ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #6 : นักรบแห่งมังกร

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 466
      1
      9 ส.ค. 55

    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/dake/story/view.php?id=437768


    นักรบแห่งมังกร

     

    ผมมีโอกาสรู้จักกับนิยายเรื่อง “นักรบแห่งมังกร” ของสำนักพิมพ์แจ่มใสเป็นครั้งแรก ในงานสัปดาห์หนังสือเมื่อต้นปีที่ทางสำนักพิมพ์ฯ ได้ทำตัวอย่างหนังสือให้อ่านสั้นๆ และบอกว่านี่คือการกรุยทางสู่แนวนิยายใหม่ของสำนักพิมพ์ นั่นคือแนวแฟนตาซี โดยจะแบ่งออกเป็นสองแนวย่อยคือ Dreamland of love อันเป็นแฟนตาซีที่มีความรักเป็นแกนหลัก และ Magic cafe ที่ดูจะมีจินตนาการสูงกว่าอีกแนวหนึ่ง

    ผมไม่ได้อ่านตัวอย่างหนังสือเลย เพียงแต่รู้สึกทึ่งกับปกที่เป็นรูปวาดลายเส้นลงสีด้วยคอมพิวเตอร์ที่สวยงาม แต่นั่นก็เป็นมาตรฐานของสำนักพิมพ์แจ่มใสอยู่แล้ว จนต่อมาทางเว็บไซต์เด็กดีได้คัดเลือกให้นิยายเรื่องนี้เป็น book of the month ประจำเดือนมีนาคม และได้สัมภาษณ์นักเขียน(มือสังหารแห่งรัตติกาล) ว่าเป็นสาวน้อยวัยมัธยมที่มีความถนัดด้านการว่ายน้ำ แต่เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก แม้กระนั้นเพื่อนฝูงก็ติดใจและทวงถามให้แต่งนิยายให้อ่านกันบ่อยๆ

    ในที่สุดผมจึงตัดสินใจจ่ายเงินเพื่อแลกกับ “นักรบแห่งมังกร” เล่มนี้

     

    เนื้อเรื่องของ “นักรบแห่งมังกร” เป็นเรื่องราวของเจ้าหญิงแห่งโลกปิศาจ ซึ่งที่จริงนางเอกเป็นลูกครึ่งมนุษย์กับปิศาจ เพราะเมื่อสงครามระหว่างมนุษย์และปิศาจยุติลง ทำให้แต่ละฝ่ายต้องส่งตัวประกันไปอยู่ที่อีกโลกหนึ่ง ฝ่ายมนุษย์ส่งเจ้าชาย ฝ่ายปิศาจส่งเจ้าหญิงมาแลกเปลี่ยนกัน เวลาผ่านไป ราชาของมนุษย์สิ้นพระชนม์ ฝ่ายปิศาจจึงบุกชิงตัวเจ้าหญิงกลับมาโดยหารู้ไม่ว่าพระองค์ทรงครรภ์กับเจ้าชายชาวมนุษย์แล้ว เหตุการณ์นี้ทำให้มนุษย์ต้องขัดแย้งกับปิศาจอีกครั้ง จากนั้นเจ้าหญิงนามเทเซเลีย (เมื่ออยู่โลกมนุษย์ใช้ชื่อว่า “เทเชีย”) จึงประสูติ ตามคำทำนาย พระนางคือผู้ปลดปล่อยที่จะทำให้สงครามยุติ ...

    ฝ่ายมนุษย์เฝ้าตามหาผู้ปลดปล่อยมานานแสนนานโดยไม่ได้รู้เลยว่าพระองค์อยู่ในโลกปิศาจ ทว่าอยู่มาวันหนึ่งเมื่อเจ้าหญิงองค์น้อยเจริญชันษาขึ้นเป็นวัยรุ่น พระองค์เกิดความต้องการที่จะเดินทางมายังโลกมนุษย์โดยไม่ทราบสาเหตุ และนั่นก็คือจุดกำเนิดของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น พระองค์ต้องใช้เวทมนตร์แปลงร่างให้เป็นชายเพื่อความปลอดภัยด้วย

