คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : [TOPIK 1] รีวิว สอบวัดระดับภาษาเกาหลี 1
[รีวิว] สอบวัดระดับภาษาเกาหลี
TOPIK I
หมายเหตุ: เป็นข้อมูลจากรอบเดือนตุลาคม
พ.ศ. 2560 (TOPIK ครั้งที่ 54)
Part 1 : การสมัครสอบ
(ตรงนี้นำข้อมูลมาจากเพจ
TOPIK THAILAND เกือบทั้งหมด)
■ ช่วงเวลารับสมัครสอบ
จะเปิดรับสมัครนานประมาณ 15 วัน
และมีเวลาทิ้งห่างก่อนจะถึงวันสอบจริงอีกราวๆ 2 เดือน
■ จังหวัดที่เปิดสอบ - สนามสอบ
1.) กรุงเทพมหานคร -
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(อโศก) : ดิชั้นสอบที่นี่มาค่ะ
2.) สงขลา - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
3.) เชียงใหม่ - มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
4.) มหาสารคาม - มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
5.) พิษณุโลก - มหาวิทยาลัยนเรศวร
**คาดว่าในอนาคตอีกไม่กี่ปี ทางจุฬาฯ
เองก็จะร่วมเปิดเป็นสนามสอบด้วยเช่นกัน (เพราะมีเอกเกาหลีแล้ว)**
■ ค่าสมัครสอบ
- ค่าสมัครสอบ : 800
บาท (ทั้ง TOPIK I และ II)
⇒ ธนาคารที่รับโอน : ธนาคารกรุงเทพ
*สามารถโอนเงินผ่าน
Internet Banking หรือ Mobile Banking ได้
และกรุณา Capture หน้าจอที่ได้ทำการโอนเงินเรียบร้อยแล้ว
เพื่อส่งมาเป็นหลักฐานการโอนเงิน
■ ขั้นตอนการสมัครสอบ
* สมัครทาง Online เท่านั้น
= ไม่มีการรับสมัครที่ KEC และไม่รับสมัครทางโทรศัพท์
*
(สามารถกรอกเอกสารผ่านสมาร์ทโฟนได้)
1.) ไปโอนเงินให้เรียบร้อย (ถ่ายสลิปโอนเงินเก็บไว้ หรือ แคปหน้าจอไว้ด้วยนะจ๊ะ)
2.) เข้าไปที่เฟสบุ๊ค TOPIK in Thailand
** กดลิงก์ ⇒ http://naver.me/575QzCUH หรือ
สแกน QR code ที่แนบมา เพื่อกรอกเอกสารสมัครสอบออนไลน์
3.) เลือกระดับที่ต้องการสอบ (TOPIK I
หรือ TOPIK II)
4.) เลือกสนามสอบ
5.) กรอกเอกสารให้ครบถ้วน
(ชื่อภาษาอังกฤษบนเอกสารรับสมัครและบัตรประชาชนต้องสะกดตรงกัน)
และแนบไฟล์รูปภาพจำนวน 3 ไฟล์ (รูปถ่าย, บัตรประชาชน และ สลิปการโอนเงิน)
6.) กดส่งเอกสารสมัครสอบออนไลน์
ทางฝ่ายจัดสอบจะแจ้งผลการสมัครภายใน 3 วัน หลังจากส่งใบสมัคร
