ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #138 : Kindaichi Case Files คินดะอิจิกับห้องปิดตายบ้าพลัง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 12.83K
      5
      29 มิ.ย. 54



    ถ้าผมจำไม่ผิดการ์ตูนเรื่องคินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา เป็นการ์ตูนที่ส่งผลทำให้ผมชอบแนวสืบสวนสอบสวนจนถึงทุกวันนี้ หากไม่มีคินดะอิจิ ผมคงไม่สนใจเรื่องฆาตกรโรคจิต และไม่สนใจการ์ตูนญี่ปุ่น ไม่สนใจในการเขียนการอ่าน พูดง่ายๆ การ์ตูนเรื่องนี้เปลี่ยนชีวิตผมจริงๆ ครับ

     

       

    Kindaichi Case Files
    (สืบสวนสอบสวน ลึกลับ)

     

    Kindaichi Case Files หรือ Kindaichi Shonen no Jikenbo หรือชื่อไทย คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา เป็นการ์ตูนญี่ปุ่น แนวสืบสวนสอบสวน เรื่องโดย โยซาบุโร่ คานาริ(Yozaburo Kanari) และเซย์มารุ อามางิ(Seimaru Amagi) ภาพโดย ฟุมิยะ ซาโต้(Fumiya Sato) ตีพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นโดยสำนักพิมพ์โคดันฉะตั้งแต่ 1992 จนถึงปัจจุบัน ตีพิมพ์ในประเทศไทยโดยสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ นอกจากนี้มังงะยังได้รับรางวัล Kodansha Manga Award สาขาโซเน็น ในปี 1995 และคินดะอิจิ เป็นการ์ตูนไม่กี่เรื่องที่ลงแทบทุกสื่อบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น จอแก้ว(ทั้งอนิเมชั่น, คนแสดง) จอเงิน(สองภาค) วีดีโอเกม(GBA, DS, PS) มังงะ นิยาย โดจิน  จะขาดคงจะเป็นสื่อการเรียนการสอน และ ละครวิทยุเท่านั้น(หรือมีแล้วหว่า?)

    Kindaichi Case Files เป็นเรื่องราวของเด็กมัธยมปลายคนหนึ่ง ชื่อคินดะอิจิ ฮาจิมะ แม้ว่าภายนอกจะเป็นคนที่ไม่ค่อยได้เรื่อง ชอบสร้างปัญหาแก่คนรอบข้าง หื่น ลามก แต่ความจริงแล้วเขามีไอคิว 180 แถมยังเป็นหลานชายของอดีตนักสืบที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นนาม คินดะอิจิ โคสุเกะ ทำให้คินดะอิจิมีความชื่นชอบและมีความสามารถในการสืบสวนเป็นอย่างมาก และเขามักยึดบุคลิกของคุณปู่เป็นต้นแบบ โดยเขามักกล่าวประโยค ขอเอาชื่อคุณปู่เป็นเดิมพัน

    ชีวิตของคินดะอิจินั้นเหมือนจะธรรมดา แต่ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างงั้นเลย เพราะดูเหมือนเขาจะมีคำสาปติดตัวมาด้วย คือไม่ว่าเขาจะไปสถานที่แห่งใดจะต้องมีคนตายที่นั้น

     

    จุดเริ่มต้นของคินดะอิจิเริ่มต้นขึ้นในคดี The Phantom of the Opera (ความจริงแล้วนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่คินดะอิจิเห็นคนตาย เพราะในมังงะภาคคินดะอิจินักสืบตอนประถม คินดะอิจิเห็นคนตายต่อหน้ามาแล้ว) เมื่อฉากเปิดตัวของคินดะอิจิในตอนแรกเหมือนคนโง่(คิ้วหนา)และขี้เกียจ เป็นเด็กมีปัญหาจนทั้งเพื่อนและโรงเรียนต้องเอื่อมระอา แต่กระนั้นใกล้ตัวคินดะอิจิกลับมีมิยูกิเด็กนักเรียนดีเด่นที่ทั้งสวยและเก่งที่สุดในโรงเรียนยอมเลือกคบกับคินดะอิจิด้วย  จนหลายคนสงสัยว่าทำไมเธอถึงชอบอยู่ใกล้คินดะอิจิมากนัก จนกระทั้งคำตอบก็มาถึงเมื่อคินดะอิจิต้องไปช่วยงานมิยูกิที่เกาะโดดเดี่ยวแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งโรงแรมโอเปร่า เพื่อแสดงละครชมรมเรื่อง แฟนธ่อม ออฟ โอเปร่าแต่ปรากฏว่ายังไม่ทันทีจะซ้อมอะไร ก็เกิดเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องเสียก่อน  เมื่อสมาชิกชมรมการแสดงถูกฆ่าทีละคนทีละคน อย่างน่าสยดสยอง โหดเหี้ยม อำมหิต ดูเผินๆ เป็นฝีมือของฆาตกรโรคจิตธรรมดา หากแต่ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะทุกคดีเต็มไปด้วยความลึกลับซ่อนเงื่อน ทำให้คินดะอิจิเชื่อว่าคดีฆาตกรรมต่อเนื่องนี้เป็นฝีมือของฆาตกรที่มีการวางแผนเป็นอย่างดี และมีความแค้นกับเหยื่อชนิดเรียกว่าต้องฆ่าเท่านั้นจะหายแค้น คินดะอิจิจะพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ  แก้ปมทีละเล็กที่ละน้อย จนกระทั้งพูดประโยคว่า ปริศนาไขกระจ่างแล้ว!!” พร้อมกันนั้นคินดะอิจิก็ไขคดีดังกล่าวโดยบอกว่า คนร้ายอยู่ในกลุ่มพวกเรานี้แหละ!!” จากนั้นคินดะอิจิจะไขข้อแก้ต่างของคนร้ายทีละชั้นทีละชั้น จนคนร้ายรับสารภาพในที่สุด พร้อมกับอดีตที่เจ็บปวดของคนร้ายบอกมูลเหตุที่ฆ่าเหยื่อ ที่ทำให้พวกคินดะอิจิต้องอึ้ง และอดไม่ได้ที่จะเห็นใจคนร้ายดังกล่าว

    หลังจากนั้นเป็นต้นมาไม่ว่าคินดะอิจิไปที่ไหน ทุกทีจะมีคดีฆาตกรรมต่อเนื่องทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเหนือธรรมชาติ ห้องปิดตาย หรือการอ้างฐานที่อยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาก็มีเพื่อนจากเหตุการณ์นั้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สารวัติอาเคจิและผู้หมวดเคนโมจิที่ตอนแรกไม่เป็นมิตรกับคินดะอิจินัก แต่เมื่อเขาไขปริศนาคดีที่เกี่ยวข้องได้ เขาก็เป็นที่ยอมรับจากกรมตำรวจ ทำให้มีหลายครั้งที่คินดะอิจิจะถูกลากเข้ามาทำคดีด้วย นอกจากนี้คินดะอิจิยังพบกับบุลคลมากมายหลายตาที่เข้ามาในชีวิตเขา ไม่ว่าจะเป็นลูกพี่ลูกน้องฟุมิ, ไอดอทเรย์กะ(กิ๊ก), จอมโจรปริศนา ไปจนถึงฆาตกรและนักวางแผนอาชญากรรมตัวร้าย ทากาโต้ โยจิอิ ที่อยู่เบื้องหลังคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่งดงามสมบูรณ์แบบ ที่กลายเป็นคู่ปรับคินดะอิจิในเวลาต่อมา