    เพียงไม่กี่หน้าแรกดูเหมือนว่าเรื่องราวจะดำเนินไปได้อย่างสวยงาม ผมรู้สึกว่าอาจมีการผจญภัย ต่อสู้ และมีความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และปิศาจให้เห็นบ้างตามเนื้อเรื่องที่ได้เกริ่นไว้ แต่สุดท้ายเจ้าหญิงก็คงจะเป็นผู้สร้างสันติภาพจนจบเรื่องได้ตามสูตรสำเร็จของเรื่องแนวนี้ อาจมีการสร้างมุกตลกหรือฉากรักตามเงื่อนไขของการปลอมตัวเป็นชายที่ได้สร้างไว้ แต่ “นักรบแห่งมังกร” ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย สิ่งที่ผมคาดเดาไว้ผิดทั้งหมด อาจฟังดูดีที่นักเขียนทำให้ผู้อ่านหลงทาง แต่ขอโทษครับ นี่ไม่ใช่นิยายแบบหักมุม แต่เป็นนิยายแบบ “หักแนว” คือเปลี่ยนแนวจากนิยายแฟนตาซีแนวผจญภัย เรียนรู้และเติบโต กลายเป็นนิยายแฟนตาซีแนวโรงเรียนอย่าง “แฮรี่ พอตเตอร์” ไปเสียได้ เมื่อเจ้าหญิงเดินทางมาถึงโลกมนุษย์แล้วต้องเข้าร่วมการประลองอย่างไม่ตั้งใจแต่กลับได้รางวัลที่หนึ่ง ซึ่งนั่นคือสิทธิ์การเข้าเรียนในโรงเรียนเวทมนตร์ที่ทุกคนต่างมีมังกรเป็นสัตว์เลี้ยงและเป็นพาหนะ เจ้าหญิงเองก็มี “ฟ็อก” มังกรสายพันธุ์รัตติกาลที่หายากเป็นเพื่อนแล้วอยู่ตัวหนึ่ง

    แน่นอนว่าแฟนตาซีโรงเรียนก็คงไม่ได้มีอะไรเสียหายหากจะมีความสมเหตุสมผล แต่สิ่งนี้ดูจะหาได้ยากจากนิยายเรื่องนี้ กลิ่นของความไม่น่าเชื่อเริ่มโชยมาตั้งแต่เจ้าหญิงเกิดอยากจะมาโลกมนุษย์อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย รางวัลที่หนึ่งของการประลองเหล่านักฆ่า (ซึ่งอันที่จริงพวกเขาควรจะปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้ใครรู้จัก) กลับเป็นสิทธิ์ในการเข้าเรียนโรงเรียน แม้จะเป็นโรงเรียนเวทมนตร์ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งก็ตาม แต่ถ้าผมเป็นนักฆ่าพวกนั้น ผมคงไม่เลือกเข้ามาประลองเสี่ยงตายเพื่อแลกกับการได้เข้าโรงเรียนเป็นแน่

    หลังจากนั้นความไม่น่าเชื่อยังตามติดมาอย่างไม่หยุดยั้งจนจบเล่ม ไม่ว่าจะเป็นเหล่ารุ่นพี่ที่เอาแต่เล่นโดยไม่แสดงความเป็นผู้นำ เจ้าหญิงที่แสดงความเย็นชามาตลอดแต่จู่ๆ ก็เกิดตรัสว่าอยากจะปกป้องโลก นอกจากนี้พระองค์ยังมีอาชีพเป็นนักฆ่าตามใบสั่งขององค์กร ซึ่งเคยตรัสให้เหตุผลไว้ในหน้า 106 ว่า ที่เราเป็นนักฆ่าก็เพื่อจะแข็งแกร่งขึ้น แข็งแกร่งกว่าใครๆ แข็งแกร่งมากพอจะทำทุกอย่างได้ แต่การที่เจ้าหญิงจะมาเป็นนักฆ่าดูขัดกับฐานะของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ถ้าอยากเข้มแข็งก็อาจฝึกฝนอย่างอื่นเช่นเป็นนักรบโดยให้ทหารหรืออัศวินในวังฝึกให้ก็ได้ นอกจากนี้ในตอนต้นเรื่องพระองค์ตรัสกับเสด็จแม่ว่า “ท่านก็คงรู้ว่าไม่มีหวัง” เมื่อถูกถามว่าท่านตาที่เป็นปิศาจอนุญาตให้ไปอยู่โลกมนุษย์หรือไม่ หากไม่อนุญาตให้ไปอยู่โลกมนุษย์เพราะเกรงกลัวอันตราย เรื่องการจะให้เป็นนักฆ่าคงเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้น

