คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #310 : (แลการ์ตูนไทย) สยองแบบไทยๆ
ที่ผ่านมาผมเขียนเรื่องราวของการ์ตูนอนิเมะและมังงะของญี่ปุ่นมามากมาย แต่ไม่ค่อยพูดถึงการ์ตูนไทยสักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนไทยแท้ๆ ไม่พูดถึงวงการการ์ตูนบ้างเราก็กระไรอยู่ ดังนั้นหลายบทความต่อจากนี้ผมจะพูดเรื่องการ์ตูนไทยบ้างนะครับ
“ตำนานการ์ตูน” ของจุลศักดิ์ อมรเวช
เกริ่น จากข้อมูลในหนังสือ “ตำนานการ์ตูน” ของจุลศักดิ์ อมรเวช (หรือหลายคนรู้จักในนามปากกา “จุก เบี้ยวสกุล” เป็นทั้งนักเขียนการ์ตูน และนักวาดนิยายภาพชาวไทยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ) ได้เขียนกำเนิดการ์ตูนไทยว่า สมัยก่อนนั้นการ์ตูนเคยครองพื้นที่แผงหนังสือกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งมีมากมายหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น การ์ตูนหลายเล่มจบ, การ์ตูนนิยายภาพ (สมัยนั้นเรียกว่า ภาพวิจิตร) มีทั้งแนวจักรๆ วงศ์ เจ้าหญิงและเจ้าชาย นิทานพื้นบ้าน , นิทานชาดก บางเรื่องก็ดัดแปลงซีรีย์ของฝรั่งซูเปอร์ฮีโร่
การพัฒนาการ์ตูนไทยเริ่มขึ้นในรัชการที่ 6 ที่สนใจศิลปะการ์ตูนที่เรียกว่า “ภาพล้อ” (หรือภาพล้อเลียน) มีการจัดงานประกวดการวาดภาพ และเวลานั้นเองก็เริ่มมีนักเขียนการ์ตูนเกิดขึ้นในประเทศไทย และนักเขียนการ์ตูนไทยคนแรกมีชื่อว่า “เปล่ง ไตรปิ่น” หรือขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต และเวลาต่อมาก็เริ่มมีการใช้ภาพล้อใส่เข้าไปในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งภาพล้อก็ยังให้เห็นในปัจจุบัน ในฐานะการ์ตูนล้อการเมือง และสังคมไทย
หลังจากนั้นนิยายภาพก็เริ่มเข้ามีบทบาทบนแผงหนังสือของไทย โดยส่วนใหญ่ เป็นแนวจักรวงศ์ๆ เจ้าหญิงเจ้าชาย และแนวสยองขวัญ พวกผีไทย
ส่วนใหญ่แล้วนิยายภายผีไทยสมัยก่อนนั้น จะใช้มุกที่ตรงไปตรงมา มักเล่นเรื่องผี ที่ฉากหวาดเสียว ตับไต ไส้พุง อาฆาตฆ่าคน-หลอกหลอนคน เพราะเล่นง่าย มุ่งเน้นทำให้ผู้ชมรู้สึกหวาดกลัว, เสียวไส้ และรู้สึกสยองขวัญ แนวแบบนี้ขายได้ หากินง่าย ไม่มีวันตาย ส่วนจะดังหรือไม่ดังขึ้นอยู่กับฝีมือ
ภาพของครูเหม เวชกร
ภาพจาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=pandapanda&month=02-12-2008&group=12&gblog=68
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนิยายภาพสยองขวัญ-ผี ยังมีบุคคลที่เป็นตำนานอยู่หลายคน ที่โดดเด่นก็คือ “ครูเหม เวชกร” คนเขียนยุคแรกๆ ที่เขียนแนวผีไทยแบบจริงๆ จัง ๆ แต่งเป็นเรื่องเป็นราว โดยท่านทั้งแต่งเรื่อง ทั้งวาดรูปประกอบเอง และจุดเด่นนิยายภาพผีของท่านคือ เรื่องภูตผีของท่านนั้นทุกเรื่องไม่มีวิญญาณอาฆาต ฆ่าคนอย่างโหดเหี้ยมไร้เหตุผลเลย หากจะนับผลงานร้อยกกว่าเรื่องของท่านนั้นมีเพียง 2-3 เรื่องเท่านั้นที่เป็นผีอาฆาต