    โดยคินดะอิจิภาคแรก(คดี 1-19)นั้นถูกตีพิมพ์ 27 เล่มจบ โดยช่วงแรกของคินดะอิจิมีเปลี่ยนลายเส้นบ่อยครั้งมาก ซึ่งลายเส้นแรกๆ ของคินดะอิจินั้นค่อนข้างป้อมๆ อ้วน เหมือนการ์ตูนโซเน็นสมัยนิดหน่อย ไม่มีความน่ารัก หรือสวยงามอะไรเลย แต่กระนั้นสิ่งที่ทดแทนก็คือมันมีอารมณ์ของนิยายนักสืบชั้นดี ที่วางการดำเนินเรื่องได้เป็นระบบอย่างน่าติดตาม มีจุดผ่อนคลาย จุดตื่นเต้น จุดซาบซึ้ง โศกนาฏกรรมเต็มเปี่ยม  การดำเนินเรื่องของคินดะอิจินั้นค่อนข้างเหมือนนิยายสืบสวน(บุ๋น) ตามขนบนิยายของ อกาธา คริสตี้, ก๊าสตง เลอรูซ์, เอส. เอส. แวนไดน์ และจอห์น ดิกสัน คารร์ที่เรียกว่าแนวทางนิยายสืบสวนแนว “The Mysterious Affair at Styles  หรือ “นิยายแนวสืบสวนลึกลับ ?” ซึ่งนิยายแนวสืบสวนดังกล่าวเขียนขึ้นโดยจุดประสงค์ไม่ให้คนอ่านเอาแต่ชี้นิ้วว่าใครเป็นคนฆ่าในทันที หากแต่นิยายดังกล่าวได้สร้างเหตุการณ์ให้ลึกลับ เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝีมือมนุษย์ (แต่ความจริงแล้วก็เป็นฝีมือมนุษย์เองแหละ) ซึ่งเสมือนหนึ่งคุณอยู่เหตุการณ์นั้นจริงๆ พร้อมกับตั้งคำถามว่า”ใครเป็นคนทำ?

                    ซึ่งนี้ก็คือนิยายแนวสืบสวนลึกลับ ซึ่งคินดะอจิเองก็เอาหลักการแบบนี้ไปใช้ โดยใช้แนวกับคดีฆาตกรรมในโลกที่ปิดตาย ซึ่งเนื้อหาดำเนินเรื่องประมาณว่ามีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง(หลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ หมอ ดารา นักข่าว ฯลฯ)ไปรวมตัวในสถานที่ปิดตาย ประมาณว่าไม่มีทางออก ระบบสื่อสารจากโลกภายนอกถูกตัดโดยสิ้นเชิง เช่น บนเกาะ คฤหาสน์บนหุบเขา ไกลจากบ้านเมือง (พึ่งรู้นะเนี้ยว่าญี่ปุ่นมีคฤหาสน์กลางเกาะเยอะมากๆ) หรือเป็นชุมชุนหรือพื้นที่แคบๆ เช่นหมู่บ้านหรือเมืองเล็กๆ โดยกลุ่มคนเหล่านี้โดนอะไรหลายอย่างเพื่อล่อเข้ามาบนเกาะ(สมบัติ, สิทธิพิเศษ, งานเลี้ยง ฯลฯ) ระหว่างที่เหล่ากลุ่มคนกำลังสนุกสนานทำกิจกรรมร่วมกันอยู่นั้น จู่ๆ เกิดคดีฆาตกรรมขึ้น แม้ว่าวิธีฆ่าของฆาตกรในตอนดังกล่าวอาจบ้าพลัง จนดูไม่สมจริงไปบ้าง  ซึ่งยอมรับเลยว่ามันบ้าพลังสุดๆ เพราะว่าฆาตกรฆ่าเหยื่อได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว โดยไม่สนว่าจะมีใครมาเห็นหรือพลาด (เช่น ล่อเหลื่อไปใต้โคมไฟ, วิ่งไล่จับ, ฆ่าเหยื่อนอกหน้าต่าง พลาดนิดเดียวเจ๊ง แต่การ์ตูนทำสำเร็จซะงั้น)

    แต่กระนั้นสิ่งที่ผมชอบก็คือบรรยากาศในเรื่องครับ ผมจำได้ว่า ตอนผมอ่านครั้งแรกนี้ทั้งหลอน ทั้งน่ากลัวสุดเลยก็ว่าได้  ต้องยอมรับคนวาดด้วยที่จัดองค์ประกอบให้ดูหลอนๆ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการถมดำของขอบกระดาษให้ดูมืดๆ เหมือนตอนกลางคืนที่เต็มไปด้วยความลึกลับและความหวาดระแวง การสร้างฉากปรากฏตัวของฆาตกร เช่น ฉากการปรากฏตัวของแฟนธ่อมต่อหน้ามิยูกิทำได้หลอนมากๆ หรือจะเป็นสภาพศพที่สองที่ฆาตกรแขวนคออยู่บนต้นไม้ลงมาท่ามกลางพายุฝนกระหน่ำในตอนกลางคืนและสีหน้าของตัวละครที่มุงดูศพที่ในใจพล่านคิดว่า ใครจะเป็นเหยื่อรายถัดไป?” ก็ทำได้อินกับบรรยากาศสุดๆ 

     

    และสิ่งที่ทำให้คินดะอิจิน่ากลัว นอกเหนือจากบรรยากาศในเรื่องแล้ว ก็คือทริคการฆาตกรรมที่ลึกลับ น่าพิศวงจนไม่เชื่อว่าเป็นฝีมือของมนุษย์ มักเกี่ยวพันกับเรื่องราวเหนือธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่เน้นการใช้อุบายที่มักปรากฏในนิยายแนวนักสืบ(บุ๋น) เช่น

    ฆาตกรรมในห้องปิดตาย (Locked room mystery) เป็นทริคที่พบบ่อยที่สุดในนิยายนักสืบ แนวบุ๋น  ซึ่งมีจุดประสงค์คือสามารถทำสิ่งที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ให้เป็นไปได้ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเน้นทริคประเภทคดีฆาตกรร(อาชญากรรม)จะเกิดขึ้นในห้องห้องหนึ่ง ไม่มีทางเข้า-ออกหนีจากห้องอันเป็นสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมได้เลย(ห้องล็อกจากด้านใน) หน้าต่างและประตูของห้องนั้นถูกปิดจากข้างในหมดทุกบาน-ทุกช่องทาง หรือไม่ก็อยู่ภายใต้การเฝ้าระวังโดยไม่ให้คลาดสายตาของพยาน จนผู้บุกรุกข้างนอกไม่สามารถเข้าไปในห้องนั้นได้เลย แต่ปรากฏว่าฆาตกรสามารถเข้าไปภายในห้องได้ดังกล่าว แล้วก่ออาชญากรรม แล้วหายไปอย่างลอยนวล ราวอากาศธาตุ

    จุดเด่นของการฆาตกรรมห้องปิดตายก็คือการทำให้คนอ่านเกิดความพิศวงสิ่งที่เกิดขึ้น และน่าติดตามว่าห้องปิดตายดังกล่าวนั้นคนร้ายใช้วิธีอะไรทำให้สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเนื้อหาจะทิ้งเบาะแสต่างๆ นาๆ นำไปสู่การไขปริศนาในตอนท้าย ซึ่งเป็นจุดที่สนุกที่สุดในนิยายนักสืบ

    สำหรับคดีห้องปิดตายของคินดะอิจินั้นจะปรากฏกว่าทุกตอนของเรื่อง โดยมักปรากฏในช่วงคดีฆ่าเหยื่อรายที่สอง ซึ่งส่วนใหญ่ทริคห้องปิดตายของคินดะอิจิจะเป็นแบบคุณลักษณะพิเศษแล้วแต่สถานที่นั้นๆ เช่นตอนล่าสุด คดีคนแปรธาตุ ประตูห้องปิดตายเป็นดีบุก ฆาตกรใช้ไฟหลอมจนประตูสามารถทะลุได้ เป็นต้น (สปอยซะงั้น)

