เทนซิง นอร์เก และเอ็ดมันด์ ฮิลลารี สองผู้พิชิตยอดเขาเอเวอร์เ
สำหรับหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ประจำวันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม 2550 โดยวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ
ผู้เข้าชมรวม
1,717
ผู้เข้าชมเดือนนี้
10
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ความมุ่งมั่นและกำลังใจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มนุษย์เราก้าวเดินไปข้างหน้าและสามารถก้าวผ่านปัญหาตลอดจนอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ แม้ว่าบางครั้งอุปสรรคที่ได้พบเจอจะเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม
ผมขอนำเรื่องราวของนักเดินทางสองคนที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ คงเป็นที่ทราบกันดีว่ายอดเขาเอเวอเรสท์นั้นได้รับการขนานนามว่าเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกและตั้งตระหง่านท้าทายความสามารถมนุษย์มานานแสนนาน จนปัจจุบันมีผู้ที่เดินทางปีนขึ้นไปบนยอดเขานี้แล้วกว่า 3,000 คน และเสียชีวิตไปกว่า 200 คน บางคนกลายเป็นคนพิการไปก็มี
เมื่อสงกรานต์ปี 2547 ที่ผ่านมาผมเดินทางไปทิเบต โดยนั่งเริ่มนั่งรถจากมณฑลเสฉวน ไปยังเมืองลาซา กินเวลาทั้งหมด 11 วันด้วยระยะทางกว่า 3,100 กิโลเมตร ซึ่งในช่วง 2 วันแรกนั้นรถก็เริ่มไต่ระดับความสูงที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไปถึง 5,000 เมตรแล้ว มิหนำซ้ำอุณหภูมิขณะนั้นยังต่ำเพียงแค่ -8 องศาเซลเซียส ครั้งนั้นผมได้พบกับพระทิเบตที่กำลังเดินทางอยู่ทำให้ผมรู้สึกแปลกใจมาก เพราะภายใต้อุณหภูมิ -8 องศา ผมต้องใส่เสื้อผ้าหลายชั้นเพื่อป้องกันความหนาวเย็นแต่ก็ยังหนาวเข้ากระดูก แต่พระทิเบตที่ผมพบทั้ง 2 รูป กลับนุ่งจีวรเพียงไม่กี่ชิ้นและท่านไม่สะทกสะท้านกับความหนาวเย็นเลย
ในระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 5,000 เมตรอากาศรอบ ๆ ตัวเบาบางมาก ทำให้ผมรู้สึกหายใจไม่สะดวกและยังทำให้เหนื่อยง่าย ที่สำคัญที่สุดตลอดระยะเวลากว่า 3,100 กิโลเมตรที่เดินทางไปเมืองลาซา เส้นเลือดฝอยในจมูกของผมแตก และจับตัวเป็นก้อนเลือด ทำให้ผมหายใจไม่สะดวก คืนหนึ่งเวลาตี 2 ขณะที่ผมนอนอยู่ผมรู้สึกหายใจไม่ออกอย่างรุนแรงจนต้องโทรศัพท์ไปให้โรงแรมหาถังอ๊อกซิเจนให้ แต่โรงแรมที่ผมพักในตอนนั้นเป็นโรงแรมที่ให้บริการแค่ที่พักเท่านั้นไม่บริการอื่น ๆ เลย ต้องเรียกว่าผมรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิดทีเดียว
จะว่าไปแล้วในระดับความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 5,000 เมตร ผมก็เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดแล้ว แต่ในขณะที่เอเวอเรสต์ คือยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก มีความสูง 8,848 เมตร จากระดับน้ำทะเล มิหนำซ้ำ ที่ระดับความสูง 5,500-7,300 เมตร การปรับตัวของร่างกายมนุษย์แทบจะเป็นไปได้ไม่ง่ายเลย และที่ระดับความสูงกว่า 7,300 เมตรร่างกายมนุษย์จะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้อีกต่อไป ถือเป็นอุปสรรคที่นักไต่เขาต้องการพิชิตยอดเขานี้ที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก
ยอดเขาเอเวอเรสต์ เกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียนและแผ่นเปลือกโลกอินเดีย และในแต่ละปียอดเขาเอเวอเรสต์จะสูงขึ้นทุกๆ ปีเนื่องจากการดันตัวของเปลือกโลกที่ชนกัน ซึ่งการเคลื่อนที่ของเปลือกทวีปทำให้ยอดเขาเอเวอเรสต์นั้นมีความสูงเพิ่มขึ้น 5-6 มิลลิเมตร/ปี
ชาวเนปาลเรียกยอดเขาแห่งนี้ว่า “สการ์มาถา” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “หน้าผากแห่งท้องฟ้า” ส่วนชาวธิเบตขนานนามยอดเขานี้ว่า “โชโมลังมา” แปลว่า “มารดาแห่งสวรรค์” สำหรับชาวเนปาลแล้วยอดเขาแห่งนี้คือยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ ส่วนชื่อภาษาอังกฤษว่า “เอเวอเรสต์” นั้น ตั้งโดยเซอร์แอนดูรว์ สก็อตต์ วอ (Sir Andrew Scott Waugh) นักสำรวจชาวอังกฤษ ที่ขนานนามยอดเขาแห่งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่เซอร์จอร์จ อีฟเรสต์ (Sir George Everest) ผู้เป็นนายพลนักสำรวจซึ่งมาปฏิบัติงานในอินเดียราวช่วงปลายศตวรรษที่ 19 รุ่นก่อนหน้าแอนดูรว์ สก็อตต์ วอ
คนส่วนใหญ่ที่ปีนขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์มักจะเสียชีวิตในช่วงขาลงเพราะไม่มีพลังงานเหลือพอที่จะมีชีวิตรอด ซึ่งเมื่อขึ้นไปแตะยอดเขาเอเวอเรสต์แล้วต้องมีเหลือพลังงานสำหรับขาลง 25% โดยวันที่อยู่บนยอดเขาร่างกายของนักปีนเขาอาจเผาพลาญพลังงานถึง 12,000-15,000 แคลอรี่ ซึ่งมากกว่าในวันปกติถึง 10 เท่า นักผจญภัยไต่เขาต่างถิ่นต้องอาศัยชนพื้นเมืองคือชาวเชอร์ปาที่ชำนาญพื้นที่เป็นผู้นำทาง เพื่อนร่วมเดินทาง และเป็นลูกหาบ ความสำเร็จของนักปีนเขาจากทั่วโลกต่างมีชาวเชอร์ปาอยู่เบื้องหลังทุกครั้ง แม้ในกระทั่งการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์อย่างเป็นทางการครั้งแรกก็ตาม
และจะว่าไปแล้วความพยายามที่จะปีนเขาเอเวอเรสต์ที่ถูกบันทึกไว้เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเดิมด้วยคณะเดินทางจากอังกฤษคณะแรกได้เดินทางมาสำรวจเส้นทางการข้ามธารน้ำแข็งในปี ค.ศ. 1921 ต่อมาในปี ค.ศ. 1922 นักไต่เขาชาวเชอร์ปา 7 คนพยายามปีนยอดเขาเอเวอเรสต์แต่ต้องเสียชีวิตจากหิมะถล่ม ในระยะแรก การเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาใช้เส้นทางด้านเหนือจากดินแดนทิเบต แต่เส้นทางนี้ได้ปิดตัวลงในปี ค.ศ. 1950 หลังจากประเทศจีนเข้ายึดครองทิเบต ในปี ค.ศ. 1951 คณะเดินทางจากอังกฤษจึงเข้าสู่ประเทศเนปาลเพื่อสำรวจเส้นทางปีนเขาเส้นใหม่ที่อยู่ด้านใต้ของเทือกเขา
ในที่สุด เมื่อ ค.ศ. 1953 ยอดเขาเอเวอเรสต์ก็ถูกพิชิตโดยเอ็ดมันด์ ฮิลลารี ชาวนิวซีแลนด์ และเทนซิง นอร์เก ชาวเนปาล ณ วันที่ 29 พฤษภาคม เมื่อเวลา 11.30 ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นคณะเดินทางสำรวจครั้งที่ 9 ของพวกอังกฤษ นำทีมโดยจอห์น ฮันท์
ความสำเร็จของเอ็ดมันด์ ฮิลลารี ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าปราศจากบุคคลผู้นี้ เทนซิง นอร์เก นักปีนเขาชาวเนปาลเผ่าเชอร์ปา เขาเกิดในครอบครัวชาวนา ทางเหนือของประเทศเนปาล ที่ความสูง 3,300 เมตรจากน้ำทะเล และอยู่ระหว่างทางไปสู่ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก
ประวัติเทนซิง
เทนซิงเกิดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1914 ซึ่งไม่มีใครทราบวันเกิดที่แน่นอน ทราบแต่ว่าอยู่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม แต่หลังจากที่เขาสามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จในวันที่ 29 พฤษภาคม เขาก็ได้ตัดสินใจที่จะใช้วันแห่งความสำเร็จนี้ฉลองวันเกิดเรื่อยมา
ชื่อเรียกดั้งเดิมของเขาคือ “นัมกยัล วังดี” แต่เมื่อตอนเป็นเด็กเขาก็เปลี่ยนชื่อใหม่คือ เทนซิง นอร์เก แปลว่า “สาวกในศาสนาผู้มั่งคั่งและโชคดี” พ่อของเทนซิงมีชื่อว่ากาง ลา มิงมา เป็นเจ้าของฝูงจามจรี ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี ค.ศ. 1949 ส่วนแม่ของเขามีชื่อว่าด็อกโม คินซอม ซึ่งยังมีชีวิตอยู่เห็นวันที่เทนซิงปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ เทนซิงเป็นลูกคนที่ 11 ในบรรดาลูกๆ ทั้งหมด 13 คน ซึ่งส่วนใหญ่ตายไปตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก
เทนซิง นอร์เก ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของลูกหาบในทีมของทางการอังกฤษที่พยายามจะปีนสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์จากด้านทิศเหนือของทิเบตในทศวรรษที่ 1930 เป็นเวลา 3 ครั้ง และเขายังมีส่วนร่วมในกาารปีนเขาลูกอื่นๆ ในเขตอนุทวีปอินเดีย
ในปี ค.ศ. 1947 เทนซิง นอร์เก เข้าร่วมในทีมที่พยายามปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องยุติลงเมื่อเจอกับพายุหนัก ในปี ค.ศ. 1952 เทนซิงร่วมปีนเขากับคณะเดินทางจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พยายามขึ้นสู่ยอดเขาจากทางด้านใต้ของประเทศเนปาล โดยอาศัยข้อมูลของคณะเดินทางจากอังกฤษ กลุ่มนี้เกือบพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ แต่ต้องถอยกลับเสียก่อนขณะที่เหลือระยะทางอีก 200 เมตรเท่านั้น
ในปี ค.ศ. 1953 คณะเดินทางจากอังกฤษนำทีมโดย จอห์น ฮันต์ได้กลับมาที่ประเทศเนปาล และพยายามขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์อีกครั้ง จอห์น ฮันต์ เลือกนักปีนเขาอีกคู่หนึ่งคือเอ็ดมันด์ ฮิลลารี จากนิวซีแลนด์ และเทนซิง นอร์เก ซึ่งการปีนเขาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ของเทนซิง นักปีนเขาคู่นี้เองที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ลงได้เป็นครั้งแรก เมื่อเวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 ที่ยอดเขาทั้งสองได้หยุดพักถ่ายรูป รวมทั้งฝังลูกอมและไม้กางเขนเล็กๆ ไว้ในหิมะก่อนจะเดินทางกลับ
เมื่อกลับลงมาเทนซิงได้รับการสรรเสริญอย่างมากในประเทศอินเดียและเนปาล และบางคนก็เคารพบูชาเทนซิงเนื่องจากเชื่อว่าเขาเป็นพระพุทธเจ้าและพระศิวะกลับชาติมาเกิด เทนซิงได้รับเหรียญ George Medal จากรัฐบาลอังกฤษ มอบให้เพื่อความกล้าหาญในการปีนเขาครั้งนี้