ผ่านทางอีเมลที่ระบุไว้ในใบสมัคร ถ้าเช็กอีเมลแล้วเจอ
แปลว่าสมัครผ่านเรียบร้อยแล้ว
** คำเตือน: หลังจากส่งเอกสารสมัครสอบแล้ว
ไม่สามารถเปลียนระดับที่สอบ จังหวัดที่สอบ และสนามสอบได้
ดังนั้นกรุณาตรวจสอบรายละเอียดให้ครบถ้วน **
■ การทำไฟล์รูปภาพ
1. รูปถ่ายหน้าตรง ชื่อไฟล์ : ((ชื่อ-สกุลผู้สมัครสอบเป็นภาษาอังกฤษ_photo.jpg)
ขนาด 354*472 pixel (3×4 ซม.) หรือใหญ่กว่า,
ภาพสีพื้นหลังสีขาว ฟ้า หรือน้ำเงินเท่านั้น
2. บัตรประชาชน
(ชื่อไฟล์ : ชื่อ-สกุลผู้สมัครสอบเป็นภาษาอังกฤษ_IDcard.jpg) ต้องเห็นรายละเอียดบนบัตรชัดเจน
กรุณาส่งเฉพาะรูปด้านหน้าบัตรเท่านั้น
***สามารถใส่ลายน้ำ ขีดคร่อมว่า “ใช้เพื่อสมัครสอบ TOPIK ครั้งที่ XX เท่านั้น” ได้พอสมควร
(อย่าทึบไปจนปิดข้อมูลในบัตรมิดก็พอ)***
3. สลิปการโอนเงิน (ชื่อไฟล์ : ชื่อ-สกุลผู้สมัครสอบเป็นภาษาอังกฤษ_bank.jpg)
*หากโอนเงินผ่านทาง Internet Banking หรือ Mobile Banking กรุณา Capture หน้าจอที่ได้ทำการโอนเงินเรียบร้อยแล้วและแนบไฟล์มาเพื่อเป็นหลักฐาน
■ ตรวจสอบเลขประจำตัวผู้เข้าสอบ
- 15 วันหลังจากปิดรับสมัครสอบ
ทางฝ่ายผู้จัดสอบจะแปะ Link เลขประจำตัวผู้เข้าสอบบน Facebook:
TOPIK in Thailand (เพจเดิมที่พวกเธอใช้สมัครสอบกันนั่นแหละ)ให้ตรวจสอบกัน
สอบถาม : Korean
Education Center - 02-116-6852
เวลา 09:00
- 17:00 (พักเที่ยง 12:00 - 13:00) เว้นวันเสาร์-อาทิตย์
เม้าท์นิดหน่อย: ดิชั้นเป็นคนขี้กังวล(และย้ำคิดย้ำทำ)ค่ะ
พอสมัครเสร็จแล้วก็มากระวนกระวายว่า “เอ๊ะ เมื่อกี้ชั้นกรอกสนามสอบไหนไปวะ” รวมถึง
“เอ๊ะ ต่อให้กรอกถูกที่(หมายถึง มศว)สนามสอบมันจะเต็มรึยังวะ” ด้วยความกังวล
ก็เลยโทร.ไปถามตามเบอร์ข้างต้น
ปรากฏว่าเขาตอบเราได้ทุกคำตอบเลยค่ะว่า มีชื่อเราเข้าระบบแล้วนะ
ชื่อเราเลือกสนามสอบนี้นะ อ๋อ สนามสอบยังไม่เต็มค่ะ สบายใจได้ ฯลฯ
โล่งใจไปอีกเปราะ
สรุปแล้ว
ถ้ามีเรื่องที่สงสัยหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการสมัครสอบ ก็โทร.ไปถามเลยค่ะ เวิร์คสุด
Part 2 : วันสอบจริง
ขอ Intro
ก่อนนิดนึงว่า สนามที่ดิชั้นลงสังเวียนคราวนี้นั้นก็คือสนามสอบ TOPIK
