ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #243 : การสันนิษฐาน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 353
      0
      17 เม.ย. 53

     ความโปรดปรานทรงพระเมตตาและห่วงใยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) นั้น จะเห็นได้จาก เมื่อครั้งลูกผู้น้องของสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีฯ คือ พระสุริยภักดี (สนิท) ผู้เป็นบุตรชายใหญ่ของพระยาศรีพิพัฒน์ (ต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติในรัชกาลที่ ๔) ต้องพระราชอาญาเรื่องชู้สาวกับเจ้าจอมอิ่ม ถึงขั้นประหารชีวิตนั้น

                เวลานั้นพระสุริยภักดี อายุเพียง ๒๘ ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีฯ ยังเป็นจมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็ก อายุ ๓๐ ปี สันนิษฐานกันว่า คงจะเพิ่งได้เป็นจมื่นไวยวรนารถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงเป็นห่วง ด้วยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีฯ นั้น เล่ากันว่าเมื่อยังหนุ่มๆ หน้าตาท่านคมสัน ดังที่หมอบรัดเล (คนไทยเวลานั้นเรียกว่าปลัดเล) บันทึกไว้ตั้งแต่ท่านยังเป็นหลวงนายสิทธิ (หลวงสิทธินายเวร) ว่า

                “ขุนนางหนุ่มผู้นี้พวกมิชชั่นนารีกล่าวว่า ท่าทางคมขำ เฉียบแหลม พูดจาไพเราะ”

    พระบาทสมเด็จ
    พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    บรมราชาภิเษก
    เสด็จขึ้นครองราชย์
    พ.ศ.๒๔๑๑
    พระชนมายุ ๑๕ พรรษา

                จึงน่าที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะทรงพระมหาเมตตา เป็นห่วงว่าจะพลาดพลั้งไปดังลูกผู้น้องของท่าน         พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯนั้น ทรงเป็นกวี แม้จะไม่ปรากฏว่าเปรื่องปราดมากมาย เนื่องจากพระราชภารกิจด้านราชการงานเมืองมีมาก มาแต่ยังทรงดำรงพระยศกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดแต่ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วร้อยกรองเพียงสั้นๆ โดยมากเป็นทำนองสักวาบ้าง บทดอกสร้อยบ้าง หรือบทบริภาษขันๆ หรือสั่งสอน ดังเช่นกลอนทรงว่าคุณพุ่ม ซึ่งมีผู้ท่องจำกันไว้ค่อนข้างแพร่หลาย คือ

                “เจ้าช่อมะกอก เจ้าดอกมะไฟ เจ้าเห็นเขางาม เจ้าตามเขาไป เขาทำเจ้ายับ เจ้ากลับมาไย เขาสิ้นอาลัยเจ้าแล้วฤๅเอย”

                กลอนบทนี้เล่ากันว่า ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นสดๆร้อนๆ ออกจากพระโอษฐ์ทีเดียว

                ดังนี้ เมื่อเกิดเรื่องพระสุริยภักดี จึงทรงพระราชนิพนธ์ เพลงยาวเสมือนพระบรมราโชวาทพระราชทานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีฯ เพลงยาวนั้นว่า

                            “อย่าพิกลจริตให้ผิดผัน
                เคร่าครองชีวันไว้ดีกว่า
                ยังกำดัดสันทัดยุพานพา
                ทั้งสักรวา ก็ดีปรีชาชาญ
                แล้วแหลมหลักในลักษณ์กลเลศ
                รู้จบไตรเภททหารหาญ
                คนรู้มากมักได้ยากทรมาน
                สดับสารนึกน่าจะปรานี
                แต่งตอบจะประกอบให้หายหลง
                อย่าพะวงในสัมผัสทั้งสี่
                กลิ่น เสียง รูปรสวาที
                กระยาหารอันมีโอชารส
                อีกทั้งดุริยางคดนตรี
                ทั้งนี้ให้พร่ำจำอด
                จะเสียตัวก็เพราะกลั้วรักรส
                เป็นเบื้องบทเร้าราคราคี
                อย่าใหลหลงพะวงว่าสิ่งสุข
                คือกองทุกข์ใหญ่ไม่เอาตัวหนี
                เพราะเมตตาจึงช่วยว่าให้ดีดี
                อย่าจู้จี้ให้พลอยรำคาญเอยฯ”

                ตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีฯ เป็นมหาดเล็กใกล้ชิด จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเป็นเวลา ๒๗ ปี ตั้งแต่เป็นหุ้มแพร เป็นหลวงสิทธินายเวร เป็นจมื่นไวยวรนารถ ตามลำดับ จนกระทั่งเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก คือผู้บังคับบัญชามหาดเล็กทั้งปวง

    สมเด็จเจ้าพระยา
    บรมมหาศรีสุริยวงศ์
    (ช่วง บุนนาค)
    ในรัชกาลที่ ๔ เป็น
    เจ้าพระยาศรีวรวงศ์
    ที่สมุหพระกลาโหม คือ
    ตราพระคชสีห์
    และตราศรพระขรรค์
    ตราศรพระขรรค์นั้น
    นับเสมอตราจักรของ
    เจ้าพระยาจักรี แต่โบราณ
    ในรัชกาลที่ ๕ เป็น
    เจ้าพระยาศรีวรวงศ์
    แต่ถือศักดินา ๓๐,๐๐๐
    เสมอสมเด็จเจ้าพระยา
    เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
    เมื่อพระบาทสมเด็จ
    พระพุทธเจ้าหลวง
    ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ
    เมื่อพระบาทสมเด็จ
    พระพุทธเจ้าหลวง
    ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว
    เจ้าพระยาศรีวรวงศ์
    จึงยอมรับเป็น
    สมเด็จเจ้าพระยา
    บรมมหาศรีสุริยวงศ์
    ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินทั่วไป
    และยังคงบังคับบัญชา
    สิทธิ์ขาดราชการแผ่นดิน
    ในกรุงนอกกรุง
    ทั่วพระราชอาณาจักร
    สำเร็จสรรพอาญาสิทธิ์
    ประหารชีวิตคน
    ที่ถึงแก่อุกฤษฏโทษ
    มหันตโทษได้

