ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #307 : คำพยากรณ์ชะตาเมือง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 490
      1
      22 ก.พ. 54

      มี ผู้อ่านถามมาค่อนข้างนานแล้วเรื่องคำพยากรณ์ชะตาเมืองกรุงเทพฯรัตนโกสินทร์ ๑๐ ยุค แต่ยังไม่มีเวลาจะตอบ เพราะมีคำถามและเรื่องอื่นๆค้างอยู่มาก
             ก็พอดีเมื่อค้นภาพรถลากหรือรถเจ๊กไปพบกับภาพรถลากจอดเป็นแถว มีบรรยายใต้ภาพว่า “กรรมกรรถลากร้องทุกข์คณะราษฎร์”
             ซึ่งคำว่า ‘ร้องทุกข์’ นี้ตรงกับ คำพยากรณ์ถึงยุค ๗ ที่ว่า “ยุค ๗ ชนร้องทุกข์” ๑ ในคำพยากรณ์ฯ ทั้ง ๑๐ คือ ๑. มหากาฬ ๒. พาลยักษ์ ๓. รักมิตร ๔. สนิทธรรม ๕. จำแขนขาด ๖. ราชโจร ๗. ชนร้องทุกข์ ๘. ยุคทมิฬ ๙. ถิ่นกาขาว ๑๐. ชาวศิวิไลซ์
             ผู้ถามถามมาว่า เคยได้ยินหรือไม่ ใครเป็นผู้พยากรณ์ เชื่อหรือไม่เชื่อ
             ตอบเป็นข้อๆว่า เคยได้ยินมาแต่เด็กๆแล้ว ‘ท่าน’ ว่าเป็นคำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
             ‘ท่าน’ ในที่นี้ คือท่านผู้ใหญ่ทุกท่านที่ผู้เล่าได้ฟังท่านท่องและพูดจากันถึงเรื่องนี้ และท่านที่เขียนลงตามหนังสือต่างๆตามความเชื่อของท่าน
             และที่ได้ยินได้อ่านพูดเขียนกันมากระยะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คือ ‘ยุค ชนร้องทุกข์’
             ส่วนข้อที่ว่าเชื่อหรือไม่เชื่อนั้น โดยส่วนตัวแล้ว เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง โดยถือตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่า อย่าพึงเชื่อไปตามที่เขาว่ามา อย่าพึงเชื่อแม้ครูบาอาจารย์เป็นผู้บอก ฯลฯ พูดง่ายๆว่า อย่าเพิ่งหลงเชื่อโดยงมงายเชื่อว่างั้นเถิด (แต่ก็อย่าพึงลบหลู่) ซึ่งผู้เล่าประพฤติปฏิบัติเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไร
             ส่วนการที่ผู้ใดจะเชื่อหรือไม่นั้น แล้วแต่ความเลื่อมใสศรัทธา เฉพาะตนอันเป็นสิทธิส่วนตัว
             ประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นั้น มีอยู่ว่า ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๙ หลังกรุงศรีอยุธยาแตก ๙ ปี พ.ศ.๒๓๔๐ อุปสมบทเป็นพระภิกษุหลวง ในรัชกาลที่ ๑ มีอายุยืนยาวมาถึงรัชกาลที่ ๔ จึงละสังขารเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จครองราชย์ได้ ๑๐ ปี หากท่านเป็นผู้พยากรณ์จริงไม่ทราบว่าท่านพยากรณ์ไว้ในช่วงใดของอายุท่าน
             เมื่อผู้เล่ายังเด็กๆ เคยได้ยินพวกผู้ใหญ่ในหมู่วงศาคณาญาติ ซึ่งต่างช่างพูดช่างเล่าช่างสันนิษฐาน ออกความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า บางที ‘สมเด็จโต’ ท่านอาจพูดเปรยๆไว้เพียง ๔ รัชกาลก็ได้ แล้วอาจมีคนรุ่นหลังๆมาต่อกันเอาเองให้เข้ายุคสมัย
