cctcaa
ดู Blog ทั้งหมด

รูปหล่อหลวงพ่อทวด เลขใต้ฐาน(เบตง) 2505 : ต้นสายปลายเหตุแห่งการจัดสร้าง

เขียนโดย cctcaa

รูปหล่อหลวงพ่อทวด เลขใต้ฐาน(เบตง) 2505 : ต้นสายปลายเหตุแห่งการจัดสร้าง

ในโอกาสหนึ่งได้สัมภาษณ์ ท่านสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับสุดยอดพระเครื่อง 'หลวงพ่อทวด' ที่ขึ้นชื่อลือลั่น และปัจจุบันราคาแพงระยับจับจิต แถมหายากจนมีของปลอมออกมาเกร่อ นับเป็นหลวงปู่ทวดรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างสูงแม้จะไม่ได้ออกโดยวัดช้าง ให้โดยตรงแต่ก็มีความเกี่ยวพันกับวัดช้างให้อย่างแยกไม่ออก

เรียกกันว่า "รูปหล่อหลวงปู่ทวด เลข ใต้ฐาน (เบตง) 2505" หรือรู้จักกันทั่วไปว่า "รุ่นท่านสวัสดิ์ โชติพานิช สร้าง" ซึ่งท่านสวัสดิ์ เป็นอดีตประธานศาลฎีกาคนที่ 27 (1 ต.ค.2534-30 ก.ย.2535)

มูลเหตุที่ก่อกำเนิด 'หลวงปู่ทวด เลขใต้ฐาน (เบตง) 2505' นั้น เริ่มขึ้นเมื่อ ท่านสวัสดิ์ โชติพานิช ได้ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัด ที่ อ.เบตง จ.ยะลา ในปี พ.ศ.2503 ซึ่งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย (คำว่า "เบตง"(Betong) มาจากคำภาษามลายูคือ Buluh Betong หมายถึง ไม้ไผ่ หรือไผ่ตง) 'เบตง' ในเวลานั้นมีผู้คนหลายเชื้อชาติอาศัยปะปนกันอยู่ ทั้ง คนไทยพุทธ ไทยมุสลิม ชาวจีน และอื่นๆ การนับถือศาสนาจึงค่อนข้างหลากหลาย แต่เกียรติคุณของ 'หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี' ก็ยังขจรขจายได้รับการเคารพนับถือกันอย่างกว้างขวางทุกหมู่เหล่า

ท่านสวัสดิ์เล่าว่า สมัยก่อนเขาจะเรียกท่านว่า 'หลวงพ่อทวด' ไปที่ไหนก็จะพูดคุยกันถึงแต่พระเครื่องของ ท่าน ตัวท่านสวัสดิ์เองก็เคารพนับถืออย่างมากและมักเดินทางไปกราบสักการะ ณ วัดช้างให้ เป็นประจำ ซึ่งช่วงนั้น 'พระหลวงพ่อทวดเนื้อว่าน' ที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 ยังคงมีให้เช่าบูชาอยู่

"ตอนไปอยู่ใหม่ๆ มีผู้นำหลวงพ่อทวดบูชา รุ่นแรกๆ ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว มาให้หนึ่งองค์ พอถึงวันหยุดพวกเราก็จะเตรียมตัวไปกราบหลวงพ่อทวดที่วัดช้างให้ ที่วัด จะมีพระภิกษุคอยให้เช่าบูชาหลวงพ่อทวดเนื้อว่านปี 2497 ผมทำบุญไป 20 บาท ท่านก็แจกพระเครื่องมาองค์หนึ่ง หัวหน้าศาลที่ไปด้วยกันท่านก็ได้มาองค์หนึ่ง"

ในบรรดาข้าราชการที่เบตงนั้น คุณชลอ เชาว์ดี นายด่านศุลกากร เป็นอีกท่านหนึ่งที่เคารพนับถือหลวงพ่อทวดเป็นอย่างยิ่ง มักจะชักชวนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปนั่งปฏิบัติธรรมทำสมาธิกันที่บ้านของคุณ ชลออยู่เป็นประจำ

ต่อมาคุณชลอได้รับอนุญาตจาก คุณรัตนา ภรณ์ อินทรกำแหง ให้ฉายภาพยนตร์ไทย เรื่อง "รุ้งเพชร" เพื่อให้นำออกฉายเพื่อหารายได้นำมาทำบุญ เนื่องจากระยะหนึ่งคุณรัตนา ภรณ์ได้ประสบการขาดทุนจากการสร้างภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง จึงไปบนหลวงพ่อทวดไว้ และประสบความสำเร็จ

ท่านสวัสดิ์เกิดแนวคิดที่จะให้ช่วยกันสร้าง 'รูปเหมือนหลวงพ่อทวด' เพื่อประดิษฐานไว้ ที่ อ.เบตง เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวและเคารพ สักการะของประชาชน ไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงปัตตานี ซึ่งการเดินทางสมัยนั้นแสนยากลำบาก ประกอบกับโรงภาพยนตร์ในเบตงเวลานั้นออกจะทันสมัยมากกว่าที่อื่น โครงการ ฉายภาพยนตร์เพื่อหารายได้ทำบุญจึงเกิดขึ้น ปรากฏว่ามีผู้คนมาชมดูมากมายเก็บเงินได้ กว่า 3 หมื่นบาท จากนั้นเริ่มหารือกันต่อในกลุ่มผู้ดำเนินงานว่าจะนำเงินรายได้นี้ไปทำบุญให้ เกี่ยวเนื่องกับหลวงพ่อทวดอย่างไร

