ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #258 : การขนานพระนาม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 328
      1
      18 เม.ย. 53

     

    รัชกาลที่ ๑ สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทดแทนกรุงศรีอยุธยามจำไม่ได้ว่า ไ้ด้เคยอ่านในเรื่อง บุญบรรพ์ หรือเวียงวัง ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ทรงครองราชย์แล้วสามปีถึงมีการถวายพระนาม จึงอยากทราบว่า ในช่วงแรกนั้นมีการขนานพระนามว่าอย่างไร

    เข้าใจว่า ผู้ถามคงจำผิด เพราะเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จพระราชดำเนินโดรพระที่นั่งบัลลังก์แห่โดยขบวนพยุหยาตรา ข้ามจากกรุงธนบุรี มาทรงทำพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป ณ พระบรมมหาราชวังที่โปรดฯ ให้สร้างขึ้นพอเป็นที่ประทับชั่วคราว เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ สมเด็นพระสังฆราช ครั้งนั้นคือสมเด็จพระสังฆราช (สี) และพระราชาคณะผู้ใหญ่ประชุมพร้อมกันได้คิดขนานพระนามถวายจารึก ลงในพระราชสุพรรณบัฏเวลานั้นเลยว่า

    พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสินธรบรมมหาจักรพรรดิ์ ราชธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชวศัย สมุทัยตโนมนต์ สกลจักวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีวิบุลยคุณอักนิษฐ์ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชทัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรบรมาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมงกุฏประเทศคตามหาพุทธางกร บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดี ศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตน ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน

    ซึ่งเป็นพระปรมาภิไธย แต่ไม่มีพระบรมนามาภิไธยสั้น ๆ ให้ราษฏรเรียกเป็นนามแผ่นดิน หากเอ่ยถึงพระเจ้าอยู่หัวก็ออกพระนามว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว” เท่านั้น

    (ครั้นเสด็จสวรรคตแล้ว ราษฏรจึงได้เอ่ยนามแผ่นดินว่า “แผ่นดินต้น” ดังนี้)

    รัชกาลที่ ๒
    รัชกาลที่ ๒ กอบกู้ศิลปวัฒนธรรมให้คงคืน

    พระปรมาภิไธยจารึกในพระราชสุพรรณบัฏนี้ มักจะอ่านข้าม ๆ กันไป จึงขอแนะนำให้อ่านออกเสียงดัง ๆ จะได้อ่านจนจบและไพเราะ

    อีกประการหนึ่ง พระปรมาภิไธยทั้งนี้ เป็นพระปรมาภิไธยจารึกพระราชสุพรรณบัฏ ของรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วย

    ทั้ง ๓ รัชกาลจึงมีพระปรมาภิไธยเหมือนกัน ทุกพยางค์อักษร

    ให้สังเกต พระปรมาภิไธยตอนท้าย ที่ว่า “บรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศนมหาสถาน”

    จะเห็นว่า ในรัชกาลที่ ๑ พระนครหลวงยังไม่ได้มีชื่อว่า “รัตนโกสินทร์” แต่ยังใช้ชื่อ “กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา” ตามกรุงศรีอยุธยากรุงเก่า

    ซึ่งตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินที่ ๑ ๒ ๓ นั้น พระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๔ พระองค์ ยังคงออกพระนามว่า “พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา” และเรียกแผ่นดินสยามว่า “แผ่นดินศรีอยุธยา”

    ครั้นเสด็จปราบดาภิเษกแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อัญเชิญพระแก้วมรกตข้ามมาประทับ สร้างพระบรมมหาราชวัง ขุดคูโดยรอบพระนคร (คือ คลองบางลำพู - โอ่งอ่าง) เรียบร้อยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใหม่ แต่มิได้จารึกพระปรมาภิไธยใหม่ (เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘)

     แล้วโปรดฯ ให้สมโภชพระนคร พระราชทานนามใหม่ว่า

    กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร...ฯลฯ...”

