คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #22 : อมาตยกุล
คำถามใดที่พอจะค้นคว้าหามาเล่ากันได้ก็ไม่ขัดข้องที่จะเล่าโดยเร็ว หากเรื่องใดล่าช้าหมายความว่าไม่ทราบหรือยังค้นไม่ได้
ตระกูล อมาตยกุล เข้าใจว่าเคยเล่าถึงสมาชิกของตระกูลมาบ้างแล้ว
ตระกูลนี้สืบเชื้อสายมาจากขุนนางเก่าแก่ของกรุงศรีอยุธยา เช่นเดียวกับตระกูลบุนนาค ตระกูลบุณยรัตพันธ์ และเป็นขุนนางสืบต่อกันมาเรื่อยโดยไม่เว้นช่อง ตั้งแต่แผ่นดินพอเจ้าประสาททอง จนถึงกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ ๖ รัชกาลถึง ๑๕ แผ่นดิน ทว่าในกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่มีท่านใดได้บรรดาศักดิ์เจ้าพระยา แต่ที่ถึงชั้นพระยามีมากหลายท่าน
ตระกูลอมาตยกุล ชั้นที่ ๘ เป็นพระยา ๔ คน ชั้น ๙ เป็นพระยา ๑ คน ที่เป็นขุนหลวงพระแตกสาขาออกไปอีกนับร้อย
เท่าที่สืบทราบกันมาได้นั้น นับเอาเจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) เป็นต้นตระกูลอมาตยกุล ชั้นที่ ๑ ท่านผู้นี้อาจจะเป็นบรรพบุรุษต้นตระกูลอื่นๆ ที่สืบเชื้อสายลงมาจากท่านและแตกสาขาออกไปอีกก็ได้
ทว่าในที่นี้ นับเอาบุตรชายของท่านผู้สืบสายตรงลงมาจนถึง พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนับว่าเป็นต้นสกุล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลว่า “อมาตยกุล” นอกเหนือจากพระราชดำริอีกข้อหนึ่งคือ ตระกูลนี้เป็นขุนนางติดต่อกันมาถึง ๑๕ แผ่นดิน
เจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) เป็นต้นตระกูลชั้นที่ ๑
เจ้าพระยาวรราชนายก (ช้าง) เป็นชั้นที่ ๒
เจ้าพระยาราชสงคราม (ปาน) เป็นชั้นที่ ๓
ท่านผู้หญิงแป้น เป็นชั้นที่ ๔ (สมรสกับพระยาสมบัติยาธิบาล)
พระยาอภัยพิพิธ (เอม) บุตรชายท่านผู้หญิงแป้นเป็นชั้น ๕
พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) เป็นชั้นที่ ๖
เจ้าพระยาราชสงคราม (ปาน) ชั้นที่ ๓ กับพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) ชั้นที่ ๖ นั้น ประวัติของท่านมีเรื่องราวพิสดาร แสดงถึงความฉลาดเฉลียวเป็นที่โปรดปรานในพระเจ้าแผ่นดิน
แต่จะเล่าถึงชั้นที่ ๑ คือ เจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) ก่อน
ท่านผู้นี้เป็นพระยาในปลายแผ่นดินพระเจ้าประสาททองถึงแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นได้เป็นพระยาสุรสงคราม ในแผ่นดินพระเพทราชา เป็นเจ้าพระยาสุรสงคราม ที่สมุหพระกลาโหม แผ่นดินพระเจ้าเสือ เลื่อนเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจนถึงแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ อายุของท่านชรามากแล้ว ถึง ๙๙ ปี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๕ ในเจ้าจอมมารดาเหมเจ้าจอมมารดา เป็นธิดาพระยาธรรยสารนิติ (พลับ อมาตยกุล) |
ประวัติตอนหนึ่งของท่านว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระสวรรคต พระราชทานราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรส มิได้ยกให้แก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมโกษฐ์ซึ่งเคยเป็นสมเด็จพระอนุชาคู่ทุกข์คู่ยากด้วยกันมา ทั้งที่ทรงเป็นกราพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่ จึงเกิดศึกระหว่างพระเจ้าอากับพระเจ้าหลาน ในที่สุดพระเจ้าอยู่หัว บรมโกษฐ์ได้ขึ้นครองราชย์ ทรงขัดเคืองสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช