ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #28 : Bad Tomboy ร้ายกี่ครั้งฉันก็รักเธอ

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 222
      0
      22 มี.ค. 53

      

    Bad Tomboy ร้ายกี่ครั้งฉันก็รักเธอ  ของ  น้ำมันออยล์  เป็นเรื่องราวความรักในวัยเรียนของกลุ่มเด็กวัยรุ่นชั้นมัธยม  ซึ่งมีตัวละครสำคัญที่นำเสนอเรื่องราวความรักที่แตกต่างกัน  2 คู่ คือ โดมกับยุนอา เป็นความรักของชายหนุ่มที่เริ่มจากเกลียดทอมบอยสาวที่แย่งแฟนสาวของเขาไปเป็นกิ๊กของเธอ  แต่คนทั้งคู่ก็ตกหลุมรักกันในที่สุด  และเซไคกับโพรี  เด็กหนุ่มนักเลงรุ่นน้องที่หลงรักสาวสวยขี้อายข้างบ้าน

    ขณะนี้เรื่องเพิ่งดำเนินมาถึงตอนต้นเท่านั้น จึงเป็นเพียงการแนะนำให้รู้จักตัวละครสำคัญๆ ในเรื่องว่ามีรูปร่างหน้าตา  บุคลิกลักษณะ และอุปนิสัย อย่างไร  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ยุนอา  นางเอกของเรื่อง ที่ทำหน้าที่เป็นตัวดำเนินเรื่องหลักอยู่ในขณะนี้   ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้แต่งสร้างตัวละครแต่ละตัวได้เด่นชัดและมีลักษณะเฉพาะตน ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านแยกแยะและจดจำตัวละครเหล่านั้นได้  ไม่ว่าจะเป็นยุนอา ทอมบอยสาวแสนหล่อ เท่และเก่ง  โดม  ประธานนักเรียนรูปหล่อ รักเดียวใจเดียวและหวงแฟนเป็นที่สุด  เซไค หนุ่มนักเลงรุ่นน้องผมแดง หน้านวลใสกว่าผู้หญิง  หรือ โพรี สาวสวย หวาน แสนขี้โรคและขี้อาย

    แม้ว่าผู้แต่งจะสร้างตัวละครได้อย่างชัดเจนเพียงใด  แต่สิ่งที่ขาดไปคือ เหตุผลเบื้องหลังที่ส่งให้ตัวละครตัวนั้นมีบุคลิกเช่นนั้น หรือการเลือกกระทำเหตุการณ์บางอย่าง  โดยเฉพาะยุนอา ผู้อ่านพอจะเดาได้ว่าเหตุใดยุนอาถึงตั้งตนเป็นหัวหน้าแก๊งอันธพาลในโรงเรียน ทั้งๆที่เธอเป็นลูกสาวผู้อำนวยการ  นั่นเป็นเพราะเธอต้องการประชดพ่อที่ห่วงแต่การทำธุรกิจ จนละเลยไม่สนใจดูแลห่วงใยลูกเลย  แต่เมื่อยุนอาเลือกที่จะสร้างปัญหาเพื่อประชดพ่อก็ไม่น่าจะต้องกลัวว่าพ่อจะรู้ เพราะเธอดูจะกังวลว่ามะนาว (สาวใช้)  หรือ เฮียวจู (แม่เลี้ยง) จะไปฟ้องพ่อเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เหมาะสมของตน  ทั้งๆที่ในความเป็นจริงเมื่อยุนอาเป็นเด็กในโรงเรียนที่พ่อเป็นผู้อำนวยการ  พ่อก็น่าจะรู้การกระทำแย่ๆของเธอที่โจษขานกันทั่วโรงเรียนดีอยู่แล้ว โดยไม่ต้องให้ผู้ใดไปฟ้อง ไม่ว่าจะเป็นการชนะหัวหน้าแก๊งอันธพาลประจำโรงเรียนคนเก่า  และแต่งตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าแก๊งแทน  หรือการแย่งแฟนของโดม ประธานนักเรียนผู้เป็นที่รักของอาจารย์และเพื่อนๆ

