คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #21 : เรื่อง "แซ่" ของพระราชวงศ์จักรี
คำถามที่ผู้อ่านถามมายังค้างอยู่อีกหลายคำถาม บางคำถามก็ถามมาเพียงสั้นๆ จึงต้องหาข้อมูลประกอบเสริม หรือตอบรวมกับคำถามอื่น
เช่นที่ถามมานานแล้วเรื่อง “แซ่” ของพระราชวงศ์จักรีว่าพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๑-๖ ทรงใช้แซ่อะไรบ้าง
ต่อมามีคำถามเรื่อง “ผูกปี้” สงสัยว่า “ปี้” คืออะไร
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์อย่างจักรพรรดิจีน (ฮ่องเต้) เช่นเดียวกับ ฮ่องเต้จีน แสดงฐานะของประเทศสยามโดยนัยว่ามิใช่เมือง “อ๋อง” ซึ่งจีนนับเอาเองว่าเป็นเมืองขึ้นและนับเอาเครื่องราชบรรณาการเจริญพระราชไมตรี เป็นการ “จิ้มก้อง |
เรื่องแซ่ของพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชจักรีวงศ์นั้น เริ่มมาแต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงส่งทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับประเทศจีน ณ กรุงปักกิ่ง ทรงใช้พระนามในพระราชสาส์นว่า “แต้อั้ว” อนุชาแต้เจียว
“แต้เจียว” คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ในบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศจีน จุดเอาไว้ว่า- พ.ศ. ๒๓๒๕ (ค.ศ. ๑๗๘๑) พระเจ้าเช็งเคี่ยนล้ง ครองราชย์ปีที่ ๔๗ แต้อั้ว อนุชา แต้เจียว ได้เถลิงถวัลยราชย์เป็นกษัตริย์ประเทศสยาม และส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีเป็นครั้งแรก- (จากหนังสือเรื่องประวัติการสัมพันธ์ระหว่างชาติไทยกันชาติจีน โดย ลิขิต ฮุนตระกูล)
จึงกลายเป็นราชประเพณี สืบต่อกันมา ถึงราชกาลที่ ๔ แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ นั้น เพียงแต่กำหนดพระนามเอาไว้ว่า “แต้เจี่ย” ทว่ายังไม่ทันจะไดใช้ในพระราชสาส์นส่งไปยังกรุงปักกิ่งเหมือนดังรัชกาลที่แล้วๆ มา
เพราะ ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ยังไม่ทันจะได้มีพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีเหมือนดังที่ไทยเคยทำเมื่อผลัดแผ่นดิน อันเป็นธรรมเนียมเหมือนแจ้งแก่เพื่อนบ้านว่าบัดนี้เปลี่ยนกษัตริย์แล้ว ทางจีนเกิดเรียกร้องทวงการ “จิ้มก้อง” เครื่องราชบรรณาการมาก่อน ครั้งนั้นไทยจึงได้ทราบว่าการเจริญพระราชไมตรีโดยการส่งเครื่องราชบรรณาการไปพร้อมพระราชสาส์นนั้น ทางจีนถือว่าเป็นการ “จิ้มก้อง” เหมือนเช่นเป็นเมืองขึ้น
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาไทยจึงงดการติดต่อ (พระราชสัมพันธ์) กับจีนอย่างเป็นทางการ ทว่าบรรดาพ่อค้าวาณิช คนจีนคนไทยก็ยังเป็นเสมือนเดิม
การรื้อฟื้นสัมพันธไมตรีทางการทูตกับจีน เพิ่งจะเกิดขึ้นมาอีก ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
