ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #121 : พระราชพิธีลอยกระทง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 430
      0
      11 เม.ย. 53

     ใกล้ถึงนักขัตฤกษ์ลอยกระทงเดือน ๑๒ (พฤศจิกายน) แล้ว ในกำหนดการพระราชพิธีประจำเดือนทั้ง ๑๒ เดือน สมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินจะทรงลอยพระประทีปกลางเดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ สองครั้ง ทว่ากลางเดือน ๑๑ นั้น มิได้เป็นการใหญ่ดังเดือน ๑๒

                ประเพณีพระเจ้าแผ่นดินทรงลอยพระประทีบและคนทั่วไป ลอยกระทงนั้นในพระราชนิพนธ์พระราชพิธี ๑๒ เดือน ว่าเป็นประเพณีที่มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยฝ่ายเหนือโน้นแล้ว

    เรือทอดทุ่นในพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

                แต่สำหรับนางนพมาศ ซึ่งว่าเป็นพระสนมเอกในพระร่วงเจ้า ผู้แต่งตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ โดยอ้างไว้ในเรื่องนั้นเองว่าเป็นประวัติของนาง และนางเป็นผู้คิดประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นมาถวายพระร่วง ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระราชสันนิษฐาน และทรงสันนิษฐานว่า น่าจะมิใช่นางนพมาศสมัยสุโขทัยแต่ง สำนวนของผู้แต่งน่าจะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง โดยเฉพาะการเผลอกล่าวถึงชาวยุโรป ซึ่งในสมัยสุโขทัยยังไม่มีเข้ามาวุ่นวาย ทำให้ทรงพระราชสันนิษฐาน และทรงสันนิษฐานต่อไปว่าสำนวนโวหารน่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ ด้วยซ้ำไป ทรงพระราชนิพนธ์โดยสมมุติพระองค์เองเป็นนางนพมาศ เพื่ออบรมสั่งสอนพระสนมบริจาริกา และนางในทั้งหลายในราชสำนักของพระองค์ ทั้งนี้อาจจะทรงนำเค้าที่เล่าๆ กันมาถึงเรื่องนางนพมาศสมัยสุโขทัย ซึ่งนางนพมาศอาจจะมีตัวจริงหรือไม่มีเป็นเพียงตำนานก็ได้

                อย่างไรก็ตาม พระราชประเพณีลอยพระประทีปก็มีต่อมาลงมาเรื่อยๆ  จากสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

                ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เสด็จพระราชดำเนินลงลอยพระประทีปตรงพระตำหนักแพลอย (หน้าท่าราชวรดิฐปัจจุบันนี้) เป็นการเสด็จฯออกนอกกำแพงพระราชวังและนอกกำแพงพระนคร จึงต้องจัดการป้องกันรักษาพระองค์อย่างแข็งแรง พนักงานกรมต่างๆ ทั้งกรมวัง กรมทหาร กรมพระตำรวจ กรมอาสา ฯลฯ ลอยเรือล้อมวงทอดทุ่นเป็นสามสาย สายใน สายกลาง และสายนอก สายละประมาณยี่สิบลำ

                หน้าพระตำหนักแพลอยทอดเรือบัลลังก์สองลำขนานกัน เรือบัลลังก์ลำหนึ่งสำหรับเสด็จลงจุดพระทีปและประทับทอดพระเนตร เรือบัลลังก์ลำหลังจัดเป็นที่บรรทม ที่สรงลงพระบังคน และทอดเครื่องเสวย มีพระสุธารสเป็นต้น เพราะมักจะเสด็จลงประทับตั้งแต่หัวค่ำไปจนสิ้นเวลาลอยประทีป

                ในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ นั้น กระทงหลวงทำเป็นเรือต่างๆ ประดิษฐ์รูปสัตว์ต่างๆ  มีเรือหยวกบริวาร ๕๐๐ ทรงจุดประทีปเรือหลวง แล้วก็เรือสำเภาของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี เรือพระบรมวงศานุวงศ์ แล้วจึงโปรดฯให้ปล่อยเรือกระบวนของข้าราชการ จุดประทีปลอยมากลางน้ำระหว่างทุ่นสายในกับเรือบัลลังก์ที่ประทับ