    อีกทั้งนักฆ่าคนอื่นยังยอมรับนับถือในฝีมือด้วย ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเคยได้พบกันมาก่อน ในบทที่มีการประลองเหล่านักฆ่า เทเชียเปรยไว้ว่ารู้ถึงอันดับนักฆ่าของผู้ประลองกับไคร์ เพื่อนของตน เพราะ “ชื่อนี้ก็เป็นที่แพร่หลาย”และผู้เขียนไม่ได้บรรยายไว้อีกว่าเจ้าหญิงเคยรู้จักกับนักฆ่าเหล่านี้เป็นการส่วนตัว จนกระทั่งในช่วงท้ายของเล่มที่ต้องไปปฏิบัติภารกิจของนักฆ่า เหล่านักฆ่าที่เคยปรากฏตัวในการประลองช่วงต้นเรื่องก็กลับมาแสดงความนับถือเจ้าหญิงราวกับเคยรู้จักกันมานาน เมื่อเจ้าหญิงทรงปฏิบัติภารกิจจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่นานก็สามารถลุกขึ้นมาพูดได้เหมือนคนปกติทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการรักษาแต่อย่างใดทั้งสิ้น

    ในด้านของความรักก็สุดเหลือเชื่อ เจ้าหญิงเทเชียคงจะต้องได้รักกับเจ้าชายเซอัสผู้ซึ่งมีนิสัยแสนเย็นชาเช่นเดียวกัน ดูเหมือนว่าเจ้าชายจะให้ความช่วยเหลือและเอ็นดูเจ้าหญิงอยู่ภายในสีหน้าที่ไม่แสดงอารมณ์นั้นอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มีเหตุการณ์หรือการแสดงออกใดๆ ที่แสดงให้เห็นได้ว่าทั้งคู่จะมีพัฒนาการด้านความรักได้ในเมื่อเย็นชาใส่กันอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งเทเชียอยู่ในร่างผู้ชายโดยที่ไม่มีใครสักคนที่ล่วงรู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นหญิง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเจ้าชายเซอัสกลับนำสร้อยที่แสดงถึงการหมั้นหมายไปสวมให้เทเชีย สร้างความงุนงงสงสัยให้กับผู้อ่านอย่างยิ่งยวด

    ส่วนเรื่องของภาษา แม้จะไม่มีภาษาวิบัติและอิโมติคอน แต่ก็มีการใช้ซาวด์เอฟเฟคแบบหนังสือการ์ตูนเช่น ฟ้าว!!! เคร้ง!!! กึก!!! ตึง!!! ในด้านหนึ่งก็อาจช่วยให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวที่นำเสนอได้ แต่ก็ควรจะสลับกับการบรรยายในเชิงพรรณนาให้เห็นภาพด้วย การมีซาวด์เอฟเฟคจำนวนมากเกินไปกลับดูน่ารำคาญและไม่สามารถจินตนาการถึงท่าทางของตัวละครได้เท่าที่ควร นอกจากนี้ยังใช้อัศเจรีย์ครั้งละสามตัว ทั้งๆ ที่ควรใช้เพียงตัวเดียวเท่านั้น

    การบรรยายทั้งฉากและตัวละครไม่ทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพที่ชัดเจน มีเพียงสีตา สีผม และ “เสียงเรียบ เสียงเย็น” “ร่างบาง ร่างสูง” เท่านั้น ที่เป็นคำบ่งชี้ลักษณะของตัวละครแต่ละตัว บางครั้งผู้อ่านก็จำไม่ได้ว่าตัวละครตัวไหนตาหรือผมสีอะไร หรือ “เสียงเย็น” แปลว่าอะไร เป็นต้น ในด้านของฉากก็เป็นการบรรยายอย่างกว้างๆ พอให้ได้เห็นภาพอย่างเลือนรางเท่านั้น