    นอกจากนั้น  เหตุผลที่ผลักดันให้ยุนอาตัดสินว่าตนเองเป็นโรคเกลียดผู้หญิงทุกคนบนโลกก็ไม่ชัดเจน  แม้ว่าตลอดมายุนอาจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเธอไม่เคยรักผู้หญิงคนใดจริง  และที่เธอจีบผู้หญิงแต่ละคนนั้นก็เป็นเพียงเกมเท่านั้น  เพราะผู้หญิงทุกคนคือของเล่นสำหรับเธอ   ทั้งเค้ก พลอย และ ปอ นอกจากยุนอาจะแก้แค้นผู้หญิงด้วยวิธีจีบเล่นแล้วทิ้ง  ผู้แต่งยังให้ยุนอาแก้แค้นผู้หญิงที่เธอไม่รู้สึกชอบจริงๆด้วยวิธีที่ต่างออกไป นั่นคือ มะนาว  เพราะมะนาวเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในเรื่องที่ไม่เคารพ  ไม่นับถือยุนอา  และอยากให้ยุนอาเลิกทำตัวแย่ๆ ที่ทำให้พ่อเสียใจเสียที  เมื่อมะนาวจะเป็นเพียงลูกของคนใช้ในบ้าน  ยุนอาจึงแก้แค้นด้วยการทำร้ายให้บาดเจ็บและท้ายที่สุดก็บีบให้เฮียวจู (แม่เลี้ยง) ไล่มะนาวออกจากบ้านไป  แต่เมื่อยุนอามาพบโพรี สาวน้อยอ่อนแอ ขี้โรค และถูกเพื่อนแกล้งตลอดเวลา จนไม่คิดจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป  ยุนอากลับละทิ้งความตั้งใจเดิมที่เธอเกลียดผู้หญิงทั้งโลก โดยยอมเป็นเพื่อนสนิทของโพรี และตั้งใจปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพของโพรีจากสาวเฉิ่มให้เป็นสาวสวย  ขณะเดียวกันก็ให้กำลังใจเพื่อเตือนสติให้โพรีเห็นค่าของตัวเอง   ผู้วิจารณ์เห็นว่าการเปลี่ยนทัศนคติยุนอาต่อโพรีอย่างกะทันหันเกินไปนี้   ยังกลายเป็นเปิดเผยความอ่อนโยนที่แฝงไว้ภายใต้ความแข็งกร้าวของยุนอาแทน จนทำให้ความชัดเจนของลักษณะเด่นที่สุดอันเป็นตัวขับเคลื่อนการกระทำและการตัดสินใจของยุนอาอ่อนลง  แม้ว่าผู้แต่งจะต้องการหาเหตุให้โพรีและยุนอาเป็นเพื่อนกันเพื่อเชื่อมยุนอาไปหาเซไคคู่แค้นของแจมินพี่ชายที่รักของเธอก็ตาม

    นิยายเรื่องนี้มีกลิ่นอายของนิยายแนว Yuri อยู่นิดๆ   โดยเฉพาะการเน้นความสัมพันธ์ระหว่างยุนอากับตัวละครหญิงที่เธอจีบ   ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่พบ คือ  ตัวละครเรื่องนี้มีความรักได้อย่างง่ายดาย และมีช่วงเวลาพัฒนาความสัมพันธ์ของคู่รักสั้นมาก   จากความรู้สึกชอบไปสู่ความรักที่ยอมรับอย่างเต็มใจว่ายุนอาคือคนรักที่สำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเธอ ส่วนใหญ่จะใช้เวลาพัฒนาความรักจนกระทั่งบอกเลิกไม่เกินหนึ่งสัปดาห์   จนอดสงสัยไม่ได้ว่าคนเราจะรักกันเพียงแค่พบหน้ากันครั้งแรก  และพัฒนาจนกลายเป็นความรักที่ลึกซึ้งภายในระยะเวลาอันสั้นเช่นนี้ได้จริงหรือ    

    แม้ว่าเรื่องจะเพิ่งดำเนินไปเพียง 14 ตอน  ผู้วิจารณ์ก็พอจะเห็นว่าผู้แต่งสามารถใช้ภาษาไทยในระดับดี  นับตั้งแต่การเขียนบทบรรยายทั้งขนาดยาวและสั้น  ซึ่งสื่อความกับผู้อ่านได้ชัดเจน  เช่นเดียวกับการเลือกใช้คำในบทสนทนาที่ช่วยสร้างสีสันและความสนุกให้กับเรื่องได้ดีทีเดียว   จึงส่งผลให้เรื่องดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่สะดุดติดขัด  แม้ว่าจะมีคำผิดให้เห็นบ้าง  แต่ก็น้อยมาก  คำผิดที่พบเช่น พิเรนทร์ เขียนเป็นพิเรน ขัดขืน  เขียนเป็น  ขัดขื่น  ชาญฉลาด เขียนเป็น ชานฉลาด ข่มขืน เขียนเป็น ข่มขื่น  ขมขื่น  เขียนเป็น ข่มขืน  และ ขย้ำเหยื่อ เป็น ขยำเหยื่อ

    ข้อสังเกตประการต่อไป คือ นิยายแนวนี้จำนวนมากมักจะให้ตัวละครเป็นชาวต่างชาติหรือไม่ก็ลูกครึ่งที่มีชื่อเป็นฝรั่ง ญี่ปุ่น หรือ เกาหลี เป็นส่วนใหญ่  เรื่องนี้ก็เช่นกัน  แม้ว่าผู้แต่งจะกำหนดให้เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นที่โรงเรียนเซนจูเนียร์  ในประเทศไทย  แต่ว่าตัวละครสำคัญส่วนใหญ่ไม่ใช้ชื่อไทยเลย  โดยเฉพาะยุนอากับแจมิน (พี่ชาย)   แม้จะบอกว่าเป็นลูกครึ่งไทย-เกาหลี   ตอนแรกคาดว่าพ่อน่าจะเป็นคนเกาหลี และแม่เป็นคนไทย จึงตั้งชื่อลูกเป็นภาษาเกาหลี  แต่เมื่ออ่านต่อมาพบว่าพ่อน่าจะเป็นคนไทยมากกว่า เพราะว่าเจน (อานางเอก) ซึ่งเป็นน้องสาวพ่อก็ไม่ได้มีชื่อเกาหลี และมีอาชีพเป็นครูผู้เสียสละด้วยการสอนเด็กในต่างจังหวัด  จึงสงสัยเหตุผลของผู้แต่งว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไรในการตั้งชื่อตัวละคร

