ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #69 : เจ้าฟ้าหญิงฉิม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.17K
      2
      9 ธ.ค. 52

    พระโอรสธิดาลำดับที่ ๒ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย เป็นพระธิดา พระนาม เจ้าฟ้าหญิงฉิมถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาพระนามพระอัฐิเป็น เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี (อนรรคฆนารี)

                คำว่า ฉิมเป็นคำโบราณ มักใช้เรียกลูกชายหรือลูกหญิงคนใหญ่ ในสมัยโบราณจึงมี พ่อฉิม’ ‘แม่ฉิมกันแทบทุกครอบครัว

                ดังเช่น สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์ใหญ่ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) ก็ออกพระนามกันแต่ในรัชกาลที่ ๑ ว่า เจ้าครอกฉิมใหญ่ตามที่จารึกที่พระโกศพระอัฐิ

    สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญรอด) พระฉายาสาทิสลักษณ์ที่จิตรกรวาดขึ้นจากเค้าพระพักตร์ พระราชโอรสธิดา ผสมผสานจินตนาการ
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระราชนัดดาสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) เมื่อยังทรงพระเยาว์ ยังมิได้โสกันต์

                ที่เรียกว่า ฉิมใหญ่คงเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชโอรสพระองค์ใหญ่รองลงมาจากสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์นั้น ก็ทรงพระนามแต่เดิมว่า ฉิมเช่นกัน ดังปรากฏในจดหมายเหตุเก่าว่า สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑ ตรัสเรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ว่า พ่อฉิม           ตั้งแต่แรกพระบรมราชสมภพจนแม้เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว แล้วยังมีเจ้าฟ้าหญิงฉิมพระธิดาใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อยอีกที่เรียกกันว่า ฉิมพระโอรสพระองค์ใหญ่ในกรมหลวงนรินทรเทวี (พระองค์เจ้ากุ) พระน้องนางต่างพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าฉิมเช่นกัน (ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นนรินทรเทพ)

                กรมขุนอนัคฆนารี (เจ้าฟ้าหญิงฉิม) พระองค์นี้ปรากฏพระนามในหนังสือประเภทพระราชพงศาวดารกระซิบ เรื่อง ขัติยราชบริพัทย์ซึ่งแม้แต่ในหมู่เจ้านายก็ยังไม่มีใครทราบแน่ว่าท่านผู้ใดเป็นผู้จดเอาไว้ แต่ก็เริ่มมีผู้ล่วงรู้ถึงความในหนังสือนี้ ซึ่งเรียกกันอีกอย่างว่า หนังสือข้างที่บ้าง พงศาวดารข้างที่บ้าง ข้างที่คือ ข้างเตียง ข้างแท่น ข้างที่บรรทม นั่นเอง

                หมายความว่า หนังสือนี้ ซึ่งขึ้นต้นเรื่องราวว่า

                 จะพรรณนาถึงเรื่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ครั้งพระองค์ท่านยังดำรงอยู่ในที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรอยู่นั้น เกิดปีมะแม เอกศก จุลศักราช ๑๑๖๑...ฯลฯ...”

                เดิมทีก็อ่านก็ทราบกันอยู่แต่ในรั้วในวัง ทว่าถึงเวลานี้ มีผู้นำมาพิมพ์เผยแพร่อ่านกันทั่วๆ ไปแล้ว จึงจะไม่เล่าถึงเรื่องราวโดยละเอียด สรุปแต่เพียงว่าเป็นเรื่อง ขัตติยราชปฏิพัทธ์(หรือท่านเขียนว่า ขัติยราชบริพัทย์) ความรักของกษัตริย์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ และ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ ได้เล่าต่อๆ กันมา จนกระทั่งมีผู้จดเอาไว้ สันนิษฐานว่าแรกก็คงเพื่อถวายเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง หรืออาจถึงทูลเกล้าฯถวายสำหรับทรงเป็นหนังสือ ข้างที่ดังกล่าว

                ผู้จดเล่า เล่าถึงเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ แต่ยังเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จเข้าไปทรงเยี่ยมพระอาการประชวรสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย ซึ่งเป็นสมเด็จป้า และเป็นพระมารดาเจ้าฟ้าบุญรอด จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอสิ้นพระชนม์ เชิญพระโกศประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่เสด็จเวียนไปเวียนมา เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าฟ้าบุญรอด ถ้อยทีถ้อยทรงเสน่หาต่อกัน โดยมีพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพยวดี) ทรงมีพระทัยยินดีด้วย พูดง่ายๆ ว่าทรงรู้เห็นเป็นใจ ดังนั้น เมื่อเสร็จการพระศพแล้ว วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมชนกนาถแล้ว เสด็จแวะที่ตำหนัก สมเด็จพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ทรงได้พบปะกันกับเจ้าฟ้าบุญรอดทุกวัน จะเสด็จกลับข้ามไปพระราชวังเดิมที่ประทับก็ต่อเวลาค่ำมืด (คล้ายๆ ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ตอนพบกับนางจินตะหรา...จึงได้กล่าวกันว่า อันพระราชนิพนธ์บทละครอิเหนา นั้นคือส่วนหนึ่งของ ชีวิตรักของพระองค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ ไม่ว่าจะเป็นนางจินตะหรา หรือนางบุษบา)

