ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #5 : นามพระราชทาน, ใบกำกับพระสุพรรณบัฏ , คำประกาศ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.05K
      4
      5 มิ.ย. 52

    ขอตอบผู้ใหญ่บ้านตำบลหาดทรายรี ชุมพรก่อน คำถามของท่านแจงมาละเอียดดังนี้

    -จากสกุลไทย ๒๓๖๒ ฉบับวันครู คอลัมน์ "เวียงวัง" คำบรรยายใต้ภาพว่า "สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ทรงฉายกับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ อาภากร"

    ขอเรียนถามว่า เขตร กับ เขต ของเสด็จเตี่ยนั้น อย่างใดใช้ผิด อย่างใดใช้ถูก ที่ศาลหาดทรายรีเขาใช้ "เขต" แต่ที่หลังศาลากลาง จ. ชุมพร ใช้ "เขตร" ส่วนในสกุลไทยใช้ "เขตร"

    คำไหนใช้ถูก-ผิด กรุณากล่าวถึงที่มาของทั้ง ๒ คำนี้ ขอให้ตอบในสกุลไทยเพื่อให้ได้เป็นความรู้ทั่วๆ ไป-

    ใช้ถูกทั้งสองอย่าง

     "เขตร" ใช้อย่างเดิม ตามพระนามทรงกรมที่ได้รับพระราชทานในรัชกาลที่ ๕

     "เขต" ใช้อย่างตัวสะกดปัจจุบันตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งพระนามและนามต่างๆ นั้นก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงกันเอาเองตามพจนานุกรม

    (เขต -น. แดน แคว้น ทุ่ง นา ไร่ ที่ดิน (ป.เขตต) (โบราณเขียนว่า เขตร) )

    จริงๆ แล้วตามความเห็นส่วนตัว พระนามตลอดจนนามต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานจะเป็นนามสกุลหรือบรรดาศักดิ์ก็ตาม หากไม่ถึงกับเหลือบ่ากว่าแรง (ที่จะรับได้) ก็ไม่น่าจะไปเปลี่ยนของท่าน เว้นแต่องค์ท่านหรือเจ้าตัวจะโปรดหรือปล่อยให้เปลี่ยนไปตามปัจจุบัน

    เช่นคนบางคน ชื่อ "งามจิตร" แม้ในพจนานุกรม จะตัด "ร" ออก ก็ยังใช้ว่า "งามจิตร" แบบเก่า

    เนื่องด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงชุมพร เขตรอุดมศักดิ์ เป็นเจ้านายที่ทรงพระเกียรติคุณแผ่กระจายไปทั่วด้วยพระคุณวิเศษต่างๆ ประจักษ์กันอยู่แล้ว จึงขอคัดคำประกาศตั้งกรมจาก "จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงษานุวงษ์" (สะกดตามต้นร่างโบราณ) โดยละเอียดตามตัวสะกดเดิมเพื่อเป็นความรู้ดังนี้

     "ที่ ๑๑๐

    ทรงตั้งพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ เปนกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ณ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๓

    จาฤกพระสุพรรณบัตร ทองคำเนื้อ ๖ หนัก ๒ / ๓๒ กล่ำ

    พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์สิงหนาม

    จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณศุขพลปฎิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคล วิบูลยศุภผล มโหฬารทุกประการ เทอญ

    ใบกำกับพระสุพรรณบัตร

    ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ เป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจาฤกในพระสุพรรณบัตรว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุมดศักดิ์ สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม ในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณศุขพลปฎิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล วิบุลย์ศุภผลมโหฬารทุกประการ

    ให้ทรงตั้งเจ้ากรม เป็นหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ถือศักดิน ๖๐๐

    ให้ทรงตั้งเจ้ากรม เป็นรนองนัครานุกิจ ถือศักดินา ๔๐๐

    ให้ทรงตั้งสมุห์บาญชีเป็นหมื่นกาญจนดิฐผดุงพล ถือศักดินา ๓๐๐ ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งยศทั้งสามนี้ ทำราชการในหลวงแลในกรม ตามอย่างธรรมเนียม เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บาญชี ในพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวงสืบไป ให้มีศุขสวัสดิเจริญเทอญ

    ตั้งแต่ ณ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๓ เป็นวันที่ ๑๓๑๔๘ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

    คำประกาศ

    สุกมัสดุ พระพุทธสาสนกาล เปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔จ พรรษาปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม นาคสังวัจฉระ กติกมาส ศุกรปักษ์ ตติยดิคีครุวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๓ พฤศจิกายนมาศ ทะสะมะมาสาหนคุณพิเศษ บริเฉทกาบกำหนด

    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการในประเทศยุโรป จนได้เข้าฝึกหัดในการทหารเรือ ได้เสด็จลงประจำเรือจนเสร็จวิธีเรียน ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาศประเทศยุโรป ได้เสด็จมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ณ เกาะลังกา ได้เสด็จลงประจำเรือพระที่นั่งมหาจักรกรี ทรงถือท้ายเรือพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง ครั้นเมื่อเสด็จกลับเข้ามากรุงเทพมหานาครก็ได้ทรงรับราชการในกรมทหารเรือสืบมาจนบัดนี้ มีไวยวุฒิปรีชาสามารถ อาจหาญในวิชาการทางที่ทรงร่ำเรียนมา สมควรที่จะมีพระเกียรติยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งได้

    จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนา พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ ขึ้นเปนพระองค์เจ้าต่างกรม...ฯลฯ..."

    ข้อความต่อไปที่ละเอาไว้นั้นซ้ำกันกับในใบกำกับพระสุพรรณบัฎ

    ที่เรียกว่า "ต่างกรม" นั้น เล่าตามที่เคยฟังมาว่า แต่โบราณมา เมื่อเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปทรงเจริญด้วยพระวัยวุฒิคุณวุฒิสมควรแล้ว ก็จะโปรดเกล้าฯให้ตั้ง "กรม" ต่างหากจากกรมเดิมๆ มีเลขสมข้าคนบริวารเป็นกรมอีกกรมหนึ่งขึ้นกับพระองค์ท่าน จึงเรียกว่า พระองค์เจ้าต่างกรม เจ้าฟ้าต่างกรม แต่ต่อมาการทรงกรมของเจ้านาย เป็นเพียงธรรมเนียมตามราชประเพณีโบราณเท่านั้น มิได้มีกรมขึ้นกับพระองค์ท่านดังในสมัยก่อนศักดินาก็เช่นกัน เป็นเพียงพระเกียรติยศเท่านั้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×