ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #94 : วัดหงษาราม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 475
      0
      10 เม.ย. 53

    ในเรื่อง บุญพรรพ์กล่าวถึงวัดในคลองบางกอกใหญ่อยู่วัดหนึ่ง คือวัดหงษาราม หรือวัดหงสาราม

                 หงษารามเขียนแบบเก่าตามจดหมายเหตุและพระราชพงศาวดาร

                 หงสารามเขียนตามหนังสือต่างๆ ที่แก้ไขและพิมพ์เผยแพร่ในปัจจุบัน เช่นในหนังสือที่พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพและพระราชทานเพลิงศพเชื้อสายราชสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยา

    สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ทรงเครื่องเต็มยศ พร้อมเครื่องประกอบพระอิสริยยศ

                ที่จริงแล้ว วัดนี้แต่ดั้งเดิมเป็นวัดเก่าสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ชื่อว่า วัดเจ๊สัวหงหรือ วัดเจ้าสัวหงสันนิษฐานว่า น่าจะสร้างขึ้นโดยพ่อค้าจีนที่เดินทางไปมาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา เพราะเมืองธนบุรีสมัยนั้นเป็นเมืองด่าน ย่อมมีสำเภาเข้ามาหยุดจอดชุมนุม และบางทีอาจจะมีคนจีนตั้งหลักฐานกันอยู่บ้าง ซึ่งคนจีนที่เป็นผู้สร้างวัดเจ๊สัวหง หรือเจ้าสัวหงก็คงจะชื่อ หงนั่นเอง ครั้นนานๆ เข้าคงเห็นกันว่า คำว่า หงนั้นไม่มีความหมาย จึงกลายเป็น หงษ์(สะกดอย่างโบราณ)

                ในสมัยกรุงธนบุรี วัดนี้มีชื่อว่า วัดหงษ์อาวาสวิหาร

                ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะนั้นทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงอิศรสุนทร ได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) สืบต่อจาก สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท แต่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ไม่โปรดให้เสด็จไปประทับ ณ วังหน้าด้วยเหตุผบลสองประการ คือประการหนึ่งพระองค์ท่านทรงพระชรามากแล้ว จึงมี พระราชดำรัสว่า ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ คอยเสด็จไปประทับวังหลวงเสียทีเดียวเถิด ไม่ต้องทรงเปลี่ยนที่ประทับเป็นสองครั้งสองคราว ส่วนอีกประการหนึ่งนั้น เมื่อ สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพระประชวรหนัก พระอารมณ์แปรปรวน ทรงออกพระวาจาแช่งชักหวงแหนพระราชวังบวรของพระองค์เอาไว้มาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงไม่โปรดให้พระราชโอรสเสด็จไปประทับพระราชวังบวร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงคงเสด็จประทับ ณ พระราชวังเดิม คือพระราชวังเดิมสมัยกรุงธนบุรี

                ดังนั้น วัดหงษ์อาวาสวิหารซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับพระราชวัง จึงมีนามเปลี่ยนไปเป็น วัดหงษ์อาวาสบวรวิหาร

                ถึงรัชกาลที่ ๓ พระราชทานนนามใหม่ว่า วัดหงษาราม(ซึ่งในเรื่อง บุญบรรพ์ควรจะเรียกตามสมัยกรุงธนบุรี ว่า วัดหงษ์อาวาสวิหารเรื่องนี้เป็นความพลั้งพลาดของผู้แต่ง)

                ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลงนามวัดพระราชทานอีกครั้งว่า วัดหงสรัตนารามตามที่จดไว้ในพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า

                 วัดหงษาราม แปลงว่า วัดหงสรัตนาราม

                เดิมไม่มีการันต์ที่ตัว ส. แต่ชาวบ้านยังคงเรียกกันว่า วัดหงส์ชื่อตามนี้เรื่อยมาจนปัจจุบันเป็น วัดหงส์รัตนาราม