     ทริคอ้างฐานที่อยู่ เป็นทริคฆาตกรรมที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสองรองจากทริคห้องปิดตายในเรื่องคินดะอิจิ ปรากฏออกมาครั้งแรกในตอนที่ 3 (คดีฆาตกรรมปีศาจหิมะ) โดยแนวคิดทริคดังกล่าวยังเน้นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ กล่าวคือสมมุติว่า ฆาตกรอยู่จุด A แต่ต้องการฆ่าเหยื่อตรงจุด B ซึ่งอยู่ห่างไกลหลายกิโล โดยที่จะต้องให้คนอื่น(พยาน)เข้าใจว่าตนอยู่จุด A อยู่ ไม่ได้ไปไหน ซึ่งเป็นเรื่องเป็นไปได้ได้เลย หากแต่ฆาตกรได้ใช้ทริคเทคนิคอะไรบางอย่างจนสามารถทำสำเร็จ เช่น การสร้างทางลับ การสร้างกับดัก หลอกพยานให้เข้าในผิดเรื่องเวลา ฯลฯ โดยฆาตกรไม่กังวลเรื่องเวลาหรือระยะทางแม้แต่น้อย ซึ่งนอกเหนือจากคินดะอิจิแล้วทริคอ้างฐานที่อยู่ก็ถือว่าเป็นทริคที่มักปรากฏในนิยายนักสืบมากมาย จุดประสงค์นอกเหนือจากทำให้ดูลึกลับแล้ว ยังหลอกให้คนอ่านติดกับดัก คือทำให้คนอ่านตัดตัวผู้ต้องสงสัย(ที่เป็นฆาตกร)ออกไปอย่างสิ้นเชิง

    และเพราะทริคและกลอุบายดังกล่าว ทำให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ จนเกิดความตึงเครียดของเหล่าตัวละครเกิดขึ้น บรรยากาศที่อึดอัดทำให้คนในกลุ่มนั้นคนหวาดระแวงว่าฆาตกรจะอยู่ในกลุ่มพวกเขา ใครคือฆาตกรกันแน่? และใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไป? นี้แหละครับคือสูตรนิยายนับสืบแนวาสถานที่ปิดตายของแท้ๆ ดั้งเดิม ใครที่ไม่เคยอ่านลองไปอ่านฆ่ายกเกาะของอกาธาคริตตี้ดูนะครับ ว่าเป็นยังไง(ผลงานชิ้นอ๋องจริงๆ)

     แต่ว่าท่ามกลางสนทนาโกลาหลอยู่นั้น ยังมีชายคนหนึ่งที่ไม่ได้หลงไปกับเกมของฆาตกรเลยสักนิด นั้นก็คือตัวคินดะอิจินั่นเอง ผมว่าคินดะอิจินี้เป็นนักสืบแรกๆ ที่เป็นคนธรรมดาสามัญ แม้จะสืบเลือดเนื้อเชื้อไขจากชื่อนักสืบผู้ยิ่งใหญ่ก็เถอะ แต่คินดะอิจิรุ่นหลานนี้แสนจะธรรมดาไม่มีความโดดเด่นอะไรสักนิด ต่อยก็ไม่เก่ง หล่อก็ไม่หล่อ ฉลาดก็ไม่ฉลาด พลังวิเศษก็ไม่มี  ภายนอกเหมือนคนไม่เอาไหน หื่น  แต่กระนั้นสิ่งที่ทดแทนของคินดะอิจิก็คือเขามีความทรงจำและไหวพริบเป็นเยี่ยม  พอเจอสถานการณ์ที่อันตรายจำพวกฆาตกรรมโหด เขากลับกลายผู้นำ พยายามให้คนอยู่ในเหตุการณ์มีสติและอารมณ์ปกติมากที่สุด เวลาผู้ใหญ่โทษคนอื่นเป็นฆาตกรแบบเดาๆ หรือสันนิษฐานอะไรมั่วๆ คินดะอิจิจะอธิบายเหตุผลแก้ต่างที่เข้าใจง่ายๆ ว่าอย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น จนผู้ใหญ่หรือคนฉลาดบางคนเถียงไม่ออก  คิดความน่าจะเป็นอย่างช้าๆ   ตั้งหน้าตั้งตามสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป(ในขณะที่คนอื่นๆ เชื่อว่าคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติเรียบร้อยแล้ว)

    การสืบคดีของคินดะอิจินั้น จะว่าไปก็เหมือนนิยายนักสืบทั่วๆ ไป เน้นบุ๋นมากกว่าแอ็คชั่น คินดะอิจิพยายามเรียบเรียงเหตุการณ์ ปะติดปะต่อเรื่องราว และมีหลายครั้งที่คินดะอิจิพลาดท่ากับคนร้าย หลงไปกับเกมของคนร้ายจนมีเหยื่อถูกฆาตกรรมเพิ่มขึ้น  กว่าที่คินดะอิจิจะไขคดีนี้ได้ก็ปาไปท้ายเรื่อง โดยมีอะไรสักอย่างที่ดลบันดาลใจให้คินดะอิจิคิดออก  ก่อนที่จะเปิดฉากฉากคลาสสิกของนิยายแนวนักสืบยุคทองก็คือการเรียกผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งหมดมารวมตัวกันเพื่อฟังคินดะอิจิชี้แจงแถลงไขคดีและฉีดหน้าฆาตกรตัวจริงแล้วไล่ต้อนคนร้ายจนมุมด้วยเหตุผลและหลักฐาน(บางครั้งมีแอบโกง สร้างหลักฐานปลอมให้ฆาตกรหลงกลด้วย)

    นี้แหละครับการผสมระหว่างคินดะอิจิกับนิยายนักสืบสมัยเก่า อย่างไรก็ตามเพราะมันสมัยเก่านี้แหละ ที่มันสามารถทำให้เราเข้าถึงตัวคินดะอิจิมากที่สุด และนี้คือกหลักการดำเนินเรื่องคินดะอิจิเป็นอย่างงี้เกือบทุกตอน ทุกเล่ม(ก็มีบางตอนบ้างที่ไม่ใช้สถานที่ปิดตาย เช่น ในพื้นที่เมืองหนึ่ง โรงแรม โรงเรียนที่คินดะอิจิอยู่ เป็นต้น(โรงเรียนคินดะอิจิเรียนเหมือนเป็นโรงเรียนธรรมดา แต่ขอโทษ มีคนบ้าเพียบ คนอัจฉริยะก็เยอะ นี้มันโรงเรียนหรือแหล่งรวมเรื่องเหนือธรรมชาติว่ะเนี้ย)

       

    จะว่าไปคินดะอิจิถือว่าเป็นการ์ตูนแนวสืบสวนสอบสวน ที่เป็นอมตะยืนยงจนถึงปัจจุบันครับ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็มาก เปลี่ยนลายเส้นมากถึง 4 ลายเส้น(เพราะมีหลายภาค) พูดง่ายๆ ผมเติบโตมาพร้อมกับคินดะอิจิมาเลยก็ว่าได้

