ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Timelines of World History ( ย้อนรอยประวัติศาสตร์โลก )

    ลำดับตอนที่ #1 : คาลิกูลา (CALIGULA) กษัตริย์วิปริตเเห่งโรมัน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 9.64K
      26
      3 พ.ค. 54

                                                     เดียซิร่า (ซ้าย) คาลิกูลา (ขวา)



    คาลิกูลา จักรพรรดิโรมองค์ที่ 3 (ครองราชย์  ค.ศ. 37-41) ทรงเป็นบุตรชายของวีรบุรุษสงครามเจอมันนิคัส กับ อกริพพีน่า ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานสาวของปฐมจักพรรดิออกัสตัสนั่นเอง เกิดเดือนสิงหาคม ค.ศ.31 ณ ยอดเขาอันตินัม หนึ่งในเจ็ดยอดเขาแห่งโรม ชื่อคาลิกูลาของเขามีความหมายว่า รองเท้าแตะสานของทหารโรมัน ทั้งนี้เพราะเขาได้ติดตามพ่อไปปราบกบฏประหนึ่งทหารเด็ก ทำให้เขามีฝีมือในการรบตั้งแต่ยังเยาว์เลยทีเดียว

    เมื่อพ่อตายไป แม่ก็อภิเษกสมรสกับจักรพรรดิไทเบอรีอัส (องค์ที่ 2 ครองราชย์ 14-37) เขาจึงได้กลายเป็นพระโอรสบุญธรรม แต่เขาเกือบถูกไทเบอรีอัสประหารเหมือนกับพี่น้องผู้ชายของเขา ที่ไทเบอรีอัสต้องการกำจัดไม่ให้เป็นเสี้ยนหนามของพระโอรสที่แท้จริงของพระองค์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระอนุชาบุญธรรมของคาลิกูลา โชคดีที่แม่ของเขาขอร้องไว้ชีวิตเขากับพี่น้องผู้หญิงเอาไว้ได้ เช่น พี่สาวที่มีชื่อเหมือนกับแม่ อกริพพีน่า ที่ต่อมาได้เป็นพระราชมารดาของจักรพรรดิเนโรนั่นเอง

    แต่คาลิกูลากลับสนิทสนมกับ เดียซิร่า น้องสาวของเขามากกว่าพี่น้องคนใด นางมักจะปลอบโยนและเคียงข้างพี่ชายอยู่เสมอยามที่เขาต้องเผชิญกับความเลวร้ายภายในราชสำนัก

    ชีวิตในราชสำนักน่าจะเป็นที่อิจฉาของสามัญชน แต่สำหรับคาลิกูลาแล้ว แม้เขาจะอยู่ในฐานะพระโอรสบุญธรรม แต่ต้องใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวงกลัวที่จะอาจจะถูกลอบสังหารอยู่เสมอ จักพรรดิเฒ่าไทเบอรีอัสมักจะกล่าวดูถูกเหยียดหยามเขาต่อหน้าสภาขุนนาง หนำซ้ำพระองค์ยังกล่าวใส่ร้ายคาลิกูลาว่าเขาเป็นปิศาจร้ายที่หวังจะปลงพระชนม์ทั้งพระองค์และพระโอรส เพื่อจะขึ้นครองบัลลังก์แทน

    ไทเบอรีอัสในยามนั้นก็เป็นเฒ่าทรราชที่มีพฤติกรรมเสื่อมทรามมาก พระองค์เป็นไบเซ็กฌวล ทรงเลี้ยงนางบำเรอทั้งชายหญิงเอาไว้สนองตัณหาในฮาเร็มมากมาย นอกจากจะทรงบ้าตัณหาแล้ว ยังทรงออกกฎหมายห้ามใครซุบซิบนินทาใส่ร้ายพระองค์เป็นอันเด็ดขาด จับได้มีโทษถึงประหาร แถมยังยึดทรัพย์สินครึ่งนึงของนักโทษเข้าท้องพระคลัง ซึ่งทรัพย์สินเหล่านั้นก็นำไปบำเรอกามตัณหาของพระองค์เอง ทำให้ขุนนางสมัยนั้นไม่กล้าที่จะตักเตือนพระองค์ หนำซ้ำหากขุนนางกงฉินคนใดไม่ชอบหน้าใคร ก็มีการสร้างเรื่องใส่ร้ายนำไปเท็ดทูลจักรพรรดิ ทำให้ขุนนางตงฉินดีๆ สมัยไทเบอรีอัส หากไม่ตายก็เหมือนเป็นคนหูหนวกเป็นใบ้ ทำให้ขุนนางต่างเอือมระอาไม่น้อย แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้ เพราะอย่างน้อยหากไม่นับในเรื่องส่วนพระองค์แล้ว ไทเบอรีอัสก็ถือเป็นจักรพรรดิที่บริหารบ้านเมืองได้ดีเช่นเดียวกับสมัยปฐมจักรพรรดิออกัสตัส

