ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #227 : สร้อยพระนาม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 520
      0
      16 เม.ย. 53

         -เพิ่งรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เดิมทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย เหตุใดจึงเปลี่ยนจากสุลาลัย เป็นนภาลัย แต่ สมเด็จพระศรีสุลาลัย สร้อยพระนามเหมือนกัน ไม่เปลี่ยน-

                -และที่เรียนมานั้นตำราว่า ‘ศรี’ เป็นภาษาสันสกฤต ส่วน ‘สิริ’ เป็นภาษาบาลี คำว่า ‘ศิริ’ จึงเป็นการเขียนผิด ทำไมยังคงใช้ ศิริราช ศิริวงศ์ ศิริสัมพันธ์ ฯลฯ และยังเห็นที่อื่นอีกหลายแห่ง-

                คำถามแรกก่อน เรื่องนี้มีผู้ข้องใจกันหลายราย แต่ไม่เคยพบในพระราชนิพนธ์หรือพระนิพนธ์ หรือในจดหมายเหตุในเอกสารใดๆ แม้แต่พระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็มิได้ปรากฏว่าเคยทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้ ณ ที่ใด

                ทว่าเคยได้ยินผู้ใหญ่ในวงศ์สกุล ผู้ซึ่งต่างก็เป็นผู้รู้ผู้สนใจเกี่ยวกับภาษา ท่านเคยสนทนาพูดจากันถึงเรื่องนี้ตามความเห็นของท่าน หรือท่านอาจจะฟังมาจากผู้ที่เป็นผู้ใหญ่กว่าท่าน แล้วนำมาวิจารณ์กันก็ไม่ทราบ ด้วยเวลานั้นผู้เล่ายังเด็ก มาถึงบัดนี้ก็ประมาณสัก ๖๕ ปีมาแล้ว ส่วนท่านผู้ใหญ่ดังกล่าว ส่วนมากอายุเกิน ๕๐ ทั้งนั้น หากอยู่มาจนถึงเวลานี้ แต่ละท่านอายุคงเกิน ๑๐๐ คนละหลายๆปี

                ก่อนอื่น น่าจะเล่าถึงพระนามพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ และ ๒ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จถวายพระนามแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้ราษฎรเรียกชื่อแผ่นดินตามพระนามพระพุทธปฏิมากรว่า “แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และ “แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย” มิให้เรียกกันว่า “แผ่นดินต้น” และ “แผ่นดินกลาง” ตามที่เคยเรียก อีกต่อไป

                เหตุด้วยทรงพระราชดำริว่า ที่ราษฎรเรียกกัน ดังนั้น ไม่เป็นมงคล เมื่อมีแผ่นดินต้น แผ่นดินปลาย ก็เท่ากับว่าแผ่นดินของพระองค์เป็นแผ่นดินปลายเสมือนพระบรมราชวงศ์จะสิ้นสุดลงเพียงแค่พระองค์

                อีกประการหนึ่ง พระปรมาภิไธยที่จารึกถวายลงในพระสุพรรณบัฏนั้นยืดยาว มิได้มีพระบรมนามาภิไธยโดยย่ออันจะให้ราษฎรเรียกเป็นนามแผ่นดิน ราษฎรจึงมักตั้งพระบรมฉายานามเอาตามชอบใจ เรียกตามพระราชอุปนิสัยของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆบ้าง เรียกตามพระราชนิยมบ้าง เช่น ขุนหลวงเสือ ขุนหลวงทรงปลา บางทีก็เรียกเกินเลยไป เช่น ขุนหลวงขี้เรื้อน ทำให้ทรงเกรงว่า ต่อไปภายหน้าราษฎรจะถวายพระนามเอาตามชอบใจดังกล่าว

                ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดฯให้จารึกพระนามพระพุทธปฏิมากรองค์ที่ ๒ เปลี่ยนสร้อยพระนามเป็น “พระพุทธเลิศหล้านภาลัย”

                ในรัชกาลที่ ๓ นั้น ก็ยังมิได้มีนามแผ่นดิน และยังมิได้มีพระบรมนามาภิไธย ราษฎรก็เรียกกันว่า “ แผ่นดินนี้” และออกพระนามว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว” ซึ่งหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ปัจจุบัน

                ถึงรัชกาลที่ ๔ พร้อมกับที่ทรงถวายสร้อยพระนามพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถเปลี่ยนเป็นนภาลัย ก็โปรดฯให้จารึกพระปรมาภิไธย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้ง ๓ แผ่นดินลงในพระสุพรรณบัฏ