                และเป็นที่ทรงทราบกันในบรรดาพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีฯ ท่านรักพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯอย่างลึกซึ้ง เกินกว่าคำว่า ‘จงรักภักดี’ ธรรมดาๆทั่วไป

                ท่านจึงเป็นผู้รักษาพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯไว้อย่างมั่นคงเหนียวแน่น โดยเฉพาะพระราชดำริโดยนับว่าต่อไปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯคือผู้ที่จะทรงรับราชบัลลังก์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๔

                พระราชดำรินั้นอาจคลอนแคลนไปบ้าง ด้วยทรงพระวิตกเป็นห่วงเรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ขณะทรงผนวชอยู่นั้น ทรงตั้งนิกายขึ้นมาใหม่ และพระนิกายใหม่นั้นห่มจีวร อย่างพระพม่ามอญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระวิตกว่า “จะเป็นเหมือนหนึ่งกรุงศรีอยุธยาอยู่ในใต้บังคับเมืองมอญแลพม่า และจะเสียพระเกียรติยศของพระองค์ว่า เป็นเมืองมอญเมืองพม่ามา ตั้งแต่ในแผ่นดินของพระองค์”

                แม้กระนั้นเมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต ก็ยังทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง เฉพาะ พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีฯ) ว่า

                “...ที่ (ทรงเห็นว่า) มีสติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ ก็เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่ ท่านฟ้าน้อย ๒ พระองค์ ก็ทรงรังเกียจอยู่ว่า ท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นก็จะให้พระสงฆ์ห่มผ้าอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดินดอกกระมัง”

                แต่พระราชกระแสรับสั่งที่คิดว่า น่าจะจับใจสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีฯ อย่างลึกซึ้งเห็นจะเป็น

                “การต่อไปภายหน้าเห็นแต่เอ็งที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป”

                ทั้งพระราชทานพระบรมราโชวาท แก่ผู้ที่ต่อไปจะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ว่า

                “การศึกสงคราม ข้างญวนขับพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว

                พระยาศรีสุริยวงศ์นั้นรับพระราชโองการ ‘สั่งเสีย’ เฉพาะตัวท่านแล้วก็ร้องไห้

                ทั้งนี้อย่าว่าแต่พระยาศรีสุริยวงศ์ แม้ผู้ที่ได้อ่านพระราชโองการ ตอนนี้บางท่านก็คงไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้

                ความรู้สึกของพระยาศรีสุริยวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯนั้น พระองค์ท่านเห็นจะทรงเป็นทั้งพระเจ้าแผ่นดินและเป็นทั้งยิ่งกว่าพ่อของท่าน

                น่าคิดว่า การที่ท่านรับราชการเป็นเพียง ‘อธิบดีผู้ใหญ่’ มิได้คิดทะเยอทะยานยิ่งไปกว่านั้น ประการหนึ่งอาจเป็นด้วยพระราชดำรัส ‘สั่งเสีย’ อันจารึกอยู่ในหัวใจของท่านก็เป็นได้

                และถ้าคิดให้ลึกซึ้งมากไปกว่านี้ เวลานั้นก๊กราชินิกุล ในสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์นั้น มีมากมาย ล้วนรับราชการเป็นใหญ่เป็นโต โดยเฉพาะเจ้าพระยาพระคลังว่าที่กลาโหม พระยาศรีพิพัฒน์ และตัวพระยาศรีวรวงศ์เอง ข้าราชการผู้ใหญ่ตระกูลอื่นๆก็ล้วนเป็นพรรคพวกด้วย ผู้ที่เข้มแข็งเป็นที่เกรงใจนับถือ คือเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) และเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ต่างก็ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว จึงสมมุติว่า หากท่านคิดการกำเริบ ดังที่ปรากฏมาแล้วในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ผู้ใดจะมี ‘กำลัง’  พอต่อต้านได้

                ที่ว่าคิดให้ลึกซึ้งก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระองค์ท่านทรงพระปรีชาญาณจึงทรง ‘ตีกั้น’ เอาไว้ก่อน ด้วยทรงตระหนักว่าพระยาศรีวรวงศ์รักท่าน จึงทรงมีพระบรมราชกระแส ‘สั่งเสีย’ ให้รับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ ประคับประคอง พระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชวงศ์จักรีของพระองค์ท่าน ซึ่งก็ปรากฏว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ท่านได้ปฏิบัติสนองพระราชกระแสรับสั่งนั้นอย่างมั่นคง ตราบจนกระทั่งถึงแก่พิราลัยในรัชกาลที่ ๕

                ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการสันนิษฐานตามข้อเท็จจริงของเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าแผ่นดิน และมหาดเล็กที่ทรงพระมหากรุณาโปรดปรานดุจราชบุตรบุญธรรม

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×