    สร้อย ต่อไปมีผู้นำมาร้องเป็นเพลงสมัยใหม่กันแพร่หลาย จึงมิได้คัดลอกลงมา

    คนในสมัยกระโน้น เรียกกันสั้น ๆ ว่า “กรุงเทพ” บ้าง “พระนคร” บ้าง ไม่สู้เรียกว่า “รัตนโกสินทร์”

    ต่อมา ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้พระยาม ‘บวร’ เป็น ‘อมร’ ชื่อพระนครจึงเป็น “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร...ฯลฯ...” สร้อยต่อไปคงไว้ตามเดิม

    ส่วนพระนามพระเจ้าแผ่นดินแต่ละแผ่นดินนั้น ไม่มีพระบรมนามาภิไธยสั้น หรือแม้แต่ตามที่ราษฏรออกพระนามกันเองตามใจชอบ เช่น พระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ฯลฯ ดังนั้น จึงพากันเรียกแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ ว่าแผ่นดินต้น เรียกแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ ว่าแผ่นดินกลาง

    รัชกาลที่ ๓
    รัชกาลที่ ๓ กอบกู้เศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่ง และมั่นคงให้บ้านเมือง

    ครั้งถึงแผ่นดินที่ ๓ ในเมื่อราษฏรพากันเรียกแผ่นดินสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชว่า แผ่นดินต้น เรียกแผ่นดินสมเด็จพระบรมชนกาธิราชว่า แผ่นดินกลาง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงทรงรังเกียจว่า เมื่อมีแผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง ต่อไปข้างหน้าแผ่นดินในรัชสมัยของพระองค์จะมิเป็นแผ่นดินปลายหรือ จึงโปรดฯ ให้สร้างพระพุทธรูปขึ้น ๒ พระองค์ ดังที่เคยเล่ามาแล้วหลายครั้ง

    พระพุทธรูปองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อีกองค์หนึ่งพระราชทานนามว่า พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย (ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงแก้สร้างจาก ‘สุลาลัย’ เป็น ‘นภาลัย’) ทรงอุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช และสมเด็จพระบรมชนกาธิราช

    แล้วมีพระบรมราชโองการให้ออกนามแผ่นดินต้นว่า แผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และออกนามแผ่นดินกลางว่า แผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย

    โดยโปรดฯ ให้พระภิกษุ สามเณร เรียกนามแผ่นดินดังกล่าวนำราษฏรก่อน เพราะัภิกษุ สามเณร เป็นผู้เทศนาสั่งสอนราษฏรชาวบ้าน และวัดเป็นจุดรวมของสังคมต่าง ๆ เป็นที่ชุมนุม เป็นโรงเรียน ฯลฯ

    ดังความในประกาศตอนท้ายว่า

    “ให้เจ้าคณะเหนือ เจ้าคณะใต้ เจ้าคณะกลาง หมายประกาศพระภิกษุสงฆ์ในกรุงนอกกรุง หัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ ฐานาเปรียญ พระครูเจ้าวัด เจ้าอธิการ และสงฆ์อนุจรให้รู้ทั่วกันแต่นี้ไปภายหน้า ถ้าพระภิกษุสงฆ์จะออกนามแผ่นดินสมเด็นพระอัยกาธิราช ให้ว่า แผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถ้าจะออกพระนามสมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวงให้ว่า แผ่นดินสมเด็นพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย

    ถ้าพระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ พระครูเจ้าวัด เจ้าอธิการ และพระสงฆ์อนุจร ไม่เรียกตามพระราชบัญญัติซึ่งโปรดฯ ไว้นี้ จะได้นิมนต์ไปซักถาม แล้วจะให้พรรณนาตามซึ่งข้อประมาทพระราชกฤษฏีกา จะได้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปอย่าได้ขาดตามรับสั่ง ถ้าแลเจ้าคณะราชาฐานานุกรม เจ้าอธิการ รู้หมายนี้แล้ว ให้ลอกบอกพระสงฆ์ สามเณร ไปภายหน้าให้เรียกชื่อพระห้ามสมุทรแผ่นดินนั้น ให้คล่องปากไว้ อย่าให้ลืมได้”

    ในหมายประกาศ เรียก สมเด็จพระบรมชนกาธิราชว่า “สมเด็จพระพุทธิเจ้าหลวง” หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนที่เพิ่งเสด็จสวรรคต

    และจะเห็นได้ว่า กับภิกษุ สามเณรนั้น ท่านเคารพ ไม่ใช้คำว่า ลงโทษ แต่จะได้ “นิมนตไปซักถาม” ว่าเหตุใดจึงได้ “ประมาทพระราชกฤษฏีกา” ซึ่งเป็นถ้อยคำสุภาพอย่างยิ่ง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×