     

    เคยมีคนกล่าวกับผมว่าบทวิจารณ์ไม่อาจเป็นบทวิจารณ์ที่ดีได้หากเอาแต่ติและไม่ชี้ทางว่าผู้เขียนควรจะปรับปรุงอย่างไร ในเบื้องต้นผมขอแนะนำว่า เจ้าหญิงก็เป็นนักฆ่าได้ และเป็นนักฆ่าที่เก่งได้ หากมีเหตุการณ์หรือคำชี้แจงที่อธิบายที่มาของความเก่งนั้น เช่น เนื่องจากเป็นเจ้าหญิงแห่งโลกปิศาจจึงไม่ได้รับการเลี้ยงดูเฉกเช่นมนุษย์ กลับต้องเป็นนักฆ่าเพื่อฝึกจิตใจให้โหดเหี้ยม และทรงได้รับการฝึกอย่างสาหัสมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เช่นนี้จึงเป็นที่มาของความเป็นนักฆ่าที่เก่งกาจอย่างมีเหตุผล

    เจ้าชายผู้เย็นชาก็รักเจ้าหญิงในร่างชายได้ หากมีเหตุการณ์ให้เจ้าชายทรงสงสัยว่าเพื่อนชายที่เห็นอาจไม่ใช่ชายแท้ และมีเหตุการณ์ที่นำไปสู่พัฒนาการของความรัก เช่นมีเหตุการณ์ที่ทำให้เวทมนตร์อำพรางร่างกายเสื่อมลง และมีเหตุการณ์ที่ทำให้เจ้าหญิงตกอยู่ในอันตราย ต้องให้เจ้าชายไปช่วย หรือกลับกัน เจ้าหญิงต้องช่วยเจ้าชาย การบรรยายว่าทั้งสองฝ่ายยังมีทีท่าที่เย็นชาก็ทำได้ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้อ่านเห็นถึงความรักที่เติบโตอยู่ในจิตใจของทั้งสองคน

    ตัวละครอื่นๆ ก็ควรจะมีบทบาทมากขึ้น เช่นเพื่อนๆ ในชั้นเรียน รุ่นพี่ หรือเหล่ามังกร ตลอดจนอาจารย์ เพราะจะเป็นนิยายโรงเรียนไปไยในเมื่อไม่มีฉากการเรียนการสอนที่เห็นได้เด่นชัด หรือจะเป็นนิยายเรื่อง “นักรบแห่งมังกร” ไปไยในเมื่อเหล่ามังกรได้แต่ร้องกรี๊ดและปล่อยลูกพลัง (ที่มังกรต่างเผ่ากลับไม่มีความแตกต่างกันเลย นอกจากสีของลูกพลัง)

    นอกจากนี้ก็ควรจะพรรณนาให้เห็นภาพมากขึ้น เช่นในฉากที่เป็นถ้ำก็ควรพรรณนาถึงรายละเอียดของถ้ำ เช่นมีขนาดใหญ่แค่ไหน เพดานถ้ำสูงแค่ไหน มืดจนมองไม่เห็นอะไรหรือมีแสงรำไรเข้ามาบ้าง มีหินงอกหินย้อยหรือไม่ รูปร่างสวยงามหรือน่ากลัวอย่างไร มีธารน้ำใต้ดินไหลผ่านหรือไม่ มีสิ่งมีชีวิตอะไรอาศัยอยู่หรือเปล่า ถ้ามี เป็นอันตรายไหม เป็นต้น การบรรยายถึงฉากต่างๆ หากผู้เขียนไม่เคยไปเยือนสถานที่จริง อาจค้นคว้าจากหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตได้

    อย่างไรก็ตาม “นักรบแห่งมังกร” เพิ่งวางจำหน่ายเพียงภาคปฐมบท จึงหวังว่าภาคต่อไปผู้เขียนจะพัฒนาการเขียนได้ดีขึ้น

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×