“อั้งลี่ผู้กำกับชาวเอเชียคนแรกสู่ฮอลลีวู้ด” - “อั้งลี่ผู้กำกับชาวเอเชียคนแรกสู่ฮอลลีวู้ด” นิยาย “อั้งลี่ผู้กำกับชาวเอเชียคนแรกสู่ฮอลลีวู้ด” : Dek-D.com - Writer

    “อั้งลี่ผู้กำกับชาวเอเชียคนแรกสู่ฮอลลีวู้ด”

    สำหรับหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ประจำวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2550 โดยวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ

    ผู้เข้าชมรวม

    1,432

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    4

    ผู้เข้าชมรวม


    1.43K

    ความคิดเห็น


    1

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  29 พ.ค. 51 / 21:04 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      ผมคิดว่าพวกเราชาวเอเชียนั้นมีความสามารถไม่ด้อยหรือน้อยไปกว่าพวกฝรั่งเลย คราวนี้ผมมีตัวอย่างชีวิตของบุคคลที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลกซึ่งเป็นชาวจีนที่นับเป็นความภาคภูมิใจของคนจีนและของเอเชีย เขาสามารถยืนหยัดอยู่ในเวทีฮอลลีวู้ดได้อย่างสง่าผ่าเผยถือว่าเขาเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกอย่างฮอลลีวู้ดและเป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก ซึ่งถือเป็นการเปิดมิติใหม่ในวงการภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา  เขาได้รับรางวัลออสการ์ถึงสองครั้ง ครั้งแรกภาพยนตร์ที่เขากำกับเป็นเกี่ยวกับหนังจีนกำลังภายใน คือเรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon หรือ พยัคฆ์ระห่ำมังกรผยองโลก ได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม และครั้งล่าสุดคือเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดก็ว่าได้ คือเขาได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่อง Brokeback Mountain หรือที่เข้ามาฉายในเมืองไทยภายใต้ชื่อว่า หุบเขาเร้นลับ หนังรักฉบับคาวบอยของชาวรักร่วมเพศที่สร้างความฮือฮากันทั้งฮอลลีวู้ด และเขายังผงาดขึ้นคว้ารางวัลใหญ่ระดับโลกอีกรางวัลคือ "ลูกโลกทองคำ" สร้างประวัติศาสตร์คนเอเชียคนแรกที่ทำได้

      เขาผู้นี้คือ อั้งลี่ ผู้กำกับชื่อดังที่เราต่างรู้จักหรือผ่านตาผลงานของเขากันมาแล้ว

       

      ชีวิตการเริ่มต้นของอั้งลี่ทำให้ผมต้องนึกย้อนไปเมื่อ 35 ปีที่แล้วช่วงที่ผมเรียนอยู่ที่ไต้หวัน ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนนักศึกษาต้องไปฝึกงาน ผมก็ถูกส่งไปที่เมืองผิงตง ซึ่งเป็นเมืองตอนใต้ของไต้หวัน แน่นอนว่าผมย่อมได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ อันน่าตื่นตาตื่นใจหลายประการ เช่นการดื่มชาที่ทำมาจากลูกฟัก รสชาติหวานอร่อย เย็นชื่นใจ  ดื่มแล้วช่วยคลายร้อนได้ดี ได้เห็นวิถีชีวิตของ ชาวบ้านละแวกนั้นที่ส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกร กันอย่างขยันขันแข็ง  เมืองผิงตงจึงกลายมาเป็นแหล่งผลิตผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ที่สำคัญของไต้หวัน  นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาไหลที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ซึ่งส่งออกไปที่ญี่ปุ่นเป็นหลัก  เป็นครั้งแรกที่ผมลองทานข้าวหน้าปลาไหลตอนแรก ๆ ก็กล้า ๆ กลัว ๆ แต่เมื่อลองไปแล้วติดใจทีเดียว ความประทับใจอีกประการหนึ่งคือชาวเมืองผิงตงมักเลือกทานมะเขือเทศเป็นผลไม้หลังอาหารทุกมื้อ แต่มะเขือเทศของเขานั้นมีขนาดใหญ่มากและฉ่ำน้ำ เรียกได้ว่าแตกต่างจากมะเขือเทศของบ้านเราโดยสิ้นเชิง