                    ก่อนจะพูดถึงคินดะอิจิต่อไป ผมอยากทราบว่าในที่นี้มีใครเคยอ่านการ์ตูนแนวสืบสวนสอบสวนสมัยก่อนนอกเหนือคินดะอิจิและโคนันหรือเปล่า?  ซึ่งคนญี่ปุ่นนั้นชอบแนวสืบสวนสอบสวนมานานแล้วนะครับ จำพวกปริศนาท้านักสืบ ทริคฆ่าคน จำพวก อ้างฐานที่อยู่ ห้องปิดตาย  เล่นคำ รหัสลับนี้ ฮิตกันมาก ถึงขั้นมีการจัดการแข่งเจ้าแห่งทริคตามรายการโชว์ทีเดียว ครั้งหนึ่งรายการทีวีแชมเปี้ยนก็เคยเอาเรื่องนี้มาแข่งด้วยนะครับ ผมดูไปอึ้งไปเลยว่าผู้แข่งขันมัน(เตี้ยม)เก่งขนาดนี้เลยเหรอ  มีการจำลองห้องปิดตายมาให้ผู้ขันแข่งกันด้วยว่าใครจะไขปริศนาก่อน

    สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นชอบแนวสืบสวนสอบสวนขนาดไหน ก็เห็นได้จากนิยายสืบสวนสอบสวนญี่ปุ่นแหละครับ ออกมามากมายเหลือเกิน ดังแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ไม่เสื่อมถอย  ผลงานดังๆ ก็คินดะอิจิ(ปู่)ยอดนักสืบนี้แหละ รองลงมาก็ของจอมโจร 20 หน้านิยายของเอโดงาวะ รัมโป ฯลฯ หลายเรื่องถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์จอแก้ว จอเงินมากมาย หรือทำเป็นการ์ตูนเลยก็มี และเนื้อหานิยายก็มีการปรับเปลี่ยนบ้างจนถึงปัจจุบันครับ เพราะนิยายสมัยก่อนนี้มาแบบบ้าพลังมาก แบบดำเนินเรื่องไม่มีเหตุผล ขาดหลักความจริงอย่างแรก ฆ่าคนง่ายดายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตามไม่ทัน(จนกลายเป็นสูตรสำเร็จว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในแนวนักสืบต้องโง่เข้าไว้)

    ส่วนการ์ตูนญี่ปุ่นแบบออจินอลแท้ๆ ไม่เอานิยายเรื่องไหนมาดัดแปลง เท่าที่ผมคิดได้ ก่อนที่จะมีคินดะอิจินั้นไม่มีการ์ตูนแนวนักสืบเทียบชั้นเลยครับ ไม่เชื่อลองเข้าไปเว็บ http://www.mangaupdates.com/ ก็ได้ครับว่ามีการ์ตูนแนวนักสืบไหนมาก่อนคินดะอิจิบ้าง ปรากฏว่าแทบไม่มีเลย เพราะการ์ตูนแนวนักสืบสมัยก่อนนั้นค่อนข้างมีเนื้อหาซ้ำๆ ซากครับ(จบ 2 เล่มเป็นอย่างต่ำ) ประมาณว่า พระเอกต้องหล่อ ฉลาดเป็นกรด มีหลายเรื่องมาก พระเอกเป็นเด็กก็มี หรือมาแบบเป็นคู่ เป็นแก๊ง ที่ต้องเจอคดีฆาตกรรมซ่อนเงื่อนแบบไม่ได้ตั้งใจ เกาะปิดตาย ทริคซ่อนเงื่อน ฟังดูเหมือนน่าสนใจใช่เปล่าครับ แต่ขอบอกว่าทริคกากสุดๆ ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้แนวนักสืบมาเห็นนี้สุดจะทนก็ว่าได้ เพราะหมูตู้มาก ไขแบบง่ายๆ เลย เนื้อหาการ์ตูนก็ไม่มีอะไรมากครับ จบเป็นตอน และที่สำคัญลายเส้นครับขาดไม่มีเสน่ห์เอาเสียเลย เส้นแข็งหรือตามแบบพิมพ์นิยมแสนธรรมดาขาดจุดเด่น  แถมเป็นแบบนี้หลายเรื่องด้วย ทำให้ในตอนนั้นการ์ตูนแนวนักสืบไม่เป็นที่นิยมซักเท่าไหร่

     จนกระทั้งการ์ตูนเรื่องคินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนาออกวางแผงครั้งแรกในปี 1992 เท่านั้นแหละครับ ยุคทองของการ์ตูนนักสืบก็บูมทันที ทั้งๆ ที่เนื้อหาคินดะอิจิสมัยก่อนนั้นมาแบบพิมพ์นิยมไม่แตกต่างจากการ์ตูนสมัยที่ว่าสักเท่าไหร่ ไล่ตั้งแต่ตัวละครมาแบบคู่หนุ่มสาว(พระเอกและนางเอก) ลายเส้นก็โบราณ(ไม่มีความโมเอะ) เนื้อหาก็บ้าพลัง ฆาตกรรมบนเกาะปิดตาย ฯลฯ

      
               อย่างไรคินดะอิจิก็กลายเป็นการ์ตูนที่โด่งดังในเวลาต่อมา ด้วยจุดแข็งหลายอย่าง  อย่างแรกคือ การใช้การดำเนินเรื่องของคินดะอิจิดำเนินตามแบบฉบับนิยายนักสืบแนวใครฆ่า
    ? ได้ดีที่เดียว เสมือนหนึ่งเราได้อ่านนิยายนักสืบสมัยก่อนๆ ดีๆ เรื่องหนึ่ง ไม่ใช่แค่เจอคดีฆาตกรรมปั๊บ สืบ ไขปริศนา จบข่าว อะไรประมาณนี้

    และสิ่งที่หลายคนชอบคินดะอิจิก็คือทริคการฆาตกรรมของคินดะอิจิค่อนข้างมีความละเอียด ซับซ้อน ความน่าพิศวง พิถีพิถัน และแยบยล ครับ ซึ่งต้องคิดหลายตลบกว่าจะไขได้ เพราะว่ามันทริคเหล่านั้นมีเรื่องจิตวิทยาและสภาพแวดล้อมของพื้นที่ลักษณะพิเศษนั้นๆ มาประกอบรวมอยู่ด้วย จึงประสบผลสำเร็จ ซึ่งต่างจากการ์ตูนโคนัน และการ์ตูนนักสืบอื่นๆ ที่ทริคส่วนใหญ่นั้นมาจากปริศนาลับที่มักปรากฏในหนังสือลับสมองอ่านฆ่าเวลามากกว่าจะเป็นนิยายนักสืบ ซึ่งทริคง่ายๆ ไขปริศนาสบายอยู่แล้ว()บางครั้งก็ไร้เหตุผล) และนั้นเองทำให้การ์ตูนคินดะอิจิมีเสน่ห์มากในช่วงแรก

    อย่างไรก็ตามทั้งทริคคินดะอิจิและโคนันไม่ควรนำไปใช้จริงในโลกแห่งความจริง เนื่องจากกลอุบายทั้งหมดนั้นมีค่อนข้างประสบผลสำเร็จต่ำและผิดพลาดค่อนข้างสูง ดีไม่ดีเหยื่ออาจตอบโตและฆ่าเราตายเสียก่อนด้วยซ้ำ อีกทั้งไม่มีฆาตกรคนไหนที่ฆ่าคนให้มันซับซ้อนยุ่งยากแบบในการ์ตูน แค่เอาปืนยิงโป้งเดียว หาพยานหรืออย่าทำตัวมีพิรุธก็จบ (แม้ว่าโลกแห่งความจริงจะมีคดีห้องปิดตายเกิดขึ้นหลายคดีก็ตาม) ดังนั้นเราควรอ่านการ์ตูนแนวดังกล่าวเพื่อความบันเอิญ ตัดเรื่องอะไรยุบยิบออกก็จะช่วยให้คุณอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ได้สนุกขึ้น(แต่ก็มีหลายครั้งเหมือนกันที่ผมมักหัวเสียกับเรื่องดังกล่าวพอสมควร โดยเฉพาะคินดะอจิในช่วงหลังๆ ซึ่งผมจะกล่าวต่อจากนี้)

