คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #67 : Q.E.D. การ์ตูนแนวสืบสวนที่ได้อะไรมากกว่าสืบสวน
ที่จริงผมไม่อยากจะเขียนถึงการ์ตูนเรื่องนี้นัก เพราะผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยอ่านมาแล้ว และมีบทความนี้เขียนถึงเรื่องนี้หลายบทความ เพราะเป็นเรื่องที่ฮิตพอสมควร จุดประสงค์ผมคือผมอยากเขียนการ์ตูนที่ไม่ดังและคนอื่นไม่ค่อยรู้จักมากกว่าและหลายคนคงเห็นว่าผมไม่ค่อยทำตามคำขอเท่าไหร่เอาเถอะไหนๆ ก็ไหนๆ พอดียังดูการ์ตูนที่จะเอามาเขียนไม่ทัน(กำลังดูอยู่ แต่อย่างว่ามันมีปัญหาหลายอย่าง) ก็เอาเรื่องนี้ลงไปก่อนก็แล้วกัน
มีการ์ตูนญี่ปุ่นแนวหนึ่งที่ค่อนข้างออกมาเยอะมาก นั้นคือการ์ตูนแนวสืบสวนสอบสวน แค่ในประเทศไทย สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็เอาการ์ตูนแนวนี้มาแปลวางแผงก็ปาไปหลายเรื่อง
แม้การ์ตูนแนวสอบสวนจะมีจำนวนมาก แต่ที่โด่งดังจริงๆ จนคนอื่นสามารถจดจำนั้นแทบนับจำนวนได้ อย่าง โคนัน, คินดะอิจิ ส่วนนอกเหนือจากนั้นแทบล้มหายตายจากไปโดยคนอื่นไม่รู้จักอีกเลย สาเหตุอันเนื่องมาจากพล็อตค่อนข้างซ้ำซากๆ คือพระเอกเป็นตัวซวย ไปไหนก็มีคนตาย ไปไหนฆาตกรต้องลงมือกับเหยื่อทุกที เกิดคดีปริศนา ลึกลับซ่อนเงื่อน พระเอกต้องเป็นคนไข ไขแล้วก็จบแล้วจบเลย ไม่สาวอะไรต่อ ฯลฯ
แต่มีการ์ตูนสืบสวนสอบสวนเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างโดดเด่นท่ามกลางการ์ตูนมากมายเหล่านั้น เนื่องด้วยเนื้อหาเป็นมากกว่าการ์ตูนแนวสอบสวนที่ได้ความรู้นอกเหนือจากความสนุก และการ์ตูนที่ผมพูดถึงนี้ ก็คือเรื่อง.......
Q.E.D. ~Shomei Shuryo~
ประเภทสืบสวนสอบสวน
ตีพิมพ์และจัดจำหน่ายในประเทศไทยโดย สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ในชื่อ Q.E.D. อย่างนี้ต้องพิสูจน์
27 เล่มยังไม่จบ(ญี่ปุ่นออกไป 37 เล่ม)
อ่านภาษาอังกฤษได้ที่ http://www.onemanga.com/QED/
ภาษาไทย http://www.thaimanga.net/view/258/q.e.d./
ที่จริงผมควรจะเขียนคินดะอิจิก่อนที่จะเขียนการ์ตูนเรื่องนี้เพราะเราจะได้รู้อะไรเกี่ยวกับการ์ตูนแนวสืบสวนมากขึ้น ช่างเถอะ...ถ้าไม่เข้าใจตรงไหนก็มาถามผมก็แล้วกัน(ผมก็รู้พอๆ กับคนอ่านแหละ)
Q.E.D. เป็นผลงานของโมโตฮิโร่ คาโต้ (Motohiro Katou) ประวัติของนักเขียนคนนี้ผมไปหาเว็บไหนก็ไม่ค่อยเจอและผลงานของเขาค่อนข้างน้อยมาก ผลงานเปิดตัวคือเรื่อง Actraiser(1994) ต่อมาก็เรื่อง Q.E.D(1997) , Rocket Man(2001) และผลงานล่าสุด C.M.B.(2005) โดยที่น่าสังเกตคือพล็อตหลักการ์ตูนของเขานั้นไม่ฉีกแนวไปจากเดิมนัก คือ พระเอกจะต้องเป็นคนอ่อนแอแต่ได้ความฉลาดสุดๆมาแทนที่ และด้วยเหตุการณ์พาไปเขาได้พบเจอนางเอกสาวแกร่งแต่จิตใจดีงามที่ชักนำเขาและเธอเข้าไปในเหตุการณ์ปริศนาต่างๆ
Q.E.D. มีเนื้อหาไม่แตกต่างอะไรกันการ์ตูนของโมโตฮิโร่ คาโต้ อย่างที่ว่าไว้ตอนต้นเรื่อง โดยการ์ตูนนี้เป็นเรื่องราวของพระเอกชื่อ โทมะ โซ เด็กอัจฉริยะจาก MIT ด้วยวัยเพียง 15 ปี ที่กลับมาใช้ชีวิตนักเรียนมัธยมปลายธรรมดาที่ญี่ปุ่น แต่เขาเป็นคนที่ไม่ค่อยมีมนุษย์ความสัมพันธ์เท่าไหร่นักและคนรอบตัวก็ไม่อยากคบกับเขาเพราะเห็นเขาเป็นคนแปลกประหลาด จนกระทั้งเขาได้รู้จักเพื่อนสาวร่วมชั้นที่ชื่อ มิสุฮาระ คานะ สาวแกร่ง จิตใจงาม(และชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน)ที่อยากเป็นเพื่อนกับเขาด้วย และทั้งคู่ต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่คดีปริศนามากมายไม่ว่าคดีเล็กคดีใหญ่ไปจนถึงคดีฆาตกรรม และโทมะและคานะต้องรวมพลังเพื่อไขคดีเหล่านี้ให้จงได้.....เรื่องราวที่เหลือจะเป็นอย่างไรนั้นก็ติดตามเอาเอง(เถอะ)
โซ โทมะ (Sou Touma) ตัวเอกของการ์ตูนเรื่องนี้ ที่เหมือนกับชินโดจากเรื่องโคนันที่เป็นเด็กอายุ 15-16 ปีที่เป็นนักสืบอัจฉริยะ หากแต่โทมะแตกต่างกันออกไป เนื่องจากเขาไม่สนใจเรื่องราวนักสืบเหล่านี้เลย และไม่คิดจะเป็นนักสืบอะไรด้วย แต่เขาเป็นคนฉลาด และมีความรู้มากมายเก่งหลายภาษารวมไปถึงฝรั่งเศส เชี่ยวชาญโบราณคดีและชีววิทยา อดีตเคยเป็นเด็กอัจฉริยะ MIT ในสหรัฐอเมริกาที่ชอบศึกษาเรียนรู้(แต่ดูไม่ค่อยออกสักเท่าไหร่) และมีการวางแผนศึกษาต่อเมื่อเขาเรียนจบ แต่เพราะเหตุการณ์หนึ่งทำให้เขาตัดสินใจเลื่อนออกไปและเข้ามาเรียนในโรงเรียนที่ญี่ปุ่น แต่เวลาไปโรงเรียนเขามักจะอยู่บนด่านฟ้ามองท้องฟ้าไปมาโดยไม่เข้าห้องเรียน จนเป็นเหตุให้เป็นคนไม่ค่อยมีมนุษยสัมพันธ์ จนกระทั้งเขารู้จักมิสุฮาระ คานะและลากเขาไปมาส่วนร่วมคดีปริศนาต่างๆ มากมาย และเขาต้องใช้สติปัญญาแก้ไขปัญหาเหล่านั้น แม้เขามักบ่นๆ กับคานะที่บังคับเขาอยู่บ่อยๆ แต่เมื่อถึงเวลาจริงเขามักตั้งใจกับปริศนาทุกครั้งไป
จุดเด่นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนักสืบโทมะคือ เวลาจะถึงฉากไขปริศนาเขามักเขียนอักษร Q.E.D. ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ ผืนทราย และเมื่อจบฉากไขปริศนาเขาก็จะเอ่ยประโยคว่า “ซึ่งต้องพิสูจน์ครับ”