    จักพรรดิไทเบอรีอัส



    จะด้วยเพราะปากเสียที่กดดันลูกเลี้ยงมากเกินไป กระทั่งคืนวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 37 จักรพรรดิเฒ่าวัย 77 ชันษา จึงได้สิ้นพระชนม์ลงด้วยเงื้อมมือของคาลิกูลาตามที่พระองค์คาดหมายไว้ จากการแอบลอบปลงพระชนม์ด้วยการบีบพระศอสิ้นพระชนม์คาแท่นบรรทม...อาจเพราะแรงกดดัน เพราะการเห็นพี่น้องเคยถูกไทเบอรีอัสประหาร หรือเพราะเลือดความร้อนเร่าแบบทหาร ทำให้คาลิกูลาตัดสินใจชิงฆ่าพระบิดาเลี้ยงเพื่อเอาชีวิตตนให้อยู่รอด เขาได้ยึดแหวนซึ่งเป็นแหวนอันชอบธรรมสำหรับจักรพรรดิมาจากพระศพ และประกาศต่อสภาขุนนางว่า ไทเบอรีอัสแก่ชราตายและสั่งเสียมอบหมายให้เขาได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป

    เหล่าขุนนางต่างเห็นชอบยอมรับคาลิกูลา แม้ทุกคนต่างรู้ดีว่าเขาลอบปลงพระชนม์อดีตจักรพรรดิ แต่เพราะไทเบอรีอัสสร้างความเกลียดชังมากมายจนทุกคนต่างก็ยินดีที่ทรราชเฒ่าตายเสียได้ พวกเขาจึงไม่เอาผิดการกระทำของคาลิกูลา ประหนึ่งว่าฆ่าทรราชไม่บาป เหมือนเมื่อครั้งเหล่าขุนนางต่างรุมสังหารจูเลียต ซีซาร์ ในสภานั่นเอง

    แม้ว่าไทเบอรีอัสจะมีพระโอรสที่สืบสายเลือดแท้จริงจากพระองค์อยู่แล้วก็ตาม แต่ตอนนั้นยังทรงเป็นเด็กหนุ่มเยาว์วัยดูท่าทางอ่อนแอไร้สง่าราศีอย่างผู้นำไม่เหมือนคาลิกูลาที่เป็นลูกของวีรบุรุษสงคราม มีความสมชายชาตรีน่าเกรงขามมากกว่า คาลิกูลาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 3 แห่งอาณาจักรโรมัน พระนามเต็มว่า กาซิอัส จูลิอัส ซีซาร์ ออกัสตัส เจอมันนิคัส เป็นจักรพรรดิหนุ่มด้วยวัยเพียง 25 ชันษา

    คาลิกูลารู้ดีว่า การขึ้นเป็นจักรพรรดิของพระองค์นั่นไม่ได้ขึ้นมาจากความชอบธรรม ดังนั้นพระองค์จึงต้องสร้างผลงานที่ต้องทำให้ดีกว่าสมัยพระบิดาเลี้ยง และต้องวางองค์กระทำทุกอย่างให้ตรงข้ามกับไทเบอรีอัส เพื่อที่พระองค์จะได้มีภาพลักษณ์เป็นมหาราชที่ดีเพื่อลบข้อครหาที่แปดเปื้อนพระองค์ออกไปได้ ดังนั้นเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ก็มีรับสั่งให้ลดการเก็บภาษีลงเพื่อซื้อใจประชาชน นอกจากนั้นยังทรงยึดแบบอย่างของออกัสตัสมหาราชมาใช้ เช่น การอนุญาตให้ขุนนางเสนอความคิดเห็นและตักเตือนพระองค์ได้ รวมถึงการทำนุบำรุงศาสนกิจ ส่งเสริมการพาณิชย์และกองทัพเป็นอย่างดี คาลิกูลาตั้งใจว่าพระองค์จะต้องเป็นมหาราชที่ดีเหมือนออกัสตัสให้ได้

    ผลจากความตั้งใจจะเป็นมหาราชของพระองค์ก็ได้รับการส่งเสริมจาก เดียซิร่า อีกเช่นกัน นางเป็นคนที่คอยให้คำแนะนำและให้กำลังใจคาลิกูลาเสมอๆ...ความใกล้ชิดสนิทสนมเช่นนี้จึงก่อให้เกิดรักต้องห้ามผิดประเวณีขึ้น เพราะแท้ที่จริงแล้ว นอกจากความเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตพ่อแม่เดียวกันนั้น คาลิกูลาและเดียซิร่ายังเป็นคู่รักฉันท์ชู้สาวด้วยกันอีกต่างหาก!

    เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก คาลิกูลาและเดียซิร่าชอบอ่านนิทานหรือตำนานเทพเจ้ามาก แต่ที่พวกเขาชอบมากที่สุดก็คือตำนานความรักระหว่างเทพโอซิริสและเทพีไอซิสแห่งอียิปต์ ทั้งสองซาบซึ้งกับความรักของเทพีไอซิสผู้ทรงทำทุกอย่างเพื่อความรักให้กับเทพโอซิริสผู้เป็นพระเชษฐาร่วมสายโลหิตเดียวกัน นี่อาจจะเป็นมูลเหตุให้สองพี่น้องต่างสนิทสนมจนหลงรักซึ่งกันและกัน และนำไปสู่การลักลอบร่วมประเวณีกันนั่นเอง...มีข่าวลือว่าพระองค์แอบนับถือเทพเจ้าอียิปต์ เพราะในอียิปต์นั่น พี่น้องแต่งงานกันไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรมแต่อย่างใด

    นอกจากเดียซิร่าแล้ว เขายังมีม้าคู่ใจ ชื่ออินเซตัส ที่ทรงรักมากถึงขนาดให้มันนอนบรรทมร่วมแท่นกับพระองค์และเดียซิร่าเลยทีเดียว

    ถึงแม้จะทำเรื่องผิดศีลธรรมร้ายแรง แต่ทั้งสองก็ใช่ว่าจะหน้าไม่อายแสดงความรักฉันท์ชู้สาวต่อหน้าผู้อื่น สำหรับจักพรรดิแล้ว จะทรงทำพระองค์เลวทรามแค่ไหนก็ได้ แต่จะต้องไม่ใช่ถึงขนาดร่วมประเวณีกับพี่น้องเด็ดขาด แม้หลังขึ้นครองราชย์แล้วคาลิกูลาก็ไม่ยอมมีพระมเหสีเพราะถือว่าน้องสาวเป็น พระมเหสีเงา จนขุนนางก็พยายามคะยั้นคะยอพระองค์อยู่เสมอ รวมถึงเดียซิร่าเองก็สนับสนุน เพราะการมีพระมเหสีอย่างเป็นทางการและรีบมีรัชทายาทจะทำให้บังลังก์ของคาลิกูลามั่นคงมากขึ้น

    แต่แทนที่คาลิกูลาจะเลือกภรรยาที่เป็นสาวบริสุทธิ์ธิดาขุนนาง พระองค์กลับไปเลือกภรรยาหม้ายของขุนนางมาเป็นพระมเหสีแทน นั่นอาจจะมาจากเพราะปมที่เขาเห็นพ่อเลี้ยงแต่งงานกับแม่ของเขาที่เป็นภรรยาหม้ายก็เป็นได้ กระนั้นก็ตามคาลิกูลากลับไม่ค่อยให้อำนาจหน้าที่ของนายหญิงให้กับพระมเหสีองค์จริงนัก หนำซ้ำเขายังให้อำนาจเดียซิร่าในฐานะพระมเหสีเงาแทนอีกต่างหาก สังเกตเห็นได้ว่าจากการร่วมโต๊ะอาหารนั้น คาลิกูล่าให้เดียซิร่าเป็นผู้จัดการพระการยาหารที่ควรจะเป็นหน้าที่ของพระมเหสี และนั่งอยู่บนเก้าอี้เบาะเคียงข้างในตำแหน่งพระมเหสีแทนเสียด้วยซ้ำ

                พระมเหสีองค์จริงจองคาลิกูลาล้วนแต่เป็นกุลสตรีที่นบน้อมเรียบร้อยเกินไปจนคาลิกูลาซึ่งมีรสนิยมเสพสมแบบร้อนแรงเบื่อหน่าย เขาอภิเษกสมรสกับพระมเหสีถึง 3 นาง ซึ่งล้วนต่างก็เป็นภรรยาหม้ายของขุนนางทั้งสิ้น เพื่อเป็นการประชดเหล่าขุนนางที่ยุ่งเรื่องรักส่วนพระองค์ นอกจากจะหมางเมินพระมเหสีทางนิตินัยแล้ว พระองค์ก็ยังทรงร่วมรักกับเดียซิร่าในฐานะพระมเหสีทางพฤตินัยเหมือนเดิม และก็ทรงหย่าร้างกับพระมเหสีองค์จริงทั้ง 3 นางในที่สุด...แต่สภาขุนนางก็ยังคะยั้นคะยอให้ทรงเสกสมรสใหม่อีกต่อไป

                ครั้งนั้นเอง คาลิกูลารู้สึกโมโหกับความจุ้นจ้านของขุนนาง พระองค์ถึงขนาดตรัสกับเดียซิร่าว่า จะให้นางขึ้นมาเป็นพระมเหสีตามกฎหมายของพระองค์ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย...แต่เดียซิร่าปฏิเสธ เพราะแม้ว่านางจะกระทำผิดศีลธรรมกับพี่ชายมากแค่ไหนก็ตาม แต่นางก็หน้าบางพอที่ไม่อาจบ้าจี้รับตำแหน่งพระมเหสีที่อาจทำให้คาลิกูลามีภาพลักษณ์เสื่อมเสียไปได้ นอกจากเดียซิร่าจะพอใจกับการเป็นมเหสีเงาอย่างลับๆ แล้ว นางก็ยังคงส่งเสริมให้คาลิกูล่าเสกสมรสใหม่อีกครั้งเช่นกัน

