ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #114 : "พระราชวงศ์เขมร" และ "พระราชวงศ์ไทย"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.09K
      0
      10 เม.ย. 53

       พระราชวงศ์เขมรในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้น มีความผูกพันใกล้ชิดกับเมืองไทยและ

    พระราชวงศ์ไทย ยิ่งกว่าพระราชวงศ์ชาติอื่นๆ พระราชวงศ์เขมรที่เข้ามาอยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้ร่มพระบารมีพระเจ้าแผ่นดินไทยนั้น ถึง ๓ รุ่นด้วยกัน ตั้งแต่รุ่นปู่ คือ นักองเอง (สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี)

                รุ่นลูก ๒ องค์ คือ นักองจันทร์ (สมเด็จพระอุทัยราชา) ขึ้นครองราขย์ก่อน จึงถึงอนุชาคือนักองด้วง (สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี)

                และรุ่นหลาน ๒ องค์ คือ นักองราชาวดี (สมเด็จพระนโรดม) และอนุชา คือ นักองศรีสุวัตดิ (สมเด็จพระศรีสวัสดิ์มณีวงศ์)

                ทั้ง ๕ องค์ ล้วนแต่เคยอยู่ในเมืองไทยก่อนเสด็จไปครองเขมรหรือประเทศกัมพูชา

                ทว่าเมื่อสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ฯ (นักองศรีสุวัตดิ) ทิวงคต เวลานั้นเขมรตกเป็นของฝรั่งเศสแล้วตั้งแต่ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนโรดุม (นักองราชาวดี) ถึงแม้ว่าสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ จะมีโอรสผู้ใหญ่หลายองค์ และมีอนุชารองๆ ลงมาหลายองค์ ฝรั่งเศสก็มิได้เลือกให้ขึ้นครองราชย์ต่อ กลับหันไปทางสายสมเด็จพระนโรดม (นักองราชาวดี) โดยเลือกเจ้าชายสีหนุ โอรส เจ้าชาย สุรามริต (หรือสุรามฤต แปลว่า เทวดาผู้อมตะ มิใชสุราในความหมายว่าเหล้า) เวลานั้นเจ้าชายสีหนุ ชนมายุเพียง ๑๙ ปี ได้พระนามตามพระเจ้าทวดว่า สมเด็จพระนโรดมสีหนุ

                ต่อมาอีกหลายปี หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อเขมรเป็นอิสระจากฝรั่งเศสแล้ว สมเด็จพระนโรดมสีหนุได้ทรงลาออกจากกษัตริย์ ยกพระบิดาขึ้นครองราชย์แทน ได้พระนามว่า สมเด็จพระนโรดมสุรามริต

                 นโรดมจึงมีด้วยกัน ๓ องค์ คือ นโรดม ๑ นโรดมสีหนุ ๑ และนโรดมสุรามริต ๑

                สายพระราชวงศ์เขมร ตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี (นักองเอง) แยกเป็นสาขาดังนี้

                สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี (นักองเอง)

    นักองจันทร์ นักองด้วง

    (สมเด็จพระอุทัยราชา) (สมเด็จพระหริรักษ์ฯ)

    นักองราชาวดี นักองศรีสุวัตดิ

    (สมเด็จพระนโรดม) (สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ฯ)

    เจ้าชายสุทธารส เจ้าหญิงพังงางาม

    (หรือพงางาม)

    เจ้าชายสุรามริต

    (สมเด็จพระนโรดมสุรามริต)

    เจ้าชายสีหนุ

    (สมเด็จพระนโรดมสีหนุ)

                เจ้าชายสุทธารส และเจ้าหญิงพงางาม (หรือพังงางาม) ผู้เป็นปู่ย่าของเจ้าชายสีหนุ นั้นเป็นโอรส ธิดาของสมเด็จนโรดม (นักองราชาวดี) ประสูติเมืองไทยที่วังเจ้าเขมรทั้งสององค์ และมีชนนีเป็นคนไทย เจ้าชายสุทธารสชนนี ชื่อเจ้าจอมมารดาเอี่ยม เป็นหลานลุงของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ส่วนชนนีของเจ้าหญิงพงางาม ชื่อเจ้าจอมมารดานวล

                ทีนี้ใคร่ย้อนกลับไปเล่าถึงสมเด็จพระหริรักษ์ฯ หรือนักองด้วง เมื่อครั้งหนีพี่ชายคือสมเด็จพระอุทัยราชากลับมาเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากเกิดเรื่องวุ่นวายกับญวนจนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ ต้องโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกทัพบก และทัพเรือ ไปปราบปราม พร้อมกับโปรดฯให้นักองด้วง ติดไปด้วยกับกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา ระหว่างนั้นสมเด็จพระอุทัยราชาพิวงคตพอดี ราษฎรเขมรพากันขอต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา ให้นักองด้วงขึ้นครองราชย์

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชดำริเห็นชอบจึงโปรดฯให้นักองด้วงขึ้นครองเมืองเขมร นักองด้วงจึงมาเข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา

                ตรงนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯ พระราชทานพระบรมราโชวาท เป็นจดหมายแก่นักองด้วง มีข้อความจับใจหลายตอน เป็นต้นว่า

                 “...ทรงพระมหากรุณาเมตตาชุบเลี้ยงพระองค์ด้วงให้เป็นเจ้านายสืบเชื้อวงศ์กษัตริย์เมืองเขมรต่อไป สิ่งไรที่ชั่วที่ผิดอย่าประกอบไว้ในสันดาน อย่ากำเริบอย่าโลภกล้าให้เกินประมาณ สุกแล้วจึงหอมงอมแล้วจึงหวาน

                เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ จะจัดแจงเมืองโพธิสัตว์ ให้เป็นเมืองใหญ่ ให้เมืองเขมรทั้งปวงขึ้นกับเมืองโพธิสัตว์ ให้พระองค์ด้วงเป็นเจ้านายครอบครองเขมรอยู่ที่โพธิสัตว์นั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจะปรึกษาหารือด้วยจะตั้งแต่งพระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยตามตำแหน่งประการใด ก็ให้พระองค์ด้วงไถ่ถามไล่เลียงพระยาพระเขมรทั้งปวง ให้เห็นพร้อมกันว่าผู้ใดมีชาติมีสกุล มีสติปัญญาการศึกสงครามเข้มแข็ง จัดเอามาให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ตั้งแต่งเป็นที่พระยาพระเขมรผู้ใหญ่ผู้น้อยตามลำดับกัน...ถ้าจะตั้งแต่งพระยาพระเขมรสืบต่อไป ก็อย่าให้ลุอำนาจแต่โดยใจว่าคนผู้นี้เป็นพวกมาแต่ก่อน ผู้นี้มิได้เป็นพวกมาแต่ก่อน ให้พิเคราะห์ดูชาติดูสกุลและคนมีความชอบควรจะใช้ได้อย่างไร ก็ให้ตั้งแต่งตามควร ให้ผู้น้อยกลัวผู้ใหญ่เป็นลำดับกัน อย่าถือผู้น้อยให้ข้ามเกินผู้ใหญ่ อย่าเห็นแก่หน้าเกรงใจบุคคล อย่าหูเบาใจเบา พระยาพระเขมรจะมีความโทมนัส

                พระยาพระเขมรนับถือยกย่องพระองค์ด้วงเป็นเจ้านายแล้ว พระองค์ด้วงก็ต้องนับถือคารวะพระยาพระเขมรผู้ใหญ่น้อยตามสมควร...”

                และ

                 “...พระองค์ด้วงสติปัญญา อายุอานามก็เป็นผู้ใหญ่แล้วจะตริการสิ่งใดก็ให้รอบคอบทำใจให้เสมอ อย่ากอบไปด้วยฉันทาโทษาโมหาภยาคติ ตั้งตัวให้เที่ยงธรรมทำให้คมคายให้พระยาพระเขมรกลัวอำนาจอย่าให้หมิ่นประมาทได้

                กลัวนั้นมีอยู่ ๓ ประการ กลัวอาญาประการ ๑ กลัวบุญวาสนาประการ ๑ กลัวสติปัญญารู้เท่าทันประการ ๑

                กลัวบุญวาสนากลัวสติปัญญานั้นทั้งรักทั้งกลัว เขมรผู้ใดผิดกระทำโทษตามผิดนั้นก็ให้หยิบยกโทษผิดออกให้เห็น อย่าให้ผู้อื่นติเตียนว่ากระทำโทษคนหาผิดมิได้......ฯลฯ......กับให้ระวังพระยาพระเขมรอย่าให้อิจฉาริษยาชิงบ่าวไพร่กันให้แตกสามัคคีรสกัน ถ้าแตกสามัคคีรสกันแล้วสารพัดที่จะเสียการทุกอย่าง ถ้าตั้งอยู่ในสามัคคีรสพร้อมมูลกัน ถึงคนน้อยก็สู้ข้าศึกศัตรูมากได้

                ในตอนท้ายหนังสือ ทรงมีพระราชกระแสว่า

                 ถ้าขัดสนเข้าเกลือของกินสิ่งใดก็ให้ใช้ผู้คนถือหนังสือบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ จนเนืองๆ จะโปรดพระราชทานส่งออกไปทางเมืองตราด เมืองตราดกับโพธิสัตว์ใกล้กัน ให้จัดช้างจัดเกวียนลงมารับบรรทุกขนขึ้นไปแจกต่างกันกิน กว่าบ้านเมืองจะค่อยๆ เป็นปกติเข้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ต้องพระราชประสงค์ผลประโยชน์สิ่งไรที่ในเมืองเขมร จะเอาแต่พระเกียรติยศ สืบไปภายหน้าว่า ทรงกู้เมืองเขมรขึ้นไว้ไม่ให้พระพุทธศาสนาเสื่อมศูนย์...”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×