             นี่เป็นเรื่อง ‘สันนิษฐาน’ ซึ่งใช้คำว่า ‘อาจ’ ของคนรุ่นก่อนผู้เล่าเท่านั้น ท่านผู้อ่านโปรดอ่านอย่างพิจารณา และโปรดอย่าได้นำไปอ้างอิง
             ที่เล่ามาแต่ต้นนี้ เล่าจากการได้ฟัง ได้อ่านมาแต่ยังเด็กพอฟังผู้ใหญ่พูดรู้เรื่อง และพออ่านหนังสือได้แตกฉาน
             ทีนี้ ต่อมาเมื่อสัก ๒-๓ ปีมานี้ มีผู้อ่านท่านหนึ่งกรุณาส่งหนังสือเล่มหนึ่งมาให้อ่าน ซึ่งต้องขอประทานโทษด้วยที่เก็บไว้นานปี
             หนังสือเล่มนั้นพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ แจกกันในหมู่ศิษยานุศิษย์ของพระมหาวีระ ผู้มีฉายาว่า ‘หลวงพ่อฤษีลิงดำ’ ซึ่งท่านมรณภาพไปหลายปีแล้ว
             พิมพ์จากเทปบรรยายธรรมของท่าน เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘
             ตอนหนึ่งท่านบรรยายถึงเรื่องพยากรณ์ กรุงเทพฯรัตนโกสินทร์ ท่านเล่าว่า
             “...ในสมัยที่อาตมาอยู่กับหลวงพ่อปาน ปีนั้นจำได้ว่า เป็นปี พ.ศ.๒๔๘๐ หลวงพ่อปานไม่อยู่...กุฏิหลวงพ่อปาน กุฏิหลวงพ่อเล็ก ๒ กุฏินี้ไม่มีใครเขากล้าค้น...หนังสือในกุฏิหลวงพ่อเล็กมีมาก มี ๒ ตู้ใหญ่ๆ เป็นหนังสือสมุดข่อย สงสัยไปได้สมุดข่อยกะรุ่งกะริ่ง แต่มีใจความน่าคิด เอามานั่งอ่าน สนใจ หนังสือฉบับนั้นเขียนไว้ หนังสือขาด ข้อความก็ขาด เป็นอันว่า เป็นคำพยากรณ์ของพระอรหันต์สมัยอยุธยา พยากรณ์ไว้ตั้งแต่กรุงเทพฯยังไม่ปรากฏ
             ในหนังสือนั้นเขาว่ายังงี้นา ถ้าโกหกก็โกหกด้วยกัน ถ้าหนังสือโกหก อาตมาก็โกหก แต่ไม่มีเจตนาโกหก พูดตามหนังสือนี่ จะปรับเป็นโทษก็ตามใจซีพ่อคุณ จะเอาเทวดาที่ไหนมาปรับก็เชิญเถอะพ่อคุณเอ๊ย...”
    ทีนี้ท่านก็เล่าต่อว่า
             “...จนกระทั่งหลวงพ่อปานกลับมา ก็เข้าไปกราบเรียนท่าน เวลาที่ท่านว่างแขก สบายใจ ถามว่า หลวงพ่อขอรับ กระผมได้หนังสือนี้มาฉบับหนึ่ง แต่ทว่าข้อความมันขาดหายไปเสียหมด ปะติดปะต่อกันไม่ได้ แต่ข้อความจับใจมาก อยากทราบว่า หลวงพ่อทราบข้อความนี่ไหม หลวงพ่อก็ถามถึงข้อความจุดหนึ่ง อาตมาก็พูดให้ฟัง ท่านเลยบอกว่า มีลูกมี หนังสือฉบับนี้พ่อเห็นมาก่อนแล้วเหมือนกัน สมัยนั้นมันยังสมบูรณ์อยู่ แต่ทว่ามันผุเต็มที หนังสือนี้เป็นสมบัติของหลวงปู่คล้าย ท่านเอามาจากไหน หลวงพ่อก็ไม่ทราบเหมือนกัน ท่านก็เลยจ้างเขาเขียนไว้ในสมุดข่อยอีกเล่มหนึ่ง แล้วหลวงพ่อสั่งให้ไปหยิบหนังสือเล่มนั้นจากกุฏิของท่าน ท่านซุกไว้ใต้ตู้นาฬิกา เอาผ้าสีแดงห่อเข้าไว้”
