ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #29 : สะดุดรัก ลวงใจ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 248
      1
      9 ส.ค. 55

    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/yodnamkang/story/view.php?id=555684


               การวิจารณ์เรื่อง  สะดุดรัก  ลวงใจ  นิยายรักขนาดยาว 67 ตอนจบ ของ รัตนรัตน์  นี้นับเป็นครั้งแรกที่วิจารณ์นิยายติดอันด้บหนึ่งในสิบของนิยายยอดนิยมจากทุกหมวดของเว็บไซต์เด็กดี  นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวความรักสามเส้าระหว่างกร  เทพราช  เจ้าของธุรกิจผลไม้ส่งออกและกิจการไร่องุ่นที่ใหญ่ที่สุด  อมาวตี มัณฑนากรสาวที่รับตกแต่งบ้านให้กร  และ กฤติยากร ชายหนุ่มที่หลงรักอมาวตีมาตั้งแต่สมัยมัธยม

              เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ ผู้แต่งเลือกใช้โครงเรื่อง (plot) ยอดนิยมตลอดกาล นั่นคือ พระเอกเข้าใจผิดคิดว่าว่านางเอกเป็นผู้ชาย ทั้งๆ ที่ตัวละครเกือบทุกตัวทราบความจริงกันหมดแล้วว่านางเอกเป็นผู้หญิง  และยังผสานเข้ากับเรื่องราวความรักสามเส้าของตัวละครหลัก โดยเน้นการปะทะอารมณ์ระหว่างพระเอกกับนางเอก ที่เริ่มจากความเกลียดชัง ไม่เข้าใจ จนท้ายสุดก็จบลงด้วยความรัก  แม้ว่าผู้อ่านจะเดาเรื่องได้โดยตลอดแล้วว่าเรื่องจะลงเอยอย่างไร   แต่ก็ยังคงติดตามอ่านจนจบเพราะหลงเสน่ห์ความมีชีวิตชีวาของตัวละคร  และชื่นชอบมุกต่างๆ ที่ผู้แต่งสอดแทรกเพื่อสร้างสีสันและสร้างความผันแปรทางอารมณ์ให้กับตัวละครต่างๆ ในเรื่อง  ซึ่งทำให้นิยายเรื่องนี้มีครบทุกรสชาติ ทั้ง รัก สนุก สุข เศร้าเคล้าน้ำตา

              สะดุดรัก  ลวงใจ  นำเสนอเรื่องราวความรักคู่ขนานกันไประหว่างความรักสามเส้าระหว่างกร อมาวตี และกฤติยากร  ซึ่งอาจถือว่าเป็นโครงเรื่องหลัก  กับโครงเรื่องย่อย (sub-plot) นั่นคือความผิดหวังในความรัก  จนทำให้กนกอร (น้องสาวของกร) ตัดสินใจหนีอานนท์จากอังกฤษกลับประเทศไทยทั้งๆที่กำลังท้องและยังเรียนไม่จบ  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า  ผู้แต่งเน้นโครงเรื่องหลักมากเกินไป  โดยเฉพาะช่วงท้ายๆเรื่อง  ผู้แต่งยืดเรื่องด้วยการเพิ่มฉากรักหวานๆระหว่างพระเอกและนางเอก  จนเรื่องขาดความกระชับ  ขณะเดียวกันก็กลบโครงเรื่องย่อยไปด้วย  ทั้งๆที่ผู้แต่งเปิดเรื่องด้วยปมปัญหาในชีวิตของกนกอร  และกนกอรก็เป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้กรและอมาวตีได้พบกัน  แต่หลังจากนั้นเรื่องราวและบทบาทของกนกอรก็หายไป    ทำให้คิดว่าเมื่อใดก็ตามที่ผู้อ่านรู้สึกว่ากนกอรหายจากเรื่องไปนาน  ผู้แต่งก็คงจะเกิดความรู้สึกนี้ด้วยเช่นกัน  เพราะในทุกครั้งที่นึกถึงกนกอร  ผู้แต่งก็จะเปิดโอกาสให้กนกอรออกมาโลดแล่นในเรื่องสักฉากสองฉากแล้วก็หายไปอยู่เสมอ    ผู้วิจารณ์เห็นว่าความเข้าใจผิดของกนกอรที่คิดว่าอานนท์ไม่ได้รักตนและกำลังจะกลับไปหาคนรักเก่านั้น ช่วยเพิ่มมิติให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี  เพราะสะท้อนให้เห็นมุมมองของความรักในอีกแง่มุมหนึ่งว่า แม้ว่าจะรักกันมากเพียงใดก็ตาม  หากขาดความเชื่อใจในคู่รักของตนแล้วความรักนั้นก็เสื่อมคลายได้   