1 = Level แรกสุด แต่ในเลเวลนี้ ถ้าผ่าน
ก็จะมีการแบ่งชนชั้นวรรณะไปอีก ได้แก่ 1-1 (ผ่านแบบพอผ่าน)
กับ 1-2 (ผ่านแบบคะแนนทุกพาร์ทเกิน 70%)
เป้าหมายครั้งนี้ก็คือการชิงระดับ 1-2 มาไว้ประดับบารมีเราค่ะ
■ ระบบการสอบ TOPIK
1
ในเลเวลนี้ข้อสอบจะมีแค่ 2
พาร์ท ได้แก่ พาร์ทฟัง และ พาร์ทอ่าน เป็นช้อยส์ 4 ข้อมาให้เลือกฝนล้วนๆ (ยังไม่มีพาร์ทเขียนเหมือน TOPIK 2 จ้ะ สบายใจได้) โดยแบ่งสัดส่วนเวลาและจำนวนข้อที่ต้องทำ ดังนี้
Part |
จำนวนข้อ |
ระยะเวลาที่ให้
(นาที) |
Listening |
ข้อที่
1 - 30 (30 ข้อ) |
40 |
Reading |
ข้อที่
31 - 70 (40 ข้อ) |
60 |
สำหรับการเตรียมตัวสอบนั้น แนะนำให้ไปโหลดข้อสอบเก่าจาก https://www.topikguide.com/previous-papers/ มาทำค่ะ มีทั้งตัวข้อสอบ ตัวเฉลย
แล้วก็ไฟล์เสียงของพาร์ทฟังรวมไปถึงสคริปต์ของพาร์ทฟัง ครบวงจรมาก
หรือว่าจะโหลดแอพ TOPIK EXAM มาทำในมือถือก็ได้ค่ะ
ในแอพจะสะดวกมาก เพราะนั่งว่างๆ ก็หยิบขึ้นมาทำได้เลย แถมในแอพจะจับเวลาให้
มีฟังก์ชั่นเปิดเทปให้อัตโนมัติ และกดให้มันตรวจข้อสอบให้ด้วย เริ่ดเว่อร์
แต่ข้อเสียของแอพก็มีเยอะเหมือนกันค่ะ
1. การทำในแอพจะไม่ได้ฝึกการฝนกระดาษจริง
อีเวลาที่เราเย็นใจนักหนาว่า อุ๊ย ชั้นทำเร็วจัง แบบนี้ทันแน่ๆ
ก็จะไม่ใช่เวลาสุทธิของจริง เพราะของจริงจะต้องหักลบไปกับเวลาบรรจงฝนข้อสอบลงบนกระดาษอีก
2. สายทด ชอบขีด ชอบจดไอเดียไว้ข้างๆ
นี่ร้องไห้แน่ จะจดอะไรก็ต้องหากระดาษมาแยกต่างหากอีก
3. ไม่มีสคริปต์ของพาร์ทฟังให้ตอนเฉลย
4. เพราะให้มันตรวจอัตโนมัตินี่แหละ
เราเลยไม่ได้มาทบทวนด้วยการตรวจข้อสอบด้วยตัวเอง… #ดาบสองคมสุดๆ
■ การเดินทางไปสอบ:
Exclusive สนามสอบ - มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(อโศก)
กทม
อาคาร: Learning Tower (อาคารเรียนรวม)
พาหนะ |
วิธีการ |
รถส่วนตัว |
ที่จอดรถก็หาๆ เอาในมหา’ลัยแหละค่ะ |
BTS |
ลงสถานีอโศก
แล้วโบกวินมอเตอร์ไซค์ต่อเข้าไปค่ะ สนนราคาไม่ควรเกิน 30 บาท แพงกว่านี้คือโดนฟันนะจ๊ะ |
MRT |
ลงสถานีสุขุมวิท
แล้วโบกวินมอเตอร์ไซค์เช่นกันค่ะ |
เรือ (recommend สุด) |