หลังจากที่เทนซิงพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้แล้ว เขาและลูกชายได้ตั้งบริษัทเทนซิงนอร์เกแอดเวนเจอร์ขึ้น เป็นบริษัทจัดปีนเขาในเทือกเขาหิมาลัย ในปี ค.ศ. 2003 บริษัทนี้บริหารงานโดยลูกชายของเขา จัมลิง เทนซิง นอร์เก ซึ่งสามารถพิชิตยอดเขาตามผู้เป็นพ่อได้ในปี ค.ศ. 1996
เทนซิง นอร์เก เสียชีวิตด้วยโรคหลอดลมเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1986 ที่เมืองดาร์จีลิง เบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย
ประวัติเอ็ดมันด์
เอ็ดมันด์ ฮิลลารี เป็นทั้งนักปีนเขาและนักสำรวจชาวนิวซีแลนด์ ที่ร่วมเดินทางไต่เขาไปในคณะของชาวอังฤษนำโดยจอห์น ฮันท์ เพื่อพิชิตยอดเขาเอเวเรสต์ ทั้งเขาและเทนซิง นอร์เก ชาวเชอร์ปา ได้ร่วมกันไปถึงจุดที่สูงที่สุดของโลกได้เป็นกลุ่มแรก เมื่อเดินทางกลับมาอย่างปลอดภัยข่าวความสำเร็จของคณะเดินทางไปถึงลอนดอน ในเช้าวันที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่สองขึ้นครองราชย์ และหลังจากที่เอ็ดมันด์ ฮิลลารี และ จอห์น ฮันต์ กลับมายังกาฐมัณฑุ ทั้งสองก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน เพื่อเป็นเกียรติแก่ความพยายามและความสำเร็จในครั้งนี้ ปัจจุบันเอ็ดมันด์ ฮิลลารี ยังมีชีวิตอยู่ และยังมีบทบาทสำคัญในการอุทิศตนเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
เอ็ดมันด์ เพอร์ซิวัล ฮิลลารี เป็นลูกของเพอร์ซิวัล ออกัสตัส ฮิลลาและเกอทรูด คลาร์ก เขาเกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1919 ในเมืองทัวเกาทางตอนใต้ของเมืองโอ๊กแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ปู่ย่าของเขาอพยพมาจากยอร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ
ฮิลลารีเรียนชั้นประถมศึกษาที่โอ๊กแลนด์ ซึ่งเขาต้องใช้เวลาเดินทางไปโรงเรียนประมาณ 2 ชั่วโมง และช่วงเดินทางนี้เขาจะใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือ ตอนเด็กๆ เขาเป็นเด็กที่ตัวเล็กกว่าเพื่อนๆ ในชั้น และยังเป็นเด็กขี้อาย ดังนั้นเขาจึงเก็บตัวกับหนังสือและฝันถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยการผจญภัย เมื่อตอนอายุ 16 ปี ความสนใจในการปีนเขาได้ถูกจุดประกายขึ้นเมื่อทางโรงเรียนได้จัดการทัศนศึกษาไปที่ภูเขาไฟรัวเปฮู และเขาก็พบว่าตัวเองนั้นแข็งแรงและอดทนกว่าใครเพื่อนระหว่างการปีนเขา ในปี ค.ศ. 1939 เขาก็สามารถปีนเขาครั้งสำคัญครั้งแรกในชีวิตได้ เมื่อสามารถปีนขึ้นไปสู่ยอดเขาโอวิเวียร์ที่อยู่ในเทือกเขาแอลป์ตอนใต้ ในเกาะใต้ ประเทศนิวซีแลนด์ ได้เป็นผลสำเร็จ
ในปี ค.ศ. 1943 ฮิลลารีเข้าร่วมหน่วยกองทัพอากาศนิวซีแลนด์ โดยทำหน้าที่เป็นนักบิน ขับเรือบินคาตาลิน่า และในปี ค.ศ. 1945 เขาถูกส่งตัวไปที่ฟิจิและหมู่เกาะโซโลมอน แต่ต้องประสบอุบัติเหตุถูกไฟไหม้ ทำให้เขาถูกส่งตัวกลับประเทศนิวซีแลนด์
ฮิลลารีเป็นส่วนหนึ่งของคณะเดินทางสำรวจของสหราชอาณาจักรเพื่อสำรวจภูเขาเอเวอเรสต์ในปี ค.ศ. 1951ก่อนที่จะเข้าร่วมทีมที่ประสบความสำเร็จในการปีนสู่ยอดเขาในปี ค.ศ. 1953