              ข้อบกพร่องที่พบ คือ การใช้อีโมติคอนแสดงสีหน้าของตัวละครประกอบบทบรรยายหรือบทสนทนา    แม้ว่าอีโมติคอนจะเป็นแสดงอารมรณ์ผ่านภาพสัญลักษณ์ได้  ซึ่งนับเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว   แต่เมื่อผู้แต่งนำอีโมติคอนมาต่อท้ายประโยคที่แสดงอารมณ์ของตัวละครทุกประโยค  ก็ทำให้หมดเสน่ห์ไปโดยปริยาย  เพราะมีจำนวนมากเกินพอดี เช่น ว้าย~ อยากได้ทั้งสองคนเลย *0*” หรือ ย...ยุนอา O///O” หรือ “=__=;” สีหน้าเหนื่อยอ่อนของฉันทุกครั้งที่ได้ยินเสียงร้องโอดครวญของผู้หญิงที่ชอบวิ่งเข้ามาถาม  ซักไซ้ฉันเพื่อต้องการสอบถามความจริง    จึงเห็นว่าผู้แต่งควรจะตัดให้เหลือเฉพาะตำแหน่งที่คิดว่าสำคัญและจำเป็นจริงๆ จนไม่อาจตัดได้   หากเป็นไปได้เสนอว่าผู้แต่งควรจะเพิ่มบทบรรยายแสดงความรู้สึกทางสีหน้าแทนการใช้อีโมติคอนก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างตรงจุดที่สุด   ขณะเดียวกันก็ช่วยสื่ออารมณ์ของตัวละครได้ชัดเจนมากขึ้น  และลดความสับสนและความไม่รู้สำหรับผู้อ่านที่ไม่สันทัดมากพอที่จะตีความหมายอีโมติคอนแสดงอารมณ์เหล่านี้ได้ครบถ้วน

              นอกจากนี้  ผู้วิจารณ์พบว่าสามารถตัด sound effect  บางแห่งออกได้  เช่น ฉากทะเลาะกันระหว่างยุนอากับหัวหน้าแก๊งอันธพาลประจำโรงเรียน  ซึ่งบรรยายโดยเริ่มที่ sound effect ว่า

     

              ผลัวะ! ตุ้บ !!

                หนุ่มร่างยักษ์ที่ถูกเรียกว่า หัวหน้า กระโจนเข้าไปประทุษร้ายยุนอาเพื่อแก้แค้นแทนลูกน้องที่ตอนนี้ลงไปนอนสลบกับพื้นอย่างหมดสภาพ  แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะล้มสาวร่างสูงคนนี้ได้  เพราะทุกหมัดที่เขาซัดใส่มาไม่ยั้งนั้นถูกยุนอาหยุดไว้ได้  และหลบหลีกอย่างคล่องแคล่วว่องไว  เล่นทำเอาผู้คนที่ยืนดูเหตุการณ์อยู่ห่าง ถึงกับตะลึงอ้าปากค้างและลุ้นระทึกไปตามๆ กัน

     

              ตัวอย่างข้างต้น  หากตัด sound effect  คำว่า ผลัวะ! ตุ้บ !!” ออกไปก็ไม่ได้ทำให้เนื้อความของบทบรรยายเสียไปแต่อย่างใด และ ถ้าใช้ sound effect นำ ข้อความที่ตามมาน่าจะเป็นการอธิบายขยายความที่มาของเสียง sound effect โดยทันที ก็จะสื่อความได้ชัดเจนขึ้น   เช่น ผลัวะ! ตุ้บ!! หมัดที่ยุนอาซัดออกไปนั้นถูกปลายคางคู่ต่อสู้อย่างจัง  จนทำให้เขาสลบแน่นิ่งกับพื้นทันที

              นิยายเรื่องนี้น่าติดตามต่อไปว่าผู้แต่งจะสามารถแก้โจทย์อันท้าทายที่ตัวเองสร้างไว้อย่างไร  การแปรเปลี่ยนความเกลียดชังของโดมที่มีต่อยุนอาผู้แย่งแฟนตนไป  ให้เป็นความรักนั้นจะใช้วิธีการใด  เช่นเดียวกัน การที่จะเปลี่ยนยุนอาจากทอมบอยให้หันกลับมาชอบผู้ชายก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  แม้ว่าในความจริงยุนอาจะเกลียดผู้หญิงก็ตาม

     

    ----------------------------------------------------

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×