ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #306 : สนทนากับเจ๊ก (จีน) คนลากรถ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 395
      1
      22 ก.พ. 54

     เรื่อง สนทนาหรือศัพท์สมัยปัจจุบันว่า สัมภาษณ์เจ๊ก (จีน) ลากรถ ในตอนที่แล้วนั้น ผู้ถามถามว่าได้เงินอย่างน้อยวันละเท่าใด เจ๊กเหล็งแกตอบว่า
             ซือหลึงฮ้วงเปงอย่างโน้ย
             คือ หนึ่งสลึงกับอีกหนึ่งเฟื้องเป็นอย่างน้อย เท่ากับ ๒๕ สตางค์กับอีก ๑๒ สตางค์ครึ่ง
             ทีนี้ผู้ถามก็ถามต่อไปว่า
             แล้วลื้อกินเสียวันละเท่าไร เดี๋ยวนี้มีเงินเก็บไว้เท่าไร
             ตอนที่แล้วค้างคำตอบเอาไว้ให้เดากันว่า เจ๊กเหล็งแกเอาเงินไปทำอะไร เพราะแกร้องว่า
            โอย! เตียมที เตียมที...
             ดังนั้น โปรดอ่านคำสัมภาษณ์ของแกเอาเอง จะได้รสชาติในการอ่านมากกว่า โดยเฉพาะการแกะภาษาไทยสำเนียงจีนแต้จิ๋วของเจ๊กเหล็งตามต้นฉบับเดิม
             จีน โอย! เตียมที เตียมที ล่ายเงียนไปแล้วก็เทงโหยๆก็กิงเอา ไม่โค่ยจะมีเงียนเก็บ ล่ายไปฝากไว้ที่อา ๒๐ บั๊ก เลี้ยวก็เจียบไป โต้งเอาเงียนที่อามาซื้อเกียน ๕ บั๊ก เลี้ยวอั๊วก็เกียนวันละเจ๊กฮ้วงเท่านั้ง
             (สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นกับสำเนียงจีนพูดไทยที่แกว่า �เทงโหย� ก็คือ แทงหวย เจียบ ของแกคือ แก เจ็บป่วยไปนั่นเอง เจ๊กฮ้วง ก็คือ หนึ่งเฟื้อง)

             คำถามคำตอบต่อไปนี้ ขอคัดมาลงแต่เฉพาะที่เห็นว่าน่ารู้สำหรับความเป็นไปเกี่ยวกับชีวิตอุปนิสัย ใจคอของผู้คนในยุคเมื่อ ๑๑๒ ปี (พ.ศ.๒๔๓๗) ก่อนโน้น
    ถาม - ลื้อมาอยู่เมืองไทยกี่ปีแล้ว
    ตอบ - อั๊วหลือ มาอยู่เมียงไทยสงปีแล้ว ลับจ้างลากลกมาปีหนึ่งเลี้ยว ก็ไม่มีเงียน ถ้ามีเงียนเลี้ยวอั๊วก็จะไปเมียงเจียน โพกพ้องเขาก็โคยหาอยู่ ยังไม่มีเงียนก็ไปไม่ล่าย
    ถาม - มีเงินสักเท่าใดเล่าจึงจะไปเมืองจีนได้
    ตอบ - มีสัก ๑๐๐ บั๊ก จึงจะไป เหลียวนี้ยังไปไม่ล่าย
    ...ฯ-ฯ...

