ขอทานเก่าแก่คู่เมือง
ขอทานคนนี้ ผมเห็นเขานั่งประจำที่เกินกว่า 10 ปี และเขาน่าจะเป็นขอทานคนเดียวที่คนในเขตเทศบาลตำบลรู้จักเขาดี ความลับก็ได้ถูกเปิดเผยในที่สุดเมื่อเขาเสียชีวิต
ผู้เข้าชมรวม
52
ผู้เข้าชมเดือนนี้
4
ผู้เข้าชมรวม
ขอทานเก่าแก่คู่เมืองอรัญ
เมื่อสมัย..ผมยังเป็นเด็กอยู่ห้องแถวตลาดในบนเส้นทางถนนสายสัมพันธ์ เมืองอรัญฯ ทุกๆเช้า นอกจากผมจะเห็นน้าเที่ยงบุรุษวัยเกือบสี่สิบปี ที่สวมใส่ด้วยชุดสีเขียวคล้ายทหารเดินผ่านหน้าบ้านทุกวัน อีกคนหนึ่งที่คนเมืองอรัญฯรู้จักกันแทบทุกคนคือน้าคงชายพิการที่เป็นโรคที่สังคมขยะแขยงและน่ารังเกียจ เมื่อเอ่ยชื่อถึงนายเที่ยงบ้ายศคนเกือบทั้งเทศ -บาลตำบล จะรู้จักเขาดี น้าเที่ยงเป็นคนมีอาการครบสามสิบสอง เช่นพวกเรา น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้คุยกับน้าเที่ยงอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ผมมิอาจฟันธงว่า น้าเที่ยงมีความผิดปกติทางจิตหรือไม่..น้าเที่ยงจะมีรายได้จากการรับจ้างทั่วไป แล้วแต่ผู้ว่าจ้างจะมาจ้างให้เขาทำอะไรส่วนใหญ่คนจ้าง มักจะให้แกทำ ตั้งแต่ขนเศษไม้จากโรงเลื่อยอรัญกิจไปเผ่าถ่าน บรรจุถ่านลงกระสอบและขนถ่านขึ้นรถไปขายเป็นต้น ชีวิตของแกมักจะวนเวียนอยู่บริเวณใกล้บ้านแถวโรงเลื่อย บ้านช่อง ห้องหอของแก เท่าที่ผมทราบจากเพื่อนคือจะปลูกสร้างอยู่ง่ายๆโดยตีคอกเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีหลังคาสังกะสีเก่าๆ ที่คนให้แกมา
ชีวิตแม่ค้าอย่างแม่ของผม กว่าจะได้หลับได้นอน ก็คงไม่ต่ำกว่าสามทุ่ม คนในเมืองอรัญในอดีตแค่เพียงทุ่มเศษๆก็ปิดประตูพับเลื่อนแผ่ขยายออกให้เข้าหาศูนย์กลางบ้าน แล้วใช้ไม้หลักเสียบลงรู ไม่ให้บานพับขยายออกจนไม่เป็นระเบียบจากนั้นจึงใช้คานไม้ยาวเสียบลงตรงช่องด้านหนึ่ง แล้วผลักคานไม้ให้ชิดติดกับแผ่นประตูบานพับไม้ แล้วต้องผลักให้ปลายคานไม้สุดเสียบลงในช่องที่ทำไว้เฉพาะ ความบันเทิงของเด็กในห้องแถว ส่วนใหญ่จะเป็นสองช่วง คือหลังเลิกเรียนแล้ว เพื่อนๆของผมที่ไม่มีภาระงานบ้าน ส่วนใหญ่มักจะนัดกันเล่นปาลูกบอล เตะฟุตบอล เตะขนไก่ กระโดดหนังยาง วิ่งเปี้ยว ฯลฯ สำหรับเด็กที่อยู่ห้องแถวถนนเจ้าพระยาบดินทร์ ที่เป็นลูกพ่อค้านักธุรกิจฐานะค่อนข้างดี ส่วนใหญ่เขาจะมาเล่นกีฬาอย่างบาสเกตบอลที่สนามบาสของเทศบาล ไปเล่นแบดมินตันที่ห้องประชุมของอำเภอ เวลานั้นกีฬาผู้ดีคือเทนนิส จะมีสนามฝึกซ้อมใกล้กับโรงแรมรถไฟ ที่มีที่ตั้งใกล้ๆกับสถานีรถไฟ ผมยังจำได้ว่าหลายๆครั้ง ในช่วงเย็นที่เคยไปขายซาลาเปา ให้แม่แถวๆร้านกาแฟนายเฮงจะแวะไปดูข้าราชการและพ่อค้าในตลาดนอกมาเล่นเทนนิส บางครั้งที่ไม่ได้ขายขนมยังแวะชวนไอ้แหลม กับไอ้เปี๊ยกมาคอยช่วยกันเก็บลูกเทนนิส ให้กับผู้เล่น ความคาดหวังของเราคืออยากได้ลูกเทนนิสที่ใช้งานไม่ได้มาเล่นปาบอลช่วงไปโรงเรียน