(Q.E.D.ย่อมาจากคำว่า "Quod Erat Demonstrandum" เป็นอักษรย่อในภาษาละติน ย่อมาจากคำว่า "quod erat demonstrandum" ใช้เขียนในตอนจบของบทพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ ที่แปลว่า "ซึ่งต้องพิสูจน์")
อดีตของโทมะนั้นยังคงลึกลับแต่ก็มีการคลายปมเรื่อยๆ ดูเหมือนพ่อแม่ของโทมะจะเป็นบุคคลอัจฉริยะที่รอบรู้ศาสตร์หลายแขนง เขามีน้องสาวที่มีพรสวรรค์ไม่แพ้กับพี่ชาย และเขารวยซะด้วย
(MIT ย่อมาจาก Massachusetts Institute of Technology หรือเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในเมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้นำวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลกแห่งหนึ่ง โดยเปิดสอนหลายสาขา ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ การบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ รัฐศาสตร์ และ ปรัชญา โดยคนที่จับสถาบันนี้ส่วนใหญ่มักได้ดีเป็น นักการเมือง ผู้บริหาร นักเขียน นักบินอวกาศ นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ และมี 63 คนได้รับรางวัลโนเบล)
มิสุฮาระ คานะ (Mizuhara Kana) นางเอกของการ์ตูนเรื่องนี้ เป็นสาวแก่นแก้วที่มีนิสัยคล้ายผู้ชาย เก่งกีฬาทุกชนิดโดยเฉพาะยูโดและเคนโด้ กล้าหาญ และค่อนข้างสวย มีพ่อเป็นตำรวจ ทำให้ติดนิสัยความยุติธรรมมาจากพ่อ ทำให้กลายเป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่นไป
เธอพบโทมะในขณะที่ช่วยเหลือเขาจากการถูกทำร้ายโดยนักเลงในระหว่างเล่นเกมอาเขต(เกมตู้นั้นแหละ) และเพื่อนก็เตือนเธอว่าโทมะนั้นลึกลับแต่ฉลาดสุดๆ หากแต่เป็นคนไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ แต่คานะไม่สนและเธอได้ลากโทมะมาช่วยไขคดีปริศนาที่พ่อของเพื่อนถูกฆาตกรรม จนกระทั้งโทมะไขคดีนี้ได้สำเร็จ
ตั้งแต่นั้นมาทั้งสองก็เป็นเพื่อนกันจนแทบเกาะติดไม่แยกออกจากกันไปไหน คานะจะตามโทมะทุกที่เขาที่ไป บางครั้งก็ไปต่างประเทศเลยก็มี จนหลายคนคิดว่าทั้งสองเป็นแฟนกัน แต่คานะบอกว่าไม่ใช้ เธอตั้งใจแค่ว่าอยากพัฒนามนุษยสัมพันธ์โทมะสักหน่อย แต่ดูเหมือนเธอสนใจประวัติอดีตของโทมะมาก แต่จนบัดนี้โทมะก็ไม่พูดอดีตของเขาให้เธอฟังสักที
แนะนำแค่นี้แหละ เพราะผมเชื่อเลยว่าหลายคนเคยอ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้ว คอการ์ตูนสอบสวนสอบสวนต้องไม่พลาดแน่ๆ จึงไม่ต้องสารยายให้มากความ และเรามาดูสิ่งที่ได้จากการ์ตูนเรื่องนี้ดีกว่า
การเปรียบเทียบ แน่นอนครับในเนื่องจากมันเป็นการ์ตูนแนวสืบสวนสอบสวน มันเลยต้องมีการเปรียบเทียบการ์ตูนแนวเดียวกันที่ดังๆ อย่างช่วยไม่ได้ และการ์ตูนที่นำมาเปรียบเทียบนี้ก็เป็นการ์ตูนดังๆ ที่เรารู้จักกันดีอย่าง นักสืบโคนัน, คินดะอิจิ และโรงเรียนนักสืบ Q แต่กระนั้นก็พบว่า Q.E.D. นั้นค่อนข้างแตกต่างจากการ์ตูนดังเหล่านี้พอสมควร
- ในขณะที่โคนัน, คินดะอิจิ มักมีฉากฆาตกรรมที่โหดร้ายป่าเถื่อน(สิ้นเสียงนางนวลยิ่งไปใหญ่) ฆาตกรจัดศพในลักษณะแปลกประหลาดพิศวง แต่ฉากการฆาตกรรมของ Q.E.D. นั้นแทบไม่มีฉากฆาตกรรมนองเลือด ไม่มีจำพวกคดีฆาตกรรมฆ่าหั่นศพ ไม่มีฉากเลือดท่วมตัว สยดสยอง แถมบางครั้งโทมะกับคานะแทบไม่สนใจที่จะจับต้องศพเท่าใดนัก และหลายครั้งทั้งคู่แค่ได้ยินจากปากคนว่ามีคนตายเท่านั้น ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัยโดยไม่ต้องเรตแต่อย่างใด
-พระเอกโทมะไม่มีเพื่อนสมัยเด็ก(ในขณะที่โคนันและคินดะอิจิมี) ทำให้ไม่มีฉากความสัมพันธ์โรแมนติกกับคานะเท่าไหร่ ความสัมพันธ์ระหว่างโทมะกับคานะจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสนิทและการเติบโตด้านจิตใจซึ่งกันและกันมากกว่าจะเป็นเรื่องของเพศ
-ในขณะที่โคนันเป็นนักสืบอัจฉริยะที่ชอบอวดเก่งและเย่อหยิ่ง(ผมเห็นเป็นแบบนี้จริงๆ ขออภัยเหล่าแฟนๆ โคนันด้วยครับ) ส่วนคินดะอิจิที่ภายนอกเหมือนคนโง่ธรรมดาหากแต่ถ้าเขามักแสดงความเป็นผู้นำเมื่อเกิดเหตุการณ์ล่อแหลมและอันตราย โดยใช้สติปัญญาในการวิเคราะห์แก้ปัญหาอย่างช้าๆ แต่สำหรับโทมะแล้วกลับตรงข้ามกับสองคนทุกอย่าง โทมะไม่ได้มีความฝันมุ่งมั่นเป็นนักสืบที่เก่งที่สุด เขาเป็นคนเฉยชา ไม่อยากเป็นจุดเด่น มองมนุษย์เหมือนแบบนักจิตวิทยามอง และพยายามหลีกหนีจากสถานการณ์ที่เป็นอันตรายหรือไม่อยากเข้าเป็นส่วนร่วมกับเหตุการณ์ด้วย ทำให้คานะต้องเติมเชื้อเพลิงให้โทมะมีไฟในการสอบสวนอยู่บ่อยๆ
-ในขณะที่คินดะอิจิและโคนันต้องเฉลยปริศนาและความลับต่างๆ ของคดีจนหมดไส้หมดพุง แต่สำหรับโทมะจำเป็นต้องปิดความลับบางเรื่องเอาไว้ เช่นในเล่ม 1 ตอนที่ 2 ที่โทมะเลือกปิดความจริงของคดีเกี่ยวกับฆาตกรตัวจริงที่วางแผนฆ่านายทุนหน้าเลือด สาเหตุเพราะโทมะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควรไม่ควร และเข้าใจจิตใจของมนุษย์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากรู้ความจริงอันนั้น