การเดินทางเริ่มตั้งต้นที่แคมป์ที่ฐานหรือเบสแคมป์ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1953 โดยคณะนี้เดินทางอย่างช้าๆ และหยุดที่แคมป์สุดท้ายซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเอเวอเรสต์กับโลท์เซซึ่งมีชื่อว่า เซาท์โคล ซึ่งมีความสูง 7,900 เมตร หรือ 25,900 ฟุต ในวันที่ 26 พฤษภาคม ทอม บัวร์ดิลลอน และชาร์ลส์ อีวานส์พยายามปีนต่อ แต่ก็ต้องกลับมาเพราะระบบเครื่องออกซิเจนของอีวานส์ทำงานไม่ได้ คนคู่นี้ปีนไปถึงยอดเขาตอนใต้ ซึ่งเหลืออีก 100 เมตรจะถึงยอดเอเวอเรสต์ จากนั้นฮันท์จึงสั่งให้คู่ทีมของฮิลลารีและเทนซิงเดินทางไปต่อเพื่อไปสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์
หิมะและลมรั้งให้คนทั้งคู่ติดอยู่ที่เซาท์โคลเป็นเวลา 2 วันทั้งสองคนกางเตนท์ที่ความสูง 8500 เมตร หรือ 27,900 ฟุต เช้าวันต่อมารองเท้าบู๊ตของฮิลลารีมีน้ำแข็งเกาะอยู่นอกเต๊นท์ เขาใช้เวลา 2 ชั่วโมงเพื่ออุ่นรองเท้าบู๊ตให้หายแข็ง จากนั้นเขาและเทนซิงจึงเดินทางต่อเพื่อพิชิตจุดสุดท้าย และแบกของสัมภาระหนัก 30 ปอนด์ไปด้วย จุดสำคัญและยากลำบากเป็นจุดสุดท้ายสู่ยอดเขาคือหน้าผาหินสูง 40 ฟุต ซึ่งต่อมาภายหลังจะถูกเรียกว่า ฮิลลารีสเต็ป ฮิลลารีสามารถมองเห็นหนทางที่จะปีนขึ้นไประหว่างหน้าผาและน้ำแข็ง โดยที่มีเทนซิงติดตามไป เมื่อผ่านจุดนั้นได้ หนทางต่อไปก็ค่อนข้างง่ายขึ้น พวกเขาเดินทางไปถึงยอดเขาเมื่อเวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น คนที่ปักธงบนยอดเขาคือเทนซิง นอร์เก ข่าวความสำเร็จนี้กระจายไปทั่วในวันที่มีพิธีราชาพิเษกของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรและเครือจักรภพอังกฤษ กลุ่มผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์นี้ต่างก็รู้สึกประหลาดใจเมื่อนานาชาติต่างสรรเสริญเยินยอความสำเร็จนี้เมื่อพวกเขากลับไปถึงกาฐมัณฑุ
ฮิลลารีได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสหราชอาณาจักรชั้นอัศวิน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1953 และเป็นชาวนิวซีแลนด์เพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ปรากฏอยู่ในธนบัตร ถนนหลายสาย โรงเรียน หรือองกรณ์ต่างๆ ต่างตั้งชื่อตามเขา
หลังพิชิตเอเวอเรสต์ฮิลลารีก็มีงานอื่นๆ ที่ต้องพิชิตต่อ ในฐานะที่เป็นนักสำรวจตัวยง ฮิลลารีปีนยอดเขาอีก10 ยอดในเทือกเขาหิมาลัยในการมาเยือนครั้งต่อๆ ไปเมื่อ ค.ศ. 1956, 1960-61 และ 1963-65 และเขายังเดินทางไปถึงขั้วโลกใต้ ซึ่งครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางสำรวจข้ามทวีปแอนตาร์กติกของเครือจักรภพอังกฤษ โดยมีเขานำทีมของนิวซีแลนด์ ในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1958
และในปี ค.ศ. 1985 ฮิลลารีร่วมเดินทางกับนีล อาร์มสตรอง ชายคนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ ร่วมเดินทางไปกับเครื่องบินสกีลำเล็กๆ สองเครื่องยนต์ บินผ่านมหาสมุทรอาร์คติก และร่อนลงที่ขั้วโลกเหนือ เพราะฉะนั้นเขา จึงเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถไปเยือนขั้วโลกเหนือและใต้และรวมทั้งยอดเขาเอเวอเรสต์ได้เป็นผลสำเร็จคนแรกของโลก และในปีเดียวกันนั้นเอง ฮิลลารีได้รับการมอบหมายให้เป็นข้าหลวงใหญ่นิวซีแลนด์ประจำ ณ ประเทศอินเดีย เนปาล และบังคลาเทศ และใช้เวลาสี่ปีครึ่งอยู่ที่เมืองนิวเดลี
