ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #163 : เสื้อเสนากุฎ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 989
      0
      12 เม.ย. 53

      อันเนื่องมาจากเรือ 'เสนากุฎ'  ขอเล่าเรื่องเสื้อต่ออีกสักเล็กน้อย

                ในจดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๓ บรรยายถึงเสื้ออันเป็นเครื่องแบบของผู้เข้าขบวนแห่สระสนาน ว่ามีเสื้ออัตลัต เสื้อมัศรู

                เสื้อดังกล่าวทั้ง ๒ อย่าง ก็คือเสื้อแบบเสนากุฎนั่นเอง แต่ตัดเย็บด้วยผ้าจากต่างประเทศส่งมากับเรือสินค้าเป็นผ้าแขก (อินเดีย)

                ผ้าอัตลัต เป็นผ้าไหมทอควบกับเงินแล่งหรือทองแล่ง ยกดอก มีทั้งชนิดดีและชนิดเลว

                ผ้ามัศรู ผ้าไหมทอเป็นริ้วยาวสีหนัก สีเบาควบกัน บางทีก็เรียกว่า ผ้าเข้มขาบ

                ผ้าตัดเสื้อจากเมืองแขกพวกนี้ ยังมีที่เรียกว่า ผ้าปัศตู และผ้าเยียระบับ แต่เป็นผ้าเฉพาะเจ้านายขุนนาง ผ้าปัศตู คือผ้าขนสัตว์ เนื้อผ้าค่อนข้างฟู ส่วนผ้าเยียยะบับมีทั้งที่ทอเป็นผ้านุ่งและเป็นผ้าตัดเสื้อ ยกดอก หรือมีลาย ทอด้วยไหมเงินไหมทอง

                ว่าถึง 'แบบ' เสื้อ อันเป็นเครื่องแบบข้าราชการสมัยโบราณนั้น หนังสือเรื่องวิวัฒนาการเครื่องแบบของกรมศิลปากร ว่าไว้ว่าในสมัยอยุธยามี ๕ แบบ น่าจะเล่าประกอบไว้ด้วย คือ

    พระเจ้าแผ่นดินทรงฉลองพระองค์ทรงประพาส (เสื้อมีปกแขนยาว) ข้าราชการพลเรือนสวมเสื้อครุย มีดอกกระจาย สวมลอมพอก (สมัยกรุงศรีอยุธยา)

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงฉลองพระองค์แบบราชปะแตน ที่ทรงพระราชดำริ ออกแบบขึ้นเมื่อเสด็จฯประพาสอินเดียและพม่า พ.ศ.๒๔๑๔

                ๑. เสื้อเครื่อง เป็นเสื้อผ้าดอกแขนยาว มีทั้งคอปิดและคอตั้ง ผ่าอกตลอดติดดุมท่อนบน ๗-๘ ดุม ตัวยาวถึงสะโพก ขลิบปลายแขนและรอบเอวด้วยผ้าต่างสีเป็นเครื่องแบบสำหรับข้าราชการชั้นพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น

                มีอธิบายด้วยว่า 'เครื่อง' เป็นภาษาโยนกแปลว่า 'ทหาร' เมื่อแรกจึงอาจหมายถึงเสื้อทหาร

                ๒. เสื้อกุตไต เป็นเสื้อผ้าตาหรือผ้าดอก แขนสั้น คอกลม มีสาบใหญ่ที่คอ ขลิบปลายแขนและรอบเอวด้วยผ้าต่างสี ตัวสั้นกว่าเสื้อเครื่อง สวมนุ่งผ้าทับ หรือสวมทับผ้านุ่ง แล้วแต่

                มีอธิบายว่า ภาษาฮินดูสตานี มีคำว่า Khurti แปลว่า เสื้อกั๊กทหาร

                ๓. เสื้อเสนากุฎ เล่าแล้ว

                ๔. เสื้อทรงประพาส เป็นเสื้อมีปก คอกว้างจนยกเป็นอินทรธนูและต่อแขนยาวจากไหล่ใต้ปกลงไป ตัวเสื้อกับแขนเป็นผ้าคนละสี แขนตัดตามลายขวางของผ้าเป็นเสื้อโบราณมากของไทยทางเมืองเหนือ

                ๕. เสื้อครุย ว่าเป็นเสื้อเก่าแก่ที่สุด ตั้งแต่สร้างกรุงศรีอยุธยา และคงจะเป็นเสื้อที่เรียกกันว่า 'สนอบ' แรกทีเดียวเป็นเสื้อแขนสั้น ตัวไม่ยาวนัก ผ่าอกตลอด ตกมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตัวเสื้อยาวขึ้น แขนกว้างยาวสามส่วน ทำด้วยผ้าขาวบางหรือ ผ้าโปร่ง ตกแต่งด้วยลายตามตำแหน่งและฐานะ ในสมัยโบราณการสวมครุย (บางทีก็เรียกว่า 'ห่มครุย') ใช้ในเวลาอยู่ในหน้าที่หรือเมื่อมีพิธีตรอง หากพ้นภาระก็ถอดครุยออกคาดเอวได้ เรียกว่า 'คาดครุย' หรือ 'คาดสำรด'

