ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #61 : Lucu Lucu นิยามของปีศาจนั้นอยู่ตรงไหน?

    • อัปเดตล่าสุด 27 พ.ค. 54



     

    จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อวันธรรมดาของเด็กหนุ่มคนหนึ่งต้องเปลี่ยนไป เมื่อเขาตื่นขึ้นมาพบว่ามีเด็กสาว น่ารักแต่ท่าทางน่าสงสัยอยู่ที่ห้องครัว  ส่วนห้องข้างๆ ดันมีตุ๊กตาประหลาดที่มีชีวิตท่าทางน่าเกลียดน่ากลัวอีกต่างหาก พวกเขาอ้างตนว่า “เป็นเจ้าหญิงปีศาจและสมุนจากนรก” ที่มาขออาศัยอยู่ในบ้าน และแล้วครอบครัวเล็กๆ ที่ประกอบไปด้วยเด็กหนุ่ม เด็กสาว ตุ๊กตา และแมว(?)จึงถือกำเนิดขึ้น!!

     

     

    Lucu Lucu

    ชื่อไทย รุคุ รุคุ จอมมารแบบนี้ก็มีด้วย

    แนว คอมมาดี้, เหนือธรรมชาติ,เซเน็น, ละครชีวิตแบบเบาๆ, ครอบครัว

    ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 2002 ปัจจุบันออก 10 เล่มจบ

    สยามอินเตอร์คอมมิค (SIC)

    อ่านได้ที่ http://www.onemanga.com/Lucu_Lucu/

     

    ศัพท์ญี่ปุ่นวันละคำ เซเน็น (seinen) เป็นศัพท์เฉพาะของการ์ตูนญี่ปุ่น ที่กำหนดเป้าหมายของผู้อ่านที่เป้นเพศชายอายุ 18-30 ปี ที่อายุขนาดนี้ไม่ใช้ว่าเป็นการ์ตูนโป๊ หากแต่เนื้อหาค่อนข้างต้องเข้าใจระดับหนึ่ง เช่น นักธุรกิจวัยกลางคน, หรือเฉพาะด้านต่างๆ โดยบางเรื่องมีกลุ่มเป้าหมายเป็น การ์ตูนแนวเซเน็นมีเนื้อหาและสไตล์ที่หลากหลาย บ้างเป็นการ์ตูนแนวขายของตัวละครเป็นจุดขาย และบ้างก็เป็นหนังสือที่ค่อนข้างรุนแรง บ้างก็ลามก บางมุกอาจตลกร้าย ตัวอย่างการ์ตูนที่มีคำว่าโซเน็ตก็มี 20th Century Boys, Berserk, Elfen Lied, Gantz, Black Lagoon และ Hellsing

    แต่การ์ตูนรุคุ รุคุนั้นเป็นการ์ตูนที่อุดมด้วยฉากเซอร์วิสไหม? คำตอบคือไม่!   รุนแรงเลือดสาดไหม ก็ตอบไม่อีก! (แม้ชื่อแต่ละตอนจะโครตน่ากลัวก็ตาม) อันเนื่องจากมีคำว่า “แนวครอบครัว” ขั้นอยู่ พร้อมด้วยละครชีวิตเบาๆ เนื้อหาการดำเนินเรื่องแบบเนื่องๆ วันต่อวัน สอดแทรกมุกตลก แต่สอดแทรกอะไรน่าคิดอีกเยอะมากมาย และถ้าจะถามว่าทำไมถึงต้อง +18 คำตอบคือมุกตลกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นปรัชญา และบางครั้งอาจมีเรื่องศาสนาและพระเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย!!

                    
             ผมเห็นการ์ตูนนี้ครั้งแรกตอนไปฝึกงานที่เชียงใหม่ วางแผงที่กาดหลวง เล่ม 1 ผมซื้อทันทีโดยไม่ดูคนเขียน เนื่องจากหน้าปกช่างน่ารักเหลือทนเห็นสาวน้อยเงียบๆ ตัวเล็ก แบนแต่ไม่ซึนฯ เปิดอ่านครั้งแรกผมต้องร้อง โอว้าว
    !! เพราะคนเขียนการ์ตูนเรื่องนี้คือ โยชิโตโอะ อาซาริ (Asari Yoshitoo) นักเขียนที่ผมชื่นชอบมากๆ นี้เอง

    โยชิโตโอะ อาซาริ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1962 ที่ฮอกไกโด หลังจากจบมัธยมปลายที่โรงเรียนทะกิงาวะที่ฮอกไกโดแล้วก็เข้าไปทำงานในกรมสรรพากรเขตโตเกียวสังกัดกระทรวงการคลัง แล้วจึงมาเป็นนักเขียนการ์ตูน จุดเด่นลายเส้นของนักเขียนคนนี้นั้นค่อนข้างวาดง่ายๆ สบายตา เน้นตัวละครหลักชายหญิงที่น่ารักน่ากอด แต่ตัวละครประกอบอื่นๆ จะค่อนข้างแปลกๆ ประหลาดเป็นตัวเสริมเนื้อเรื่อง เนื้อหาส่วนใหญ่ของนักเขียนคนนี้คือแนวตลกและไซไฟ เนื่องจากเป็นคนชื่นชอบเรื่องวิทยาในสมัยประถม 4 (เขาได้รับแรงบันดาลใจจากอ่านหนังสือเรื่อง “คลังปัญญาทางวิทนยาศาสตร์ของไคโระสุเกะ”) ทำให้เขาชอบเรื่องอวกาศเป็นพิเศษ

    โยชิโตโอะ อาซาริเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ผลิตผลงานก็มาเยอะคนหนึ่ง แต่น่าเสียดายด้วยเนื้อหาส่วนใหญ่ค่อนข้างเรียบง่ายทำให้การ์ตูนหลายเรื่องไม่ค่อยดัง(และไม่ค่อยเข้าไทย) การ์ตูนหลายเรื่องที่คนไทยเรารู้จักแค่ชื่อโดยไม่เคยเห็นปกหรือเนื้อหาก็มีเรื่อง Asteroid Miners(2009), Chikyuu Bouei shoujo Iko-chan, Hal(2000), Hosoude Sanjouki(2001), Ike!! Unagi-chan, Kouya no Jouki Musume, Manga Kuwagata Tsumami(2008), Natsu no Rocket(2001), Nippon Furusato Chinbotsu(2006), Parasitic Worm(1991), Shinseiki Evangelion dj - Shin Seiki Evangelibon(1995), Shoujo Tantei: Kaneda Hajime no Jikenbo(1999), Tanpenshuu, Wagahai wa Robot de aru. Weiss no Sora(2003)