- ให้มาขึ้นที่ท่าเรือ “มศว.ประสานมิตร” (ถ้าหากมาด้วยเรือที่กำลังจะมุ่งไปฝั่งบางกะปิ
ท่าเรือจะอยู่ขวามือค่ะ) - เมื่อขึ้นมาแล้ว ให้เดินตรงเข้าไปตามตรอกด้านหน้าเราเลยค่ะ
(ถ้าเข้าถูกตรอกก็จะเห็นป้ายมหา’ลัยมศวเอง) - ตรงไปตามทาง เราจะเดินผ่านคณะวิทยาศาสตร์
ผ่านคณะมนุษยศาสตร์ เดินต่อไปอีกสักหน่อย ก็จะเจออาคารเรียนรวมเองค่ะ
รวมเวลานับจากขึ้นจากเรือแล้วไม่เกิน 5 นาที = ใกล้มากๆ (ถ้าไม่เดินหลงซะก่อนล่ะก็นะ) |
แผนที่การเดินทางไป อาคารเรียนรวม โดยสังเขป
“อาคารเรียนรวม (Learning Tower)”
■
อาหารการกิน (สนามสอบ มศว)
ไม่แน่ใจว่าเพราะวันสอบเป็นวันอาทิตย์รึเปล่า
เลยไม่มีโรงอาหารไหนเปิด (หรือเพราะดิชั้นเดินหาไม่เจอเองก็ไม่รู้)
แต่ไม่ต้องห่วงค่ะ ยังมี 7-11 เปิด
หิวเมื่อไหร่ก็แวะไปเลยค่ะ
■
สิ่งที่ต้อง(และควร)เตรียมไป
1. บัตรประชาชน **บางที่ถ้าเคร่งงจัด เขาจะไม่รับบัตรนักเรียนหรือใบขับขี่นะคะ
จะเอาแต่บัตรประชาชนเท่านั้น**
2. เทปลบคำผิด** (ลิควิดที่เป็นแบบน้ำนี่ไม่ได้ค่ะ เอาไปก็เปล่าประโยชน์ เปล่าประโยชน์
เปล่าประโยชน์)
3. เสื้อกันหนาว (บางห้องหนาวมากกกกกกกกก
ประหนึ่งจะจำลองอากาศกรุงโซลช่วงฤดูใบไม้ร่วง)
4. นาฬิกาแบบหน้าปัด (ห้ามแบบดิจิตอล) ไม่ใช่ว่าในห้องสอบไม่มีเปิดนาฬิกาให้นะคะ
แต่บางทีถ้าหากเราจับพลัดจับผลูได้ที่นั่งที่หน้าชิดกำแพง (อย่างดิชั้น)
ไม่มีวันที่จะเห็นนาฬิกาที่ฉายอยู่บนสไลด์
หายนะจากการที่ไม่รู้เวลาก็อาจจะมาอันนยองฮาเซโยได้เช่นกัน
**เกี่ยวกับเครื่องเขียน**
มั่นใจว่าทุกคนจะตอบว่า
อ๋อ ให้เตรียมปากกา ดินสอ2B ยางลบไป ตามกติกาสากล ชาติไหน
โลกไหน ภพภูมิไหนก็ใช้กัน
แต่ไม่ใช่กับ TOPIK ค่ะ
…เพราะ TOPIK ที่น่ารักของเรา
จะแจกและบังคับให้ใช้ ปากกาสีดำ ที่ทางสนามสอบแจกเท่านั้นค่ะ!!
โดยปากกาดำด้ามมหัศจรรย์นี้จะมีสองด้าน
ได้แก่ ด้านหัวเล็ก(เพื่อเขียน) และ ด้านหัวใหญ่(เพื่อฝน)
โอ้วมายก้อช ควุงควังอู้โวอู้โว
กระเป๋าดินสอที่ดิชั้นอุตส่าห์เตรียมเครื่องเขียนมานี่เป็นหมันไปเลยจ้า
เอาล่ะ ถ้าใครเคยอ่านบทความรีวิวว่า
ปากกาที่แจกนี่ดีมากเลย ยังงั้นยังงี้ ดิชั้นขอยื่นมติคัดค้านค่ะ
ไม่จริง !!!!
