ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #19 : "เจ้าต่างกรม" และ "เจ้าในกรม"

    • อัปเดตล่าสุด 5 มิ.ย. 52


     

    -เจ้าต่างกรมกับในกรม สงสัยว่าเหมือนกันหรือเปล่า อ่านหนังสือเก่า เห็นใช้ว่าต่างกรมบ้างในกรมบ้าง

    สมเด็จก็เช่นกัน เรียกเจ้านายก็ว่าสมเด็จ เรียกพระราชาคณะก็ว่าสมเด็จพระราชคณะที่เรียกสมเด็จยกเป็นเจ้าหรือเปล่า อีกอย่างคือกรมสมเด็จพระกับสมเด็จกรมพรระยศเท่ากันหรือเปล่า-

    เจ้าต่างกรม คือเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯให้ยกผู้คนในบังคับบัญชาของพระองค์ขึ้นเป็นกรมต่างหากออกไปจากกรมของท่านราชการแผ่นดิน หรือของหลวง หรือของพระเจ้าแผ่นดิน

    จึงเรียกเจ้าที่ได้รับพระราชทานให้มีกรมต่างหากออกไปจากนั้นว่าเจ้าต่างกรมหรือบางทีก็ตัดให้สั้นลงว่าต่างกรมละคำว่าเจ้าเสียเฉยๆ

    สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาวา ทรงกรมเป็น กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ฯก่อนเมื่อโปรดเกล้าฯเลื่อนเป็น กรมพระยา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯให้ออกพระนามเต็มพระอิสริยยศว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลากรมพระยา บำราบปรปักษ์

    เช่นเดียวกับในกรมเจ้านายที่โปรดฯให้มีกรมต่างหากเป็นของพระองค์นั้น เมื่อแรกก็เรียกกันว่า เจ้าในกรมนั้น เจ้าในกรมนี้ นานไปก็จะคำว่าเจ้า (หรือพระองค์เจ้า หรือเจ้าฟ้า) เสีย เหลือเพียงในกรมสั้นๆ

    เจ้านายที่ออกพระนามว่าในกรมนั้น เรียกกันแต่เจ้านายผู้ชาย เจ้านายผู้หญิงไม่เคยได้ยินใครเรียกท่านว่าในกรม

    เข้าใจว่าเมื่อเจ้านายทั่วไปท่านเป็นในกรมพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงเป็นในหลวงเพราะหลวงหมายถึงใหญ่ที่สุด หมายถึงแผ่นดินทั้งหมดก็ว่าได้

    เรื่องเจ้าต่างกรมนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านทรงวิจารณ์ไว้ในสาส์นสมเด็จทว่าพระนิพนธ์ในพระองค์ท่านนั้นละเอียดยืดยาวมาก

    ส่วนพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเจ้าต่างกรม ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงขึ้นก่อนนั้น ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและพระราชาธิบายในตอนต้นเลยทีเดียวว่า

