ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #24 : หม่อมราชนิกุล

    • อัปเดตล่าสุด 5 มิ.ย. 52


    หม่อมราชวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนฐานันดรศักดิ์เป็น หม่อมราชนิกุล เช่น หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) หม่อมสนิทวงศ์เสนี (ม.ร.ว.ต้น สนิทวงศ์) หม่อมทวีวงศ์ถิวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) นั้นเรียกกันโดยทั่วไปว่า หม่อมราชนิกุล

    แต่ที่เคยมีผู้เข้าใจผิดเรียกเป็น หม่อมราชินิกุลนั้น คงเป็นด้วยในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีหม่อมท่านหนึ่งซึ่งเป็นทั้งราชนิกุล และราชินิกุล คือหม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์ (ม.ร.ว.ฉายฉาน ศิริวงศ์) ผู้ใหญ่มักพูดว่าท่านเป็นหม่อมราชินิกุล จึงเรียกปะปนกันไป

    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายคำว่า ราชนิกุลกับ ราชินิกุลเอาไว้ว่า

     คำว่า ราชนิกุลกับคำว่า ราชินิกุลหมายความต่างกันดังนี้ คือราชนิกุล เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นับทางฝ่ายสมเด็จพระบรมชนกนาถ ส่วนราชินิกุลเป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนับทางฝ่ายสมเด็จระบรมราชชนนี ต่างกันอีกอย่าง ๑ ซึ่งราชนิกุล ย่อมเป็นเชื้อเจ้า เพราะสืบสายลงมาจากเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ในพระราชวงศ์ร่วมสกุลอันเดียวกัน ดังใช้นามสกุลว่า ณ อยุธยาอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ราชินิกุลนั้น เพราะสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ย่อมมีพระญาติเป็นสกุลอื่น ต่างกันทุกพระองค์ ราชินิกุลจึงมีหลายพวกหลายสกุล

    แต่การที่นับว่าเป็นราชนิกุลหรือราชินิกุลนั้น ไม่ได้ถือเอาข้อที่เกิดในวงศ์พระญาติอย่างเดียว ยังต้องอาศัยฐานะอย่างอื่นประกอบ คือฝ่ายราชนิกุล นับโดยกำเนิดแต่ชั้นที่ทรงศักดิ์เป็น หม่อมราชวงศ์และ หม่อมหลวงต่อนั้นลงไปต้องถวายตัวทำราชการ (แต่โบราณกำหนดว่าต้องได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด) จึงนับเป็นราชนิกุล

    ฝ่ายราชินิกุลนั้น ก็ถือเอาการที่ถวายตัวทำราชการ (คือได้รับเบี้ยหวัด) เป็นสำคัญทำนองเดียวกัน

    ถ้ามิได้อยู่ในฐานะดังกล่าวมา ถึงเกิดเป็นเชื้อสายพระญาติวงศ์ ก็หานับในทางราชการว่าเป็นราชนิกุลหรือราชินิกุลไม่

    ที่ว่า หม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์ (ม.ร.ว.ฉายฉาน ศิริวงศ์) ท่านเป็นทั้งหม่อมราชนิกุลและหม่อมราชินิกุลนั้น เพราะท่านเป็นหม่อมราชวงศ์ดังกล่าว สกุล ศิริวงศ์ ณ อยุธยาสืบสายลงมาจาก พระองค์เจ้าศิริวงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ (ต่อมาทรงกรมเป็นกรมหมื่นมาตยพิทักษ์ในรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ)

    พระบิดาของหม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ และเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เดิมประสูติเป็นหม่อมเจ้า พระนามว่า หม่อมเจ้าฉายเฉิด พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าฯเลื่อนพระยศขึ้นเป็น พระองค์เจ้าและสถาปนาเป็นกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์

    โปรดฯให้ใช้คำนำพระนามว่า พระสัมพันธวงศ์เธอพระองค์เองตรัสเรียกว่า น้าฉายเฉิด

    หม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์ จึงเป็นทั้งหม่อมราชนิกุลและหม่อมราชินิกุลดังกล่าว

    หม่อมศิริวงศ์วรวัฒน์นี้ พระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงหลายพระองค์ ตลอดจนพระโอรสพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าร่วมพระราชชนนีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เรียกว่า อาทั้งๆ ที่พระชันษามากกว่าหม่อมศิริวงศ์ฯ

    พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉายเฉิด กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ พระหลานเธอ (หลานปู่) ในรัชกาลที่ ๓ พระโอรสในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ (กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ต้นราชสกุล ศิริวงศ์ ณ อยุธยา) ประสูติเป็นหม่อมเจ้า เป็นพระอนุชา ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๕ โปรดฯให้ใช้คำนำพระนามว่า พระสัมพันธวงศ์เธอ

