ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #286 : เซอร์จอห์น เบาริ่งเฝ้าวังหน้า

    • อัปเดตล่าสุด 19 เม.ย. 53


    ขอ ต่อเรื่องบันทึกของ Sir John Bowring อีกสักตอน คือตอนเข้าเฝ้าวังหน้า-พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะท่านเซอร์เล่าไว้สนุกและละเอียด ทั้งเรื่องที่ประทับภายในพระที่นั่ง และเรื่องราวในพระองค์บางเรื่อง        

            โดยทั่วๆไปแล้วเรื่องราวของวังหน้าไม่สู้จะมีผู้เขียนถึงมากนัก เพราะการตั้งวังหน้าหรืออุปราชพ้นสมัยไปแล้ว เมื่อกรมพระราชวัง บวรวิชัยชาญ วังหน้าพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ ๕ เสด็จทิวงคตแล้ว จึงโปรดฯให้เลิกประเพณีตั้งวังหน้า เปลี่ยนเป็นสถาปนา สมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ประสูติแต่สมเด็จพระอัครมเหสีเป็นมกุฎราชกุมารแทน ดังนานาอารยประเทศทั้งหลาย
            ส่วนพระราชวังบวรสถานมงคล หรือพระบวรราชวัง หรือวังหน้านั้น ต่อมาทางราชการก็แบ่งใช้เป็นประโยชน์ของราชการ เช่นเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นโรงละครแห่งชาติ ฯลฯ เรื่องราวของ 'วังหน้า' จึงมีผู้ทราบกันน้อยมาก
            แต่ 'วังหน้า' ในรัชกาลที่ ๔ เป็นพิเศษกว่า 'วังหน้า' ในแผ่นดินต้นๆมา ทรงเป็นที่รู้จักของพวกฝรั่งมาแต่ในแผ่นดินที่ ๓ เพราะทรงคบค้า สมาคมกับฝรั่งที่เข้ามาค้าขาย และเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ อาจเรียกได้ว่า ท่าน 'ป๊อปปูล่าร์' ในหมู่ฝรั่ง จึงมีฝรั่งที่ได้เข้าเฝ้าจดเรื่องราวของท่าน เอาไว้ ดังเช่น Sir John Bowring เมื่อเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ วังหลวงแล้ว ก็ไปเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ วังหน้า
            "เวลาค่ำไปเฝ้าวังหน้าในที่ข้างใน วังหน้าเป็นคนมีปัญญาความคิดฉลาด และเงียบขรึม และอ่อนโยนดีจากปัญญาความคิดที่ฉลาด จึงไม่ค่อยจะทรงเกี่ยวข้องกับทางราชการ ตั้งแต่ท่าน้ำที่เราเดินขึ้นไปจนถึงพระราชวังได้ปูเสื่อลาดตลอดทาง
             ห้องที่ประทับเหมาะดีและตกแต่งเข้าทีดี เว้นแต่ที่ชักพัดแขวนสูงเกินไปจนติดเพดานสูงเท่านั้น ถ้าไม่ฉะนั้นแล้วการที่ใช้ เครื่องตกแต่ง เกือบจะทำให้เชื่อว่าเข้าไปอยู่ในบ้านผู้ดีฝรั่ง ทรงรับสั่งด้วยภาษาอังกฤษได้ดีเป็นที่ไพเราะพอฟังได้ ซึ่งเห็นได้ว่า เป็นผู้ที่ได้เล่าเรียน เพาะปลูกความรู้ด้วยอย่างดี และทั้งมีห้องสมุดหนังสืออังกฤษที่คัดเลือกด้วยอย่างดีและมาก กับมีเครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ในเครื่องจักรกล เท่ากับพิพิธภัณฑ์อันหนึ่งกับตัวอย่าง วิชาช่างหลายอย่างที่ได้เจริญดีขึ้นในสมัยปัจจุบัน โดยมีตัวอย่างเรือกลไฟ ขนาดย่อมและตัวอย่าง เครื่องอาวุธต่างๆได้มีพิณพาทย์เล่นตลอดเวลาในคืนวันนั้น ข้าพเจ้าชอบเครื่องดนตรี อย่างหนึ่งที่ทำด้วยผิวไม้ ใช้ตีบนผิวไม้ฟังเพราะ ตีเรียงกันเป็นแผ่นต่อกันยาวประมาณสักเจ็ดฟิต ได้ทรงลองเล่นให้ดูด้วยพระองค์เอง (คงจะเป็นโปงลาง-จุลลดาฯ)