เล่านอกเรื่องสักนิดว่า เวลานั้นประเทศจีนยังมิได้แบ่งแยกกันและยังไม่ได้เป็นคอมมิวนิสม์ อัครราชทูตจีนคนแรก คือ นายหลีเทียะเจิง ยังไม่มีสถานทูตอยู่รัฐบาลจัดให้พักที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง (ปัจจุบันคือโรงแรมรอแยล ไม่ทราบว่าเปลี่ยนชื่อทำไม ชื่อเก่าออกไพเพราะงดงามอย่างยิ่งแล้ว)
ลูกสาวคนโตของนายหลีเนียะเจิง ขอเข้าเรียนในโรงเรียนเซนต์โยเซฟ เมื่อนายหลีเพียะเจิงเข้ามาประจำเป็นเอกอัครราชทูตเรียบร้อยแล้ว ทางจีนได้จัดซื้อสถานทูตและบ้านพักที่ถนนเพชรบุรีตอนใกล้ประตูน้ำ เลยพลอยฟ้าพลอยฝนได้จับมือกับเอกอัครราชทูตจีนคนแรก เพราะลูกสาวของท่านชวนไปเที่ยวบ้านพักในสถานทูตซึ่งมีสระว่ายน้ำเสียด้วย นายหลีเพียะเจิงรูปร่างสูงใหญ่ เด็กอายุ ๑๕-๑๖ หัวอยู่สักแค่อกท่านเท่านั้น ภรรยารูปร่างเล็กสวยมาก ทั้งๆ รูปร่างเล็กก็มีสว่างดงาม จับตะเกียบสวยที่สุด
พระเจ้าแผ่นดินไทยห้าพระองค์ พระนาม “แซ่แต้” ของพระองค์ท่าน คือ
รัชกาลที่ ๑ ทรงใช้ว่า แต้ฮั้ว
รัชกาลที่ ๒ ว่า แต้หก
รัชกาลที่ ๓ ว่า แต้ฮุด
รัชกาลที่ ๔ ว่า แต้เม้ง
รัชกาลที่ ๕ ซึ่งยังไม่ทันจะมีพระราชสาส์น กำหนดเอาไว้ว่าจะทรงใช้ “แต้เจี่ย”
ทีนี้เรื่องปี้
ปี้ก็คือแผ่นโลหะเครื่องหมายผูกข้อมือคนจีน ลักษณะเป็นสตางค์แบบจีน ซึ่งก็คล้ายกันกับเหรียญสตางค์ไทย แต่เจาะรูเป็นรูสี่เหลี่ยมไม่ใช่รูกลม คนจีนคนใด “ผูกปี้” ที่ข้อมือแสดงว่า ได้เสียภาษีเข้าเมืองเรียบร้อยแล้ว ใช้เฉพาะคนจีนที่เข้าเมืองมาใหม่ๆ
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ยังมี “ปี้” หลงเหลืออยู่ให้เห็น “ปี้” ในรัชสมัยนั้น ปั๊มอักษรจีนเป็นตัวนูนบนด้านทั้ง ๔ ของรูสี่เหลี่ยมนั้นว่า “แต้เม้งเสียมล้อ” แปลว่า “พระเจ้าแต้เม้งแห่งกรุงสยาม”
ในรัชกาลที่ ๔ มีประกาศพระบรมราชโองการว่า ได้ทรงนำเงินผูกปี้ไปใช้ในการสร้างถนนเจริญกรุง และถนนเฟื่องนคร รวมทั้งถนนซึ่งปัจจุบันนี้ คือ ถนนพาหุรัด เลยข้ามสะพานหันผ่านสำเพ็งด้วย (ถนนในสมัยนั้นยังไม่ได้ลาดยาว คงเป็นถนนที่เรียกกันว่า ถนนลูกรัง บางสายก็โรยกรวดให้แน่น)
พระบรมราชโองการประกาศนี้มีความสำคัญไม่น้อย เพราะไม่สู้จะมีผู้ทราบประวัติของถนนนักว่าใช้เงิน “ปี้” อันเป็นเงินค่าธรรมเนียม “หรือภาษี) เข้าเมืองของคนจีน
“ประกาศเรื่องเงินปี้จีนปีชวดทำถนน
มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่จีนทั้งปวง ซึ่งต้องเสียเงินผูกปี้เข้ามาช่วยราชการแผ่นดินทั้งปวงให้ทราบว่า เงินผูกปี้รายประกาศตรีศก นั้นได้จ่ายทำถนนเจริญกรุง แลถนนหลวงใหญ่ตลอดลงไปสำเพ็งแลคอกกระบือ แลออกไปกลางทุ่งทางคลองตรง เปนทางขึ้นได้แล้ว ยังแต่จะต้องจัดซื้อทรายกรวดเพิ่มเติมให้ทางแข็งดีขึ้นยังจะแก้ไขต่อไปอยู่