              นอกจากนี้  ผู้แต่งยังได้ปูพื้นตัวละครอีกคู่ไว้เพื่อเป็นตัวละครหลักของนิยายเรื่องต่อไป  นั่นคือ  ภัทรา (เพื่อนสนิทของอมาวตี)  กับ เขตแดน (เพื่อนรักของกร) ซึ่งเขตแดนแสดงให้เห็นว่าสนใจภัทราอย่างชัดแจ้ง  และภัทราก็ดูว่าจะมีเรื่องอึดอับคับข้องใจส่วนตัวปิดบังอยู่ (ถ้าจะให้เดาน่าจะเป็นเรื่องการจับคู่ระหว่างเธอกับลูกชายของเพื่อนแม่ ซึ่งก็คือเขตแดนนั่นเอง)  เมื่อผู้แต่งคิดว่าจะเขียนนิยายเฉพาะสำหรับตัวละครทั้งคู่  ผู้แต่งจึงลดบทบาทของตัวละครทั้งสองในเรื่องลงจนแทบจะไม่มีบทใดๆเลย  ผู้วิจารณ์เห็นว่าหากผู้แต่งเปิดประเด็นการปะทะกันระหว่าง
    ภัทรากับเขตแดนให้มากกว่านี้  หรือเปิดปมปัญหาในชีวิตของภัทราและเขตแดนที่จะต้องมาผูกพันกันต่อไปไว้ด้วย  ก็น่าจะช่วยให้มีผู้อ่านจำนวนหนึ่งมีใจจดจ่อและอยากติดตามเรื่องราวชีวิตของตัวละครทั้งคู่ในนิยายเรื่องต่อไปมากขึ้น  ขณะเดียวกันก็จะช่วยสร้างมุมมองความรักอีกแง่มุมหนึ่งเพิ่มขึ้นในนิยายเรื่องนี้ไปพร้อมกันด้วย 

              แม้ว่าบทบรรยายและบทสนทนาของผู้แต่งจะส่งให้นิยายมีความสนุกและน่าติดตาม  แต่มีข้อบกพร่องสำคัญที่ส่งผลให้อรรถรสอันลื่นไหล ต้องสะดุดเป็นระยะๆ  นั่นคือ ผู้แต่งมักจะขึ้นย่อหน้าใหม่ในบทบรรยายเสมอ  ทั้งๆที่เนื้อความที่ต้องการบรรยายยังไม่จบ  เช่น

     

              ครั้งแรกที่เจออมาวตี หลายคนนึกว่าเป็นหนุ่มน้อยหน้าตาดี  เพราะด้วยความสูงกว่าหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเซนติเมตร  และการแต่งกายสไตล์ง่ายๆ ด้วยเสื้อยืดตัวโคร่งกับกางเกงยีนส์และรองเท้าผ้าใบสีขาว  บวกกับใบหน้าที่ไร้การแต่งเติมเครื่องสำอางใดๆ กับทรงผมยาวตรงที่รวบไว้ท้ายทอยหลวมๆ

                ซึ่งมีเพียงภัคจิราที่นั่งยัน นอนยันทีเดียว ว่าอมาวตีนี่แหละ ... เหมาะสมที่สุดกับ
    คอนเซ็ปในการถ่ายแบบวันนี้  เพราะภาพลักษณ์ของเสื้อผ้าแบรนด์นี้เน้นที่ความโฉบเฉี่ยว  สวยแต่แข็งกร้าวอยู่ในที  ซึ่งเมื่อนางซินได้ทำการแปลงโฉม  ก็ไม่ทำให้ภัคจิราสไตลิสสาวตาคมต้องผิดหวัง

                มีเพียงภัทราที่ตามมาให้กำลังใจเพื่อนสาว  ที่คอยชมฝีมือของช่างแต่งหน้าและทำผมไม่ได้ขาดปาก  ที่สามารถเปลี่ยนดินให้เป็นดาวได้ง่ายราวกับพลิกฝ่ามือเท่านั้น

     

