ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #213 : เจ้านายไทย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 694
      0
      16 เม.ย. 53

      ไหนๆเล่าเรื่องราชวงศ์เขมร ซึ่งในอดีตสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระราชวงศ์ไทย ยิ่งกว่าเจ้าต่างด้าวท้าวต่างแดนอื่นๆที่เข้ามาพึ่งพระบารมี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในระยะเวลาใกล้ๆกัน

                จึงขอเล่าถึงเจ้านายไทย ซึ่งมีเจ้าจอมมารดาเป็นเจ้าหญิงเขมร ต่อไปอีกสักตอนหนึ่ง

                คือเมื่อขุนนางผู้ใหญ่พานักองเองกษัตริย์เขมรชนมายุ ๙-๑๐ ขวบ หนีเข้ามาพึ่งพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์แห่งกรุงเทพฯ รัตนโกสินทร์ นั้น

                หมายเหตุไว้ตรงนี้ก่อนว่า เมื่อสถาปนากรุงเทพฯ รัตนโกสินทร์ ยังไม่ได้ถวายพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระนามที่ถวายจารึกลงในพระสุพรรณบัฏเป็นทางราชการว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทรธรณินทราธิราช ฯลฯ” และมีพระบรมราชโองการดำรัสให้สมเด็จพระอนุชาธิราช เสด็จเถลิงพระราชมณเฑียรดำรงที่มหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่าราชการพระนครกึ่งหนึ่งโดยดังโบราณจารีตราชประเพณี

                ในสมัยรัชกาลที่ ๑ (และ ๒) จึงออกพระนามกันว่า ‘สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว วังหลวง’ และ ‘สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัววังหน้า’ หรือออกพระนามด้วยกันว่า ‘สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์’ ดังในพระราชพงศาวดารเขมรก็กล่าวเช่นนี้

                ย้อนกลับไปเล่าถึงนักองเองต่อ เมื่อเสด็จเข้ามากรุงเทพฯ มีพระมารดาและพระมารดาเลี้ยง กับนักนางแม้น (พระสนมของพระราชบิดา) และพระพี่นาง ๓ องค์ ติดตามเข้ามาด้วย

                พระมารดาและพระมารดาเลี้ยงนั้น เรียกกันในพระราชวังเขมรว่า สมเด็จพระท้าว ในพระราชพงศาวดารเขมรเล่าว่าพระมารดาเลี้ยง เป็นพระอัครมเหสี ทว่ามีแต่ราชธิดาผู้เดียว คือ นักองเภา ส่วนพระมารดานักองเอง เดิมเป็นแต่พระสนมโทเรียกกันว่านักนาง

                เมื่อขุนนางผู้ใหญ่ยกนักองเองขึ้นครองราชย์ (และเกิดจลาจลวุ่นวาย) จึงยกพระมารดาขึ้นเป็นสมเด็จพระท้าว ตามราชประเพณี พระราชพงศาวดารเขมรจึงเรียกทั้งพระมารดาและพระมารดาเลี้ยงว่า ‘สมเด็จพระท้าว’ คือเป็นอัครมเหสีทั้งสององค์

                พระพี่นางสามองค์นั้น คือ

                ๑. นักองเม็ญ พี่นางองค์ใหญ่ สมภพแต่นักนางบุบผาวดี (ไม่ได้ตามเข้ามาด้วย)

                ๒. นักองอี พี่นางองค์รอง สมภพแต่นักนางแม้น (ติดตามมาด้วย)

                ๓. นักองเภา สมภพแต่สมเด็จพระท้าว พระอัครมเหสีซึ่งเป็นเจ้ามาแต่เดิม (ติดตามมาด้วย)

                พระพี่นางทั้ง ๓ นั้น เมื่อเข้ามากรุงเทพฯ มีชันษา ๑๘ ๑๖ และ ๑๕ ตามลำดับ

                สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท โปรดให้เป็นพระชายาทั้ง ๓ องค์ แต่นักองเม็ญนั้นประชวรหนักสิ้นชนม์เสียก่อน

                สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ โปรดปรานนักองอีมาก เมื่อนักนางแม้นมารดานักองอี บวชเป็นรูปชี ตามเข้ามาอยู่ในพระราชวังบวรฯ พร้อมด้วยข้าบริวาร จึงทรงยกที่อุทยาน (ตรงที่เป็นวัดบวรสถานสุทธาวาศ หรือวัดพระแก้ววังหน้า ปัจจุบันนี้) พระราชทานให้เป็นสำนักชี ในสมัยนั้นจึงเรียกกันว่า วัดหลวงชี และเรียกนักนางแม้นว่า นักช

    วัดบวรสถานสุทธวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้า เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ (กลางรัชกาลที่ ๕) ตรงที่สร้างวัดเดิมเป็นสวนประพาสวังหน้า แล้วเป็นสำนักหลวงชี แล้วเป็นสวนกระต่าย

                ณ ตรงที่พระราชทานให้เป็นสำนักชีนี้ แต่เดิมเป็นที่วาง โปรดให้ทำเป็นสวนที่ประพาสของกรมพระราชวังบวรฯ และโปรดให้สร้างตำหนักประทับขณะเสด็จประพาสไว้หลังหนึ่ง

                ต่อมาเมื่อโปรดให้เป็นสำนักชีแล้ว ถึงปลายรัชกาลที่ ๑ นั้นเอง นักชีถึงอนิจกรรม กุฏิและเรือนชำรุดทรุดโทรม จึงโปรดฯให้รื้อเรือนและกุฏิทำเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย เลยเรียกกันว่า สวนกระต่าย เรื่อยมา จนถึงรัชกาลที่ ๓ กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๓ จึงทรงอุทิศที่สวนกระต่ายสร้างวัด เรียกว่าวัดพระแก้ววังหน้า

                สันนิษฐานกันว่า ชื่อวัดบวรสถานสุทราวาสจะเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงตั้ง ให้คล้องจองกันกับวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างเช่นกัน สมัยนั้นเรียกกันว่า ‘วัดบน’  หมายถึงวัดในเขตของวังหน้าซึ่งอยู่กึ่งพระนครตอบบน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ครั้งยังเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ ในรัชกาลที่ ๓ และทรงผนวชอยู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้โปรดให้เสด็จมาครองวัดบวรฯนี้ จดหมายเหตุจดไว้ว่า ‘เสด็จมาครองวัดบน’ ทำให้ออกพระนามกันว่า “ทูลกระหม่อมพระวัดบน’ มาแต่นั้น ว่ากันว่าชื่อวัด ‘บวรนิเวศ’ นี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระราชทาน เมื่อโปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ เสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสเสมือนจะทรงแสดงโดยนัยว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ เสมอดังกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ผู้ซึ่งจะทรงได้รับสืบทอดราชบัลลังก์ต่อไป หากแต่คงมีเหตุผลบางประการอันจำต้องโปรดให้เสด็จอยู่ในสมณเพศต่อไปก่อน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความปลอดภัยต่อพระองค์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯก็เป็นได้ ด้วยมีผู้หวังตำแหน่งมหาอุปราชวังหน้ากันหลายพระองค์อยู่ เดิมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตรัสเรียกสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯว่า ‘ท่านฟ้าใหญ่’ ต่อมามักตรัสเรียกว่า ‘ชีต้นวัดบน’

                นักองอี นักองเภา เจ้าหญิงเขมรทั้ง ๒ มีพระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ๔ พระองค์

                พระราชธิดาในนักองอี ๒ พระองค์ คือ

                ๑. พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตร (หรือกัมโพชฉัตร)