                ส่วนคลองบางกอกใหญ่นั้นคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ตั้งแต่สมัยก่อน สมเด็จพระชัยราชาธิราช (ที่ทรงมีพระสนมเอกเป็นที่ท้าวศรีสุดาจันทร์นั่นแหละ) คือ ก่อน พ.ศ.๒๐๖๕ คลองบางกอกใหญ่ยังไม่มีชื่อว่าบางกอกใหญ่ เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมคู่กันกับคลองบางกอกน้อย คือเวลานั้นตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถึงปากคลองบางกอกใหญ่ ยังเป็นแผ่นดินอยู่ แม่น้ำเจ้าพระยาเดิมไหลเลี้ยวขวาตรงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวงกว้างมาทะลุออกคลองข้างวัดโมลีโลกยาราม (เดิมเรียกว่าวัดท้ายตลาด) เมื่อ สมเด็จพระชัยราชารักษา โปรดฯให้ขุดคลองลัดระหว่างปากแม่น้ำอ้อมทั้งสอง คลองลัดกว้างใหญ่ขึ้นเลยกลายเป็นแม่น้ำ ส่วนแม่น้ำเดิมกลายเป็นคลอง เรียกกันในเวลาต่อมาว่าคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่

                ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดฯให้บรรดาคนจีนซึ่งได้เคยช่วยเหลือพระองค์ กู้ชาติตั้งบ้านเรือนอยู่ในคลองบางกอกใหญ่ คนจีนเหล่านั้นพวกชาวบ้านเรียกกันว่าจีนหลวง จึงพลอยเรียก คลองบางกอกใหญ่ว่าคลองบางหลวง คลองนี้จึงมีสองชื่อไปโดยปริยาย

                ในสมัยกรุงธนบุรี พระยาราชวังสัน (หวัง) ตั้งบ้านเมือง (แพด้วย) อยู่ใกล้ๆ วัดหงส์

                และสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อย (สมเด็จฯ กรมพระศรีสุดารักษ์) กับพระภัศดา (เจ้าขรัวเงิน) ก็ได้มาตั้งบ้านเรือนโรงแพค้าขาย แพลอยในคลองบางกอกใหญ่ ตรงข้ามวัดโมลีโลกยาราม เช่นกัน

                เล่าถึง พระยาราชวังสัน (หวัง) ก่อน

                บ้านพระยาราชวังสันริมวัดหงส์นั้น เข้าใจกันว่าท่านคงจะอยู่มาแต่ครั้งเจ้าพระยาจักรี (หมุด) บิดาของท่าน

                เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ผู้นี้ ท่านชื่อว่ามะหะหมุด เป็นเชื้อสายสุลต่านสุลัยมาน ซึ่งครองเมืองพัทลุงที่หัวเขาแดง สงขลา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองเป็นเวลา ๒๖ ปี (เรื่องราวของสุลต่านสุลัยมานนี้ออกจะยืดยาวมากอยู่ จึงขอข้ามไปก่อน)

    โบสถ์วัดหงส์รัตนารามในรัชกาลที่ ๓

                เอาเป็นว่าเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ท่านได้ขึ้นมาถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าเอกทัศน์ (ขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์) ก่อนเสียกรุง เจ้าพระยาจักรี (หมุด) มีตำแหน่งเป็นหลวงศักดิ์นายเวร หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า หลวงนายศักดิ์ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงนายศักดิ์ได้รับพระบรมราชโองการให้ไปเก็บส่วยสาอากรจากหัวเมืองภาคตะวันออก หลวงนายศักดิ์เก็บเงินจากพระยาจันทบุรี ได้เงินมา ๓๐๐ ชั่ง พอดีมีข่างกรุงแตกจึงเอาเงินไปฝังไว้ที่วัดจันทร์ ตกค่ำจึงแต่งจีนมาโห่ร้องทำทีปล้น แล้วบอกพระยาจันทบุรีว่าโจรปล้นเงินไปหมด พระยาจันทบุรีไม่เชื่อสั่งให้จับหลวงนายศักดิ์ ประจวบกับพระเจ้าตากยกกองทัพถึงจันทบุรี หลวงนายศักดิ์จึงหนีออกไปเฝ้า เพราะรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน และได้มอบจีนพรรคพวกให้ ๕๐๐ คน กับเงินส่วยสาอากร ๓๐๐ ชั่งที่เก็บไว้นั้น ร่วมกันกับพระเจ้าตากตีเมืองจันทบุรีแตก และได้เป็นกำลังจัดสร้างเรือรบขึ้นที่จันทบุรี ยกกองเรือเข้ากรุงศรีอยุธยา ตีพม่าแตกพ่ายไปด้วยระยะเวลาเพียง ๕ เดือน ตั้งแต่เสียกรุง

                เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ แล้วได้รับพระราชโองการให้เป็นแม่ทัพเรือยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ก็ตีได้สำเร็จ จึงโปรดฯตั้งให้เป็น เจ้าพระยาจักรี ศรีองครักษ์ว่าที่สมุหนายก

