ชีวิตสัปเหร่อ - ชีวิตสัปเหร่อ นิยาย ชีวิตสัปเหร่อ : Dek-D.com - Writer

    ชีวิตสัปเหร่อ

    อาชีพที่ต้องเสียสละ คนส่วนใหญ่มักมองอาชีพนี้ว่าน่ารังเกียจ แท้จริงหากขาดพวกเขา แล้วใครเล่าจะดำเนินการด้านศพของผู้เสียชีวิต

    ผู้เข้าชมรวม

    183

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    1

    ผู้เข้าชมรวม


    183

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    หมวด :  อื่นๆ
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  13 พ.ย. 66 / 15:39 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น

                                                        ชีวิต..สัปเหร่อ

    ลุงวาฬ เป็นสัปเหร่อ คนแรกที่ผมรู้จักและสนิทสนมเสมือนญาติคนหนึ่ง ในวัยเด็กที่ผมมีอายุ3-5 ขวบ ในช่วงก่อน เข้าโรงเรียน ลุงวาฬหรือป้ากิมจะมารับไอ้เล็กกับผมไปเลี้ยงดูที่บ้านแม้สองสามี-ภริยาคู่นี้ ไม่มีลูกเพื่อสืบสกุล     แต่คนทั้งสองก็อยากจะมีลูกไว้เป็นบุตรของตน  ลุงวาฬกับป้ากิม ได้ขอไอ้เล็กจากแป๊ะก่วย-กับป้าเช็งไปเลี้ยงดูอยู่ระยะหนึ่ง    สองสามี- ภริยาคู่นี้นับว่า เป็นคู่ชีวิตที่มีความรักใคร่ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างแท้จริง  ลุงวาฬ นอกจากจะมีอาชีพรับจ้างทั่วไป แล้วยังมีหน้าที่เสริมอีกหนึ่งอย่างคืออาชีพสัปเหร่อ  

    ลุงวาฬ…  ได้ทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับศพนับตั้งแต่มัดตราสังจนถึงการฝังหรือเผาศพ. คนในเขตเทศบาลของตำบลที่ผมอยู่อาศัย ไม่มีใครที่ไม่รู้จักลุงคนนี้เลย  ทุกครั้งที่ผมได้ยินเสียงกลองจากวัดหลวงดังมาจนถึงห้องแถว นั่นคือสัญญาณบอกว่าที่วัดต้องมีงานศพที่จะต้องมีการฌาปนกิจศพของคนตายอีกภายในเวลาไม่ช้า    บ้านของลุงวาฬ อยู่แถวโรงไฟฟ้า บ่อยๆครั้งลุงวาฬเหนื่อยจากการจัดการเรื่องงานศพที่วัด เขาจึงมักจะมาของีบหลับพักผ่อนที่บ้านแป๊ะก่วย เตี่ยของไอ้เล็ก พูดได้ว่าคนในห้องแถวที่ผมพักไม่มีใครเลยสักคนที่จะรังเกียจอาชีพของลุง ลุงวาฬเป็นคนใจดี วันใดที่เป็นวันพระ .เมื่อลุงเข้าไปช่วยจัดการการถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุเสร็จแล้ว จะมีของคาวของหวานเหลือมากมาย ลุงจะหอบติดไม้ติดมือมาฝากภริยาและเด็กๆที่รู้จัก

      “เอาขนมไปกินสิ ลูกๆ ”ลุงวาฬ พูด  

       “ครับ”

       แม้ลุงวาฬจะเป็นผู้ชาย บ่อยๆครั้งที่ผมเห็นแกจะมาขอกินหมากของแม่ผมไปเคี้ยวจนแก้มป่อง  จนผมอดสงสัยไม่ได้ว่าหมาก-พลูเหล่านี้ ทำไมจึงมีผู้นิยมเคี้ยวกัน   

      “แม่.ขอหนูได้ทดลองกินหมากด้วยสิ  อยากรู้ว่าทำไมจึงมีเพื่อนๆของแม่ ชอบมากินหมากที่บ้านเราจัง” ผมพูด  