-โทมะและคานะไม่ใช้ตัวซวยเหมือนโคนันหรือคินดะอิจิ แต่ตอนแรกที่ทั้งคู่จะเป็นตัวซวยเหมือนการ์ตูนแนวสืบสวนที่หลงมายังสถานที่แห่งหนึ่งแล้วเกิดคดีฆาตกรรมขึ้น แต่หลังๆ ทั้งคู่ไม่ใช้ตัวซวยแล้ว แต่ทั้งคู่จะวิ่งเข้าหาปริศนาเสียเอง
-หลักการไขคดีของโทมะค่อนข้างมีหลักการกว่าโคนันกับคินดะอิจิ โทมะไม่จำเป็นต้องไปดูสถานที่เกิดเหตุ เขาเพียงแค่ดูข้อมูลที่ “ต้องพิสูจน์ได้”ตั้งข้อสังเกตและหาเหตุผลทฤษฏีต่างๆ มารองรับ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุป
- ปริศนาที่เกิดขึ้นในการ์ตูนเรื่องนี้ เหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะว่าจะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ พอสมควร เช่น ในตอนที่ 1 ที่เป็นไดอิ้งเมจเสจที่ผู้ตายทำไว้เพื่อระบุฆาตกร เราจะต้องศึกษาเรื่องไพ่สากลพอสมควรว่าไพ่แต่ละใบมีความหมายอย่างไร เพื่อจะไขปริศนาได้ เป็นต้น
-คดีฆาตกรรมในการ์ตูนเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีห้องปิดตาย ไม่มีฉากไล่ล่าคนร้าย ไม่มีองค์กรอาชญากรรมดำมืด ไม่มีฆาตกรอัจฉริยะท้าทายสมองพระเอก คนร้ายของการ์ตูนเรื่องนี้เป็นคนธรรมดาที่มีเหตุผลฆ่าคนตามแบบฉบับที่เราพบเห็นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ความแค้นส่วนตัว, มรดก, อำนาจ, ชื่อเสียง ฯลฯ
โทมะกับคานะ การดำเนินเรื่องของ Q.E.D. มีโครงสร้างเหมือนกับการ์ตูนแนวสืบสวนเรื่องอื่นๆ เริ่มจากเกิดคดี กลุ่มตัวละครเอกรับทราบข้อมูล และเมื่อตัวละครทำการไขปริศนาของคดีนั้นๆได้แล้ว ก็จะประกาศข้อความบ่งบอกให้ผู้อ่านได้ทราบโดยการเขียนคำว่า Q.E.D. แต่สิ่งที่จะแตกต่างจากโคนันและคินดะอิจิคงจะเป็นเรื่องวิธีการสอบสวน หากเปรียบการ์ตูนนี้เหมือนนิยายเรื่องหนึ่งคงจะเป็นเรื่องซีรีย์เอนไซโคลพีเดีย บราวน์หนูน้อยยอดนักสืบ (Encyclopedia Brown) ของ โดแนลด์ เจ. โซบอล ที่เป็นเรื่องราวของเด็กสองคนร่วมมือกันในการไขปริศนาคดีต่างๆ
Q.E.D. จะดำเนินเรื่องโดยการใช้ตัวละครหลักแค่ 2 คนเท่านั้นคือโทมะกับคานะ(แม้บางตอนจะมีเพื่อนของโทมะมาแจมเล็กน้อยก็ตาม)
สิ่งที่เราได้เห็นตลอดคือการเจริญเติบโตด้านจิตใจของโทมะและความสัมพันธ์ระหว่างคานะ โดยตอนแรกโทมะค่อนข้างลอยชายและมนุษยสัมพันธ์ไม่ค่อยดี จนกระทั้งได้รู้จักคานะ ทำให้หลังๆ โทมะก็กลายเป็นที่รู้จักของเพื่อนร่วมและสนิทกับคานะในที่สุด
คู่โทมะกับคานะนั้นไม่ได้ส่อถึงเรื่องเพศหรือเกินเลยถึงศีลธรรม หากแต่ทั้งคู่ต่างยอมรับซึ่งกันและกัน โทมะมีสิ่งที่เขาไม่มีอยู่ในตัวคานะ ส่วนคานะมีสิ่งที่เขาไม่มีอยู่ในตัวคานะเช่นกัน จนกลายเป็นมิตรภาพที่แยกจากกันไม่ได้ ต่างฝ่ายจำเป็นต้องพึ่งพากัน โทมะมีสติปัญญาเฉียบแหลมแต่เขาขาดมนุษยสัมพันธ์ การเข้าหาคนอื่น และขาดพลัง จนไม่ค่อยมีแรงใจในการเผชิญปัญหา ส่วนคานะมีมนุษยสัมพันธ์ เข้าหาคนอื่นเก่ง มีพลังกายและจิตใจสามารถเผชิญปัญหาและอุปสรรค์ได้ หากแต่เธอขาดปัญญาที่เฉียวฉลาดและขาดความรู้ในเรื่องยากๆ ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นในการ์ตูนเมื่อเกิดปริศนา บทบาทของทั้งคู่คือ โทมะจะอยู่กับที่(ส่วนมากจะอยู่ในบ้านที่เต็มไปด้วยหนังสือ) เป็นแหล่งข้อมูล คนวางแผนให้แก่คานะ ว่าเขาต้องการข้อมูลอะไร ก่อนจะให้คานะเป็นคนเข้าไปสืบ เข้าหาบุคคลเป้าหมายเพื่อหาข้อมูลเพราะเธอเข้ากับคนอื่นง่าย และคนเหล่านั้นก็ไม่หวาดระแวงเมื่อคานะสอบถาม จากนั้นคานะก็เอาข้อมูลที่ได้จากการสืบไปรายงานแก่โทมะ เพื่อให้โทมะวิเคราะห์และหาข้อสรุปในการแก้ปัญหาเหล่านั้น
มีหลายตอนที่แสดงถึงความรักกุ๊กกิ๊กระหว่างโทมะกับคานะเหมือนกัน อย่างเล่ม 3 ที่โทมะให้สร้อยไข่มุกแก่คานะเป็นของขวัญวันคริสต์มาส และฉากที่คานะรีบวิ่งไปสนามบินเพราะเข้าใจผิดว่าโทมะจะตามเพื่อนกับอเมริกา หากแต่โทมะตัดสินใจจะอยู่ที่นี่เพื่อที่อยู่ช่วยคานะต่อไป
อีกตอนที่เห็นได้ชัดว่าคานะรู้สึกกับโทมะมากกว่าเพื่อนอยู่ในตอน 19 ที่คานะย้อนอดีตไปในปีไทโซ(ปี 1927)ที่พบคู่เหมือนโทมะที่เป็นนักศึกษาอุปการะที่กำลังสิ้นหวังกับชีวิต(เพราะนายทุนตาย) แต่คานะได้ช่วยเหลือเขาจนสามารถผ่านพ้นความสิ้นหวังมาได้ และเมื่อตอนคานะกำลังจะกับไปโลกอนาคต โทมะในอดีตได้ขอให้คานะอยู่ที่นี่ แต่คานะปฏิเสธและบอกเขาว่ายังมีใครบางคนกำลังรอเธออยู่
บทบาทของโทมะกับคานะที่เราได้เห็นบ่อยๆ คือ คานะปกป้องโทมะและเชื่อใจโทมะอย่างถึงที่สุด อย่างในเล่มที่ 8 ที่คนร้ายแอบหลงรักคานะและอิจฉาโทมะที่ใกล้ชิดกับเธอเลยวางแผนใส่ร้ายโทมะในงานโรงเรียนในขณะที่คนอื่นแต่มีความคิดว่าโทมะเป็นคนผิดแต่คานะกลับเชื่อใจโทมะและปกป้องเขาจนถึงที่สุด
แต่ใช่ว่าคานะจะปกป้องแต่โทมะอย่างเดียว โทมะยังแอบเป็นห่วงคานะด้วย อย่างในเล่มที่ 5 ที่ โทมะเป็นฝ่ายมาช่วยคานะด้วย ในตอนโจรดักทำร้ายและคนร้ายมีมีด คานะซัดจนโจรต้องถอยหนี โทมะจะตามไปแต่คานะห้ามไว้ เพราะกลัวว่าโทมะจะมีอันตราย โดยคานะแอบปลื้มนิดๆ ที่โทมะก็ห่วงเธอเป็นด้วย
