ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #185 : ประวัติหลวงนายชิดภูบาล (ป้อม)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 671
      0
      15 เม.ย. 53

    หลวงนายชิดภูบาล (ป้อม)

                เป็นอีกผู้หนึ่งที่ไปมาเฝ้าแหน เสด็จในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อประทับอยู่วังท่าพระเสมอจนนับได้ว่าเป็นข้าหลวงเดิมแต่ยังมิได้เสด็จขึ้นครองราชย์เช่นกัน

                ประวัติพิสดารของหลวงนายชิดภูบาล (ป้อม) ตั้งแต่บรรพบุรุษ เคยเล่ามาแล้ว จึงขอกล่าวถึงเพียงสั้นๆว่า

                หลวงนายชิดภูบาล (ป้อม) เป็นชั้นที่ ๖ ของบรรพบุรุษชั้นที่ ๑ คือ เจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) ท่านผู้นี้ตามประวัตินับว่ารับราชการในพระเจ้าแผ่นดินมาถึง ๘ แผ่นดิน โดยไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย ตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๓-๒๑๙๘) ได้เป็นพระยาพิชัยราชา แล้วเลื่อนตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์เรื่อยมา แม้ว่าจะมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินอีกถึง ๗ รัชกาล

                คือ เจ้าฟ้าไชย (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๖) ครองราชย์ ๙ เดือน

                พระศรีสุธรรมราชา (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๗) ครองราชย์ ๒ เดือน ๒๐ วัน

                พระนารายณ์ (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓) ครองราชย์  ๒๖ ปี

                พระเพทราชา (สมเด็จพระมหาบุรุษ) ครองราชย์ ๑๖ ปี

                ขุนหลวงเรือ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘) ครองราชย์ ๑๐ ปี

                ขุนหลวงท้ายสระ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙) ครองราชย์ ๒๗ ปี

                และแผ่นดินที่ ๘ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ (สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓)

                เจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) ได้เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก ตั้งแต่ในแผ่นดินพระเจ้าเสือ

    พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมดอมาตยกุล) บุตรชายพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม)

                ผู้สนใจในประวัติศาสตร์คงจะทราบกันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่า พระเจ้าเสือท่านมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชร และสมเด็จเจ้าฟ้าพร โปรดให้รับพระบัณฑูรเป็นพระบัณฑูรใหญ่ และพระบัญฑูรน้อย คู่กัน สองพระองค์นี้ เรียกได้ว่าทรงตกทุกข์ได้ยากมาด้วยกัน จวนเจียนจะโดนพระราชบิดาประหารด้วยกัน จึงทรงสนิทสนมกรักกันมาก

                ครั้นพระเจ้าเรือสวรรคต พระบัณฑูรใหญ่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดให้พระบัณฑูรน้อย เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหาอุปราชวังหน้า

                ทว่าเมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ  จะเสด็จสวรรคตกลับยกราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส พระมหาอุปราชไม่ทรงยอมจึงเกิดรบราฆ่าฟันกันขึ้น ในที่สุดพระมหาอุปราชเป็นฝ่ายชนะ เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ทรงขัดเคืองในพระเชษฐาธิราช น้อยพระทัยว่าทรงตกทุกข์ได้ยากมาด้วยกัน และพระองค์ก็ทรงเป็นพระมหาอุปราชอยู่ จึงมีพระราชดำรัสว่าจะไม่เผาพระบรมศพ ให้ลากพระบรมศพไปทิ้งน้ำเสีย

                เวลานั้น เจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) อายุถึง ๙๙ ปีแล้ว อุตส่าห์เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลวิงวอนพระกรุณาให้ถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณี

                โดยเหตุที่เจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) เป็นอัครมหาเสนาบดีมาหลายแผ่นดินแล้ว พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเกรงใจ โปรดให้เจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) จัดการการพระเมรุ พอให้เป็นพระราชพิธี ครั้นถวายพระเพลิงเสร็จ เจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) ก็ถึงแก่อสัญกรรมอายุเห็นจะร้อยปีพอดี

                ข้ามมากล่าวถึงบิดาของหลวงนายชิดภูบาล (ป้อม) ชั้นที่ ๕ คือ พระอภัยพิพิธ (เอม)

                พระอภัยพิพิธ (เอม) นั้น ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้พระนิเวศน์เดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงเป็นที่สนิทสนมคุ้นเคยในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์มาแต่เดิม

                ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดฯให้พระอภัยพิพิธ (เอม) รับราชการวังหน้าเป็นผู้ดูแลการเงินเทียบเท่าอธิบดีพระคลังวังหน้า

                นายป้อม บุตรชาย จึงเข้าเป็นมหาดเล็กวังหน้า เดิมเป็นนายฉลองไนยนารถ มหาดเล็กหุ้มแพร

