ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #7 : เครื่องสูงประดับพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.88K
      2
      5 มิ.ย. 52

     

    ฉบับที่ ๒๓๘๔ มีคำพิมพ์ผิด อย่างแรงอยู่สองคำ

    ในคอลัมน์แรกหน้า ๓๓

    บัดทัดแรก คำว่า ทองแผ่ลาดนั้น ที่ถูกเป็น ทองแผ่ลวด

    และในจดหมายเหตุคำว่า จ่าบอนที่ถูก เป็น จ่ามอน

    ก็พอดีมีผู้ถามถึงเครื่องสูง อภิรุม ชุมสาย

      กระบวนพยุหยาตรา ภาพนี้เห็นบังสูรย์ชัดเจน และเห็นฉัตรชุมสายอยู่ตรงกลางหลังพระราชยาน

    เครื่องสูงประดับพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์นั้น ในหนังสือราชูปโภคและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ นั้นว่ามีอยู่ ๘ คือ

                ๑. ฉัตร ๗ ชั้น ทำด้วยผ้าปักหักทองขวาง สำรับหนึ่งมี ๔ คัน สำหรับปักหรือแห่เสด็จพระราชดำเนิน ๔ มุมพระที่นั่ง

                ๒. ฉัตร ๕ ชั้น ทำด้วยผ้าปักหักทองขวาง สำรับหนึ่งมี ๑๐ คัน สำหรับปักหรือแห่เสด็จพระราชดำเนิน หน้า ๖ คัน และหลัง ๔ คัน

                ๓. ฉัตรชุมสาย เป็นฉัตรทรงใหญ่ ๓ ชั้น ทำด้วยผ้าปักหักทองขวาง และมีสายไหมถักห่างๆ คลุมทับกัน ลมตีกลับ ชายไหมห้อยลงมาโดยรอบ สำรับหนึ่งมี ๔ คัน สำหรับปักและแห่เสด็จพระราชดำเนิน หลังฉัตร ๕ ชั้น

    ฉัตรทั้ง ๓ นี้รวมเรียกว่า อภิรุมชุมสายในจดหมายเหตุเรียกว่า อภิรมหรือเครื่องสูง พระอภิรุมชุมสาย

                ๔. บังแทรก ด้ามโลหะยาว มีแผ่นผ้าปักหักทองขวาง รูปแบนกลมมีขอบรูปจักๆ เหมือนในสาเกโดยรอบ มียอดแหลม สำรับหนึ่งมี ๖ คัน สำหรับปักและแห่เสด็จพระราชดำเนิน ระหว่างฉัตร ๕ ชั้น

                ๕. จามร เดิมเป็นแส้ทำด้วยขนจามรีมีด้ามยาว สำหรับเจ้าพนักงานเชิญถือปัดในเวลาประทับอยู่เบื้องสูง เช่นเวลาทรงพระราชยานเป็นต้น สำรับหนึ่งมี ๑๖ คัน แบ่งเป็นซ้าย ๘ คันๆ ขวา ๘ คัน จามรนี้เป็นแส้จึงมีปลอกหนังรูปเหมือนน้ำเต้าแต่แบนสวมภายนอก ต่อมาตัวแส้ขนจามรีหายไป ในรัชกาลที่ ๖ จึงโปรดให้เปลี่ยนเป็นเชิญทวน หรือพุ่มดอกไม้เงินทองแทน

                ๖. บังสูรย์ เป็นเครื่องบังแดดขนาดใหญ่รูปใบโพมีด้าม ทำด้วยผ้าปักหักทองขวาง

                ๗. พัดโบก เป็นพัดทำด้วยใบลาน รูปช้อยมีด้ามติดอยู่ด้านข้าง พัดนี้ หากขนาดเล็กสำหรับถวายอยู่งานพัดใกล้พระองค์ ขนาดกลางมีคู่สำหรับมหาดเล็กถวายอยู่งานพัดเวลาเสด็จประทับพระราชอาสาร์ ขนาดใหญ่สำหรับเจ้าพนักงานเชิญอยู่งานพัดถวายในขบวนเสด็จพระราชดำเนิน

    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกระบวนพยุหยาตรา เลียบพระนคร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.๒๔๕๓ เห็นฉัตร ๗ ชั้น ๕ ชั้น บังสูรย์ พัดโบกและดอกไม้เงินดอกไม้ทองแทนจามร (โปรดสังเกต ธงชาติไทยในสมัยนั้นมีรูปช้างเผือดเป็นสัญลักษณ์)

    จะเห็นได้ว่า เครื่องสูงทั้งนี้ หากทำด้วยผ้าจะปัก หักทองขวางคือปักด้วยเส้นทอง เรียกวิธีปักและลายที่ปักว่า หักทองขวางมักเรียกสั้นๆ ว่า เครื่องสูงหักทองขวาง

    เครื่องสูงหักทองขวาง นี้เป็นเครื่องสูง ประกอบพระราชอิสริยยศ เท่านั้น แต่ถ้าหากเป็นพระศพสมเด็จพระอัครมเหสีสมเด็จพระยุพราช เครื่องสูงประดับพระเกียรติยศ ก็เป็นเครื่องสูงหักทองขวาง เช่นเดียวกับพระบรมศพ