นี้แหละครับคือสิ่งหนึ่งที่หลายคนชอบเรื่อง Q.E.D. มากกว่าโคนันและคินดะอิจิ เพราะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกและนางเอก ในขณะที่สองเรื่องนั้นพระเอกฉายเดียวไขคดีตลอดศก.......นางเอกเป็นตัวถ่วง ทำตัวน่าสงสาร มักตกเป็นเหยื่อของคนร้าย และพระเอกต้องมาช่วยทุกครั้งไป ในขณะที่ Q.E.D. แสดงให้เห็นความร่วมมือการไขคดีที่พระเอกและนางเอกมากกว่าการ์ตูนทั้งสองเรื่องดังกล่าว
ผมค่อนข้างชอบปกเล่ม 1 อย่างมาก ที่หน้าปกเป็นนางเอกคานะที่อยู่ช่องทางขวาทำท่าทำทางร่าเริงสดใสกำลังโทรศัพท์หาใครบางคนอยู่ ในขณะที่ช่องด้านขวาจะเป็นโทมะที่ดูมืดมนและสีหน้าเงียบขรึมเหมือนจะมีปัญหาเก็บกดมานานนับปี จนกลายเป็นว่าเมื่อเล่มออกใหม่เมื่อไหร่เราจะเห็นทั้งคู่มีกริยาบทอารมณ์ประมาณนี้เสมอ
ผมอ่านการ์ตูน Q.E.D. ด้วยความรู้สึกแปลก ในขณะที่ผมแช่งให้โคนันให้รีบจบๆ ไปเสียที แต่การ์ตูน Q.E.D.ผมกับมีความรู้สึกไม่อยากให้จบ เนื่องด้วยหลังๆ คนเขียนเริ่มวางมุก วางกลเม็ด การดำเนินเรื่องนอกเหนือจากกลอุบายลงไปด้วย ทำให้ผมมักหงายตกเก้าอี้เพราะว่ามันช่างหักมุมเสียจริง
ในตอนแรกการ์ตูนนี้ค่อนข้างมีโครงสร้างคล้ายกับการ์ตูนสืบสวนสอบสวนทั่วไป เช่น โคนัน หรือคินดะอิจิ หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป(หลายเล่มขึ้น) การ์ตูนเริ่มนำสิ่งที่ผมอ่านแล้วต้องย้อนกลับอีกตอน เพราะเสน่ห์ของการ์ตูนเรื่องนี้คือทฤษฏีความรู้ต่างๆ ที่นำไปใช้ได้จริง ที่สอดแทรกในเรื่อง บางทฤษฏีเป็นของวิชาคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ ความรู้บางเรื่องก็เป็นเรื่องปรัชญาเลยก็มี
(เล่ม 1 ตอนดวงตาสีเงิน) ในตอนนี้เราจะได้เห็นหลักการดำเนินการสืบสวนของโทมะอย่างแท้จริง เมื่อโทมะกับคานะได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์คดีฆาตกรรมปริศนา โดยผู้ตายเป็นนายทุนจอมละโมบ ที่จ้องจะฮุบพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาอิจิมาซึนะอันล้ำค่าของหญิงชราที่เป็นถึงศิลปินแห่งชาติ(ตอนนี้ก็โครตล้ำค่า เพราะโอตากุชอบมากๆ) และเมื่อหญิงชราตายแล้วมรดกเป็นของลูกสาว และนายทุนจอมละโมบก็วางแผนต่างๆ นาๆ จนผู้เป็นลูกสาวประสบปัญหาด้านการเงินในการบริหารพิพิธภัณฑ์จนรอเวลาที่จะโดนฮุบกิจการ
วันหนึ่งนายทุนละโมบได้ไปพิพิธภัณฑ์แล้วจู่ๆ เขาก็ตายอย่างปริศนา ต่อหน้าตุ๊กตาขนาดใหญ่เท่าคนตัวหนึ่ง และมีผู้เห็นเหตุการณ์ 3คน ดูเผินๆ เหมือนเป็นคดีฆาตกรรมธรรมดา แต่แล้วปริศนาวุ่นวายก็เริ่มขึ้น เมื่อคำให้การของผู้เห็นเหตุการณ์ต่างกันลิบลับโดยชิ้นเชิง เพราะต่างฝ่ายต่างบอกว่าเป็นคนเจอศพคนแรก สาเหตุเป็นเพราะอะไรกันแน่ ทำไมถึงเกิดคำให้การแปลกๆ นี้เกิดขึ้น หรือทั้งหมดตั้งใจปกปิดฆาตกรตัวจริงที่สังหารนายทุนหน้าเลือดคนนี้
โทมะและคานะได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น แต่ทั้งสองโดนตำรวจกันไม่ให้เข้าไปยุ่งกับสถานที่เกิดเหตุ โทมะแทบไม่เห็นศพและจับต้องศพเลย เขาได้แต่ฟังข้อมูลจากการคำให้การของทั้งสามคนที่พบศพอย่างเงียบๆ ในห้องข้างๆ เท่านั้น เขาไม่พอใจกับข้อมูลที่ถูกบิดเบือนดังกล่าว แต่เขาก็ตั้งใจฟังและนำวิเคราะห์เพื่อหาความเป็นไปได้ จากนั้นก็ให้คานะสาวน้อยที่มีพลังกายไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดหายไป เมื่อเขาได้ข้อมูลจิ๊กซอร์สุดท้ายที่ตรงกับข้อสมมุติฐานของเขา สิ่งที่โทมะคิดทำไม่ต่างอะไรกับการคิดเชิงตรรกะของวิทยาศาสตร์(Scientific method) คือ
ตั้งปัญหา = สิ่งที่เป็นข้อสงสัย
ตั้งสมมติฐาน = ความน่าจะเป็นของปัญหา การคาดเดาเหตุผลเพื่อตอบคำถามให้แก่ปัญหาที่เป็นข้อสงสัยให้ได้
จากนั้นก็ทดลอง = โทมะไม่ใช้อารมณ์ในการวิเคราะห์ ไม่สนสิ่งเร้ารอบข้าง เขาสนใจกับข้อมูลที่ได้รับมาแล้วพิจารณ์ว่าอันไหนจริงไม่จริง โดยใช้วิธีต่างๆ เพื่อหาวิธีในการตอบปัญหา
เมื่อทดลองเสร็จก็นำมาวิเคราะห์ = การนำข้อมูลที่ได้จากการทดลองมาคิดวิเคราะห์พิจารณาในการตอบปัญหา
สุดท้ายการสรุปผล = ได้รับคำตอบจากการวิเคราะห์ สุดท้ายเขาก็เขียนคำว่า Q.E.D. เป็นอันว่าเขาสามารถแก้ปัญหาของคดีนี้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยพร้อมที่จะนำไปให้คนอื่นที่สงสัยความจริงของคดีนี้ให้เกิดความกระจ่าง(และเมื่อใครเห็น Q.E.D. จงโปรดปิดหนังสือและใช้สมองเพื่อคิดหาคำตอบของคดีนี้ก่อนเพื่อเปิดในหน้าถัดไป จะได้อรรภรสมายิ่งขึ้น)
เมื่อถึงเวลาไขปริศนาโทมะจะเรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามา(บางตอนก็ไม่จำเป็นต้องเอาทั้งหมดก็ได้) โทมะเริ่มไขปริศนาโดยอธิบายปริศนาหลักๆ ของคดีนี้ จากนั้นก็มีการแยกคำถามย่อยของคดีนี้ จากนั้นเขาก็มีตัวเลือกต่างๆ มากมายที่น่าจะเป็นของคดีนี้มาวิเคราะห์ เช่น นาย A เป็นคนร้ายหรือไม่?, นาย B เป็นคนร้ายหรือเปล่า, หรือนางสาว C เป็นคนร้ายตัวจริง หรือทั้งสามคนร่วมมือ โดยเขาจะตัดตัวเลือกเหล่านี้ โดยสมมุติฐานที่เป็นจริง โดยอิงจากหลักฐาน, ความน่าจะเป็นที่ถูกต้อง เพื่อตัดตัวเลือกดังกล่าว(แต่บางครั้งโทมะก็นำข้อสมมุติฐานแรงจูงใจของคนร้ายในการตัดหัวข้อเหล่านี้ด้วย)ตัดตัวเลือกเหล่านั้นจนเหลือข้อเดียว และข้อเดียวนั้นก็คือคำตอบของคดีนี้ทั้งหมด
