ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #35 : เจ้าหลวง

    • อัปเดตล่าสุด 6 มิ.ย. 52


    ได้รับคำถามจากผู้อ่านหลายท่าน ถามมาว่า ทำไมเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่บางองค์ จึงเรียกว่า พระเจ้าบางองค์เรียกว่า เจ้าหลวง-

    แม่เจ้าอุษา มหาเทวีพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
    แม่เจ้าทิพเกสร มหาเทวีพระเจ้าอินทวิชยานนท์
    พระราชชายาเจ้าดารารัศมี


    บรรดาเจ้าผู้ครองนครอันเป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น คำนำพระนามว่า พระเจ้ามีเกียรติยศสูงกว่า เจ้าหลวงและ เจ้านคร
    หากเจ้าครองนครองค์ใดประกอบคุณความดีมีความชอบ พระเจ้าแผ่นดินสยามก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น พระเจ้า
    เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ ในรัชกาลที่ ๕ จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศพระราชบัญญัติศักดินาเจ้านาย พระยา ท้าว แสน เมืองประเทศราชให้
    พระเจ้าประเทศราช ถือศักดินา ๑๕,๐๐๐ ไร่ (เท่ากับศักดินาของพระองค์เจ้าต่างกรม ชั้นพระเจ้าลูกยาเธอ)
    เจ้าประเทศราช ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่
    พระยาประเทศราช คือมิได้เป็นเจ้า ถือศักดินา ๘,๐๐๐ ไร่
    นครเชียงใหม่ มีพระเจ้านครเชียงใหม่ และเจ้านครเชียงใหม่ ๙ องค์

                    ที่ ๑. พระเจ้ากาวิละ พระโอรสองค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าชายแก้ว เจ้าฟ้าชายแก้ว เป็นโอรสองค์ใหญ่ของพระยาสุลวฤาชัย สงคราม (พ่อเจ้าทิพย์ช้าง)
                    ที่ ๒. เจ้าหลวงธรรมลังกา
                    ที่ ๓. เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น
                    ที่ ๔. เจ้าหลวงพุทธวงศ์ องค์นี้ ชาวเชียงใหม่ สมัยนั้นเรียกกันว่า เจ้าหลวงแผ่นดินเย็นครองเมืองนานถึง ๒๐ ปี โดยปราศจากศึกสงคราม เพราะเป็นช่วงที่พม่าติดพันสงครามกับอังกฤษ
                    ที่ ๕. พระเจ้ามโหตรประเทศฯ
                    ที่ ๖. พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ องค์นี้ชาวเมืองเรียกกันว่า เจ้าชีวิตอ้าวเนื่องจากมีพระนิสัยเฉียบขาด ในการตัดสินคดี หากดำรัสว่า อ้าวเมื่อใด แสดงว่า คนนั้น คอขาด
                    ที่ ๗. พระเจ้าอินทวิชยานนท์ (อินทรวิไชยานนท์) องค์นี้ ครองเชียงใหม่นานถึง ๒๔ ปี ถึงแก่พิราลัยเมื่อชนมายุ ๘๐ ระยะหลัง ชาวเมืองจึงเรียกท่านว่า พ่อเจ้าชีวิตเฒ่า
                    ที่ ๘. เจ้าอินทวโอรสสุริยวงศ์
                    ที่ ๙. เจ้าแกว้นวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้ายครองนคร พ.ศ.๒๔๕๒ ถึงแก่พิราลัย พ.ศ.๒๔๘๒

    เจ้าหลวงองค์ที่ ๕ พระเจ้ามโหตรประเทศฯ นั้น มหาเทวีของท่าน คือ แม่เจ้าสุวรรณคำแผ่นมีประวัติว่าเดิมท่านมีนามว่า คำแผ่นเป็นธิดาของมหาเศรษฐีเจ้าของป่าไม้ขอนสักหลายป่าริมแม่น้ำสาละวิน ที่ได้นามว่า คำแผ่นเพราะท่านมีจิตศรัทธาพระพุทธศาสนา แต่ยังเป็นสาวรุ่น ได้นำทองคำบริสุทธิ์ตีเป็นแผ่นไปติดที่องค์พระมหาเจดีย์ชะเวดากอง (หรือ พระมหาเจดีย์ธาตุตะโก้ง) จึงได้นามว่า (ทอง) คำแผ่น

    พระเจ้ามโหตรประเทศฯ รักใคร่รับเป็นหม่อมตั้งแต่ยังเป็นเจ้าอุปราช เมื่อพระเจ้ามโหตรประเทศฯ ได้เป็นพระเจ้านครเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯพระราชทานนามบรรดาศักดิ์ว่า แม่เจ้าสุวรรณคำแผ่น

    พระเจ้ามโหตรประเทศฯ กับแม่เจ้าสุวรรณคำแผ่น มีพระธิดาด้วยกันคือ เจ้านางอุษา ซึ่งต่อมาไว้เป็นมหาเทวีของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พระเจ้านครเชียงใหม่องค์ที่ ๖

    พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ กับแม่เจ้าอุษา มีพระธิดาด้วยกันองค์เดียวคือ เจ้านางทิพไกรสร หรือ เทพไกรสร หรือทิพย์เกษร (ตามตัวสะกดไทยสมัยก่อน) หรือทิพเกสร ตามพจนานุกรมปัจจุบัน