             แล้วประทานให้ข้าพเจ้ารู้จักลูกเธอ ตัวโปรดที่เรียกว่า เปีย (Pia) ได้เฝ้าอยู่ด้วย และว่ามีลูกเธออยู่ในราวยี่สิบองค์ องค์ใหญ่ ชื่อย็อช เป็นผู้ดีหนุ่มที่ฉลาดอายุได้สิบแปดปี เราได้เห็นจอมมารดาของเปียมาแอบยืนดูที่ประตู เปียแต่งตัวด้วยเครื่องทองและเพชรมาก แต่เมื่อเข้ามาใกล้กระทำให้เสื้อผ้าเราเปื้อนเหลืองด้วยขมิ้น"
             พระที่นั่งที่ John Bowring กล่าวถึงนี้ก็คือ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งสมเด็จฯกรมพระดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในตำนาน วังหน้าว่า
            "พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงสร้าง ตามแบบอย่างตึกฝรั่ง (แม้ปล่อง ชิมนี เตาผิงไฟก็ยังคงรูปมีอยู่ที่อกไก่ หลังคาทั้งสองข้าง) เป็นตึกเก้าห้อง พื้น ๒ ชั้น รูป ๔ เหลี่ยมรี มีบันไดทำเป็นมุขขึ้นข้างนอก เพราะในสมัยนั้นยังถือกันอยู่ว่า ถ้าขึ้นทางใต้ถุนเป็นอัปมงคล... ฯลฯ...ฯลฯ...ชั้นล่างเป็นแต่ที่พนักงานอาศัยหาได้ใช้การอย่างอื่นไม่ ลักษณะที่ตกแต่งพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์เป็นแบบฝรั่งทั้งสิ้น พระแท่นบรรทมสั่งมาแต่เมืองนอก เป็นพระแท่นคู่ มีรูปช้างเผือกสลักอยู่ที่พนัก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้ยกไปตั้งที่ พระที่นั่งในพระราชวังบางปะอิน (แต่ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร - จุลลดาฯ) เวลามีแขกเมืองฝรั่งต่างประเทศ เช่นราชทูตเข้ามา ก็ทรงรับรองเลี้ยงดูที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์นี้ เล่ากันว่าถึงที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จฯอยู่ที่พระที่นั่ง อิศเรศราชานุสรณ์ ก็เสด็จอยู่อย่างฝรั่ง มีบ๋อยผู้ชาย และพนักงานข้างในเป็นสาวใช้จำกัดพอสำหรับรับใช้ แม้เจ้าจอมก็อยู่เฉพาะผู้ที่เป็น ราชูปฐาก พระเจ้าลูกเธอและพระสนมกำนัลเข้าเฝ้าฯ แต่เฉพาะเวลาเสวยเท่านั้น..."
            ที่ว่าเป็น 'ตึกเก้าห้อง' นั้น จริงเๆแล้วมิใช่ว่าแบ่งพื้นที่ตึกชั้นบนคั้นเป็นห้องๆ ๙ ห้อง แต่หมายความอย่างเรือนไทย คือนับระหว่างเสา ถึงเสาตามด้านยาว ๑ ช่องเป็น ๑ ห้อง คือเป็นการนับความกว้างขวางเล็กใหญ่ของเรือนนั่นเอง เช่นเรือนฝากระดานแปดห้องเก้าห้อง ก็นับว่าเป็นเรือนใหญ่โตมาก
            สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ จึงทรงบรรยายว่า
            "ตัวพระที่นั่งด้านหน้ามีเฉลียงโถง ๗ ห้อง ข้างในประธานตอนกลาง ๓ ช่อง กั้นเป็นห้องเสวย ห้องต่อมาข้างใต้ ๒ ช่อง เป็นห้องพระบรรทม มีฝาเฟี้ยมกระจกกั้นขวางอีกชั้น ๑ ต่อมาถึงที่สุดด้านใต้เป็นห้องเล็กชั่วช่อง ๑ เป็นห้องแต่งพระองค์"