น่าสนใจคือโทมะได้เก็บข้อเท็จจริงของคดีในเรื่องฆาตกรตัวจริงในการสังหารนายทุนหน้าเลือดนี้ไว้ด้วย แท้จริงแล้วคือฆาตกรคดีนี้คิดหญิงชราที่ตายก่อนหน้านี้แล้วแต่เธอก็อุตส่าห์ได้วางแผนก่อนตายเดิมพันความเสี่ยงสุดท้ายนี้เพื่อปกป้องลูกสาวที่ตนรัก แต่โทมะได้เลือกปิดความจริงนี้โดยไม่มีการเปิดเผยต่อคนภายนอกได้รับรู้แต่อย่างใด เขาให้เหตุผลว่า “ผมไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าแบบนี้ดีที่สุดแล้ว” แสดงให้เห็นว่าโทมะเป็นคนรู้ว่าอะไรควรไม่ควร เขาคำนึงถึงความรู้สึกของคนเป็นไว้ด้วย
ตอนนี้ผมประทับใจชอบกล ในหลายๆ เรื่อง ผมรู้สึกตื้นตันใจจัง ทั้งๆ ที่เหตุผลของฆาตกรฆ่านั้นไม่ได้เศร้ารันทดเหมือนคินดะอิจิ แต่ผมอ่านแล้วรู้สึกถึงคนที่ต้องการทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนรัก แม้ว่าตนเองกำลังจะตายและตุ๊กตาที่ตนเองรักต้องเปื้อนมลทินไปแล้วก็ตาม
(เล่ม 19 ตอนวิญญาณของแม็กแบธ) นอกเหนือการดำเนินเรื่องระหว่างโทมะกับคานะแล้ว ในบางตอนก็มีการดำเนินเรื่องในมุมมองของฆาตกรด้วย โทมะกับคานะได้มีโอกาสเข้าไปดูละครเวทีเรื่อง “มำ” แบ็ธ จากคำแนะนำของนักแสดงหนวดเก๋าประสบการณ์ชื่อดังคนหนึ่งที่แสดงเป็นตัวเอกแม็คแบ็ธตัวเองของเรื่องนี้
คานะถามโทมะ “แล้วแม็กเบธนี้มันเรื่องแนวไหนเหรอ?(ทุกตอนคานะชอบถามโทมะทุกเรื่องแล้วโทมะก็ตอบได้หมด โทมะช่างรอบรู้จริงๆ” จากนั้นโทมะก็อธิบายเป็นฉากๆ ว่าแม็กเบธเป็นหนึ่งในบทละครโศกนาฏกรรมชื่อดังของเซ็กสเปียร์ แล้วแม็กเบธเป็นขุนนางหนึ่งที่ได้รับพรจากแม่มด 3 คนในป่าลึกว่าเขาจะเป็นกษัตริย์ต่อไป และเป็นจริงตามทำนายเมื่อแม็กเบธฆ่ากษัตริย์องค์ก่อนแล้วขึ้นคลองบังลังก์แทน แต่แล้วแม็กเบธก็ไม่สบายใจเมื่อเหล่าแม่มดทำนายว่ากษัตริย์องค์ต่อไปคือชายที่ชื่อแม็กดัฟ จากนั้นแม็กแบธจึงส่งคนไปเพื่อฆ่าแม็ฟดัฟ แต่ก็ไม่สำเร็จ ทำให้แม็กเบธกลายเป็นโรคประสาทและเห็นวิญญาณที่ตนเคยฆ่ามาล้างแค้น จนแม็กเบธเดินทางไปขอคำพยากรณ์ใหม่จากเหล่าแม่มดอีกครั้ง แม่มดได้ให้คำสำคัญว่ามนุษย์ทุกคนที่ออกมาจากครรภ์มารดาจะไม่สามารถทำอันตรายใดๆกับแม็กเบ็ธได้ ซึ่งทำให้แม็กเบ็ธค่อยวางใจขึ้น แต่แม็กเบ็ธก็ยังคงต้องต่อสู้กับบรรดาภูตผีปีศาจที่ปรากฏตัวให้เขาเห็นแต่เพียงผู้เดียว และแล้วเมื่อแม็กเบ็ธทำศึกกับแม็ฟดัฟ ผลปรากฏว่า...........
โทมะเล่าขาดช่วงตอนนี้ โดยไม่เล่าตอนจบของบทละครแต่อย่างใด เพราะโดนขัดจังหวะจากคนในคณะละครเวทีทะเลาะกัน เมื่อดาราหนวดแม็กเบ็ธมีเรื่องกับดาราหนุ่มหน้าใหม่ที่สวมบทเป็นแม็กดัฟ เพราะดาราหนุ่มคนนี้แสดงละครห่วยแตก แต่เมื่อดาราหนุ่มโดนกดดันมากๆ เข้าเลยผูกใจเจ็บเป็นความแค้นเลยวางแผนฆ่าดารากหนวด และอำพราง คดีให้เหมือนเป็นอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต การ์ตูนดำเนินให้คนอ่านเห็นเลยว่าดาราหนุ่มคนนั้นฆ่าดาราหนวดยังไง ใช้ทริกแบบไหน เพราะจุดสำคัญของตอนนี้ไม่ใช้ทริกของฆาตกร หรือมานั่งเดาว่าฆาตกรเป็นใคร(เพราะคนอื่นรู้กันทั่วแล้ว) แต่สิ่งที่ต้องการสื่อการดำเนินเรื่องในมุมมองของฆาตกรคือดาราหนุ่มที่เหมือนกับบทละครของแม็กแบธ ซึ่งหลังจากที่ฆ่าดาราหนวด ชีวิตการงานของเขาเริ่มก้าวหน้า เขาได้บทเด่นๆ อย่างแม็กเบ็ธมาครอบครอง แต่เขากำลังจะกลายเป็นโรคประสาทเพราะว่าเขาได้เห็นวิญญาณดาราหนวดมาอาฆาตตน จากนั้นก็หวาดระแวงไปทั่วสุดท้ายจนถูกโทมะซ้อนแผนและไขทริกมัดตัวฆาตกรดาราหนุ่มจนโดนจับในที่สุด
ฉากสุดท้ายในตอนนี้ด่าราหนุ่มเห็นวิญญาณอาฆาตดาราหนวดอีกครั้ง โทมะพูดส่งท้ายว่า “ผมไม่เห็นอะไรเลยน่ะ ถ้ามีวิญญาญอยู่ตรงนั้นล่ะก็ คงมีแต่คุณเท่านั้นที่จะเห็น”
เชื่อไหมครับว่าตอนนี้ผมไปค้นหาแม็คแบ็ธในกูเกิลเลยว่าเนื้อเรื่องยาวๆ ของมันเป็นยังไงกันแน่ (ไม่น่าขัดจังหวะโทมะเล่าเลย) อ่านเนื้อหาละครแล้วทึ่งจริงๆ กับความเป็นอัจฉริยะของเชคสเปียร์ที่แม้บทละครจะแต่งมาเป็นร้อยปีแต่ยังคงเนื้อหาแปลกใหม่และหักมุมไม่รู้เบื่อ จึงไม่แปลกเลยว่ามันจะเป็นบทละครอมตะตลอดกาลของโลก
การดำเนินเรื่องมุมมองฆาตกรแบบนี้ในนิยายนักสืบไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่นัก เพราะปกตินิยายส่วนมากมักมีแนวทางสืบสวนคือ ฆาตกรคือใคร? ทำไมถึงฆ่า? และ ฆ่าได้อย่างไร? แต่การดำเนินเรื่องแบบว่าเปิดเผยฆาตกรแต่ต้น รู้สาเหตุฆ่าแต่ต้น แต่สิ่งที่อุบเงียบไว้คือทริกเท่านั้น โดยมีโจทย์ให้ผู้อ่านคือฆาตกรเผยไต๋ตอนไหน และทำอย่างไรจะหาหลักฐานให้ฆาตกรดิ้นไม่หลุดได้