ส่วนใหญ่แล้วผีของครูเหมจะเป็นแนวความรัก และความผูกพัน การผูกเรื่องที่เป็นเรื่องเป็นราวที่น่าเศร้าและโศกนาฏกรรม เป็นต้นว่า พระเอกต้องพรากจากนางเอก จนกระทั่งหลายปีต่อมาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็กลับมาหาในรูปแบบวิญญาณที่มีความผูกพันยึดติดกับทางโลก ต้องการมาหาคนรักอีกครั้ง นั้นเองทำให้เรื่องรักใครๆ ระหว่างคนกับผีได้รับความนิยม และไม่มีวันที่จะรักกันได้
(ปัจจุบันนอกจากภาพยนตร์แล้ว เรื่องของครูเหม ถูกนำไปดัดแปลงเป็นการ์ตูนสยองขวัญ-ตลกเขียนโดย “ปุ๋ย” ในการ์ตูนมหาสนุก”)
บรื๋อ! น่ากลัวก็ไม่บอก โดย “ปุ๋ย เดวิด” ในการ์ตูนมหาสนุก
หลังจากนิยายภาพของไทยเป็นที่นิยมแผงในไทย ก็เริ่มถึงหนังสือการ์ตูนไทยๆ แต่อย่างไรก็ตาม สมัยก่อนนั้นหนังสือค่อนข้างมีราคาแพงมาก (สมัยนี้ก็แพง) เพราะต้นทุนการทำหนังสือค่อนข้างสูง ไหนจะเป็นค่าคนเขียน ค่าตีพิมพ์ ค่าพัสดุกระดาษพิมพ์ ไปจนถึงค่าขนส่ง เรียกได้ว่าคนที่ซื้อหนังสือเหล่านี้ได้ จะต้องมีฐานะพอสมควร
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนังสือการ์ตูนไทยสมัยก่อนจะมีราคาแพง แต่เนื่องด้วยสำนักพิมพ์ต่างๆ เริ่มผุดมาหลายเจ้า ประกอบกับอัตราการเกิดประชากรมากขึ้น ซึ่งหมายถึงคนอ่านการ์ตูนมากขึ้น ทำให้มีการแข่งขันสูง จนทำให้สำนักพิมพ์เริ่มทำหนังสือการ์ตูนที่ลดต้นทุนเพื่อให้ถูกลง จนเป็นที่มาของการ์ตูน “เล่มละบาท”
ผีไทยในการ์ตูนเล่มละบาท
ภาพจาก http://www.weloveshopping.com/template/e8/showproduct.php?shopid=148102&pid=23547474
สมัยก่อนนั้นเงินหนึ่งบาท ถือว่ามีค่าพอดู เพราะหนึ่งบาทสามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวชามใหญ่ๆ กินแล้วอิ่มได้หนึ่งมือ ดังนั้นการ์ตูนเล่มละบาทจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่เลวมากนัก หากต้องการบันเทิงที่จับต้องได้
หนังสือการ์ตูนไทยเล่มละบาทนั้น จะมีขนาดรูปเล่ม 13X19 เซนติเมตร โดยประมาณ และมีจำนวน 16-24 หน้า (หรือนานๆ ครั้งก็เป็น 32 หน้า) โดยสำนักพิมพ์ “บางกอกสาสน์” เป็นสำนักพิมพ์ที่สร้างรายได้ธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี ทำให้สักนักพิมพ์อื่นๆ ก็ทำแบบนี้บ้าง จนการ์ตูนประเภทนี้ล้นตลาด เพราะยอดตีพิมพ์ในแต่ละเดือนสูงถึงล้านเล่มทีเดียว
อย่างที่บอกไว้ว่าการ์ตูนไทยสมัยแรกๆ นั้น ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากคอมมิคสื่อตะวันตกมากกว่า ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นในลักษณะนิยายภาพ กล่าวคือไม่ได้มีลูกเล่นแบ่งช่องมากมายเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น และทุกหน้าเต็มไปด้วยบทสนทนาอันยืนยาว