    การ์ตูนที่เข้าไทยที่เราพอรู้จักก็เช่น Wahhaman(1991) ที่ตีพิมพ์ในไทยโดยสำนักพิมพ์สยามในชื่อ "ฮาไม่ฮาข้าก็ชื่อ ว่ะฮ่ะแมน" ซึ่งเสียดายผมไม่มีโอกาสได้อ่านมันเพราะออกเร็วจนเกินที่ผมจะตามทัน(ในเน็ตมีแต่ผมไม่อ่านเพราะมันภาษาอังกฤษ)

     อีกเรื่องก็ Manga Science(1987)การ์ตูนวิทยาศาสตร์ส่งเสริมความรู้สำหรับเด็ก(แต่เนื้อหาไม่เด็กน่ะ)ที่คนเขียนอยากจะเขียนการ์ตูนแนววิทยาสตร์สักครั้งเอาความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่มานำเสนออย่างน่าสนใจมากๆ แถมสนุกด้วย มีหัวข้อวิทยาศาสตร์แปลกๆ ผมใช้การ์ตูนเรื่องนี้ทำรายงานส่งอาจารย์มหาลัยด้วย!! ที่ญี่ปุ่นออกมา 10 เล่ม แต่ของไทยเราตีพิมพ์ออกมาแค่เล่มเดียวเองง่ะ ของสำนักพิมพ์ ส.ส.ท.(สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น)

     อีกเรื่องที่ดังที่สุดแล้วสำหรับนักเขียนท่านนี้คือ Uchuu Kazoku Carlvinson(1986) ตีพิมพ์ในไทยในชื่อ "ครอบครัวตัวยุ่ง คาลวิลสัน"ไม่มีลิขสิทธิ์ แม้ลายเส้นจะเก่า แต่เนื้อหาที่สนุกมาก เป้นเรื่องของเด็กสาวกำพร้าที่ถูกเลี้ยงโดยสัตว์ประหลาดรูปร่างหนูและหุ่นยนต์สงคราม(??) การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับความนิยมพอสมควรเคยถูกสร้างเป็นอมิเนชั่น แต่ไม่เคยเข้าไทยและเก่ามากๆ ทำให้เราไม่มีโอกาสจะเห็นการ์ตูนเรื่องนี้ในเว็บที่ไหนอีก นอกจากเพลงเปิดเรื่องและเพลงจบตอนเท่านั้น

     คนเขียนพยายามเขียนแนวดราม่า และแนวหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นคนชอบแนวไซไฟอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าไปไม่รอด.....สาเหตุที่การ์ตูนของคนเขียนคนนี้ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร อันเนื่องจากลายเส้นที่ค่อนข้างเหมือนการ์ตูนสมัยเก่า การออกแบบที่เรียบง่าย ทำให้ไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่ผมชอบลายเส้นแบบนี้นะ มันน่ารักดี และไม่เครียดมากมายด้วย

     นอกจากนี้คนเขียนคนนี้เคยออกแบบตัวละครประกอบเกมส์ในชื่อ  KiKi KaiKai: Nazo no Kuro Manto คู่หูแรคคูนปราบปีศาจการ์ตูนแนวแอ็คชั่นแบบทั่วทิศ ของเครื่องเล่นเกมส์ซูเปอร์แฟมิคอม

                    และแล้วก็มาถึงการ์ตูนที่ผมอยากจะเขียนถึง Lucu Lucu (2002) หนี่งใน 10 การ์ตูนในดวงใจของผมนั้นเอง

                    

                    Lucu Lucu เป็นเรื่องราวชีวิตดำเนินในมุมมองของเด็กหนุ่มหน้าจืดใส่แว่นชื่อ “สุซุกิ โระขุมง” ที่ถือหลักการในการใช้ชีวิตว่า “ไม่โลภ ไม่โดดเด่น ไม่ยึดติด” ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตแบบเรียบๆ ไปวันๆ อยู่กับพ่อที่ไม่เอาไหนในบ้านเดี่ยวหนึ่งชั้นที่แสนจะยากจนไม่มีทั้งน้ำและไฟฟ้า จนกระทั้งวันหนึ่งจู่ๆ ซึ่งเขาคิดว่าจะเป็นวันธรรมดาเหมือนเช่นทุกวันวานแท้ๆ แต่แล้วเมื่อเขาตื่นขึ้นมาเขาก็พบเด็กสาวที่เขาไม่เคยเห้นมาก่อนอยู่ในครัวของบ้าน เด็กสาวคนนั้นผมยาว น่ารักน่ากอด สวมชุดเมด(??) อีกทั้งผมที่ยาวของเธอยังสามารถใช้ต่างมือที่สามที่สี่ช่วยทำอาหาร อย่างตั้งอกตั้งใจอีกต่างหาก !?

    เด็กสาวหันมาพูดตอบพร้อมกับยิ้มให้เด็กหนุ่ม "อะ อรุณสวัสดิ์ อีกเดี๋ยวก็เสร็จแล้วจ๊ะ" เด็กสาวทักทายเด็กหนุ่มเหมือนกับว่าเป็นคนรู้จักมาก่อน

    โระขุมง งง กับภาพที่เห็นและอึ้งไปสักพักหนึ่งก่อนจะถามว่า “เอ่อ...ใครน่ะ?

    "รุ . . . รุคุฮะ เรียกฉันว่า “รุคุ” ก็ได้" สาวน้อยที่กำลังสาละวนอยู่กับการทำอาหารเช้า ขณะที่ปอยผมหนึ่งของเธอเหมือนมีชีวิตคีบปลาตากแห้งสุกได้ที่วางลงบนจานที่ปอยผมอีกปอยหนึ่งหยิบมาให้ . .