       

      จนเมื่อปีที่แล้วผมได้เห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีผู้กำกับชาวไต้หวันที่มาจากเมืองผิงตงเมืองเกษตรกรรมเล็กๆ  ได้รับรางวัลระดับโลกในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่มีอายุกว่า 100 ปี   ทำให้ผมอดนึกย้อนไปถึงอดีตของผมที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองนี้ และรู้สึกภูมิใจเล็ก ๆ ว่า เมืองที่ผมพำนักก็มีคนที่มีฝีมือเก่งกาจและมีชื่อเสียงระดับโลกอยู่ด้วย และยิ่งทำให้ผมภูมิใจแทนชาวเมืองนี้ แม้ว่าผมไม่เคยรู้จักตัวจริงของอั้งลี่ แต่คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผมจะรู้สึกคุ้นเคยกับเขา เพราะด้วยความที่ผมผูกพันกับประเทศไต้หวันเป็นอย่างมาก เพราะในช่วงที่ผมเรียนที่ไต้หวันนั้น ได้มีโอกาสเข้าฝึกในกองกำลังทหารของไต้หวัน เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่ไต้หวันมีสงคราม ฉะนั้นผู้ชายทุกคนจะต้องเข้ารับการฝึกเพื่อเตรียมให้พร้อมรบ ส่วนหนึ่งของการฝึกคือการเดินสวนสนามและการร้องเพลงซึ่งยำจำฝังใจผมจนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะทุกครั้งที่ผมได้ร่วมร้องเพลงกับกลุ่มคนมาก ๆ หลายต่อหลายครั้งที่ผมตื้นตันจนน้ำตาซึมเลยทีเดียว จึงเป็นเรื่องธรรมดามากที่พอเวลาเห็นคนไต้หวันที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกผมจึงรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก

       

      อั้งลี่ ทำสิ่งที่เขาชอบมาตั้งแต่เด็ก และเผยแววอัจฉริยะทางด้านภาพยนตร์ของเขาออกมา แม้ว่าเขาจะถูกเลี้ยงดูมาอย่างเคร่งครัดตามขนบธรรมเนียมประเพณีของจีน แต่สิ่งที่เขาฉายภาพและสะท้อนออกมาผ่านภาพยนตร์ของเขาส่วนใหญ่กลับเป็นภาพของสังคมตะวันตก และเขาเองก็เป็นคนเอเชียคนแรกที่ผลิตภาพยนตร์ออกมาให้คนทั้งโลกได้ดู โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าหากใครก็ตามได้ค้นพบตัวเองอย่างถูกต้อง และนำไปสู่การกระทำอย่างแม่นยำ ก็จะสามารถนำพาตนเองไปสู่จุดมุ่งหมายได้ และโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในระดับโลกและสร้างความร่ำรวยก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

       

      ประวัติ

      อั้งลี่ หรือลี่อัน เกิดที่เมืองผิงตงของไต้หวัน เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 1954 บรรพบุรุษเคยเป็นนายอำเภอในยุคที่ก๊กมินตั๋งปกครองแผ่นดินใหญ่ พ่อของเขาเป็นอาจารย์ใหญ่และครูฝ่ายปกครองในโรงเรียนมัธยมที่ไท่นัน พ่อของเขาจึงอบรมสั่งสอนลูกอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด ในขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีจีนดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งอิทธิพลต่อผลงานภาพยนตร์ของอั้งลี่ในเวลาต่อมา

       