ลายเส้นของการ์ตูนเล่มละบาทนั้น จะเป็นลายเส้นหมึกดำ หนาๆ ขาว ดำ ไม่มีเทา ไม่มีการติดสกรีนโทน ใบหน้าตัวละครจริงจัง (ไม่โมเอะ” ตัวพระเอกและนางเอกเหมือนพระเอกสมัยภาพยนตร์สมัยก่อนๆ (ทรงผมเชยๆ หน้าตาพระเอกไทยๆ) แถมหน้าตาก็คล้ายๆ กันจนแยกไม่ค่อยออก
ส่วนมากการ์ตูนเล่มละบาทจะเป็นแนวๆ จักรๆ วงศ์ ๆ เจ้าหญิงเจ้าชาย ไม่ก็แนวฮีโร่แบบไทยๆ หรือจะเป็นแนวชาวบ้านคอกนา ซึ่งเนื้อหานั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างไร และแน่นอนว่ารวมถึงแนวผีด้วย
สำหรับแนวผีสยองขวัญแบบหนึ่งบาทนั้น ตัวผีไทยส่วนใหญ่จะเป็นซากศพเน่าเละ ไม่เชิงว่าเป็นซอมบี้ หากแต่เป็นวิญญาณที่ไม่หลุดพ้นจากบ่วงกรรม ยังคงมีความอาฆาตและจ้องจะแก้แค้น โดยยังคงสิงซากศพของตนเอง แม้ร่างกายจะเน่าเปื่อยแล้วก็ตาม จนมีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว ใบหน้าของผีซีกหนึ่งมีเนื้อมีหนังอีกซีกหนึ่งเน่าแฟะจนถึงหัวกะโหลก ผีบางตัวมีลูกตาห้อยต๊องแต๊ง ดูแล้วน่ากลัว หวาดเสียว
ลายเส้นการ์ตูนไทย
ภาพจาก http://board.postjung.com/532996.html
การวาดการ์ตูนเล่มละบาท ส่วนใหญ่คนแต่งเล่มละบาทจะแต่งเรื่อง เขียนเอง ไปจนถึงบรรยายคำพูดเองเสร็จสรรพ แต่ละหน้าส่วนใหญ่จะตีช่อง 2x2 เท่าๆ กัน (ช่องสีเหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง) และการวาดใช้หมึกดำ ลายเส้นเข้มแบบไทยๆ ภาพยนตร์ไทยสมัยก่อน
สำหรับเนื้อหาของการ์ตูนเล่มละบาทที่มีเนื้อหาสยองขวัญนั้นไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก เนื้อหามีจำนวนหน้าจำกัด บวกกับการสร้างเรื่องที่เข้าถึงคนไทยสมัยนั้น ทำให้เนื้อหาส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กันคือ “การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ตามคำสอนของศาสนาพุทธ พล็อตวนเวียน ฆ่าคนแล้วผีจะออกมาหักคอเพื่อแก้แค้น การเป็นชู้และการฆ่าสัตว์จะได้รับผลกรรมคือความตาย โดยไม่มีการหักมุมอะไรมากนัก (เดาเนื้อเรื่องง่าย) ส่วนใหญ่เนื้อหาจะเป็นตัวละครหลักที่เป็นผู้ใหญ่ สถานที่เกิดเป็นบ้านนอก มากกว่าในเมือง ซึ่งแนวผีนั้นมีมากกว่าแนวอื่นๆ
จุดเด่นของการ์ตูนเล่มละบาทก็คือหน้าปก ภาพค่องข้างสวย แม้ว่าจะเป็นภาพผีปีศาจที่แหวะ และดูรุนแรง ไม่ก็ภาพหญิงสาวเกือบเปลือย แต่ลายเส้นนั้นดูละเอียด ดูแล้วกระตุ้นอยากจะอ่าน แม้ว่าเนื้อหาข้างในจะซ้ำซากหรือไม่ก็ตาม
ก็น่าแปลกดีว่า ทำไมพล็อตซ้ำๆ ซากๆ ถึงได้รับความนิยมมากนัก จนบัดนี้พล็อต ผีหักคอ เรื่องรักๆ คนกับผี ชู้ผี รับกรรม ยังคงมีให้เห็นปัจจุบัน บางอาจเป็นเพราะเป็นพล็อตที่ย่อยง่าย อ่านง่าย ใกล้ตัว ละมั้ง
