ตอนที่ 1 : Korean I : เกาหลี 1 ยอดรักยอดปรารถนา
Korean I : ภาษาเกาหลี 1
รหัส 2225101
เอาล่ะ ในฐานะที่ดิชั้นเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ โทเกาหลี ก็จะขอเริ่มด้วยวิชาที่ทำให้นิสิตต้องหลั่งน้ำตา(เพราะลงไม่ได้)มานับต่อนักแล้ว ซึ่งจะใช้รูปแบบการบรรยายรีวิวเป็นเหมือนถาม-ตอบ FAQ นะคะ
หมายเหตุ : เป็นข้อมูลของ เทอม 1 ปีการศึกษา 2559
จำนวนเซค | 2 -3 เซค | ||
ความยากในการลง | Abyss | ||
เทอมที่เปิด | เทอม 1 | เทอม 2 | Summer |
เปิด | เปิด | - | |
เวลาที่มักจะได้ | บ่าย (13.00 - 16.00) หรือ ค่ำ (16.00 - 19.00) | ||
สถานที่เรียน | คณะอักษรศาสตร์ เซคบ่ายมักจะเป็นตึก BRK (บรมราชกุมารี) เซคค่ำมักจะเป็นตึก MCS (มหาจักรีสิรินธร) | ||
อาจารย์ที่สอน | ครูชาวไทย 2 ชั่วโมง (พาร์ทไวยากรณ์ ศัพท์) ครูชาวเกาหลี 1 ชั่วโมง (พาร์ทฟังพูด) | ||
เงื่อนไขวิชา | ไม่มี | ||
เงื่อนไขคุณสมบัติผู้เรียน | เป็นนิสิตภาคไทย ไม่ใช่อินเตอร์ | ||
ประเภทกลุ่มวิชา | เมื่อลงทะเบียนวิชานี้แล้วจะนับเป็น “วิชาโท / Gen-lang / เสรี” อย่างใดอย่างหนึ่งจ้ะ | ||
การตัดเกรด | (น่าจะ)อิงเกณฑ์และกลุ่ม | ||
การสอบ | Midterm | Final | Quiz ทั่วไป |
มี | มี | มี |
Q1 : ต้องมีพื้นฐานมาก่อนมั้ย แล้วจะเรียนไหวมั้ย ข้อสอบยากมั้ย? Get A ยากมั้ย?
A : ในส่วนพื้นฐานคือไม่ต้องมีจ้ะ เพราะจะเริ่มจากสระ พยัญชนะ ตัวเลข กันตั้งแต่ต้นเลย (ดิชั้นเองก็ไม่มีพื้นฐานมาก่อนเหมือนกันค่ะ) ส่วนที่ถามว่า ยากมั้ย? บอกเลยว่าเป็นคำถามที่ยากมาก เพราะของแบบนี้มันแล้วแต่สมองและซีรีบัมส่วนบุคคลจริงๆ ว่า born to be study Korean กันเบอร์ไหน เอาเป็นว่าขอจำแนกผู้เรียนได้เป็น 4 เหล่านะคะ
Type | คุณสมบัติ | เปอร์เซ็นต์การเรียนดี + มีความสุข |
A | ติ่งเกาหลี + มีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่น | 90% |
B | ติ่งเกาหลี | 60% - 70% |
C | มีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่น | |
D | ไม่ได้ติ่ง ไม่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่น | 50% |
คงไม่ต้องอธิบายใช่มั้ยคะว่าทำไมคนที่ติ่งเกาหลีถึงดูได้เปรียบ เพราะนอกจากจะมีตัวช่วยเวลาท่องศัพท์หรือท่องไวยากรณ์เป็นบรรดาเพลงหรือประโยคที่จำฝังหัวในซีรี่ส์ต่างๆ ที่ทำให้สามารถจดจำเนื้อหาที่เรียนได้ไวขึ้นกว่าชาวบ้านแล้ว อีกเหตุผลหลักๆ ที่มีความนามธรรมมาก Abstract ไปอีกก็คือ ถ้าใจรัก จะเหนื่อยจะยากขนาดไหน มันก็จะมีแรงใจช่วยให้ฮึดผ่านไปได้แน่นอนค่ะ อิชั้นคอนเฟิร์ม
ส่วน Type ที่จะได้เปรียบรองลงมาคือ คนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นมาก่อนค่ะ เพราะแพทเทิร์นของไวยากรณ์ของภาษาเกาหลี(ในขั้นเบื้องต้น)จะเหมือนกับญี่ปุ่นมากๆๆๆๆ ทุกไวยากรณ์สามารถเทียบกันได้เรื่อยๆ เลยว่า ไวยากรณ์ตัวนี้ก็คือตัวนี้ในภาษาญี่ปุ่น การเรียงประโยคก็เป็น SOV เหมือนกัน การเรียงสถานที่ เวลา นั่นนี่ก็เหมือนๆ ญี่ปุ่น ศัพท์บางตัว (อย่างเช่นคำว่า กระเป๋า) ก็คล้ายกัน ดังนั้น คนที่เรียนญี่ปุ่นมาก่อนก็จะได้เปรียบในส่วนนี้ไปค่ะ
