ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #162 : อันเนื่องมาจาก "ท้าวเสนากุฎ"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 608
      0
      12 เม.ย. 53

       -ผู้อ่านบอกมาว่าปัจจุบันอายุ ๕๐ เมื่อยังเด็กๆ เคยได้ยินผู้ใหญ่ชั้นย่ายายพูดถึงท้าวเสนากุฎ ว่าทำราวกับท้าวเสนากุฎเข้าเมืองพระอินทร์ หมายความว่าอย่างไร ท้าวเสนากุฎอยู่ในเรื่องอะไร

                อีกอย่าง เคยได้ยินชื่อเสนากุฎอีกเหมือนกัน คือเสื้อเสนากุฎ ‘กุฎ’ สะกดเหมือนกันหรือเปล่า เสื้อเสนากุฎเป็นอย่างไร-

                ท้าวเสนากุฎ และเสื้อเสนากุฎ สะกดเหมือนกัน

                เรื่องเสื้อเสนากุฎ ก่อน ในหนังสือวิวัฒนาการเครื่องแบบของกรมศิลปากร อธิบายไว้ว่า

                 “เป็นเสื้อตีพิมพ์สีสลับเป็นลาย มีสีแดงเหมือนน้ำหมากมากกว่าสีอื่น ที่อกเป็นลายสิงห์ขบ ตามตัวเป็นลายต่างๆ กัน มีทั้งลายเกล็ดเกราะ ลายดอกไม้ ลายกนก (คอกลมติดคอติดดุม หรือคอแหลมตื้นสวมคอ) เดิมนั้นเป็นเสื้อแขนสั้น และคงจะเริ่มมีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเสื้อที่ใช้กันมานานมากจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่มาถึงชั้นนี้แขนเสื้อยาวจนถึงข้อมือ”

                เมื่อเข้ากระบวนแห่ พวกทหารที่เกณฑ์จากไพร่หลวง ส่วนมากสวมเสื้อเสนากุฎ เป็นเสื้อที่หลวงแจกให้ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เมื่อมีพระราชพิธีแห่สระสนาน พ.ศ.๒๔๗๓ จึงจดไว้ละเอียดเนื่องจากต้องเบิกจากคลัง

                ยกตัวอย่างผู้เข้ากระบวนแห่ชุดหนึ่ง จดว่า

                เสื้อเสนากุฎแดง ๕๔๔ เสื้อเสนากุฎริ้ว ๘๙ เสนากุฎเขียว ๑๐๐ เสนากุฎแสด ๙๐ เสนากุฎดำ ๗๐ เสนากุฎม่วง ๖๐ เสนากุฎน้ำเงิน ๖๐

                ส่วนกางเกงมีแปลกๆ จดว่า

                ผ้าแดงมีเชิง ๕๔๔ แพรริ้วมีครีบ ๙๒ เขียว ๑๐๐ แสด ๑๑๐ ดำ ๑๑๐ ม่วง ๑๑๘ น้ำเงิน ๖๐ ผ้าวิลาดมีเชิง ๒๙๔ ผ้าวิลาด ๓๐๐ ปัศตูแดง ๑๑๖ มัศรูเชิงยก ๙

                ผ้าวิลาด หรือวิลาศ คือผ้าจากตะวันตก โดยเฉพาะจากอังกฤษ อินเดีย เรียกชาวตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษว่า วิลาด ไทยแต่โบราณจึงพลอยเรียกตาม

                ผ้าปัศตู คือผ้าขนสัตว์ ผ้ามัศรู หรือ เข้มขาบ เป็นผ้าทอริ้วตามยาว ทั้งสองชนิดมาจากอินเดีย

                กระบวนแห่ในพระราชพิธีสระสนานนั้นเป็นการใหญ่มาก เป็นพระราชพิธีสำคัญในเดือน ๕ (เมษายน) แต่มีขึ้นเพียงแผ่นดินละครั้งเดียว