    เล่ากันมาว่า เพราะวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีกระแสพระราชดำรัสเป็นเชิงสัพยอกหม่อมศิริวงศ์ฯ ซึ่งเวลานั้นยังเด็ก อายุไม่ถึงสิบขวบว่า ตาฉาย เจ้ารู้ไหมว่าเจ้าเป็นอะไรกับข้าหม่อมศิริวงศ์ฯ ก็กราบบังคมทูลทันทีว่า เป็นน้องทำให้ผู้ใหญ่ตกอกตกใจกันมาก เพราะธรรมเนียมไทยแต่ไหนแต่ไรมา ถ้ามิใช่พระราชวงศ์สูงศักดิ์แล้วก็ไม่มีใครอาจเอื้อมไปลำดับญาติกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ก็เกรงกันว่าจะทรงพระพิโรธถึงผู้ใหญ่ว่าไม่สอนทำนองนั้น ทว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง นอกจากจะไม่กริ้วแล้ว ยังพอพระราชหฤทัยนักหนา ตรัสชมว่าฉลาดและกล้า ทำให้ทรงพระเมตตาหม่อมศิริวงศ์ฯยิ่งขึ้นอีก ตั้งแต่นั้นพระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระ            พุทธเจ้าหลวง ตลอดจนพระโอรสพระธิดาในสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ และสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช เลยทรงพากันเรียกหม่อมศิริวงศ์ฯ ทั้งๆ ที่ยังเด็กว่า อากันทุกพระองค์

    ทรงเรียกแต่เฉพาะหม่อมศิริวงศ์ฯเท่านั้น หม่อมราชวงศ์ในสกุลศิริวงศ์

    อื่นๆ มิได้ทรงเรียก ดังนั้น ตลอดลงมาถึงชั้นหม่อมหลวง บุตรหญิงชายของหม่อมศิริวงศ์ฯ พระธิดาบางองค์ในสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ดังพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงมาลิศเสาวรศ ก็โปรดให้คุณๆ หม่อมหลวงเหล่านั้นเรียกท่านว่า พี่ท่านคือจะเรียกว่า ท่านพี่จะหมายความไปว่า คุณๆ เหล่านั้นเป็นเจ้า จึงกลับเสียให้เรียกว่า พี่ท่านเพราะนับตามสายสัมพันธ์ลงมา หม่อมหลวงในสกุลศิริวงศ์ นับว่าเป็นญาติชั้นเดียวกันกับท่าน

    เกี่ยวกับหม่อมเจ้าและหม่อมราชนิกุลนี้ เรื่อง ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ของไทยในหนังสือพระบรมราชจักรีวงศ์ กล่าวถึงไว้ว่า

     เจ้านายชั้นพระองค์เจ้าก็ดี หม่อมเจ้าก็ดี จะพึงเห็นได้ว่า ท่านอาจเลื่อนพระยศสูงขึ้นได้ เช่นหม่อมเจ้าเลื่อนพระยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้า พระองค์เจ้าเลื่อนพระยศขึ้นเป็นเจ้าฟ้า

    แต่หม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงนั้น ท่านถือว่าไม่ใช่เจ้า จึงไม่ค่อยปรากฏว่าได้เคยมีการสถาปนาเลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้า เมื่อได้ทำความดีความชอบต่อราชการแผ่นดินมากๆ ถ้าไม่เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเป็นพระเป็นพระยา ก็เลื่อนฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นหม่อมราชนิกุล (เฉพาะหม่อมราชวงศ์) เช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนหม่อมราชวงศ์กระต่าย ล่ามประจำคณะทูตเชิญพระราชสาสน์ไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ กรุงอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นหม่อมราโชทัย เป็นต้น

    นามของหม่อมราชนิกุล นั้นเป็นราชทินนาม ไม่ใช่นามเดิมของหม่อมราชวงศ์ผู้นั้น แต่ก่อนท่านเอาพระนามเจ้าราชนิกุล มาตั้งเป็นราชทินนามของหม่อมราชนิกุล ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นแล้ว การสถาปนาหม่อมราชนิกุล จึงมักเอานามสกุลของผู้ที่ได้รับการสถาปนามาตั้งเป็นราชทินนาม เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์สกุลของผู้ได้รับการสถาปนา เช่นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนา หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์ ขึ้นเป็น หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์เป็นนัดดาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ)

    อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับการสถาปนาเป็นหม่อมราชนิกุลแล้ว ท่านก็ยังถือว่ามิใช่เจ้า ดังนั้นการพูดกับหม่อมราชนิกุล จึงพูดอย่างธรรมดา ไม่ต้องใช้ราชาศัพท์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×