    ต่อมาเจ้านางทิพเกสร เสกสมรสกับพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ตั้งแต่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ยังเป็นเจ้าอินทนนท์

    เจ้านางทิพเกสร หรือเจ้าแม่ทิพเกสรนี้ เล่ากันว่า โดยเหตุที่ท่านเป็นธิดาเพียงองค์เดียวของพระเจ้ากาวิโลรสฯ และแม่เจ้าอุษา ท่านจึงเป็นลูกรักของพ่อ มีนิสัยใจคอเด็ดขาด เฉลียวฉลาด เมื่อจะเสกสมรส พระเจ้ากาวิโลรสฯ โปรดให้เลือกคู่เอง ซึ่งท่านเลือกเจ้าอินทนนท์ หากเปรียบกับพระราชวงศ์ทางกรุงเทพฯก็เท่ากับท่านเป็นเจ้าฟ้าและเจ้าอินทวงศ์เป็นชั้นหม่อมเจ้า

    เจ้าอินทวงศ์นั้นมีหม่อมและมีบุตรชายหญิงอยู่แล้วหลายคน ซึ่งว่าที่จริงก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับพวกเจ้าในสมัยนั้น2

    เพราะพระเจ้ากาวิโลรสฯ มีพระธิดากับมหาเทวีเพียงองค์เดียว ต่อมาเจ้าอินทวงศ์ จึงได้เป็นเจ้าครองนครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ ในรัชกาลที่ ๕ ต่อมา พ.ศ.๒๔๒๔ โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น พระเจ้าอินทรวิไชยานนท์ฯ

    พระเจ้าอินทวิชยานนท์และแม่เจ้าทิพเกสร มีพระธิดาด้วยกันสององค์ องค์เล็กคือ เจ้าดารารัศมีพระราชชายาในรัชกาลที่ ๕

    น่าประหลาดที่นับแต่พระเจ้ามโหตรประเทศฯ กับแม่เจ้าสุวรรณคำแผ่น ลงมาถึงสามชั่วคน พระเจ้านครเชียงใหม่ ล้วนแต่มีพระธิดากับมหาเทวีเพียงสององค์บ้างองค์เดียวบ้างตลอดมา นับจากแม่เจ้าอุษา แม่เจ้าทิพเกสร และพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งเล่ากันมาว่า ล้วนแต่มีสติปัญญาฉลาดด้วยกันทั้งนั้น

    ทีนี้นครลำพูน พระเจ้าและเจ้าครองนครลำพูน เชื้อสาย เจ้าเจ็ดตนเมื่อเป็นประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ มี ๑๐ องค์

                    ที่ ๑. เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น องค์นี้ ต่อมาภายหลังได้เป็นเจ้านครเชียงใหม่ที่ ๓ เป็น ๑ ในเจ้าเจ็ดตน
                    ที่ ๒. พระเจ้าศรีบุญมา เป็นอนุชาองค์เล็กของพระเจ้ากาวิละ ๑ ในเจ้าเจ็ดตน
                    ที่ ๓. เจ้านครลำพูนเจ้าน้อยอินทร์ องค์นี้ครองนครลำพูน อยู่ ๑๑ ปี โปรดเกล้าฯ ให้ไปครองนครลำปางในรัชกาลที่ ๓
                    ที่ ๔. เจ้านครลำพูนคำต้น
                    ที่ ๕. เจ้านครลำพูนธรรมลังกา
                    ที่ ๖. เจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคุณ
                    ที่ ๗. เจ้าดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์
                    ที่ ๘. เจ้าเหมพินธุ์ไพจิตร
                    ที่ ๙. เจ้าอินทยงยศโชติ
                    ที่ ๑๐. เจ้าจักรคำขจรศักดิ์

                    พระเจ้าและเจ้านครลำปาง มี ๙ องค์
                    ที่ ๑. เจ้านครลำปางคำโสม เป็น ๑ ในเจ้าเจ็ดตน อนุชารองจากพระเจ้ากาวิละ
                    ที่ ๒. พระเจ้าดวงทิพย์ โปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น พระเจ้าในรัชกาลที่ ๒ เป็น ๑ ในเจ้าเจ็ดตน
                    ที่ ๓. เจ้านครลำปางไชยวงศ์
                    ที่ ๔. เจ้านครลำปางขัติยะ
                    ที่ ๕. เจ้านครลำปางน้อยอินทร์
                    ที่ ๖. เจ้าวรญาณรังษี
                    ที่ ๗. เจ้าพรหมภิพงศ์ธาดา
                    ที่ ๘. เจ้านรนันทร์ไชยชวลิต
                    ที่ ๙. เจ้าบุญยวาทย์วงศ์มานิต

    เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่เจ้านายตลอดลงไปถึงบุตรหลานเจ้านายฝ่ายเหนือว่า ณ เชียงใหม่(พระราชทานให้เจ้าหลวงเชียงใหม่-พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ)

     ณ ลำพูน(พระราชทานให้เจ้าหลวงลำพูน-พลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์)
     ณ ลำปาง(พระราชทานให้เจ้าหลวงลำปาง-พลตรี เจ้าบุญยวาทย์วงศ์มานิต)
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×