    ถาม - ลูกเมียลื้อมีหรือเปล่า
    ตอบ - ฮะฮะ มีฮะ เต่ยังไม่ล่ายเตี่ยงงางกัง เปงเต่มั่งกังไว้เลี้ยว
    ถาม - ลื้อคิดจะมีเมียเมืองไทยบ้างไหม
    ตอบ - ฮะฮะๆเหอๆ เตียมทีไม่มีเงียน หาเลี้ยงเขาไม่ล่าย ไม่มีใคโต้หลง
    ถาม - ลื้อถูกใครเขารังแกบ้างไหม เช่นกับลากรถไป แล้ววิ่งหนีเสียไม่ให้อัฐ
    ตอบ - ยังไม่มีเลย แต่ลกคังอื่นก็มีบ้าง
    ถาม - รับจ้างลากรถผู้ชายกับผู้หญิง ใครจะได้ราคามากกว่ากัน
    ตอบ - ผู้ชายล่ายมากกว่าผู้เหญียง ลางทีเขาว่าจะให้เพียง ๖ อัก เต่พอถึงที่เลี้ยว เขาว่าลื้อ แม้แม้ฮ้อ (วิ่งเร็วดี) เขาก็ให้อีก ๒ อัก เป็นเจ๊กฮ้วง
    ถาม - ที่ที่จะจอดรถคอยคนโดยสาร ที่ไหนเป็นดีกว่าที่อื่น
    ตอบ - สี่กั๊กเสาชิงช้า ฮ้อฮ่า เปงลีก่าที่อื่น มีคงไปมามาก
    ถาม - เมื่อเวลาจะเช่ารถเขา มิต้องมีคนรับรองหรือ
    ตอบ -เพี่ยนกันเขาลับลอง อั๊วก็ไม่ลู้จักกับเถ้าแก่ แต่เพี่ยนเขาลู้จักกัน เต่บังคงต้องเสียลายน่า (นายหน้า) ให้เขาลับลอง สิ้นเวลาเลี้ยวก็ต้องไปว่ากังใหม่
    ถาม - หากินเช่นนี้ ลื้อรู้สึกความลำบากเป็นอย่างไรบ้าง
    ตอบ - เหลียวนี้ไม่เหมียงเต่ก่อง เต่ก่องลากล่ายวังละมากๆ เหลียวนี้มีคงลากมีมากล่วยกัง ได้เงินน้อย ไม่สบายลากลกไปปุเหลียวก็เจียบ ไม่สบายก็ไม่มีเกียน เต่ก่องลากล่ายวังละ ๕ ซือหลึง ถึง ๖ ซือหลึงก็ล่าย เหลียวนี้วังละ ๕ ซือหลึง นางๆจะล่ายสักที
    แค่เวลาสองปีมีคนลากรถแย่งกันทำมาหากิน เรื่องแบบนี้ ไม่ว่ายุคไหนๆ ก็เหมือนกันทั้งนั้น
    ต่อคำถามที่ว่าชอบลากระยะใกล้หรือไกล เจ๊กเหล็งแกว่า ชอบระยะใกล้ๆ แล้วแกก็บรรยายว่า
    ตอบ - อั๊วชอบลากตั้งแต่ซีกั๊กเสาชิงช้า ไปปั๊กตูวิเสกไชยศรี ปั๊กตูสามยอด ปั๊กตูตั๊กพางหัง ปั๊กตูวักพมโสลิน ปั๊กตูใหม่
    แสดงว่าเวลานั้นประตูเมืองต่างๆยังคงมีอยู่โดยรอบกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นประตูสะพานหัน ประตูวัดพรหมสุรินทร์ ยังไม่ได้รื้อทิ้ง
             ก่อนที่จะมีผู้สั่งรถลากเข้ามาใช้เป็นพาหนะในกรุงเทพฯ นั้น สมัยก่อนโน้นๆก่อนรัชกาลที่ ๔-๕ ถนนหนทางยังเป็นแต่ถนนลูกรังบ้าง ถนนปูอิฐบ้าง และเป็นแต่ทางแคบๆ หากจำเป็นต้องไปมาตามถนน ก็ใช้ขี่ม้าหรือรถม้า
             รถลากหรือที่เรียกกันว่า รถเจ๊ก เพราะพาหนะประเภทนี้มีแต่คนจีนเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างลาก ดั้งเดิมเป็นของญี่ปุ่น แต่แรกเมื่อในรัชกาลที่ ๔ นั้น พวกพ่อค้าสำเภานำมาน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ซื้อเข้ามาพระราชทานเจ้านาย และขุนนางผู้ใหญ่บ้าง สั่งซื้อกันเองบ้าง ใช้เป็นพาหนะส่วนพระองค์และส่วนตัว
             แต่ที่สั่งมาใช้วิ่งรับส่งคนโดยสารและบรรทุกของนั้น ผู้สั่งเข้ามาเป็นคนแรกชื่อ นายฮ่องเชียง แซ่โหงว เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗ ต้นรัชกาลที่ ๕
             ครั้นผู้คนนิยมกันมากขึ้น พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) จึงตั้งโรงงานทำรถลากขึ้นในเมืองไทยเสียเองโดยสั่งช่างมาจากเมืองจีน
             เมื่อมีรถลากรับจ้างในถนนมากขึ้น จนกระทั่งจำเป็นต้องควบคุม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติรถลาก ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔) ขึ้น โดยทรงมีพระราชปรารภว่า
             กรุงเทพพระมหานครในทุกวันนี้ มีรถคนลากสำหรับรับจ้างคนโดยสาร และรับบรรทุกของเดินในถนนหนทางทวียิ่งขึ้นเป็นอันมาก แต่รถที่ใช้นั้นไม่แข็งแรงมั่นคง แลไม่มีสิ่งที่สำหรับป้องกันอันตรายของผู้โดยสาร กับทั้งไม่สะอาดเรียบร้อยตลอดไปจนคนลากรถด้วย ย่อมเป็นที่รังเกียจรำคาญแก่ผู้ที่จะใช้รถ หรือผู้เดินทางในท้องถนนร่วมกัน อีกประการหนึ่ง คนที่ลากรถนั้น บางทีรับคนโดยสารหรือรับบรรทุกสิ่งของที่มากหรือหนักเกินกำลังรถที่จะพาไป ได้ จนเป็นเหตุเกิดอันตรายแก่คนโดยสารแลคนเดินทางกับทั้งรถ แลไม่เป็นความเรียบร้อยในท้องถนนอีกด้วย
             พระราชบัญญัตินี้ บังคับให้ต้องจดทะเบียนรถ และต้องนำรถมาตรวจสภาพต่อเจ้าพนักงานจดทะเบียน หลังจดทะเบียนแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้เลขหมายติดรถ และให้เครื่องหมายที่มีเลขตรงกันกับทะเบียนรถให้คนลากติดหน้าอกไว้ให้ตรงกัน บังคับให้จุดโคมไฟเวลากลางคืน และยังมีข้อบังคับปลีกย่อยอีกหลายข้อ เช่นห้ามบรรทุกศพคน ให้จอดพักรถตามที่พนักงานกำหนดไว้เท่านั้น ฯลฯ
             รถลากหรือรถเจ๊กนี้ วิ่งในถนนตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๗ เลิกใช้ตามกฎหมาย เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
             แม้กฎหมายจะให้เลิกแล้ว แต่เมื่อผู้เล่ายังเด็ก จนประมาณ พ.ศ.๒๔๘๐ ก็ยังเห็นรถเจ๊กวิ่งตามถนนอยู่บ้าง โดยเฉพาะแถวๆตลาด ครั้งหนึ่งตามแม่ครัวไปตลาดสามย่าน ยังเห็นรถเจ๊กบรรทุกผักปลาเป็นกระบุงเป็นเข่งมากมายท่วมตัวคนนั่งที่เป็น ผู้หญิง ได้ยินเสียงคนนั่งแกสั่งเสียงดังฟังชัดว่า ปั่ง...ปั่ง...ปั่งโว้ย


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×