    ผู้วิจารณ์เห็นว่าทั้ง 3 ย่อหน้า สามารถรวมเป็นย่อหน้าเดียวได้  เพราะย่อหน้าที่ 2 และ 3 เป็นเนื้อความขยายเนื้อความหลักที่อยู่ย่อหน้าแรกเท่านั้น  นอกจากนี้ ตามหลักการใช้ภาษาแล้ว คำว่า ซึ่ง จะไม่นำมาเป็นคำขึ้นต้นย่อหน้า  เพราะ ซึ่ง ทำหน้าที่เชื่อมประโยคหลักกับประโยคขยายเข้าด้วยกัน  ดังนั้น ประโยคขยายที่ตามหลังคำว่า ซึ่ง มักจะต้องอยู่ตามหลังประโยคหลักที่นำมาเสมอ  โดยไม่สามารถที่จะแยกสองประโยคออกจากกันดังที่ปรากฏนี้ได้  ในย่อหน้าที่  3 ก็เหมือนกัน  ผู้แต่งละคำว่า ซึ่ง หน้า มี ไว้

    ในบทสนทนา   ผู้แต่งก็ขึ้นบรรทัดใหม่บ่อยมากเช่นกัน ทั้งๆที่ข้อความที่ตัวละครพูดในขณะนั้นยังไม่จบกระแสความ  เช่น 

     

    ใช่ครับ  สตาร์ทไม่ติดเลย  อาจจะเพราะวันนี้ขับมาระยะทางไกลยังไม่ได้หยุดพัก

    เดี๋ยวผมขอตัวไปตรวจเครื่องยนต์หน่อยนะครับ  บางทีอาจจะไม่ได้เสียก็เป็นได้

    วตีรออยู่ในรถ  ห้ามออกไปไหนนะครับ กรกล่าวราวกับเขาเป็นผู้ปกครองหญิงสาวก็ไม่ปาน

     

    ทั้งสามประโยคสามารถเขียนรวมเป็นย่อหน้าเดียวกันได้  คือ ใช่ครับ  สตาร์ทไม่ติดเลย  อาจจะเพราะวันนี้ขับมาระยะทางไกลยังไม่ได้หยุดพัก  เดี๋ยวผมขอตัวไปตรวจเครื่องยนต์หน่อยนะครับ  บางทีอาจจะไม่ได้เสียก็เป็นได้  วตีรออยู่ในรถ  ห้ามออกไปไหนนะครับ กรกล่าวราวกับเขาเป็นผู้ปกครองหญิงสาวก็ไม่ปาน    จะเห็นได้ว่าบทสนทนาข้างต้นเป็นบทพูดของกรเพียงคนเดียวและพูดต่อกันเป็นกระแสความเดียว แม้ว่าจะประกอบด้วยประโยคหลายประโยค  ดังนั้น  เครื่องหมายอัญประกาศ หรือเครื่องหมายคำพูด (......)  ก็ใช้เพียงครั้งเดียว  โดยไม่จำเป็นต้องใช้ในทุกประโยคที่ตัวละครพูดดังที่ผู้แต่งใช้

    นอกจากนี้  การสะกดคำผิดก็เป็นเหตุผลอีกประการที่บั่นทอนอรรถรสในการอ่านลงไปไม่น้อย    นิยายเรื่องนี้มีคำผิดจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่พิมพ์ผิดโดยไม่ตั้งใจ เช่น  เพียง เขียนเป็น เพีอง  กล่าว เขียนเป็น กล่า งุนงง  เขียนเป็น งุงงง  และคำที่พิมพ์ผิดด้วยความไม่รู้  เช่น  แก่กล้า  เขียนเป็น แกร่กล้า  นะคะ เขียนเป็น นะค่ะ   มัณฑนากร เขียนเป็น มัณฑณากร  อานิสงส์ เขียนเป็น อานิสงค์  ปะติดปะต่อ เขียนเป็น ประติดประต่อ  น้า เขียนเป็น น๊า กะพริบตา  เขียนเป็น กระพริบตา โอกาส เขียนเป็น โอกาศ  รสชาติ เขียนเป็น รสชาด การันตี  เขียนเป็น การัณตี  ผูกพัน เขียนเป็น ผูกพันธ์  ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ มั้ย เขียนเป็น มั๊ย  (เหนื่อย) โว้ย เขียนเป็น (เหนื่อย) ว๊อย  เมี้ยว  เขียนเป็น เมี๊ยว  ว้าย เขียนเป็น ว๊าย  สมควร เขียนเป็น สำควร  วี้ดว้าย เขียนเป็น วี๊ดว๊าย  ปะทุ เขียนเป็น ประทุ  ร่ำลา เขียนเป็น ร่ำรา  เพชฌฆาต เขียนเป็น เพชรฆาตร  สัมภาระ เขียนเป็น สัมพาระ  สำอาง เขียนเป็น สำอางค์ กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน แอลกอฮอล์ เขียนเป็น แอลกอฮอร์  และ คลาคล่ำ เขียนเป็น คราคร่ำ  จะเห็นได้ว่าคำที่สะกดผิดจำนวนหนึ่งเป็นคำที่มีรูปวรรณยุกต์ตรีหรือไม้ตรีกำกับ  เพราะผู้เขียนใช้วรรณยุกต์รูปตรีกับอักษรสูงและอักษรต่ำ  ทั้งๆที่ตามหลักการใช้ภาษาที่ถูกต้องนั้น  วรรณยุกต์รูปตรีใช้ได้เฉพาะกับอักษรกลาง ทั้ง 9 ตัว คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ  เท่านั้น