ยุครุ่งเรื่องของนิยายเล่มละบาทนั้น ยาวนานกว่า 20-30 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520) สร้างรายได้แก่สำนักพิมพ์มาก เพราะตีพิมพ์ได้เป็นล้านเล่ม และต้นทุนถูก แต่อย่างไรก็ตาม การ์ตูนเล่มละบาทก็ถึงคราวเสื่อมถอย สิ้นสุดลง อันเนื่องจากการเข้ามาของการ์ตูนมังงะของญี่ปุ่นที่มีเนื้อหาการ์ตูนที่เด็กๆ ชอบแนวฮีโร่แปลงร่างสู้กับสัตว์ประหลาด ชอบอุลตร้าแมน แต่การ์ตูนเล่มละบาทไทยไม่มีแนวพวกนี้เลยไม่น่าสนใจ การแบ่งช่องก็น่าเบื่อ หน้าหนึ่งแบ่ง 4 ช่องเท่าๆ กัน ไม่มีลูกเล่นอะไรเลย แถมมีแต่คำบรรยายเยอะ เด็กขี้เกียจอ่าน ชอบฉากต่อสู้เพียงๆ คำบรรยายน้อยมากกว่า ทำให้เด็กๆ ออกห่างจากการ์ตูนเล่มละบาทไป
นอกจากนี้ ยังมีหลายคนออกมาด่าการ์ตูนเล่มละบาท ไม่รู้ว่าเกลียดชาติบานไหน เพราะมองว่า เนื้อหาไม่เหมาะสำหรับเด็ก มีฉากเซ็กต์ยั่วยุกามรมณ์ ฉากฆ่ากันอย่างโหดร้ายเลือดฉาก ฉากน่าหวาดเสียว ไม่สร้างสรรค์ ทำให้ปลูกฝังไม่ดีต่อหัวเยาวชน (สมัยนี้ก็ด่าการ์ตูนญี่ปุ่นต่อ โทษฐานทำให้เด็กเลียนแบบ)
และนอกจากนี้ปัญหาสำคัญก็คือ กระดาษที่ใช้พิมพ์แพงขึ้น ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทำแล้วไม่คุ้มทุน หลายสำนักพิมพ์จึงค่อยๆปิดตัวลง หันไปพิมพ์งานอย่างอื่น และนั้นทำให้ยุครุ่งเรืองของการ์ตูนเล่มละบาทจบลงในที่สุด
การ์ตูนผีเล่มละ 5 บาท
ภาพจาก http://www.fen-room.com/wp-content/uploads/2012/03/115-mt.jpg
แม้ว่าเด็กจะออกห่างจากการ์ตูนเล่มละบาท แต่พวกผู้ใหญ่ทั้งหลายยังคงชื่นชอบการ์ตูนประเภทนี้อยู่ โดยเฉพาะพวกแม่ค้า พ่อค้า คนขับรถบรรทุก ล้วนมีการ์ตูนเล่มแบบนี้หลายเล่มเอามากองเป็นภูเขา เพราะเป็นการ์ตูนฆ่าเวลาได้ดี ทำให้การ์ตูนเล่มละบาทไม่ได้ตายจากแผงหนังสือไทยมากนัก เพียงแต่ปรับราคาขึ้นแทน และนั้นทำให้ถึงยุคการ์ตูนเล่มละ 5 บาท
การ์ตูน 5 บาทนั้นไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากการ์ตูนเล่มละบาทมากนัก เพราะเนื้อหา รูปแบบการเขียน รวมถึงพล็อตก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่จำนวนเรื่องเพิ่มมากขึ้นเล่มหนึ่งอาจมี 2-3 ตอน
แต่อย่างไรก็ตามยุคของการ์ตูน 5 บาทนั้นก็สั้นกว่าการ์ตูนเล่มละบาท เพราะมีอายุเพียง 7 ปีเท่านั้น เพราะช่วงเวลานี้การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาตีตลาดแผงหนังสือไทย ทั้งไพเรท (ไม่มีลิขสิทธิ์) และไม่มีลิขสิทธิ์ ดราก้อนบอล, โดเรมอนกลายเป็นขวัญใจเด็กๆ ในขณะที่การ์ตูนไทยที่เนื้อหายังคงวนเวียนเรื่องผี, ตลก, ลายเส้นเชยๆ ไม่เป็นที่ถูกใจเด็กต่อไป
ปัจจุบันการผลิตการ์ตูน 3 เรื่อง 5 บาท มีสำนักพิมพ์เพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้นที่ทำอยู่ ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือสำนักพิมพ์เพื่อนแก้ว, ชายสยาม, ธนสาส์น, การ์ตูนบันเทิง, เสริมมิตร, การ์ตูนไทย, ประชาช่าง ซึ่งสามารถเจอได้ตามแผงหนังสือ เซเว่นบางสาขา และนอกจากนี้ยังมีเล่มละ 15 บาท ซึ่งรวมหลายเรื่องในเล่มเดียวกันอีกด้วย
เท่าที่อ่านและรู้มา กำไรจากการเขียนการ์ตูนละเล่ม 5 บาทปัจจุบันมีไม่ค่อยมาก อีกทั้งคนวาดการ์ตูนประเภทนี้ก็มีน้อย คนรุ่นเก่าวางหมึกไปแล้วไม่ก็ทำอย่างอื่น อีกทั้งค่าจ้างวาดก็น้อย ทำให้มีการเวียนพิมพ์ซ้ำ เพื่อลดต้นทุน