    นอกเหนือจุดไคแมกซ์นอกเหนือฉากฆาตกรรมและไขคดีแล้ว สิ่งที่ทำให้คินดะอิจิแตกต่างจากการ์ตูนนักสืบทั่วๆ ไป ก็คือแรงจูงใจของฆาตกรในเรื่อง ซึ่งผมก็ขอบอกว่าตรงนี้สุดยอดมาก เมื่อฆาตกรตัวจริงดังกล่าวไม่ได้ฆ่าเหยื่อตายเพราะความโลภต้องการเงินแม้แต่น้อย ครั้งหนึ่งฆาตกรตัวจริงเคยเป็นคนดีของสังคมมากก่อนหากแต่เป็นเพราะเหตุการณ์ในอดีต ที่พวกเขาต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเพราะกลุ่มคนชั่ว(เหยื่อของฆาตกร)โดยเหตุผลประโยชน์ที่ไร้สาระ จนกฎหมายไม่สามารถลงโทษฆาตกรกลุ่มดังกล่าวได้  ฆาตกรจำเป็นต้องขายวิญญาณให้แก่ปีศาจที่เป็นรูปลักษณ์ของตอนนั้นๆ เช่น เทพภูเขา, แฟนธ่อม เพื่อให้ฆาตกรฆ่าเหยื่อทั้งหมดเพื่อความแค้นในอดีต ทำให้มีหลายตอนทำให้คินดะอิจิเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจฆาตกรคนดังกล่าวไม่มากก็ไม่น้อย ที่แม้แต่คนอ่านเองก็อดที่จะคิดไม่ได้ว่าหากเราเป็นฆาตกรตัวจริงในคดีนี้เราจะสามารถให้อภัยกับสิ่งที่กลุ่มคนชั่ว(เหยื่อของฆาตกร)ทำหรือเปล่า หรือบางตอนคินดะอิจิก็พูดไม่ออก เพราะมีบางตอนฆาตกรก็ฆ่าผู้บริสุทธิ์(ไม่มีความแค้นต่อตัวฆาตกรเลยสักนิด)แต่ที่ทำก็เพื่อคนที่ตนรัก ซึ่งอันนี้ก็โรคจิตพิลึกได้ใจดี

    แต่กระนั้นการ์ตูนคินดะอิจิก็ได้สอนตอนท้ายไว้ว่าสุดท้ายการแก้แค้นและฆ่าคนไม่ใช่คำตอบของปัญหาทั้งหมด เพราะมีหลายตอนที่คินดะอิจิตอบกลับสิ่งที่ฆาตกรทำเป็นสิ่งที่ผิดหลายคน จนฆาตกรเถียงไม่ออก(แต่ก็มีหลายคดีที่คินดะอิจิพูดไม่ออก เช่น คดีฆาตกรรมมัจจุราชโบราณ) เช่น คดีฆาตกรรมโรงละครโอเปร่าแม้ว่าฆาตกรตัวจริงจะทำเพื่อบุคคลอันเป็นที่รัก หากแต่สิ่งที่เขาทำนั้นนำมาซึ้งความเดือดร้อนของผู้อื่น เขาได้ฆ่าผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความแค้นอย่างโหดเหี้ยม สิ่งที่ฆาตกรทำทั้งหมดเป็นกลายสิ่งไร้ค่า สูญเปล่าที่ไม่มีวันหวนกลับเป็นอย่างเดิมได้(แนะนำคดีล่าขุมทรัพย์อามาคุสะ) สุดท้ายฆาตกรต้องจบชีวิตด้วยมือตนเอง(หรือมือคนอื่น) หรือไม่ก็เกิดโศกนาฏกรรมที่ฆาตกรก้าวพลาดไป นอกจากนี้การ์ตูนยังเสริมเรื่องปัญหาครอบครัวของฆาตกรเข้าไปด้วยทำให้แรงจูงใจของฆาตกรมีน้ำหนักขึ้น

     

    หลังจบเรื่องราว การ์ตูนคินดะอิจิก็จบลงเหมือนนิยายนักสืบทั่วไป เมื่อฆาตกรรับผลกรรม คินดะอิจิก็ได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ไม่เอาชื่อเสียงอะไรเลยสักนิด ไม่ออกสื่อ ไม่สร้างภาพให้ตัวเองโด่งดัง ทั้งๆ ที่หลายคดีที่คินดะอิจิพบเจอนี้ระดับประเทศ อื้อฉาวทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตายของดารา นักการเมือง ผู้มีชื่อเสียง ฯลฯ คินดะอิจิกลับยกความดีความชอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหมด และเมื่อเสร็จคดีคินดะอิจิกลับไม่เอาชื่อเสียงอะไรเลยสักนิด ไม่ออกสื่อ ไม่สร้างภาพให้ตัวเองโด่งดัง ซึ่งเป็นพื้นฐานนิสัยของนักสืบสมัครเล่นในนิยายสืบสวนทั้งสิ้น

    แม้เนื้อหาคินดะอิจิจะเน้นการไขคดีหรือฉากฆาตกรรมไปบ้าง แต่กระนั้นมีหลายฉากฉากคินดะอิจิมีความสัมพันธ์ในด้านพัฒนาจิตใจต่อตัวละครในตอนนั้นๆ ในบางมุมด้วย เช่น ฉากโรแมนติกระหว่างคินดะอิจิกับมิยูกิ แม้ว่าทั้งสองนี้ต่างชอบกันมานานแล้ว หากมิยูกิก็คงอายหรืออยากคบแบบระหว่างเพื่อนก็พอด้วย  ทำให้จนบัดนี้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ไม่ได้เป็นแฟนแบบเต็มตัวสักที(คบกันแบบพบกันครึ่งทาง) แต่กระนั้นก็มีบางมุมที่มิยูกิชอบคินดะอิจิที่โรแมนติกเหมือนกัน ความรักของทั้งคู่อาจไม่ใช่เกี่ยวข้องกับความต้องการทางเพศ หากแต่เป็นความรักของคนสำคัญซึ่งกันและกันในชีวิตเสียมากกว่า และมิยูกินี้แหละเป็นต้นแบบนางเอกแนวนักสืบประเภทตัวถ่วงของแท้ เพราะคุณเธอแทบไม่มีประโยชน์อะไรเลยกับคินดะอิจิ แต่ชอบไปไหนมาไหนด้วยกัน ช่วยกันคิด ปรึกษากับคินดะอิจิ(แต่ส่วนมากมักคิดแบบผิดพลาดบ่อยครั้ง) หลายครั้งฆาตกรก็ชอบจ้องจะเล่นงานมิยูกิเพราะเป็นจุดอ่อนที่สามารถเอาชนะคินดะอิจิได้ แต่กระนั้นมิยูกิเป็นชอบชอบสังเกตและมักพูดบางสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งสามารถทำให้คินดะอิจิไขคดีได้ง่ายขึ้นหลายครั้ง   และมิยูกินี้แหละที่กลายเป็นต้นแบบตัวละครอยู่คู่กับพระเอกในการ์ตูนแนวนักสืบเรื่องอื่นๆ ในเวลาต่อมา