                    เด็กหนุ่มตกใจ เขาเรียกหาพ่อ แต่ปรากฏว่าเขาพบตุ๊กตาประหลาดที่มีชีวิตและพูดได้อยู่ในห้องข้างๆ แทน ส่วนพ่อของเด็กหนุ่มคนนั้นตอนนี้เละเป็นโจ๊ก เลือดสาดอยู่ในห้องข้างๆ !?

                    
              ทั้งสองแนะนำตัวว่า เป็น
    "เจ้าหญิง" และสาวก(??)จากนรก จะมาขออาศัยในบ้านของเขา เธอเล่าว่านรกตอนนี้ไม่มีที่ว่างอีก เธอผู้ซึ่งเป็นเจ้าหญิงและเหล่าปิศาจจึงจะต้องทำอะไรซักอย่าง?? เพื่อไม่ให้นรกล้น แต่วิธีที่เธอและเหล่าปีศาจทำนี้สิมันจะทำให้จะช่วยนรกได้หรือเปล่า ก็ไม่รู้สิ….

    หลังจากนั้นเป็นต้นการใช้ชีวิตของโระขุมงกับเจ้าหญิงจากโลกปีศาจและสาวกก็เริ่มต้นขึ้น ท่ามกลางความแปลกประหลาด สับสนและวุ่นวาย ความไม่เชื่อใจของเด็กหนุ่มที่มีต่อพวกปีศาจ ความไม่ประสีประสาต่อโลกเบื้องบนของเจ้าหญิง การโจมตีจากสวรรค์ของพวกเทวดา(ที่ติ๊งต๊องมากๆ) นักบวชลัทธินอกรีต เพื่อนวัยเด็ก เพื่อนโรคจิต ต่างเข้ามาในชีวิตโระขุมงแบบไม่ขาดสาย แล้วชะตากรรมของโระขุมงจะเป็นอย่างไรต่อนั้นก็ติดตามเองเอง.....

               

               สุซุกิ โระขุมง(Suzuki Rokumon) เด็กหนุ่มมัธยมปลายธรรมดาใส่แว่น ผู้ถือคติว่า “ฉันเป็นคนปกติ มีชีวิตปกติ ทำงานไปอย่างปกติ ไม่เด่นดังโลดโผน เรียบง่าย ธรรมดา”  อาศัยอยู่กับพ่อสองคนในบ้านที่แสนยากจนที่ไม่มีทั้งน้ำและไฟฟ้า แต่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ทุกข์ร้อนแต่อย่างใด หลังการมาของรุคุและสาวกเรื่องราวแปลกประหลาดก็เข้ามาในชีวิตของเขาไม่ขาดสาย แต่กระนั้นเขาก็สามารถรับสภาพและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ตอนแรกไม่เชื่อใจรุคุและเหล่าสาวกเนื่องจากเป็นปีศาจ แต่หลังๆ เริ่มเห็นการกระทำของพวกเธอเลยเริ่มเข้าใจหัวอก และดูเหมือนว่าเขาไม่มีความทรงจำวัยเด็กจนแทบจำหน้าแม่ไม่ได้ อีกทั้งเขาคับคลายคับคาว่าในอดีตเขาเคยรู้จักรุคุมาก่อน

              

    เจ้าหญิงรุคุฮะ(Princess LuLcuha) เจ้าหญิงปีศาจจากนรกที่มาอาศัยอยู่บ้านของโระขุมงและต้องการช่วยผู้คนไม่ให้ตกนรก... เตี้ย แบน เงียบ และขี้อาย(เวลาอายจัดขึ้นมาจะเอากระบอกหนามฟาดใส่หัวสาวก) เวลาโกรธจะน่ากลัว  มีพลังอำนาจมาก ความสามารถพิเศษคือสามารถบังคับเส้นผมเหมือนมีชีวิตได้(เช่นเป็นมือ, บิน, หยิบจับ) ค่อนข้างไม่ประสีประสากับโลกภายนอกเท่าไหร่ ชอบทำงานบ้านมาก ชอบทำอาหารแต่หากไม่ใช้ของที่ถนัดจะทำห่วยมากๆ ดูเหมือนเธอจะเอาใจใส่โระขุมงเป็นพิเศษ มีจิตใจดีงามจนไม่เชื่อว่าจะเป็นปีศาจ อีกทั้งดูเหมือนว่าเธอจะเคยรู้จักโระขุมงมาก่อน

     

    บูบู(Bubu) ลูกสมุนสาวกของริคุ รูปร่างเหมือนหุ่นไล่กาหัวไชเท้า(แต่คนอื่นนอกจากโระขุมงจะเห็นเป็นคนธรรมดา) แต่ก็แค่เปลือกนอกเท่านั้นความจริงเป็นถึงปีศาจชั้นสูงจากนรกและมีสาวกในโลกมนุษย์อีกเพียบ มาอาศัยอยู่อยู่ในบ้านโระขุมงเหมือนกับรุคุ และทำงานพิเศษเพื่อหาเงินเลี้ยงเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน ส่วนตอนกลางคืนช่วยเหลือผู้คน(โดยการทำความสะอาดที่สาธารณะ) ชอบหยอกล้อและอำคนอื่นบ่อยๆ โดยเฉพาะรุคุจนเป็นเหตุทำให้โดนริคุเอาลูกตุ้มเหล็กทุบหัวบ่อยๆ

     

    สุซุกิ ซังมง(Suzuki Suzuki) พ่อแท้ๆ ของโระขุมงที่ร่างกายเละเป็นโจ๊กเนื่องจากก่อบาปหนักเจ็ดประการของศาสนาคริสต์เข้า เลยโดนทัณฑ์สวรรค์จนตาย  โดยรุคุและบูบูช่วยเอาไว้ได้แต่ทำให้พ่อเขากลายเป็นแมวดำจรจัดที่โระขุมงเก็บเอามาเลี้ยงแทน ตอนเป็นคนนิสัยเรื่อยเปื่อย ไม่เอาไหน พอเป็นแมวก็กลายเป็นแมวขี้เกียจไป มีนิสัยขี้ลืมบ่อยๆ

               