อีกช่วงเวลาหนึ่งของการละเล่นของเด็กๆซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่อยู่ห้องแถวตลาดในจะได้เปรียบกว่าทุกๆห้องแถวในเมืองเนื่องจากรถลาผ่านไปมาน้อยมาก ในอดีตรถที่จะขี่ผ่านไปมาบนถนนสายสัมพันธ์ คงเป็นเพียงแค่รถจักยานสองล้อ
“หยุดเล่นก่อนโว้ย รถมาแล้ว ” พวกเราที่กำลังเล่นบอกต่อๆกัน เพื่อให้รถผ่านไปก่อน ของเล่นของพวกเราที่ต้องรอคิวกันเล่นคือแบดมินตัน โชคดีที่ถนนคอนกรีตที่ผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้ตีเส้นประเส้นตรง เป็นร่องเพื่อให้ซีเมนต์หดและขยายตัวได้ คนที่เป็นเจ้าของแบดมินตันมีสองคน คือไอ้เฮี้ยงกับไอ้เล็ก เนื่องจากเขาเป็นลูกคนสุดท้องทั้งคู่ ฐานะทางบ้านก็มีอันจะกินดีกว่าครอบครัวของผมที่มีลูกมากส่วนใหญ่พวกเราจะเล่นแบดมินตันประเภทเดี่ยว โดยมีเส้นถนนเป็นสิ่งบอกและชี้ขาดว่าใครจะได้แต้ม เพื่ออยู่เล่นต่อไปได้อีก บ่อยๆครั้งที่เจ้าของไม้แบดต้องเสียแชมป์ทำให้เขามีอาการหงุดหงิด
“มึงเล่นขี้โกงนี่ ไอ้แหลม” ไอ้เล็ก พูดพลางทำตาขวางใส่
“เอาใหม่ก็ได้ วะ ” แหลมพูด
บางทีการเล่นพวกเราจำต้องยอมแพ้ให้กับเจ้าของไม้แบดมินตันให้เป็นตัวยืนไว้ เพราะมิฉะนั้น.เจ้าของไม้แบดฯอาจหงุดหงิดเก็บเอาไม้แบดกลับเข้าบ้านไป พาลให้คนที่ต้องการเล่นซวยและอดเล่นตามไปด้วย ลูกแบดมินตันส่วนหนึ่งผมกับไอ้แหลมลูกจ่าพิชัย ไปขอผู้ใหญ่ที่เขาเล่นในสโมสรข้าราชการ และชมรมแบดมินตัน ที่บ้านพักของนายธนาคารออมสิน
“ผมขอลูกแบด สักสองลูกครับ” ไอ้แหลมพูด
“เอาไปเลย ไอ้หนู”
ผมกับไอ้แหลมถือเป็นคู่หูที่ชอบไปดูการเล่นแบดมินตันที่บ้านพักของนายธนาคาร ฯคนที่มาเล่นส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะดี อย่างเช่นเสี่ยจากร้านขายอุปกรณ์กีฬา ข้าราชการ พ่อค้า หลายๆครั้งเราจะเป็นคนช่วยขานแต้มให้ผู้เล่น จะได้มีสมาธิในการเล่น และรางวัลที่เราได้คือลูกแบดที่มีสภาพไม่ดีเป็นกำนัล เราจึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อลูกแบดฯ ลูกขนไก่แม้จะชำรุดไปบ้างคือขนจะหักงอหรือบิดเบี้ยว แต่สำหรับเด็กๆ อย่างพวกเราไม่ค่อยจะได้ใส่ใจมากนัก เพียงแค่เอาไปเล่นตีไปตีมาก็มีความสุขแล้ว