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากคุณไม่ได้มีคุณสมบัติเบื้องต้นสองข้อนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเรียนไม่ได้ค่ะ คือวิชานี้มันแค่ตัวพื้นฐาน อาจารย์จะไม่ไปไวเร็วแรงทะลุนรกอะไรขนาดนั้น ถ้าหากตั้งใจเรียน ตั้งใจท่อง ยังไงก็ตามเขาทันอยู่แล้ว
ในส่วนข้อสอบ ส่วนใหญ่จะยังเป็นช้อยส์นะคะ ก่อนสอบอาจารย์จะบอกหมดเปลือกเลยว่า ช้อยส์กี่ข้อ เติมคำกี่ข้อ ให้แปลประโยคไทยเป็นเกาหลี เกาหลีเป็นไทยกี่ข้อ พาร์ทของอาจารย์ชาวเกาหลีต้องทำอะไรบ้าง ต้องแต่งประโยคเองยังงี้ๆ อ่านไกด์ไลน์การแต่งประโยคได้จากบทนี้ๆ คือช่วยสุดชีวิต ถ้าอ่านมาละเอียดจริง จำได้จริง ก็ไม่มีทางที่จะทำไม่ได้จ้ะ
อย่างไรก็ตามนะคะ ในเรื่อง Get A ก็ต้องบอกว่า ไม่ยากเกินแต่ก็ไม่ได้หวานหมูนะเอาจริง เพราะถ้าทุกคนในคลาสทำได้ ฟาดเต็มเกือบเต็มกันสนุกสนาน พอมันเป็นอิงเกณฑ์ผสมอิงกลุ่ม บางเทอมที่รวมแต่ตัวระดับ Top เอาไว้ด้วยกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ A เลยโดนดันไปอยู่ที่ 90 ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว (นับแต่นั้นอ.เลยปรับให้ข้อสอบมันยากขึ้นในระดับหนึ่ง(นิดดดดดนึง)เพื่อไม่ให้คะแนนเฟ้อเกิน) ยังไงก็ประมาทไม่ได้นะจ๊ะ ตั้งใจเรียนด้วยล่ะ
สรุป เรียนน่ะไม่ยาก …เพราะจุดที่ยากที่สุดคือการลงทะเบียนให้ติดนี่แหละค่ะ ขอบคุณค่าาา //โบกมือแบบนางงาม
Q2 : แล้วเรียนอะไรบ้างน่ะ?
A : ขออนุญาตดึงข้อมูลจากเพจ สาขาวิชาภาษาเกาหลี มาเลยก็แล้วกันนะคะ
ตัวอักษรเกาหลี สระเกาหลี การสะกดคำ การเขียน การทักทายและการแนะนำตัว สถานการณ์ในร้านอาหาร การสั่งอาหาร เหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน การบอกวันที่ การบอกเวลา การอ่านตัวเลข การนัดหมาย การบอกตำแหน่ง การบอกทาง การโทรศัพท์
ไวยากรณ์:
N은/는 (คำชี้ประธาน) ,
N이에요/예요 (ประโยคบอกเล่าว่าสิ่งนี้คือ…),
네/아니요 (ใช่แล้ว / ไม่ใช่จ้า…),
V-(으)세요 (กรุณาทำ…),
N주세요(ขอสิ่งของอันนี้),
하나/둘/셋/넷… (ตัวเลขเกาหลี) ,
병,개,잔 (ลักษณนามนิดๆ หน่อยๆ),
N하고 N (และ) ,
N이/가 있어요/없어요 (มี/ไม่มี),
이거/그거/저거 (อันนี้ อันนั้น อันนู้น) ,
이N/그N/저N (นี่ นั่น โน่น),
일, 이, 삼, 사 (ตัวเลขเกาหลีที่ยืมมาจากจีน),
A/V아요/어요 (การผันคำกริยาหรือคุณศัพท์รูปสุภาพทั่วไป),
N을/를 (คำชี้กรรม),
N에 가다/오다 (ไปที่… มายัง…),
안A/V (ประโยคปฏิเสธ),
N이/가 A, 그리고 (บรรยายว่า อันนี้เป็นแบบนี้ แล้วก็ยังเป็นแบบนี้ด้วยนะ เช่น สวยแล้วก็ฉลาด)
…시…분 (การบอกเวลา),
요일 (วันในสัปดาห์),
N에 (คำช่วยชี้สถานที่ เป้าหมายปลายทาง),
V-(으)ㄹ까요? (….กันดีมั้ย?)
