ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #121 : Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์

    • อัปเดตล่าสุด 10 ต.ค. 57


    Tale of Eventide  พันธนาอัตตานิรันดร์

    http://my.dek-d.com/scarlet-pride/writer/view.php?id=791606

    นวนิยายแฟนตาซีเรื่อง Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์  ของ The Roundtable  ซึ่งโพสต์ถึงตอนที่ 13  เป็นการเล่าถึงตำนานของยักษ์หนุ่มตนหนึ่งที่ชื่อ โฮชิโนะ  ชิน  ผู้มีชะตากรรมซับซ้อนและกุมความลับสำคัญๆ จนเป็นที่หมายปองของคนจำนวนมากที่ต้องการให้เขาไขความลับนั้นออกมา  แต่วันหนึ่งเขาได้ทำสัญญากับวิญญาณนักรบทั้ง 6 เพื่อให้ได้ครอบครองบัลลังก์แห่งราชันย์  ซึ่งเขามีเวลาในการปฏิบัติพันธกิจที่สัญญาให้สำเร็จอย่างจำกัดเพียง 12 เดือนเท่านั้น ไม่เช่นนั้นเขาจะต้องจ่ายค่าตอบแทนในครั้งนี้ด้วยชีวิตของตนเอง  

    Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์   นับเป็นนวนิยายที่มีโครงเรื่องซับซ้อน  เพราะนอกจากจะมีโครงเรื่องหลัก (main plot) คือการปฏิบัติพันธกิจของ โฮชิโนะ ชิน ที่สัญญาไว้กับวิญญาณนักรบทั้ง 6 ให้สำเร็จในเวลาอันจำกัดแล้ว  The Roundtable  ยังสร้างโครงเรื่องย่อย (sub plot) ขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก  เพียงแค่ 13 ตอน ก็มีโครงเรื่องย่อยนับสิบโครงเรื่อง  อาทิ  (1) กรรมผูกพันของชินที่ต้องตามหาคน 3 คน คือ คู่กรรม คู่แท้ และ คู่ลิขิต  (2) หน้าที่ของเทพเจ้าธอร์ที่ต้องตามหาดวงวิญญาณ 108 ดวงที่หนีมาจากวัลฮัลลาให้พบและนำกลับไป  (3) ความรักความแค้นระหว่างฌ้อปาอ๋องเซี่ยงหวี หยูจีน (หรือ ชิน ในชาติปัจจุบัน) กับ หลิวปัง (หรือ จีเฟ่น ในชาติปัจจุบัน)    (4) พันธกิจที่ฌ้อปาอ๋องเซี่ยงหวีตั้งใจจะทำให้ชินจำได้ว่าตัวเขาเองคือหยูจีภายใน 12 เดือน  (5)  ชะตาชีวิต  ความผูกพัน และความลับระหว่างชินกับฌาน  (6) ความบังเอิญที่คนจากนอร์สหลายกลุ่มมาหาชิน เพราะอยากทราบเบาะแสของฌาน ไม่ว่าจะเป็น ธอร์ ยอร์มุนกานดร์  เฮลา  และ วิญญาณนักรบ  (7) เฮลากับการตามหาฌานเพื่อปลดปล่อยเธอจากพันธนาการแห่งโอดิน และปลดปล่อยโลกนี้จากลิขิตฟ้า  (8) แผนการเบื้องหลังของเซิร์ทและโลกิในการจ้างวิญญาณนักรบให้ตามหาฌาน  (9) ชินกับพันธกิจที่ต้องกระทำตามต้นตระกูลยักษ์ของตนที่ต้องสาปมนุษย์ในเมืองอากาเนะ  ที่ต้องฆ่าชาวอากาเนะเพื่อล้างแค้นให้กับบรรพบุรุษ แต่ขณะเดียวกันเขากลับเป็นคนที่ชาวเมืองอากาเนะยกให้เป็นเจ้าเมือง เพราะเขาสาบานว่าจะปกป้องเมืองนี้และปกป้องมนุษย์ในเมืองนี้ด้วย    (10) ชินต้องตามหานักดนตรีจากตระกูลหลักของเมืองทั้ง 4 ตนเพื่อมาเล่นดนตรีเพื่อบูชาเทพเจ้าประจำเมืองภายใน 2 สัปดาห์    การสร้างโครงการย่อยปริมาณมากมากเช่นนี้  ในทางหนึ่งช่วยให้เนื้อหาของเรื่องมีความหลากหลายและน่าสนใจ  แต่ในอีกทางหนึ่ง  เมื่อมีปริมาณมากเกินไปอาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของเรื่องได้  กล่าวคือโครงเรื่องย่อยเหล่านี้ถูกลดทอดความของโครงเรื่องหลักที่ผู้เขียนต้องการสื่ออย่างน่าเสียดาย   ขณะเดียวกันยังขัดจังหวะให้การดำเนินโครงเรื่องหลักสะดุดเป็นระยะๆ  จนบางครั้งดูเหมือนว่าโครงเรื่องหลักดังกล่าวแทบจะไม่จะเดินเลยก็ตาม  ขณะเดียวกันก็น่าเป็นห่วงว่า The Roundtable  จะร้อยเรียงประเด็นที่นำเสนอในโครงเรื่องย่อยๆ ที่เปิดไว้จำนวนมากทั้งหมดเข้ากับโครงเรื่องหลักได้อย่างแนบสนิทได้อย่างไร    จึงเห็นว่าวิธีแก้ง่ายๆ คือ The Roundtable  อาจจะต้องเลือกตัดโครงเรื่องย่อยบางเรื่องที่ยังไม่สำคัญกับโครงเรื่องหลักออกไปเสียบ้าง   หรือถ้าคิดว่าทุกโครงเรื่องย่อยที่นำเสนอสำคัญกับนวนิยายเรื่องนี้  ก็คงต้องทิ้งระยะการเปิดโครงเรื่องย่อยแต่ละเรื่องไม่ให้กระชั้นและถี่เช่นนี้  และอาจจะต้องค่อยๆ ปิดประเด็นที่เปิดในโครงเรื่องย่อยลงบ้าง  ก่อนที่จะเปิดโครงเรื่องย่อยใหม่ๆ ขึ้นมา