แหม อย่าให้พูดเลยค่ะว่าอีปากกาดำระกำทุกข์นี่แหละค่ะที่ทำเอาผู้เข้าสอบกรีดร้องมานับต่อนักแล้ว
ประการแรก
อีฝั่งหัวใหญ่ก็หัวใหญ่สมชื่อนะคะ คอนทราสต์กับช่องฝนที่เล็กติ๊ดนึง
แล้วก็คอนทราสต์กับคำสั่งของครูผู้คุมสอบอีกว่า “ฝนให้เต็มช่อง
แต่อย่าล้นออกมานะครับ”
ผู้เข้าสอบจึงมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกเคล็ดวิชาการฝนให้สวยงาม ไม่ล้น ไม่เกิน
เกร็งมือกันเลเวลสิบกันไปค่ะอิเวน แล้วใครที่ช่วงนั้นแต้มบุนไม่ค่อยมี
ก็จะแจ็กพ็อตเจอด้ามที่หัวเป็นขุย ฝนๆ ไปเหมือนมีขุยขนอะไรโผล่ออกมาเซย์อันนยองฮาเซโยเสริมให้ความเสี่ยงที่ฝนแล้วเปรอะออกมานอกวงมันสูงขึ้นไปอีก
น่ากรีดร้องจริงอะไรจริง
ประการสอง [หมึก -
เปรอะ - ง่าย - มาก] สมมติว่าฝนเสร็จแล้วใช่มะ แล้วเผลอเอามือไปทาบไว้ ขยับนิดๆ
ปาดไปมาพอเป็นพิธี เปิดมือออกมา โอ้โห จิตรกรรมวิถีเซนปรากฏบนกระดาษคำตอบกูแล้วจ้า
แน่นอนว่าถ้าเกิดกรณีนี้ขึ้น มีหนทางอยู่ทางเดียวคือ “ซอนแซงนิมคะ
ขอเปลี่ยนกระดาษคำตอบค่ะ!!” เพราะถ้าไม่เปลี่ยน เครื่องตรวจข้อสอบอันแสน
sensitive มันจะรวน ไม่ตรวจให้ เป็นปัญหากันยาวๆ ไป ดังนั้น
พอฝนเสร็จแล้ว พยายามอย่าเอามือไปโดนจนกว่าจะมั่นใจว่าที่ฝนไปมันแห้งแล้วจริงๆ
นะคะ
ทีนี้ ถ้าหากเขียนผิด/ฝนผิดจะทำยังไง… คำตอบก็คือต้องใช้
เทปลบคำผิด (ห้ามใช้แบบน้ำ) ในการแก้ไขเท่านั้นค่ะ นั่นหมายความว่า
ถ้าแก้แล้ว เกิดเปลี่ยนใจอีกรอบ จะกลับมาฝนข้อเดิม มันก็จะฝนลำบากมาก
(ยกเว้นว่าเธอจะขูดเทปนั่นออกเอง) อนึ่ง ถ้าหากใครลืมเอามาก็อย่าเพิ่งกรีดร้องว่าจะถึงคราวสิ้นโลก
ทางสนามสอบจะมีเทปคำผิดสาธารณะให้ยืมใช้ ....ยืมใช้ที่ว่าคือ
จะใช้ทีนึง ก็ต้องยกมือพร้อมแหกปากว่า “ยอกีโยวววว ซอนแซงนิมขา เทปลบคำผิดจูเซโยวววว”
ให้ทั้งห้องเงยหน้ามามองแรงกันไป แล้วกว่าคุณครูจะรับทราบข้อร้องทุกข์แล้วลีลานวยนาดไปเอาเทปลบคำผิดมาส่งให้เรา
เวลาก็หมดไปแล้วเป็นหลักนาทีเลยนะคะ ดังนั้น ทางที่ดีก็พกไปเองเหอะ
เอาล่ะ เมื่อรู้ขนาดนี้แล้ว เวลาจะฝึกทำข้อสอบเก่า
แนะนำให้ปริ้นท์กระดาษคำตอบออกมาแล้วฝึกใช้ปากกาเมจิกฝนซะนะ จะได้ไม่เป็นภาระต่อตัวพวกเธอในอนาคตที่กำลังนั่งแพนิคอยู่ในห้องสอบ
ฝึกใช้ปากกรุ่นนี้ไปพลางๆ ก่อนละกันนะ (พอจะแทนกันได้ในระดับหนึ่ง)
■
การแต่งกาย
ไปรเวท(ที่สุภาพ)ได้เลยจ้า ไม่จำเป็นต้องชุดนักเรียนหรอก
//นี่ไม่รู้ไง ใส่ชุดนิสิตไปเต็มยศ
รู้สึกเปลืองเสื้อฟรีๆ…
//เหมือนจะเห็นคนย้อมผมชมพูไปสอบ
แต่ก็ไม่มีใครว่านะ
■
ระเบียบในห้องสอบ (สนามสอบ มศว)
1.)