แต่ถนนบำรุงเมือง นั้น ทรงพระราชศรัทธา บริจากพระราชทรัพย์แต่พระคลังในที่จ้างจีนทำ แลซื้อศิลายาวกระหนาบสองข้างถนน แลได้ซื้อทรายถมแลเพิ่มเติม แลจะเพิ่มเติมต่อไป ถนนบำรุงเมืองนี้ไม่ได้ใช้เงินปี้จีนเลย ใช้พระราชทรัพย์พระคลังทั้งสิ้น
เงินปี้จีนปีชวดฉศกนี้ ได้โปรดให้จ่ายจ้างจีนทำถนนขวาง ตั้งแต่วัดบวรนิเวศวิหารลงมาจนริมวังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ การได้เริ่มขึ้นบ้างแล้ว ถ้าทางนี้เสร็จแล้วจะโปรดให้จ่ายสร้างถนนลงไปต่อหอกลางแลศาลเจ้าพระกาฬไชยศรี พระเสื้อเมือง ทรงเมือง ลงไปจนสพานหัน แล้วจะทำถนนสำเพ็งลงไปจนวัดสัมพันธวงศาราม และวัดประทุมคงคา แลแวะออกประจวบทางใหญ่เจริญกรุงในที่ควร การทั้งปวงจะใช้ออกด้วยเงินผูกปี้ในปีชวดฉศกนี้ ให้จีนทั้งปวงบรรดาซึ่งได้เสียเงินผูกปี้เข้ามาในหลวงทั้งปวงจงยินดีว่า
ได้เรี่ยรายกันสร้างหนทางถนนเจริญกรุง แลหนทางถนนสำเพ็งขึ้นเปนประโยชน์แก่คนทั้งปวงนั้นเถิด อย่าคิดเสียใจว่า ต้องเสียเงินเข้ามาในหลวงเปล่าๆ เลย ให้คิดว่าได้เรี่ยรายกันสร้างถนนใหญ่ แล้วจะสร้างขึ้นทำนุบำรุงบ้านเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่ด้วยกัน จีนต้องเงินเสียเงินเมื่อปีรกาตรีศกแลปีขวดฉศกนี้คนละ ๔ บาท ฤาสองคราวรวมกันเปนคนละ ๘ บาท สร้างถนนใหญ่ ในหลวงก็ได้เสียพระราชทรัพย์ของพระคลังในที่ สร้างถนนบำรุงเมืองขึ้นเหมือนเข้าเรี่ยรายกับจีนฉันนั้นให้จีนทั้งปวงชื่นชมยินดีเถิด”
“ถนนขวาง” ในพระบรมราชโองการประกาศ คือถนนเฟื่องนคร ซึ่งแต่แรกตัดลงมาจากวัดบวรฯ ลงมาถึงริมวังพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ (ในรัชกาลที่ ๕ เลื่อนเป็น กรมพระเทเวศน์วัชรินทร์ พระนามเดิมพระองค์เจ้าชายกลาง เป็นต้นราชสกุล “วัชรีวงศ์ ณ อยุธยา” ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยระนาด จริงๆ แล้วท่านไม่ได้ชื่อน้อยระนาด หากแต่เจ้าจอมที่ชื่อน้อย มีอยู่หลาย่านด้วยกันชาววังจึงออกนามโดยใช้คุณสมบัติพิเศษกำกับ)
ที่เรียกว่าถนนขวาง เพราะตัดขวางถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง มาแต่ข้างวัดบวรฯ ตรงมาเรื่อยจนจดถนนจักรเพชร (ถนนที่ผ่านหน้าลานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ)
หมายเหตุ ในฉบับที่ผ่านมาแล้ว พระนามของพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ฯ ได้พิมพ์พลาดไป องค์ที่พิมพ์ว่า “มาลาสุวรรณ” นั้น พระนามท่านว่า “มาลากสุวรรณ” จึงจะคล้องจองกันกับ “มาลากนก”
มีผู้โทรศัพท์มาบอกว่า ยังขาดอีกหลายองค์ ล้วนแต่พระนามแปลว่า ทอง ซึ่งไพเราะทั้งนั้น แต่ก็จำได้เพียงบางองค์เช่นกัน ท่องมาให้ฟังว่า
ทองทีฆายุ อุไรวรรณ พันธุ์สิหิงค์
สอึ้งมาศ นาทรนพคุณ ทองมุ่นใหญ่
มาลกสุวรรณ กรัณฑ์คำ ลำทองแร่
ความคิดเห็น