             “...คนเขียนเขาขมวดตอนท้ายไว้ว่า เป็นพระอรหันต์สมัยกรุงศรีอยุธยา มีนามว่า พระพุทธโฆษาจารย์ (ใย) ชื่อหลวงพ่อใย เป็นพระผู้พยากรณ์กรุงเทพมหานครที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เป็นอันว่าสันนิษฐานแล้ว ก็ต้องพยากรณ์ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยายังไม่แตกครั้งหลัง จะใช่หรือไม่ใช่ก็ช่าง แต่ว่าหนังสือนั้นมีเหตุผลพอ ท่านกล่าวว่าอย่างนี้ กล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินของกรุงเทพมหานคร ว่า
          รัชกาลที่ ๑ มหากาฬผ่านมหายักษ์ ขอท่านพุทธบริษัทจำให้ดี ว่าท่านไม่ได้เขียนว่ามหากาฬฆ่ามหายักษ์
          รัชกาลที่ ๒ รู้จักธรรม
          รัชกาลที่ ๓ จำต้องคิด
          รัชกาลที่ ๔ สนิทธรรม
          รัชกาลที่ ๕ จำแขนขาด
          รัชกาลที่ ๖ ราษฎร์ราชาโจร
          รัชกาลที่ ๗ นั่งทนทุกข์
          รัชกาลที่ ๘ ยุคทมิฬ
          รัชกาลที่ ๙ ถิ่นกาขาว
          รัชกาลที่ ๑๐ ชาววิไล
             แล้วก็หมด หนังสือหมดเพียงนี้”
             ข้อความในเครื่องหมายอัญประกาศ (เครื่องหมายคำพูด) คัดมาจากในหนังสือทั้งหมด ตามคำพูดของท่าน
             ตกลงว่า คำพยากรณ์กรุงเทพฯ รัตนโกสินทร์นั้น มีอยู่ ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่ง ‘ท่าน’ ว่าเป็นคำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ อีกฉบับหนึ่ง ตามที่หลวงพ่อฤษีลิงดำท่านว่า ว่าเป็นคำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ใย) ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก
             ที่น่าสังเกต คือ สมเด็จทั้งสององค์ ต่างมีสมณศักดิ์ สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ขึ้นต้นสมณศักดิ์ว่า ‘พุทธ’ และ ‘พุฒ’ คล้ายกัน
             ต้องขอเรียนเน้นอีกว่า ต่อไปนี้มิใช่ความเห็นของผู้เล่า หากแต่เป็นการเปรียบเทียบคำพยากรณ์ทั้ง ๒ ฉบับ
             ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยุค หรือรัชกาลที่ ๒ และที่ ๓ นั้นไม่เหมือนกัน
             ฉบับที่ท่านว่า เป็นคำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้น คือยุค ๒ พาลยักษ์ ยุค ๓ รักมิตร
             ส่วนฉบับที่ท่านว่า เป็นคำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ใย) นั้นคือ รัชกาลที่ ๒ รักธรรม รัชกาลที่ ๓ จำต้องคิด
             มีผู้ให้ความหมาย ยุค ‘พาลยักษ์’ และยุค ‘รักมิตร’ เอาไว้ดังนี้ คัดจากหนังสือราชสำนักไทย
             “ในรัชกาลที่ ๒ นี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) กล่าวพยากรณ์ (จริงๆแล้ว ท่านก็อยู่ในรัชกาลนี้ด้วยเหมือนกัน (-จุลลดาฯ) ไว้ว่า เป็นยุค ‘พาลยักษ์’ อันมีความหมายกว้างๆว่า เพราะเกิดอหิวาตกโรค (โรคห่า) ระบาดอย่างร้ายแรง จนคนตายวันละมากๆ จนล้นสุสานทับถมกัน ซากศพลอยฟ่องตามแม่น้ำลำคลอง จนน้ำไม่อาจดื่มกิน หุงต้มได้ บ้านเมืองเงียบสงัดคล้ายเมืองร้าง ฯลฯ จึงเป็นประดุจมีภูตผียักษ์มารมาผลาญชีวิตผู้คนในพระนคร”