**********************
ประมาณตีห้าของทุกวัน ในช่วงวัยเด็กของผม ตั้งแต่ผมอายุ 6 -15 ขวบ(ปี) ผมต้องไปร้านกาแฟเจ้าประจำหลักคือร้านเจ๊ม่วย ภริยาของน้านวย เจ้าของโรงแรมเพื่อสั่งกาแฟร้อน หรือโอยั๊วะ ให้พ่อกับแม่มากินดับความง่วง บ่อยๆครั้งเจ้าของร้านก็ตื่นสายผมต้องปลุกให้ตื่นขึ้นมา ทางร้านเปิดประตูแล้วกว่าจะพับบานประตูเสร็จ กว่าจะเริ่มก่อไฟ กว่าถ่านจะติด กว่าน้ำจะเดือดก็ปาไปเกือบครึ่งชั่วโมง ผมต้องนั่งรอแล้วรอเล่าหาวแล้วหาวอีก
“เอาเสร็จแล้ว ไอ้หนู” เจ๊ม่วยบอก
ผมจ่ายตังค์ไปให้หนึ่งบาท เพราะกาแฟราคากระป๋องละ .50 บาท เจ๊ม่วยส่งเชือกมะนิลาที่ร้อยบนฝากระป๋องนมให้ ผมรับมาคล้องที่นิ้วชี้แล้วค่อยๆเดินออกจากร้านของเธอกลับมาบ้านที่มีระยะทางประมาณ 400 เมตร
“มัวแต่เถลไถล พ่อกับแม่รอกิน นานเป็นครึ่งชั่วโมงเลย นะ” พ่อพูด
“ร้านเจ๊ม่วย ยังไม่เปิด ผมต้องปลุกให้เขาตื่นมาก่อไฟ และนั่งรอจนน้ำเดือด น่ะครับ พ่อ”
เหตุผลที่ผมตอบทำให้รอดจากการถูกตำหนิ พ่อมักจะเอาแต่ใจตัวเอง ผมมักเป็นกระโถนท้องพระโรง ยิ่งถ้าพ่อดื่มเหล้าเมากลับมาบ้าน แล้วผมทำอะไรไม่ทันใจ มีสิทธิถูกไม้เรียวได้ตลอดเวลา
*********************
อีกช่วงเวลา ที่ผมต้องมาตลาดสดอีกรอบคือช่วงเวลา 6.30 น.- 7.00น. หน้าที่หลักคือจ่ายตลาดและมารับหมูเนื้อแดง หมูสามชั้น เพื่อนำมาทำไส้ซาลาเปาและขนมจีบ ที่ทางเข้าตลาดมีสามทางคือประตูกลาง เมื่อก้าวเข้าไปฝั่งขวามือจะเป็นร้านขายขนมทั้งคาวหวานประเภทกินเล่นไม่หนักท้องอาทิหมี่กระทิ ข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวหน้ากุ้ง หน้าปลาแห้ง ขนมถ้วยฟู ขนมเปียกปูน ถั่วแปบ ขนมตาล ครองแครง หมูแนม ขนมขี้หนู วุ้นกระทิ ร้านขนมหวาน ที่ผมซื้อเป็นประจำคือร้านน้าอึ่งนอกจากจะอร่อยแล้วราคายังขายไม่แพง โดยเฉพาะหมี่กระทิ ราดด้วยน้ำเต้าเจี้ยวหลนหวานๆ เป็นที่ถูกปากของลูกค้าทุกราย ฝั่งด้านซ้ายของประตูด้านแนวรั้ว ภายในจะเป็นร้านกาแฟของเจ๊ม่วยจะมีชายผิวดำแดงผมหงอกประปราย ชื่อน้าคงร่างท้วมพิการเดินไปไหนมาไหนไม่ได้ เนื่องจากขาด้วน ทั้งยังเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ คือโรคคุดทะราดที่ติดต่อเรื้อรังทางผิวหนังและมีตุ่มแผลน้ำเหลืองไหลเยิ้มด้วย