                    เรียวกัง(Ryokan) นักบวชศาสนาพุทธ(เจ้าตัวบอกอย่างนั้น) แต่ลัทธินี้ดูยังไงก็ไม่ใช้พุทธ ภายนอกดูเหมือนน่านับถือ แต่ความจริงแล้วกิเลศหนาระดับพระกาฬ อาศัยอยู่กับลูกวัดชูเน็น(Sainen) ที่วัดโทรมๆ ที่ไม่พังมิพังแหล่ เคยเป็นร่างทรงของเทวดาโยฟีเอลมาก่อน

                   

    ลูมิเอล(Lumiel) เทวดาระดับกลาง ขั้นที่สองหรือเทพแห่งพละกำลัง(Virtue) ที่ถู0กส่งมาเพื่อกำจัดปีศาจ แต่ฝีมือกระจอกมาก เลยทำได้แค่กวนประสาทฝ่ายตรงข้ามไปวันๆ เป็นเทวดาที่ไม่ค่อยรู้เรื่องในโลกมนุษย์เท่าไหร่ทำให้มักโดนตำรวจจับขังคุกเพราะนึกว่าคนบ้า และเป็นคนเชื่อคนอื่นง่าย  

    Virtue มี หมายความว่า คุณงามความดี,ความมีศีลธรรม,ความบริสุทธิ์

     

    โยฟีเอล(Jophiel) หัวหน้าเทวดาชั้นสูงระดับสอง เทพชั้นเคบูบิม(เทพแห่งปัญญา)ผู้เฝ้าประตูเอเดนฉายา “ปราชญ์ผู้รอบรู้”  เป็นเทวดาหัวหน้าของลูมิเอล ถูกส่งเพื่อกำจัดพวกปีศาจเหมือนกัน แต่ฝีมือห่วยไม่แพ้ลูกน้อง เลยทำได้แค่กวนประสาทฝ่ายตรงข้ามไปวันๆ...ร่างเดิมมีสี่หน้าสีแขนสี่ปีก แต่เนื่องจากไม่มีร่างในโลกมนุษย์เลยต้องสิงร่างคนอื่นแทน ตอนแรกสิงเรียวกัง แต่ฝีมือห่วยสุดๆ ภายหลังอยากกลับสวรรค์เลยออกจากร่างไป และกลับมายังโลกใหม่สิงเพื่อนของโระขุมงแทน

    ลำดับชั้นของเทวดา เทวดา / ทูตสวรรค์  มาจากคำในภาษากรีกที่ว่า angelos ซึ่งแปลว่าผู้ถือสาร / ผู้ส่งข่าว เทวดาหรือทูตสวรรค์ก็มีลำดับชั้นหรือฐานันดรด้วยเหมือนกันซึ่งเรียกกันว่าคณะ ตั้งแต่อดีตศาสนาคริสต์ ได้นิยามอย่างชัดเจนถึงหน้าที่และฐานันดรของเทวดาเป็นเก้าฐานันดร ประกอบด้วย เทวดา, อัครเทวดา, ชั้นบัลลังก์, ชั้นการปกครอง, ชั้นนาย,  ชั้นอำนาจ, ชั้นคุณงามความดี, ชั้นเคบูบิม,ชั้นเซราฟิม เทวดาขึ้นอยู่กับหน้าที่ของแต่ละท่าน

     ส่วนของปีศาจนั้น การจัดลำดับชั้นของปีศาจนั้นจะแบ่งตาม มหาบาป ทั้ง 7 (Correspondence of Demons to the Seven Deadly Sins)  ลำดับชั้นปีศาจได้มีการกล่าวถึงชื่อหลายชื่อที่อยู่ในลำดับชั้นนี้ อย่างเช่น ซาตาน (Satan) แอสโมได (Asmodai) บีลซีบับ (Beelzebub) ลูซิเฟอร์ (Lucifer) เบลีอัล (Belial) อิบลิส (lblis)

     

    คาสุเอะ(Kazue) เพื่อนสมัยเด็กดูเหมือนจะเป็นคุณหนูที่ร่ำรวยเอาแต่ใจ แต่พ่อแม่ไม่ค่อยอยู่บ้านเท่าไหร่ เลยทำให้เป็นเด็กขี้เหงา แอบชอบโระขุมงในฐานะของเล่น(??) หลังจากริคุอาศัยอยู่บ้านเธอเลยหาวิธีขับไล่ทุกอย่าง แต่วิธีของเธอแต่ละอย่างช่าง.....  ภายหลังเธอกลายเป็นร่างทรงของโยทาฟี แต่นิสัยโดยรวมไม่เปลี่ยนสักเท่าไหร่

     

    เปโล(Pero) ปีศาจสาวลึกลับ ที่ลงมายังโลกมนุษย์ทำไมก็ไม่รู้ นิสัยเอ๋อและชอบแก้ผ้า แอบชอบโยฟีเอล ทำให้ตอนแรกอาศัยอยู่กับโยฟีเอล ต่อมาภายหลังอาศัยอยู่ที่บ้านของโระขุมง

                    สิ่งที่น่าสนใจตอนที่ผมเขียนถึงการ์ตูนเรื่องนี้คือการ์ตูนเรื่องนี้ใช้คำว่า “Demon” แทนที่จะ “เดวิด(Devil)”  ซึ่งสองคำนี้มีความหมายแปลว่าปีศาจเหมือนกัน แต่ผมแปลกใจและพยายามหาคำอธิบายว่าทำไมต้อง “Demon

                    เดมอน(Demon) มีความหมายว่า ปีศาจ,ภูต,ผี  สิ่งชั่วร้ายที่มีรูปลักษณ์ต่างๆอยู่มากมายหลายแบบส่วนใหญ่จะเป็นแบบ น่าเกลียด น่ากลัว ดังนิยายหรือภาพยนตร์หลายๆเรื่อง ที่มีพฤติกรรมสร้างความหวาดกลัว หายนะ ความตาย  นอกจากนี้ปีศาจยังเปรียบเทียบกับ คนชั่วร้าย, อารมณ์ร้าย และอิทธิพลมือ ที่ชอบทำอะไรผิดๆ โหดร้าย นอกลู่นอกทาง ไม่สนใจกฎเกณฑ์ใดๆ ทำให้คนรอบข้างและสังคมเดือดร้อน