    ในประเด็นนี้ก็เช่นกัน  ผู้วิจารณ์เห็นว่า  The Roundtable  เปิดโครงเรื่องหลักหลายๆ เรื่องในเวลาใกล้ๆ กันมากเกินไป  ในขณะที่โครงการเรื่องหลักยังดำเนินไปน้อยและไม่ชัดเจนพอที่จะทำให้ผู้อ่านจดจำได้  เมื่อถูกโครงเรื่องย่อยที่สนุกสนานและหลากหลายมาแทรกอยู่เป็นระยะๆ อาจทำให้ผู้อ่านลืมโครงการเรื่องที่นวนิยายเรื่องนี้ต้องการเสนอได้ไม่ยากนัก   แม้ว่าโครงเรื่องย่อยทั้งหมดที่  The Roundtable  สร้างขึ้นส่วนใหญ่นั้นเพื่ออธิบายขยายความเรื่องราวและความเป็นไปในชีวิตของโฮชิโนะ  ชินก็ตาม  ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า The Roundtable  อาจจะต้องทบทวนและวางแผนเพื่อสร้างสมดุลของจังหวะในการดำเนินเรื่องระหว่างโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยอีกครั้งก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้  ซึ่งจะช่วยสร้างให้เกิดความกลมกลืนได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

    ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้อีกประการหนึ่งคือ  การสร้างเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า (metafiction)  กล่าวคือ  ขณะที่อ่านนวนิยายเรื่องนี้  ผู้อ่านไม่ได้อ่านกังอ่านเรื่องของ ฮิชิโนะ ชิน โดยตรง  แต่กำลังอ่านเรื่องเล่าของชายคนหนึ่งที่เล่าเรื่องของ ฮิชิโนะ ชิน ให้เด็กกลุ่มหนึ่งฟัง  แม้ว่าในตอนเปิดเรื่อง The Roundtable  กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจน  เมื่ออ่านๆ ไป  ผู้อ่านมักจะลืมไปว่ากำลังอ่านเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าอยู่  อาจจะด้วยด้วยความเนียนของการเล่าเรื่อง  แต่ The Roundtable   ก็จะกระตุ้นเตือนให้ผู้อ่านตระหนักในประเด็นนี้อยู่เป็นระยะๆ  อย่างไรก็ดี  ผู้วิจารณ์เห็นว่า The Roundtable  ยังใช้เทคนิคสร้างเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก  เนื่องจากนักเขียนส่วนใหญ่ที่เลือกใช้กลวิธีนี้ในการแต่งเรื่องเพื่อสร้างระยะห่างระหว่างผู้อ่านกับเรื่องที่อ่านให้มากขึ้น  ซึ่งผู้อ่านต้องตระหนักรู้ถึงระยะห่างที่ว่านี้อยู่ตลอดเวลาที่อ่าน  หรือบางครั้งก็จะนำมาเพื่อใช้เป็นการสร้างมุมมองใหม่ของการเล่าเรื่อง  เช่นอาจจะให้ตัวละครในเรื่องวิพากษ์การเขียนของนักเขียนซ้อนในเรื่องที่เล่าอีกครั้งหนึ่ง   แต่ในเรื่องนี้ผู้อ่านกลับรู้สึกว่าอ่านเรื่องเล่าปกติ  โดยมักจะไม่ค่อยตระหนักว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า  หาก The Roundtable  ไม่คอยกระตุ้นเตือนเป็นระยะๆ  ทั้งนี้  สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าของนวนิยายเรื่องนี้อย่างชัดเจนที่สุดคือ ชื่อเรื่องที่ The Roundtable   จงใจให้ชื่อว่า Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์   เพราะคำว่า “Tale of Eventide” หมายถึง เรื่องเล่ายามพลบค่ำ หรือถ้าเป็นเรื่องที่เล่าให้เด็กๆ ฟังดังในเรื่องนี้  ก็อาจจะนับว่าเป็นนิทานก็นอนได้ ส่วนวลีที่ว่า “พันธนาอัตตานิรันดร์” ในที่นี้มีความหมายถึง โฮชิโนะ ชิน  เพราะชีวิตของเขาจึงไม่ต่างจากการถูก “พันธนาการตัวตน (หรืออัตตา) ชั่วนิรันดร์”   ที่ต้องประสบชะตากรรมมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย  ที่ชีวิตของเขาถูกพันธนาการติดกับฌาน  คนที่เขาต้องอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อปกป้อง  ในฐานะผู้พิทักษ์แห่งฌาน  ซึ่งเขามิอาจหลีกเลี่ยงได้   ดังนั้นความหมายที่แท้จริงของชื่อเรื่อง  Tale of Eventide พันธนาอัตตานิรันดร์   ก็คือ เรื่องเล่าตอนพลบค่ำที่เกี่ยวกับ ฮิชิโนะ  ชิน นั่นเอง