      ก่อนหน้าที่พ่อของอั้งลี่จะย้ายมาตั้งรกรากอยู่เกาะไต้หวันเขาเคยอยู่ที่เมืองจีนแผ่นดินใหญ่ แต่พ่อของอั้งลี่ต้องอพยพหนีออกมาในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในช่วงปี 1949 นับเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ปู่ย่าของอั้งลี่ถูกประหารชีวิต พ่อของเขาจึงหนีมาอยู่ที่ไต้หวัน พ่อของอั้งลี่อันมีความผูกพันกับเมืองจีนมาก และเขียนหนังสือวิจารณ์ก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนไว้อย่างรุนเเรงว่าไม่ร่วมมือกันสร้างชาติ หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ที่ไต้หวันก็ไม่ได้ ที่เเผ่นดินใหญ่ก็ไม่ได้ ต้องไปตีพิมพ์ที่ฮ่องกง แต่ไม่ว่าพ่อของอั้งลี่จะมีอาชีพเช่นใดก็ตาม แต่สิ่งที่เขาได้รับอิทธิพลจากพ่อก็คือการเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เข้มงวดแบบจีนโบราณ และการให้ความสำคัญกับการศึกษา พ่อของอั้งลี่อบรมให้ลูกๆ ได้ศึกษาวัฒนธรรมและศิลปะในแบบจีน อย่างเช่นการคัดภาษาจีน

       

      เขาศึกษาในระดับมัธยมที่โรงเรียนมัธยมไท่นานซึ่งพ่อของเขาเป็นอาจารย์ใหญ่และถูกคาดหวังว่าจะต้องสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ แต่ปรากฏว่าเขาสอบพยายามสอบถึงสองครั้งและสอบไม่ผ่านทั้งสองครั้ง ซึ่งทำให้พ่อของเขาผิดหวังมาก แต่ในขณะเดียวกันเขากลับมีความชื่นชอบและหลงใหลในการแสดงและภาพยนตร์ซึ่งผลจากการที่เขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้นี่เองที่ทำให้เขาเข้าเรียนที่ Taiwan Academy of Art ในปี 1973 แน่นอนว่าย่อมทำให้พ่อและครอบครัวของเขาผิดหวังมาก เพราะยังหัวโบราณอยู่และการทำงานในวงการแสดงนั้นก็ถือเป็นเรื่องอกตัญญู แต่เขาก็ไม่ได้ย่อท้อดึงดันที่จะเรียนต่อให้ได้ระหว่างที่เรียนเขายังเคยคว้ารางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมจากการแข่งขันละครพูดไต้หวันด้วย อั้งลี่เรียนจบจากสถาบันแห่งนี้ในปี 1775

       

       ในปี 1978 หลังจากอั้งลี่เข้าเกณฑ์ทหารเสร็จได้ไม่นาน อั้งลี่ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านสาขาภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา  เขาใช้เวลาเพียง 2 ปีก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และการเรียนที่มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ก็ทำให้เขาได้พบรักกับภรรยา จากนั้นเขาก็เข้าศึกษาต่อปริญญาโทสาขาการสร้างภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และได้มีโอกาสทำงาน ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนอย่าง สไปค์ ลี และ เออร์เนสท์ ดิ๊กเคอร์สัน และในปี 1982 ตัวเขาได้รับทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยจากการกำกับภาพยนตร์เรื่อง I Wish I was That Dim Lake นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมจากการแข่งขันสร้างหนังของทางการไต้หวันอีกด้วย  เมื่อผลงานวิทยานิพนธ์ของเขาได้ออกฉายในงานเทศกาลของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เขาก็ได้รับการทาบทามให้เซ็นสัญญากับ William Morris Agency แต่ก็ใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาจะได้ออกฉายตามโรงภาพยนตร์ เรื่องนั้นก็คือ Pushing Hands ที่ออกฉายในปี 1992

       

