“บริษัทไทยในอันดับโลก” 3 ตอน โดย วิกรม กรมดิษฐ์ - “บริษัทไทยในอันดับโลก” 3 ตอน โดย วิกรม กรมดิษฐ์ นิยาย “บริษัทไทยในอันดับโลก” 3 ตอน โดย วิกรม กรมดิษฐ์ : Dek-D.com - Writer

    “บริษัทไทยในอันดับโลก” 3 ตอน โดย วิกรม กรมดิษฐ์

    สำหรับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2550 และวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม 2550 โดยวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ

    ผู้เข้าชมรวม

    1,582

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    4

    ผู้เข้าชมรวม


    1.58K

    ความคิดเห็น


    1

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  28 พ.ค. 51 / 18:36 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    นิยายแฟร์ 2024
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      ท่านผู้อ่านเคยสงสัยบ้างหรือไม่ครับว่ามีองค์กรนิติบุคคลในรูปของบริษัทสัญชาติไทยกี่แห่งที่ติดอันดับโลกเพราะหากเราเปรียบเทียบจำนวนขององค์กรดังกล่าวกับจำนวนประชากรของไทยจะพบว่ามีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เมื่อเราคิดจากฐานของจำนวนประชากรของโลก 6,500 ล้านคน ประเทศไทยเรามีประชากรประมาณ 65 ล้านคน ถือเป็น 1% ของประชากรโลกทั้งหมด แต่ GDP ของเราผลิดได้เพียง 2แสนล้านเหรียญ ในขณะที่ GDP โลกอยู่ที่  46-47 ล้านล้านเหรียญ ประเทศไทยเราผลิต GDP ได้ 0.5% ของ GDP โลกเท่านั้น  ถึงแม้ว่าบ้านเราจะเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของโลกที่ผลิตอาหารป้อนตลาดโลกเป็นอันดับที่ 6 และส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก

                      ผมชอบยกตัวอย่างที่คนญี่ปุ่นเคยบอกผมว่าคนไทยนั้นโชคดีมาก ที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทยที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ แต่ในความโชคดีก็ยังมีความโชคร้ายอยู่ด้วยเพราะเราไม่รู้จักว่าเรามีบุญขนาดไหน ในขณะที่ต่างชาติกลับรู้ถึงคุณค่าในสิ่งที่เรามีนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งครับ  เมื่อเราเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่แทบจะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรมากนักแถมยังมีภัยธรรมชาติต่าง ๆ มากมายจนทำให้คนญี่ปุ่นอิจฉาคนไทย แต่ในขณะเดียวกันคนญี่ปุ่นมีประมาณ 120 ล้านคน หรือคิดเป็น 2% ของประชากรโลก แต่  GDP ของประเทศญี่ปุ่นทั้งที่มีแอบแฝงในประเทศอื่นนั้นคิดเป็นกว่า 20% ของ GDP โลก เมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นว่าผลผลิตต่อหัวของคนญี่ปุ่น 1 คน จะทำกับผลผลิตต่อหัวของคนไทยถึง 20 กว่าคน  และคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นบางบริษัทที่มียอดขายมากกว่าการส่งออกของประเทศไทยเสียอีก  ดังนั้นถ้าเราไปพิจารณายอดขายในกลุ่มบริษัทอย่างเช่นมิตซูบิชิหรือสุมิโตโม จะพบว่ายอดขายของบริษัทเหล่านี้มากกว่า  GDP ของประเทศไทย  นี่คือเหตุที่พวกเราจะต้องมาตั้งคำถามว่า เราควรต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรามีความต่างจากญี่ปุ่นในจุดไหนบ้าง  ถึงได้เกิดข้อแตกต่างมากมายเช่นนี้ ในเมื่อ พื้นที่ของประเทศไทยที่ใหญ่กว่าญี่ปุ่นถึง 40% และมีประชากรน้อยกว่าญี่ปุ่นเพียง 1 เท่านั้น กลับกลายเป็นว่าญี่ปุ่นมีขนาดทางเศรษฐกิจใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 40 เท่า (รวมทั้งในและนอกประเทศ )

      สิ่งที่ผมมักเน้นย้ำคือเรื่องคุณภาพของบุคลากร -การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เราควรใส่ใจ เพราะว่าประเทศของเรานั้นยังขาดการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาโดยตรงของกระทรวงศึกษาธิการ และครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญมากในการพัฒนาคุณภาพประชากร นอกจากนี้สื่อต่าง ๆ ที่นำเสนอข่าวสารในบ้านเมืองส่วนใหญ่เป็นข่าวในเชิงที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์หรือมีสาระประโยชน์เท่าใดนัก