      แม่จัดการเอาใบพลูใบเล็กๆมาหนึ่งใบ จัดการใส่หมากพร้อมทาปูนแดง ยิื่นส่งให้ผมลองเคี้ยว เพียงกัดไปได้นิดหน่อย เมื่อลิ้นได้สัมผัสกับใบพลูและหมาก ก็ต้องคายออกเพราะมันเผ็ดอย่างมาก  

     " เผ็ดก็เผ็ด แต่ทำไม ผู้ใหญ่จึงชอบกินกันนะ"  ผมคิด

         ตลอดห้องแถวที่ผมอยู่อาศัยจะมีเพียงบ้านหลังผมเพียงหลังเดียว ที่กินหมากพลูทั้งยายและแม่ผมจะมีฟันสีดำ ขาประ จำ ที่แวะมาหาแม่และยายคือป้ากล่ำ ป้าเช็ง  หมากพลูถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมีไมตรีจิตที่ดีต่อกัน  เมื่อมีแขกมาเยือนที่บ้าน แม่กับยายของผมจะมีการเตรียมหมากและน้ำไว้ให้แขก  น้ำฝนที่รองใส่โอ่งใบใหญ่สองใบเต็มจนล้น  จึงต้องซื้อโอ่งตรามังกรมาเพิ่มอีกหนึ่งใบเพื่อมาไว้เก็บน้ำฝนไว้ดื่ม 

    “ไปตักน้ำฝน มาให้ป้าเช็งหน่อย..  เร็วสิ  ” แม่พูด

     ผมไม่รอช้าและไม่เคยปฎิเสธที่จะกระทำตามคำที่แม่บอก เป็นเพราะป้าเช็งได้เคยหยอดน้ำมันหล่อลื่น เพื่อกระตุ้นให้ผมมีกำลังใจเสมอ 

                                            ******************************************

        ในเขตเทศบาลหากมีคนเสียชีวิต ส่วนใหญ่เจ้าภาพงานศพมักจะนำเอาศพผู้ล่วงลับ มาสวดพระอภิธรรมที่วัดหลวงและหน้าที่นี้ ต้องตกมาให้ลุงวาฬสัปเหร่อรับหน้าที่เผาศพแบบสดๆใกล้ๆกุฎิพระนั่นเอง สัปเหร่อ.เป็นอาชีพที่สำคัญมากเพราะ เขาเป็นคนสุดท้ายที่อยู่กับร่างที่ไร้วิญญาญ จรรยาบรรณของสัปเหร่อ คือต้องไม่เลือกปฏิบัติกับศพต่อให้ศพจะเป็นชาย- หญิง คนชั่วหรือคนดีที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงมาก็ต้องอยู่กับศพตรงนั้น น้อยคนนักที่อยากจะมาทำอาชีพนี้ จากที่ผมเคยสอบถามกับลุงวาฬ 

              “ลุงอยู่กับศพไม่กลัวผีหลอกหรือ”

    “จะไปกลัวอะไร สัปเหร่อไม่มีสิทธิกลัว เพราะเป็นหน้าที่ คนตายก็คือคนเหมือนกับเรานี่เอง  ”ลุงวาฬ พูด

    “ถามจริง ตั้งแต่ลุงเผาศพ เคยเจอผีบ้างไหม”  

     “ไม่เคย  ”

     “ลุงเผาศพนี่ ได้เงินมากมั้ย ”

     “ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพน่ะ ลุงไม่เคยเรียกร้องเงินทอง อะไรกับใคร ”