เรื่องราวการ์ตูนเล่มละบาทและเล่มห้าบาท ทำให้เกิดตรรกะมุมมองคนไทยที่มองการ์ตูนหลายอย่าง ส่วนมากเป็นด้านลบ ทั้งๆ ที่พวกผู้ใหญ่เหล่านี้เติบโตมาพร้อมกับการอ่านการ์ตูนเล่มละบาท-5บาทแท้ๆ มองว่าการ์ตูนไทยไร้เกรด เชย ล้าสมัย ไม่พัฒนา (ลายเส้น) มองว่าการ์ตูนมอมเมาเยาวชน
ส่วนคนไทยที่วาดการ์ตูนมังงะญี่ปุ่นก็ถูกมองในแง่ลบอีก ว่าไม่มีความเป็นไทย (ซึ่งผมก็ยัง งง จนบัดนี้ว่าอะไรคือ “ความเป็นไทย” หว่า)
น่าเสียดายการ์ตูนเล่มละบาท เล่มละห้าบาท หากปรับปรุงลูกเล่น พัฒนาลายเส้นอีกนิด บางทีอาจถึงยุครุ่งเรืองอีกครั้ง อย่างเช่นการ์ตูนสยองขวัญญี่ปุ่นเอง ได้พัฒนาแนวสยองขวัญตลอดเวลา จากอิโต้ จุนจิที่สร้างแนวสยองขวัญให้มีลูกเล่นมากมาย หักมุม น่าติดตาม มากกว่าเน้นเรื่องผีๆ มาหักคอ
นอกจากนี้ นิยามสยองขวัญก็ไม่ใช่มีแต่เรื่องผีอย่างเดียว เห็นได้จากปัจจุบันสยองขวัญของญี่ปุ่นมีมากมายหลายแนว ไม่ว่าจะเป็น หนีสัตว์ประหลาด หนีซอมบี้ เกมมรณะเล่นพลาดถึงตาย หากการ์ตูนไทยอยากให้ผู้อ่านเป็นเด็กมากขึ้นก็น่าจะเอาสยองขวัญมาปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยบ้าง
นิตยสาร ลายเส้น ฉบับที่3 ปี 2534 (1991) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของไทยคอมมิค
http://www.letcomic.com/2011/webboard/index.php/topic/7709
หลังจากหมดยุคการ์ตูนเล่มละบาท และ 5 บาท การเข้ามาของการ์ตูนญี่ปุ่น ทำให้วงการ์ตูนไทยซบเซาไปพักใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายฝ่ายที่พยายามที่สนับสนุนไม่ให้การ์ตูนไทยล้มหายไปจากแผงหนังสือไทย (แม้ภาครัฐจะไม่ค่อยสนับสนุนก็ตาม) เพียงแต่การสนับสนุนลายเส้นแบบการ์ตูนไทยแบบเก่าๆ นั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว และนั้นก็มาถึงยุคการ์ตูนไทยลายเส้นมังงะ
จะเห็นว่าสมัยนี้เราได้เห็นการ์ตูนไทยลายเส้นมังงะมากขึ้น (จนมีดราม่าโลกแตก “ลายเส้นไม่ไทยเลย”) อันเนื่องจากอิทธิพลของการ์ตูนญี่ปุ่น ทำให้เด็กไทยที่อ่านการ์ตูนมีความฝันในการวาดการ์ตูนบ้าง จึงตั้งใจวาดการ์ตูนสักเรื่อง ตอนแรกๆ ลายเส้นเหมือนการ์ตูนดัง เป็นต้นว่า ดราก้อนบอล, ฤทธิ์หมดดาวเหนือ แถมเนื้อเรื่องคล้ายๆ กันอีก แต่ก็ไม่ได้ดราม่าแต่อย่างใด เพราะดูเอาแบบขำๆ
ผมจำได้ดี ว่าผมได้เห็นการ์ตูนไทยลายเส้นมังงะ จากหนังสือการ์ตูนไทยในเครือวิบูลย์กิจ สมัยก่อนเรื่องสั้นที่เน้นบ้าพลัง บางเรื่องดูไปก็ไม่เหมาะกับการ์ตูนสั้นตอนเดียวจบเลย อีกทั้งลายเส้นดูก็รู้เลยว่ามือสมัครเล่น สีหน้าตัวละคร สัดส่วน การดำเนินเรื่องมีข้อบกพร่อง เขียนเอามันมากกว่า ทำให้ตอนแรกๆ ไม่ค่อยมีผลงานดีมากนัก แต่สำนักพิมพ์นี้ก็ไม่ได้ท้อถอย พยายามประคอง ล้มลุกคลุกคลาน กว่าที่จะเพาะนักเขียนไทยมีฝีมือก็ยาวน่าดู
