ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #173 : พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 518
      1
      14 เม.ย. 53

    พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
    พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก พ.ศ.๒๔๑๑

    พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
    พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๑๖

                การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในสยามประเทศนั้น แต่โบราณมา ท่านอธิบายไว้ว่า

                “ตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเป็นตำรามาแต่โบราณว่า พระมหากษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาท เมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง ก็เสด็จอยู่เพียง ณ ที่พักแห่งหนึ่ง พระนามที่ขานก็คงใช้พระนามเดิม เป็นแต่เพิ่มคำว่า ‘ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน’ เข้าข้างท้ายพระนาม แลคำรับสั่งก็ยังไม่ใช้พระราชโองการ จนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏ จารึกพระบรมราชนามาภิไชย กับทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำราชาภิเษกแล้ว จึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศแห่งพระราชามหากษัตริย์แต่นั้นไป

                เพราะถือเป็นนิติดังกล่าวมานี้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดเสด็จผ่านพิภพ จึงรีบทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายใน ๗ วันบ้าง กว่านั้นบ้าง อย่างช้าเพียงภายในเดือนเศษ เป็นประเพณีสืบมา”

                ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖

                ทรงพระราชดำริด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีผู้ใหญ่ ว่า ลักษณะการพระราชพิธีราชาภิเษกตามแบบโบราณ เช่น ที่เคยทำมาในประเทศนี้ เมื่อคิดเทียบกับความนิยมของประเทศทั้งปวงในสมัยนี้แล้ว มีข้อขัดข้องอยู่ ๒ อย่าง คือ เหมือนหนึ่งทำการรื่นเริงในเวลากำลังไว้ทุกข์อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง รีบทำ ไม่ให้เวลาแก่ราชตระกูลหรือประเทศที่เป็นสัมพันธมิตร มีโอกาสได้มาช่วยงานตามอัธยาศัย และประเพณีที่นิยมกันในประเทศนั้นๆ

                จึงโปรดให้จัดระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น ๒ ครั้ง

                ครั้งแรกให้เป็นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรตามโบราณประเพณีดังกล่าว แต่งดการแห่เสด็จเลียบพระนครไว้ก่อน ตลอดจนการรื่นเริงอย่างอื่นๆไว้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ ให้จัดขึ้นในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๓ หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จสวรรคต ๑๙ วัน (เสด็จสวรรคต วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓)

                ครั้งที่ ๒ หลังจากครบ ๑ ปี ถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว โปรดให้จัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๕๔

                ที่จริง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้งนั้น เคยมีมาแล้ว ในรัชกาลที่ ๑ และ รัชกาลที่ ๕ ด้วยเหตุผลแตกต่างกัน

    เบญจราชกกุธภัณฑ์
    ๑. พระมหาพิชัยมงกุฎ
    ๒. พระแสงขรรค์ชัยศรี
    ๓. ธารพระกร
    ๔. พัดวาลวิชนี และพระแส้   
    ๕. ฉลองพระบาทเชิงงอน ทองลงยา

                คือในรัชกาลที่ ๑ นั้น สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริย์เริ่มสร้างกรุงพอเป็นสังเขป เพื่อให้ทันเสด็จปราบดาภิเษก สร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานพอให้เสด็จประทับ และทำการราชพิธี ยังมิได้สร้างพระมหาปราสาทราชมณเฑียร พระบรมมหาราชวังก็ล้อมด้วยไม้ระเนียดไว้ก่อน เสด็จบรมราชาภิเษก ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์ ตั้งพระราชาคณะ และขุนนางเสนาบดีจตุสดมภ์กรมเมืองครบตำแหน่งก่อน เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕

                จึงค่อยสร้างพระมหาปราสาทราชมณเฑียร ขุดคูรอบพระนคร สร้างกำแพงเมือง

                ระหว่างนั้น ศึกพม่าก็ยังติดพันอยู่ จึงมีคำกล่าวกันมาแต่โบราณว่า ในรัชกาลที่ ๑ นั้น พระหัตถ์ซ้ายรบพม่า พระหัตถ์ขวาสร้างเมือง