    อีกตัวละครหนึ่งที่ผมเสียดายครับที่บทของเธอนั้นน้อยเกินไป ก็คือ เรกกะ ดารานักแสดงวัยรุ่นชื่อดังที่  สุดคนหนึ่ง พบกับคินดะอิจิครั้งแรกในคดีฆาตกรรมปีศาจหิมะ เธอหลงใหลในตัวคินดะอิจิอย่างมากซึ่งสาเหตุมาจากที่คินดะอิจิเคยช่วยเหลือเธอจากการถูกใส่ความว่าเป็นฆาตกรในคดีครั้งนั้นผมว่าตัวละครนี้น่าจะเป็นกิ๊กกับคินดะอิจิได้อย่างสบายเลยครับ ทั้งสวย ทั้งเก่ง(หน้าเธอเปลี่ยนถึงสามเวอร์ชั่นแนะ) แถมมีปม และแอบชอบคินดะอิจิอีกครับ น่าเสียดายที่บทบาทความรู้สึกต่อคินดะอิจินั้นน้อยไปนิดแถมเกือบจะเลิกล้มชอบของคินดะอิจิด้วยซ้ำ (ในตอนคดีฆาตกรรมบ้านพักทาโรต์) แต่สุดท้ายคุณเธอก็ไม่เลิกล้มความตั้งใจและพยายามให้คินดะอิจิชอบเธอให้ได้(ที่จริงคินดะอิจิก็ชอบแหละ ขอเป็นผู้หญิง ขอฮาเร็มหมด) ก่อนที่จะปรากฏอีกครั้งในเรื่องคดีฆาตกรรมคนแปรธาตุ(เธอสวยขึ้นจม) แต่กระนั้นบทของเธอกับสั้นๆ อย่างน่าเสียดายครับ น่าจะเพิ่มอะไรให้มากกว่านี้เสียหน่อย

    และนี้ตอนที่ผมประทับใจในการ์ตูนคินดะอิจิ

    -คดีฆาตกรรมโรงละครโอเปร่า(The Opera House Murders) ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 โดยครั้งที่ 2 เป็นอนิเมชั่นภาพยนตร์ ผมว่าสนุกมากๆ ครับ

    -คดีฆาตกรรมหมู่บ้านคฤหาสน์ต่างชาติ(The Mummy's Curse) ทำแนะนำก็เพราะมันสุดยอดบ้าพลังมากๆ ใครไม่เคยเห็นความบ้าพลัง แนะนำให้ดูตอนนี้ครับ ตำรวจช่างโง่หลือเกิน ปล่อยให้ฆาตกรฆ่าเหยื่ออย่างเมามัน คนในหมู่บ้านก็บ้ากันเกือบทุกคน มันจริงๆ

    -คดีฆาตกรรมตำนานปิศาจหิมะ(Death TV) การปรากฏตัวครั้งแรกของเรกกะ(อย่าไปสนเจ้าขี้เก๊กอาเคจิเลย)

    -คดีฆาตกรรม 7 เรื่องลึกลับในโรงเรียน เป็นหนึ่งในตอนที่ดีที่สุดในคินดะอิจิ

    -คดีฆาตกรรมเกาะมหาสมบัติ(Treasure Isle) ผมตกใจตรงฆาตกรเป็นสาวดุ้น!!

    -คดีฆาตกรรมเหรียญฝรั่งเศส(Burial Francs is a burial practice in a small) ตอนยาวของคินดะอิจิอีกตอนที่สนุกมากครับ ชอบตรงช่วงท้ายเรื่องนี้แหละ

    จะเห็นได้ว่าตอนที่ผมแนะนำส่วนใหญ่จะเป็นตอนเก่าๆ ในช่วงแรกของคินดะอิจิเป็นส่วนมากเพราะมันได้อารมณ์หลอนๆ ส่วนในช่วงคดีกลางๆ จะไม่ค่อยหลอนเท่าไหร่แล้ว แต่จะเน้นให้มันลึกลับ เป็นส่วนมาก บางคดีก็จะเน้นโศกนาฏกรรมของฆาตกรในท้ายเรื่องเป็นส่วนใหญ่

    หลังจากนั้นคินดะอิจิก็จบลง พร้อมกับการเปิดตัวของคู่ปรับคินดะอิจินามทาคาโต้ โยอิจิ หรือเจ้าตุ๊กตานรก ที่ตอนแรกเป็นฆาตกรต่อเนื่อง และเป็นฆาตกรคนแรกในคินดะอิจิที่ไม่รู้สึกสำนักผิดในสิ่งที่ตนทำเลยสักนิด(อะไรมันจะทิฐิขนาดนั้นว่ะ)และไม่เคยรับผลกรรมชั่วเลยแม้แต่น้อย(เออ ลืมไปยังมีเจ้าโทโมะจากตอนคดีฆาตกรรมทะเลพ่ายรักอีกคนนี้หว่า) อีกทั้งหลังจากทาคาโต้หนีออกจากคุกมาได้ เขาได้อยู่เบื้องหลังในคดีที่คินดะอิจิต้องเจออีกหลายคดี และนั้นถือว่าเป็นจุดตกต่ำหรือจุดเสื่อมถอยของคินดะอิจิเพราะเหล่าแฟนๆ จำนวนหนึ่งรับไม่ได้(รวมถึงผม) เพราะคนอ่านชอบฆาตกรที่ก่อคดีด้วยแรงปรารถนาของพวกเขาจากใจจริง ไม่ต้องมีใครมายุ หลอกล่อ คิดกลอุบายให้เสียมากกว่า ทำให้มุกแป๊ก และไม่ค่อยอินกับเนื้อเรื่องสักเท่าไหร่

    หลังจากนั้นคินดะอิจิก็ออกตอนพิเศษสั้น ประมาณ 6 เล่มจบ  พร้อมกับการเปิดตัว ฟุมิ ลูกพี่ลูกน้องของคินดะอิจิ ที่น่ารักได้ใจครับ แต่น่าเสียดาย(อีกแหละ) บทของเธอน้อยเหลือเกินในช่วงหลังๆ (คือมันไม่ออกเลย) แต่กระนั้นเธอก็มีบทบ้างในภาคอนิเมชั่นและภาคมังงะ 2

    ภาคมังงะ 2 (คดีที่ 20-26) ผมว่าภาคมังงะนี้ลายเส้นคินดะอิจิลงตัวที่สุดครับ โดยจบใน 1-2 ตอน  มีหลายตอนที่ผมชอบ แนะนำให้อ่านหมดเลยครับ


                    ภาคมังงะ 3 (คดีที่ 27-จนถึงปัจจุบัน)
    ถือว่าเป็นจุดเสื่อมถอยของคินดะอิจิอย่างแท้จริง เมื่อคนเขียนแต่งเรียง “โรงเรียนนักสืบ Q” แม้ว่าได้รับความนิยมระดับหนึ่งแต่กระนั้นก็ไม่เท่าคินดะอิจิครับ อาจเป็นเพราะคนเขียนไม่สามารถทำให้คนอ่านสละภาพคินดะอิจิออกไปได้ หรือไม่ก็ตัวละครหลายตัวฉลาดหรือการแสดงออกเกินกว่าที่คนธรรมดาจะเข้าถึงค่อนข้างเยอะครับ ทำให้ไม่ค่อยสมจริงเท่าคินดะอิจิดังกล่าว จนกระทั้งการ์ตูนเรื่องนี้จบลงอย่างเงียบๆ ในเล่ม 22 (มีเล่มพิเศษเพิ่มมาเล่มหนึ่ง) คนเขียนก็กลับไปเขียนคินดะอิจิอีกครั้ง ตามคราวนี้มาแบบรายสะดวก(คนเขียนคงแก่มากแล้ว หรือไม่ก็เปลี่ยนตัวคนเขียนบท/เรื่อง ด้วย) ทำให้คินดะอิจิภาคนี้เปลี่ยนไปครับ ดูเป็นวัยรุ่น(กวนโอ๊ย)ขึ้น เหมือนพระเอกโรงเรียนนักสืบ Q  ตอนแนะนำมีตอนเดียวคือ คดีฆาตกรรมของสารวัตรเคนโมจิ(ดูเหมือนว่าคินดะอิจิภาคนี้จะเน้นเอาตัวละครหลักๆ มาทำเป็นตอนนั้นครับ หลังจากมี มิยูกิ, เรกกะ, อาเคจิ, เคนโมจิ มาแล้ว เชื่อว่าตอนต่อไป อาจจะมีฟูมิปรากฏตัวเป็นตัวเด่นก็ได้)   ที่จับเอาเรื่องจริงของ คดีฆาตกรรมจุนโกะ ฟูรุตะมาดัดแปลงแม้จะลดความโหดของคดีลงแต่กระนั้นเนื้อหาก็รู้สึกทำให้อินกับเนื้อเรื่องขึ้นจมเลย แต่ดันมาตายตอนจบที่เจ้าทาคาโต้ดันมีเกี่ยวด้วย ทำให้เรื่องจืดโดยบริยาย

