ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #226 : ก.ศ.ร.กุหลาบ ปราชญ์ในสมัยรัชกาลที่ 5

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.01K
      0
      16 เม.ย. 53

      ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นผู้เรียบเรียงประวัติของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง หรือ สิงห์) และเรียบเรียงเรื่องอานามสยามยุทธ (ไทยรบกับญวน) โดยเฉพาะเรื่องอานามสยามยุทธ นั้น ก.ศ.ร.กุหลาบ แจ้งไว้ในคำนำ ว่าท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) เป็นผู้เรียบเรียงเอาไว้เอง

                ส่วนสำหรับประวัติ ก.ศ.ร.กุหลาบนั้น มีผู้เขียนเล่าประวัติของท่านไว้หลายสำนวนด้วยกัน เพราะ ก.ศ.ร.กุหลาบได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕

                เรื่องของ ก.ศ.ร.กุหลาบเมื่อได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์แล้วนั้นยืดยาว ทั้งมีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันมาก โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่เป็น ‘ปราชญ์’ ด้วยกันในชั้นหลังๆ

                ก.ศ.ร.กุหลาบเขียนหนังสือไว้มากมายหลายประเภท แต่ที่มีผู้ชอบอ่านกันมาก เห็นจะเป็นเรื่องพงศาวดาร และเรื่องในพระราชสำนัก

                เรื่องราวต่างๆในพระราชสำนักรัชกาลที่ ๓ นั้น ปรากฏว่า ก.ศ.ร.กุหลาบรู้เรื่องมาก เรื่องที่รู้มักเป็นทำนอง ‘ท่านเล่ามาว่า’

                แต่ส่วนมากเรื่องที่ ก.ศ.ร.กุหลาบรู้นั้นมักเป็นความจริง หากบางเรื่องที่จับกันได้ว่าเสริมแต่งแปลงขึ้นก็เป็นเพราะเรื่องนั้นๆ คัดมาจากหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งเวลานั้นหนังสือในหอพระสมุดวชิรญาณเป็นของหวงห้าม ยังไม่อนุญาตให้คัดลอกหรือพิมพ์ออกมาเผยแพร่

                ก.ศ.ร.กุหลาบชื่อจริงว่า นายกุหลาบ ส่วนคำว่า ก.ศ.ร. เป็นคำย่อของฉายานามเมื่อบวชเป็นพระภิกษุ คือ ‘เกศะโร’ นายกุหลาบจึงนำอักษรฉายานามมานำหน้าชื่อ เป็น ‘ก.ศ.ร.กุหลาบ’

                ในที่นี้มิได้ตั้งใจจะเล่าเรื่องของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ทว่าจะเล่าถึงผู้ทรงอุปการะเลี้ยงดู ก.ศ.ร.กุหลาบมาแต่ยังเป็นเด็กเล็ก คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓ พระองค์เจ้าหญิงกินรี ซึ่งว่ากันว่าที่ ก.ศ.ร.กุหลาบรู้เรื่องเกี่ยวกับพระราชสำนัก โดยเฉพาะพระราชสำนักในรัชกาลที่ ๓ มากนั้น คงเป็นเพราะรับฟังมาจาก ‘ท่านเล่ามาว่า’ จากตำหนักพระองค์เจ้ากินรีนั่นเอง

                ตามประวัติของ ก.ศ.ร.กุหลาบ โดยสรุปมีว่าบิดามารดาของ ก.ศ.ร.กุหลาบนั้น เป็นเชื้อสายขุนนางมีไร่นาสาโท เมื่อมารดากำลังท้องแก่ บังเอิญคุมบ่าวไพร่ไปทำนา ได้คลอดบุตรชายที่โรงนา ขณะพาบุตรชายกลับบ้านมาในเรือชะล่า พร้อมบ่าวไพร่ บุตรชายนอนอยู่กลางลำเรือ ส่วนมารดานอนมาทางท้ายเรือ เกิดมีนกแร้งตัวหนึ่งโผลงมาจับกราบเรือกลางลำ แต่หาทำอันตรายเด็กไม่ เพียงแต่ดมๆ แล้วก็บินหนีไป