                ดังนั้น เมื่อสร้างพระนครเสร็จเรียบร้อย จึงโปรดให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามตำราโบราณราชประเพณี เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘

                ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เมื่อแรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระชนมายุ ๑๕-๑๖ พรรษา ทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๔๑๑ เวลานั้นต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ครั้นเมื่อเสด็จออกทรงผนวช ลาผนวชแล้วจึงโปรดให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อีกครั้งหนึ่ง พ.ศ.๒๔๑๖

                เรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ละรัชกาลนั้น ผู้สนใจค้นหาอ่านได้จากจดหมายเหตุ จะเล่าเฉพาะเกร็ดซึ่งอาจมีผู้อยากทราบ

                เรื่องหนึ่งคือ เมื่อวันเริ่มต้นตั้งพิธีพราหมณ์ ทรงพระราชอุทิศเครื่องพลีกรรมให้เจ้าพนักงานเชิญไปบวงสรวงเทวดารักษาพระที่นั่งรักษาพระมหาเศวตฉัตร และที่สถิต ณ เทวสถานต่างๆ ๑๗ แห่ง

                หลังจากประกาศเทวดาแล้ว พระมหาราชครูพราหมณ์ ถวายน้ำสังข์ ใบมะตูม ทรงทัด และใบสมิทธิทรงรับมาปัดกวาดพระองค์

                ใบสมิทธินี้เคยมีผู้ถามว่า ใบอะไร

                ในหนังสือพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๕ อธิบายว่า ใบสมิทธิ (หรือสมิต) คือใบไม้ปัดพระเคราะห์ ๓ ชนิด

                ๑. ใบมะม่วง ๒๕ ใบ (ปัด ภยันตราย)
                ๒. ใบทอง ๓๒ ใบ (ปัด อุปัทวันตราย)
                ๓. ใบตะขบ ๙๖ ใบ (ปัด ไรคันตราย)

                มิได้บอกว่าเหตุใดจึงต้อง ๒๕ ใบ ๓๒ ใบ และ ๙๖ ใบ

                บอกแต่ว่า เมื่อทรงรับจากพระมหาราชครูพราหมณ์มาทรงปัดพระองค์แล้ว พระมหาราชครูก็นำไปบูชาชุปโหมเพลิงป้องกันอันตรายทั้งปวงตามพิธีพราหมณ์ (เรียกเป็นศัพท์ยากและยาวว่า พิธีศาสตร์ปุณยาชุปโหมกุณฑ์)

                อีกเรื่องหนึ่ง คือ เมื่อพระมหาราชครูพิธีกราบบังคมทูลถวายศิริราชสมบัติ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเป็นพระปฐมบรมราชโองการ

                พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ จดไว้ว่า ทั้ง ๔ รัชกาลทรงมีพระปฐมบรมราชโองการเหมือนๆกัน คือทรงมีพระราชดำรัสว่า

                “อันพรรณพฤกษชลธี แลสิ่งของในแผ่นดินทั่วทั้งพระราชอาณาเขต ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณ์จารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด”

                แต่พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ แผ่นดินเดียว  มิได้จดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ละเอียดดังเช่น ๔ รัชกาลจดไว้เพียงสั้นๆ พอเป็นสังเขป ทว่าก็สันนิษฐานกันว่า พระปฐมบรมราชโองการเห็นจะทรงมีพระราชดำรัส เป็น ‘ทางการ’ เหมือนๆกันกับ สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช และ สมเด็จพระบรมชนกาธิราช

                โองการท่านสั่งเจ้า             คฤหบดี
    พรรณพฤกษ์ชลธี                          ทั่วหล้า
    สรรพสิ่งซึ่งไป่มี                            ผู้เกียด กันนา
    ตามแต่ชนไพร่ฟ้า                         จะต้องการเทอญ

                (จากหนังสือโคลงและร่ายเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)

                จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๖ นั้น ก็มิได้จดรายงานถึงพระปฐมบรมราชโองการ

                แต่จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๗ จดพระบรมราชโองการ อันเป็นปฐมบรมราชโองการไว้ว่า

                “ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระ ครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญ”

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×