น้าคงจะมานั่งขอทาน ตั้งแต่หกโมงเศษๆ ตรงริมรั้ว ทางเข้าประตูด้านซ้ายฝั่งร้านเจ๊ม่วย นับแต่เด็กจนผมเรียนจบชั้นมัธยมต้น ผมยังคงเห็นน้าคงนั่งอยู่กับที่เช่นนี้ น้าคงจะเคลื่อนตัวไปได้ โดยการใช้มือพยุงตน ที่นิ้วมือทั้งสองด้านน้าคง จะใช้รองเท้าคีบเพื่อความนุ่มและป้องกันเศษแก้ว เศษกรวดและวัตถุมีคมทิ่มตำ คนส่วนใหญ่ มักจะไม่ค่อยกล้าเข้าใกล้น้าคง โดยเฉพาะหน้าที่มีผลไม้มากๆ น้าคงซึ่งมีแผลพลุพองจนน้ำเหลืองไหลแมลงวันจะบินมาตอมแผล จนแกรู้สึกรำคาญ มีแม่ค้าในตลาดได้ซื้อยากันยุงมาไล่แมลงให้แก
น้าคง เป็นคนมาจากที่ไหนไม่มีใครทราบ แต่สันนิษฐานว่า คงไม่น่าจะเป็นคนท้องถิ่นนี้ เข้าใจว่าสถานะของน้าคงคงเป็นโสด น้าคงนั่งตรงจุดนี้ ในช่วงเช้าๆจนถึงเวลาประมาณสิบนาฬิกา แกจะไปหลบพักผ่อนด้านหลังป้อมตำรวจ เยื้องๆสถานีขนส่ง และพอถึงเวลาบ่ายสามโมงเศษๆแกก็ใช้มือพยุงตัวมานั่งที่จุดเดิมจนห้าโมงเย็นก็กลับมายังข้างป้อม เพื่อหลับนอน เหตุผลที่แกมานั่งตรงตรงทางเข้าด้านซ้ายด้านหน้าร้านเจ๊ม่วยเป็นเพราะบริเวณนี้ จะมีผู้คนพลุกพล่านทั้งภาคเช้า และเย็น สภากาแฟที่ร้านน้าม่วย จะมีคอการเมืองมาชุมนุมถกเถียง อภิปรายทุกวัน โดยเฉพาะวันหยุดเสาร์ อาทิตย์มีทั้งข้าราชการ นักธุรกิจ พ่อค้า ชาวบ้านที่สนใจการเมืองจะนั่งฟังและพูดแสดงความเห็นคึกคัก
“ไปซื้อ กาแฟเย็น ให้พ่อหน่อย ” พ่อสั่ง
การที่ผมเป็นคล่องแคล่ว -คล่องตัว พ่อกับแม่ จึงมักใช้ให้ผมไปซื้อสิ่งที่เขาต้องการ การจะให้พี่ชายไปก็ช้าเพราะขาเขาพิการจะให้พี่สาวไปก็ช้าไม่ทันกิน ภาระจึงตกเป็นของผมอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงไปได้ เมื่อมาถึงร้านเจ๊ม่วย ก็จะได้ฟังผู้ใหญ่คุย ถกเถียงกันบางครั้งถึงกับหน้าดำคร่ำเครียด แต่ละวันๆที่บริเวณตลาดสดมีผู้คนทั้งอยู่ในเขตเทศบาลและต่างหมู่ บ้าน ต่างตำบลต้องมาซื้อสินค้าพิชผัก เนื้อ ของใช้ ของกิน จำนวนเรือนพันคนบนฟุตบาทที่น้าคงนั่งเป็นที่โล่งแจ้ง เมื่อใครผ่าน ย่อมจะเห็นคนขอทานผู้น่าสงสารยกมือประหลกๆ ไหว้คนที่ผ่านไปมา ขันน้ำอลูมิเนียมเก่าๆวางอยู่ข้างหน้าตัวแก ข้างๆตัว จะมีถุงใส่หมวก เสื้อผ้า ไว้เปลี่ยนยามที่มีเหงื่อไคล
“ชาม ช้อน แก้วน้ำ เนี่ย น้าคง ต้องติดตัวไว้ใช้ตลอดเลยนะ นี่ผมซื้อมาให้ ”พ่อค้าร้านก๋วยเตี๋ยวบอก
น้าคงเคยฝากให้คนไปสั่งก๋วยเตี๋ยวมาให้แกกิน แน่นอนว่าคนที่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจและสามารถติดต่อไปยังผู้อื่นพ่อค้าจึงเห็นว่าหากใครเห็นน้าคงใช้ชาม-ช้อน ที่ร้าน คงน่าจะไม่มีอยากจะเข้ามาอุดหนุนของเขาแน่ เพื่อเห็นแก่มนุษย- ธรรม พ่อค้าจึงทำขายให้แต่จำเป็นต้องถ่ายชามที่ซื้อไว้ให้แกโดยเฉพาะ ซึ่งแกก็เข้าใจดี ..
