ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #6 : พิธีตั้งกรม ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 953
      4
      5 มิ.ย. 52

     

    เล่าถึงการทรงกรมแล้วน่าจะเลยเล่าถึงพิธีการตั้งกรมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (ต้นรัตนโกสินทร์ ท่านกำหนดไว้ว่าตั้งแต่ ร.๑-๓ ตั้งแต่ ร.๔-๕ เป็นระยะกลางรัตนโกสินทร์)

    ส่วนหนึ่งของ พระตำหนักที่ประทับ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ซึ่งรื้อมาเปลี่ยนแปลงเป็นศาลาการเปรียญ วัดรัชฎาธิษฐาน (วัดเงิน)

    พระราชพิธีตั้งกรมในครั้งกระนั้น เริ่มด้วยพิธีแบบพราหมณ์ ตั้งเครื่องสังเวย"บายศรี ศีรษะ สุกร ซ้ายขวา ธูปเทียน แป้ง น้ำมันหอม" อาลักษณ์ ผู้มีหน้าที่จารึกพระสุพรรณบัฎ นุ่งขาวห่มขาว (ผ้าขาวเบิกจากพระลังทั้งผ้านุ่มห่มของอาลักษณ์ และผ้าขาวที่จะรองพระสุพรรณบัฎ

    เจ้าพนักงานเตรียม แตรสังข์ มุโหรี ปี่พาทย์ กลองแขก ฆ้องชัย ชาววังเอานาฬิกามาตั้ง (เวลานั้นคงจะเป็นนาฬิกาทราย คอยพระฤกษ์

    เมื่อถึงเวลาพระฤกษ์ ก็ประโคมมโหรีปี่พาทย์ลั่นฆ้องชัย อาลักษณ์ลงกราบพระรัตนไตรโดยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วกราบถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วจึงจารึกพระนามกรมลงในพระสุพรรณบัฎ ๑ บรรทัด พระสุพรรณบัฎเป็นแผ่นดินทองคำ เนื้อทอง ๘, ๗ หรือ ๖ ตามแต่พระเกียรติยศของเจ้านายที่ทรงกรมนั้นๆ เจ้าฟ้ามักจะเป็นทองเนื้อ ๘ และ ๗ พระองค์เจ้าทองเนื้อ ๖ แต่เมื่อจารึกพระนามกรมสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (พระสุพรรณบัฎจารึกว่า กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์) สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๒ นั้น จดหมายเหตุจดไว้ว่า แผ่นทองคำพระสุพรรณบัฎ เป็นทองร่อนบางตะพาน คือ ทองคำบริสุทธิ์ (จะเข้าใจผิดหรือถูกไม่ทราบ ว่าเรียกกันว่า ทองเนื้อ ๙)

    ขั้นตอนต่อไป เมื่อจารึกพระนามกรมลงพระสุพรรณบัฎเรียบร้อยแล้ว กรมอาลักษณ์ เชิญพระสุพรรณบัฎ วางบนพานทองคำ คลุมด้วยผ้าสักหลาดแดงปักทองแผ่ลาด เชิญไปเก็บไว้โรงอาลักษณ์ ในรัชกาลที่ ๑ วัดพระศรีรัตนศาสดารามยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อย ต่อมาพิธีจารึกพระนามกระทำกันในพระอุโบสถ ก็เชิญเก็บไว้ในพระอุโบสถนั้นเอง

    วันรุ่งขึ้นเวลาบ่ายมีพิธีสวดพระพุทธปริตฯ ณ วังเจ้านายที่ทรงรับกรม

    ต่อจากนั้นวันต่อมาหลังจากพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ณ พระอุโบสถแล้ว อาลักษณ์จึงเชิญพระสุพรรณบัฎจารึกพระนามจากมณฑลพิธี ขึ้นพระเสลี่ยงที่ต่างกรมพระองค์ใหม่นั้นทางส่งมารับ มหาดเล็กในกรมถวายพระกลดกั้นพระสุพรรณบัฎ ขุนนางในกรมอาลักษณ์เป็นผู้เชิญไปถวายต่อพระหัตถ์ เมื่อทรงรับแล้ว ประทานรางวัลแก่ผู้เชิญมาถวายตามสมควร

    พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฎ สมเด็จพระพันปีหลวง พระองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๒ มีจดหมายเหตุจดไว้อย่างละเอียด

    พระราชพิธี มีที่พระอุโบสถวัดพระศรีฯ

    แผ่นพระสุพรรณบัฎ กว้าง ๗ นิ้ว ยาว ๑๔ นิ้ว จารึกแล้วเชิญลงพระหีบเงินถมยาดำตะทอง รักษาไว้ ณ พระอุโบสถ

    เมื่อเชิญพระสุพรรณบัฎไปถวายนั้น จดไว้ว่า

    "ครั้น ณ วัด ๖๗ ๑๑ ค่ำ จึงเชิญพานพระสุพรรณบัตรขึ้นเหนือพระเสลี่ยงอันวิจิตรไปด้วยราชาวาศน์ อภิรุม ชุมสาย พัดโบก จ่าบอน (จามร) อินทร์พรหม เทวดา เกณฑ์แห่แตรสังข์ แห่ไปที่มณฑลพระตำหนักตึก พระสงฆ์ ๑๕ รูป มีสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น สวดพระพุทธมนต์ ๓ วัน ครั้น ณ วัน ๒ ฯ๑๐ ๑๑ ค่ำเพลาเช้าโมง ๑ กับ ๒ บาท เสด็จสรงมูรธาภิเษก พระสังฆราช พระพนรัต พระญาณสังวร ถวายน้ำพระพุทธมนต์ พรามณ์ถวายน้ำสังข์ กรด (กลศ) เสร็จแล้ว เสด็จออกมาถวายเข้าสงฆ์ พระสงฆ์ฉันแล้วได้ฤกษ์ ๓ โมงกับ ๕ บาท ขุนสรรประเสริฐ ขุนมหาสิทธิ เชิญพานพระสุพรรณบัตรเข้าไป พระอาลักษณ์ถวายต่อพระหัตถ์ เจ้าฟ้ากรมหลวงถวายตราประจำปี แล้วพระราชทานเลี้ยงข้าราชการ ผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกัน"

    คัดมาตามต้นฉบับ สะกดการันต์ตามต้นฉบับ"เจ้าฟ้ากรมหลวง" เจ้าใจว่า คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี พระราชธิดาพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ซึ่งสิ้นพระชนม์ ในรัชกาลที่ ๒ พระชันษา ๔๗ พรรษา พ.ศ.๒๓๖๖ ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระอมรินทราฯ เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง ประทับ ณ พระตำหนักตึก ซึ่งมิใช่หลังเดียวกับพระตำหนักตึก ที่ประทับ สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๓

    พระตำหนักตึกในรัชกาลที่ ๒ นี้ตั้งอยู่หลังพระที่นั่งดุสิตมหาประสาท สันนิษฐานกันว่า คงเรียกรวมไปกับพระที่นั่งพิมานรัตยา รวมทั้งพระปรัศว์ (เรือนขนาบ) ซ้าย-ขวา ด้วย

    เดิมสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เสด็จอยู่ดังกล่าว ครั้นสวรรคตในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าพระราชทานให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเจ้าลูกเธอประทับต่อสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ก็เสด็จอยู่ด้วยกรมหมื่น อัปสรสุดาเทพ ผู้ทรงเป็น"ป้า" ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ครั้นการหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ จึงประทับต่อมา จนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดฯให้สร้างใหม่ เป็นตำหนักสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

