ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #7 : เมื่อเขาบอกว่า ผมมันโรคจิต!

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 269
      0
      9 ส.ค. 55

    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/silent_salva/story/view.php?id=475840

                เมื่อเขาบอกว่า ผมมันโรคจิต!  ของ ไซเลนท์  นับว่าเป็นเรื่องสั้นระทึกขวัญที่แปลกกว่าวรรณกรรมออนไลน์เรื่องอื่นๆที่เคยอ่านในเว็บเด็กดี  แม้ว่าเรื่องราวที่นำเสนอจะเป็นเรื่องของเด็กชายและเด็กหญิงชั้นมัธยมปีที่ 3 คู่หนึ่ง ที่รู้สึกแปลกแยกทั้งจากครอบครัวของตนและเพื่อนๆ ที่โรงเรียน   ฉากส่วนใหญ่จะมีเพียงโรงเรียน และบ้าน และเรื่องก็มีความยาวเพียง 13 ตอนจบ  แต่ผู้เขียนก็สามารถสร้างบรรยากาศให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความเปลี่ยวเหงาและแปลกแยกของตัวละครได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกให้ตัวละครเอกทั้งสองบรรยายความรู้สึกของตัวเองผ่านกระแสสำนึกของตัวละคร (stream of consciousness) ที่สะท้อนอารมณ์ดิบและด้านมืดของจิตใจได้อย่างโดดเด่นและน่าสนใจ  โดยเฉพาะฉากที่ กัญ หรือ ศตวรรษ บรรยายถึงความรำคาญเสียงร้องไห้ในยามดึกของกานดาน้องสาววัยทารกของตน  จนตัดสินใจที่จะตีให้เงียบด้วยไม้เบสบอล และฉากบรรยายถึงความเจ็บป่วยทางร่างกายของกัญในตอนที่ 12   ขณะเดียวกันการเลือกใช้มุมมองของบุรุษที่ 1 นั้น  ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสภาวะอารมณ์ของตัวละครทั้งสองได้ว่าพวกเขารู้สึกกับคนรอบข้างอย่างไร  ซึ่งก่อให้เกิดความสงสาร กัญอย่างมากที่เขาต้องกลายเป็นเช่นนี้ เพราะการถูกรังแกจากคนรอบข้างจริงๆ จนเป็นสาเหตุให้เขาทนป่วยโดยไม่ยอมบอกแม่เพื่อรักษาตัว เพราะเขาอยากตายไปจากโลกที่ไม่น่าอยู่ใบนี้

              แม้ว่าการบรรยายจะช่วยทำให้ผู้อ่านเข้าถึงอารมณ์ส่วนลึกของตัวละครได้ดีพอสมควร   แต่บางครั้งเหตุผลที่ผลักดันให้ตัวละครนำเสนอด้านมืดของจิตใจตนเอง ก็ยังไม่สมเหตุผลเท่าใดนัก จนรู้สึกว่าตัวละครสะท้อนอารมณ์ที่รุนแรงเกินกว่าเหตุหรือไม่  โดยเฉพาะฉากที่ ฉันอยากจะเอาคัตเตอร์กรีดหน้าเพื่อน เพียงเพราะว่าเธอยืนบังกระดานดำโดยไม่หลบเมื่อ ฉัน ขอร้องเท่านั้น  และยังจินตนาการถึงฉากที่ได้ลงมือทำจริงๆ   จึงเห็นว่าปฏิกิริยาทางอารมณ์ของ ฉันที่แสดงออกมานั้นยังขาดความสมเหตุผลอยู่  แต่ถ้าเปลี่ยนคนที่รู้สึกอยากทำร้ายเพื่อนเป็น กัญ ในฉากเดียวกันน่าจะสมเหตุผลมากกว่า เพราะ กัญ ถูกเพื่อนรุมทำร้าย จึงไม่แปลกที่เขาจะคิดแก้แค้นให้สาสมแม้จะเป็นเพียงในจินตนาการก็ตาม 

              ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนไม่จำเป็นต้องสร้างให้ ฉัน เป็นเด็กมีปัญหาเช่นเดียวกับ กัญ  เพื่อให้เป็นเหตุผลที่ชักนำให้เขาทั้งสองกลายเป็นเพื่อนกันก็ได้  เพราะบทบาทและปัญหาของ ฉัน เมื่อเทียบกับกัญแล้วจะต่างกันอย่างมาก จนดูเหมือนว่ากัญจะกลบบทบาทของ ฉัน ไปเกือบหมด  จึงเห็นว่าถ้าสร้าง ฉัน เป็นตัวละครปกติ และมีจิตใจอ่อนโยนสงสารกัญ เพื่อนที่ถูกรุมทำร้าย    จนรู้สึกอยากเป็นเพื่อนกับกัญ  ก็น่าจะช่วยส่งให้ ฉัน เป็นตัวละครที่มีบทบาทและตัวตนในเรื่องเด่นเท่าๆกันกัญได้  อีกประการหนึ่งคือการที่ผู้เขียนกำหนดให้สองคนนี้มาเป็นเพื่อนกันก็ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาชีวิตที่เหมือนกัน  แต่เป็นเพราะหนังสือเรื่อง The Dark Tower ของ สตีเฟน คิง ต่างหากที่เป็นจุดกำเนิดความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่  จนขยายมาสู่มิตรภาพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกันเรื่องการอ่าน แนะนำการเขียนนิยาย  และเป็นเพื่อนกลับบ้านด้วยกัน

    ความน่าสนใจของเรื่องนี้อีกประการหนึ่งคือ การเลือกใช้กลวิธีแบบ เรื่องซ้อนเรื่อง หรือ Metafiction  ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นของเรื่องที่สามารถสร้างความฉงนให้ผู้อ่านตอนจบได้ว่า แท้ที่จริงแล้วรื่องที่คิดว่าจริงนั้นกลายเป็นเรื่องแต่งไปทั้งหมด  แม้ว่ากลวิธีดังกล่าวจะเป็นที่นิยมมากขึ้น  โดยเฉพาะในงานเขียนของนักเขียนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือนิยาย เช่น งานของ ปราบดา  หยุ่น หรือ ศิริวร  แก้วกาญจน์  แต่ยังไม่ค่อยพบการใช้กลวิธีการเขียนเช่นนี้ในงานออนไลน์เท่าใดนัก  การเฉลยวิธีเขียนในบทที่ 13 นับว่าเป็นการสร้างจุดหักมุมให้กับเรื่องอย่างน่าสนใจ  แต่ผู้วิจารณ์เห็นว่าการทำให้วิธีการดังกล่าวสมบูรณ์มากขึ้น โดยนำฉากเปิดของบทนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งในตอนจบ (ตอนที่ 13)นั้น   ผู้เขียนน่าจะนำบทบรรยายเดิมที่เป็นบทนำมาใช้เลย  หากจะทำเป็นรอยแก้โดยใช้ขีดฆ่าก็สามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ แต่ต้องให้ถ้อยคำที่เหลืออยู่เหมือนกับบทนำ  เพราะเท่าที่ปรากฏในเรื่องนั้นยังมีคำบางคำที่ต่างกันระหว่างบทนำ กับบทที่ 13

    ผู้วิจารณ์ยังเห็นว่าการเสนอเรื่องซ้อนเรื่องของผู้เขียนยังไม่เนียนนัก  เพราะบางครั้งจะพบ กัญ ในสองบุคลิกที่ต่างกัน คือ กัญที่เป็นตัวละครในเรื่อง กับ กัญที่เป็นต้นแบบแรงบันดาลใจของ ฉัน  บ่อยครั้งที่ผู้เขียนลืมและปล่อย กัญ ตัวจริงออกมา  โดยเฉพาะฉากที่ กัญ เริ่มคุยและสนิทกับ ฉัน และเมื่อ กัญ กลับไปอยู่ในโลกส่วนตัวของเขา  กัญ ที่เป็นตัวละครจึงกลับมามีบทบาทอีกครั้ง  ซึ่งบุคลิกและลักษณะนิสัยของ กัญ ที่ต่างกันนี้เองสร้างความสับสนให้กับผู้อ่านไม่น้อย  ว่าแท้จริงแล้ว กัญ เป็นคนปิดกั้นตัวเอง หรือเปิดเผยกันแน่  และยิ่ง กัญ ตัวจริงออกมาบ่อยครั้งเพียงใด  ก็ยิ่งลบความน่าเชื่อถือของ กัญ ตัวละครที่ผู้เขียนสร้างไว้ตั้งแต่ต้น ว่าให้เป็นคนปิดกั้น  โดดเดี่ยว เหงา และอยากตายมากขึ้น  จะเห็นได้ว่าเมื่อ กัญ มีสองคน  การแสดงออกของ ฉัน ต่อกัญในช่วงหลังๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ฉัน เริ่มชอบกัญนั้น  กัญคนที่ ฉัน ชอบน่าจะเป็น กัญ ในชีวิตจริงมากกว่ากัญที่เป็นตัวละคร ดูเหมือนว่าตอนท้ายๆของเรื่องสั้นเรื่องนี้จะเป็นจดหมายสารภาพรักที่ ฉัน มีต่อกัญไปพร้อมกันด้วย  เมื่อจุดเน้นเปลี่ยนไปก็ส่งผลให้เรื่องสั้นที่นำเสนอมาตั้งแต่ต้นเบี่ยงประเด็นไปอย่างน่าเสียดาย  แม้ว่า กัญ ตัวจริงจะมีความสำคัญในช่วงท้ายของเรื่อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์กับ ฉัน ให้งอกเงยต่อไปก็ตาม