ในนิยายนักสืบที่มุมมองฆาตกรแบบนี้ เท่าที่ผมจำได้ เรื่องดังที่สุดคือ นักสืบโคลัมโบ(Columbo) ผลงานของ อัลเฟร็ด ลอว์เร้นซ์ นิยายที่ผมชอบมากๆ ซึ่งเป็นซีรีย์ดังที่เคยถูกสร้างเป็นละครชุดในอเมริกา ที่เนื้อหาดำเนินเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นมุมมองของฆาตกรที่วางแผนฆ่าดหยื่อโดยเฉยทริกออกมาทั้งหมดตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะมาติดกับกับดักจิตวิทยาของพระเอกโคลัมโบอย่างเเยบยล
มีเกร็ดนิดหนึ่งที่ซ่อนไว้ในตอนนี้ ผมเชื่อว่าหลายคนไม่รู้ ผมพึ่งรู้ตอนหาคำว่า แม็กเบ็ธ (Macbeth) ในกูเกิ้ล ก็รู้เลยว่าทำไมคนเขียนจึงเลือกเรื่องนี้ไปเขียนการ์ตูนตอนนี้ สาเหตุคือ บทละครเรื่องนี้มีคำสาปนั้นเอง โดยว่ากันว่าบทละครเรื่องนี้กล่าวถึงแม่มดและคาถามนต์ดำ ทำให้แม่มดตัวจริงสมัยนั้นไม่พอใจ เชคสเปียร์ พวกเขาเลยสาปให้ละครนี้มีคำสาป หากใครได้แสดงตัวละครในเรื่องต้องมีอันเป็นไป โดยเฉพาะแม็กเบ็ธ แต่นั้นมาเกือบ 400 ปี ละครเรื่องนี้ก็มีอาถรรพณ์เกิดขึ้นกับนักแสดงมาตลอด เช่น มีอุบัติเหตุบาดเจ็บ ล้มตาย บางคนฆ่าตัวตาย และตายกลางเวลาที่ต่อหน้าผู้ชมก็มี
สิ่งที่ถูกใจในตอนนี้คือการดำเนินเรื่องที่เหมือนกับละครแม็กเบ็ธ หากใครไม่เคยอ่านบทละครเรื่องนี้มาก่อนก็ยิ่งอยากอ่านว่าเรื่องนี้จะเป็นยังไงต่อไป สุดท้ายตอนจบก็เหมือนกับคติสอนใจในตอนจบของบทละครแม็กแบธที่ว่า “ความทะเยอทะยานอันไม่มีที่สิ้นสุดและนำพาชีวิตไปสู่ความหายนะ”
เล่ม 27 ตอนความรับผิดชอบต่อการพิสูจน์ อย่างที่หลายคนทราบ บางครั้งการ์ตูนเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคดีฆาตกรรมหรืออาชญากรรมเลย บางครั้งปริศนาที่โทมะกับคานะเผชิญก็อยู่ในรูปของชีวิตประจำวันทั่วไป อย่างเช่น ในตอนนี้โรงเรียนของโทมะกับคานะได้จัดงานจำลองการพิจารณาคดีศาลในญี่ปุ่นเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน และโทมะกับคานะก็มีโอกาสร่วมงาน(จับฉลากได้) ในฐานะสองในคณะผู้พิพากษาทั่วไป
โทมะกับคานะเข้างานด้วยสีหน้าบูดบึ้ง แต่พอเอาเข้าจริงทั้งสองกลับตั้งใจงานผิดคาด โดยงานนี้จะเป็นการจำลองศาล(ของญี่ปุ่น) ประกอบด้วยผู้พิพากษาคดี 3 คน คณะผู้พิพากษาทั่วไป 6 คน(แล้วแต่คดี หากคดีใหญ่จะให้คณะผู้พิพากษาทั่วไปหลายคนเพื่อให้การตัดสินคดียุติธรรมที่สุด) และทั้งหมดต้องตัดสินคดีโดยการยกมือในคดีจำลองที่นำมาพิจารณาคดีในงานนี้
จากนั้นเราก็ได้เห็นขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาล(ญี่ปุ่น) เมื่อคดีที่นำมาตัดสิน เป็นคดีจำลองจี้ทำร้ายเจ้าทรัพย์ที่แสนจะธรรมดา ระหว่างที่อัยการอ่านสำนวนเปิดรูปคดีหลายฝ่ายเชื่อว่าจำเลยนั้นเป็นคนร้ายแน่นอน เพราะหน้าตาอย่างกับโจร อีกทั้งจำเลยมีประวัติไม่ดีเท่าไหร่นัก เปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น เป็นหนี้ ชีวิตล้มเหลวมาโดยตลอด อีกทั้งมีหลักฐานสำคัญคือมีเงินที่ขโมยมาอยู่กับตัว อีกทั้งพยานก็เห็นเหตุการณ์จะๆ เรียกได้ว่าอ่านมุมไหนมันคนร้ายชัดๆ
แต่แล้วเมื่อถึงตาทนายว่าการ เหตุการณ์ก็พลิกผัน เพราะทนายได้เปลี่ยนคดีนี้จากดำกลายเป็นขาว คนร้ายกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ หลักฐานของอัยการถูกทนายความตอบโต้หมด ผู้ชมหลายคนเกิดอาการสับสนในข้อมูล ต่างฝ่ายแตกเสียงเป็นสองฝ่าย คณะผู้พิพากษาทั่วไป(ที่มีทามะกับคานะอยู่ในกลุ่มด้วย)ใช้อารมณ์และความรู้สึกในการตัดสิน(โดยบางคนแทบไม่สนใจสิ่งที่ทนายและอัยการพูดเลย)
และแล้วผลตัดสินก็ออกมาปรากฏว่าสุดท้าย จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งผู้พิพากษาแปลกใจมาก เพราะคดีจำลองนี้อ้างอิงจากคดีที่เกิดขึ้นจริง และเขาเคยตัดสินพิพากษาว่าจำเลยผิดจริงในชั้นศาล แต่พอเอามาเป็นคดีจำลองปรากฏว่าผลการตัดสินจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ทุกครั้ง ผู้พิพากษาถามข้อสงสัยโทมะเนื่องด้วยเขาสังเกตพฤติกรรมแปลกๆ ของโทมะในชั้นศาลจำลองเขาคนเดียวที่เปลี่ยนคำตัดสินจากจำเลยมีความผิดกลายเป็นบริสุทธิ์ โทมะเฉลยว่า เป็นเพราะคดีนี้อัยการไม่สามารถพิสูจน์ประเด็นสำคัญให้เป็นที่ประจักษ์ชัด ปกติมนุษย์ที่ถูกรับเลือกให้ทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ ตัดสินชีวิตของคน หากข้อมูลน้อยไม่กระจ่างชัด ส่วนมากจะตัดสินให้จำเลยบริสุทธิ์หมด
ผู้พิพากษาถามโทมะอีกว่าในเมื่อรู้ความจริง แต่ทำไมไม่ยกมือว่าจำเลยมีความผิด แต่กลับยกมือให้จำเลยบริสุทธิ์เหมือนคนอื่น โทมะบอกว่า “หน้าที่ความรับผิดชอบในการชี้มูลความผิดทั้งหมดอยู่ที่เจ้าพนักงานอัยการ คณะผู้พิพากาษาทั่วไปต้องตัดสินจากหลักฐานที่นำเสนอมาเท่านั้น”
ตอนนี้เป็นอีกตอนที่เราได้เห็นโทมะแสดงการวิเคราะห์โดยไม่ใช้อารมณ์และสภาพแวดล้อมในการตัดสิน ท่ามกลางผู้ชมหลายคนที่ต่างตัดสินคดีด้วยเหตุผลทีเล่นที่จริงเช่น ทนายความสวย, คนชอบดนตรีไม่ใช่คนร้าย หรือ การเดา แต่โทมะยังคงพิจารณาข้อมูลโดยการวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์เหมือนเช่นคดีที่ผ่านมา และเมื่อเขาได้ความจริงของคดี เขาก็ไม่เปิดเผยข้อเท็จจริง แม้คดีที่ตัดสินมีช่องโหว่และผิดพลาดแต่เขาไม่ได้โต้แย้งหรือท้วงแต่อย่างใด เพราะว่าเขารู้อะไรควรไม่ควรและปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ทำอะไรเกินเลยต่อหน้าที่นั้นๆ