                นับเป็นเจ้าพระยาจักรีคนแรกในแผ่นดินกรุงธนบุรี คนทั้งหลายมักเรียกกันว่า เจ้าพระจักรีแขก

                เจ้าพระยาจักรี (หมุด) มีญาติสนิท สืบสายลงมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน ซึ่งเข้ารับราชการในกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน แต่ท่านผู้นี้เกิดและเติบโตขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา เป็นมหาดเล็กในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไม่ปรากฏว่ามีตำแหน่งอะไร ชื่อว่า ขุน

                ซึ่งเมื่อกรุงแตกได้พาญาติพี่น้องอพยพกันมาอยู่หมู่บ้านแถบวัดหนัง พวกญาติพี่น้องสายเจ้าพระยาจักรี (หมุด) อยู่ใกล้วัดหงส์ เรียกกันว่า แขกแพไม่ห่างไกลกันเท่าใดนัก วัดหนังนั้นอยู่ในครองด่านซึ่งเป็นคลองแยกจากคลองบางหลวง

                สกุลของคุณหญิงชูภรรยาพระยาราชวังสัน (หวัง) ก็มีนิวาสสถานอยู่แถบวัดหนังเช่นกัน

                อาจเป็นเพราะญาติสนิทตั้งเคหสถานบ้านเรือนอยู่แถบเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้พระยาราชวังสัน (หวัง) ได้พบปะและได้คุณหญิงชูเป็นเอกภรรยา

                ส่วน ขุนซึ่งต่อมาคือพระยาพัทลุง (ขุน) ผู้มีฉายานามว่า ขุนคางเหล็กนั้น ได้สมรสกับคุณหญิงแป้น คุณหญิงแป้นเป็นน้องสาวของท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) ผู้รักษากุญแจพระราชวังกรุงธนบุรี

                เป็นอันว่าสกุล สามสกุลได้มาเกี่ยวดองเป็นญาติกันอย่างใกล้ชิด คือ

                ๑. สกุลแขกสุจหนี่ หรือ สุนี คือ พระยาราชวังสัน (หวัง) และพระยาพัทลุง (ขุน)

                ๒. สกุลไทยแท้ชาวสวนวัดหนัง คือ คุณหญิงชู

                ๓. สกุลมอญ คือ คุณหญิงแป้น

                ซึ่งต่อมา ธิดาคนที่สองของพระยาราชวังสัน (หวัง) กับ คุณหญิงชู ชื่อ ท่านปล้อง (ธิดาท่านแรกคือ พระชนนีเพ็ง)

                ได้สมรสกับบุตรชายคนโตของพระยาพัทลุง (ขุน) กับ คุณหญิงแป้น ชื่อว่า ทองขาว (ต่อมาเป็นพระยาพัทลุง ต่อจากบิดาคือพระยาพัทลุง (ขุน))

                พระยาพัทลุง (ทองขาว) กับคุณหญิงปล้อง มีธิดา ชื่อว่า ผ่อง

                 ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) นั้น มีบุตรชายหญิง ๔ คน เข้าใจกันว่าเดิมคงจะเป็นหม่อมเจ้าทั้ง ๔ ท่าน เพราะว่าท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) เป็นบริจาริกาในพระเจ้าอุทุมพร แต่ครั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บุตรชายคนหนึ่งเรียกกันว่า หม่อมทับรับราชการเป็นพระอักษรสมบัติ

                หม่อมทับได้สมรสกับท่านผ่อง

                เกิดธิดาชื่อว่า ทรัพย์

                ท่านทรัพย์ต่อมาได้เป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๓ เป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าศิริวงศ์และพระองค์เจ้าลม่อม

                เพื่อให้เข้าใจง่ายขอให้ดูจากสาแหรก หรือที่ฝรั่งเรียก faniy tree

                ๑. พระยาราชวังสัน (หวัง) + คุณหญิงชู คุณหญิงปล้อง หม่อมทัพ (พระอักษรโสมบัติ) + ท่านผ่อง

                ๒. พระยาพัทลุง (ทองขาว) (ขุน) + คุณหญิงแป้น

                ๓. ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) + ราชวงศ์อยุธยา

                เจ้าจอมมารดาทรัพย์

                เจ้าจอมมารดาทรัพย์ เป็นหลานป้าของ สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รัชกาลที่ ๓

                และเป็นย่าของ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๕

              สกุลไทย สกุลแขก สกุลมอญ รวมทั้งราชสกุลอยุธยา จึงพัวพันกันอยู่ในราชสกุลรัชกาลที่ ๓ และที่ ๕
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×