    บัดนี้จะตั้งวินิจฉัยในเรื่องเจ้าต่างกรมแปลว่ากระไร เหตุไฉนชื่อเจ้ากรม จึงเหมือนกับชื่อเจ้า ข้อนี้วินิจฉัยง่าย คือเจ้าฟ้าก็ดี พระองค์เจ้าก็ดี ที่มีข้าไทเลกสมสังกัดขึ้นมาก การบังคับบัญชาคนข้าไทเหล่านั้น ต้องมีข้าของเจ้าคนหนึ่งสองคนฤาสามคน เป็นผู้ควบคุมผู้คนมากด้วยกัน (ซึ่ง) จะเป็นแต่จางวาง นายเวรสมุห์บาญชี (ใน) ชื่อเดิมควบคุมคนมากๆ ก็ดูไม่สมควร เจ้าแผ่นดินจึงได้โปรดให้ยกคนหมู่นั้นขึ้นเป็นกรมต่างหากกรมหนึ่ง คงอยู่ในเจ้าองค์นั้น เจ้าองค์นั้นมีอำนาจตั้งเจ้ากรมเป็นพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น (ตั้ง) ปลัด กรมเป็น พระ หลวง ขุน หมื่น สมุห์บาญชีเป็น หลวง ขุน หมื่น มีชื่อตำแหน่ง ส่วนเจ้าซึ่งเป็นผู้ปกครองกรมนั้น เป็นเจ้าฟ้าก็คงเป็นเจ้าฟ้า เป็นพระองค์เจ้าก็คงเป็นพระองค์เจ้า แต่การที่ผู้ใดจะออกพระนามเดิมจริงๆ ดูเป็นการไม่เคารพ เช่นกับจะออกพระนามกรมหลวงจักรเจษฎาว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าลา เช่นนี้ก็ดูเป็นการต่ำสูง จึงเรียกเสียว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ตามชื่อเจ้ากรมซึ่งเป็นหัวหน้าข้าไทของท่าน

    ส่วนพระองค์เจ้าเล่า ตามอย่างเก่าๆ เขายังเรียกพระองค์เจ้ากรมหมื่นนั่น พระองค์เจ้ากรมหมื่นนี่คำที่ใช้จ่าหน้าบาญชีเจ้านาย ก็ใช้ว่าพระองค์เจ้ามีกรมแลพระองค์เจ้ายังไม่มีกรม

    ชื่อเจ้ากรม ปลัดกรม อย่างเก่าๆ ไม่ได้ใช้คำสูง วิเศษอะไร แลไม่ได้ใช้ (แยก) เป็นผู้หญิงผู้ชาย เช่น เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพย์ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ก็เห็นได้ตรงว่า พระนารายณ์ท่านคงไม่ได้ตั้งพระขนิษฐาให้ชื่อโยธาทิพย์องค์หนึ่ง และพระราชบุตรีให้ชื่อโยธาเทพ ซึ่งเป็นชื่อทหารผู้ชายเช่นนั้น เห็นชื่อว่าเป็นชื่อสำหรับเจ้ากรมเท่านั้น

    การค่อยๆ เข้าใจผิดกันมาทุกที เพราะเรียกพระนามกรมจนจับหน้าเจ้าองค์นั้นเสียแล้ว จึงกลายเป็นชื่อเจ้าองค์นั้น‚’

    ทีนี้เรื่องสมเด็จ

    คำว่าสมเด็จสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยไว้ว่า

    คำว่าสมเด็จ ดูใช้ในที่หมายความว่าเป็นอย่างยอด ใช้ประกอบกับยศบุคคลชั้นสูงสุดหลายชนิด เช่นว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระชนนี สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระเจ้าพี่นาง (และน้องนาง) เธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จเจ้าพระยา และ สมเด็จพระราชาคณะ ล้วนหมายความว่าเป็นยอดในบุคคลชนิดนั้น

    คำสมเด็จมิใช่ภาษาไทย และไม่ปรากฏว่าไทยพวกอื่นใช้ นอกจากไทยกรุงศรีอยุธยา จึงสันนิษฐานว่า ได้คำสมเด็จมาจากเขมร ปรากฏใช้นำหน้าพระนามพระเจ้าแผ่นดินในกฎหมายมาตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง

    ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ๒ และ ๓ แต่เดิมมานั้น สรุปตามพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ เรื่องพระบรมราชวินิจฉัยฯดังกล่าวแล้ว

    ว่าสำหรับเจ้านายนั้น เดิมทีเดียว ใช้เป็นคำนำพระอิสริยศักดิ์พระบรมราชชนนีของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงอยู่ในฐานะสูงศักดิ์ที่สุดในแผ่นดิน เรียกว่า สมเด็จพระบรมราชชนนีบ้าง สมเด็จพระพันปีหลวง บ้าง แต่ตามพระเกียรติยศแล้ว ทรงมีกรม เจ้ากรมเป็นพระเทพามาตย์ ตลอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ต่อมาย่อเป็นสมเด็จกรมพระเทพามาตย์