ความจริงแล้วการวาดการ์ตูนแบบมังงะ ไม่ใช่ว่าใส่ความเป็นญี่ปุ่นแต่อย่างใด หากแต่เป็นการแบ่งช่อง, ลายเส้น, เทคนิคการติดสกรีนโทน สิ่งเหล่านี้เป็นสากลไปแล้ว ในขณะเนื้อเรื่องการ์ตูนไทยยังคงมีฉากหลังเกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่เหมือนเดิม และเนื้อหาก็หลากหลายขึ้น ไม่ได้วนเรื่องผี, ความรักอย่างเดียว
Horror Hours : ชั่วโมงสยอง
และผลจากการมีเยาวชนรุ่นใหม่หันวาดการ์ตูนแบบมังงะ ทำให้แนวสยองขวัญไทยๆ จากการ์ตูนสยองขวัญ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ผีโผล่มาหักคอจบ เริ่มมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น หักมุมมากขึ้น รวมไปถึงการ์ตูนซีรีย์เรื่องยาวๆ เช่น แฟนตาซีที่อารมณ์โหดๆ เลือดสาด อย่าง มีดที่ 13 รวมไปถึงการิน ซึ่งการ์ตูนเหล่านี้มีเรื่องสยองขวัญปนอยู่ไม่มากก็ไม่น้อย
นอกจากนี้สิ่งที่เปลี่ยนไป ตัวเอกในเรื่องนอกเหนือผู้ใหญ่แล้ว ยังมีวัยรุ่น นักศึกษา และเด็กประถมด้วย ประเด็นในเรื่องยังเน้นจิตใจของมนุษย์มากกว่าเดิม และยังแฝงด้วยอารมณ์ขัน บางเรื่องจิกกัดสังคม ปัญหาสังคม (เป็นต้นว่า ทำแท้ง, ยาเสพย์ติด, การศึกษาไทย) ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สยองขวัญไทยๆ มีการพัฒนาการแบบก้าวกระโดดได้ดีแบบนี้
เราได้เห็นนักเขียนไทยแจ้งเกิดหลายคน การ์ตูนไทยโดยเฉพาะแนวสยองขวัญหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ อย่าง เช่น 13 เกมสยองขวัญ และ อย่าอ่านชะตาจะขาด ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องสั้นตอนเดียวจบในชุดรวมเรื่องสั้นจิตหลุด (My Mania) เป็นหนังสือการ์ตูนไทย ผลงานของเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ นักเขียนที่ผมเห็นผลงานตั้งแต่โครงการมรณะ
เห็นได้ชัดว่าปัจจุบัน หลายสำนักพิมพ์เริ่มให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้นักเขียนไทยหน้าใหม่แสดงฝีมือ ในขณะที่วิบูลย์กิจสนับสนุนผลงานการ์ตูนของนักเขียนไทยแล้ว ก็มีสำนักพิมพ์อื่นๆ ส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ได้ สำนักพิมพ์เนชั่นไม่เท่าไหร่ สำนักพิมพ์อื่นผมก็ไม่ค่อยได้เห็นได้อ่าน แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือสำนักพิมพ์สยาม อินเตอร์ คอมมิค ที่เราเห็นผลงานการ์ตูนแบบมังงะดังๆ ที่หลายคนชอบ และแนวสยองขวัญก็สนับสนุนถึงขั้นมีการรวมเรื่องสั้นในชุด Horror Hours : ชั่วโมงสยอง ซึ่งรวมเรื่องสั้นแนวสยองขวัญหรือผีในรูปแบบคอมิกส์เต็มตัว โดยมุมมองของนักวาดรุ่นใหม่ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวชวนขนลุกในแบบของแต่ละคน จนได้นักเขียนการ์ตูนที่มีเอกลักษณ์หลายคน เช่น ธนาดล อมราภรณ์กุล, อเนกร้อยแก้ว เป็นต้น (ผมยังสงสัยว่าเขาไม่ใช่นามปากกาเลยเหรอ?)
แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะดีไปเสียหมด แม้จะมีจุดตำหนิเล็กน้อยบ้าง เช่น พล็อตบางเรื่องเดาทางง่าย, ปัญหาเรื่องความต่อเนื่อง (หากวาดเป็นซีรีย์), แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่อะไร มันอยู่ที่การพัฒนาของนักเขียนแต่ละคนมากกว่า ว่าจะไปไกลขนาดไหน
ถ้าถามผมว่าผมประทับใจการ์ตูนสยองขวัญของคนไทยคนไหนบ้าง ผมก็ขอยกเรื่องที่ผมชอบคร่าวๆ ดังต่อไปนี้
รวมเรื่องสั้นจิตหลุด (My Mania)
รวมเรื่องสั้นจิตหลุด (My Mania) ผลงานของเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ลิขสิทธิ์เป็นของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ โดยเนื้อหาในเรื่องเป็นการรวมเรื่องสั้นแนวตลกและสยองขวัญหักมุม 5 เรื่อง (ฉบับทำเล่มใหม่มีการเพิ่มอีก 3 เรื่อง ซึ่งเสียดายที่ผมไม่ได้อ่าน)
โดยในเรื่องนี้มีแนวสยองขวัญที่น่าสนใจสองเรื่อง คือ เรื่อง "13 quiz show" (อันนี้ออกไปทางตลกร้ายมากกว่าสยอง แต่ก็หักมุมได้ขนลุกดี) เป็นเรื่องของเซลล์แมนคนหนึ่งมีชื่อว่า ภูชิต ซึ่งทำอะไรก็ไม่ได้เรื่อง จนต่อมา ได้มีผู้ชายคนหนึ่งมายุ่งกับชีวิตของเขาแล้วบอกให้เขาเล่นเกมส์เพื่อชิงเงินรางวัล 50 ล้านบาท และ อย่าอ่านชะตาจะขาด ซึ่งเป็นเรื่องของเด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกแก้แค้นจากเด็กเขมรโดยผ่านยันต์ที่มีชื่อว่า "ยันต์สั่งตาย" และได้มีการนำเรื่องนี้ไปจัดสร้างเป็นตอนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องสี่แพร่ง (ตอน ยันต์สั่งตาย) ทั้งสองเรื่องดำเนินเรื่องได้อย่างน่าติดตาม ทั้งสยอง และโหด หักมุม ส่งผลทำให้ทั้งสองเรื่องถูกสร้างเป็นภาพยนตร์คือเรื่อง "13 quiz show" ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "13 เกมสยอง" และอีกเรื่องคือ "ยันต์สั่งตาย" ถูกสร้างเป็น 1 ตอนในภาพยนตร์เรื่อง "สี่แพร่ง" ในเวลาต่อมา
สำหรับลายเส้นของการ์ตูนชุดนี้อาจไม่ได้สวยงาม โมเอะมากนัก แต่ได้อารมณ์ของความสมจริง เข้าใจง่าย และสร้างสรรค์ อีกทั้งเป็นนักเขียนที่ผมรู้จักตั้งแต่ผลงานงานการ์ตูน โครงการมรณะ เป็นการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรกกับสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ
Seven Days : เจ็ดวันอาถรรพ์
Seven Days : เจ็ดวันอาถรรพ์ เป็นรวมผลงานเรื่องสั้น 7 เรื่องจบในตอนแนวเขย่าขวัญ-สยองขวัญของ ณัฐพล อยู่วิทยา ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนคงคุ้นกับลายเส้นของคนเขียนเรื่องนี้ไม่มากก็ไม่น้อย เพราะคนเขียนออกผลงานเยอะมาก ส่วนใหญ่ ก็เป็นแนวโปรโมทหนังไทย และแนวผีๆ ของสำนักพิมพ์สยาม
สำหรับเรื่องนี้ แม้จะไม่ได้เน้นสยองเลือดสาดเหมือนการ์ตูนไทยหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา แต่ออกไปทางหลอนๆ เน้น ความผูกพัน มิตรภาพ ไปจนถึงตลกร้ายๆ โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นและคนตาย ตามความเชื่อของไทยที่ว่าหลังจากที่คนตายไปแล้ว 7 วัน วิญญาณจะกลับมาหาคนเป็นที่เคยผูกพันด้วย
