนึ่งยุคทองของพระพุทธศาสนาที่มีความเจริญรุ่งเรือง และยังถือได้ว่าเป็นยุคสมัยที่มีการสร้างวัดมากที่สุดอีกด้วย โดยวัดต่างๆ ที่มีการสร้างขึ้นใหม่ หรือวัดที่ได้รับการบูรณะนั้น ล้วนแต่มีความงดงามจนเกือบเทียบเท่ากับวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว ซึ่งวัดประจำรัชกาลนี้ คือ วัดราชโอรสาราม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าวัดจอมทอง นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้มีการสร้างพระที่นั่งเพิ่มเติมขึ้นใหม่อีก ๓ องค์ ในพระบรมมหาราชวัง ได้แก่ พระที่นั่งมหิศรปราสาท พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ และพระที่นั่งพุทธาสวรรย์ปราสาท อีกทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการซ่อมแซมบูรณะปฏิสังขรณ์พระที่นั่งเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่งผลให้บรรดาปราสาทพระราชวังต่างๆ ภายหลังจากการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วนั้น มีความสวยงดงามตระการตาเป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศในด้านสถาปนิกขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นที่ปรากฏต่อคนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงพระปรีชาสามารถในเชิงสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมที่พระองค์ทรงมีอยู่มากพอๆ กับพระอัจฉริยภาพทางด้านการค้า และการทหาร

      แม้ว่าพระองค์จะทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าก็ตาม แต่พระองค์ก็มิได้กีดกันการเผยแพร่ของศาสนาอื่นๆ พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คณะบาทหลวง และมิชชันนารีนิกายโปรแตสตันส์เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ได้อย่างเสรี อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เหล่าพสกนิกรของพระองค์มีอิสระในการเลือกนับถือศาสนาได้ตามที่แต่ละบุคคลต้องการ

      นอกจากนี้พระองค์ยังทรงห่วงใยทุกข์สุขของราษฎรชาวสยาม ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มีการตั้งกลองวินิจฉัยเภรีไว้บริเวณหน้าพระราชวัง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ต้องประสบพบกับความทุกข์ร้อนและไม่เป็นธรรม สามารถร้องถวายฎีกาได้โดยตรงไม่ต้องผ่านขั้นตอนของเจ้าขุนมูลนายดังเช่นสมัยอยุธยา และพระองค์ยังทรงตระหนักถึงความสำคัญในด้านการศึกษา ดังนั้นพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งศูนย์รวมความรู้ขึ้นมา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ประชาชนทั่วไป นอกจากโรงทานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งโรงแทนแห่งนี้ตั้งอยู่ริมประตูศรีสุนทร

      สำหรับศูนย์ความรู้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามแห่งนี้ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มีการจารึกข้อมูลความรู้ต่างๆ ลงบนแผ่นศิลา ตลอดจนโคลง ฉันท์ กาพย์ และกลอนต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อราษฎร โดยทรงให้มีการจารึกภาพไว้ควบคู่กับตัวอักษรที่เป็นคำอธิบายประกอบความ เพื่อให้ผู้ที่ได้อ่านเข้าใจถึงเนื้อหาต่างๆ ได้อย่างถ่องแท้ ซึ่งแผ่นจารึกความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามนั้น ยังคงปรากฏเป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้ประจักษ์ถึงพระราชปรีชาญาณ และพระเมตตาขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เหล่าพสกนิกรล้วนต่างน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานศูนย์รวมทางการศึกษาซึ่งถือเป็นห้องสมุดสาธารณะอันล้ำค่า และยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดแต่งหนังสือแบบเรียนจินดามณีที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นมาใหม่ เพื่อปรับแต่งภาษาให้ง่ายต่อการเรียน และทำความเข้าใจ ตลอดจนสอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระองค์ โดยทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระน้องยาเธอกรมหมื่นวงศาธิราชสนิทเป็นผู้จัดการดูแลแก้ไขหนังสือแบบเรียนจินดามณีต่อไป

      อย่างไรก็ตามเมื่อคณะบาทหลวง และมิชชันนารีเดินทางเข้ามาในสยามประเทศเพิ่มมากขึ้น คณะเดินทางเหล่านี้ได้นำความรู้ทางตะวันตกเข้ามาเผยแพร่พร้อมคริสตศาสนา ซึ่งวิทยาการด้านต่างๆ ของชาติตะวันตกนั้นมีความเจริญล้ำหน้ากว่าราชอาณาจักรสยามเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์มีความสนพระทัยที่จะเข้าร่วมในการศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ของตะวันตกพร้อมกับคณะเสนาบดี ตลอดจนการศึกษาภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีภาษาอังกฤษเป็นที่นิยมกันมากในขณะนั้น และองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงขัดขวางแต่ประการใด เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นประโยชน์ในการใฝ่หาความรู้ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษานั้นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น