ต้องมาให้ตรงเวลา ถ้าสายเกินเวลาที่กำหนดไว้
ก็หมดสิทธิ์เข้าห้องสอบจ้ะ
คำเตือน: สำหรับสนามสอบมศว อาคารเรียนรวม… ความจริงหลายคนก็ไม่ได้อยากจะสายหรอกนะคะ เผลอๆ มาถึงสนามสอบล่วงหน้าเป็นชั่วโมง รอจนเหลือแค่สิบนาทีสุดท้ายแล้วค่อยขึ้นตึกไปสอบสวยๆ ไรงี้ แต่สิ่งที่ผิดแผนที่สุดคือ “การรอลิฟต์” เพราะห้องสอบมีหลายชั้น คนสอบที่มาต่อคิวรอขึ้นนั้นก็มากมี แต่ลิฟต์นี่มีอยู่แค่สองคู่ = 4 ตัวค่ะ
โอ้โห เยี่ยมไปเลย
แล้วตัวนึงนะคะ กว่าจะยุรยาตรเคลื่อนตัวไปส่งคนทีละชั้น
ทีละชั้น แล้วค่อยๆ หย่อนตัวลงมารับกรุ๊ปใหม่ ก็รับประทานเวลาไปมากโข ครั้นจะอินดี้หนีไปขึ้นบันไดก็คงเหมือนการฆ่าตัวตายก่อนสอบ
9 ชั้น 10 ชั้น
ถ้าเอ็งเดินขึ้นไหวก็เรื่องของเอ็งเถอะ เมื่อเป็นงี้แล้ว
ทางเดียวที่เหลืออยู่ก็คือต้องรอลิฟต์นั่นแหละ
สรุปแล้ว ที่พูดมาทั้งหมดก็คือ ให้เผื่อเวลาเข้าคิวรอลิฟต์ไว้ด้วย
สัก 15 - 20 นาทีกำลังดี
เข้าคิวรอลิฟต์นานมากเลยค่ะ คุณกิตติขา
2.)
เมื่อเข้ามาแล้ว กระเป๋าที่แบกมาต้องเอาไปเก็บไว้ที่มุมห้อง // ส่วนกระเป๋าตังค์(และบัตรประชาชน)ใส่กระเป๋ากางเกงติดไว้กับตัวได้
3.)
โต๊ะจะรันตามหมายเลขประจำตัวสอบ ให้เข้านั่งโต๊ะที่มีข้อมูลของตัวเองแปะไว้เท่านั้น
แล้วนำบัตรประชาชนขึ้นมาวางไว้บนโต๊ะตัวเองเพื่อให้ครูผู้คุมสอบมาตรวจสอบ
4.)