    ข้อน่าสงสัยเมื่ออ่านเรื่องนี้จบลง คือ  ครูที่โรงเรียนนี้ไม่มีบทบาทใดๆ เลยหรือ ในวิชาที่ต้องเรียนก็ไม่มีครูมาสอน หรือออกไปข้างนอกห้อง ปล่อยให้เด็กแกล้งเพื่อนได้ตามอำเภอใจ  หรือตอนพักกลางวันก็ไม่มีครูสักคนเลยหรือที่อยู่ในโรงเรียน  และห้องพยาบาลก็ยังไม่มีครูเวร ปล่อยให้เด็กกลุ่มหนึ่งมอมเหล้าเพื่อนคนหนึ่ง  และซ้อมเพื่อนอีกคนหนึ่งจนแขนซ้ายหักต้องหามส่งโรงพยาบาล ยิ่งกว่านั้น ผู้วิจารณ์รู้สึกเป็นห่วงเรื่องปฏิกิริยาทางอารมณ์ของเด็กมัธยมในเรื่องที่มีต่อครู  ซึ่งรุนแรงและน่ากลัวมาก ทั้งๆที่ครูก็ไม่ได้ทำอะไรที่รุนแรงจนถือว่าเป็นการกระตุ้นอารมณ์ใดๆ ได้เลย  เช่น ฉากที่ครูชาวฟิลิปปินส์กำลังสอนอยู่หน้าห้อง แล้วเด็กคนหนึ่งรู้สึกอยากเอา มีดมาเฉือนปากบางๆที่พูดไม่หยุดนั้น และอีกคนหนึ่งที่ อยากฆ่าครูที่สอนบ้าอะไรไม่รู้เรื่อง น่ารำคาญ  หรือแม้แต่เด็กประถมหนึ่งที่รู้สึกเกลียดพี่ชายตนเองอย่างรุนแรงมาก จนอยากให้พี่ตาย โดยเฉพาะฉากที่ กัญ ถูก ไกด์ พี่สาวตบหน้า จึงไม่แปลกที่กัญจะเสียใจและบอกว่า ผมเกลียดพี่ และแม้ กิต น้องชายวัย 6 ขวบที่เห็นเหตุการณ์จะรู้สึกโกรธแทนพี่สาวที่ถูกต่อว่า ก็ไม่น่าจะถึงกับตะโกนใส่หน้าพี่ชายว่า ผมเกลียดพี่กัญ ผมเกลียดพี่ ผมเกลียดพี่ จะไปตายที่ไหนก็ไป!”  เพราะคนที่ถูกทำร้ายร่างกายจริงๆ คือกัญไม่ใช่ไกด์

    อย่างไรก็ดี  นับว่าเรื่องนี้มีความน่าสนใจและแปลกกว่าเรื่องแนวโรงเรียนโดยทั่วไป  ตรงที่เรื่องเน้นด้านมืดของจิตใจตัวละครอย่างเข้มข้น  (จนออกจะน่ากลัวว่าจะกลายเป็นตัวอย่างต่อไป)   แต่ก็น่าเสียดายว่า ในช่วงสุดท้าย เรื่องดูจะแกว่งๆออกไปจากแก่นเรื่องเดิมที่วางไว้เป็นอย่างดีแล้ว

     

    ---------------------

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×