คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #23 : คำเรียกหม่อมเจ้า
และ หม่อม เช่นหม่อมราโชทัย หม่อมสนิทวงศ์เสนี เรียกว่า ‘หม่อมราชินิกุล’ หรือ ‘หม่อมราชนิกุล’ กันแน่-
พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา พระอัครชายาในรัชกาลที่ ๕ พระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๓ ‘ท่านองค์ใหญ่’ |
ที่เรียกหม่อมเจ้าว่า ‘ท่าน’ เข้าใจกันว่าจะเริ่มเรียกตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่จะรัชกาลใดไม่แน่นัก และคงจะเป็นการเรียกของชาววังฝ่ายในก่อน ต่อมาจึงเรียกกันโดยทั่วไป เพราะปรากฏว่าในปลายสมัยอยุธยาและธนบุรี ชาวบ้านเรียกเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า แม้แต่โอรสของหม่อมเจ้า ซึ่งมีสกุลยศเป็นหม่อมราชวงศ์ในปัจจุบัน ว่า ‘เจ้า’
ดังเช่น หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) ชาวบ้านก็มักเรียกกันว่า ‘เจ้ากระต่าย’ เรื่องนี้มีปรากฏในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ฐานันดรศักดิ์ หม่อมเจ้านั้น มีมาแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระอัยการนาพลเรือนที่ได้ตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
จึงน่าสันนิษฐานว่า ที่ชาวบ้านพากันเรียกว่า ‘เจ้า’ นั้น คงจะลดคำหม่อมลงให้สั้น เพื่อคล่องปาก และอาจจะเพื่อมิให้ซ้ำกับคำว่า ‘หม่อม’ ที่ใช้เรียกผู้ดีมีตระกูลทั้งหญิงชายในสมัยนั้น
ทั้งนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น
พวกชาววังมักมีธรรมเนียมและขั้นตอนการออกพระนามเจ้านายอย่างลำลองมาแต่ไหนแต่ไร ที่ว่าชาววังเรียกหม่อมเจ้าว่า ‘ท่าน’ นั้น ปรากฏแน่ชัดในรัชกาลที่ ๔ ตามคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ที่เกิดในต้นสมัยรัชกาลที่ ๔ เล่าขานกันต่อๆ มา
คำว่า ‘ท่าน’ นี้ แม้แต่พระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ที่ประสูติต้นๆ รัชกาล ซึ่งทรงศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า ทว่าเพิ่งเป็นเจ้านายเล็กๆ ก็เรียกกันว่า ‘ท่าน’ จึงทรงเรียกกันและกันติดพระโอษฐ์ ดังปรากฏในคำกลอน ‘สังเกตพระอัชฌาศัยเจ้านายเมื่อยังทรงพระเยาว์’ ซึ่งสันนิษฐานจากสำนวนโวหารว่าอาจจะเป็นเจ้านายลูกเธอพระชันษา ๑๓-๑๔ ด้วยกันช่วยกันทรงนิพนธ์
และสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ เวลานั้นพระชันษาเพียง ๖ พรรษา ก็จริง ทว่าคงจะเป็นกลอนที่ท่องกันต่อๆ มาอีกนาน จึงทรงจำไว้ได้
ในกลอนนั้น ปรากฏว่า พระราชโอรสธิดารุ่นแรกๆ เรียกกันว่า ‘ท่าน’ รุ่นหลังๆ และบางพระองค์จึงเรียกว่า ‘องค์’ (พระองค์)
เริ่มแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในคำกลอนเรียกว่า ‘ท่านสมเด็จ’
ว่าเมื่อแรกยังทรงพระเยาว์อยู่ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จฯนกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (เป็นอาแท้ๆ ของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) นั้น ชาววังเรียกว่า ท่านพระองค์ใหญ่ คือเป็นพระองค์ใหญ่ในพระราชโอรสธิดาทั้ง ๔ ของสมเด็จพระเทพศิรินทราฯ แต่เมื่อทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า บรรดาเจ้านายน้องๆ จึงเรียกว่า ‘ท่านสมเด็จ’
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสิรีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอัครชายาในรัชกาลที่ ๕ พระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๓ ‘ท่านองค์เล็ก’ |
ตั้งแต่ ท่านสมเด็จ ท่านกลาง (สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี) ท่านโสม (พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี) ท่านทอง (พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่) ท่านเล็ก (สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์) ท่านเกษมศรี (พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค) ท่านณางค์ (พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล) ท่านสุข (พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์) ท่านกันต์ (พระองค์เจ้าอุณากรรณ อนันตนรไชย) ท่านวี (พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ)
พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๔ ทั้งนี้ พระชันษา ๑๑-๑๓ มีที่เพียง ๙ พรรษา พระองค์เดียว คือ ‘ท่านเล็ก’ (สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์)
การเรียกเจ้านาย (สรรพนามบุรุษที่ ๓) ของพวกชาววังดูเหมือนจะเริ่มลงตัวในปลายรัชกาลที่ ๔ โดยเฉพาะที่เรียกหม่อมเจ้าว่า ‘ท่าน’ ไม่ว่าจะเป็นหม่อมเจ้าพานทอง (หม่อมเจ้าอาวุโสที่รับราชการตำแหน่งสูงได้รับพระราชทานเครื่องยศอันมีพานทองเป็นสำคัญ) หรือหม่อมเจ้าเด็กๆ จนเรียกกันเป็นธรรมเนียมเรื่อยมา
จนกระทั่ง ‘ท่าน’ ออกจะเป็นคำเฉพาะสำหรับธรรมเนียมราชสกุลใช้กับหม่อมเจ้า
ในหมู่ญาติพี่น้อง ลูกหลาน นั้น ก็เรียกหม่อมเจ้าว่า ท่านพี่ ท่านพ่อ ท่านแม่ ท่านลุง ท่านอา ท่านน้า ท่านปู่ ท่านย่า ท่านตา ท่านยาย ฯลฯ
คือที่ทั่วๆ ไป เรียกว่า พี่ พ่อ ลุง อา ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ คุณพี่ คุณพ่อ คุณลุง คุณอา คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หากท่านเหล่านี้เป็นหม่อมเจ้าก็เติมคำว่า ‘ท่าน’ เข้าไป
เพราะฉะนั้นในสมัยก่อนโน้น หากผู้ใดเกิดเรียกพ่อหรือแม่ ว่า ท่านพ่อ ท่านแม่ ก็จะมีผู้ถามว่า ท่านพ่อ หรือท่านแม่ของคุณ เป็นหม่อมเจ้าราชสกุลใด
ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเรียกพวกหม่อมเจ้าว่า ‘เจ้า’ เช่น ‘เจ้าบัว’ ‘เจ้าเข่ง’ ‘เจ้าต๋ง’ ‘เจ้าเพิ่ม’ เจ้าสาย’ ฯลฯ ผู้ที่เรียกตามเสด็จ มีแต่สมเด็จพระบรมโอรสธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และเจ้านายบางพระองค์ ผู้อื่นหากไม่เรียกว่า ‘ท่าน’ ก็มักจะเรียกเต็มๆ ว่า ‘หม่อมเจ้า (ยี่) เข็ง’ ‘หม่อมเจ้าเพิ่ม’ ฯลฯ หากเป็นหม่อมเจ้าผู้หญิง บางทีก็เรียกว่า ‘ครอก’ หรือ ‘เจ้าครอก’ (ครอก-ผู้เป็นเจ้าแต่กำเนิด) ดังเช่น สมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ ทรงเรียก หม่อมเจ้าถนอม อุไรพงศ์ ว่า ‘ครอกถนอม’ และพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ทรงเรียก หม่อมเจ้าสบาย นิลรัตน์ว่า ‘เจ้าครอกสบาย’
แต่ก็มีหม่อมเจ้าบางท่าน ที่ชาววังกำหนดเรียกเอาเองเป็นพิเศษ แล้วเลยเรียกตามๆ กัน ว่า ‘ท่านองค์ (นั่น)’ ‘ท่านองค์ (นี่)’
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ มีหม่อมเจ้าหญิงได้เป็นพระอัครชายาเธอ ๓ พระองค์ ท่านเป็นพี่น้องกัน ชาววังจึงพากันออกพระนามแทนพระนามจริงๆ ของท่านว่า ท่านพระองค์ใหญ่ (ท่านองค์ใหญ่) ท่านพระองค์กลาง (ท่านองค์กลาง) และท่านพระองค์เล็ก (ท่านองค์เล็ก)
เรียกว่า ‘ท่าน’ เพราะท่านเป็นหม่อมเจ้าก่อนแล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้า
ทีนี้เมื่อเรียกท่านทั้งสามพระองค์ดังนั้นแล้ว เจ้าพี่เจ้าน้องของท่านซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นหม่อมเจ้าชั้นอาวุโสอยู่ ชาววังจึงเลยพลอยเรียกว่า ‘ท่านองค์ (นั่น)’ ‘ท่านองค์ (นี่)’ เช่น ‘ท่านองค์เพิ่ม’ ‘ท่านองค์หวง (พิศวง)’ ‘ท่านองค์ปุ๋ย’ ฯลฯ กลายเป็น ‘ท่านองค์’ อยู่ก๊กเดียว
สมัยก่อนนั้น ท่านถือลำดับยศราชตระกูลเคร่งครัดนัก
พระอัครชายาเธอฯ แม้จะได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าแล้ว ทว่า ทรงถือว่า ท่านประสูติเป็นเพียงหม่อมเจ้า จึงโปรดให้พระราชโอรสธิดา เรียกท่านว่า ‘ท่านแม่’ เท่านั้น มิให้เรียกว่า ‘เสด็จแม่’ เท่ากับพระมเหสีเทวีที่เป็นพระองค์เจ้าแต่ประสูติ คือเป็น ‘เสด็จ’ พระราชธิดาในพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน
แม้แต่กับพระญาติ ก็โปรดให้เรียกว่า ‘ท่านอาองค์เล็ก’ บ้าง ‘ท่านย่าองค์เล็ก’ บ้าง แต่ส่วนมากแล้วบรรดาผู้ที่มิใช่เจ้า แม้จะเป็นพระญาติสนิท ก็ไม่สู้จะมีผู้กล้าเรียกท่านอย่างนับญาติดังนั้น มักเรียกท่านตามพระอิสริยยศของท่านว่า ‘พระวิมาดาเธอฯ’ (พระยศของท่านมีคำว่า ‘เธอ’ เวลาเรียก ต้องพ่วงท้ายให้ถูกอยู่เสมอ มิฉะนั้นผู้ใหญ่เอ็ดเอา)
ความคิดเห็น