                เป็นเหตุให้มีผู้ทำนายว่า เด็กนี้บิดามารดาเลี้ยงไว้ไม่ได้ แต่เป็นผู้มีบุญวาสนา ต้องยกให้ท่านผู้มีวาสนาสูงมีบรรดาศักดิ์สูงจึงจะเลี้ยงได้

                เด็กหรือ ก.ศ.ร.กุหลาบผู้นี้ เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๗ ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จครองราชย์ได้ ๑๐ ปีเต็ม

                เจ้านายที่กำลังทรงมีบุญวาสนา ขณะนั้นก็คือบรรดาพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มารดาของ ก.ศ.ร.กุหลาบ จึงถวายบุตรชายให้พระองค์เจ้ากินรี พระองค์ท่านก็ทรงรับไว้เป็นบุตรบุญธรรม เวลานั้นเจ้านายฝ่ายในซึ่งทรงมีฐานะร่ำรวย โดยทรงมีเจ้าจอมมารดาเป็นธิดาขุนนางเจ๊สัวมั่งคั่งบ้าง หรือเป็นที่โปรดปรานในสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงมีผู้เข้าประจบประแจงถวายลาภสักการะต่างๆนานาบ้าง มักทรงนิยมอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายเพื่อไว้บวชถวายกุศล เนื่องจากพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้นทรงใฝ่ในการกุศลเป็นอย่างยิ่ง

                พระองค์เจ้ากินรี โปรดให้ข้าหลวงและพี่เลี้ยงช่วยกันเลี้ยงดู ก.ศ.ร.กุหลาบ อยู่ที่ตำหนักจนกระทั่งอายุ ๑๑  ถึงกำหนดโกนจุก ก็ทรงจัดพิธีโกนจุกให้ แล้วพาไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก อยู่ทางฝ่ายหน้า เมื่อถึงเวลาบวชก็ทรงบวชให้ ทรงเมตตาประทานความช่วยเหลือทุกอย่าง แม้เมื่อแต่งงานและมีบุตรคนแรกก็ได้ ประทานพี่เลี้ยงมาเลี้ยงลูก ประทานทองคำทำขวัญ เรียกว่า ทรงอุปการะจนถึงที่สุด

                อันพระเจ้าบรมวงศ์ชั้น ๓  พระองค์เจ้ากินรีนี้ประสูติ พ.ศ.๒๓๖๒ ก่อนสมเด็จพระบรมชนกนาถ เสด็จขึ้นครองราชย์ ๕ ปี ทรงมีพระกนิษฐาส่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน ๑ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าฉวีวรรณ

    พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓
    พระองค์เจ้ากินรี คงจะฉายใน
    สมัยต้นรัชกาลที่ ๕ เครื่องยศ
    ยังคงเป็นหีบหมาก (กล่องพระศรี) แต่พระภูษา
    ทรงอย่างในรัชกาลที่ ๓ คือ
    นุ่งจีบ ไม่นุ่งโจง
    (รัชกาลที่ ๑ - ๒ - ๓ นุ่งจีบ
    ถึงรัชกาลที่ ๔ นุ่งโจง ครั้นขึ้น
    รัชกาลที่ ๕ ต้นๆรัชกาล
    เปลี่ยนเป็นนุ่งจีบอีกครั้งหนึ่ง)

                เจ้านายฝ่ายในที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อรัชกาลที่ ๓ นั้น มีทั้งพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งทรงศักดิ์เป็น ‘อา’ ในรัชกาลที่ ๓ พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งทรงศักดิ์เป็น ‘น้อง’ ในรัชกาลที่ ๓ และพระราชธิดา - พระเจ้าลูกเธอ ในรัชกาลที่ ๓