โทรศัพท์มือถือ
อาจารย์คุมสอบจะวางซองไซส์กรุบกริบไว้บนโต๊ะ(วางไว้พร้อมกับปากกาดำมหัศจรรย์(ไร)นั่นแหละ)
เราต้องเอาโทรศัพท์ขึ้นมาปิดเครื่องให้เขาเห็น และเอาใส่ซองนั้น เขียนชื่อและหมายเลขประจำตัวสอบบนซองให้เรียบร้อย
อาจารย์จะเก็บใส่ตะกร้า แล้วยกออกไปไว้ห้องอื่น
จะนำมาคืนก็ต่อเมื่อหมดเวลาสอบแล้วเท่านั้นค่ะ (เป็นการบังคับกลายๆ ว่า
ยังไงเอ็งก็ต้องนั่งรอจนกว่าเวลาจะหมดอยู่ดี)
ซองใส่โทรศัพท์ และ ปากกาดำสำหรับทำข้อสอบ
(สอบเสร็จแล้ว เอากลับบ้านได้นะจ๊ะ ไม่มีใครว่า)
5.) ต้องเขียนชื่อ-นามสกุล
ทั้งกระดาษคำถามและกระดาษคำตอบ โดยในส่วนการเขียนชื่อภาษาอังกฤษ
ต้องถูกต้องตามบัตรประชาชน 100% ห้ามผิดเด็ดขาด
(ดิชั้นเขียนตัวพิมพ์ใหญ่ไปทั้งหมดเลย) ส่วนตรงชื่อเกาหลี ครูสนามสอบ มศว บอกว่า ไม่จำเป็นต้องเขียนตรงกับชื่อผู้เข้าสอบ(ที่แปะไว้หน้าห้องสอบ)ก็ได้
เพราะยังไงเขาก็โฟกัสแค่ชื่ออังกฤษกันอยู่แล้ว
6.) ทด/ขีดเขียนในกระดาษคำถามได้เต็มที่
เอาเลย
จัดไปปปปปป
7.)
ข้อสอบจะมีชุด คู่/คี่ ให้ฝนในกระดาษคำตอบให้ตรงกับชุดที่ได้ด้วยนะคะ (ทั้งสองชุดคำถามเดียวกันหมด
แต่ช้อยส์สลับตำแหน่งกัน)
8.)
ในกระดาษคำตอบจะมีช่อง “ไม่มาสอบ” = ห้ามไปยุ่งเด็ดขาด
ปล่อยว่างไปซะ
9.) ไม่อนุญาตให้เข้าห้องน้ำระหว่างสอบ (บางที่อาจจะผ่อนปรนกว่านี้) ยกเว้นว่าฉุกเฉินจริงๆ อีกนิดปราการจะแตก
เขื่อนจะทลายถึงจะไปได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องให้ครูผู้คุมสอบตามติดไปด้วยนะคะ…
■ ดีกรีความยากของ
TOPIK1
แน่ะ รู้นะว่าอยากจะถามข้อนี้กันน่ะ
สำหรับเด็กจุฬาฯ
ที่เรียนเกาหลีในคณะอักษรฯ ความรู้และคลังศัพท์จะประมาณแถวๆ
เกาหลี 3 (แต่ศัพท์บางตัวอาจจะทะลุไปถึงเกาหลี 4 นิดๆ)
ค่ะ
■
ในส่วนข้อสอบฟัง จะพูดให้ฟังทั้งหมด 2 รอบ เป็นการโต้ตอบกันระหว่างชายหญิงตลอด
(หมดปัญหาแยกไม่ออกว่าเสียงเหมือนกันจนแยกไม่ออกว่าใครพูดอยู่)
ไม่มีปัญหาฟังไม่ทัน เพราะพูดกันช้ามากกกกกกก ปารือจีอันนาาาา เมตตาปรานีสุดๆ
ปัญหาจะมีแต่ตัวเราเองที่ฟังไม่ออก ไม่รู้เรื่องแบบ Blank ไปเลยเสียมากกว่า…