เรื่องนี้ให้ข้อคิดเยอะๆ มาก เราจะเห็นว่าแม้จะมีหลักฐานจะๆ ตา แต่บางครั้งหลักฐานเหล่านั้นก็ไม่สามารถมัดตัวคนร้ายได้ ไม่ใช้เหมือนการ์ตูนนักสืบบางเรื่อง ที่แค่มีรอยนิ้ว รอยเลือดนิดหน่อยคนร้ายก็รับสารภาพอย่างง่ายดาย ความจริงหลักฐานมัดตัวในการ์ตูนพวกนี้อ่อนยวบมาก คนร้ายยังมีโอกาสอีกมากในการดิ้นหลุดได้ นั้นคือให้การในชั้นศาลแทน จ้างทนายเก่งๆ เพื่อหักล้างคดี
การตัดสินของศาลไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่คิด คณะผู้พิพากษาจะต้องเป็นคนที่มีคุณวุฒิ และจะต้องมีใจที่เป็นกลาง
จะบอกว่าศาลตัดสินลำเอียงก็ไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักฐานว่ามันสมบูรณ์ถ้วนหรือไม่ หากไม่สมบูรณ์คดีก็ตัดสินไม่ยุติธรรม บางครั้งเพียงข้อมูลเดียวก็ส่งผลกระทบต่อรูปคดีในชั้นศาลได้
บ้านเราน่าจะมีการจำลองศาลแบบนี้บ้าง เพราะว่าส่วนใหญ่หลายคนแทบไม่รู้จักศาล เป็นเหตุทำให้เราเข้าใจผิดต่อศาลมาก เช่น ศาลน่ากลัว(เพราะกฎระเบียบในการห้องพิจารณาคดีเข้มงวดมาก), ศาลไม่ยุติธรรม(สาเหตุเพราะการตัดสินอดีตนายกของประเทศหนึ่งทำให้หลายคนมองศาลด้านลบมาก), ศาลยุ่งยาก(เพราะความยุ่งยากนี้แหละที่จะทำให้การตัดสินยุติธรรมที่สุด) ผมเคยไปศาลมาแล้วและพบว่าระเบียบในศาลนั้นค่อนข้างเข้มงวดอย่างมาก ผมโดนดุอย่างรุนแรงจากผู้พิพากษา เพราะไม่รู้กฎระเบียบของศาล หากไทยเราจัดกิจกรรมจำลองศาลแบบโรงเรียนของโทมะและคานะอาจทำให้คนไทยเข้าใจศาลมากยิ่งขึ้น และผมคงไม่โดนผู้พิพากษาดุด้วย
(เล่มที่ 24 โทษและทัณฑ์) เป็นเรื่องราวมุมมองของชายหนุ่มนักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่งที่เดือดร้อนเรื่องการเงิน เลยหันมาเป็นตีนแมวสมัครเล่น แต่เป็นครั้งแรกก็เกิดปัญหาซะแล้ว เมื่อฉากถัดมาเบื้องหน้าของเขามีศพเจ้าของบ้านที่เขาเข้ามาปล้น ถูกตีด้วยไม้กอล์ฟนอนคว่ำหน้าจมกองเลือดอยู่ในภายในบ้าน
จากนั้นเรื่องราวก็ดำเนินเหมือนกับว่าชายหนุ่มคนนี้เป็นเพียงโจรธรรมดาที่เกิดไปรู้เห็นการฆาตกรรมเท่านั้น เขาพยายามวางแผนให้ตนไม่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย แต่กลายเป็นยิ่งวางแผนตำรวจยิ่งสงสัยเขาหนักเขาไปใหญ่
สุดท้ายเขาเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาโทมะกับคานะ(เพราะพ่อของคานะเป็นตำรวจรับผิดชอบคดีนี้) บอกให้คานะไปพูดกับพ่อของเธอว่าอย่าสงสัยเขา แต่โทมะยังคงนิ่งเฉย และไร้อารมณ์เช่นเคย
ที่บ้านของโทมะ คานะเล่ารายละเอียดของคดีให้โทมะฟัง แล้วพูดว่า “เท่าที่ดูแล้วเขาคนนั้นไม่น่าจะเป็นฆาตกรได้เลยนะ”
โทมะได้ยินคานะแล้วก็พูดว่า”น้อยคนนักที่จะมองความจริงตามสภาพที่มันเป็น คนส่วนใหญ่มักจะไตร่ตรองด้วยเหตุผล สิ่งสำคัญคือการที่เราไม่ควรกลัวว่าการไตร่ตรองด้วยเหตุผลของเรานั้นจะผิดพลาด”
จากนั้นก็ถึงการไขปริศนา ขั้นแรกโทมะเปิดโปงก่อนว่าชายหนุ่มนั้นเป็นตีนแมวปล้นบ้านของผู้ตาย ชายหนุ่มรับสารภาพทันที ก่อนที่โทมะจะปล่อยหมัดเด็ดช็อกคนดู เมื่อไขปริศนาฆาตกรฆ่าเจ้าของบ้านว่าแท้จริงแล้วคือชายหนุ่มเองนั้นแหละ
ตอนนี้เป็นอีกตอนที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์มาเล่น ทำให้คนอ่านเชื่อตลอดว่าชายหนุ่มคนนั้นเป็นเพียงคนซวยที่ดันไปเจอเหตุฆาตกรรมในระหว่างปล้นบ้านเท่านั้น คนเขียนฉลาดมากในการดำเนินเรื่องหลอกทั้งตัวละครและผู้อ้านอย่างเราได้อย่างอยู่หมัด ซึ่งคนอ่านแทบตบหน้าตนเองโทมะหลังไขคดีได ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าโทมะนั้นได้เตือนแล้วแท้ๆ
หากตีความสิ่งที่โทมะพูดคานะนั้นได้ความว่า “เราจงมั่นใจตนเองต่อข้อสันนิษฐานของตัวเอง” และ “จงใช้สติในการคิดรอบคอบ อย่าได้ให้สถานการณ์แวดล้อมเปลี่ยนแปลงความคิดเราได้”
โลกของเราทุกวันนี้ มีข่าวจริง ข่าวเท็จมากมาย หลายคนเชื่อข่าวเท็จ เพราะว่าใช้อารมณ์และความรู้สึกเป็นหลัก บางคนก็แล้วแต่ผู้ตาม คนอื่นเชื่อ เราก็เชื่อ สังคมไทยของเราเป็นเพราะแบบนี้แหละถึงเดือดร้อนอย่างไม่มีท่าจะสิ้นสุด ทางที่ดีเราควรมีสติ วิเคราะห์โดยไม่ยึดอารมณ์เป็นที่ตั้ง จะเป็นการดีที่สุด
โทมะกับเอ๊ฟ.เอ๊ฟ. ฟาน ดูเซิ่น หากเปรียบเทียบโทมะเหมือนนักสืบในนิยายเรื่องหนึ่งหลายคนที่เป็นคอนิยายสืบสวนก็เห็นฟ้องต้องกันว่า โทมะช่างเหมือนศาสตราจารย์ เอ๊ฟ.เอ๊ฟ. ฟาน ดูเซิ่น(Augustus S. F. X. Van Dusen) ไม่มีผิด ศาสตราจารย์นักสืบคนนี้เป็นผลงานของฌ้าคส์ ฟูเทรลล์(Jacgues Futrelle)ตัวเล็ก หัวโต ผมหยิกยุ่ง หน้าผากกว้าง ทำงานอยู่ในห้องทดลองทั้งวัน นิสัยหงุดหงิด ที่มีแนวทางการสืบสวนคดีเชิงตรรกะคล้ายโทมะเช่นกัน(หรือโทมะเลียนแบบก็ไม่รู้) โทมะจบสถาบัน MIT ส่วนศาสตราจารย์นักสืบจบปริญญาหลายสาขาไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม, ประวัติศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ฟิสิกส์ เขาเอาชนะหมากรุกกับแชมป์โลกทั้งๆ ที่ไม่เคยเล่นหมากรุกมาก่อน และพึ่งรู้จักกติกาไม่นานมานี้เอง จนเขาได้รับฉายาว่า “เครื่องจักรนักคิด”
