ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #214 : วังหน้า

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 388
      0
      16 เม.ย. 53

         กรุงเทพฯรัตนโกสินทร์ มีวังหน้ามาแต่ในรัชกาลที่ ๑-๕ แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่ที่เคยเป็นพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าจะกลายเป็นสถานที่สำคัญต่างๆของทางราชการไปหมดแล้ว

                เมื่อแรกสถาปนากรุงเทพฯรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๔ วังหน้ามีความสำคัญรองจากพระมหากษัตริย์ ดำรงที่มหาอุปราช หากพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตก่อนวังหน้าก็จะขึ้นเสวยราชย์สืบแทน อาจเว้นเสียแต่ว่าพระมหากษัตริย์ว่าทรงมอบราชสมบัติพระราชทานผู้อื่น ก่อนเสด็จสวรรคต ดังเช่นกรณีย์เจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (ขุนหลวงเสือ) เมื่อเจ้าฟ้าเพชรได้ขึ้นครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าพร พระอนุชาเป็นวังหน้า แต่ครั้นใกล้เสด็จสวรรคตกลับทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส อากับหลานจึงเกิดสู้รบกันขึ้น สุดท้ายวังหน้าคือพระปิตุลาเป็นฝ่ายชนะประหารหลานเสีย แล้ววังหน้าก็ขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์)

                ต้นกรุงเทพฯรัตนโกสินทร์นั้น

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นวังหน้า  ครั้งนั้น ทรงแบ่งเขตปกครองกัน กึ่งพระนครเป็นตอนล่างและตอนบน

    เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสพระองค์เดียว ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพที่ประสูติ แต่พระอัครชายา พระองค์เจ้าดาราวดี (พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๑) ‘ถนนเจ้าฟ้า' ตั้งชื่อเป็นพระเกียรติยศ เพราะเป็นที่ตั้งวังของพระองค์ (ตรงกรมข่าวทหารบกปัจจุบัน)

                ราษฎรและนานาประเทศออกพระนามคู่กันว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหลวง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัววังหน้า

                เมื่อการไม่แน่นอน วังหน้าเสด็จสวรรคตก่อนวังหลวง (๖ ปี) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ยังทรงเกรงพระทัย พระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลังด้วยทรงรบทัพจับศึกมาด้วยกันกับวังหลวงวังหน้า และทรงมีความสำคัญเป็นลำดับ ๓ อยู่ แม้วังหลังจะกราบบังคมทูลขอให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นวังหน้า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ทรงเฉยอยู่ (จะเห็นได้ว่าทั้งนี้เป็นการแสดงน้ำพระทัยว่ามิได้ทรงเห็นแก่พระราชโอรสยิ่งกว่าบ้านเมือง ด้วยกรมพระราชวังหลังนั้นเป็นผู้ใหญ่ มีความสามารถในการศึกสงคราม ยิ่งกว่าเจ้านายพระองค์ใด)

                จนกระทั่งวังหลังเสด็จทิวงคตแล้ว จึงได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รับพระบัณฑูร พร้อมกันนั้นก็โปรดฯสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์น้อย รับพระบัณฑูรด้วย ครั้งนั้นจึงเรียกกันว่า พระบัณฑูรใหญ่ และพระบัณฑูรน้อย

                ว่ากันว่า พระบัณฑูรน้อย (กรมหลวงเสนานุรักษ์) นั้น พระรูปพระโฉมงามเป็นที่โปรดปราน ทว่าการตั้งพระบัณฑูร สองพระองค์ สันนิษฐานกันว่า เป็นเพราะบ้านเมืองยังอยู่ระหว่างอาจมีศึก ซ้ำทั้งวังหน้าก็สวรรคตวังหลังก็ทิวงคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงมิได้ทรงประมาท หากพระบัณฑูรใหญ่จำเป็นต้องเสด็จออกศึกหรือมีเหตุใดๆ พระบัณฑูรน้อยจะได้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อไป

                ดังนั้น เมื่อขั้นรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาผู้ทรงเป็นพระบัณฑูรน้อย คู่กันมา ขึ้นเป็นวังหน้าเสด็จครองวังหน้าอยู่เพียง ๘ ปี

                ก็ให้บังเอิญวังหน้าสวรรคตก่อนเสียอีก

                ตลอดเวลา ๗ ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ มิได้โปรดฯตั้งวังหน้า คงปล่อยให้ว่างอยู่

                ทว่าระยะ ๔-๕ ปีหลัง โปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชอำนาจแก่ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ประกอบพระราชกิจต่างพระเนตรพระกรรณทุกอย่าง

                แต่การที่ไม่ทรงตั้งเป็นวังหน้าทั้งๆที่พระราชทานพระราชอำนาจ และทรงเป็นพระราชโอรสโปรดปรานอย่างยิ่ง อาจเรียกได้ว่า คู่พระราชหฤทัยนั้น มีผู้สันนิษฐานกันว่า เพราะทรงปฏิญาณทานบนไว้กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ฯ ไว้ว่าจะมิให้ลูกเมียใดเป็นใหญ่กว่าสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ฯ และพระราชโอรสในสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ฯ เป็นอันขาด

                ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพระประชวรหนักและเสด็จสวรรคตกะทันหัน พระมหาอุปราชวังหน้าก็ไม่มีการขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อสมเด็จพระบรมชนกนาถจึงเป็นปัญหาระหว่างพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์ใหญ่ ซึ่งในปลายๆรัชกาล ทรงพระราชกิจต่างๆ แทนสมเด็จพระบรมชนกนาถอยู่แล้ว

                กับเจ้าฟ้าซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระอัครมเหสี ทว่าเยาว์พระชันษากว่าพระเชษฐาใหญ่ ถึง ๑๗ ปี ยังมิได้เคยทรงงานสำคัญแต่อย่างใด

                เคราะห์ดีของบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง ที่สมเด็จเจ้าฟ้า พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ทรงเข้าพระทัยดีว่าพระองค์อาจไม่ทรงสามารถรักษาบ้านเมืองให้สงบสุขได้ในเวลาที่บ้านเมืองเพิ่งจะลงหลักปักฐานได้เพียง ๔๐ ปี

                ทั้งยังทรงมีพระราชมารดาผู้ทรงพระปรีชาญาณ ทรงเห็นแก่บ้านเมือง ยิ่งกว่ามีพระประสงค์ให้พระราชโอรสได้ครองราชย์

                “ทรงมีคุณสมบัติเหมาะสมยิ่งกว่าเจ้าฟ้า ซึ่งเป็นพระราชโอรส ประสูติแต่พระมเหลี ทรงมีความสามารถและพระพิจารณญาณสูงกว่าเจ้าฟ้าด้วยประการทั้งปวง และแม้แต่องค์เจ้าฟ้ากับพระราชมารดาเองก็ทรงยอมเห็นชอบตกลงในเรื่องนี้โดยดี”

                (จากเอกสารของ เฮนรี่ เบอรนี่ เล่ม ๑)

                เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอใหญ่ พระองค์ใหญ่ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๓ แล้ว

                พระองค์มิได้ทรงมีพระอนุชาร่วมพระครรโภทร ส่วนพระอนุชาอื่นก็ล้วนแต่ทรงมีคุณสมบัติไม่เหมาะ

                มีแต่พระปิตุลา คือพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งหลายพระองค์ มีพระชันษารุ่นราวคราวเดียวกันกับพระชนมายุของพระองค์

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงสถาปนากรมหมื่นศักดิพลเสพขึ้นเป็นวังหน้า ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า นอกจากทรงรักใคร่สนิทสนมกันมากแล้ว

                กรมหมื่นศักดิ์ฯ ยังมีเจ้าจอมมารดาเป็นธิดาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) คนก่อน และเป็นพี่สาวของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ที่ว่า เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย จึงเป็นเจ้านายที่มีกำลังสนับสนุน ซึ่งหากพระองค์วังหลวงเสด็จสวรรคตก่อนก็คงรักษาบ้านเมืองไว้ได้

                ทั้งเมื่อในรัชกาลที่ ๒ กรมหมื่นศักดิ์ฯ ยังได้รับพระบรมราชโองการให้ทรงปฏิบัติหน้าที่สำคัญหลายอย่าง

                หนึ่ง คือโปรดฯให้เป็นแม่ทัพยกไปขัดตาทัพ ด้วยกันกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (คือพระองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ)

                สอง คือ เมื่อเสด็จออกไปปลงศพเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี หรือเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) พระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสรับสั่งออกไปให้จัดวางแบบแผนการปกครองเมืองนครศรีธรรมราชด้วย

                แต่ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตระหนักในพระอัธยาศัยของกรมหมื่นศักดิ์ฯ ว่าทรงมีน้ำพระทัยเป็นผู้มีเมตตา พูดง่ายๆก็คือเป็นคนใจดี

                เล่ากันมาหลายปากว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯนั้น ทรงห่วงใยน้องๆของท่าน โดยเฉพาะเจ้าฟ้ามงกุฎ ด้วยทรงเป็นเจ้านายสำคัญ หากสิ้นพระองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อาจไม่เป็นที่ปลอดภัย

                ขอเล่าด้วยภาษาธรรมดาๆว่า ตลอดรัชกาลแม้น้องๆของท่านบางองค์ จะทรงกระทำผิด หรือปฏิบัติองค์ อย่างที่เรียกกันในสมัยนี้ว่า ‘ต่อต้าน’ หรือ ‘แอนตี้’ ท่าน ก็ทรงมีขันติ มิได้กริ้วโกรธ แม้กระทั่งบางพระองค์ทรงออกนอกลู่นอกทาง คบคิดกับคนผิดที่ทะเยอทะยานจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็ไม่ประหาร เพียงแต่ให้จำขังไว้

                ว่ากันว่า ที่ท่านทรงรักและห่วงใยน้องๆก็เพราะ พระองค์เป็นพี่ชายใหญ่ ซ้ำยังมีพระวรกายยิ่งนับวันยิ่งสูงใหญ่ จนกระทั่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ   ตรัสสัพยอกเนืองๆ ว่าเป็นพี่ใหญ่ ตัวใหญ่ ให้ดูแลน้องๆจงอย่าได้ทิ้งน้องครั้งนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถ ก็คงจะมิได้ทรงคาดว่า พระราชโอรสพระองค์นี้จะได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงเป็นแต่โอรสของหม่อมรอง (หม่อมเอกคือคุณศรีหรือคุณสี ธิดา เจ้าพระยาธรรมา)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×