                 ขัติยราชบริพัทย์เล่าถึงเจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆมนตรีเอาไว้ว่า

                 แต่เจ้าครอกเสียพระจริต ซึ่งภายหลังมีพระนามว่ากรมขุนอนรรคฆนารี เสด็จไปแอบทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จไปนั่งชิดกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ช่วยกันเดิมเล่นสกาเล่นกับกรมหลวงศรีสุนทรเทพ เมื่อทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงเสด็จออกมาตรัสว่าข้าหลวง โดยพระสุรเสียงอันดังว่า ท้าวพรหมทัตล่วงลัดตัดแดน มาเท้าแขนเล่นสกาพนัน สูๆ สีๆ อีแม่ทองจันทร์อีกสองสามวันจะเป็นตัวจิ้งจก

                ว่าที่รับสั่งร้องดังนี้ จะเป็นที่ขัดเคืองพระทัยหรือจะเป็นอย่างไรก็ไม่ได้ความชัด แต่รับสั่งร้องอยู่ดังนี้หลายวัน ถ้าเสด็จออกเยี่ยมพระแกลเห็นผู้ใดเดินมาก็ทรงร้อง สูๆ สีๆ อีแม่ทองจันทร์ อีกสองสามวันก็เป็นตัวจิ้งจก ทรงร้องได้วันละหลายๆ ครั้ง...ฯลฯ...”

                ว่ากันว่า กรมขุนอนัคฆนารี หรือเจ้าฟ้าฉิม เวลานั้นในรัชกาลที่ ๑ คงจะออกพระนามกันว่า เจ้าครอกฉิมเล็ก เพราะเจ้าครอกฉิมที่สิ้นพระชนม์แล้ว ออกพระนามกันว่าเจ้าครอกฉิมใหญ่ ส่วนที่เรียกกันว่า เจ้าครอกเสียพระจริตคงจะสังเกตเอาจากพระจริตกิริยาซึ่งคงฟุ้งซ่านขาดๆ เกินๆ ในการกระทำและวาจาผิดแผกแตกต่างคนปกติไปบ้าง เห็นจะไม่ใช่ถึงกับเสียพระจริต หรือ บ้าเพราะหากเป็นคนเสียจริตหรือบ้าคงไม่อาจผูกกลอนได้เข้าเรื่องเข้าราว

                เช่นเดียวกับผู้ที่ถูกว่าว่า เสียจริตหรือ บ้าอีกท่านหนึ่ง คือ คุณสุวรรณชาววังผู้แต่งเรื่อง พระมเหลเถไถซึ่งในประวัติที่ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ ว่า ไม่ปรากฏว่าทำราชการในตำแหน่งพนักงานใด คุณสุวรรณมามีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อรัชกาลที่ ๔ เหตุด้วยเสียจริต แต่ไม่คลั่งไคล้อันใด เป็นแต่ฟุ้งไปในทางกระบวนแต่งกลอน

                พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฑนารี พระเชษฐภคินีของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญณอด) ประสูติ พ.ศ.๒๓๐๕ สิ้นพระชนม์เมื่อใดไม่ปรากฎในจดหมายเหตุพระราชพงศาวดาร เข้าใจว่าจะสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ นั่นเอง

                พระโอรสธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อยนั้น เมื่อแรกประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ โปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรมแต่เพียงพระองค์เดียว คือ พระองค์ใหญ่เป็นพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า กรมหลวงเทพหริรักษ์

                พระนามกรมจึงคล้องจองกันกับ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา (เจ้าลา) คือเทพหริรักษ์-จักรเจษฎา)

                ต่อมาอีก ๒๐ ปี พ.ศ.๒๓๔๕ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ มหาสุรสิงหนาท สวรรคต แล้วโปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จดำรงพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เลื่อนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์น้อย จากกรมขุน ขึ้นเป็นกรมหลวง จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุ้ยเป็นกรมขุนพิทักษ์มนตรี

                ในรัชกาลที่ ๑ คำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ และ พระเจ้าหลานเธอ นั้น นำพระนาม หลานที่เป็น หลานน้าและ หลานลุงของพระเจ้าแผ่นดิน (พระราชภาคิไนย-หลานลูกของพี่สาว น้องสาว และ พระราชภาติยะ-ลูกของพี่ชายน้องชาย) ต้นรัชกาลที่ ๑ มี สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า (พระราชนัดดา-หลานตา) เพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต (พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ เจ้าครอกฉิมใหญ่) ซึ่งใช้ว่า หลานเธอเช่นกัน

                ต่อปลายๆ รัชกาลจึงมีสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ และพระเจ้าหลานเธอ (พระราชนัดดา-หลานปู่) หลายพระองค์ใช้คำนำพระนามว่า หลานเธอทั้งหลานน้า หลานลุง และหลานปู่ ส่วนหลานตาตลอดรัชกาลมีเพียงพระองค์เดียว คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต ดังกล่าว

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×