            บันทึกของ John Bowring เล่าถึงพระองค์เจ้าหญิงที่มีพระนามว่า 'เปีย' ว่าเป็นลูกเธอองค์โปรด และว่าเห็นจอมมารดาของพระองค์ 'เปีย' มายืนแอบดูอยู่ข้างพระทวาร เป็นบันทึกเมื่อเข้าเฝ้าฯค่ำวันที่ ๑๘ เมษายน ครั้นวันที่ ๒๑ เมษายน เวลาบ่าย ๔-๕ โมงก็ได้เข้าเฝ้าฯ วังหน้า ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์อีกครั้งหนึ่ง John Bowring ได้กล่าวถึง 'พระองค์เปีย' อีกว่า
            "วังหน้ามักจะทรงหลีกไม่ค่อยรับสั่งถึงเรื่องทางราชการแผ่นดิน วังหน้ามีลูกเธอด้วยเจ้าจอมคนเดียวถึงเจ็ดองค์ เจ้าจอมคนนั้น เป็นตัวโปรด และได้มาคลานคอยแอบดูอยู่ที่ข้างประตูในเวลาที่ข้าพเจ้าหยอกล้อเล่นอยู่กับลูกเธอพระองค์หญิงเล็กที่เรียกว่า 'เปีย' ซึ่งชอบข้าพเจ้า และได้เอาพวกมาลัยดอกไม้หอมมาสวมมือให้ข้าพเจ้า วันนี้เปียได้ทรงเครื่องอย่างฝรั่ง แต่ดูเหมือนว่าจะเดือดร้อน ด้วยเครื่องแต่งทองเกะกะมากนัก เจ้าย็อชเป็นลูกเธอพระองค์ใหญ่ เป็นคนหนุ่มอย่างน่ารัก และมีนิสัยอ่อนโยนดี"
            เรื่อง 'พระองค์เปีย' นี้ ปรากฏว่าเวลาขณะที่ John Bowring เข้ามา พ.ศ.๒๓๙๘ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงบวรราชาภิเษก เป็นวังหน้า ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๔ ทรงมีพระราชโอรสธิดาแล้ว ๔๑ พระองค์ ทั้งที่ยังทรงพระชนม์อยู่ และที่สิ้นพระชนม์แล้ว
            พระองค์เจ้าหญิงที่ Bowring กล่าวว่าชื่อ 'เปีย' นั้น ปรากฏว่า คือ พระองค์เจ้าหญิงจำเริญในบัญชีรายพระนามพระเจ้าลูกเธอ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จดไว้ด้วยว่า "เรียกกันว่าพระองค์เปีย" ประสูติ พ.ศ.๒๓๙๒ ก่อนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จบวรราชาภิเษก เป็นลูกเธอที่ ๔ ในเจ้าจอมมารดากลีบ ขณะนั้น พ.ศ.๒๓๙๘ พระชันษาจึงประมาณ ๕-๖ ขวบ กำลังน่ารักน่าเอ็นดู พระองค์เจ้าจำเริญทรงมีพระชันษายืนยาวอยู่จนถึงรัชกาลที่ ๕ สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา ๕๘ ปี
            ส่วนเจ้าจอมมารดา ที่ Bowring เล่าถึงสองครั้งว่า เป็นเจ้าจอมมารดาของ 'เปีย' มาแอบดูอยู่ที่ประตูนั้นก็คือเจ้าจอมมารดากลีบ ซึ่งปรากฏทั้งในบันทึกของ Bowring และในพระราชพงศาวดารว่า เป็นเจ้าจอมพระสนมที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงโปรดปรานมาก มีพระเจ้าลูกเธอถึง ๗ พระองค์ องค์สุดท้ายเพิ่งประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๗
            นับว่า John Bowring รู้เรื่องราวในวังหน้ามากพอสมควร

            เจ้าจอมมารดากลีบผู้นี้ ท่านมีเรื่องราวจดไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ โดยพิศดารอยู่

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×