      ไม่น่าเชื่อเลยว่า จะมีเรื่องราวแบบนี้ด้วย..ว่าไปแล้วลุงวาฬนี่คือผู้ที่เสียสละ  จริงๆแล้วหากไม่มีสัปเหร่อ เรื่องการจัดการศพที่จะต้องเผาก็คงต้องตกเป็นภาระกับพระและเณรและรวมถึงบรรดาญาติๆของผู้ล่วงลับ  ลุงวาฬเคยคิดอยากจะฝึกให้ผมกับไอ้เล็กได้เรียนรู้การทำพิธีกรรมจัดการเกี่ยวกับเรื่องการเผาศพเหมือนกัน  แต่ด้วยเวลานั้นอายุของพวกเรายังเด็กเกินกว่าที่จะสอนให้ได้ ลุงวาฬจึงมองหาคนอื่นๆและที่สุดแล้ว ลุงวาฬก็ได้พี่บุญนำชายที่มีอาการเพี้ยนๆ ไม่เต็มบาทมาเป็นลูกมือในการเผาศพในภายหลัง

      พี่บุญนำ.จะมาที่บ้านผม เพื่อมารับขนมไปขายเพื่อเอากำไรทุกๆวัน เวลานั้นเขาอายุเกือบจะ 30  ปีแล้ว โดยปกติ พี่บุญนำจะเดินออกจากป่าช้าของวัดช่วงตีห้าเพียงลำพังผู้เดียว เหตุที่พี่บุญนำมาอยู่ที่ป่าช้า เป็นเพราะเขากับพ่อทะเลาะกัน  ตัวเขาเองจึงได้หนีออกจากบ้านมานอนที่ป่าช้า  พี่บุญนำมารับขนมที่บ้านของผมไปขายเกือบสิบปี วันหนึ่งๆเขาจะมีรายได้จากการค้าขายไม่น้อยกว่าวัน 30 - 50 บ่าท  (ค่าของเงินในเวลานั้น เทียบเป็นมูลค่า คือก๋วยเตี๋ยวชามละ 1 บาท)   ช่วงหนึ่งที่ชายแดนไทย-กัมพูชามีการประทะกันของสองประเทศ มีทหาร - ตำรวจตระเวณชายแดนที่เหยียบกับระเบิด   จนต้องสูญเสียชีวิต ภาระงานของลุงวาฬจึงมีมากและต้องเหนื่อย การที่พี่บุญนำได้มาเป็นสัปเหร่ออีกคน จึงทำให้งานการเผาศพเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้สติสตังค์ของพี่บุญนำไม่เต็มร้อย แต่เขาก็สามารถเรียนรู้ในหลายๆเรื่องได้ไม่ยาก  

       “นี่นะ ..ไอ้บุญนำ เดี๋ยวข้าฯ จะสอนเอ็งให้ได้รู้ขั้นตอนวิธีปฎิบัติ

       “ครับ”

      "หลังจากที่ญาติผู้ล่วงลับ มาแจ้งแก่ทางวัดว่าจะมาให้ช่วยจัดการฌาปนกิจศพ ลำดับแรกที่เอ็งต้องทำ คือ เราต้องทำการเบิกโลง . เอาเป็นว่าหากมีศพเข้ามาวันหน้า ข้า..จะไปเรียกเอ็งนะ   "ลุงวาฬพูด

      “ครับ ลุง”  พี่บุญนำพูด

                                           *****************************

        สัปดาห์ต่อมา ..มีศพจากผู้ล่วงลับ ได้ถูกญาตินำมาแจ้งให้เจ้าอาวาส   ลุงวาฬ จึงได้โอกาสเรียก พี่บุญนำที่นอนในกระท่อมข้างป่าช้า มาถ่ายทอดวิชาความรู้ การเบิกโลงให้ปฎิบัติ  

    การเบิกโลง ในแต่ละท้องที่ อาจมีแตกต่างกัน ทางบ้านเราเมื่อทำพิธีมัดตราสังเสร็จแล้ว ก่อนนำศพใส่โลง ต้องทำพิธีเบิกโลงก่อน ”ลุงวาฬพูด

    พี่บุญนำ ตั้งใจฟังและมองดูวิธีการทำพิธีเบิกโลง อย่างตั้งใจจากนั้นพี่บุญนำได้ฝึกทำจนสามารถทำเองได้