                ๒. พระองค์เจ้าหญิงวงศ์มาลา

                พระราชธิดาในนักองเภา ๒ พระองค์ คือ

                ๑. พระองค์เจ้าหญิง สิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์

                ๒. พระองค์หญิงปุก

                นักองอีนั้น เป็นพระสนมเอก ว่าโปรดปรานมาก แม้พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร ก็ว่าเป็นพระราชธิดาที่โปรดมากเช่นกัน เมื่อทรงพระประชวรหนัก พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรก็เฝ้าอยู่ด้วย

                พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรนี้ ทรงพระปรีชาในการกวีนิพนธ์ พระนิพนธ์กลอนเบ็ดเตล็ดว่ามีอยู่หลายเรื่อง แต่ที่พิมพ์แจกในงาน พระราชทานเพลิงศพ และค่อนข้างแพร่หลาย คือ พระนิพนธ์ร้อยกรองหลายอย่าง เรื่อง ‘นิพพานวังหน้า’ คือทรงแต่งขึ้นเมื่อพระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้ว เนื้อความรำพันเหตุการณ์บางตอนไว้จับใจ เช่นตอนที่ทรงพรรณนาถึงพระบาทสมเด็จพระราชบิดา ทรง ‘สั่งเสีย’ กันกับสมเด็จพระบรมราชปิตุลาว่า

                “พระโองการร่ำว่านิจาจอม              ถนอมขวัญตรัสโอ้พระอนุชา
    ว่าพ่อผู้กู้ภพทั้งเมืองพึ่ง                               จงข้ามถึงพ้นโอฆสงสาร์
    ดำรงจิตคิดทางพระอนัตตา                          อนาคตนำสัตว์เสวยรมย์
    ครั้นทรงสดับโอวาทประสาทสอน                  ค่อยเผยผ่อนเคลื่อนคล้องอารมณ์สม
    แต่หนักหน่วงห่วงหลังยังเกรงกรม                  ประนมหัตถ์ร่ำว่าฝ่าลออง
    บุญน้อยมิได้รองยุคลคืน                             ยิ่งทรงสะอื้นโศกสั่งกันทั้งสอง
    จึงทูลฝากพระนิเวศน์ที่เคยครอง                   ประสิทธิปองมอบไว้ใต้ธุลี
    ฝากหน่อขัตติยานุชาด้วย                            จงเชิญช่วยโอบอ้อมถนอมศรี
    แต่พื้นพงศ์จะพึ่งพระบารมี                           จงปรานีนัดดาอย่าราคิน
    เหมือนเห็นแก่นุชหมายถวายมอบ                  จะนึกตอบแต่บุญการุณย์ถวิล
    ก็จะงามฝ่ายุคลไม่มลทิน                            ก็เชิญผินนึกน้องเมื่อยามยัง
    อนึ่งหน่อวรนาถผู้สืบสนอง                           โปรดให้ครองพระนิเวศน์เหมือนปางหลัง
    อย่าบำราศให้นิราแรมวัง                             ก็รับสั่งอวยเออพระโองการ
    จึงตรัสปลอบพระบัณฑูรอาดูรด้วย                 ว่าจะช่วยเอาธุระแสนสงสาร
    เป็นห่วงไปใยพ่อให้ทรมาน                          จะอุ้มหลานจูงลูกไม่ลืมคำ
    อันเยาวยอดสืบสายโลหิตพ่อ                       พี่ตั้งต่อสุจริตอุปถัมภ์
    ครั้นทรงสดับแน่นึกสำเนาคำ                        ก็คลายร่ำทุกข์ถ้อยบรรเทาทน”

                พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น ๑ พระองค์เจ้าหญิงกำพุชฉัตร ประสูติ พ.ศ.๒๓๒๙ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔

                พระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้าหญิงปุก ประสูติ พ.ศ.๒๓๓๕ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓

                พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวงศ์มาลาประสูติ พ.ศ.๒๓๓๖ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔

                ชันษายืนยาวทั้งสามพระองค์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×