                ความสนิทสนมในกลุ่มของแต่ละพระองค์ มักอยู่ที่พระชันษาไล่เลี่ยกัน มากกว่าตามศักดิ์อาหรือหลาน

                ดังเช่นพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ พระองค์เจ้าแม้นเขียน และพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓ พระองค์เจ้ากินรี พระองค์เจ้าแม้นเขียนนั้นท่านทรงศักดิ์เป็น ‘อา’ ของพระองค์เจ้ากินรี

                แต่ด้วยพระชันษาไล่เลี่ยกัน พระองค์เจ้ากินรีทรงศักดิ์หลาน สูงพระชันษากว่าพระองค์เจ้าแม้นเขียน ทรงศักดิ์อา ๔ ปี เพราะพระองค์เจ้าแม้นเขียนประสูติ พ.ศ.๒๓๖๖ ประสูติได้ปีเดียว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็เสด็จสวรรคต

                พระองค์เจ้าทั้งสองพระองค์จึงทรงสนิทสนมชอบพอกันมาก เล่ากันมาว่า มักเสด็จไหนๆ (ภายในพระบรมมหาราชวัง) ด้วยกันเสมอ

                ถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ตรัสเรียกเจ้านาย แต่รัชกาลต้นๆด้วยพระนามว่าองค์โน้นองค์นี้หรือ พระองค์โน้น พระองค์นี้ หากทรงกรมก็จะออกพระนามกรม

                แต่สำหรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ โปรดให้รับสั่งเรียก ‘นับญาติ’

                โปรดให้เรียกพระองค์เจ้าแม้นเขียนและพระองค์เจ้ากินรี ว่า ‘เสด็จยาย’ เหมือนกัน

                ว่าที่จริงแล้ว หากนับญาติกันอย่างสามัญชน พระองค์เจ้าแม้นเขียนท่านเท่ากับเป็น ‘ย่าน้อย’ ของสมเด็จพระบรมฯ

                และพระองค์เจ้ากินรีนั้นเป็น ‘ป้า’ เพราะทรงเป็นลูกผู้พี่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

                แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดให้สมเด็จพระบรมฯ ‘นับญาติ’ พระองค์เจ้าแม้นเขียนทางฝ่ายสมเด็จพระราชมารดา (พระบรมราชเทวี) เสด็จย่า จึงเป็น เสด็จยาย

                ส่วนพระองค์เจ้ากินรีนั้น ท่านเป็นน้องของพระองค์เจ้าศิริวงศ์ (สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยยิกาเธอ) พระองค์เจ้าศิริวงศ์ เป็น พระชนกของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงมีรับสั่งเสมอว่า บรรดาเจ้านายชั้นพระเจ้าราชวงศ์เธอ (เวลานั้นบรรดาพระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ ๓ มีคำนำพระนามว่า พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ) นั้น พระองค์ท่านทรงนับว่า เป็นชั้นตาและยายของพระองค์ท่าน

                จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมฯ ตรัสเรียกพระองค์เจ้ากินรีว่า ‘เสด็จยายกินรี’

                ดังในจดหมายเหตุ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๖ ที่สมเด็จพระบรมฯ ทรงบันทึกเมื่อพระชนมายุเพียง ๕ พรรษากว่าๆว่า

                “...เสด็จยายแม้นเขียน เสด็จยายกินรี มาเยี่ยมเรา...”

                พระองค์เจ้ากินรีนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง คงจะทรงสนิท และมีพระเมตตาล้อท่านเล่นบ่อยๆ ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมฯ จึงทรงบันทึกถึงเมื่อเชิญเสด็จมา ‘กินโต๊ะฝรั่ง’ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ แต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศ พระอัครราชเวทีว่า

                “...เจ้านายแก่ๆดูคร่ำครึเต็มที เสวยมีดซ่อมไม่เป็น ทูลกระหม่อมบน (พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง - จุลลดาฯ) ทรงสอนเสด็จยายกินรีเอง หัวร่อกันใหญ่...”

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×