    ส่วนคำว่าเดวิด(Devil) นั้นมีความหมายคล้ายเดมอนคือปีศาจ,ภูต,ผี,วายร้าย,อันธพาล.ความชั่วร้าย  แต่มีการเพิ่มคำว่าซาตานลงไปด้วย มีพลังมหาศาลร้ายแรงกว่าเมื่อเทียบกับผี  มีความคิดที่ชั่วร้ายmuj0tพยายามที่จะหลอกล่อ เชื้อเชิญมนุษย์ให้เข้ากับฝ่ายของพวกมันและมีพลังสูงกว่าเดมอน ซึ่งเดมอนเป็นเพียงปีศาจจะควบคุมวิญญาณร้ายอันดับล่างๆ  

    เดวิดเป็นคำที่มาจากภาษากรีกคือ ดีอาโบลอส (Diabolos) หมายถึง ผู้ที่ใส่ความให้เสื่อมเสีย ปีศาจจะมีความเกี่ยวพันกับผู้รับเชื่อ ผู้ไม่รับเชื่อ และผู้ไม่เชื่อในพระเจ้า ในทางความเชื่อของชาวคริสต์ ปีศาจเดวิดนี้จะเป็นศัตรูของพระเจ้า  และพยายามที่จะต่อสู้กัน เพื่อแย่งชิงอำนาจเหนือวิญญาณมนุษย์ โดยปีศาจจะพยายามลวงมนุษย์ให้ตีตัวออกห่างพระเจ้า มาสู่โลกเบื้องล่าง โดยที่ ลงมาที่รู้จักกันในชื่อ เดมอน (Demon)


            “คือว่านะ....ทำไมต้องเป็นฉันเหรอ
    ? เธอมาทำอะไรที่นี่? วางแผนอะไรอยู่หรือไง?”โระขุมงถามรุคุ

    รุคุตอบว่าเพราะนรกนั้นไม่มีที่ว่างอีกต่อไปแล้ว ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหญิงและเหล่าปิศาจจึงจะต้องทำอะไรซักอย่าง นั่นคือ ทำให้โลกนี้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีคนตกนรก

    แม้รุคุและสาวกพยายามทำให้มนุษย์กลับใจให้เป็นคนดี แต่มนุษย์ที่รุคุได้เจอไม่สนใจที่จะกลับตัวเป็นคนดีสักนิดเอาแต่ยึดติดกับรูปร่างของปีศาจ เห็นปีศาจเมื่อไหร่ก็วิ่งหนีเพราะมันน่าเกลียด ในทางศาสนาพุทธเปรียบคนพวกนี้ว่า “ดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม” ตามหลักคำสอนของบัวสี่เหล่าคือ ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ

    การ์ตูนเรื่องนี้อ่านแล้วได้ข้อคิดว่าครับอย่างหัวเรื่องที่จั่วไปว่า “นิยามของปีศาจนั้นอยู่ตรงไหน” หากเราได้อ่านการ์ตูนเรื่องนี้เราจะพบเห็นพฤติกรรมของกลุ่มตัวละครที่ถูกเรียกว่า “ปีศาจ” ในเรื่องนี้ที่แสดงให้ผู้อ่านเห็นว่า “ไม่สมเป็นปีศาจสักนิด” เพราะปีศาจในการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้ทำชั่ว ชักจูงคนธรรมดาต่อด้านศาสนา หรือหลอกลวงมนุษย์แต่อย่างใด หากแต่ทำดีเพื่อมนุษย์เป็นพลเมืองดีต่อสังคม มีระเบียบและคุณธรรมอย่างน่าเหลือเชื่อ แม้ว่าการทำดีแต่ละเรื่องนั้นจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เช่นรักษามารยาท, ช่วยงานบ้าน, ช่วยเหลือผู้สูงอายุ, ทำความสะอาดที่สาธารณะ ขณะที่มนุษย์ธรรมดาในเรื่องกลับมีพฤติกรรมที่ยิ่งกว่าปีศาจอีก เช่น ขโมยรถยนต์ของผู้อื่น, หลอกลวงผู้คน, ชักจูงเข้าลัทธินอกรีต, ไร้ซึ่งกฎระเบียบ  ฯลฯ ทางด้านตัวละครที่เป็นเทวดาก็ยิ่งกว่า ที่แสดงออกไม่สมกับเป็นเทวดาเลย ไม่ว่าจะเป็น ยึดติดกับอดีต, พยายามยัดเหยียดความคิดของตัวเองให้ผู้อื่น, สร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่น(เฉพาะครอบครัวพระเอก), ไม่ยอมรับความคิดของผู้อื่น, ใช้กำลังในการแก้ปัญหา ฯลฯ

                   

                    เชิงอรรถ&มุกนี้กล้าเล่น เล่มแรกๆ จะอ่านสบายมุกน่ารัก แต่เล่มหลังๆ  มา คุณจะเริ่มรู้ว่าการ์ตูนนี้เริ่มมีมุกศาสนา มุกพระเจ้าเข้ามา เกี่ยวกับ ด้วย เพราะมีตัวละครที่เป็นเทวดาที่ส่งจากสวรรค์เพื่อกำจัดเหล่าปีศาจ และพระลัทธินอกรีต ทำให้มีมุกการกัดจิกประเด็นศาสนา ศาสนาพุทธญี่ปุ่น สงครามศาสนา หรือเรื่องประเพณีที่พิกลพิการของญี่ปุ่น(เช่น แห่องค์ชาย)