    “ข้อสำคัญที่เอ็งต้องทำ หลังนำศพผู้ล่วงลับลงในโลงศพแล้ว เราต้องไปเตรียมเมรุเผาศพก่อนการเผา ขั้นตอนต่อมาคือเราจะเปิดโลงและตัดด้ายที่มัดมือ มัดเท้าศพ และล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว”ลุงวาฬแนะนำ

    "ครับลุง" พึ่บุญนำตอบ

           ลุงวาฬได้ย้ำกับพี่บุญนำเสมอ คือเรื่องหลักการไม่เลือกปฏิบัติ เราต้องเผาศพให้เจ้าภาพทุกราย โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือฐานะความยากดีมีจน ต้องทำหน้าที่ด้วยความเป็นมืออาชีพ  คือต้องรับผิดชอบงานในหน้าที่ให้สำเร็จเรียบร้อยทุกขั้นตอน ตั้งแต่ทำความสะอาดเตาเผา จนถึงช่วงเก็บกระดูก  

     “โชคดีนะ ที่ลุงได้บุญนำมาช่วยงาน  ลุงไม่รู้เหมือนกันว่าหากลุงทำไม่ไหว จะมีใครมาสืบทอดแทนลุงอีก” ลุงวาฬพูด

        พี่บุญนำ..แม้จะมีอาการทางจิตบ้าง ลุงวาฬ..จึงมิอาจคาดหวังว่าเขาจะสามารถเป็นตัวตายตัวแทนได้ ลุงพยายามหาคนอื่นมาทดแทนอีก  ช่างโชคดีที่นายเพชรคนข้างวัด เพิ่งปลดจากทหารเกณฑ์ ได้อาสาเข้ามาช่วยลุงวาฬเป็นคนล่าสุด  สัปเหร่อของวัดจึงมีเพิ่มเป็นสามคน รูปแบบการฌาปนกิจยุคปัจจุบัน ถือว่าง่ายกว่าสมัยก่อนมาก คือสามารถใช้ไฟฟ้าหรือแก๊สเผาศพผู้ล่วงลับ งานศพของแม่ผมได้ตั้งไว้ที่ศาลา 6 คืน 7 วัน ในแต่ละวันต้องมีค่าใช้จ่าย เฉลี่ยคืนละหนึ่งหมื่นบาท งานนี้ได้นายเพชรมาช่วยเป็นธุระในทุกขั้นตอน  ผมมีความใกล้ชิดกับนายเพชรมากขึ้นตามลำดับ ในฐานะที่ผมเป็นตัวแทนของครอบครัวของผู้ล่วงลับ จึงต้องดูแลเอาใจใส่ คนที่จะช่วยทำให้งานศพของแม่ผมเป็นไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อย   ดังนั้นเรื่องอาหาร การกิน เงินค่าเหนื่อยประจำวัน ผมมิทำให้เขาต้องผิดหวังเลย และเมื่อถึงวันสุดท้ายที่เก็บอัฐิของแม่แล้วเสร็จ   ผมยังได้มอบพัดลมที่ทำเป็นพวงหรีด และให้เงินทิปแก่เขาอีกจำนวนหนึ่ง นี่คือความผูกพันของเจ้าภาพที่มีกับสัปเหร่อที่ใครๆมักดูแคลนว่าเป็นอาชีพที่น่ารังเกียจ เพราะหากินกับผี  ชีวิตของคนพวกนี้ใครๆ มักจะมองว่าเป็นคนสกปรก และจะวนเวียนอยู่กับเรื่องกินเหล้าเมายา แต่ผมกลับมองว่า เขาคือบุคลากรที่มีความสำคัญกับพิธีกรรมที่สำคัญของมนุษย์        