ด้วยจำนวนเงินที่มีอยู่ หากจะทำศาสนสถานขนาดใหญ่ให้มั่นคงถาวรก็ยังไม่พอ จึงปรึกษาหารือและพยายามเสาะหาช่างที่จะสร้างพระวิหารได้ในวงเงินที่มี ไปได้ช่างชื่อ ช่างน้อย ซึ่งรับปากว่าจะสร้างได้ในขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปหลวงพ่อทวด โดยสร้างขึ้นที่ วัดพุทธาธิวาส เพราะเป็นวัดเดียวในตัวเมืองเบตง

การก่อสร้างพระวิหารประดิษฐานรูปหลวงพ่อทวดนั้น งบประมาณได้บานปลายขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับช่วงนั้น คุณชลอย้ายเข้าไปประจำที่กรุงเทพฯ ท่านสวัสดิ์จึงกลายเป็นแกนหลักในการก่อสร้าง โดยบอกบุญไปยังพรรคพวกเพื่อนฝูง และนำวัตถุมงคล จาก วัดช้างให้มาให้เช่าบูชาเพื่อร่วมบุญ

ทางด้านคุณชลอ แม้จะเข้ากรุงเทพฯ ก็ยัง หาทางรวบรวมเงินบริจาคส่งมาช่วยเหลือเป็นประจำ การก่อสร้างใช้เวลากว่า 1 ปี จึงลุล่วงแล้วเสร็จ จากงบประมาณเริ่มต้นสามหมื่นบาทบานปลายถึงสามแสนกว่าบาท

ในช่วงนี้เองท่านสวัสดิ์ใกล้ถึงกำหนดที่ต้องย้ายไปรับตำแหน่งที่จังหวัดอื่น บรรดาพ่อค้าประชาชนจึงชักชวนให้ท่านสร้าง 'พระเครื่องหลวงพ่อทวด' เพื่อเป็นที่ระลึก ซึ่งการสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ นั้น จำต้องได้รับความยินยอมจาก พระครูวิสัยโสภณ หรือ พระอาจารย์ทิม เจ้าอาวาสวัดช้างให้

ซึ่งท่านสวัสดิ์ก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับพระอาจารย์ทิมเป็นพิเศษอยู่ แล้ว เพราะเคยได้ร่วมขบวนไปกราบนมัสการหลวงพ่อทวดยัง เขตโกร๊ะ (ตำบลเซะ เดิมอยู่ในเขตอำเภอ ยะรม ต่อมาเมื่อปักปันเขตแดน จึงรวมอยู่ ในเขตรัฐเปรักของมลายา) ที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ประดิษฐานสังขารองค์หลวงพ่อทวด คราวหนึ่งท่านได้นำดินจากสถานที่ประดิษ ฐานสังขารองค์หลวงพ่อทวดกลับมาด้วยประมาณหนึ่งกระสอบ

หลังจากได้รับการชักชวนจากชาวเบตงให้สร้างวัตถุมงคลหลวง พ่อทวดขึ้นเพื่อเป็น ที่ระลึกให้กับชาวอำเภอเบตงนั้น คราวหนึ่งซึ่งท่านสวัสดิ์ได้เดินทางด้วยรถไฟจากยะลาเข้าสู่กรุงเทพฯ มีผู้นำรูปหล่อพระองค์หนึ่งมอบให้ท่านในขณะเดินทาง มาทราบภายหลัง ว่าเป็น 'รูปหล่อลอยองค์ของสมเด็จพระพุฒา จารย์ (โต) พรหมรังสี' ซึ่งสร้างโดย หลวงปู่นาค (พระเทพสิทธินายก) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งได้ศึกษา เล่าเรียนกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) ผู้เป็นศิษย์เอกของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ

ท่านสวัสดิ์ถูกอกถูกใจในรูปลักษณะของพระที่ได้มานี้มาก จึงไปขออนุญาตพระอาจารย์ทิม ซึ่งก่อนจะไปขอนั้น ท่านสวัสดิ์ได้ไปยัง 'สถูปหลวงพ่อทวด วัดช้างให้' และตั้งจิตอธิษฐานขออนุญาตจากดวงวิญญาณหลวงพ่อทวด และขอให้หลวงพ่อดลบันดาลให้พระอาจารย์ทิมอนุญาต

ปรากฏผลเป็นที่น่าอัศจรรย์นัก เพราะโดยปกติแล้วพระอาจารย์ทิมไม่เคยอนุญาต แต่กลับยอมให้ท่านสวัสดิ์ดำเนินการจัดสร้าง "หลวงพ่อทวด"

เพื่อเป็นที่ระลึกแห่งอำเภอเบตงได้ ครับผม

พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

บทความจาก
http://www.itti-patihan.com/รูปหล่อหลวงพ่อทวด-เลขใต้ฐานเบตง-2505-ต้นสายปลายเหตุแห่งการจัดสร้าง.html

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น