                    อ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้วก็ นึกแปลกใจตรงที่ตัวละครบางตัวที่เป็นนักบวชศาสนาพุทธญี่ปุ่นค่อนข้างมีพฤติกรรมแปลกๆ และมีตัวละครที่นับถือนิกายต่างๆ มามีบทบาทในเรื่องด้วย อีกทั้งแปลกใจที่สุดก็คือเหล่าตัวละครในเรื่อง(คนญี่ปุ่น)ส่วนใหญ่นั้นไม่ค่อยเห็นความสำคัญของศาสนาพุทธอันเป็นศาสนาประจำชาติเท่าใดนัก สาเหตุนั้นต้องย้อนตั้งแต่อดีตที่ศาสนาพุทธนั้นญี่ปุ่นรับมาจากเกาหลี จากประวัติศาสตร์พบว่าพระพุทธศาสนาญี่ปุ่นนั้นจะเจริญรุ่งเรื่องหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพระจักรพรรดิเป็นผู้สนับสนุน ต่อมาก็แตกไปหลายนิกาย บางครั้งอาจมีส่วนผสมของการนับถือภูตผีปีศาจธรรมชาติเข้าไปซึ่งเป็นความเชื่อเก่าแก่ของญี่ปุ่น ต่อมาศาสนาพุทธก็หยุดชะงักลงเมื่อความเจริญก้าวและนโยบายปกครองประเทศบีบบังคับให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลง จนลัทธิชินโต(เป็นลัทธิตามความเชื่อเดิมของชาวญี่ปุ่น ที่บูชาเทพเจ้าหลายองค์)เข้ามามีบทบาทแทน ส่งผลให้คนญี่ปุ่นนับถือพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับชินโตไปด้วย จนถึงปัจจุบันด้วยสังคมและวีถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ทำให้ ประชาชนดำเนินชีวิตด้วยความเร่งรีบเพราะมีการแข่งขันกันมาก จนหายเหินจากศาสนาไป อีกทั้งคนญี่ปุ่นชอบความเร็วให้ได้ผลทันใจ ทำให้เกิดนิกายใหม่ๆ หรือลัทธิใหม่ๆ ที่โฆษณาว่าผู้ที่นับถือลัทธินี้จะได้ผลรวดเร็วอีกมาก ในขณะที่คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งไม่นับถือศาสนาใดเลย แต่ยึดถือลัทธิการเมืองตามความชอบใจของตน

                    ดังนั้นจะไม่แปลกแต่อย่างใดที่การ์ตูนเรื่องนี้อาจมีมุกที่เกี่ยวข้องกับศาสนา, ประเพณี, ความเชื่อ ของญี่ปุ่นและของต่างประเทศรวมอยู่ด้วย

                   

    จากตอนที่ 7 A Bag of Rice For the Demon มุกล้อเลียน อาร์มาเกดอน(Armageddon) สงครามขั้นแตกหัก หรือสงครามสุดท้ายระหว่างธรรมและอธรรม หรือเทพกับปีศาจ หรือเหตุวันสิ้นสุดของโลก ที่ตำนานนี้มักกล่าวถึงในศาสนาคริสต์และอิสลาม ในศาสนาคริสต์จะกล่าวถึงพระเยซูคริสต์จะกลับมารยังโลกเพื่อต่อสู้กับซาตาน  การทำลายล้างจะทำให้เกิดการสูญเสียของชีวิตมนุษย์ ไปถึง 1 ใน 3  ส่วนในศาสนาอิสลามจะเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มศรัทธาและกลุ่มต่อต้านพระเจ้า หลฃายคนชื่อว่านี้อาจเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า

     

    จากตอนที่ 8 Buddha to Hell มุกล้อเลียนศาสนาพุทธของเรียวกัง สังเกตว่าภาพมีการบูชายันแพะแบบเจ้าแม่กาลี ส่วนรูปปั้นเหมือนอาชูร่า (Asura) ที่เรียวกังบอกว่าเป็นรูปปั้นพระโพธิสัตว์พันมือ ซึ่งทั้งสามอย่างนั้นมันไม่สามารถเข้ากันได้เลย

    เริ่มจากการบูชายันเจ้าแม่กาลี  เจ้าแม่กาลีเป็นปางหนึ่งของพระอุมาดทวีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กายสีดำสนิท มีลักษณะดุร้าย และมี 10 พระกร แลบลิ้นยาว(เหมือนในการ์ตูน แต่ลิ้นของเจ้าแม่กาลีจะยาวถึงหน้าอก) สวมเครื่องประดับหัวกะโหลก เวลาจะบูชาก็ ต้องใช้เลือดบริสุทธิ์ ในอดีตมีการใช้หญิงพรหมจารีย์ไปบูชายัญด้วยเลือดจากลำคอ แต่ ปัจจุบันนี้การบูชาพระแม่กาลีใช้เลือดแพะแทน

    สองเทพอาชูร่า เป็นเทพองค์หนึ่งที่ญี่ปุ่นมักนำมาดัดแปลง เป็นการ์ตูน หรือเกมส์บ่อยๆ โดย ความจริงแล้วเทพองค์นี้มีชื่อว่า อะหูรามัสดา หรืออะหูรา แต่ญี่ปุ่นเรียกเพี้ยนเป็น อาชูร่า ไป  รูปร่างของเทพองค์นี้ไม่แน่นอน แต่รูปลักษณ์ที่หลายคนรู้จักจะเป็น รูปร่างเหมือนเพศหญิง มี 3 หน้า 6 มือ เป็นเทพสูงสุดที่มาจากศาสนาโซโรอัสเตอร์ และมุกนี้มีซ่อนอยู่ตรงที่คำพูดของเรียวกังที่บอกว่า “นิกายนี้เก่าแก่มากแล้วแต่ไม่มีชื่อ.... นิกายนี้เป็นต้นกำเนิดศาสนาพุทธ พุทธในพุทธ” ซึ่งคงหมายถึงศาสนาโซโรฮัสเตอร์นั้นเอง อันเป็นศาสนาที่เกิดก่อนยุคพุทธกาล 400 - 1,000 ปี เป็นลัทธิบูชาไฟที่เชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดของอีกหลายๆ ลัทธิตามมา ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีใครนับถือแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นชาวปาร์ชีในประเทศอินเดียเท่านั้นที่นับถือศาสนานี้

                    ส่วนพระโพธิสัตว์พันมือนั้นเรามักรู้จักกันในนาม เจ้าแม่กวนอิน ปางพันมือ ที่คนไทยมักกราบไหว้กันนั้นแหละครับ

                   

                    จากตอนที่ 27 Demonic Sukushibutsu เนื้อหาตอนนี้ใช้เรื่องการบำเพ็ญตนแบบนิพพานทั้งเป็น(Sukushibutsu) มาใช้ โดยการทำตนเองให้เป็นมัมมี่ของศาสนาพุทธซึ่งเป็นหนึ่งในการบำเพ็ญเพียร เป็นที่สุดแห่งการปฎิบัติเพื่อการหลุดพ้น ตามความเชื่อของ นิกายเชน, ชินโต โดยมุ่งเน้นที่การหลุดพ้น โดยการทรมานตนเองอย่างยิ่งยวดด้วยความเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าเมื่อ พระพุทธเจ้าเสร็จกลับมายังโลกอีกครั้ง พระที่เป็นมัมมี่จะฟื้นคืนชีพมารับเสร็จได้อีกครั้ง