    ข้อบกพร่องเล็กน้อยที่พบคือ ข้อมูลผิดพลาด   เช่น  ผู้แต่งให้กนกอรและอานนท์เรียนที่มลรัฐเดียวกันที่อังกฤษ   หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงพบว่าประเทศอังกฤษไม่ได้แบ่งการปกครองเป็นมลรัฐ  แต่จะเรียกว่าราชรัฐ  ถ้าหมายถึงเวลล์  ดังนั้นผู้เขียนควรจะเปลี่ยนจากมลรัฐเป็นเมืองก็จะถูกต้องกว่า  (ส่วนประเทศที่แบ่งเขตการปกครองเป็นมลรัฐ  เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ แคนาดา)   และบางเหตุการณ์ยังขาดความสมเหตุสมผล  เช่น การให้กนกอรบอกความลับเรื่องที่เธอตั้งครรภ์ให้อมาวตีฟัง  ทั้งๆที่เป็นคนแปลกหน้าที่เพิ่งจะพบกันสองครั้งเท่านั้น  แม้ว่าคนทั้งคู่จะตกลงเป็นเพื่อนกันแล้วก็ตาม  หรือ การให้กฤติยากรรู้สึกเสียใจที่เห็นฉากสารภาพรักระหว่างกรและอมาวตี ขณะที่ทั้งสองนั่งอยู่บนชิงช้าสวรรค์ซึ่งหยุดอยู่ที่จุดสูงสุด  ในความเป็นจริง คนที่ยืนอยู่บนพื้นดินไม่น่าที่จะเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนชิงช้าสวรรค์ที่มีความสูงขนาดนั้นได้เลย  จึงเห็นว่าถ้าผู้แต่งเปลี่ยนให้กฤติกยากรเห็นฉากรักหวานๆ ระหว่างคู่รักใหม่คู่นี้ขณะที่เดินเที่ยวงานด้วยกัน น่าจะสมจริงมากกว่า

    ข้อบกพร่องประการสุดท้ายคือ ผู้แต่งมักจะใช้อาการบาดเจ็บของตัวละครเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาหัวใจของตัวละครทุกครั้ง  นับตั้งแต่อานนท์ประสบอุบัติเหตุรถชนต้นไม้  ทำให้กนกอรเห็นใจและมาเฝ้าดูแล   กรก็ประสบอุบติเหตุรถชนเช่นกัน  จนทำให้อมาวตีรู้สึกเป็นห่วงและต้องแอบมาดูอาการ  จึงได้ทราบความจริงโดยบังเอิญว่าแท้ที่จริงแล้วกรรักตน  หรือ กนกอรสลบล้มลงขณะเกือบถูกรถชน  ช่วงพักฟื้นก็ทราบว่าอานนท์ไม่ได้ต้องการจะกลับไปคืนดีกับคนรักเก่า  และเปิดโอกาสให้คนรักเก่าของเขานำการ์ดแต่งงานของเธอมาเชิญทั้งคู่ไปร่วมงานเท่านั้น    ด้วยเหตุนี้  หากผู้แต่งสามารถแก้ปัญหาหรือสร้างจุดนำเหตุการณ์ให้ตัวละครแต่ละตัวในทิศทางที่ต่างกัน  ก็จะช่วยให้เรื่องน่าสนใจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

     

    -----------------------------------

              

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×