คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #18 : ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ เมืองอุดรธานี
เพิ่งมีโอกาสได้ไปดูบั้งไฟพญานาคที่พุ่งขึ้นมาจากแม่น้ำโขง จึงเพิ่งจะได้ไปจังหวัดอุดรธานีครั้งนี้เอง
จังหวัดอุดรธานีนี่ได้ยินชื่อคู่กันมากับ “กรมหลวงประจักษ์ฯ” เสมอ เมื่อผู้ใหญ่เล่าถึงพระองค์ท่าน ก็มักจะเล่าว่า ท่านไปอยู่อุดรฯมาถึง ๘ ปี
คือ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ทางชายแดนมณฑลอุดร เกิดมีปัญหากับฝรั่งเศส ซึ่งมายึดครองประเทศลาว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงโปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ เสด็จไปประทับ ณ เมืองหนองคายก่อน ภายหลังจึงเสด็จไปประทับที่บ้านหมากแข้ง ในมณฑลอุดร (หมากแข้ง-มะเขือพวง) ทรงทำให้บ้านหมากแข้งเจริญ จนก่อตั้งขึ้นเป็นเมือง เป็นจังหวัดอุดรธานีทุกวันนี้
เมืองอุดรธานี จึงมีสถานที่ต่างๆ ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์ตามพระนามของพระองค์หลายแห่ง เช่นหนองประจักษ์ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนรื่นรมย์กลางเมือง เดิมชื่อหนองเกลือ ค่ายทหาร “ประจักษ์ศิลปาคม” และถนนประจักษ์
และยังมีพระอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านประดิษฐานไว้ที่ทุ่งศรีเมืองอีกด้วย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ (ณ ราชสีมา) ในรัชกาลที่ ๔
เจ้าจอมมารดาสังวาลย์ มีพระองค์เจ้า ๔ พระองค์คือ
๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระนามเดิมพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ทรงเป็นต้นราชสกุล “ทองใหญ่”
๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทองแถมถวัลย์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “ทองแถม”
๓. พระองค์เจ้า (ชาย) เจริญรุ่งราษี สิ้นพระชนม์พระชันษาเพียง ๕ ปี
๔. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (หญิง) กาญจนากร
พระประวัติของฯ กรมหลวงประจักษ์ฯ ว่าเมื่อประสูติ มีผู้นำทองที่ขุดได้ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระบรมชนกนาถจึงได้พระราชทานพระนามว่า “ทองกองฯ”
ครั้นถึงพระองค์ที่ ๒ จึงโปรดฯ พระราชทานพระนามว่า “ทองแถมฯ”
ว่ากันว่า พระองค์ที่ ๓ มิได้พระราชทานพระนามว่า “ทอง” จึงพระชันษาสั้น ถึงพระองค์เจ้าหญิงที่ ๔ จึงได้พระราชทานพระนามที่แปลว่า “ทอง” อีก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ากาญจนากร เจริญพระชันษาถึง ๗๐ พรรษา สิ้นพระชนม์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ๓ เดือน
ฯกรมหลวงประจักษ์ฯ นั้น ย่าซึ่งถวายตัวเป็นข้าหลวงในพระอัครชายาสมัยต้นๆ รัชกาลที่ ๕ เล่าว่าชาววังผู้ใหญ่ในขณะนั้นเล่ากันว่า เมื่อยังทรงพระเยาว์ท่านซุกซนนัก ครั้งหนึ่งท่านกับเจ้านายพี่น้องเคยแกล้ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ (พระองค์เจ้าสิงหรา) เมื่อฯ กรมหลวงบดินทรฯ เสด็จเข้ามาราชการในวังนั้น ท่านประทับเสลี่ยงเข้ามา (กรมหลวงประจักษ์ฯ ก็แอบไปทรงตัดสายเสลี่ยงไม่ทราบว่าทรงตัดอย่างไร แต่เมื่อฯ กรมหลวงบดินทรฯ เสด็จกลับมาประทับ พอคนหามยกเสลี่ยงขึ้นท่านก็ทรงคะมำแต่ไม่ถึงกับเป็นอันตรายอย่างใด ว่าเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบเข้าก็กริ้วบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งขณะนั้นพระชนม์ขนาด ๑๒-๑๐ พรรษา เป็นพระเจ้าน้องยาเธอรุ่นใหญ่กำลังซนกันหลายพระองค์ แต่ฯกรมหลวงบดินทรฯ ท่านก็ไม่ทรงถือสา