                เป็นพระราชพิธีที่มุ่งไปที่ช้างเป็นสำคัญ คือแห่พระยาช้างรวมทั้งนางพระยาช้างพัง และราชพาหนะ ม้า โค กระบือ รวมไปถึงกองทัพไพร่พล ศาสตราวุธเป็นการคล้ายสวนสนามในสมัยนี้ ถวายตัวให้พระเจ้าแผ่นดินได้ทอดพระเนตร เห็นความพรักพร้อมบริบูรณ์ของกองทัพอันมีช้าง ม้า โดยเฉพาะช้างเป็นราชพาหนะสำคัญในการเสด็จออกสู้ศึกศัตรู

                พระราชพิธีนี้จึงเป็นทั้งมงคลแก่ราชพาหนะ และเพื่อให้เป็นที่เกรงขามแก่ข้าศึกศัตรู

                กระบวนเริ่มด้วยตำรวจ (เวลานั้นกรมพระตำรวจ มีหลายฝ่าย เช่นตำรวจในขวา ตำรวจในซ้าย ตำรวจใหญ่ขวา ตำรวจใหญ่ซ้าย ตำรวจนอกขวา ตำรวจนอกซ้าย ฯลฯ) กระบวนแรกนี้เป็นกระบวนของพระยาช้างต้น พระเทพกุญชร แต่งเครื่องอย่างพระยาช้างต้น ตามด้วยคนถือธงต่างๆ ถือธนู ถือทวน แส้หวาย กระบองเดินอยู่ทางสายนอก สายใน ธงฉาน กลองชนะ จ่าปี่ จ่ากลอง แตรงอน แตรฝรั่ง สารวัตรกรมช้าง แล้วมีช้างพัง (ช้างเมีย) เดินนำ ทำนองนางบริจาริกา จึงถึงพระยาช้าง พระเทพกุญชร มีข่ายกั้น ๔ ด้าน คนถือข่าย ๘ คน มีคนถือเครื่องยศ ๖ คน คือกล้วยโต๊ะ ๑ (โต๊ะ-พานมีขาวาง) อ้อยโต๊ะ ๑ มะพร้าวโต๊ะ ๑ หม้อน้ำ ๒ หม้อ ทั้งโต๊ะ และหม้อน้ำ ล้วนเป็นเครื่องเงินทุกสิ่ง มีช้างพังผูกเครื่องตามอีก ๔

                ที่เล่านี้เป็นเพียงกระบวนของพระยาช้าง พระเทพกุญชร ช้างเดียว คนเข้ากระบวนร่วม ๒๐๐ แล้ว

                กระบวนพระยาช้างทั้งหมดถึง ๑๗ ช้าง ๑๗ กระบวน แต่ละกระบวนมีคนแห่ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน

                จากกระบวนช้าง ก็ถึงกระบวนผู้บัญชาการกรมช้าง และเสนาบดี ขุนนางผู้ใหญ่ ล้วนขี่ช้าง

                พระยาเพทราชา เจ้ากรมช้าง ขี่ช้างพังกั้นสัปทน คนตาม ๒๐๐ ถืออาวุธต่างๆ

                พระยากำแพง กรมช้าง ขี่ช้าง คนตาม ๑๗๐

                พระยากฤษณรักษ์ กรมช้าง ขี่ช้าง คนตาม ๑๑๖

                จากนั้นก็กระบวนเสนาบดี ซึ่งบางท่านชรามาก คือเจ้าพระยามหาเสนา (สังข์) เจ้าพระยาธรรมา เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยามหาโยธา

                ทั้ง ๔ ท่าน นั่งเสลี่ยง กระบวนแห่คนตามเจ้าพระยามหาเสนา ๓๒๐ อีก ๓ ท่าน คนตามกระบวนละ ๒๗๖

                ต่อจากกระบวนเสลี่ยง ก็ถึงกระบวนเสนาบดี และขุนนางสำคัญ ขี่ช้าง

                นำด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ขี่ช้างกั้นสัปทน คนแห่ตาม ๓๒๐ คน เท่าเจ้าพระยามหาเสนา (สังข์)

                เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ขี่ช้างกั้นสัปทน คนแห่ตาม ๓๒๐ เท่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)

                กระบวนขุนนางต่อไป มีเกียรติยศ คนเข้ากระบวนแห่ ลดหลั่นกันลงไปบ้าง กระบวนขุนนางเหล่านี้ รวมเจ้าพระยาบดินทร์ และเจ้าพระยาพระคลัง ถึง ๑๘ ท่าน ๑๘ กระบวน