                เปลี่ยนจากพระปรมาภิไธยจารึกพระสุพรรณบัฏเดิม ที่ถวายเอาไว้เช่นเดียวกันกับพระปรมาภิไธย พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ๓ รัชกาล ซึ่งพระปรมาภิไธยขึ้นต้นด้วย “พระบาทสมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ฯลฯ...ฯลฯ...” กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทั้ง ๓ พระองค์คือ

                รัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)

                รัชกาลที่ ๑๐ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระบรมราชาหลานปู่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)

                และรัชกาลที่ ๒๗ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช)

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกครั้งนั้น ได้จารึกพระสุพรรณบัฏถวายพระปรมาภิไธย เช่นเดียวกับสมเด็จพระรามาธิบดีแห่งกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๓ พระองค์นั้น

                จึงเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔

                ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๒ และ ๓ เสด็จขึ้นครองราชย์ พระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏก็ยังคงเหมือนพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ ๑

                เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕

                และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖

                ถึงรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ทรงถวายพระบรมนามาภิไธย สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช สมเด็จพระบรมชนกาธิราช และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จารึกลงในพระสุพรรณบัฏว่า

                พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ นเรศวราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

    พระพุทธปฏิมากร ฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ (เบื้องหน้าซ้าย - ขวา พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต) สูง ๖ ศอก หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หุ้มทองคำ ทรงเครื่องต้นอย่างพระเจ้าจักรพรรดิ ลงยาราชาวดีประดับด้วยเนาวรัตน์
                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้หล่อทรงพระราชอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ และ ๒ ถวายพระนามว่า
                “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และ “พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย” (ต่อมาเปลี่ยนสร้อยพระนามเป็นพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพร้อมพระราชหฤทัยด้วยสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อยังทรงผนวชอยู่ ทรงเลือกพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ องค์

                และ พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทรธรนินทราธิราช...ฯลฯ...มหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

                และ พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฎาธิบดินทร์ สยามินทรวโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

                ทีนี้มาถึงที่ถามว่า เพราะเหตุใด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงเปลี่ยนสร้อยพระนามพระพุทธปฏิมากร ฉลองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ

                ตามที่ได้ยินผู้ใหญ่ท่านพูดกันมา ท่านมีเหตุผลว่าดังนี้

                ท่านว่า แต่โบราณมา ภาษายังมิได้มีกำหนดกฎเกณฑ์แน่นอน โดยเฉพาะการใช้ ร.เรือ และ ล.ลิง คนสมัยก่อน เมื่อพูดถึงฟากฟ้าสุราลัย ไม่เคยใช้ ‘สุราลัย’ ตามกฎเกณฑ์ของภาษา เวลาพูดก็ ‘สุลาลัย’ เวลาเขียนก็ ‘สุลาลัย’ จึงเป็นฟากฟ้าสุลาลัยอันหมายถึงสวรรค์ตลอดมา

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงถวายพระนามสมเด็จพระบรมชนกนาถราชชนนีว่า ‘สุลาลัย’

                ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ทราบกันดีอยู่ว่าทรงเป็นเอตทัคคะทางภาษาโดยเฉพาะภาษาบาลีสันสกฤต และทรงเป็นอย่างที่ภาษาชาวบ้านว่า ‘ขี้รำคาญ’ อะไรอันทรงเห็นว่าไม่ถูกไม่ต้อง มักจะทรงรำคาญพระราชหฤทัยสำหรับคำว่า ‘สุลาลัย’ คงจะทรงพระราชดำริแล้วว่า ไม่ถูก ที่ถูกต้องเป็น ‘สุราลัย’ อันแปลว่าที่อยู่ของ สุระ คือ เทวดา

                ทีนี้ผู้ใหญ่ดังกล่าวท่านก็เลยออกความเห็นกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ คงจะทรงรังเกียจคำว่า ‘สุรา’ เพราะที่เทวดาได้ชื่อว่า สุระ หรือ สุรา ก็เพราะดื่มน้ำอมฤตหรือน้ำเมา ซึ่งต่อมาพอเอ่ยถึงสุราเป็นต้องนึกถึงน้ำเมา หรือ เหล้า

                พระองค์ท่านจึงไม่โปรดที่จะเปลี่ยนสร้อยพระนามเป็น ‘สุราลัย’ ให้ถูกต้อง

                ทว่าสำหรับพระนามสมเด็จพระศรีสุลาลัยนั้น มิได้ทรงเปลี่ยน คงจะเป็นด้วยทรงเคารพว่าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงถวายพระนามสมเด็จพระชนนีไว้อย่างนั้น จึงมิทรงล่วงเกิน หากแต่กับสมเด็จพระบรมชนกนาถคงจะทรงพระราชดำริแล้วว่า พระองค์ท่านเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์ด้วย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×