    พระตำหนักตึกหลังดังกล่าวปัจจุบันได้รื้อถอนไปจนหมดสิ้นแล้ว

    พระนามกรมเจ้านาย มีผู้ถามมาว่า มีกี่กรม

    เจ้าฟ้า และพระองค์เจ้า"ต่างกรม" นั้นมีมากมายนับร้อย คัดมาตอบกันไม่หวาดไหว

    พระนามกรมเจ้านายนั้น ในสมันก่อน เมื่อตั้งกรมคราวเดียวกันหลายพระองค์ ส่วนมากมักคล้องจองกัน และเมื่อทรงกรมแล้ว ก็จะเรียกกันแต่พระนามกรม ไม่เรียกพระนามเดิมกันอีก ด้วยเหตุนี้พระนามเดิมของเจ้านายที่ทรงกรมแล้วในสมัยก่อนจึงไม่สำเร็จ แม้อาลักษณ์ก็สะกดตามใจชอบ พระนามจริงๆ ของเจ้านาย โดยเฉพาะพระราชโอรสธิดา เพิ่งจะตั้งกันเป็นเรื่องเป็นราว มีการเขียนพระนามเป็นแน่นอนในรัชกาลที่ ๔ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐานว่าคงจะตั้งกันตามสิ่งแวดล้อมหรือตามธรรมชาติในเวลาที่ประสูติ หรือตามรูปลักษณ์ โดยเจ้าจอมมารดาเรียกหรือข้าหลวง พระญาติ หรือแม้แต่สมเด็จพระบรมชนกนาถ น้อยพระองค์ที่จะทรงพระราชทานพระนามใหม่เพราะๆ

    เช่น พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๓ เดิมพระนามว่า พระองค์เจ้าสังข์ ว่ากันว่าพระรูปโฉมงามตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์เปรียบเหมือนพระสังข์ทอง จึงเรียกกันว่า พระองค์สังข์ หรือสังข์ทอง ซึ่งคงจะจริงเพราะเป็นที่โปรดปราน ในสมเด็จพระบรมชนกนาถยิ่งนัก พระราชทานพระนามใหม่ว่า"พระองค์เจ้าลักษขณานุคุณ" ซึ่งก็ยังคงหมายถึงรูปงามนั่นเอง

    พระนาม"สังข์" นี้ ในรัชกาลที่ ๕ มีผู้ตั้งคำถามไปถาม ก.ส.ร.กุหลาบ เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามประเภทว่า เพราะเหตุใด ผักกระสังจึงเรียกกันว่า ผักชะกรูด

    ซึ่งก.ส.ร. กุหลาบ ตอบว่า (ใช้สะกดการันต์ตามเดิม)

    "ในรัชกาลที่ ๓ นั้น มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า"พระองค์จ้าวสังข์" ภายหลังทรงเปลี่ยนพระนามว่า"พระองค์จ้าวลักขณานุคุณ" เป็นพระเจ้าลูกยาเธอที่ ๒ ประสูติ ณ วันพุธ เดือนยี่ แรมสองค่ำ ปีวอก จัดวาศก จุฬศักราช ๑๑๗๔ ปี เป็นพระองค์จ้าวที่ ๒ ของจ้าวจอมมารดาบาง พระสนมเอก ท่านพระองค์นี้เป็นพระอนุชา ร่วมจ้าวจอมมารดาเดียวกันกันกรมหมื่นอับศรสุดาเทพ ครั้งนั้นราษฎรไม่อาจออกชื่อผักกระสังได้ ด้วยกลัวว่าจะพ้องต้องกันกับพระนามพระองค์จ้าวลักขณานุคุณ ครั้งนั้นคนเป็นอันมากจึงพร้อมใจกันยักย้ายร้องเรียกชื่อผักกระสังว่า ผักชะกรูด เพราะเหตุนี้ชื่อผักกระสังจึงมีชื่อว่า ผักชะกรูดตลอดมา จนทุกวันนี้ จึงมีสองชื่อสองเสียงไป"

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×