    ว่ากันว่า คำปฏิเสธของเดียซิร่า สร้างความเจ็บช้ำใจ ให้กับคาลิกูลาเป็นอย่างมาก พระองค์ไม่คิดเลยว่าหญิงที่พระองค์รักจะปฏิเสธข้อเสนออันกล้าหาญ (หรือบ้าบิ่น) ได้...เมื่อเสียใจมากก็ทรงโกรธมาก คาลิกูลารับปากเชิงประชดกับเดียซิร่าว่าจะเสกสมรสใหม่ตามที่นางปรารถนา คราวนี้คาลิกูลามีพระบัญชาให้มีประกาศเชิญหญิงงามทั่วกรุงโรมมาร่วมคัดตัวเป็นพระมเหสี โดยไม่แบ่งชนชั้นสถานภาพใด ขอให้มั่นใจว่าสวยเป็นพอ นอกจากนั้นคาลิกูลายังมีบัญชาเงื่อนไขเด็ดขาดกับเหล่าขุนนางว่า นี่จะเป็นการเลือกพระมเหสีเป็นครั้งสุดท้าย ไม่ว่าพระองค์จะเลือกใคร ก็ห้ามใครคัดค้านเป็นอันขาด...ซึ่งเหล่าขุนนางก็ยอมรับแต่โดยดี พวกเขาหวังว่าการสมรสล่มถึง 3 ครั้ง น่าจะทำให้จักพรรดิทรงเลือกหญิงที่เหมาะสมฐานะพระมเหสีมาดีกว่านี้แน่นอน

    แล้วคาลิกูลาก็ได้ทีหักหน้าเหล่าขุนนาง เมื่อเขาเลือกมีโลเนีย คาสโซเนีย หญิงผู้งามที่สุดในโรม และเป็นนางกลางเมืองหรือโสเภณีที่โด่งดังที่สุด เป็นพระมเหสีแห่งอาณาจักรโรมัน!
    Scene from Caligula 

    ราชินีคาสโซเนีย


    สำหรับสังคมโรมันแล้ว การที่พระมเหสีจะเป็นหม้ายนั้นยังเป็นที่ยอมรับกันได้ แต่การยกย่องให้โสเภณีมาเป็นแม่ของแผ่นดินนั้น เป็นสิ่งที่รับไม่ได้เอามากๆ แต่ก็ไม่มีใครกล้าขัดเงื่อนไขที่ได้ยอมรับไปแล้วว่าคาลิกูลาจะเลือกใครก็ห้ามคัดค้านเป็นอันขาด แม้ทุกคนร่วมถึงเดียซิร่าจะดูออกว่า คาสโซเนียเป็นหญิงกาลกิณีร้อยเล่ห์พันมารยา นางจะต้องนำความเสื่อมเสียมาสู่ราชสำนักแน่นอน

    นอกจากจะประชดเหล่าขุนนางแล้ว การกระทำของคาลิกูลายังเป็นการประชดต่อเดียซิร่าอีกด้วย พระองค์แสดงให้นางเห็นว่าในเมื่อพระองค์มีความกล้าที่จะแต่งตั้งโสเภณีเป็นมเหสี พระองค์ก็มีความกล้าที่จะแต่งตั้งให้เดียซิร่าซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆ ได้เช่นกัน แต่ในเมื่อนางปฏิเสธคำขอของพระองค์ นี่จึงเป็นการประชดกับหญิงผู้เป็นที่รักอย่างเดียซิร่านั่นเอง นอกจากการประชดครั้งนี้แล้ว คาลิกูลายังมอบอำนาจพระมเหสีให้คาสโซเนียอย่างเต็มที่ ไม่ให้เดียซิร่าเป็นพระมเหสีเงาอีก ซึ่งเดียซิร่าก็ยอมรับโดยดุษฎี...แต่แม้จะประชดเดียซิร่าแค่ไหน พระองค์ก็ยังทรงรักและให้นางอยู่ข้างกายพระองค์อยู่ตลอดเวลาเหมือนเดิม เดียซิร่าจึงยังคงปลอดภัยจากการปองร้ายของคาสโซเนียที่ต้องการกำจัดหอกข้างแคร่อย่างนางไป เดียซิร่ายังคงถวายการดูแลแนะนำในเรื่องที่ดีให้กับคาลิกูลาเท่าที่นางพอจะทำได้ เดียซิร่าหวังว่าหากนางยังอยู่เคียงข้างคาลิกูลาต่อไป พระองค์จะไม่ทรงทำอะไรผิดนอกลู่นอกทางไปตามเล่ห์กลของคาสโซเนียแน่นอน เพราะคาลิกูลาไม่เชื่อคำพูดของใครเลย นอกจากเดียซิร่าคนเดียว

    จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้เกิดไข้ทรพิษระบาดติดต่อไปทั่วกรุงโรม ผู้คนบาดเจ็บล่มตายราวใบไม้ร่วง โรคร้ายเข้าคร่าชีวิตมนุษย์ไม่เลือกอายุ เพศ หรือชนชั้น ไม่เลือกยาจกหรือเศรษฐี ร่วมถึงจักรพรรดิคาลิกูลาด้วย! โรคร้ายทำเอาพระองค์ถึงกับไข้ขึ้นสูงไม่สามารถขยับพระวรกายจากพระแท่นได้เลยด้วยซ้ำ แพทย์หลวงได้แต่รักษาพระอาการอย่างระมัดระวังขและลาดกลัว ขุนนางรวมถึงพระมเหสีไม่มีใครกล้าเข้าใกล้พระองค์สักนิดด้วยกลัวจะติดโรคเช่นกัน...ไม่มีใครเลย ยกเว้น เดียซิร่า!?