…월…일 (วัน เดือน ในเกาหลี),
A/V-았어요/었어요 (ประโยคแบบ past tense),
N에서 (คำชี้สถานที่ที่เกิด action ขึ้น),
N이/가 N에 있다/없다 (ประโยคบรรยายว่ามีสิ่งอะไรอยู่ตรงไหน),
N/ 위/아래/앞/뒤/옆/안에 (การบอกตำแหน่ง),
N(으)로 가다/오다 (ไป มา ทางซ้ายทางขวาทางตรงหน้าหลัง…)
N까지,분,시간 (การบรรยายประโยคว่าเริ่ม action ตั้งแต่ตอนไหน)
และอื่นๆ อีกพอสมควร ไปเปิดเอาเองในหนังสือดีกว่าค่ะซิส
Q3 : ถ้าลงทะเบียน(ที่ใช้ดวงล้วนๆ)แล้วเด้งจะทำยังไงดี อยากเรียนมากๆ เลยค่ะ
A : นี่คือคำถามที่ถามกันเข้ามาเยอะที่สุดในสามโลกนี้
โอเค Step แรก เราจะต้องใจเย็นๆ ก่อนนะคะหมู่เฮา อย่าเพิ่งแตกตื่น อย่าเพิ่งโวยวาย สถานการณ์นี้มันก็คล้ายๆ กดบัตรคอนแล้วนก แต่มันก็ยังมีรอบที่บัตรหลุดช่วง 14.00 ใช่มั้ยล่ะคะ นี่แหละคือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป
Yellow line : เกิดมาเป็นลัคกี้แมนเหรอคะ แต้มบุญสูงเว่อร์
Green line : อันนี้ต้องใช้ความพยายามประหนึ่งเป็นผู้เข้าแข่งขันที่โดนคัดเข้า elimination room ให้พวกเธอเข้าไปส่งสายตาอ้อนวอนกับอาจารย์ในคาบแรก ถ้าหากอาจารย์เขาเมตตา ยอมเปิดที่นั่งให้เพิ่ม (ได้เซคละไม่เกิน 10 คน มากสุด) ท้ายคาบอาจารย์จะเริ่มถามคำถามเพื่อคัดคนเอง
ข้อที่ 1 : ใครจะโทเกาหลีบ้าง? >>> คนที่กะจะเก็บเป็นแค่เสรี หรือ Genlang จะโดนคัดออกในสเตจนี้ทันที ซึ่งถ้าหากคัดออกแล้ว แต่ดันยังเหลือคนเกินโควตาที่จะรับไหว ข้อที่ 2 จะตามมา
ข้อที่ 2 : ที่จะโทกันเนี่ย ใครปีสูงแล้วบ้าง >>> แน่นอนว่าพี่ๆ ปีสูงจะได้รับสิทธิ์ก่อนน้องๆ ที่ปีน้อยกว่า ซึ่งอันนี้ก็ต้องเข้าใจนะว่าพี่ๆ เขาอีกแป๊บเดียวก็จะจบแล้ว ขืนไม่ลงเทอมนี้ ก็จะเก็บหน่วยกิตโทไม่ทัน น้องๆ ที่ยังเหลือเวลาอีกเยอะ ค่อยมาเก็บเทอมต่อไปปีต่อไปก็ยังได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะจบแค่คำถามนี้แหละ แค่นี้ก็เหลือไม่ถึง 10 แล้ว (แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอาจารย์อีกนั่นแหละค่ะ)