                                            ********************* 

           ผมเริ่มสนใจกับอาชีพสัปเหร่อมากขึ้น เป็นเพราะผมต้องไปร่วมงานศพของชาวบ้าน ทั้งในหมู่บ้านที่ตนอาศัยและต่างหมู่บ้าน ช่วงก่อนหน้าผมช่วยเจ้าภาพในงานศพได้ คือการรับอาสาทำการ์ดงานศพ  ถ่ายภาพกิจกรรมในงานศพ ใช้ภู่กันเขียนชื่อสกุลผู้ล่วงลับ ประดับดอกไม้ที่รูปภาพผู้ล่วงลับ ประดิษฐ์ดอกไม้บนโลงศพ  การที่ผมได้เข้าไปสัมผัสงานเช่นนี้บ่อยๆจึงได้รู้จักกับสัปเหร่อประจำสุสานของหมู่บ้านนั้นๆ  โอกาสของผมมาถึงเมื่อได้มางานศพของลูกสาวของแฟนเพลง ที่เขาติดตามรายการเพลงที่ผมจัดรายการ                 

       “ ผมชื่อแรมครับ ทำหน้าที่จัดการเรื่องศพ ครับ” สัปเหร่อ พูด 

       ในงานศพครั้งนี้ผู้เป็นเจ้าภาพมีฐานะยากจน จนไม่มีเงินที่จะซื้อโลงศพมาใส่ผู้เสียชีวิต สัปเหร่อแรม ได้อาศัยความคุ้นเคยกับทางหลวงพ่อวัดกองเกวียน ขอโลงมาบรรจุศพให้  นี่เป็นครั้งแรก ..ที่ได้สะท้อนความรู้สึก ความน่าเห็นใจ และเวทนาของผม  จึงคิดอยากจะเข้าไปช่วยเหลือสังคมกับงานด้านสัปเหร่อบ้าง 

       “ได้เลยครับอาจารย์ เริ่มงานนี้เป็นงานแรกเลยก็ได้ “ นายแรมพูด   

       “ได้ครับ  ผมต้องยกครู ครอบครูหรือไม่”

       “เดี๋ยวผมให้พ่อผมดำเนินการทำพิธีให้  งานแรกนี้ผมเพียงอยากให้อาจารย์ได้ลองทดสอบความกล้าคือผมอยากให้อาจารย์  ไปช่วยทำความสะอาดที่เชิงตะกอน เตรียมวัสดุเผาได้แก่ยางรถยนต์ ท่อนฟืนและน้ำมันเบนซิน ” นายแรมพูด

      “ให้ผมไปทำคนเดียว หรือ”

       “ไม่หรอก มีน้องชายของผมอีกคนคือนายรวมไปช่วย น้องชายผมก็เป็นสัปเหร่อ น่ะครับ ”

       “ที่บ้านของนายแรม ทำอาชีพนี้มาช้านานหรือยัง”

       “หลายชั่วอายุคนแล้วตั้งแต่ปู่ผม พ่อผม รวมถึงพี่น้องของผมทุกคนในบ้านก็ล้วนเป็นสัปเหร่อ   ” นายแรมพูด

        และนี่คือครั้งแรกที่ผมได้เข้าไปที่สุสาน ที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านเกือบสองกิโลเมตร เพื่อทำความสะอาดสุสาน และเตรียมถาดรองรับกระดูก ที่จะถูกเผาไฟ ในวันที่มีการกำหนดให้ทำการฌาปนกิจ 