                แล้วยังตามด้วยกระบวนโค กระบือ ม้า รถ

                สุดกระบวนโค กระบือ ม้ารถ ก็เป็นกระบวนขุนนางขี่ม้า ๑๐ คน ๑๐ กระบวน มีคนตามกระบวนละ ๑๖๐ คน

                แล้วเป็นกระบวนรถของขุนนาง ๓ ท่าน คือ พระยาจุฬาราชมนตรี แขกนั่งรถเก๋งม้าคู่ กั้นสัปทน มีแขกวรเทศแห่หน้า ๓๐ คน คนตาม ๑๕๐ คน พระยาศรีราชอากร (จีน) นั่งรถเกี้ยว คนจูง ๒ กั้นสัปทน จีนแห่นำ ๔๐ ตาม ๒๑๖

    พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง หน้าสนามชัย

                พระยาวิเศษสงคราม (ฝรั่ง) ขี่รถฝรั่งสี่ล้อเทียมม้าคู่ คนจูง ๒ กั้นสัปทน ฝรั่งแห่หน้า ๓๐ คู่ ตาม ๑๕๐

                ครั้งนั้น ตั้งกระบวนแห่หน้า (ที่จริงแล้วเป็นด้านหลัง เพราะหน้าวัดลงลำคลองโรงไหม) วัดชนะสงครามเขตวังหน้า แล้วเดินกระบวนข้ามสะพานช้างคลองคูเมืองเดิม ผ่านถนนหน้าจักรวรรดิวังหน้า (คือถนนราชดำเนินในในปัจจุบันนี้) ผ่านวังหน้า (ผู้อ่านต้องลบภาพสนามหลวงปัจจุบันนี้ออกให้หมด ด้วยวังหน้าสมัยโน้นอาณาเขตล้ำเนื้อที่สนามหลวงปัจจุบันออกมาถึงทางผ่ากลาง สนามหลวงที่ตรงกับถนนพระจันทร์เวลานี้)

                ผ่านถนนหน้าจักรวรรดิไปตามถนนหน้าจักรวรรดิวังหลวง (คือถนนสนามชัย)

                ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จลงประทับ ณ พลับพลา หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ปราสาท แต่เพลาเช้า (รัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า “สุทธาสวรรย์” ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงแปลงว่า “สุทไธสวรรย์”)

                เมื่อกระบวนช้างและกระบวนขุนนางขี่ช้างถึงหน้าพลับพลาพระที่นั่ง ขุนนางที่ขี่ช้างถวายบังคมแล้ว เลี้ยวเข้าไปยืนเรียงประจำที่ที่หน้าพลับพลา โปรดให้เรียกช้างน้ำมันมาผัดพาฬล่อแพนอยู่ในสามสี่ช้าง แล้วจึงเดินกระบวนถวายตัวต่อไปจนสิ้นกระบวน เสด็จขึ้นเพลาบ่ายเสนาบดีขุนนางที่ขี่ช้างลงจากช้างรับพระราชทานเลี้ยงที่ที่พักซึ่งจัดไว้ให้ แล้วมีมวย มีกระบี่กระบองที่ท้องสนามชัยไปจนเวลาเย็น โดยเสนาบดีเป็นผู้ผลัดกันตกรางวัลแก่ผู้ชนะ ถึงเวลาเย็นเลิกการเล่นทั้งปวงแล้วจึงได้กลับบ้าน

                บรรดาอาวุธทั้งปวงที่ถือกันในกระบวนแห่นั้น เมื่อในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ เป็นไม้ แต่ครั้งนี้โปรดฯให้ทำเป็นอาวุธเหล็กจริงๆ บรรดาเสนาบดีขุนนางจึงต่างแข่งขันกันทำขึ้นเพื่อเข้ากระบวนแห่ของตน เมื่อเสร็จการพระราชพิธีสระสนานแล้ว ก็พระราชทานเงินหลวงให้ตามราคา แล้วรวบรวมมาเก็บไว้ในคลังสรรพาวุธเตรียมไว้ สำหรับการศึกสงครามต่อไปข้างหน้า

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×