Blue line : อยากจะบอกว่าดิชั้นได้เรียนด้วยวิธีนี้นี่แหละค่ะ (โดนปัดให้ตกรอบไปเพราะข้อที่ถามว่า ใครปีสูงแล้วบ้าง) ตามที่เห็นในภาพ เกือบทุกปีจะมีคนที่กดเล่นแล้วติดแล้วก็ลบออกตั้งแต่ก่อนจะเริ่มเรียน จึงทำให้เกิดที่ว่างในระบบที่ล็อคอยู่ (ระบบจะขึ้นว่า จำนวนคนเรียน/0) อย่างเช่น ปีดิชั้นคนกดลบไป 7 เท่ากับว่าจะมีที่ว่าง 7 ที่ให้ช่วงชิงกัน ในการนี้ อาจารย์จะทำการนัดวัน “Reg war ภายใน” ให้เข้า reg เพื่อกด “เพิ่มวิชา” ตามวันเวลาที่กำหนด (มันจะกดเพิ่มได้ก็ต่อเมื่อมันขึ้นเป็น จำนวนคนเรียน/จำนวนที่รับได้ ไม่ใช่เลข 0 อีกต่อไป) ใครเร็วกว่า คนนั้นได้ เอาล่ะค่ะ ทักษะของการกดบัตรคอนจะได้ประยุกต์ใช้ก็วันนี้ …แต่อย่าลืมนะคะว่า เพื่อนๆ ที่เป็นคู่แข่งของเรา ส่วนใหญ่มันก็เป็นติ่งเกาหลีที่เคยผ่านสมรภูมิกดบัตรคอนมาเหมือนกัน ดังนั้น เพียงแค่ 20 วินาที ที่ว่างทั้งหมดก็ Sold out แล้ว ต้องมือไวมือผีกันหน่อยนะคะ
อัพเดท : ข้อมูลใหม่จาก เทอม 1 ปีการศึกษา 2560
ได้ข่าวล่ามาว่าในรอบนี้อาจารย์ลบเส้นทางสายสีฟ้าออก เปลี่ยนวิธีเป็นว่า พอเห็นที่ว่างในระบบ Reg ปุ๊บ ก็ให้คนที่อยู่ในห้อง ณ ตอนนั้นเอาบัตรนิสิตมา แล้วจับฉลากให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลย ไม่มีการเรกวอร์ภายในใดๆ จบปิ๊ง
แต่ เนื่องด้วยปัญหาที่มีกรณีดราม่าที่เด็กหลายคนไม่พอใจกับสัดส่วนการจับฉลาก ประมาณว่า ถ้าให้คนที่มีสิทธิ์จับฉลากเป็นเฉพาะเด็กที่จะโท ก็จะโดนเด็กที่จะเก็บเป็นเจนแลง/เสรีด่า กีดกัน facaltism นี่หว่า ในทางกลับกัน ถ้าเลือกแบ่งให้มีทั้งโทและอื่นๆ มีสิทธิ์จับเหมือนกัน เด็กโทก็จะด่าแทนว่าทำไมไม่ให้สิทธิ์เด็กโทก่อน สร้างความปวดเฮ้ดเวียนกบาลให้แก่อาจารย์ในภาควิชาเป็นอย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ คาดว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง นั่นก็คือ (อาจจะ)เปลี่ยนเป็นไม่รับเพิ่มในกรณีในใดๆ เต็มในเรกแล้วจบกันทันที(ก็เป็นได้)
Q4: เนียนๆ ไปลงเซค 1/2 (ในเทอม1) = เรียนรวมกับเด็กเอกเกาหลีไปเลยได้มั้ย หนูว่าหนูไหว
A: ไม่ได้!!!! เขาสั่งเธอถอนอัตโนมัติเลยนะ ไม่มีปรานีอะไรทั้งนั้น
Q5 : ถ้าหากว่าเราพ่ายแพ้อย่างหมดรูปเลย ขอก็ไม่ได้ เรกวอร์ก็กดไม่ทันเขา แล้ว Korean 2 ก็มีเงื่อนไขว่าต้องผ่าน Korean 1 ก่อนถึงจะเรียนได้ งี้ชาตินี้จะไม่ได้เรียนเกาหลีเลยเหรอ มีวิธีไหนที่จะช่วยให้ข้ามไป Korean 2 ได้บ้างมั้ย?