     “ว่าไป ก็น่ากลัวอยู่นะ ที่นี่ …” ผมพูด กับนายรวม 

     “ธรรมดาๆ เอง ผมมาทำเป็นประจำ” นายรวมพูด

      งานแรกที่ผมเข้าไปฝึกสภาพความกล้าได้ผ่านพ้นไป นี่เป็นเพราะได้อยู่กับคนที่มีอาชีพนี้โดยตรง ความกลัวจึงลดลงไปได้ในระดับหนึ่ง  ครอบครัวนี้มีชื่อ ร. กันทุกคน …นับแต่พ่อของสัปเหร่อ ชื่อราญ  ลูกๆมี 4 คนคือนายแรม  นายราญ นายรวมและนางสาวรี ทุกคนมีความรู้ในวิชาชีพสัปเหร่อทุกคน เมื่องานแรกลุล่วงไป ผมจึงมีโอกาสได้ไปเที่ยวบ้านนายแรมที่บ้านหัวทุ่ง ก่อนหน้าที่ผมไปที่บ้านนายแรม ได้จินตนาการว่าบ้านของครอบครัวสัปเหร่อคงเป็นกระต๊อบหลังเล็กๆ แต่พอไปถึงบ้านของเขาจริง ก็อดที่ประหลาดใจไม่ได้ เพราะผิดคลาดไปอย่างมาก

     “นี่บ้านนายแรมหรือ”  ผมพูด

     “ใช่ครับ อาจารย์  เชิญเข้าข้างในบ้านก่อน  ” นายแรมพูด

      วันนี้… .ผมมาบ้านนายแรม ตามที่เจ้าบ้านชวนมาเยี่ยมบ้านของเขา จากที่มองด้วยสายตา บ้านของครอบครัวสัปเหร่อใหญ่โตกว่าที่คิดไว้  รั้วของบ้านทำจากอิฐบล็อกเป็นกำแพงยาว บริเวณประตูทางเข้าบ้านปลูกเฟื่องฟ้าออกดอกสวยงาม   

      “วันนี้..ได้หัวหมูมาหนึ่งหัว จากการเผาศพ เจ้าภาพในงานให้มา น่ะครับ ผมจึงโทรศัพท์ตามให้อาจารย์ มานั่งดื่มด้วยกัน ” นายแรมพูด

        สมาชิกในบ้านของนายแรมอยู่กันครบถ้วนทั้งสี่พี่น้อง คนเล็กสุดที่เป็นหญิงที่ผมพบดูจากภายนอกเหมือนทอม ตัดผมสั้นเหมือนผู้ชาย   

       “ไอ้รี.. เอามีดกับเขียงในครัว ให้หน่อยเดี๋ยวจะหั่นหัวหมูกิน”นายแรมพูด

      ทุกคนในบ้านต้อนรับผมอย่างดี ผมมองภายในบ้านเห็นพวงหรีดรูปแบบต่างๆเต็มบ้าน มีทั้งพวงหรีดนาฬิกา พัดลม ช้อน ถาด ชาม ผ้าขนหนู มากมาย  

      “ที่เห็นนี่ ..เจ้าภาพให้ผมมาทั้งสิ้น  ”นายแรมพูด

      “อาจารย์จะเอานาฬิกา มั้ยครับ ที่บ้านผมมีเป็นสิบๆ อัน”

      “ไม่หรอกครับ  ”ผมพูด

       หลังจากดื่มและพูดคุยกัน ผมได้เสนอแนะให้นายแรม ทำหน้าที่งานสัปเหร่อให้ครบวงจร แต่เดิมนายแรมจะทำหน้าที่  รับศพจากผู้ล่วงลับมาเผาและเก็บอัฐิให้เจ้าภาพเท่านั้น    

        “งานศพบางงาน จะขาดเครื่องเสียงและไฟประดับที่หน้าโลงศพ หากนายแรมมีเครื่องเสียงเพื่อให้บริการกับผู้มาติดต่อเรานี่ ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง” ผมพูดแนะนำ

       “ครับ งั้นผมจะแวะในเมือง เพื่อซื้อเครื่องเสียงและลำโพง ตามที่อาจารย์แนะนำ ” นายแรมพูด