                ในรัชกาลที่ ๑ มีเหตุ พระองค์เจ้าจันทบุรีพระชันษา ๕ ปี พลัดตกลงไปในน้ำระหว่างเรือบัลลังก์ก็จอดขนานกันในขณะตามเสด็จฯลงลอยพระประทีปนี้ ซึ่งเคยเล่ามาแล้ว

                พระราชพิธีลอยพระประทีปครั้งที่ยิ่งใหญ่มโหฬารที่สุด คือในแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นเวลาที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองที่สุด ถึงขนาดราษฎรมีเงินมาก พากันเก็บเงินฝังดินไว้ไม่นำออกมาใช้ จนไม่มีเงินหมุนเวียนในบ้านเมือง เป็นระยะที่อาจเรียกได้ว่า ไพร่ฟ้าหน้าใสจดหมายเหตุโหรจดไว้ว่าราษฎรพูดจากันไพเราะไม่ด่าทอกัน

                 จ.ศ. ๑๑๙๑ (พ.ศ.๒๓๗๒) ครั้งนั้นราษฎรชายหญิงเด็กรุ่นพูดกันต่างๆ ว่า พ่อขา แม่ขา ลุง ตายาย

                ผิดจากเมื่อ ๑๒ ปีก่อน เมื่อเพิ่งสถาปนาพระนครได ๓๕ ปี (พ.ศ. ๒๓๖๐) จดว่า ครั้งนั้นชาวพระนครราษฎรด่ากัน ไอ้ห่ากิน ไอ้ห่าฟัด ไอ้ห่าหักคอ ทุกหญิงชายเด็ก

                ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจดี มั่งคั่งร่ำรวยกันตั้งแต่ขุนนางคหบดีลงไปถึงชาวบ้าน ใน พ.ศ.๒๓๖๘ และ พ.ศ.๒๓๖๙ ทั้งสองปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ซึ่งมีกำลังทรัพย์ ทำกระทงใหญ่ถวาย

                พระราชพิธีลอยประทีปครั้งนี้ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พรรณนาไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ดังนี้

                 ผู้ต้องเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง ทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้าง ๘ ศอกบ้าง ๙ ศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอด ๑๐ ศอก ๑๑ ศอก (๔ ศอก = ๑ วา) ทำประกวดประขันกันต่างๆ  ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง ๔ บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้นๆ บ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทำก็นับร้อย คิดในการลงทุนทำกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนเลี้ยงช่างเบ็ดเสร็จก็ถึง ๒๐ ชั่งบ้าง หย่อนกว่า ๒๐ ชั่งบ้าง กระทงนั้นวัน ๑๔ ค่ำ เครื่องเขียว วัน ๑๕ ค่ำเครื่องขาว แรมค่ำ ๑ เครื่องแดง ดอกไม้สดก็เลือกหาตามสีกระทง และมีจักรกลต่างกันทุกกระทง มีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงนั้นก็มีบ้าง เหลือที่จะพรรณนาว่ากระทงท่านผู้นั้นทำอย่างนั้นๆ คิดดูการประกวดประขันกันจะเอาชนะกัน คงวิเศษต่างๆ กัน เรือมาดูกระทงตั้งแต่บ่าย ๔ โมง เรือชักลากกระทงขึ้นไปเข้าที่บ่าย ๕ โมง เรือเบียดเสียดกันแน่นหลีกไม่ใคร่จะไหวดูเป็นอัศจรรย์ เรือข้าราชการและราษฎรมาดูเต็มไปทั้งแม่น้ำที่ทรงขอแรงทำกระทงนั้น ในพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ คือ กรมหมื่นสุรินทรรักษ ๑ กรมหมื่นรักษรณเรศร ๑ กรมหมื่นเดชอดิศร ๑ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร ขุนนาง คือ ท่านเจ้าพระยาอภัยภูธร ๑ ท่านเจ้าพระยาพระคลัง ๑ ท่านพระยาศรีพิพัฒน์ ๑ พระยาพิชัยวารี ๑ พระยาราชมนตรี ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ๑ รวม ๑๐ กระทง เวลาค่ำเสด็จลงพระตำหนักน้ำ ทรงลอยพระประทีป