       

      เมื่อต้นเดือนที่แล้ว สภาการศึกษาแห่งชาติชวนผมไปบรรยายในหัวข้อเรื่อง การปรับปรุงอนาคตการศึกษาไทย ผมยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านเราเมื่อ 40 ปีที่แล้วอย่างเกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือจีน ที่ตอนนี้แซงหน้าเราไปแล้ว ฉะนั้นปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้ไขคือเรื่องของการศึกษา  อย่างไรก็ตาม, หลังจากที่ผมบรรยายจบได้คุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวง ฯ กลับพบว่าท่านเหล่านั้นมักพูดถึงปัญหาต่าง ๆ ทั้งที่บางเรื่องยังไม่ได้ลงมือทำด้วยซ้ำ ข้อสำคัญคือเรื่องของระบบการคิดที่ยังวนเวียนอยู่ที่เดิม ผมจึงรู้แน่ชัดว่าอีกนานกว่าคนไทยจะสามารถมีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านที่แซงหน้าเราไปแล้ว เพราะคนที่ทำงานในด้านนี้โดยตรงยังย่ำอยู่กับที่   ผมไม่อยากให้เราท้อถอยนะครับกับวิธีหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพราะประเทศไทยเรายังมีศักยภาพมากพอ หากเราทำความเข้าใจจุดอ่อน และข้อเสียของคนไทยแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข เพราะผมเชื่อแน่ว่าแต่ละเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงคนไทยมีวิสัยทัศน์ที่จะมองให้เป็นและเข้าใจโลกอย่างถ่องแท้ว่าโลกเราเป็นอย่างไรและมีแนวโน้มที่จะเดินไปทางทิศใด  พร้อมกับลดการเห็นแก่ตัวลง และทำทุกอย่างแบบจริงจังและจริงใจมากขึ้น  ผมเชื่อแน่ว่าเราจะสามารถก้าวขึ้นมาได้ พอดีเนื้อที่หมดเอาไว้ต่อสัปดาห์หน้าครับ

       

      ฝากล้อมกรอบเล็กประชาสัมพันธ์ : ติดตามฟังรายการ CEO VISION กับวิกรม กรมดิษฐ์

      ทาง FM. 96.5 MH.z ทุกวันพุธ ศุกร์เวลา 9.00- 10.00 น. และรายการ หมุนตามโลกกับวิกรม ทาง TV ช่อง 5 ทุกวันอังคารเวลา 16.35- 17.00 น.

       

      ตอนที่ 2

       

      สัปดาห์ที่แล้วผมเริ่มด้วยเกริ่นด้วยการเปรียบเทียบศักยภาพของคนไทยกับคนญี่ปุ่นในการบริหารประเทศเมื่อเทียบกันหมัดต่อหมัดจากจำนวนประชากร จำนวน GDP สัปดาห์นี้ว่ากันต่อนะครับว่า จากการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอมตะทำให้ผมได้เห็นศักยภาพของคนที่ทำงาน และมั่นใจว่าด้วยฝีมือ อุปนิสัยใจคอของคนไทย เราสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับคนชาติอื่นได้แม้กระทั่งคนญี่ปุ่นเองก็ตาม หากเรามีผู้บริหารที่ดี ผู้จัดการที่ถูกต้อง มีผู้นำที่มีวิศัยทัศน์และมีจิตใจที่ดีงาม ควบคู่ไปกับการจัดการที่ดี จะทำให้คนไทยสามารถแข่งขันกับชาติอื่นได้อย่างแน่นอน

       

      ส่วนใหญ่แล้วชาวต่างชาติที่ทำงานกับคนไทยต่างชื่นชมว่าคนไทยมีความอดทน มีความซื่อสัตย์ และมีน้ำใจ นี่จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้ต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนและร่วมงานกับคนไทย