A : ใจเย็นก่อนนะคะ ทุกอย่างยังมีหนทางค่ะ
สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานเลย ดิชั้นแนะนำให้ไปลงเรียนเสริมพิเศษวันเสาร์ เรียนรวมกับบุคคลภายนอก (สาขาเกาหลีจะจัดอยู่ตลอด ติดตามรายละเอียดแต่ละเทอมได้ในเพจของสาขาวิชาภาษาเกาหลีเลยค่ะ) ให้เลือกเรียนตัว Korean 1 ก็จะได้เนื้อหาความรู้ที่ใกล้เคียงกับเพื่อนที่เรียนในระบบปกติ (อาจจะน้อยกว่านิดหน่อย แต่ก็พอถูไถได้) ระหว่างนี้ก็ไปติดต่ออาจารย์เพื่อขอข้ามไปพลาง พอถึงจุดหนึ่ง ถ้าหากอาจารย์พิจารณาแล้วว่า โอเคจ้ะ ลองดูก็ได้ ก็อาจจะให้แบบทดสอบความรู้มาทำ (**ในส่วนนี้ไม่รู้ว่าจะเป็นช่วงระหว่างเทอมแรกที่กำลังเรียนอยู่เลย หรือช่วงปิดเทอม หรือช่วงต้นของเทอมถัดไป แล้วแต่กรณีจริงๆ ค่ะ**) แล้วถ้าหากทำข้อสอบผ่าน ประเมินผ่าน ก็จะมีสิทธิ์ลงทะเบียนได้เข้าเรียน Korean 2 แบบไม่ต้องผ่าน Korean 1 เลยค่ะ
แน่นอนว่า ถ้าใครมีพื้นฐานมานานแล้ว หรือความรู้ beyond เหนือตัว 1 ก็ดาหน้าเข้ามาติดต่อขอทดสอบกับอาจารย์ในสาขาวิชาเพื่อขอ pass ไปเรียนตัวที่สูงกว่าได้เลยเหมือนกัน ส่วนจะได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจอาจารย์อีกนั่นแหละหนา
Q6 : ใช้หนังสืออะไรเรียนเหรอ ต้องไปซื้อมาก่อนมั้ย?
A : เป็นซีรีส์แบบเรียนภาษาเกาหลีของ ม.สตรีอีฮวา ส่งตรงจากเกาหลีค่ะ Text ด้านในจะเป็นภาษาอังกฤษ สนนราคาเล่มละ 500 บาท (แต่บางทีก็มีฉบับแปลไทยนะ) แถมฟรีซีดีเพื่อฝึกฟังอีกหนึ่งแผ่นในเล่มด้วย
อีฮวา ฮันกุกกอ (ภาษาเกาหลี อีฮวา) เล่มที่ 1-1 English Version
ในส่วนของ Korean I นั้น จะใช้หนังสืออีฮวาเล่มที่ 1 - 1 (สีเหลือง) ประกอบการเรียนการสอนค่ะ โดยพวกเธอไม่จำเป็นต้องวิ่งสี่คูณร้อยไปพรีออเดอร์สรรหามาเองก่อนก็ได้ค่ะ เพราะอาจารย์จะเป็นคนหิ้วมาขายให้ในคาบที่ 2 (คาบแรกหมดไปกับการแจกประมวลวิชา + คัดเลือกคนที่จะได้เรียน) พกเงินสดมากันด้วยนะจ๊ะ //แอบกระซิบว่า ถ้าไม่ได้ซื้อของแท้เพราะของหมด สามารถไปซื้อฉบับซีล็อกซ์ที่ร้านถ่ายเอกสารใต้ตึกมหาจักรีฯ ได้นะคะ รู้สึกจะแค่ 100 กว่าบาทเองมั้ง (แต่จะไม่มีซีดีฝึกฟังให้นะเออ เพราะฉะนั้น อุดหนุนของแท้จะดีกว่านะคะซิส)
หมายเหตุ : ได้ข่าวล่ามาว่า เนื่องจากมันแพง ทางสาขาวิชาเกาหลีเองเลยมีแพลนที่จะทำ “จุฬาฯ ฮันกุกกอ” เป็นของตัวเอง ราคาก็จะถูกลง ไม่ต้องสั่งจากเกาหลีให้วุ่นวายประหนึ่งฝากหิ้วบั้มหิ้วแท่งไฟให้พะรุงพะรังโดนตม.ซักไซ้ไล่เรียงแล้ว แถมเนื้อหาก็จะเอื้อต่อผู้เรียนที่เป็นชาวไทย(ให้รู้สึกอิน)มากขึ้นด้วย
Q7 : งาน การบ้าน เยอะมั้ย?