      หลังจากเรียนจบ อั้งลี่ยังคงปักหลักแสวงหาความก้าวหน้าในสหรัฐอเมริกา เขาเริ่มต้นเขียนบทอย่างจริงจังแต่ก็ใช้เวลาถึง 6 ปีกว่าจะเสร็จ โดยในช่วงนี้ภรรยาของเขาซึ่งทำงานเป็นนักวิจัยเป็นฝ่ายหาเงินมาจุนเจือครอบครัว เรียกได้ว่าเขาประสบความสำเร็จและมีวันนี้ได้ก็เพราะภรรยาของเขาที่ชื่อหลินฮุ่ย  ว่ากันว่าอั้งลี่ค่อนข้างเกรงใจและกลัวภรรยามากตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันถึง 23 ปี ทั้งคู่ไม่เคยทะเลาะกันเลย เพราะเขาเลือกที่จะเงียบเสียหากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เพราะเขาคิดว่าหลายสิ่งที่ภรรยาเขาพูดมาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นเขาจึงรับฟังเหตุผลของภรรยาเสมอ

       

      อั้งลี่ในวัย 37 ปีมีผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในปี 1992 เรื่อง Pushing Hands ซึ่งเป็นหนังตลกที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างยุคสมัยและประเพณีในครอบครัวไต้หวันที่อาศัยในนิวยอร์ก ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สะท้อนอิทธิพลด้านคำสอนของพ่อและครอบครัวของเขาผ่านแผ่นฟิล์ม และถึงแม้ว่าจะไม่เคยได้ฉายในอเมริกา แต่ก็เป็นเรื่องที่ได้รับการต้อนรับอย่างดี Pushing Hands ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลม้าทองคำ สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมของไต้หวันด้วย  ผลงานเรื่องต่อมาของเขาคือ Wedding Banquet ที่ตีแผ่ความแปลกแยกยิ่งขึ้นระหว่างยุคสมัยและวัฒนธรรมผ่านชีวิตของเกย์หนุ่มชาวไต้หวันที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก แต่จำเป็นต้องแต่งงานกับผู้หญิงเพื่อเอาใจพ่อแม่ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง และยังคว้ารางวัลหมีทองคำ จากเทศกาลหนังเมืองเบอร์ลิน และรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์ซีแอทเทิล ตลอดจนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำและออสการ์มาแล้ว
             
             
      ตามมาด้วยเรื่อง Eat Drink Man Woman ในปี 1994 ซึ่งภาพยนตร์ 3 เรื่องข้างต้นนี้ ล้วนมีแก่นของเรื่องเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวและการประสานงาระหว่างความยุคใหม่และเก่า เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม รางวัลตัดต่อภาพยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในงานนิทรรศการภาพยนตร์เอเชีย แปซิฟิกครั้งที่ 39 และได้รับการจัดอันดับให้เป็นภาพยนตร์ภาษาจีนกลางยอดเยี่ยมอันดับ 1 ของไต้หวันในปี 1994 ด้วย 

       

      จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งในชีวิตของอั้งลีคือ การที่เขาเคยเป็นกุ๊กมาก่อน และเขาทำอาหารจีนได้อร่อยมาก ดังนั้น ภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ของเขาจึงผสมผสานเรื่องอาหารกับความรักและชีวิตของคนเข้าไปโดยใช้อาหารเป็นตัวนำ เช่น The Wedding Banquet ก็นำเอาเรื่องการกินโต๊ะจีนของคนจีนมาเป็นจุดดำเนินเรื่อง ซึ่งอั้งลี่ฉลาดในการนำประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาทั้งการเป็นพ่อครัวมาใช้ในหนัง หรือแม้กระทั่งสภาพครอบครัวของเขาที่สะท้อนออกมาในหนังเรื่องอื่นๆ ก็ตาม

      หลังประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ อั้งลี่เบนเข็มสู่วงการสร้างหนังฮอลลีวู้ด ในปี 1995 เขาได้กำกับภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องแรก คือเรื่อง Sense and Sensibility ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายของ เจน ออสเตน โดยมี เอมม่า ธอมสัน นักแสดงนำหญิงของเรื่องเป็นคนเขียนบท  ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงบวก และกวาดรางวัลมาแล้วมากมาย รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึงเจ็ดสาขา รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย ขณะที่ เอมม่า ธอมสัน ก็ได้รับรางวัลดัดแปลงบทประพันธ์ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลหมีทองคำจากเทศกาลหนังเมืองเบอร์ลินมานอนกอดอีกรางวัล

       

      ต่อมาในปี 1997 อั้งลี่เริ่มงานใหม่กับภาพยนตร์ซึ่งดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Ice Storm ของ ริค มูดดี้ เขาก็ได้โชว์ความสามารถด้านการ กำกับของเขา โดยได้กำกับการแสดงให้นักแสดงที่มีฝีมือหลายคน ซึ่งนำแสดงโดย เควิน ไคลน์ ซิกอร์นีย์ วีเวอร์ โจน อัลเลน และคริสติน่า ริชชี่ ความสำเร็จจากเรื่องนี้ทำให้ชื่อเสียงของอั้งลี่ยิ่งเพิ่มทวี ถึงขั้นขึ้นแท่นผู้กำกับแนวหน้าแห่งฮอลลีวู้ด อย่างไรก็ตามกับผลงานเรื่อง Ride with the Devil ของเขาความแรงเริ่มแผ่วลง เพราะเรื่อง Ride With the Devil กลับเป็นผลงานที่ไม่ค่อยสร้างชื่อให้เขาเท่าไรนัก
         
      จนกระทั่งในปี 2000 ภาพยนตร์กำลังภายในสไตล์จีนเรื่อง พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก (Crouching Tiger Hidden Dragon) ก็กู้ชื่อเสียงให้กับอั้งลี่อีกครั้ง โดยหนังเรื่องนี้ได้รับคำชมจากคอหนังจีนชาวตะวันตกอย่างมาก อีกทั้งทำรายได้ในบ็อกซ์ออฟฟิศกว่าร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ทุบสถิติรายได้หนังจีนในตลาดอเมริกันทั้งหมด และเป็นภาพยนตร์ที่ทำลายสถิติของภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง ทำให้ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึงสิบสาขา ซึ่งมากที่สุดที่ภาพยนตร์ต่างประเทศเคยได้เข้าชิง ผลก็คือหนังเรื่องนี้คว้ารางวัลออสการ์รวม 4 สาขา ได้แก่ รางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ส่วนตัวผู้กำกับเองก็คว้ารางวัลลูกโลกทองคำสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และรางวัลม้าทองคำหลายสาขาด้วยกัน  ภาพยนตร์เรื่องนี้ช่วยเปิดตลาดภาพยนตร์แฟนตาซีของจีนในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาวต่างชาติได้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาวเอเชีย  อั้งลี่ทำให้คนทั้งโลกหันมาให้ความสนใจหนังกำลังภายใน เป็นการเปิดโลกใหม่ที่ในอดีตเคยมีแต่วัฒนธรรมตะวันตกที่เผยแพร่สู่เอเชียถือเป็นการผสมผสานวิถีการเล่าเรื่องแบบทันสมัยเข้ากับความงดงามในศิลปะการต่อสู้แบบโบราณของจีนเข้าไว้อย่างลงตัว 

       