เรื่องสั้นชุดนี้แปลกอยู่อย่าง เพราะหากพูดถึงวิญญาณความผูกพันจะเน้นเรื่องความรักของชายหญิง แต่สยองขวัญชุดนี้กลับเน้นเรื่อง ความผูกพันระหว่างเพื่อนมิตรสหาย ครอบครัว มากกว่า โดยตอนที่ผมชอบเป็นพิเศษคือ “Day 6 : ใต้ผืนน้ำ” ซึ่งเป็นเรื่องของเด็กสาวคนหนึ่ง ที่สูญเสียแม่ ได้ตายจากการที่ช่วยชีวิตเธอจากการจมน้ำ และแม่ก็ได้กลายเป็นวิญญาณร้าย เ ที่จะเอาลูกสาวตัวเองไปอยู่ด้วย ใน 7 วันให้หลัง ตอนจบหักมุมนี้ทำเอาขนลุก และ
Seven Days ถือว่าเป็นการ์ตูนสยองขวัญที่ทำได้หลากหลายอารมณ์ การดำเนินเรื่องแม้จะเป็นสไตล์เนิ่บๆ ช้าๆ แต่ก็ให้อารมณ์ภาพยนตร์แบบไทยๆ ดี ถือว่าเป็นการ์ตูนสยองขวัญที่ผมอยากให้หลายคนแนะนำครับ
ปัจจุบันผมติดตามการ์ตูนไทยแบบมังงะของสยามมากกว่า โดยเฉพาะ Horror Hours มาต่อเนื่องกว่า ส่วนสำนักพิมพ์อื่นๆ นี้ผมก็ไม่ค่อยทราบว่ามีแนวสยองขวัญที่น่าสนใจอะไรบ้าง วิบูลย์กิจอาจมีซีรีย์ และนานๆ ครั้งก็มีแบบรวมเล่มบ้าง ขณะที่เนชั่นช่วงหลังๆ มีแต่ผลงานนักเขียนไทยไม่กี่คนและไม่ใช่แนวสยองขวัญ (และเป็นแนวแฟนตาซีที่ได้รับการวิจารณ์ในเชิงไม่ค่อยดีมากนัก)
Horror Hours แม้จะมีเป็นการ์ตูนสยองขวัญที่น่าสนใจหลายเรื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ภาพรวมหลายเรื่องส่วนใหญ่อาจขายความโหดเลือดสาดเป็นหลัก ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมอยากให้การ์ตูนสยองขวัญไทยที่มีความหลากหลาย และหักมุม เน้นเรื่องจิตใจของมนุษย์มากกว่านี้ เป็นต้นว่าจุนจิ อิโต้ สร้างสัตว์ประหลาดที่น่าพิศวง อย่าง โทมิโกะ จนหากินได้หลายตอน และกลายเป็นนางสยองที่หลายคนรู้จัก
จะเห็นได้ว่าการ์ตูนสยองขวัญไทยอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน มีรุ่ง มีร่วง มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และการ์ตูนไทยก็ยังต้องเผชิญปัญหาที่ยังคงเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็น อาชีพนักเขียนการ์ตูนไทยยังคงเป็นอาชีพไม่ได้สร้างรายได้อะไรมากนัก, ตรรกะป่วยๆ ที่คนไทยมองการ์ตูนด้านลบ, ราคาหนังสือก็มีราคาแพงขึ้นทุกวัน สิ่งเหล่านี้ทำให้การ์ตูนไทยไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควรนัก
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้โอกาสมีนักเขียนการ์ตูนได้แสดงฝีมือกันมากขึ้น ส่วนจะได้ผลตอบรับอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้เขียนเอง แต่น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีการ์ตูนแนวสยองขวัญมากนัก ส่วนมากเป็นการ์ตูนแก๊ก และประเภทจิกกัดสังคมไทยๆ มากกว่า ซึ่งแนวหากมีโอกาส ผมก็จะพูดถึงครั้งต่อไป
ความคิดเห็น