        การที่นายแรมเป็นสัปเหร่อที่ต้องทำหน้าที่จัดการเรื่องศพ ในหลายหมู่บ้านเขาจึงรับงานเฉลี่ยเดือนละ ไม่ต่ำกว่า  8  งาน และอาจมากกว่านี้ หลายงานที่มีผู้เสียชีวิตพร้อมๆกันเขาจะมอบหมายงานให้น้องๆไปทำหน้าที่แทน  ภาพที่ชาวบ้านเห็นนายแรมรับงาน.และมีรายได้ค่อนข้างมาก หลายคนต่างรู้สึกอิจฉาครอบครัวของเขา  ว่าไปแล้ว..การแต่งตัวของครอบครัวนายแรมอาจจะมอมแมมไปบ้างก็เปรียบผ้าขี้ริ้วห่อทอง   ขนาดผมมีเงินเดือนกินแน่นอน ก็ยังสู้ครอบครัวของนายแรมไม่ได้

       “ตอนที่พ่อของผม พาไปฝึกทำหน้าสัปเหร่อ ผมนี่ทั้งอายและทั้งกลัวเลยครับอาจารย์ วันนี้   …พ่อของผมวางมือแล้ว เพราะชราภาพ  “

       “เคยได้ยินใครเขานินทา บ้างมั้ยครับ”ผมถาม

       “มีออกบ่อยๆน่ะ ชีวิตสัปเหร่อมันก็เป็นอย่างนี้นี่แหละ ผมเคยเจอมาแล้วทุกอย่าง ไม่ว่าโลงจะรั่ว ศพจะเหม็นจะเน่าแค่ไหน ผมก็ต้องทนอยู่กับมันให้ได้  ”นายแรมพูด

       “นี่ขนาดผมแค่เขียนข้างโลงศพ เหม็นจนต้องเอามือบับจมูก  ” ผมพูด

      "คนธรรมดาจะไปอยู่อย่างผมไม่ได้แน่นอน ช่วงเปิดฝาโลง ลูกหลานเห็นศพพ่อแม่เน่า ก็วิ่งหนีกันหมดแล้ว แต่เราวิ่งหนีไม่ได้ ต้องอยู่ตรงนั้น” นายแรมพูด

      “คิดจะเลิกอาชีพนี้หรือไม่”

      “คงไม่เลิกอย่างแน่นอน  “

         หากจะพูดถึงวิชาชีพของสังคมไทย มีวิชาชีพอยู่สามอย่างที่คนมักดูหมื่นดูแคลนนั่นคืออาชีพกรรมกร  โสเภณีและ สัปเหร่อ จากการที่ผมได้ติดตามและไปเที่ยวบ้านนายแรมไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง แม้จะดูภายนอกว่า ครอบครัวของเขาจะแต่งตัวซอมซ่อ ไม่สะอาด แต่บ้านที่อยู่อาศัยของเขา หลังใหญ่โตเหนือกว่าบ้านของชาวบ้านทั่วไป 5 ชีวิตของครอบครัวนี้มีทุกอย่างครบถ้วนนับแต่มีรถยนต์ รถจักรยานยนต์และเครื่องอำนวยความสะดวก  

          ทุกคนในโลกนี้ย่อมไม่พ้นมือของสัปเหร่อ ตัวของสัปเหร่อเองก็ไม่พ้นสัปเหร่ออีกเช่นกัน เมื่อมีคนตายสัปเหร่อก็ต้องฝังหรือต้องเผา ช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา  ในพื้นที่นี้ หากไม่มีนายแรมและครอบครัวของเขารับทำหน้าที่ผู้ควบคุมการเดินทางข้ามมิติของร่างอันไร้วิญญาณ แน่นอนว่าสังคม..ย่อมเดือดร้อน

         อาชีพที่คนเกลียดและรังเกียจ อาชีพที่คนไม่กล้ากินข้าวด้วย เพราะมือไปจับศพมา ใครจะมองว่านายแรมเป็นเช่นไร แต่โดยส่วนตัวผมไม่เคยคิดเช่นนั้นเลย   

        ‘สัปเหร่อ" แม้จะถูกมองว่าไร้เกียรติ รายได้ต่ำ แต่มันก็สุจริตและไม่คดโกงใคร

                              น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่มองข้ามจุดนั้ 
    .
     

    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×