        

    อย่างที่บอกไว้ตอนต้นเรื่องคินดะอิจิเป็นการ์ตูนแนวนักสืบลึกลับที่เก่าแก่อีกเรื่องของญี่ปุ่น ยอดขายกว่า 60 ล้านชุดในประเทศ และเป็นหนึ่งในการ์ตูนขายดีแห่งปี แม้ปัจจุบันเนื้อหาของการ์ตูนก็ไม่ได้เชยแม้แต่น้อย อีกทั้งยังปรากฏหลายสื่อมาก โดยอนิเมชั่นของคินดะอิจิออกตั้งแต่ปี 1997-2000 จำนวนตอนถึง 148 โดยสตูดิโอ Toei Animation ซึ่งนอกเหนือจะเอาตอนในมังงะมาทำแล้ว ยังมีการเพิ่มตอนในนวนิยายและตอนพิเศษเข้าไปด้วย(แนะนำตอนหมู่บ้านสายฟ้า เศร้าจับใจ) และรายละเอียดก็ถูกปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เช่น ฟุมิมีบทบาทเพิ่ม และซากิไม่ตาย(ทำให้ซากิเบอร์สองไม่ปรากฏ) และคุณภาพทำใจสักนิดเพราะว่าเป็นอนิเมชั่นค่อนข้างเก่าทำให้สัดส่วนหรือรายละเอียดของภาพอาจผิดเพี้ยนไปบ้าง และอนิเมชั่นดังกล่าวจะมีลิขสิทธิ์และพากย์ไทยแต่กระนั้นก็ขอทำใจระดับหนึ่งเพราะคุณภาพเสียงโดยรวมนั้นจากความเห็นของผมค่อนข้างแย่ เพราะมีหลายจุดที่คนพากย์พูดไม่ตรงบท และหลุดอยู่บ่อยครั้ง แต่กระนั้นขอชมตรงที่เสียงเข้ากับตัวละครหลายตัว

    ส่วนคินดะอิจิในนวนิยาย(หมายถึงรุ่นหลานนะครับ อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นของรุ่นคุณปู่) ในไทยนั้นยังไม่ได้ตีพิมพ์ก็จริง แต่กระนั้นก็ได้ยินข่าวว่าสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจได้ตีพิมพ์และกำลังวางจำหน่าย โดยตอนนิยายที่แนะนำคือ คดีฆาตกรรมโอเปร่าครั้งใหม่(ครั้งที่ 2) ที่เคยถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์จอเงิน ซึ่งสนุกตั้งแต่ต้นจนจบ

     

    คินดะอิจิ VS โคนัน ปัญหาโลกแตกสำหรับคนชอบเอามาเปรียบเทียบ ทั้งๆ ที่จริงแล้วการ์ตูนทั้งสองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าคินดะอิจิกับโคนันจะเป็นแนวสืบสวนเหมือนกัน หากแต่สิ่งที่แตกต่างก็คือคินดะอิจิมาก่อนโคนัน(คินดะอิจิวางจำหน่ายในปี 1992 ส่วนโคนันออก 1994) ซึ่งคินดะอิจินั้นเหมาะสำหรับเด็กโตมากกว่าเพราะว่าภาพศพและเนื้อหาค่อนข้างหนัก อีกทั้งใช้กลวิธีจากนิยายนักสืบ(บุ๋น)เอามาแต่ง ส่วนโคนันนั้นจะเหมาะสำหรับเด็กหรือเยาวชนมากกว่าเพราะดำเนินเรื่องฉับไวและกลอุบายให้แบบลับสมองนักสืบง่ายๆ มากกว่า อีกทั้งความบ้าพลังก็เหมือนกัน นางเอกก็เหมือนกัน ตำรวจญี่ปุ่นโง่ๆ พอๆ กัน  และสิ่งนอกเหนือจากนั้นก็คือทั้งสองเรื่องเนื้อหาช่วงหลังๆ เสื่อมถอยเหมือนกัน.........แต่ถ้าให้ผมเลือก ผมให้คินดะอิจิชนะด้วยคะแนนฉิวเฉียด ด้วยเหตุผลแรงจูงใจคินดะอิจิมีน้ำหนักกว่า แต่สำหรับโคนันแรงจูงใจค่อนข้างไร้เหตุผลหรือไร้สาระหลายคดี และหลักฐานเอาผิดของโคนัน ค่อนข้างอ่อนเกินไป ถ้าผมเป็นคนร้ายในโคนันจ้างให้ก็ไม่รับสารภาพหรอก เอาเรื่องนี้ไปคุยในศาล จ้างทนายเก่งๆ ดีกว่า เชื่อเลยว่าผมรอดได้อย่างแน่นอน

    อย่างไรก็ตามคินดะอิจิและโคนั้นเคยเจอกันมาแล้ว ในเกม DS จำหน่ายโดยบันได ในตอน “Conan vs Kindaichi: The Meeting of the Two Famous Detectives” หรือตอนการรวมตัวของนักสืบชื่อดังแห่งยุค ซึ่งเป็นตอนที่ทั้งคู่ร่วมมือกันไขคดีฆาตกรรมต่อเนื่องในเกาะที่ปิดตาย Yu - Yami jima ที่โคนันมายังเกาะแห่งนี้เพื่อหาคนหาย ส่วนคินดะอิจิมาที่แห่งนี้เพราะได้จดหมายลึกลับจากอดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนเขียนสั้นๆ ว่า กรุณาช่วยเกาะของฉันด้วยและสิ่งลึกลับที่น่าสยดสยองก็รอต้อนรับพวกเขา แต่น่าเสียดายเกมดังกล่าวไม่ได้เข้าถึงคนไทย เพราะเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งก็หวังว่าจะมีการทำเป็นอนิเมชั่นในอนาคตวันข้างหน้า นอกจากนี้ทั้งสองคนเคยเจอกันในมังงะเฉลิมครบรอบ 50 ปีของ Weekly Shonen Sunday และ Weekly Shonen Magazine มาแล้ว

      

    นิยายของคินดะอิจิ โคสุเกะ อย่างที่หลายคนรู้ว่าคินดะอิจินั้นเป็นหลานของนักสืบดัง(โลกสมมุติ) ชื่อ คินดะอิจิ โคสุเกะ จากนิยายชุด คินดะอิจิยอดนักสืบ ซึ่งแต่งโดย โยโคมิโซะ เซชิ ซึ่งผู้เขียนการ์ตูนคินดะอิจิ ได้ขอยืมชื่อตัวละครดังกล่าวมาใช้ จนกลายเป็นที่มาประโยคอมตะ ขอเอาชื่อปูเป็นเดิมพัน