ฯกรมหลวงบดินทรฯ นั้น ท่านเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ เวลานั้นพระชันษาก็ประมาณสัก ๔๐ พรรษา ว่าที่จริงถ้านับญาติอย่างชาวบ้าน ท่านก็เป็นลูกผู้พี่ของเจ้านายเด็กๆ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ แต่เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระชนมายุสูงกว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ถึง ๑๘ พรรษา ทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเพิ่งจะทรงมีพระหน่อเมื่อพระชนมายุถึง ๔๗ พรรษาแล้ว พระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงมีพระชันษาสูงกว่า พระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงทรงยกย่องพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ว่าเป็นเจ้านายชั้นอาวุโส โปรดฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ตรัสเรียก พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯว่า “เสด็จยาย”
เมื่อ ฯกรมหลวงบดินฯ ท่านทรงแก่กว่าเจ้านายเด็กๆ มาก ท่านก็คงจะทรงเอ็ดเอาบ้าง บรรดาเจ้านายเด็กๆ จึงไม่สู้จะชอบท่านนัก พากันหาโอกาสแกล้งท่านตามประสาซน
เรื่อง ฯกรมหลวงประจักษ์ฯ ทรงซุกซนสมัยทรงพระเยาว์ แม้ในกลอนสังเกตพระอัชฒาสัยเจ้านายที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงฯ ทรงจดเอาไว้ก็กล่าวถึงฯ กรมหลวงประจักษ์ฯ ซึ่งเจ้านายพี่น้องเรียกกันว่า “ท่านทอง” ว่า
“เที่ยวลอยจุดโคม ท่านทอง”
คือในพระบรมมหาราชวังนั้น มีเจ้าหน้าที่สำหรับจุดโคมเมื่อถึงเวลาค่ำ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ทันมาจุด “ท่านทอง” ก็แอบไปจุดเสียก่อน
ฯกรมหลวงประจักษ์ฯ เป็นพระเจ้าน้องยาเธอที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระกรุณาโปรดปรานมาก เมื่อก่อนจะเสด็จไปราชการมณฑลอุดร พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯให้ทรงบังคับบัญชากรมวังนอก และทรงเป็นผู้ช่วยราชการกรมวังเวรในด้วย ทรงรักใคร่นับถือพระราชโอรสธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทุกพระองค์ รับสั่งเสมอว่า เป็นลูกเจ้าข้างแดงแกงร้อน เมื่อทรงรับราชการกรมวัง สมเด็จพระบรมโอราธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ จึงทรงสนิทสนมกับ “ลุงจักษ์” จะเห็นได้ว่าในจดหมายเหตุรายวัน ที่ทรงบันทึกไว้ตั้งแต่พระชนมายุเพียง ๕ พรรษา ทรงเอ่ยถึง “ลุงจักษ์” หลายครั้งหลายหน
โอรสธิดาใน ฯกรมหลวงฯ ประจักษ์นั้นพระนามมีคำว่า “ทอง” หรือมีความหมายว่าทองทุกองค์จำได้เพียงพระนามหม่อมเจ้าหญิง ๘ องค์ ซึ่งไพเราะคล้องจองกัน จนผู้ใหญ่นำมาท่องให้ฟังบ่อยๆ คือกองกาญจนา มาลากนก มาลกสุวรรณ กรัณฑ์คำลำทองแร่ แพร่ทองทราย ข่ายทองถัก สลักทองนูน
ความคิดเห็น