    อันดับแรกพระที่จะบำเพ็ญตนจะต้องรีดไขมันออกจากตัวไปให้หมด แล้ว ควบคุมอาหารให้กินเฉพาะพวกถั่วและเมล็ดธัญพืช และไม่สามารถกินอย่างอื่นนอกจากนี้ไปอีก 1000 วัน จากนั้นก็การควบคุมอาหารจะมีขอบเขตที่หนักกว่าเดิมพระฉันได้แค่เปลือกและรากจากต้นสน นั่งวิปัสนากรรมฐาน เข้าฌาน ทำอย่างนี้ไป 1000 วัน

    จากนั้นพระจะดื่มชาพิเศษ ที่ทำจากน้ำหล่อเลี้ยงของต้นอุรุชิแล้วถ้าชาที่กินทำให้เกิดอาการท้องร่วงหรืออาเจียนและปัสสาวะบ่อยทำให้ปริมาณของเหลวลดลง จากนั้นขั้นตอนสุดท้ายคือพระจะถูกฝังทั้งเป็นในห้องสุสานหินใต้ดินขนาด แค่นั่งขัตสมาธิได้ มีเพียงที่ไม้ไผ่ ขึ้นมาบนผิวดินเพื่อเป็นท่อหายใจ โดยพระในสุสานจะคอยสั่นกระดิ่งวันละครั้ง เพื่อเป็นสัญญาณว่ายังมีชีวิตอยู่ (มีคำกล่าวอ้างว่ามีพระบางรูปสามารถมีชีวิตอยู่ในสุสานใต้ดินได้ถึง 13 วัน) แต่เมื่อกระดิ่งไม่ได้ถูกสั่น(คือมรณภาพ แล้ว)  สายจะถูกดึงออกและหลุมจะถูกปิดลง และจะเก็บศพไว้อีกเป็นเวลา 1000 วัน หลังจากนั้นจะขุดศพขึ้นมา ซึ่งศพเหล่านี้จะได้รับการแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายของพระชั้นสูง และได้รับการเคารพบูชาอย่างสูง

    ข้อคิดในตอนนี้แสดงให้เห็นว่าการบำเพ็ญนี้เป็นวิธีที่ถูกต้องแล้วเหรอ?? ที่ทำให้ตัวเองทรมานเพื่อการดับขันธ์ ในเมื่อพระพุทธเจ้าเคยบำเพ็ญตนเองทุกกริยามาแล้วในสมัยออกบวช โดยขบฟันด้วยฟัน กลั้นหายใจและอดอาหาร หลังจากทดลองมา 6 ปี ก็ยังไม่พบทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา หันมาบำรุงพระวรกายโดยปกติ

                                   

                    จากตอน 24 Demon’s Refreshment Booth “ขนมปังห้าก้อนและปลาสองตัวเพียงเท่านี้เราก็สามารถทำให้ทุกคนอิ่ม...” มุกนี้เอามาจากการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเยซูคริสต์ ด้วยการแสดงอัศจรรย์ด้วยการเลี้ยงประชาชนจำนวนหลายพันคนด้วยขนมปังเพียง 5 ก้อน และปลาเพียง 2 ตัว ที่หมู่บ้านชาวประมงที่ชื่อเบธไซดา บ้านเกิดเมืองนอนของสาวกทั้ง 3 คนของพระเยซูคริสต์อันมีนามว่าปีเตอร์, แอนดรูว์ และฟิลิป นอกจากนี้ยังทำการรักษาชายตาบอดให้กลับมามองเห็นอีกครั้ง ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้พยายามหาพื้นที่ตั้งว่าปัจจุบันนี้เมืองเบธไซดาคือสถานที่แห่งใดในปัจจุบัน แต่ทว่าจนบัดนี้ก็ไม่มีใครพบที่ตั้งของเมืองนี้แต่อย่างใด

                   

    จากตอน 68 Demon’s Invitation มุกล้อเลียนผ้าห่อศพแห่งตูริน(The Shroud of Turin)  ในเรื่องปาฏิหาริย์ที่ดูแล้วหลอกลวงมากกว่า

    ผ้าห่อศพแห่งตูรินที่หลายคนเชื่อว่าเป็นผ้าที่ใช้ห่อศพพระเยซูหลังถูกตรึงกางเขนเมื่อสองพันปีก่อน โดบผ้าห่อศพนี้ค้นพบครั้งแรกราวกลางคริสตศตวรรษที่ 14 ณ เมืองลิเรย์ (Lirey) ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นผ้าห่อศพผืนนี้ก็ได้ถูกเปลี่ยนมือและระเหเร่ร่อนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมาประดิษฐานที่ตูรินหรือโตริโน (Torino) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเพียดมองต์ (Piedmont) ในประเทศอิตาลี และถูกบูชาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิทางศาสนาคริสต์ โดยภาพในการ์ตูนจะเป็นภาพเนกาทีฟที่แสดงให้เห็นชายคนหนึ่งในภาพที่มีร่องรอยทารุณจากการตรงไม้กางเขน หลายคนชื่อว่าชายคนนั้นคือพระเยซูคริสต์  มีผู้พยายามพิสูจน์ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม โดยฝ่ายที่ไม่เชื่อก็สันนิษฐานว่าคงเป็นฝีมือปลอมแปลงของช่างในสมัยกลาง (ซึ่งมีการปลอมของแบบนี้กันเยอะ) แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้คำตอบที่แท้จริงแต่อย่างใด

             

    จากตอนที่ 78 Demon’s Banquet มุกล้อเลียนพิธีสะบาโต(Sabbath) ความจริงแล้วในการ์ตูนเขียนผิดนิดหนึ่งตรงที่น่าจะเติมคำว่าแม่มดลงไปด้วย(Witches' Sabbath) เนื่องจากหากเขียนแค่สะบาโตเฉยๆ จะหมายถึงวันประกอบพิธีทางศาสนาและพักผ่อนของชาวคริสต์แทน