                เมื่อครั้งเป็นนายฉลองไนยนารถ มีเรื่องบังเอิญทำให้กรมพระราชวังบวรฯกริ้ว จวนเจียนจะต้องพระราชอาญา ทว่าได้เสด็จในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กราบทูลแก้ไขให้ จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่นั้นมาจึงเข้าเฝ้าแหนเสด็จในกรมฯ อยู่เสมอ จนคุ้นเคยกับผู้ที่ไปมาเฝ้าแหนด้วยกัน ตลอดจนมหาดเล็ก และข้าในกรม

                ต่อมานายฉลองไนยนารถ (ป้อม) ได้เลื่อนขึ้นเป็น หลวงนายชิดภูบาล นายเวร เวรชิดภูบาลวังหน้า

                ทำเนียบและหน้าที่มหาดเล็กวังหน้า ก็เป็นทำนองเดียวกันกับวังหลวง เพียงแต่ลดหลั่นลงมาจากวังหลวง

                เทียบให้ชัดตั้งแต่ชั้น หัวหมื่นและ นายเวร วังหลวง-หัวหมื่น เดิมเรียกว่า จมื่น เช่นเดียวกันกับ วังหน้า แต่ศักดินาของหัวหมื่นวังหลวง ๑,๐๐๐ ไร่ ศักดินาของหัวหมื่นวังหน้า ๘๐๐ ไร่ เพิ่งมาเปลี่ยนเรียกหัวหมื่นวังหลวง ว่าเจ้าหมื่น ในรัชกาลที่ ๔ ทั่วๆไปเรียกกันว่า คุณพระนาย หรือ พระนาย

                จมื่นหรือเจ้าหมื่นวังหลวงนี้ เป็นตำแหน่งแม่ทัพด้วย ดังเช่นจมื่นไวยวรนารถ ในเรื่องขุนช้างขุนแผน และ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) ในรัชกาลที่ ๕

                มี ๔ ชื่อ คือ

                เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี
                เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์
                เจ้าหมื่น เสมอใจราช
                เจ้าหมื่นไวยวรนารถ

    นายเวร รองหัวหมื่น มี ๔ ชื่อ เช่นกัน ว่ากันว่าเดิมเป็นตำแหน่งปลัดทัพจึงคงรักษาคำว่า ‘นายเวร’ ต่อท้ายราชทินนาม ทั่วๆไปเรียกว่า ‘คุณหลวงนาย’ หรือ ‘หลวงนาย’

                ทั้ง ๔ ชื่อ คือ

                หลวงศักดิ์ นายเวร
                หลวงสิทธิ์ นายเวร
                หลวงฤทธิ์ นายเวร
                หลวงเดช นายเวร

    วังหน้า หัวหมื่น ๔ ชื่อ คือ

                จมื่นมหาดเล็ก
                จมื่นเด็กชา
                จมื่นมหาสนิท
                จมื่นจิตรเสน่ห์

    นายเวร ๔ ชื่อ คือ

                หลวงชิดภูบาล
                หลวงชาญภูเบศร์
                หลวงเสน่ห์รักษา
                หลวงมหาใจภักดิ์

                การเรียกขานโดยทั่วไป ก็เรียกหัวหมื่นว่า ‘พระนาย’  และเรียกนายเวรว่า ‘หลวงนาย’ เช่นเดียวกันกับทางวังหลวง

                กลับมาเล่าถึง หลวงนายชิดภูบาล (ป้อม) กันอีก

                เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๓ หลวงนายชิดภูบาล (ป้อม) โอนมารับราชการวังหลวง ได้เป็นพระสุริยภักดี เจ้ากรมพระตำรวจซ้าย ต่อมาได้มีความดีความชอบครั้งเจ้าอนุเวียงจันท์ โปรดฯให้เลื่อนเป็นพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) และพระราชทานบ้านหน้าวัดเลียบเหนือคลองโอ่งอ่าง ให้อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ แทนบ้านเรือนเดิม

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดปรานพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) จนถึงชั้นบุตรชาย คือ นายโหมด ได้เป็นมหาดเล็กพิเศษ รายงานตรวจราชการต่างๆหลายเรื่อง เป็นต้นว่า เป็นมหาดเล็กรายงาน กรมช่างสิบหมู่ และโปรดฯให้รายงานการก่อสร้างวัดพระเชตุพน โปรดฯให้เป็นนายพิจิตรสรรพการหุ้มแพร

                ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ และพระวิสุทธิโยธามาตย์ ตามลำดับ จนถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดฯให้เป็นพระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด) อธิบดีกรมกสาปน์

                ประวัติของท่านผู้นี้มีผู้เขียนกันไว้มาก เพราะเป็นผู้มีสติปัญญาความสามารถในการช่างต่างๆ เป็นช่างภาพคนแรกของเมืองไทย เป็นผู้วางคุมเครื่องจักรกลในเรือกลไฟลำแรกของไทยในรัชกาลที่ ๔ ฯลฯ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×