A : การบ้านจะมีเกือบทุกอาทิตย์ค่ะ แต่มันน้อยแบบน้อยมาก มากสุดก็แค่กลับไปตอบคำถามสั้นๆ แต่งประโยคสั้นๆ ไม่เกิน 1 A4 ส่งอาทิตย์ต่อไป จบ ชิลไปอีก ส่วนงานที่เป็นกิจจะเลย เท่าที่เก็บข้อมูลมาอาจจะมีครั้งเดียวต่อเทอม อย่างดิชั้น เนื่องจากอาจารย์ไม่ว่างสอบ Listening Quiz จึงเปลี่ยนมาให้การบ้านกลับไปอัดเสียงแนะนำตัวเป็นภาษาเกาหลีแทน ในขณะที่คนที่ลงตอนเทอม 2 (ปี 60) ช่วงที่เรียนดันป๊ะกับอีเว้นท์ Korean Festival พอดิบพอดี เลยเก็บคะแนนด้วยการจับกลุ่มจัดบอร์ดวัฒนธรรมเกาหลีค่ะ พูดง่ายๆ ก็คือ เรียนสนุกลุกนั่งสบาย ไม่มีงานถาโถมแน่นอน
Q8 : Listening Quiz นี่มันสอบยังไง ยากมั้ย?
A : คนที่ทดสอบจะเป็นอาจารย์ชาวเกาหลีค่ะ การสอบนั้นก็แค่รับกระดาษคำถามมา แล้วอาจารย์ก็จะเปิดลำโพง เราก็กา/เขียนตอบในส่วนที่เขาถามให้ตรงกับสตอรี่ที่เราฟัง ซึ่งอยากจะบอกว่า สตอรี่ในควิซนี่ 90% ตรงกับสตอรี่ที่เคยฝึกในหนังสือเป๊ะๆๆๆ (เป๊ะขนาดตัวเลขราคา เวลา ก็ยังตรงกัน) ขนาดอาจารย์เองยังแนะนำเลยว่า ถ้าหากกลัวฟังไม่ออกก็ไม่เป็นไรค่ะ กลับไปท่องสตอรี่ในหนังสือมาก็แล้วกันนะคะ
หมายเหตุ : บางเทอมถ้าอาจารย์ไม่มีเวลา Listening Quiz อาจจะชดเชยโดยการเปลี่ยนเป็นงาน การบ้าน อะไรพวกนี้แทนค่ะ
Q9 : มีรหัสอาจารย์คนไหนที่ recommend หรือ ต้องหลบเลี่ยงเป็นพิเศษรึเปล่า?
A : แน่ะ ดิชั้นรู้นะคะว่าทุกคนมีคำถามแบบนี้ในใจ ซึ่งก็ต้องขอตอบว่า ไม่มีค่ะ อาจารย์ในสาขาน่ารักทุกคน เวลาออกข้อสอบก็จะออกด้วยกันและอิงตามในหนังสือเท่านั้น ไม่มีการที่แบบ หนึ่งคนหนึ่งหลักสูตร หรือ เรียนกับคนนี้เกท A ง่ายกว่า หรือรู้แนวข้อสอบมากกว่าแน่นอนค่ะ เอาเป็นว่า ไม่ต้องเลือกหรอกอาจารย์ เลือกแค่เซค(เวลาเรียน)ที่สะดวกและไม่ชนกับวิชาอื่นก็พอเนอะ
Q10 : เรียนจบตัวนี้แล้ว เราจะเก่งเกาหลีขนาดไหน
A : ข้อนี้ขอตอบแค่ว่า อย่างน้อยเวลาดูรายการเกาหลี ฉันก็อ่านชื่ออปป้าออกแบบทันทีเลยละกันนะ บรัย
มีข้อสงสัยอะไรเพิ่มเติม : สาขาวิชาภาษาเกาหลี อักษร จุฬาฯ ทักแชทไปเลยค่ะ ไม่ต้องมาถามดิชั้นนนนนน
นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ

ปล.อ่านรวมfactของม่อนอยู่แล้วบังเอิญมาเจอดีใจมากๆค่ะ5555555