    เดียซิร่าเป็นเพียงคนเดียวที่พยาบาลดูแลคาลิกูลาข้างแท่นบรรทมอย่างไม่รังเกียจหรือกลัวโรคติดต่อ การกระทำของนางแสดงให้เห็นถึงความรักและจงรักภักดีต่อคาลิกูลาอย่างถวายชีวิตหมดหัวใจ ไม่ว่ายามที่พระองค์สุขหรือทุกข์ ไม่ว่าใครจะรักหรือชังพระองค์ นางจะอยู่ข้างพระองค์เสมอ ในที่สุดอานุภาพความรักของนางก็ทำให้คาลิกูลารอดพ้นพญามัจจุราชไปได้อย่างเหลือเชื่อ!

    แต่พญามัจจุราชกลับได้พรากเอาชีวิตของเดียซิร่าไปเป็นการแลกเปลี่ยน! เมื่อนางได้ติดไข้ทรพิษจากคาลิกูลาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในที่สุดเดียซิร่าจากโลกนี้ไปหลังจากที่คาลิกูลาหายดีในทันที

    การตายของพระขนิษฐาสร้างความสะเทือนพระทัยอย่างใหญ่หลวงมหาศาลให้กับคาลิกูลาเป็นอันมาก พระองค์ถึงบ้าคลั่งโวยวายไม่ยอมให้ใครแตะต้องศพของนาง หนำซ้ำยังทรงพระสติฟั่นเฟือง ทรงกอดร่างไร้วิญญาณของเดียซิร่า พานางไปเต้นรำ พูดคุยและหัวเราะกับศพของนางภายในสวนของพระราชวังกลางสายฝนที่ตกลงมา ประหนึ่งร่วมแสดงความเสียใจไปกับจักรพรรดิด้วย กว่าหลายวันทีเดียวที่คาลิกูลาจะยอมรับได้ พระองค์มีบัญชาให้ฝังหลุมศพของนางในสวนสวยท่ามกลางดอกไม้อันงดงามหอมกรุ่น ดุจเป็นการสร้างสวนสวรรค์ให้เกียรติกับหญิงเดียวผู้เป็นที่รักแรกและสุดท้าย

    เมื่อขาดหญิงรู้ใจอันดีงามแล้ว ความหวังที่จะเป็นมหาราชที่ดีก็เหมือนตายไปพร้อมกับเดียซิร่าด้วย ประกอบกับผลข้างเคียงของไข้ทรพิษและความที่มีสายเลือดบ้าอำมหิตในองค์เองอยู่แล้ว ทำให้คาลิกูลาถึงกับฟั่นเฟือนเป็นจิตเภทไปเลยทีเดียว ยิ่งได้มเหสีมากเล่ห์อย่างคาสโซเนียมาเคียงข้างแทนแล้ว ความบ้าคลั่งของคาลิกูลาก็เริ่มปรากฏชัดเจนและไร้การควบคุมมากยิ่งขึ้น

    คาสโซเนียเป็นโสเภณีที่มีรสนิยมทางเพศวิตถารและชอบเสพบันเทิงแบบนองเลือดมากเป็นพิเศษ สันดานของนางทำให้คาลิกูลาเริ่มติดนิสัยของนางเข้าไปด้วย เมื่อไม่มีเดียซิร่าคอยเตือนสติ คาลิกูลาเริ่มปล่อยปละตัวเอง ปล่อยขุนนางบริหารบ้านเมืองไปแทน วันๆ เอาแต่จมอยู่กับงานเลี้ยงที่เต็มไปด้วยสุราและนารี และงานเลี้ยงนั้นก็เป็นงานร่วมประเวณีหมู่ เลยเถิดไปกว่านั้นก็คือ คาลิกูลาถึงขนาดให้มเหสีต้อนรับพระสหายของพระองค์ในงานเลี้ยง ด้วยการให้นางร่วมประเวณีหมู่กับพวกเขาต่อหน้าต่อตาพระองค์และแขกเหรื่ออย่างไม่อายฟ้าดิน ซึ่งคาสโซเนียก็สนองอย่างเต็มใจตามนิสัยร่านราคะของนาง