      ภาพยนต์ที่ช่วยสร้างชื่อเสียงให้เขาอีกเรื่องหนึ่งคือ 'Brokeback Mountain' ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักที่เกิดขึ้นระหว่างสองคาวบอยหนุ่ม หนังเรื่องนี้ล้วนได้รับคำวิจารณ์ในแง่ดี เพราะ Brokeback Mountain จะเป็นเสมือนการเบิกร่องนำทางให้หนังซึ่งเล่าถึงความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัล ได้รับรางวัลสิงโตทองคำ ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังเวนิสครั้งที่ 62 ที่จัดขึ้น ประเทศอิตาลี เมื่อเดือนกันยายน 2005  นอกจากนี้ 'Brokeback Mountain' ยังเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำมากที่สุด 7 สาขา และคว้ามาได้ถึง 4 สาขาใหญ่ คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่า, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง "Brokeback Mountain" ของผู้กำกับอั้งลี่ ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติของพวกหัวอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอเมริกาได้ หลังจากที่ 'Brokeback Mountain' ได้รับรางวัลมาแล้วจากหลาย ๆ สถาบัน ทำให้เส้นทางของอั้งลี่สู่รางวัลออสการ์นั้นสดใส จนเมื่อมีการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 78 ในวันที่ 6 มีนาคม 2006 ซึ่งในเวลานั้นเขาผู้กำกับมือทอง ผลการประกาศรางวัลนี้ Brokeback Mountain หรือหุบเขาเร้นรัก สามารถคว้าไปได้ 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

       

      อั้งลี่ได้รับการขนานนามว่าเป็น มังกรข้ามถิ่น ที่มีชื่อเสียงในแวดวงฮอลลีวู้ดของฝรั่ง การที่ผู้กำกับเชื้อสายไต้หวัน วัย 51 ปีประสบความสำเร็จอย่างงดงามนี้ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับกลุ่มคนบันเทิงเชื้อสายจีนทั่วโลก อั้งลี่เป็นชาวจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีประกาศรางวัลที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ และทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ถือได้ว่าอั้งลี่เป็นความภูมิใจของชาวจีนทั่วโลก หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลีได้กล่าวถึงความสำเร็จของผู้กำกับชาวไต้หวันผู้นี้ว่า "อั้งลี่คือความภูมิใจของชาวจีนทั่วโลก ชัยชนะของเขาแสดงถึงความปราดเปรื่องของวงการภาพยนตร์จีน"

       

      แม้จะได้รับการชื่นชมจากเพื่อนร่วมชนชาติมากมายแค่ไหน แต่โอกาสในการฉายของ Brokeback Mountain ในประเทศจีนนั้นนับว่าน้อยมาก เพราะไม่ได้อยู่ในรายชื่อภาพยนต์ต่างชาติที่สามารถเข้าฉายในจีนได้ ซ้ำยังได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการถูกปั้มเป็นแผ่นดีวีดีเถื่อน และผลงานก่อนหน้านี้ของอั้งลี่ ที่ไปสร้างชื่อบนเวทีออสการ์อย่าง Crouching Tiger, Hidden Dragon กลับไม่ได้รับความนิยมในประเทศจีนแต่อย่างใด เพราะถูกบรรดานักวิจารณ์และแฟนหนังภายในชาติวิพากษ์ว่าเป็นการทำหนังเพื่อเอาใจผู้ชมชาวตะวันตกมากเกินไป แต่ถึงกระนั้น ภาพรวมของอั้งลี่ก็ดูดีมากๆ ต่อชาวจีนในแวดวงภาพยนตร์ เพราะเขาคือผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนในฮอลลีวู้ด

       

      ทุกวันนี้เขายังคงมองหาบทภาพยนตร์ที่เหมาะสมและกำลังเฟ้นหานักแสดงเลือดใหม่มาร่วมงานกับเขา โดยเขาต้องการที่จะถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศจีนเพราะเขาเปรียบเสมือนเป็นมังกรข้ามถิ่นที่ต้องการกลับมายังบ้านเกิดของตนเอง ทุกวันนี้ในวันว่าง อั้งลี่จะใช้เวลาอยู่กับภรรยาของเขาที่ปัจจุบันทำงานเป็นนักชีววิทยา และลูกชายอีกสองคนอย่างมีความสุข

       

       

       

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×