    โทนของเรื่องเมื่อ The Roundtable  เปิดเรื่องด้วยบทสรุปในชีวิตของ ฮิโรเนะ ชิน ที่นำเสนอด้วยโทนที่หม่นเศร้า  เป็นชีวิตของชายหนุ่มที่น่าสงสารต้องพบกับความผิดหวังและความเจ็บช้ำครั้งแล้วครั้งเล่า  ทำให้ผู้อ่านทำใจที่จะยอมรับว่าเมื่อเปิดอ่านเรื่องต่อๆ ไปจะพบชีวิตที่แสนรันทดของหนุ่มน้อยคนนี้  แต่  The Roundtable  กลับพลิกโทนเรื่องทั้งหมดจากเรื่องที่หม่นเศร้ากลายเป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และความสนุกสนาน  แม้ว่าจะมีบางฉากบางตอนที่แทรกความโศกเศร้าไว้ด้วย  แต่ก็นับเป็นส่วนน้อยของเรื่อง  จนในตอนแรกผู้วิจารณ์เคยตั้งคำถามกลับตัวเองว่า
    ฮิชิโนะ ชิน  ในฉากเปิดเรื่อง กับฉากต่อๆ มาเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่  แต่อย่างไรก็ดี  ผู้วิจารณ์คาดว่าเรื่องในช่วงต่อจากนี้อาจจะค่อยๆ ลดความสดใสและมีชีวิตชีวาของเขาลง   ขณะเดียวกระแสเรื่องอาจจะค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางไปสู่โทนหม่นเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้จบเรื่อง  หาก
    The Roundtable  ยังคงต้องการให้  ฮิชิโนะ ชิน  ต้องประสบกับชะตากรรมดังที่สรุปจุดจบไว้แล้วตั้งแต่ต้น     

    การสร้างบทบรรยาย  บทสนทนา  รวมทั้งการสร้างตัวละครในเรื่องโดยรวม  นับว่า The Roundtable   ทำได้เป็นอย่างดี  เพราะทั้งบทบรรยายและบทสนทนาไม่เพียงแต่ช่วยสร้างให้ตัวละครมีชีวิตชีวา  มีความโดนเด่น  น่าจดจำเท่านั้น   แต่ยังสร้างให้เรื่องราวมีความน่าสนใจและน่าอ่านด้วยภาษาที่ถักทอเรียงร้อยต่อกันอย่างลื่นไหล  หากจะมีสะดุดบ้างก็เพราะมีคำผิดแทรกอยู่ประปราย อาทิ  สาธารณชน  เขียนเป็น สาธารณะชน  กะพริบ  เขียนเป็น  กระพริบ   ผูกพัน   เขียนเป็น ผูกพันธ์   หยักศก  เขียนเป็น  หยักโศก   กะทันหัน  เขียนเป็น  กระทันหัน  อุปโลกน์   เขียนเป็น  อุปโลก  เวท เขียนเป็น   เวทย์   สวิตซ์   เขียนเป็น   สวิตร์  กลยุทธ์   เขียนเป็น  กลยุทธิ์    สัญชาตญาณ  เขียนเป็น  สัญชาติญาณ  สังเกต  เขียนเป็น   สังเกตุ  ทัศนียภาพ  เขียนเป็น  ทรรศนียภาพ  และ  กังวาน เขียนเป็น กังวาล   นอกจากนี้ยังมีการเลือกใช้คำพ้องเสียงผิด คือ  ต้องเพิ่งแม่นี่  (เพิ่ง หมายถึง ดำเนินกิริยานั้นไปไม่นาน เช่น เพิ่งจบ  เพิ่งนอน) แต่ประโยคที่ถูกต้องคือ  ต้องพึ่งแม่นี่  (พึ่ง หมายถึง อาศัย  พึ่งพิง)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×