    แต่ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ทรงเฉลิมพระเกียรติยศพระบรมราชชนนีขึ้นเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงถวายชื่อกรมใหม่ว่า สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ ถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงเฉลิมพระเกียรติยศพระบรมราชชนนีขึ้นเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงถวายนามกรมว่า สมเด็จกรม พระศรีสุลาวัย ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุเก่าทุกแห่ง

    คำว่าสมเด็จกรมพระฯของสมเด็จพระพันปีหลวงเปลี่ยนเป็นกรมสมเด็จพระเป็นเอาคำว่ากรมนำหน้าสมเด็จ ในรัชกาลที่ ๔ นี้เอง

    ถึงตรงกับที่ถามมาเรื่องสมเด็จเจ้านาย กับสมเด็จพระราชาคณะแล้ว

    สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้ใช้กรมนำหน้าสมเด็จ เป็นกรมสมเด็จพระฯนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า ดังนี้

    ข้อซึ่งมาเกิดฟั่นเฟือนมากไปนั้น ด้วยในรัชกาลที่ ๔ฯลฯทรงได้ยินคำกราบทูลว่า สมเด็จพระเดชา แล สมเด็จพระปรมานุชิต เป็นต้น ทรงระแวงไปว่า ดูเหมือนบรรดาศักดิ์ (เจ้า) จะเสนอสมเด็จพระราชาคณะ อันเรียกว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ แลอื่นๆ

    อีกอย่างหนึ่งนั้น มีผู้เรียกพระนามกรมพระว่า พระงาม พระพิพิธ พระพิทักษ์ ก็จะเหมือน พระพิพิธเดชะ พระอินทรเทพ แลอื่นๆ ไป

    จึงได้บัญญัติลงว่า

    จะออกพระนามพระเจ้าอยู่หัววังหลวงวังหน้าให้ใช้พระบาทนำสมเด็จ ถ้าจะออกพระนาม สมเด็จพระเดชา สมเด็จพระปรมานุชิต ให้ใช้กรมนำหน้าสมเด็จ จะได้ผิดกับสมเด็จพระราชาคณะ ถ้าจะออกพระนามกรมพระรามอิศเรศ กรมพระพิทักษ์ กรมพระพิพิธ ให้ใช้กรมนำหน้าพระทุกคราว’’

    เมื่อทรงสถาปนาพระอัฐิพระบรมราชชนนี จึงถวายนามกรมโดยใช้กรม นำหน้า สมเด็จว่า

    กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์

    ดังนั้น สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และสมเด็จพระศรีสุลาลัย จึงเปลี่ยนเป็น กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย เหมือนดังกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ และกรมสมเด็จพระเทพศรินทรามาตย์ (ซึ่งสถาปนาพระอัฐิในรัชกาลที่ ๕)

    ตลอดจนเจ้านายอื่นๆ ซึ่งทรงพระเกียรติยศสูงถึงสมเด็จกรมพระ ก็ใช้ว่ากรมสมเด็จพระเช่นกัน

    จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดฯให้แก้ไขการออพระนามเจ้านายให้เป็นระเบียบ ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้

    ที่สำคัญ คือ พระนามที่เคยมีคำกรมทรงเปลื้องเอาคำกรม ออกจากพระนามทั้งนั้น คงแต่คำว่าสมเด็จพระเป็นประธาน ส่วนกรมสมเด็จพระเปลี่ยนเป็นสมเด็จฯ กรมพระยาหมด เช่น สมเด็จพระอมรินทราฯ ทรงเติมคำว่าบรมราชินีลงไปแทนมาตย์ฯลฯ กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย เป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย เฉยๆ ฯลฯ เป็นต้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×