ฮิลลารีอุทิศชีวิตของเขาส่วนใหญ่ช่วยเหลือชาวเชอร์ปาในเนปาลผ่านกองทุนหิมาลัย ที่เขาก่อตั้งขึ้นมา โดยสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลหลายแห่งในพื้นที่เขตหิมาลัยที่ห่างไกลและกันดาร และเขายังเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิอเมริกันหิมาลัย องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐฯ เพื่อช่วยปรับปรุงระบบนิเวศน์และชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูเขาหิมาลัย
ในงานที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการพิชิตเอเวอเรสต์ครั้งแรกของเซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี และเทนซิง นอร์เก ที่ประเทศเนปาล น่าเสียดายที่ฮิลลารีเดินทางไปร่วมพิธีคนเดียวโดยปราศจากเทนซิงที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็มีครอบครัวของเทนซิงเดินทางไปร่วมพิธีไม่ว่าบุตรชายและหลานชาย ส่วนครอบครัวของฮิลลารีนั้นนอกจากคุณปู่ฮิลลารี่และนางจูน ฮิลลารี่ ภรรยาแล้ว ยังมีสมาชิกครอบครัวและญาติมิตรของฮิลลารีเดินทางไปร่วมพิธีหลายคน
ปัจจุบันมีสมาชิก 2 คนในครอบครัวที่ประสบความสำเร็จพิชิตเอเวอเรสต์ได้คือตัวฮิลลารีและปีเตอร์ ฮิลลารี บุตรชายฮิลลารี ในครั้งนั้นเมื่อพิชิตยอดเอเวอเรสต์ได้แล้วเอ็ดมันด์ ฮิลลารี ถามรัฐบาลเนปาลว่าต้องการช่วยเหลืออะไร ซึ่งความช่วยเหลือที่รัฐบาลต้องการคือให้สร้างโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนหลังแรกคือทั้งหลังทำจากอะลูมิเนียมที่ส่งมาจากนิวซีแลนด์ ฮิลลารีจึงได้ตัดสินใจทำในสิ่งนั้นและทำอยู่ถึงทุกวันนี้ด้วยการหาเงินทุน ปัจจุบันเอ็ดมันด์ ฮิลลารี ซึ่งอายุก็มากแล้วถึง 80 กว่าปี แต่ยังทุ่มเทเวลาให้กับการหาเงินทุนสำหรับกองทุนหิมาลัยที่มีหน้าที่ดูแลทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลช่วยเหลือชาวเชอร์ปา
ปัจจุบันรัฐบาลเนปาลมีรายได้อย่างงามจากการเก็บค่าอนุญาตให้ปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยเก็บเงินต่อหัวไม่ต่ำกว่า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัญหาที่ตามมาคือขยะจากการไต่เขาที่ถูกทิ้งไว้เกลื่อนกลาด ดังนั้น รัฐบาลเนปาลได้นำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการเก็บเงินค่าไต่เขามาว่าจ้างชาวเนปาลที่ทำหน้าที่เป็นลูกหาบให้นำขยะอย่าง อุปกรณ์ไต่เขาที่ชำรุด เศษอาหาร หน้ากากออกซิเจน ถังออกซิเจนที่ใช้แล้ว บันไดอะลูมิเนียม เชือก และแม้กระทั่งศพไปทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง
เมื่อจบฤดูกาลปีนเขาในปี ค.ศ. 2006 มีผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้แล้วทั้งหมด 3,050 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการปีนเขาทั้งหมด 203 คน แม้ยอดเขาเอเวอเรสต์จะถูกพิชิตลงได้อย่างเป็นทางการ แต่มนต์ขลังของยอดเขาแห่งนี้ก็ใช่ว่าจะหมดไป นักปีนเขาทั้งหลายทั่วทุกสารทิศจากทุกมุมโลกต่างก็อยากพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ให้ได้ซักครั้งในชีวิต
ผลงานอื่นๆ ของ delilah_doll ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ delilah_doll
ความคิดเห็น