ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #30 : พระสนมกำนัลในราช

    • อัปเดตล่าสุด 6 มิ.ย. 52


     

    ในราชสำนักฝ่ายในนั้น ย่อมมากด้วยพระสนมกำนัลแวดล้อมองค์พระเจ้าแผ่นดิน แต่ละรัชกาลมักจะมีพระสนมเอกที่เป็นผู้ใหญ่ และโปรดปรานไว้วางพระราชหฤทัย อาจเป็นธิดาของขุนนางสำคัญ หรืออาจเป็นธิดาของข้าหลวงเดิม ซึ่งพระสนมเอกดังกล่าวนี้มักจะเป็นผู้มีอิทธิพลที่สุดในหมู่นางในด้วยกัน ดังเช่นเจ้าจอมมารดาเที่ยงในรัชกาลที่ ๔

    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

    ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา ในรัชกาลที่ ๑ นั้นก็มีเจ้าจอมแว่น หรือที่บรรดาเจ้านายเรียกกันว่า คุณเรือ และคนทั่วไปเรียกกันว่า เจ้าคุณข้างใน

    ท่านที่ยกย่องกันเป็น เจ้าคุณ ในรัชกาลที่ ๑ นั้น ล้วนแต่เป็นพระพี่พระน้องของ สมเด็จพระอัครมเหสี (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑) ซึ่งในรัชกาลที่ ๑ นั้น แม้จะมิได้ทรงสถาปนาตำแหน่งพระอัครมเหสีอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่ยกย่องกันโดยทั่วไป ว่าพระภรรยาเดิมทรงอยู่ในฐานะพระอัครมเหสี พระพี่พระน้องก็เรียกกันว่าเจ้าคุณชาย เจ้าคุณหญิง มาแต่ในรัชกาลที่ ๑

    บรรดาเจ้าคุณหญิงนั้นก็มี เจ้าคุณหญิงแวน เจ้าคุณหญิงทองอยู่ สองท่านนี้เป็นพระพี่ของ สมเด็จพระอมรินทรฯ

    และเจ้าคุณหญิงชีโพ เจ้าคุณหญิงเสม เจ้าคุณหญิงนวล เจ้าคุณหญิงแก้ว ทั้ง ๔ เป็นพระน้องของสมเด็จพระอมรินทร์ฯ

    ยังมีเจ้าคุณในรัชกาลที่ ๑ อีก ๑ ท่าน คือ เจ้าคุณจอมมารดาตานี เจ้าคุณจอมมารดาตานีเป็นธิดาของ เจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) เกิดแต่ท่านลิ้มภรรยาเก่า ซึ่งมีธิดาเพียงผู้เดียวส่วนท่านลิ้มสิ้นชีวิตเสียแต่เมื่อหนีพม่า

    เจ้าคุณจอมมารดาตานี มีพระองค์เจ้าหญิง ๑ พระองค์ พระองค์เจ้าชาย ๑ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๑ พระองค์เจ้าฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ต้นราชสกุล ฉัตรกุล ณ อยุธยา)

    เจ้าคุณจอมมารดาตานี นี้ ชาววังเรียกกันว่า เจ้าคุณวัง

    นอกจากบรรดาเจ้าคุณที่เอ่ยมาแล้วทั้งหมด ก็มีเจ้าจอมมารดาแว่น อีกผู้หนึ่ง ซึ่งยกย่องเรียกกันว่า เจ้าคุณข้างใน โดยทั่วไป

    ในรัชกาลที่ ๑ ๒ และ ๓ นั้น ยังมิได้มีกฎเกณฑ์การเรียกฝ่ายในว่า เจ้าคุณ ส่วนมากมักเรียกกันตามความสำคัญ หรือตามเชื้อสายที่เห็นสมควรยกย่อง

    การตั้งฝ่ายในเป็น เจ้าคุณ เพิ่งจะมีกฎเกณฑ์ประกาศเป็นพระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ ๔

    ที่ว่าเรียกเจ้าจอมแว่นว่า เจ้าคุณข้างใน ปรากฏอยู่ในร่างหมายรับสั่งเรื่องฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรัชกาลที่ ๑ ตอนที่โปรดเกล้าฯให้เกณฑ์สำรับคาวหวานถวายพระสงฆ์ว่า