    การจัดงานเลี้ยงกามวิตถารมีขึ้นทุกคืนวันไม่รู้จักจบสิ้น โชคยังดีสำหรับบ้านเมืองที่ล้วนมีขุนนางตงฉินค่อยประคับประคองบริหาร แต่หากปล่อยให้จักรพรรดิเริงสำราญไปนาน จะทำให้บ้านเมืองสั่นคลอนได้ ดังนั้นจึงมีขุนนางจำนวนหนึ่งได้เข้าเฝ้าทูลขอให้คาลิกูลาเพลางานเลี้ยงลง และกลับมาบริหารบ้านเมืองอย่างเดิม...คาลิกูลาได้ตอบรับกลับมาโดยให้ ขุนนางถึง 1 ใน 3 ถูกจับประหารชีวิตโทษฐานที่บังอาจมาสอนสั่งพระองค์ หนำซ้ำยังให้ริบทรัพย์สินของขุนนางที่ถูกประหารไปหมด ตั้งแต่นั้นมาหากใครที่ไม่ประจบสอพลอคาลิกูลา ก็จำต้องปิดปากเงียบเพื่อรักษาชีวิต

    ความฟั่นเฟือนของคาลิกูลายังไม่หมดแค่นั้น พระองค์ถึงขนาดเข้าใจว่าทรงเป็นมหาเทพลงมาจุติ ทรงมีบัญชาให้ช่างปะติมากรรมตัดเศียรของเทพเจ้าและเทพีทุกองค์ตามวิหารทั่วกรุงโรมออกให้หมด จากนั้นให้นำพระฉายาลักษณ์ของพระองค์และมเหสีสวมลงแทน ประหนึ่งประกาศทั้งสองเป็นมหาเทพจูปิเตอร์กับมหาเทพีจูโน่แห่งโอลิมปัส (เทียบเท่ามหาเทพซูสกับมหาเทพีเฮร่าของกรีซ)


     


    นอกจากการจัดงานเลี้ยงอันเน่าเฟะในราชสำนักแล้ว คาลิกูลายังโปรดให้มีการจัดแข่งขันการประลองต่อสู้แบบแกลดิเอเตอร์ในลานประลองโคลีเซี่ยมแทบทุกวันตามคำแนะนำของคาสโซเนีย นักสู้ต้องต่อสู้และเสียชีวิตไปจำนวนมากจนไม่พอจัดรายการ ต่อมาก็ใช้การโชว์โยนนักโทษให้สัตว์ป่าฉีกกินเป็นอาหาร...เท่านั้นยังไม่พอ คาลิกูลายังใช้ลานประลองให้เป็นประโยชน์ โดยการบังคับให้พระอนุชาบุญธรรม (พระโอรสแท้ๆ ของไทเบอรีอัส) เข้าร่วมการต่อสู้กับสิงโตเพื่อพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชาย เด็กหนุ่มผู้ไม่เคยจับดาบต่อสู้จึงจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ ถูกสิงโตรุมฉีกเนื้อกินอย่างเอร็ดอร่อย ท่ามกลางสายตาอันรู้สึกหวาดสะพรึงกลัวของประชาชน ผิดกับคาลิกูลาและคาสโซเนียที่สำราญเริงร่าที่ใช้โอกาสนี่กำจัดทายาทชอบธรรมองค์สุดท้ายของไทเบอรีอัสไปได้อย่างไม่ต้องลงมือเอง

    เมื่อจำกัดผู้สืบทอดบัลลังก์สายอื่นไป คาลิกูลาก็ได้มีทายาทจากคาสโซเนียสมใจในที่สุด แต่กลับทรงได้พระธิดาแทน แน่นอนว่าไม่มีใครเชื่อว่าพระธิดาเป็นทายาทของคาลิกูลา เพราะคาสโซเนียส่ำส่อนกับชายอื่นไปทั่ว แต่คาลิกูลากลับหลงรักลูกสาวคนนี้มาก...อาจเพราะพระธิดามีพระพักตร์รวมถึงสีพระเกศาประพิมพ์ประพายเหมือนเสด็จอา...เดียซิร่า ไม่มีผิดเพี้ยน ทำให้คาลิกูลาเข้าใจว่าพระขนิษฐากลับชาติมาเกิดเป็นเด็กคนนี้ ไม่ว่าจะเป็นสายเลือดของพระองค์หรือของชายอื่น คาลิกูลาก็ยอมรับเด็กน้อยเป็นลูกอย่างหมดหัวใจ พระราชทานนามว่า จูเลีย เดียซิร่า ตามชื่ออาสาวผู้ล่วงลับ

    ถึงแม้จะได้เป็นพ่อคนแล้ว แต่คาลิกูลากลับไม่ลดความโหดเหี้ยมลงเลย ต่อหน้าเดียซิร่าน้อย พระองค์เป็นพระราชบิดาที่ทรงพระอารมณ์ดี ร่าเริงหยอกล้อกับเธอเสมอ ครั้นลับหลังเธอ ทั้งพ่อและแม่ก็ยังคงสนุกสนานกับมหกรรมบันเทิงนองเลือดและคาวโลกีย์ต่อไปไม่มีวันจบ