      จากพระราชกรณียกิจทั้งหลายทั้งปวงที่ได้ยกขึ้นมากล่าวข้างต้นนั้น เป็นเพียงตัวอย่างสำคัญๆ ที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวสยาม ทั้งในด้านการปกครองบ้านเมืองให้มีความมั่นคง เข้มแข็งขึ้นมาได้จาก นโยบายด้านการทหารของพระองค์ที่ทรงเด็ดเดี่ยว เด็ดขาด และรักษาไว้ซึ่งเอกราชอธิปไตยแห่งราชอาณาจักรสยาม นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นเลิศในด้านการค้าที่ทรงมีพระราชปรีชาญาณอันเฉียบแหลม สามารถฟื้นฟูฐานะเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งได้อีกครั้ง แม้จะต้องมีการลงนามในสนธิสัญญาการค้ากับต่างประเทศก็ตาม แต่พระองค์ยังทรงหาวิธีการใหม่ๆ ในการดำเนินงานด้านการค้าเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากการค้าขายกับชาติตะวันตกได้อย่างชาญฉลาด โดยสามารถเรียกเก็บภาษีอากรจากพ่อค้าต่างชาติได้อย่างมากมาย แม้ว่าต้องยกเลิกระบบการผูกขาดโดยพระคลังสินค้าลงไปก็ตาม รวมถึงการเก็บค่าอากรบ่อนเบี้ย ซึ่งในปัจจุบันอาจมีหลายความคิดที่ไม่เห็นด้วยในการอนุญาตให้มีการตั้งบ่อนขึ้นภายในประเทศ เพราะถือว่าเป็นการมอมเมาประชาชนให้มัวเมาลุ่มหลงในอบายมุข แต่กระนั้นก็ตามต้องไม่ลืมว่าการเลือกใช้วิธีการใดๆ ในการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองในแต่ละช่วงเวลานั้น วิธีการที่เลือกใช้จะแตกต่างกันออกไปตามแต่สถานการณ์ และสภาพแวดล้อมที่ต้องเผชิญในขณะนั้น ซึ่งการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกวิธีการจัดตั้งโรงหวย และบ่อนเบี้ย ก็ถือว่าเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมแล้วในยุคสมัยนั้น เพื่อเป็นการเร่งฟื้นฟูฐานะการเงินการคลังของรัฐ ประกอบกับราษฎรเองก็นิยมเล่นการพนันกันโดยทั่วไปเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว อีกทั้งพระองค์มิได้ทรงมุ่งหวังที่จะได้รับค่าอากรบ่อนเบี้ยเป็นรายได้หลักของพระคลังหลวง หากแต่พระองค์ทรงมุ่งเน้นรายได้หลักจากการค้าขายกับต่างประเทศ และการค้าทางเรือกับประเทศจีนมากกว่า ดังจะเห็นได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมให้มีการต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่ง ซึ่งส่งผลให้การเดินเรือในเชิงพาณิชย์ของราชอาณาจักรสยามเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก สามารถเดินเรือแข่งขันกับพ่อค้าต่างประเทศได้ เนื่องจากเรือสินค้าของราชอาณาจักรนั้นไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า หรือค่าธรรมเนียมปากเรือใดๆ ดังเช่นเรือของพ่อค้าต่างชาติที่ต้องจ่ายชำระ ทำให้รัฐบาลมีกำไรจากการแต่งเรือสินค้าหลวงไปค้าขายกับต่างประเทศได้รับผลกำไรเป็นเงินจำนวนมหาศาล ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ในรัชสมัยของพระองค์กลายเป็นยุคทองของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นในการค้าขายกับต่างประเทศ โดยผลกำไรเหล่านั้นเมื่อนำมารวมกับเงินภาษีอากรต่างๆ ที่เก็บได้จากพ่อค้าและราษฎร จึงสร้างความมั่งคั่งเพิ่มพูนให้แก่ท้องพระคลังในขณะนั้นได้เป็นอย่างมาก และมีเงินท้องพระคลังคงเหลือมากพอที่จะนำมาใช้ในการบริหารราชกิจ ตลอดจนทำนุบำรุงประเทศ และพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น และจะเห็นได้ว่าในภายหลังพระองค์ยังทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งเรียกกันว่าเงินถุงแดง เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการบริหารราชการงานแผ่นดินขององค์พระมหากษัตริย์ไทยในรัชกาลต่อๆ ไป

      นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริให้เผาโรงฝิ่นภายที่มีอยู่ทั้งหมดภายในราชอาณาจักรสยาม และประกาศห้ามมิให้มีการนำฝิ่นเข้ามาค้าขายภายในราชอาณาจักร ตลอดจนห้ามมิให้มีการกักเก็บฝิ่นไว้ภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นกฎข้อห้ามอันเคร่งครัดที่ได้กำหนดไว้ในสนธิสัญญาทางการค้ากับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกาก็ตาม ล้วนแต่ห้ามมิให้มีการค้าขายฝิ่นด้วยกันทั้งสิ้น เพราะพระองค์ไม่ต้องการให้ราษฎรต้องติดยาเสพติด เนื่องจากสิ่งเสพติดล้วนแต่เป็นภัยอันตรายทั้งต่อตัวผู้เสพเอง และต่อประเทศชาติ

      อย่างไรก็ตามพระองค์ยังทรงให้กำลังใจแก่ราษฎร ให้ทุกคนมีความอดทน ขยันหมั่นเพียร อย่ายอมแพ้พ่ายต่ออุปสรรคภัยธรรมชาติ เพราะหากคนเรามีความตั้งใจจริง ก็จะสามารถฝ่าฝันอุปสรรคนั้นๆ ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือใหญ่ก็ตาม และสุดท้ายก็จะได้เห็นผลสำเร็จจากความเพียรนั้น ดังเช่น ต้นกล้าจะกลายเป็นรวงข้าวสีเหลืองอร่ามเต้นระบำพลิ้วไหวไปตามแรงลมหยอกล้อกับแสงอาทิตย์ที่สาดส่องจนเห็นเป็นประกายทองคำสวยได้ ก็ต่อเมื่อเจ้าของนาทุกคนหมั่นดูแลเอาใจใส่ผืนนาของตนไว้ด้วยความเพียร ซึ่งเป็นภาพที่เจ้าของนาทุกคนมุ่งหวังอยากจะได้เห็น และทุกคนสามารถยิ้มให้กับผลงานซึ่งเกิดจากความเพียร ภายใต้ร่มพระบารมีซึ่งเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อย่างเต็มภาคภูมิ  

      พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันพุธที่ ๒ เมษายน ปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ สิริพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา และทรงครองพิภพมไหศวรรยาธิปัตย์ เถลิงถวัลยราชสมบัติ รวมเป็นระยะเวลา ๒๗ ปี

      ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลไทยได้มีการสร้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ เนื่องในวโรกาสครบรอบปีพระราชสมภพ ๒๐๐ ปี ซึ่งลานพลับพลาดังกล่าวตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง

      ด้วยในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ นี้ มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับมูลนิธิคลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดสัมมนา และประกวดสารคดีเรื่อง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า : พระบิดาแห่งการค้าไทย ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอมีส่วนร่วมในการสดุดีเฉลิมพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อศึกษา และเรียนรู้ถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์สืบต่อไป และข้าพเจ้าขอถวายกาพย์ห่อโคลงเฉลิมพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาธรรมของพระองค์

                                  พระนั่งเกล้าองค์เทวา                                     พระบิดาพาณิชย์ไทย

                                  พระเกียรติก้องเกริกไกร                                ใต้ร่มไทยพระบารมี

                                  พระนั่งเกล้านรนาถ                                        เกรียงไกร

                                  พระบิดาพาณิชย์ไทย                                      กราบเกล้า

                                  พระเกียรติก้องเกริกไกล                                ทั่วหล้า

                                  พระบารมีนั่งเกล้า                                           เลิศล้ำ แดนสยามฯ

       

       +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

           

      อ้างอิง

              ๑.   อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์, กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรมพิเศษ, ๒๕๔๕

       

      บรรณานุกรม

      -          Chinese Society in Thailand and Analytical History, G. William Skinner, New York : Cornell University

      -          Crawfurd Papers, John Crawfurd

      -          Journal of an Embassy to the Courts of Siam and Cochin China, John Crawfurd, Oxford University

      -          การเพาะปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙, ม.ล. วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์

      -          ข้าวของประเทศสยาม, ม.ร.ว. สุวพันธ์ สนิทวงศ์

      -          พระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถานในพระบรมมหาราชวัง, ม.ร.ว. แสงสูรย์ ลดาวัลย์

      -          ราชอาณาจักรสยาม, ลาลูแบร์

      -          เล่าเรื่องกรุงสยาม, ฌอง แบปติสต์ ปาลเลอกัวซ์

      -          สังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ : พ.ศ. ๒๓๒๕ ๒๔๑๖, ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์

      -          หนังสือที่ระลึกในการเปิดอาคารกรมสรรพากร วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๐

       +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

      พอดีดอกแก้วการะบุหนิงส่งเข้าประกวดค่ะ แต่ปรากฎว่าไม่ได้รับรางวัลใดๆ เลยเอามาแบ่งปันกันอ่านในเว็บค่ะ และถ้าน้องๆ คนไหนสนใจก็เชิญร่วมงานสัมมนาได้ที่ "หอประชุมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย" วันที่ 10 พ.ย. 49 เวลา 13.30-16.30 น. ค่ะ

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×