                ต่อมาจึงใช้ผ้าคาดเอวที่เป็นทองถัก เรียกว่า 'สำรด' และการคาดสำรด ถือว่าเป็นการแสดงยศอย่างหนึ่ง

                ไหนๆ เล่าเรื่องเสื้อในสมัยโบราณมากๆแล้ว ขอติงถึงเสื้อบุรุษในภาพวาดประกอบเรื่อง 'บุญบรรพ์' ของสกุลไทยเองบ้าง คงไม่ว่ากัน

                คือภาพวาดเสื้อบุรุษบางภาพนั้นหลุดออกมาเป็นเสื้อในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เรียกกันว่าแบบ 'ราชปะแตน' ซึ่งในยุครัชกาลที่ ๑-๔ เสื้อแบบนี้ยังไม่เกิด

                เสื้อ 'ราชปะแตน' เป็นแบบเสื้อที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระราชดำริออกแบบขึ้น เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสอินเดียและพม่า พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นเวลา ๔ เดือน

                เดิมเมื่อเสด็จประพาสสิงคโปร์ และชวา พ.ศ. ๒๔๑๓ โปรดเกล้าฯ ปรับปรุงเครื่องแต่งกายของข้าราชสำนักที่ตามเสด็จฯ โดยโปรดฯให้นุ่งผ้าดังเดิม ทว่าสวมถุงน่องรองเท้าอย่างฝรั่ง และให้สวมเสื้อชั้นนอกคอแบะผูกผ้าผูกคอแบบฝรั่ง

                ต่อมาเมื่อเสด็จฯประพาสอินเดีย และพม่า ดังกล่าว จึงได้โปรดฯให้ช่างในเมืองกัลกัตตา ตัดฉลองพระองค์ ตามพระราชดำริ คือเป็นเสื้อคอปิด มีกระดุมตลอดอกตั้งแต่คอ เพื่อที่จะไม่ต้องสวมเสื้อข้างในเมื่อสวมในเมืองไทย เพราะอากาศเมืองไทยร้อนมาก

    ข้าราชสำนักในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวมเสื้อราชปะแตน เสื้อของเจ้าพระยารามราฆพ เป็นแพรลาย

                เสื้อแบบนี้ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ขณะนั้นยังเป็นนายราชานัตยานุหาร เรียกสั้นๆว่านายราชานัต ว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ เป็นผู้ติดตามเสด็จฯในฐานะราชเลขานุการ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต คิดชื่อถวายว่า 'ราชแพทเทิร์น'โดยนำภาษามคธ บวกกับภาษาอังกฤษ (Pattern) แปลว่า เสื้อแบบหลวง แต่สำเนียงไทย นานเข้าก็เพี้ยนกลายเป็น 'ราชปะแตน' ไป

                เสื้อราชปะแตนนี้ จึงต่อมาเป็นเสมือนเครื่องแบบของข้าราชการพลเรือนไป โดยส่วนมากสวมกับผ้านุ่งโจงสีกรมท่า ผ้านุ่งโจงนั้นเรียกกันสั้นๆว่า 'ผ้าม่วง' หากมิใช่นุ่งไปทำงาน ก็นุ่ง 'ผ้าม่วง' สีต่างๆกับเสื้อราชปะแตน ซึ่งบางทีตัดด้วยแพรบ้าง ผ้าลายบ้าง ต่อมาไม่สวมแต่เฉพาะกับผ้าม่วง หากแต่สวมกับกางเกงแพรด้วย เสื้อราชปะแตนเป็นที่นิยมอยู่นาน จนยุคต้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ มีประกาศกฎหมายวัฒนธรรม ห้ามนุ่งผ้าม่วง และกางเกงแพร ตั้งแต่นั้น เสื้อราชปะแตน ก็เลยพลอยหมดไปด้วย

                เมื่อยังเด็ก จำได้ว่ามีกลอนแต่งล้อเชิงสัพยอก ข้าราชการชั้นคุณหลวง ซึ่งเป็นข้าราชการระดับกลาง แต่ละกระทรวง ทบวง กรมจึงมีคุณหลวงอยู่หลายคน ทว่าจำได้นิดเดียวถึงเสื้อราชปะแตนว่า

                'คุณหลวง คุณหลวง อยู่กระทรวงมหาดไทย ใส่เสื้อราชปะแตน แขวนสายนาฬิกา...ฯลฯ..." จำได้เท่านี้เอง หากท่านผู้อ่าน อายุเกินกว่า ๗๐ ปี ท่านใด ยังพอจำได้อยู่ ขอความกรุณาส่งมาเผยแพร่บ้าง ก็จะขอบคุณยิ่ง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×