หากคานะคือผู้ช่วยและผู้นำปริศนามาให้โทมะคิด ศาสตราจารย์นักสืบคนก็มีผู้ช่วยเหมือนกัน ก็คือนักข่าวฮัทชินสัน ผู้ช่วยที่มักนำปริศนามาเล่าให้เขาฟังเป็นประจำ และจากนั้นนักข่าวคนนี้ก็เป็นคนช่วยทำหน้าที่สืบเพิ่มเติม และตอนสุดท้ายก็เป็นหน้าที่ของศาสตราจารย์นักสืบในการไขคดีแก้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนจนสำเร็จ
เอ๊ฟ.เอ๊ฟ. ฟาน ดูเซิ่นมีแนวคิดการสืบคดีคล้ายๆ กับโทมะ เขาเชื่อว่าสมองของมนุษย์สามารถแก้ปัญหาทุกอย่าง เขาไม่จำเป็นต้องดูศพหรือดูที่เกิดเหตุ แค่ได้ยินเรื่องปริศนาผ่านคน เขาก็คิดด้วยนั่งเดาะ เอามือประสานและตาหลี่จ้องมองที่เพดานสักครู่เขาก็ได้คำตอบของปริศนานี้ออกมาทันทีทันใด
น่าเสียดายเรื่องของศาสตราจารย์ เอ๊ฟ.เอ๊ฟ. ฟาน ดูเซิ่นนั้นค่อนข้างสั้น มีเพียง 50 ตอน ใน 7 ปี ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับนิยายนักสืบที่ออกมาในช่วงยุคทองในช่วงนั้น สาเหตุเป็นเพราะคนเขียนฌ้าคส์ ฟูเทรลล์เสียชีวิตไปพร้อมกับเรือเดินสมุทรสุดหรูชื่อดังลำหนึ่ง ที่หลายคนเรียกว่า “ไททานิค” ในคืนวันที่ 14-15 เมษายน 1912 ว่ากันว่าถ้าเขาไม่เสียชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่มละก็ อกาธา คริสตี้จะมีคู่แข่งที่น่ากลัวเทียบชั้นกับเธอ
ผมไม่ได้บอกว่าการ์ตูนนี้สนุกกว่าโคนัน แต่หากถามว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการ์ตูนเรื่องนี้กับโคนัน อันไหนดีกว่ากัน ผมตอบได้เต็มปากว่าการ์ตูน Q.E.Dเรื่องนี้ชนะขาด
นอกเหนือจากนี้การ์ตูน Q.E.D. ยังถ่ายทอดอารมณ์ของมนุษย์เยอะและเป็นมิติค่อนข้างมาก เราจะได้เห็นอารมณ์ของมนุษย์ครบทุกรสชาติ ไม่ว่าจะเป็น ริษยา, หลอกลวง, ละโมบ, โกรธ, ดีใจ, เศร้าโศก รวมมาอยู่ในเรื่องนี้ ในสถานการณ์ที่โทมะต้องรับมือในการสอบสวน
ผมรู้สึกแปลกใจเล็กน้อยเมื่อผมเขียนตอนนี้ ผมนึกว่าหลายคนรู้จักการ์ตูนนี้กัน แต่ปรากฏว่ามีหลายคนไม่รู้จักการ์ตูนเรื่องนี้เลย ทั้งๆ ที่จนบัดนี้ก็ตีพิมพ์จนถึงเล่ม 28 มายาวนานหลายปีพอๆ กับการ์ตูนหลายซีรีย์เรื่องอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าโคนันการ์ตูนเทพ(ที่ใครออกมาด่าไม่ได้)ได้กลายเป็นการ์ตูนฝังลึกจิตใจของเด็กไทยไปเสียแล้ว โดยไม่คิด ไม่สนที่จะชายตาการ์ตูนแนวสืบสวนเรื่องอื่นใดเลย นอกเหนือจากโคนันท่าเดียว
สำหรับคนที่จะอ่านการ์ตูน Q.E.D. เรื่องนี้ครั้งแรกต้องใจเย็นๆ เนื่องจากลายเส้นมีการพัฒนาถึง 3 ครั้งและการปรับปรุงเนื้อหากว่าจะเข้าที่เข้าทางได้ คนเขียนต้องลองผิดลองถูกอยู่เยอะ อย่างตอนแรกๆ มีการวางโทมะกับคานะอยู่ในสถานการณ์ปิดตายจากโลกภายนอกผจญกับฆาตกรฆ่าต่อเนื่องเช่นการ์ตูนแนวสืบสวนทั่วไป(โดยเฉพาะคินดะอิจิ) แต่หลังๆ คนเขียนก็เริ่มรู้ว่าคดีแนวโลกที่ปิดตายนั้นไม่เหมาะในการนำมาใช้ใน Q.E.D. คนเขียนเริ่มแก้ตัวใหม่เปลี่ยนจากคดีที่มีฆาตกรรมพิศวง กลายเป็นคดีที่พบเห็นในชีวิตประจำวันที่ดูเหมือนเป็นคดีธรรมดาแต่กลายเป็นว่าเป็นคดีซับซ้อนไปซะงั้น ความขัดแย้งธรรมดา แต่สามารถลุกลามทำให้กลายเป็นเรื่องที่วุ่นวาย ไม่เป็นระบบ และเมื่อโทมะไขได้เรื่องก็จบอย่างมีความสุขสมหวัง ลั๊นลา....นี้แหละคือคดีของ Q.E.D. ที่แท้จริง
ตัวละครอาจไม่เด่นมากนัก และใครชอบเรื่องฉิบหายตายโหงก็โปรดทำใจนิดๆ เพราะว่าส่วนมากคดีในการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ค่อยมีคดีฆาตกรรมสักเท่าไหร่ และเนื้อหาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเหมือนโคนัน(ที่ตามล่าชายชุดดำทั้งปีทั้งชาติก็ไม่เจอตัวสงสัยองค์กรมันโครตลึกลับมากๆ)หรือคินดะอิจิ(ล่าเจ้าตุ๊กตานรก) แต่ของ Q.E.D. ไม่มีการผูกเรื่องเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นตอนจบในเล่ม ทำให้อาจขาดความน่าติดตามไป
นอกจากนั้นการ์ตูนเรื่องนี้ยังถูกนำไปเป็นละคร ฉายตั้งแต่ 8 มกราคม 12 มีนาคม 2009 มี 10 ตอนจบ ซึ่งผมไม่ได้สนใจนัก แต่เท่าที่ดูภาพ ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคาแร็คเตอร์มากนัก โทมะตัวสูงโย่ง คานะหน้าแบน.......ผมว่าปล่อยมันเป็นการ์ตูนยังดีกว่านะครับ เพื่อที่จะได้ไม่ผิดหวังมากกว่านี้
เอาเป็นว่าใครไม่ชอบการ์ตูนที่ดังไม่ลืมหูลืมตา ใช้มุกซ้ำๆ ซากๆ ตัวละครบางตัวงี่เง่าไม่รู้จบ ออกทะเล ออกดาวพลูโต ตัวละครสมทบออกมาอย่างกับปาร์ตี้รวมญาติ อยากอ่านการ์ตูนนักสืบที่ไม่มีเรื่องพวกนี้ละก็ ผมขอแนะนำการ์ตูนเรื่อง Q.E.D. ครับ
พวกเราจะเป็นศัตรูกับความหลอกลวง
และเสนอข้อวินิจฉัยว่าควรจะทำอย่างไร
และจะเริ่มด้วยการขอพิสูจน์ตามสภาพนั้นๆ
“ซึ่งต้องพิสูจน์”
ความคิดเห็น