                เจ้าพระยาพระคลัง พระยาศรีพิพัฒน์ ได้ชักชวนขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยที่เข้ามาเฝ้าตามเสด็จลงไปอยู่ที่โรงเรือหลังพระตำหนักน้ำรักษาด้านนอกอยู่ ครั้นเสด็จกลับขึ้นมาทอดพระเนตรเห็น ก็ได้พระราชทานส่วนพระราชกุศล ทรงปราศรัยด้วยทุกคน ด้วยแต่ก่อนเสด็จลงลอยพระประทีปแล้วขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยที่เข้าไปเฝ้าต่างคนต่างไปบ้านก่อนเวลาเสด็จขึ้น การที่เจ้าพระยาพระคลังทำจึงเป็นอย่างเป็นธรรมเนียมติดมาจนทุกวันนี้

                ปีรุ่งขึ้น พ.ศ.๒๓๖๙ เมื่อโปรดฯให้ทำอีกยิ่งงดงามวิเศษยิ่งขึ้น ทรงทราบว่าต้องลงทุนมากมาย จึงมีพระราชดำรัสว่า ไม่รู้เลย ลงทุนรอนมากมายหนักหนา ตั้งแต่นี้ต่อไปอย่าให้ทำอีกเลย

                เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นี้ เป็นบุตรชายใหญ่ของเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) อายุของท่านอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ๑ ปี จึงบวชและทรงผนวชพร้อมกันตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศพระองค์เจ้าทับ จำพรรษาด้วยกันที่วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงสนิทสนมโปรดปราน และเจ้าพระยาพระคลังก็จงรักภักดีในพระองค์ท่าน เมื่อขึ้นแผ่นดินที่ ๓ จึงเป็นกำลังสำคัญของแผ่นดิน บรรดาศักดิ์สูงสุดของท่านในรัชกาลที่ ๔ จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ฯปัจจุบันนี้เห็นใช้ว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เรียกกันทั่วไปว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่

                พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด) เป็นน้องชายสุดท้องของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) บรรดาศักดิ์สูงสุดในรัชกาลที่ ๔ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติฯ เรียกกันว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย

                กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ (พระองค์เจ้าฉัตร) พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๑ จึงเป็นพระปิตุลา (อา) ในรัชกาลที่ ๓ สิ้นพระชนม์ก่อนที่จะทรงได้รับเลื่อนกรม เป็นต้นราชสกุล ฉัตรกุล ณ อยุธยา

                กรมหมื่นเดชอดิศร (พระองค์เจ้ามั่ง) พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๒ เป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๓ พระอิสริยยศสูงสุดเป็น สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร ต้นราชสกุล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา

                กรมหมื่นรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๑ เป็นพระปิตุลา (อา) ในรัชกาลที่ ๓ พระอิสริยยศสูงสุด เป็นกรมหลวงรักษ์รณเรศ ต้นราชสกุล พึ่งบุญ ณ อยุธยา

                เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) เป็นบุตรชายเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ต้นสกุล บุณยรัตพันธ์

                พระยาพิชัยวารี (โต) ในรัชกาลที่ ๔ เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์ ต้นสกุล กัลยาณมิตร

                พระยาราชมนตรี (ภู่) บิดาของ คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงยกย่องว่าเป็น บ่อแก้วในแผ่นดินของพระองค์ เป็นต้นสกุล ภมรมนตรี

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×