*******************************
ช่วงผมเรียนมัธยมต้นตั้งแต่ชั้น มศ.1-มศ.3 ผมได้เรียนวิชาลูกเสือสามัญในหลักสูตรของการเรียนลูกเสือสามัญ มีกฎข้อหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น ” เป็นเพราะอาจารย์ในอดีตปลูกฝังเยาวชนให้เป็นผู้ให้กับสังคมนับแต่ฝึกด้านความเสียสละการเก็บเศษกระดาษ การไปวัดช่วยทำความสะอาดห้องน้ำ การไปดูแลความปลอดภัยเพื่อป้องกันรถจักรยานถูกลักขโมย ที่ตลาดสดเทศบาล ซึ่งมีข่าวการสูญหายเนืองๆ อาจารย์ปรีชา กับอาจารย์ใหญ่ได้กำหนดตารางเวรให้ลูกเสือหมุนเวียนกันไปช่วยดูแล ผมอาสาไปช่วยสัปดาห์ละสองวันคู่กับวันชัย ในวันหนึ่งๆ จะมีพวกเราไปยืนอำนวยความสะดวกและช่วยเฝ้ารถ10 คน พวกเราที่ไปอยู่ดูแล จะแบ่งหน้าที่กันทำ ผมจะอยู่จุดตรงหน้าร้านเจ๊ม่วย ซึ่งจะต้องพบนายคงตลอด เท่าที่สังเกต.ดูเหมือนว่าแกจะไม่มีความทุกข์ร้อนใดๆเลยสักนิด ถามว่าแกเหน็ดเหนื่อยอะไรหรือไม่ ก็คงมีบ้างคือการเคลื่อนตัวไปยังจุดหมายที่ข้างๆป้อมที่แกพัก เพราะมีระยะทางประมาณ 150 เมตร หากแกไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจคงน่าจะมีใครๆ เข้าไปช่วยประคองหรืออุ้มแก อย่างแน่นอน
“สงสาร แกนะ ไอ้ชัย ลูกเมียก็ไม่มี ใครๆ ก็รังเกียจ ”ผมพูด
“ใช่ ทำไง ได้ล่ะ ” วันชัยพูด
โดยเฉพาะในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ อาจารย์ปรีชา ซึ่งเป็นผู้กำกับ งานกิจการลูกเสือ ของโรงเรียนได้ยืดและขยายเวลาให้พวกเราช่วยดูแลเฝ้าจักรยานเพิ่มอีก หนึ่งชั่วโมง ผมจึงได้เห็นการรอรับเงินขอทานอย่างชัดเจนว่า หากมีใครเดินผ่านตรงจุดที่แกนั่ง สามในสิบคนจะให้เงินแก หากลองประเมินการได้รับเงินขอทานต่อวัน.. แกคงน่าจะได้รับเงินขอทานวันละอย่างน้อยร้อยห้าสิบบาท (กาแฟร้อนแก้วละ.25 บาท) เดือนนึงก็ได้หนึ่งพันห้าร้อยบาท สมัยนั้นพวกเราเด็กๆ ได้เงินไปโรงเรียนวันละไม่เกินห้าสิบสตางค์
“มีคนเห็นเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน มารับเงินจากน้าคง เพื่อฝากให้แกสัปดาห์ละครั้ง” ชาวบ้านคนแรกพูดในสภากาแฟ ร้านเจ๊ม่วย
“ฉันก็เคยเห็น นะ ก็คงจะว่าแกไม่ได้หรอก เพราะแกเป็นคนพิการและก็น่าสงสารจริงๆด้วย น่ะแหละ ถ้าแกไม่ฝากออมสิน และถือเงินสดไว้ อาจมีคนมาปล้นเงินแกก็ได้ จริงมั้ย” ชาวบ้านอีกคนพูด