    พิธีสะบาโต(Sabbath)หรือแซบบัท (Sabbat) เป็นงานชุมนุมของพวกนอกรีตของศาสนาคริสต์sinvกลุ่มแม่มด ที่จะมารวมตัวกันเดือนละครั้งในคืนวันเพ็ญ สถานที่ส่วนมากมักจัดในป่าหรือภูเขาที่ห่างไกลจากหมู่บ้าน แต่ละกลุ่มจะแบ่งออกเป็น 13 ตน เพราะเลข 13 เป็นตัวเลขของผู้บูชาความมืด(ซาตาน) เมื่อวันนั้นมาถึงเมื่อใด ก็มักจะเกิดภัยอันตรายต่อโลกอย่างใหญ่หลวง

    ตามความเชื่อซาตานจะเข้าร่วมพิธีนี้ด้วย โดยจะปรากฏในภาพลักษณ์ต่างๆ นาๆ แต่ส่วนใหญ่มักออกไปทางรูปของแพะพิกลพิการที่น่าเกลียดน่าขยะแขยง และเหล่าแม่มดเป็นผู้ที่บูชาและรับใช้ซาตาน เพื่อเป็นการแสดงตนต่อหน้าซาตาน แม่มดจะต้องมอบเครื่องบรรณาการสีดำแก่ซาตาน อาทิ เทียนไขสีดำ สัตว์ปีกสีดำ รวมถึงจูบแห่งความละอายที่ก้นของซาตานอีกด้วย ตามตำนานยังกล่าวไว้ว่าพิธีกรรมในที่ประชุมนั้นประกอบไปด้วยพิธีลามกอนาจาร รวมไปถึงการร่วมประเวณีอันไม่มีขีดจำกัด เพราะซาตานสามารถจะร่วมสังวาสกับใครก็ได้ ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการจัดงานเฉลิมฉลองของบรรดาเหล่าแม่มดและซาตาน

                   

    จากตอนที่ 81 Demon’s Big Annual Festival "งานเทศกาลแห่ลึงค์" (Kanamara Matsuri) หรืองานแห่อวัยวะท่านชายนั่นเอง  ซึ่งเป็นประเพณีที่สร้างความพิศวงไปทั่วโลก(ปานนั้น) งานประเพณีนี้จัดขึ้นเมืองคาวาซากิ วันอาทิตย์แรกในเดือน ของศาสนาชินโต โดยมีวัตถุประสงค์คือเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรและเพื่อความอุดมสมบูรณ์เช่นกัน นอกจากนี้ยังอวยพรให้ชาวเมืองมีบุตรเยอะๆ  โดยพิธีคือการแห่อวัยวะท่านชายที่ทำจากเหล็กขนาดยักษ์ เดินขบวนเพื่อไปไว้ที่ศาลเจ้า นอกเหนือจากเมืองคาวาซากิก็ยังมีที่เมืองโคมา ซึ่งมีเป็นประเพณีในลักษณะแบบนี้เหมือนกัน คือ Chiwawa Matsuri แต่อวัยวะท่านชายยักษ์นั้นทำจากไม้แทน             

                    สรุปหลังจากที่อ่าน Lucu Lucu อาจเป็นการ์ตูนธรรมดาที่มุกสบายๆ ไม่ถึงกับฮ่ามาก แต่สิ่งที่การ์ตูนได้ตั้งโจทย์ไว้สำหรับคนอ่านคือ “นิยามของปีศาจอยู่ที่ไหน?”. “สิ่งที่เรียกว่าปีศาจนั้นแท้จริงนั้นคืออะไรกันแน่?” สุดท้ายจะเทวดาหรือปีศาจก็เป็นเพียงแค่ชื่อที่คนเราเรียกขานไว้เท่านั้น หรือพวกเชิงอรรภที่ยกตัวอย่างเกี่ยวกับประเพณี,ความเชื่อ,สิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้วนแต่เป็นสิ่งมนุษย์ที่คิดไปเองเท่านั้น ไม่ได้เป็นกฎบัญญัติโดยธรรมชาติแต่อย่างใด


            สังเกตชื่อแต่ละชื่อตอนในการ์ตูนเรื่องนี้มักมีคำว่าเดมอน(ปีศาจ)อยู่ด้วยเสมอ เช่น สงครามศาสนาของปีศาจ(ตอนที่73), สงบศึกแบบปีศาจ(ตอนที่ 74), งานเลี้ยงของปีศาจ(ตอนที่ 78), มหาเทศกาลของปีศาจ(ตอนที่ 81)ฯลฯ หากแต่เมื่ออ่านดูแล้วก็รู้สึกประหลาดใจเพราะแต่ละตอนนั้นคนที่ดำเนินเรื่องจุดประสงค์ในแต่ละตอนไม่ใช้ปีศาจ หากแต่เป็นตัวละครที่เป็นมนุษย์ดำเนินเรื่องแทน

             เราเห็นพฤติกรรมสงครามศาสนาในการ์ตูนแสนจะต๊อง(จากตอนที่ 74 Demon’s Ceasefire) ที่ตัวละครตัวแทนของศาสนาต่างๆ พุทธ, นอกรีต, คริสต์ ทะเลาะกัน หากแต่ความเป็นจริงสงครามศาสนานั้นมันไม่ตลกเฉกเช่นการ์ตูน การพลีชีพ การฆ่าคนต่างศาสนา สงบสุขเพราะมีผลประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ก่อนที่จะเกิดสงครามอีกครั้งเมื่อฝ่ายใดเสียผลประโยชน์ สิ่งที่เหล่านี้เราสามารถพูดได้หรือเปล่าว่าเป็นใครกันแน่ที่เป็นปีศาจ??

    สุดท้ายปีศาจตัวแทนของความชั่วก็นั้นก็คือมนุษย์เราดีๆ นี้แหละ ที่เอาแต่ยึดมั่นกับความยุติธรรมที่ตัวเองสร้างขึ้น, แอบอ้างลงทัณฑ์สวรรค์ตามอำเภอใจ จนก่อเกิดสงคราม, อาชญากรรม, ความเชื่อที่ผิดๆ  จนเกิดเหตุวุ่นวายต่อโลกไม่หมดสิ้นสักที

     

     “ปีศาจนั้นอยู่ในใจเราทุกคน”

    + +

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×