    นิยายชุดคินดะอิจิยอดนักสืบ(รุ่นปู่)นั้นมีทั้งหมด 77 คดี โดยเริ่มจำหน่ายในปี 1946  โดยเป็นเนื้อหาของคินดะอิจิ โคสุเกะ ซึ่งเป็นนักสืบเอกชนในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น โดยภาพลักษณ์ที่หลายคนรู้จักก็คือเป็นชายรูปร่างปานกลาง ปกติจะสวมกางเกงฮากามะยับยู้ยี่ และแต่งกายตามแบบฉบับของคนโสดที่ไม่ค่อยดูแลตัวเอง บนหัวยุ่งเสมือนรังนกกระจอกสีดำทำให้คินดะอิจิมักเกาอยู่เสมอคินดะอิจิรู้สึกเขินอาย ส่วนคินดะอิจิ(รุ่นปู่)ถือว่าเป็นนิยายนักสืบดังของญี่ปุ่น ถูกสร้างเป็นการ์ตูน(บางคดี) และภาพยนตร์รีเม็กหลายครั้งมาก และข้อมูลที่น่าสนใจก็คืออายุของคินดะอิจิที่ปรากฏในภาพยนตร์นั้นไม่เหมือนกันทั้งๆ ที่เป็นตอนเดียวกัน เช่นคดีฆาตกรรมในตระกูลอินุงามิที่รีเม็กหลายครั้งมาก(ภาพยนตร์แปลไทย ชื่อคินดะอิจิตอนหน้ากากร้อยศพ) และแต่ละภาครีเม็กคินดะอิจิมักออกมาไม่เหมือนกัน คือในภาพลักษณ์คนหนุ่ม หรือไม่ก็คนแก่

    คดีของคินดะอิจิ(รุ่นปู่)นั้นจะเหมือนรุ่นหลาน คือ คิดช้าเหมือนรุ่นหลาน(ในฆาตกรฆ่าคนตายหลายศพ) โดยส่วนมากอาศัย ความรู้ ไหวพริบ โชค และลางสังหรณ์ ในการไขปริศนา(บางครั้งก็มานั่งเดาแรงจูงใจเอาเอง เพราะฆาตกรชิงฆ่าตัวตายเสียก่อน) อีกทั้งฆาตกรบ้าพลัง(ฆ่าเหยื่อแหลก) แต่กระนั้นบรรยากาศนิยายของรุ่นปู่นั้นจะมีความรู้สึกมืดมนมากกว่า เพราะว่าเป็นช่วงหลังสงคราม ทำให้มีกลิ่นอายความสูญเสียและความโศกเศร้าของคนไปทั่ว(บางครั้งก็เอาคดีในตำนานญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นจริง เอามาดัดแปลงใส่เข้าไปด้วย) นอกจากนี้ทุกคดียัง มีเรื่องราวเหนือธรรมชาติมาเกี่ยวข้องซึ่งแฝงไว้ด้วยกลิ่นไอของความน่ากลัว ความสยดสยอง คำสาปแช่ง ตำนาน และจิตใจดำมือของผู้คน

    ส่วนทริคของคินดะอิจิ(ปู่)นั้นค่อนข้างเน้นห้องปิดตายและอ้างฐานที่อยู่เป็นหลัก และหลายคดีไม่ได้เน้นทริคนัก แต่เน้นคำอธิบายพฤติกรรมของเหยื่อและคนร้ายเสียมากกว่า แต่กระนั้นทุกคดีก็ยังมีเรื่องจิตวิทยามนุษย์เป็นสอดแทรกเช่นเคย มีทั้งสมจริงบ้าง ไม่สมจริงบ้าง

    และส่วนที่ขาดไม่ได้ก็คือแรงจูงใจของฆาตกร แม้ว่าแรงจูงใจของฆาตกรจะไม่ได้รันทดเหมือนคินดะอิจิ(รุ่นหลาน) แต่กระนั้นก็สอดแทรกการกดขี่เพศหญิง และความโศกเศร้ารันทดของฆาตกร และอาการทางจิต(ที่หลายคดีเหตุผลที่ฆาตกรฆ่าเหยื่อนั้นค่อนข้างบ้าเหมือนกัน) และที่สำคัญฆาตกรส่วนมากมักชิงฆ่าตัวตายก่อนที่จะได้ถูกลงโทษทางกฎหมายทุกครั้งไป

    สำหรับประเทศไทยนิยายคินดะอิจิ(รุ่นปู่)นั้น ได้แปลไทยและวางแผงเกือบทุกชุดโดยสำนักพิมพ์ JBOOK ในเครือ Bliss ส่วนคินดะอิจิ(รุ่นหลาน) ยังไม่ได้มีการแปลจำหน่ายในไทย  ซึ่งหลังจากที่อ่านผมคินดะอิจิ(รุ่นปู่)บางเล่ม ความคิดเห็นของผมต่อนิยายคินดะอิจิ(รุ่นปุ่)สนุกเป็นบางเล่มครับ  บางเล่มก็ไม่ค่อยสนุก สาเหตุก็หลายปัจจัย เช่น ตัวละครค่อนข้างจำยาก(เพราะชื่อญี่ปุ่น) การบรรยายนี้ต้องนึกถึงแนวญี่ปุ่นโบราณสักนิดถึงจะเข้าถึง อีกทั้งบางเล่มยังดำเนินมุมมองโดยตัวละครอื่นที่ไม่ใช่คินดะอิจิ(รุ่นปู่)เช่นตัวฆาตกร หรือบุคคลที่สาม หรือตัวเอก (ซึ่งผมแนะนำหาเล่มที่เน้นการดำเนินเรื่องมุมมองคินดะอิจิครับสนุกที่สุดแล้ว) นอกจากนี้การหาแรงจูงใจอย่าใช้สามัญสำนึกปัจจุบันของเราครับ  แนะนำให้นึกว่าฆาตกรโรคจิต คิดอะไรบ้าๆ ไว้ก่อนหรือไม่ก็อะไรเรื่องที่ผิดประเพณีอย่างร้ายแรงสมัยก่อน จำพวก การสมสู่พี่น้องท้องเดียวกัน การเล่นชู้ ที่ปัจจุบันพบเห็นโดยทั่วไป แต่ในนิยายคินดะอิจิเรื่องพวกนี้ถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามอย่างร้ายแรงครับ ซึ่งเรื่องที่แนะนำก็เช่น บทเพลงปีศาจ คดีฆาตกรรมบนเกาะโกะกุมน(คินดะอิจิรุ่นหลานเอาชื่อโกะกุมนมาใช้ แต่ตำนานเรื่องไม่ค่อยสนุกเท่าที่ควรสงสัยผมหวังมากไปหน่อย แต่ทริคนี้ใช้ได้ซับซ้อนดี) และภาพยนตร์คินดะอิจิฆาตกรรมในตระกูลอินุงามิ(หน้ากากร้อยศพ)

    สุดท้าย แม้การ์ตูนคินดะอิจิจะบ้าพลังในเรื่องการฆ่าคนไปบ้าง แต่กระนั้นก็สนุกครับ เพราะว่ามันใช้หลักการนิยายแนวนักสืบ(บุ๋น)มาใช้ อีกทั้งตัวคินดะอิจินั้นมีเสน่ห์อยู่ในตัว แม้ว่าปัจจุบันคินดะอิจิจะลดความสนุกลงไปบ้าง แต่กระนั้นผมก็ยังติดตามต่อไปครับเพราะบารมีที่สะสมมาในอดีตนั่นแหละ

    + +

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×