    การมัวเมาอยู่กับงานเลี้ยงทั้งวันทั้งคืนทำให้เงินในท้องพระคลังหร่อยหรอลงไปจนน่าใจหาย แทนที่คาลิกูลาจะรู้จักหยุด พระองค์กลับหาวิธีหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าเข้าชมการประลองต่อสู้และภาษีให้สูงขึ้น ซึ่งนอกจากจะเบียดเบียนคนเป็นแล้ว ยังเบียดเบียนคนตายด้วยการขึ้นภาษีมรดกโดยเก็บเงินถึง 2 ใน 3 ของมรดกผู้ตายอีกต่างหาก

    เท่านั้นยังไม่พอ คาลิกูลายังขึ้นภาษีโสเภณีมากขึ้น จนเหล่านางกลางเมืองแทบไม่มีจะกิน

    แต่ไม่ว่าจะขึ้นภาษีเก็บเงินเข้ากระเป๋ามากแค่ไหน เงินก็ยังไม่พอสำหรับการจัดงานเลี้ยงสำหรับคาลิกูลาอยู่ดี...และแล้วพระองค์ก็ทรงคิดไอเดียบรรเจิดขึ้นมาได้! นั้นคือ ทรงมีพระบัญชาให้สร้างเรือสำราญขนาดใหญ่ขึ้นมาไว้ในพระราชวัง ซึ่งทรงได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรือสำราญของพระนางคลีโอพัตราแห่งอียิปต์ที่ใช้รับรองขุนพลมาร์ก แอนโทนีแห่งโรมัน ภายในเรือแบ่งท้องเรือออกมาเป็น 4 ชั้น ไม่มีห้องหับส่วนตัว คล้ายฮาเร็มของสุลต่าน มีการประดับตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์หรูหรา ทรงตั้งชื่อว่า ‘เรือมนุษย์’

    ...และมีพระบัญชาให้ไปจับภรรยาหม้ายของขุนนางที่ยังสาวยังสวยมาไว้บนเรือลำนี้ เพื่อเปิดเป็นสำนักซ่องขนาดใหญ่ที่สุดในโรม! คาลิกูลาเปิดซ่องเรือลำนี้ให้ผู้ชายกลัดมันทั่วทั้งกรุงโรมมาใช้บริการ โดยการโฆษณาเชิญชวนว่าหญิงบริการเหล่านี้เป็นสตรีชั้นสูงที่ยังสวย สาว และสะอาด ไม่ขี้โรคเหมือนนางกลางเมืองชั้นต่ำในราคาที่ถูกกว่า...วิบากกรรมจึงตกกับเหล่าสตรีหม้ายที่ล้วนมีชาติกำเนิดเป็นชนชั้นสูงหรือธิดาขุนนาง เป็นกุลสตรีที่หวังว่าแต่งงานไปแล้วชีวิตจะมั่นคง กลับมีปั้นปลายชีวิตต้องถูกบังคับกลายมาเป็นนางกลางเมืองที่ต้องรองรับความหื่นกระหายของบุรุษมากหน้าหลายตาอย่างไม่อาจเหน็ดเหนื่อยและไม่ได้ค่าตัวแม้แต่สักแดง เพราะคาลิกูลาเก็บเข้ากระเป๋าหมด

    กิจการวิตถารเหล่านี้ทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้คาลิกูลาเป็นอย่างมาก เขาถึงขนาดตั้งให้คาสโซเนียเป็นโสเภณีที่ราคาแพงที่สุดบนเรือมนุษย์ลำนี้ด้วย

    จักพรรดิคาลิกูลาจึงกลายเป็นจึงทรราชเต็มขั้นโดยสมบูรณ์! เป็นจักรพรรดิที่มัวเมาฉาวโฉ่ยิ่งกว่าอดีตจักรพรรดิไทเบอรีอัส พระราชบิดาเลี้ยงเสียอีก! หมดสิ้นภาพลักษณ์ของมหาราชผู้เป็นบุตรของวีรบุรุษสงครามที่เหล่าประชาเคยยกย่อง

    คาลิกูลาทระนงตนว่าไม่มีใครสามารถห้ามเขาได้แล้ว มีผลให้เหล่าขุนนางที่ปิดปากเงียบทนเห็นการกระทำของจักพรรดิมานาน เริ่มเกิดความรู้สึกอยู่เฉยไม่ไหว หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป อาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ต้องถึงคราวดับสิ้นแน่!

    ในวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 41 จักรพรรดิคาลิกูลาเสด็จประพาสเพื่อไปชมละครพร้อมด้วยพระมเหสีคาสโซเนียและเจ้าหญิงเดียซิร่า พร้อมด้วยขุนนางบางส่วนติดตามไปเป็นขบวน ใครได้เห็นเชื้อพระวงศ์ทั้งสามพระองค์ในตอนนั้น คงอดชื่นใจไม่ได้กับภาพพ่อแม่ลูกพร้อมหน้าครอบครัวอันอบอุ่น ไม่มีใครคาดคิดเลยว่า นั้นจะเป็นภาพลักษณ์อันอบอุ่นภาพสุดท้ายสำหรับครอบครัวนี้..

    .