      น่าเสียดายมากในเมื่อบ้านเรานั้นมีความอุดมสมบูรณ์ระดับต้น ๆ ของโลก แต่เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของโลก มิหนำซ้ำหากเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ประสิทธิภาพของคนไทยจะน้อยกวาคนญี่ปุ่นถึง 20 เท่าถือเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อและออกจะน่าเสียดายอยู่ไม่น้อย ที่เป็นเช่นนี้สาเหตุหลักน่าจะมาจากผู้บริหารระดับสูงในประเทศที่เป็นผู้กำหนดและร่างบทบัญญัติต่าง ๆ ได้กีดกันให้ผู้ที่มีความรู้มาก  มีความขยันมากในต่างประเทศ ไม่สามารถมาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ ในประเด็นนี้ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งอาจเกิดมาจากความคิดที่ว่ากลุ่มคนเหล่านี้กลัวว่าจะไม่สามารถสู้กับต่างชาติได้ หรือกลัวว่าจะต้องสูญเสียผลประโยชน์ไป  จึงทำให้ประเทศไทยไม่ค่อยมีคนดี ๆ เก่ง ๆ เข้ามาช่วยสร้างประเทศเหมือนอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ที่เปิดรับเอาคนดี มีเงิน มีความสามารถ และไม่มีปัญหาเรื่องอาชญากรรมเข้ามาในประเทศอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ประเทศเหล่านี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นทุกวัน

       

      ผมขอยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้เปิดประเทศอย่างเต็มที่ให้พวกยิวเข้ามาอาศัยในประเทศ เราคงไม่ปฎิเสธว่าพวกยิวเป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวยและมีความสามารถมาก ประเทศไทยเราก็สามารถที่จะเป็นผู้นำของภูมิภาคนี้ และมีบริษัทที่อยู่ในมาตรฐานสากลได้มากกว่านี้หากผู้บริหารของเรามีจิตใจที่กว้างขวางขึ้น และยอมเปิดรับเอาคนเก่งแลคนดีเข้ามาช่วยกันพัฒนาประเทศ แต่จะต้องมีมาตรฐานในการตรวจสอบเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ที่มีการออกกรีนการ์ดให้ชาวต่างชาติ

       

      ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้อีกมากมายมหาศาล แต่เราจะต้องเปิดกว้าง รัฐบาลเองจะต้องสบันสนุนให้ทั้งคนภายในประเทศละต่างประเทศ ให้มีโอกาสลงทุนอย่างเต็มที่โดยไม่จำกัด โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งออกที่รัฐบาลบาลควรจะต้องสนับสนุนสินค้าทุกประเภท ไม่ใช่ว่ามัวแต่มากีดกันไม่ให้เงินตราต่างประเทศเข้ามา อย่างน้อย ๆ ยอดการส่งออกประเทศไทยเติบโตปีละ 30% ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง วันนี้เรามีบริษัทยักษ์ระดับโลกน้อยมากหากเปรียบเทียบกับขนาดของประเทศและจำนวนประชากรคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั้นถือเป็นขั้นพื้นฐาน แต่ต้องมีการเอามาปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง

       

      เมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมานิตยสารฟอร์บ ได้มีการจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่ของโลกกว่า 2,000 บริษัท โดยพิจารณาจากยอดขายและกำไร ปรากฎว่ามีบริษัทสัญชาติไทยถึง 13 บริษัทที่ติดอันดับในครั้งนี้  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน),บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน),ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ,ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน),ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน),ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน),บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน),บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน),บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน),ธนาคารทหารไทย   จำกัด (มหาชน), ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน),บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 
      ผมคงไม่ขอกล่าวในรายละเอียดเรื่องสินทรัพย์ของแต่ละองค์กรเพราะคงสามารถหาดูได้จากเว็บไซด์กันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อยากจะเน้นคงเป็นเรื่องของการให้กำลังใจคนไทยด้วยกันว่า เราสามารถนำพาองค์กรก้าวสู่ระดับโลกได้ถ้าเราตั้งใจจริง วางแผนการทำงานให้ถูกต้อง เหมาะสม มีวิสัยทัศน์กับโลกสากลและแน่นอนว่าต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วยครับ เอาใจช่วยทุกคนครับ....

       

      ฝากล้อมกรอบเล็กประชาสัมพันธ์ : ติดตามฟังรายการ CEO VISION กับวิกรม กรมดิษฐ์

      ทาง FM. 96.5 MH.z ทุกวันพุธ ศุกร์เวลา 9.00- 10.00 น. และรายการ หมุนตามโลกกับวิกรม ทาง TV ช่อง 5 ทุกวันอังคารเวลา 16.35- 17.00 น.

       

       

       

       

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×