    ส่วนพระศพเจ้านาย ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าลงมาถึงหม่อมเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช ตลอดจนท่านผู้ได้รับพระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษ เครื่องสูงประดับพระโกศพระศพและศพ จะเป็น ทองแผ่ลวดคือ ฉัตร และชุมสายปักเส้นทองอย่างที่เรียกว่า ทองแผ่ลวด

    พระโกศสมเด็จเจ้าฟ้ามีฉัตรชุมสายทองแผ่ลวด ประดับพระอิสริยยศด้วย นอกนั้นมีเพียงฉัตร ๕ ชั้นทองแผ่ลวดกี่คันแล้วแต่เกียรติยศที่ได้รับพระราชทาน

    จามร ในจดหมายเหตุจดว่า จ่ามอนตามเสียงพูด เป็นตัวอย่างว่าในสมัยก่อนโน้นการกำหนดอักขรวิธียังไม่ชัดเจนลงไป แม้แต่อาลักษณ์ก็สะกดคำตามเสียงพูด จามรจึงเป็น จ่ามอน’ ‘คเนจรเป็น ขเนจรหนักเข้า พระนามท่านเรียกยากนัก เลยกลายเป็น เขจรไป

    เรื่องพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ (พระองค์เจ้าคเนจร) พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ นี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีผู้ถามก.ส.ร.กุหลาบไปว่า

    ดอกเขจรนั้นขันนิไสย เรียกดอกสลิดผิดชื่อกันขันสุดใจ มารวมให้ชื่อเดียวนั้นฉันใดเอย

    ซึ่งก.ส.ร.กุหลาบตอบลงในหนังสือสยามปราสาทว่า

    ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปลายแผ่นดินนั้น พระจ้าวลูกยาเธอพระองค์เจ้าเขจร ได้เป็นกรมหมื่นอมเรนทราบดินทร์ เป็นพระจ้าวลูกยาเธอที่ ๑๒ ประสูติ ณ วัดอังคาร เดือนเจ็ด ขึ้นค่ำหนึ่งปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ ปี เป็นพระองค์จ้าวที่ ๒ ของเจ้าจอมมารดาน้อยเมือง ท่านพระองค์นี้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ในปลายแผ่นดินที่ ๓ แต่พระนามท่านเป็นที่จ๊ะๆ โจ๋งๆ ทั่วไป แต่ถึงอย่างไรก็ดีที่เป็นราษฎรสามัญก็พากันยำเยงเกรงกลัวทั่วไป จึงไม่อาจออกชื่อเรียกดอกเขจร ได้ยักย้ายเรียกว่าดอกสะลิด ให้เหมือนกับดอกซ่อนกลิ่น แต่โบราณครั้งกรุงเก่าเขาเรียกว่าดอกซ่อนชู้ ก็ในแผ่นดินพระเจ้าเสือ ห้ามไม่ให้ใครเรียกว่าดอกซ่อนชู้ ว่าเป็นคำหยาบช้าไป โปรดให้เรียกว่า ดอกซ่อนกลิ่นแต่นั้นมา

    ก.ส.ร.กุหลาบท่านว่าจากดอกขจร (หรือเขจร) เป็นดอกสลิด (ท่านเขียนว่า สะลิด) คือมี ๒ ชื่อ แต่บางทีในรัชกาลที่ ๔ อาจกลับมาเรียกดอกขจรใหม่ คือจาก สลิด เป็น ขจร เพราะได้ยินมาว่า ในรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพิถีพิถันในอักขวิธี และถ้อยคำพูดจาเป็นอันมาก บางเรื่อง เช่น กับ แก่ แต่ ต่อการเรียกกะปิว่าเยื่อเคย ฯลฯ ถึงกับทรงมีพระบรมราชโองการประกาศให้ใช้ให้ถูกต้อง

    ในสมัยนั้นจึงมีชื่อสัตว์และต้นไม้ดอกไม้หลายชื่อ ที่เห็นกันว่าไม่สุภาพ เปลี่ยนเรียกเป็นอย่างอื่นหลายต่อหลายคำ เช่น ปลาสลิด เป็นปลาใบไม้ดอกสลิด เป็น ดอกขจร ปลาช่อนเป็นปลาหาง ผักบุ้ง เป็น ผักทอดยอด ผักกะเฉด เป็นผักรู้นอน ผักตบ เป็นผักสามหาว และอีกหลายชื่อ ซึ่งผู้ใหญ่ท่านเล่าให้ฟัง ท่านว่าบางคำนั้นไม่เพราะ เช่น ผักตบ บางคำเมื่อผวนแล้วหยาบ เช่น ผักบุ้ง ส่วนปลาสลิดนั้น ท่านว่าในสมัยก่อน ผู้ใหญ่มักจะใช้เรียกเปรียบแทนอวัยวะบางส่วนของเด็กผู้หญิงเล็กๆ ชาววังกระดากปากจึงเปลี่ยนเป็นเรียกปลาใบไม้ ท่านว่าอย่างนั้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×