*******************
ผมและชาวบ้านทั่วๆไปในตลาดสดเมืองอรัญฯได้เห็นน้าคงนั่งปักหลักตรงนี้ มาอย่างน้อยคงน่าจะเกินสิบห้าปีสำหรับตัวผมพูดได้ว่าคงจะพบน้าคงมากกว่าเพื่อนๆเป็นเพราะผมต้องไปตลาดทุกๆวัน ส่วนเพื่อนๆส่วนใหญ่คงอยู่แต่ที่บ้านโดยมีพ่อแม่มาจับจ่ายตลาดไปทำกินยิ่งช่วงปิดเทอมใหญ่ ผมต้องมาช่วยอาแปะ ขายน้ำจับเลี้ยงตรงหัวมุมเยื้องร้านอรุณเภสัช ยิ่งได้เห็นชาวบ้านให้ทานน้าคงชัดเจน การที่ขอทานในเมืองอรัญมีเจ้าประจำคือน้าคง ที่อยู่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้ใจบุญได้ให้ทานแกโดยมิลังเล
“ลื้อเอาจับเลี้ยง ไปให้อาคง อี..ล่วย สิ” อาแปะ บอกผม
หน้าร้อน…การกิน(ดื่ม)จับเลี้ยงช่วยดับกระหายดีนัก ช่วงสมัยผมเด็กๆ อาแปะคนนี้ คือเจ้าแรกที่มาบุกเบิกการขายทำให้คนอรัญรู้จัก
“บอกอาแปะด้วยว่าน้าขอบคุณมาก ”น้าคงบอกผม ให้ฝากถึงอาแปะ ด้วย
ส่วนมากเวลาที่อาแปะให้ผมเอาจับเลี้ยงไปให้น้าคงผมจะ เอาไปวางในขันพลาสติกสำรองอีกใบ จากนั้นแกจะยกถุง แล้วใช้ปากดูดน้ำจับเลี้ยง ตั้งแต่ชั้นประถม 3จนชั้น มศ.3 ผมพบเห็นน้าคงไม่เคยขาด จนเมื่อผมมาเรียนต่อที่กรุงเทพ นานๆครั้ง ผมจึงแวะกลับมาบ้าน แรกๆ ก็ยังเห็นน้าคงยังนั่งขอทานอยู่
“เฮ้ย…น้าคง ยังนั่งขอทานตรงที่เดิมหรือเปล่า ” ผมสอบถามน้องชาย
“ตายไปแล้ว หลายปี ” น้องชายผมตอบ
“อ้าวเป็นไร.. ตายล่ะ” ผมถาม
“ปอดอักเสบ ”น้องชายตอบ
“ใช่สิ แกต้องนอนตากลม ตากฝน นานนับสิบๆ ปี เลย”
“นี่ทางธนาคารออมสิน ประกาศหาทายาท และญาติแกให้ มารับมรดกเงินที่แกฝากหลายแสนเลยเชียว”
“สรุปมีมา มั้ยล่ะ ทายาท”
“ประกาศแล้ว ไม่มีตัวตนเลย สักคน เงินฝากของแก เลยตกเป็นของแผ่นดิน”
“โห มีเงินมากมาย ยิ่งกว่าเศรษฐี ในเมืองอรัญเสียอีก ”ผมพูด
“งานศพของแก คนมาร่วมมากมายเลย นะมึง” น้องชายผมพูด
“ใช่ แม้ แกจะเป็นแค่คนขอทาน แต่แกก็ไม่เคยให้ร้าย มีพิษมีภัยกับใคร ?? ผมพูด
“ใช่”น้องชายผมพูดสำทับ
ภาพเก่าๆ ของน้าคง ผุดขึ้นมาอีกครั้ง ในสมองของผม
ขลุ่ย บ้านข่อย
(๑๑ กุมภาพันธ์ ๖๗ )
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ผลงานอื่นๆ ของ ขลุ่ย บ้านข่อย ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ ขลุ่ย บ้านข่อย
ความคิดเห็น