     แกงร้อนเจ้าคุณข้างใน ทำเกณฑ์ยกไปปฏิบัติหลวงราชมนู หลวงพิเดช ขุนหมื่นในกรม รับเลขพันพุฒ ๑๐๐ คน

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราโชธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ว่า

     เจ้าจอมแว่น เรียกกันว่าคุณเสือ แต่ยกย่องเป็นใหญ่ จึงเรียกเจ้าคุณข้างใน

    ในรัชกาลที่ ๒ มีพระสนมกำนัลมากมาย และหลายท่านก็ดูจะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ว่ากันว่า ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ยังทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร อยู่นั้น เสด็จประทับ ณ พระราชวังเดิมกรุงธนบุรี ทรงมี หม่อมบริจาริกา มากมายหลายท่าน รวมทั้งต่อมาทรงรับเจ้าฟ้าบุญรอด (สมเด็จพระสุริเยนทราบรมราชินี) เป็นพระชายา ก็เล่ากันว่า ทั้งพระชายา และหม่อมทั้งหลายต่างก็สมัครสมานปรองดองกัน จนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์เข้ามาประทับ ณ พระบรมมหาราชวัง พร้อมด้วยพระชายาพระสนมนางใน

    พระสนมเอกที่อยู่ในฐานะสำคัญนั้น มีอยู่หลายท่าน แต่มิได้มีผู้ใดมีอิทธิพลหรือได้รับการยกย่องให้เป็นใหญ่ที่สุด

    สำหรับองค์พระมเหสีนั้น ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ แล้วไม่ทรงมี บทบาทเท่าพระสนมเอก ถึงรัชกาลที่ ๒ ก็เช่นกัน ทรงขอเป็นเพียง หนึ่งในพระทัยพระบรมราชสวามีเท่านั้น

    ในรัชกาลที่ ๒ จึงดูจะไม่มีพระสนมเอกผู้เป็นใหญ่ที่สุด

    พระสนมเอก ซึ่งนับว่าสำคัญนั้นมีอยู่เพียงสองท่าน แต่ไม่เคยมีเอกสารเล่าหรือได้ยินมาว่าท่านทั้งสองมีอิทธิพลอะไรมากมายในสมัยรัชกาลที่ ๒ ท่านหนึ่งคือ เจ้าจอมมารดาศรี หรือสี ท่านเป็นเจ้าคุณพระสนมเอก ชาววังมักเรียกกันว่า เจ้าคุณพีเพราะเมื่ออายุมาก รูปร่างของท่านอ้วนใหญ่ขึ้น เจ้าจอมมารดาศรี ท่านเป็นธิดาเจ้าพระยาแต่ครั้งอยุธยา เป็นหม่อมท่านแรกในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ตามประวัติว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ หลงรักท่านตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่มรุ่นสาวด้วยกันมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี เพราะมีนิวาสสถานใกล้เคียงกัน จึงนับว่าท่านมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงออกพระโอษฐ์ในพระราชนิ2พนธ์กลอนเล่นเรือในสวนขวาว่า

     จับได้เรือเจ้าคุณพี ท่านเป็นผู้ดีมาแต่แผ่นดินโน้น

     เจ้าคุณ พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๒ อีกท่านหนึ่ง คือ เจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งชาววังเรียกท่านว่า เจ้าคุณ หรือบางทีก็ เจ้าคุณห้องเครื่อง เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯให้ท่านบังคับการห้องเครื่อง

    เจ้าคุณจอมมารดาเรียม มีความสำคัญในรัชกาลที่ ๒ เพราะท่านเป็นเจ้าจอมมารดาของพระโอรสพระองค์ใหญ่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ผู้ทรงเป็นที่โปรดปรานใน สมเด็จพระบรมชนกนาถ และทรงรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณ แทบจะทุกอย่างทุกประการ ตั้งแต่ต้นรัชกาลจนถึงปลายรัชกาล

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×