    เพียงคาลิกูลาย่างก้าวพระบาทขึ้นบันไดโรงละคร พระองค์ก็ถูกแม่ทัพทหารคนหนึ่งที่ดักรออยู่ใช้ดาบฟันสะพายแล่งเข้าจนพระวรกายนอนจมกองเลือดกับพื้นแต่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ จึงทรงได้ทอดพระเนตรเห็นมเหสีคาสโซเนียโดนฟันเข้าที่ท้องจนดับสิ้นชีวิตอย่างน่าอนาถ ทรงร้องเรียกขอความช่วยเหลือ แต่เหล่าทหารรักษาพระองค์ได้เพียงแต่ยืนมองอย่างเฉยเมย...และที่น่าสะเทือนพระทัยที่สุดก็คือ การได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าหญิงเดียซิร่าน้อยวัยเพียง 2 ชันษา ถูกทหารจับร่างฟาดเข้ากับกำแพงจนศีรษะแตกมันสมองแหลกกระจายเสียชีวิตอย่างน่าสงสาร แม่ทัพมือสังหารรวมทั้งเหล่าขุนนางที่เอือมระอาในคาลิกูลาต่างเข้ามารุมซ้ำด้วยดาบแทงไปตามพระวรกายจนชุ่มพระโลหิตจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในที่สุด...ซ้ำรอยโศกนาฏกรรมมรณะของจูเลียต ซีซาร์ ไม่ผิดเพี้ยน

    จบสิ้นชีวิตของจักรพรรดิหนุ่มผู้น่าจะมีอนาคตที่ยาวไกลกว่านี้ด้วยวัยเพียง 28 ชันษา

    จักพรรดิคาลิกูลาถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ถึงวีรกรรมความโหดเหี้ยมที่อาจจะเทียบได้น้อยกว่าจักรพรรดิเนโรผู้เป็นพระนัดดา แต่พระองค์ก็ถือได้ว่าเป็นจักรพรรดิที่มีสีสันของชีวิตครบทุกรสชาติ ประวัติศาสตร์ป้ายสีให้พระองค์กลายเป็นทรราชในสายตาประชาชน โดยไม่ได้มองย้อนกลับไปดูสาเหตุของความบ้าของคาลิกูลานั้นไม่ได้เกิดมาจากสันดาน หากแต่สะสมมาจากความขลาดกลัวที่ถูกกดกันเอาชีวิตอยู่ตลอดเวลา โชคยังดีที่พระองค์ยังได้รับกำลังใจจากเดียซิร่า...เห็นได้จากการตอนที่คาลิกูลาปฏิภาณต่อในตอนขึ้นครองราชย์ได้ว่า จะทรงเป็นจักพรรดิที่ดีและแตกต่างจากพระราชบิดาเลี้ยงผู้ฉาวโฉ่ให้ได้ ทั้งนี้เพราะพระองค์มีเดียซิร่าผู้มีจิตใจดีงามคอยเตือนสติอยู่เสมอ

    ดั่งที่ว่า ชีวิตของบุรุษจะดีจะร้ายนั้น ขึ้นอยู่กับสตรีคู่ใจส่งเสริมให้ไปในทางไหน

    ในช่วงห้วงลมหายสุดท้ายของชีวิตนั้น เดียซิร่าผู้ปรารถนาและจงรักภักดีต่อคาลิกูลาอย่างหมดหัวใจ เธอคงหวังว่าความตายของเธอนั้นจะทำให้คาลิกูลานั้นสำนึกได้ถึงชีวิตของมนุษย์นั้นช่างแสนสั้น ควรที่รีบประกอบคุณงามความดีเป็นประโยชน์ต่อสังคมเสีย นางคงหวังว่าพี่ชายจะกลายเป็นจักรพรรดิมหาราชทีดีสมกับที่เคยปฏิภาณต่อหน้าประชาชนและที่เคยสัญญาไว้กับนางได้

    เดียซิร่าจะรู้ไหมหนอ? ว่าการมรณกรรมของเธอนั้น จะทำให้ชายอันเป็นที่รักเสียสติฟั่นเฟือนและก่อความทุกข์เข็ญให้กับผู้อื่นมากมายถึงเพียงนี้?

    หากเดียซิร่ามีชีวิตยืนยาวมากกว่านี้ เธออาจจะสามารถฉุดรั้งคาลิกูลาไม่ให้เลยเถิดไปในทางเลวร้ายจนต้องจบชีวิตอย่างน่าอดสู เธออาจจะทำให้คาลิกูลากลายเป็นมหาราชที่ดีที่ประวัติศาสตร์จะได้จารึกพระเกียรติคุณงามความดีของพระองค์เอาไว้

    ไม่ต้องกลายเป็นทรราชที่มีชื่อเสียงอันฉาวโฉ่ให้ผู้คนสาปแช่งมาจนถึงปัจจุบัน!

     

    - ภาพประกอบจากภาพยนตร์เรื่อง Caligula (1979) นำแสดงโดย Malcolm McDowell และ Teresa Ann Savoy กำกับภาพยนตร์โดย Tinto Brass







    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×