อ้อ สิ่งที่อยากเตือนคือ คนที่ฝึกทำข้อสอบเก่าหลายๆ คนพอจะรู้ใช่มั้ยคะว่า
ช่วงต้นไฟล์เสียง จะมีดนตรี BGM
ไพเราะเสนาะหู และด้วยความที่เป็นคนหวังใหญ่ใฝ่ผล
เราก็จะใช้อีช่วงที่ดนตรียังคลอไปไล่อ่านช้อยส์ทั้งหลายเตรียมตัวไว้ใช่มั้ยคะ
มันก็ดีค่ะ แต่… ในตอนสอบจริง ในช่วงที่ดนตรีดังอยู่จะยังไม่อนุญาตให้เปิดข้อสอบค่ะ
(ว้าย) เพราะตามเป้าประสงค์การเปิดดนตรีนี้มันมีไว้เพื่อแค่ให้ผู้เข้าสอบรู้สึกผ่อนคลายด้วยสุทรียศาสตร์แห่งเสียงเพลงเท่านั้น(อ้อเหรอ
ช่วยได้มากเลย) อย่าคิดว่าจะได้เวลาทดมาฟรีๆ ล่ะ
■ ในส่วนพาร์ทการอ่านรูปแบบข้อสอบจะไม่กวน Teen เราเท่าไหร่ สมมติโจทย์คือ
“오빠 .... 언니가 같이 케이크를 만들어요.”
1.) 와 2.) 만 3.) 를 4.) 은
จะไม่มีการมาแบบ...
1.) 와 2.) 과 3.) 를 4.) 은
ให้กรีดร้องกันเล่นๆ ว่า เออ กูว่ากูก็รู้นะว่าทั้งสองตัวนี้มันแปลว่า
“กับ/และ”
แต่คำด้านหน้าไม่มีตัวสะกดแบบนี้ตามหลักไวยากรณ์มันควรจะใช้ตัวไหนดีวะ ไอ้หยา ลังเลๆๆๆๆ
//หายห่วงค่ะ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไวยากรณ์หลายๆ จุด แค่รู้คอนเซปต์ของมันว่า
ถ้าอยู่ในประโยคแล้วจะให้ความหมายหรือให้บริบทยังไง
ไม่ต้องถึงขั้นจำวิธีผันหรือเงื่อนไขข้อยกเว้นจุกเป๊ะๆๆๆ ก็ปลอดภัยละ 90% (ก็ TOPIK 1 ยังไม่มีสอบข้อเขียน ไม่ต้องเป๊ะขนาดนั้นก็ได้เนอะ)
แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าดิชั้นยุแยงให้พวกเธอประมาท ไม่อ่านไม่ทวนแมร่งละบ๊ายบายนะยะ
ที่บอกแบบนี้ก็เพื่อให้ไม่กังวลเฉยๆ เพราะถ้ายังมีเวลาเหลือก็ควรจะทวนให้เป๊ะไปเลยจะดีกว่าเน้อ
โดยรวมแล้ว ถ้าเทียบสัดส่วนเวลากับจำนวนข้อที่ต้องทำ
ถ้าหากไม่ใช่ประเภทอืดอาดหวานเย็น(แบบดิชั้น)ยังไงก็ทำทันค่ะ เผลอๆ
จะเหลือเวลาตรวจทานอีกสักรอบสองรอบก่อนหมดเวลาด้วยซ้ำไป
สรุปนะคะ ส่วนตัวคิดว่าข้อสอบไม่ยากค่ะ
ถ้าเตรียมตัวท่องไวยากรณ์และศัพท์มาดี แล้วก็ฝึกฟัง ฝึกทำข้อสอบเก่าให้ครบ
ยังไงก็ทำได้ชนิดที่คว้า 1-2
ได้ง่ายๆ เลยค่ะ ดิชั้นคอนเฟิร์ม
♥ โชคดีกับการสอบทุกคนนะคะ
อปป้าอนนี่ทั้งหลายเป็นกำลังใจให้
걱정하지 마, 잘할
수 있을 거예요!
ความคิดเห็น