มีพระราชดำรัสว่าจะไม่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่จะให้ลากไปทิ้งน้ำเสีย เจ้าพาระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) จึงกราบทูลพระกรุณาวิงวอนขอให้ทรงถวายพระเพลิงพระบรมศพตามโบราณราชประเพณีมา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ทรงเกรงใจเจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) ซึ่งเป็นอัครมหาเสนามาหลายแผ่นดินแล้ว จึงทรงยินยอม โปรดให้เจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) อำนวยการพระเมรุถวายพระเพลิง ณ วัดไชยวัฒนารามตามราชประเพณี นับเป็นคุณความดีครั้งสุดท้ายที่ท่านทำให้แผ่นดิน เมื่องานถวายพระเพลิงเสร็จเรียบร้อย ท่านก็ถึงแก่อสัญกรรม
เจ้าพระยาราชสงคราม (ปาน) ต้นตระกูลชั้นที่ ๓ หลานปู่ของเจ้าพระยาบวรราชนายก (นกแก้ว) นั้นมีชื่อปรากฎอยู่ว่า เฉลียวฉลาดในการช่าง รัชพระบรมราชโองการพระเจ้าอยู่หัว ท้ายสระขุดคลองมหาชัย คลองเตร็จน้อย สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว โดยใช้วิธีเกณฑ์ไพร่พอให้ขุดแบ่งกันคนละ ๔ ศอกพร้อมๆ กัน ทั้งสองคลอง แต่ละคลองใช้เวลาเพียงเดือนเดียว
แต่งานสำคัญที่สุดสำหรับสมัยนั้น เมื่อยังไม่มีเครื่องผ่อนแรงก็คือ การชลอพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกข์ เนื่องจากวิหารเดินอยู่ใกล้ตลิ่ง จนอาจจะพังลงไปได้ตลอดเวลา
เจ้าพระยาราชสงคราม (ปาน) เมื่อยังเป็นพระยาราชสงครามกราบบังคมทูลของรับอาสา
เมื่อแรกสมเด็จพระอนุชา (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ แต่ครั้งทรงเป็นกรมพระราชวังบวรฯ ไม่ทรงเห็นด้วย ทรงเกรงว่า พระพุทธไสยาสน์จะพังทะลายเพราะเป็นอิฐเป็นปูน ทรงเห็นว่าน่าจะรื้อไปก่อใหม่
เจ้าพระยาราชสงคราม (ปาน) เชื่อความสามารถของตัวเอง ถึงขนาดขอถวายชีวิตหากพระพุทธรูปแตกร้าวทำลาย
เรื่องนี้ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระต้องทรงมีพระราชปุจฉา แก่ที่ประชุมสงฆ์ ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ ว่า หากรื้อไปก่อใหม่ จะควรหรือไม่ควร
ที่ประชุมสงฆ์ ถวายพระพรว่า
“พระสถูปเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์ พระพุทธปฏิมากรพระองค์ใดๆ แม้พระรูปโฉมยังคงเป็นปกติดีอยู่ มิได้แตกหักพังวิปลาศ วิปริตด้วยประการใดๆ ยังดำรงทรงปกติดีอยู่พร้อมมูล จะรื้อย้ายไปก่อสร้างใหม่ในที่ใดๆ หาสมควรด้วยพุทธบาลีไม่”
ก็เป็นอันว่า พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพระยาราชสงครามรื้อวิหาร ชลอพระพุทธไสยาสน์เลยเข้ามาจากตลิ่ง แล้วก่อพระวิหารใหม่ดังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
การชักลากชลอพระพุทธไสยาสน์ครั้งนั้น คงจะครื้นเครงเป็นอันมาก ด้วยเจ้าพระยาราชสงครามเป็นผู้บัญชาการ ทำรอกว้านตามปัญญาความสามารถของท่านแล้ว นอกจากไพร่พลคนหลวงก็ยังมีพวกราษฎรที่มาช่วยแรงบุญซึ่งคงจะพากันมาชักลากเป็นจำนวนมาก ชักชากพระพลางโห่ร้องและร้องเพลงกันครื้นเครง เนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า “พระยาราชสงคราม ปัญญาท่านงามเลิศ ชักพระไปให้ถึงที่ ให้ท่านเป็นจักรีเถิด”
จักรี คือ เจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายกอรรคมหาเสนาบดี ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท่านเป็นจริงๆ
ความคิดเห็น