             และ “รัชกาลที่ ๓ แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เป็นยุค ‘รักมิตร’ หากอนุโลมตามคำพยากรณ์ ก็คือเมืองไทยในสมัยของพระองค์ ได้เริ่มทำสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ คือ พ.ศ.๒๓๖๗ ประกาศเป็นสัมพันธมิตรกับอังกฤษ พ.ศ.๒๓๖๙ รัฐบาลอังกฤษส่งทูตเข้ามาทำหนังสือสัญญา พ.ศ.๒๓๗๖ ประธานาธิบดีคนที่ ๗ แอนดรู แจ๊คสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ส่งทูตเข้ามาขอทำสัญญาพระราชไมตรี ฯลฯ”
              ส่วนคำพยากรณ์ที่ท่านว่าเป็นฉบับของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ใย) นั้น หลวงพ่อฤษีลิงดำ ท่านบรรยายความหมายของ รัชกาลที่ ๒ ‘รู้จักธรรม’ ว่า
             “รัชกาลที่ ๒ ‘รู้จักธรรม’ เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ ปรากฏว่า บ้านเมืองค่อยสงบลง พระองค์ก็มีพระราชประสงค์ (แต่ความจริงเริ่มมาแต่รัชกาลที่ ๑) ที่จะให้บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายสะสางพระไตรปิฎกในตอนนั้น สมัยรัชกาลที่ ๑ ไม่ค่อยว่างจากราชการสงคราม มารัชกาลที่ ๒ นี่มีจุดว่าง รู้จักธรรม คือให้พระสงฆ์ทั้งหลายค้นคว้าพระธรรมวินัย รวบรวมเป็นการใหญ่”
    และความหมายของรัชกาลที่ ๓ ‘จำต้องคิด’ ท่านว่าดังนี้
             “มาถึงรัชกาลที่ ๓ ‘จำต้องคิด’ ...รัชกาลที่ ๓ นี่ เดิมเป็นพระองค์เจ้า มีพระนามว่า พระองค์เจ้าทับ เป็นพ่อค้าสำเภา เวลารัชกาลที่ ๒ ท่านไม่มีสตางค์ ท่านก็บอกว่า พ่อทับเอ๊ย มีเงินไหมลูก พ่อจะทำนั่น พ่อจะทำนี่ ท่านก็บอกว่ามี ท่านก็เอาเงินที่ได้จากค้าสำเภานี่มาสร้างสรรค์บ้านเมืองให้มีความเจริญ เลี้ยงบรรดาพสกนิกร ข้าราชบริพาร พระองค์ทรงมีความเหน็ดเหนื่อยมากในสมัยที่ยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ...ฯลฯ... จำต้องคิด เพราะเรื่องราวของพระองค์...พระองค์ทรงมีแต่ความหนักพระราชหฤทัยอยู่มาก คือต้องทรงคิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าอยากทราบกันจริงๆให้ไปอ่านจดหมายของหลวงอุดมสมบัติ จะรู้เรื่องราวของพระองค์ จนเมื่อพระองค์จะสวรรคต ก็ทรงมีลายพระหัตถ์ไปถึงรัชกาลที่ ๔ แล้วมีลายพระหัตถ์ไว้ฉบับหนึ่งว่า ฉันจะตาย ฉันไม่ตั้งรัชทายาท เมื่อฉันตายแล้ว ลูกของฉัน ถ้าไม่ต้องการให้รับราชการ ก็ขอให้ลงโทษเพียงแค่เนรเทศ อย่าถึงกับฆ่าแกงก็แล้วกัน นี่ใจความสั้นๆ เป็นอันว่าพระองค์มีเรื่องต้องทรงคิดอยู่ตลอด”

             เรื่องนี้ยังไม่จบ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×